ถอดบทเรียนจากวงเสวนาฯ เรื่องราวความทรงจำร่วมสมัยในเดือนตุลา การทำงานของเรื่องเล่าขนาดใหญ่ ที่ทุกฝ่ายต่างเข้าครอบครอง การถอดรื้อความศักดิ์สิทธิ์ในเดือนตุลา และตุลาที่ถูกลืม
27 ต.ค. 57 กลุ่มนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “เดือนตุลา กับวัฒนธรรมการเมืองไทย” ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีวิทยากรคือ อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ดำเนินรายการโดย กวินวุฒิ เล็กศรีสกุล ซึ่งงานเสวนานี้เป็นการเสวนาภายใต้การเฝ้าดูของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล โดยทางเจ้าหน้าฯ ได้ประสานกับทางผู้จัดกิจกรรมเพื่อเข้ามาบันทึกวีดีโอตลอดการเสวนา ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฯเข้าร่วมฟังเสวนาเข้ามาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร และไม่ได้แสดงออกซึ่งการกระทำอันการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในทางตรงแต่อย่างใด
‘ประชาไท’ ถอดความมานำเสนอ
“มันไม่มีหรอกคำว่า “วัฒนธรรม” ตัวใหญ่ๆ หรือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” จะมีก็แต่สภาวการณ์ที่ซึ่ง ความปรารถนาผลประโยชน์ หรือระบบคุณค่า ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มันได้รับการสถาปนาขึ้นมาให้เป็นระเบียบหลัก ให้คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม” อุณโณ อุณโณ
เดือนตุลา ในฐานะเรื่องเล่าที่ถูกลดทอน
อนุสรณ์ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเรื่องที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายให้งดจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในวันที่ 6 ต.ค. 2557 ซึ่งแต่เดิมมีการจัดขึ้นทุกปี ทว่าในปีนี้ได้มีคำสั่งให้ลดทอนกิจกรรมลงให้เหลือเพียงกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม เท่านั้น อย่างไรก็ดีได้มีผู้บริหารท่านหนึ่ง เสนอในที่ประชุมคณะผู้บริหารว่า ให้มีการจัดงาน 14 ตุลา และ 6 ตุลา รวมกันไปในครั้งเดียว โดยอนุสรณ์มองว่าวิธีคิดลักษณะนี้เป็นการกดทับความซับซ้อนของปัญหา และลดทอนให้กิจกรรมเป็นเพียงประเพณีเท่านั้น พร้อมชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง 14 ตุลาคม 16 กับ 6 ตุลาคม 19 ว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มีแกนหลักของเรื่องที่ต่างกันคือ ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา เป็นเรื่องราวชัยชนะของนักศึกษาเหนืออำนาจเผด็จการทหาร ขณะที่ 6 ตุลา กลับเป็นชัยชนะของขบวนการฝ่ายขวา และนักศึกษาเป็นผู้แพ้พ่าย
อนุสรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่ สังคมไทยจะจดจำและให้ความสำคัญกับ 14 ตุลา 16 มากกว่า 6 ตุลา 19 และมากไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ 6 ตุลา 19 มีปัญหาเรื่องที่ทางในทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามหากมองกลับมาที่การผลิตซ้ำความทรงจำของเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จะพบว่ามีปัญหาในตัวมันเองอยู่ ประการแรกคือเราจะมองไม่เห็นอุดมการณ์แบบอื่นนอกจากประชาธิปไตย ในขบวนการนักศึกษาครั้งนั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วในขบวนการนักศึกษาไม่ได้มีความคิดเห็นหรือมีอุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน แต่ว่ามีอุดมการณ์ทุกรูปแบบอยู่ในนั้น ซึ่งนี่เป็นการลดทอนความซับซ้อนของปัญหาให้เหลือเพียงปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้ง่ายๆ ประการที่สองคือ เราแทบจะมองไม่เห็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนในต่างจังหวัด เราเห็นแค่เพียงเรื่องราวของนักศึกษาในเมืองเท่านั้น ซึ่งนี้ก็เป็นการมองที่เป็นปัญหา เพราะเอาเข้าจริงแล้วความตื่นตัวทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่กรุงเทพฯเท่านั้น และหากเราไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ก็ไม่สามารถเชื่อมโยง หรือมองเห็นความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดในช่วง 14 ตุลา 16 ได้
วัฒนธรรมทางการเมือง กับเดือนตุลา ในแว่นตานักมานุษยฯ
อนุสรณ์ชวนให้คิดว่า เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรม เราจะรู้สึกว่ามันมีความหมายที่กว้างมาก หรือมันเป็นคำที่ใหญ่เกินไป แต่ในทางมานุษยวิทยา เวลาพูดถึงวัฒนธรรมจะมีมุมมองที่เล็กกว่านั้น คือจะเป็นการมองไปที่เรื่องราวของคนเล็กคนน้อยว่า เขามีวัฒนธรรมอย่างไร มีชีวิตมีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างไร มีการรับวัฒนธรรมและสร้างวัฒนธรรมอย่างไร ในวัฒนธรรมหนึ่งๆ จึงมีการต่อสู้และช่วงชิงกันตลอดเวลา เพื่อสนองผลประโยชน์ และทำให้คุณค่าที่ตนเชื่อนั้นได้รับการเชิดชู ฉะนั้นเราจึงเห็นความซับซ้อนของคำว่า “วัฒนธรรม” และมองมันได้หลากหลายแบบ หากมองในทางมานุษยวิทยาจึงไม่มีคำว่า “วัฒนธรรม” ตัวใหญ่ๆ หรือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” จะมีก็เพียงแค่ สภาวการณ์ที่ซึ่งความปรารถนาผลประโยชน์ คุณค่า ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มันได้รับการสถาปนาขึ้นมาให้เป็นระเบียบหลัก ให้คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติตาม
ด้วยเหตุนี้ อนุสรณ์ชี้ให้เห็นว่าเวลาจะพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา กับวัฒนธรรมการเมืองไทย สิ่งที่เราควรจะพูดถึงและทำความเข้าใจก็คือ เหตุการณ์เดือนตุลาถูกหยิบใช้ หรือสถาปนา เพื่อตอบโจทย์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาอย่างไร และการสถาปนาระบบคุณค่า และผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้นได้ปิดกั้น ระบบคุณค่าของคนกลุ่มอื่นหรือไม่ หรือมีการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่นเข้าไปหยิบฉวยระบบคุณค่านั้นๆเพื่อประโยชน์ของพวกเขาได้หรือไม่
เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว อนุสรณ์ได้ตั้งคำถามที่ชวนคิดต่อไปว่า ภายใต้การสถาปนาเรื่องเล่าเดือนตุลาขึ้น ใครกันที่ได้ใช้ประโยชน์จากมันมากที่สุดในตอนนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ “คนเดือนตุลา” ด้วยเหตุว่าการนำพาชีวิตผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลา 16 มันเป็นการสร้างทุน สังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสัญลักษณ์ และสามารถจะแปลงเปลี่ยนเป็นทุนแบบอื่นๆได้อีก ฉะนั้นปัจจุบันเราจึงเห็นคนเดือนตุลาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แทบจะในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างในด้านที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเขามีประสบการณ์ที่เคยผ่านเรื่องราวที่กลายมาเป็นเรื่องเล่ากระแสหลัก หรือระเบียบหลักของสังคม และตัวพวกเขาเองก็ได้เข้าไปอยู่ในระเบียบหลักของสังคมด้วย
ซึ่งแน่นอนอนุสรณ์ เห็นว่าการผ่านประสบการณ์ 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ให้คุณค่าที่แตกต่างกัน เพราะในขณะที่คนรุ่น 14 ตุลา สถาปนาเรื่องเล่าของตนเองและเข้าไปอยู่ในระเบียบหลักของสังคม คนรุ่น 6 ตุลา แม้จะมีส่วนหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในระเบียบอำนาจหลัก แต่คนรุ่น 6 ตุลาอีกส่วนหนึ่ง ดูจะตั้งคำถามกับระเบียบอำนาจหลักมากกว่า ฉะนั้นหากมองทั้งสองเหตุการณ์ในฐานะเรื่องเล่าที่ถูกหยิบใช้ จะเห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์ต่างก็ทุกหยิบมาใช้หมด แต่เรื่องเล่า 14 ตุลา ถูกหยิบไปใช้มากกว่า เพราะมีเรื่องราวของประชาธิปไตย ซึ่งถูกสถาปนาเป็นอุดมการณ์หลักในตัวเรื่องเล่า ทว่าเมื่อมองกลับในปัจจุบันคนที่เรียกว่าตัวเองว่า “คนเดือนตุลา” โดยเฉพาะ 14 ตุลา กลับมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่โน้มเอียงไปทางอุดมการณ์อนุรักษนิยมอย่างมาก หรือพูดได้ว่าในช่วงสมัยที่เขาเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อปี 16 ก็ได้มีการเรียกร้องโดยมีการยึดโยงกับจารีตบางอย่างอยู่แล้วแต่กลับไม่ได้ถูกพูดถึงนัก เพื่อที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหาร เช่นเดียวกับในสมัยนี้พวกเขาก็อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตย โดยอาศัยทุนของการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสมัยนั้น แต่กลับไม่สนใจว่าหน้าตาของประชาธิปไตยที่เรียกร้องนั้นเป็นอย่างไร พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นเพียงการอาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตย ในการเคลื่อนไหวชูเชิดอุดมการณ์ในเชิงจารีต หรืออนุรักษนิยม
อนุสรณ์ ชี้ให้เห็นว่าเหตุใดคนเดือนตุลาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์เชองจารีต จึงยึดโยงตนเองกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ประการแรกมันเป็นทุนการเมืองที่ถูกทำให้มองเห็นว่าบริสุทธิ์กล่าวคือ การที่เขามีภาพของนักศึกษาเมื่อวันที่ 14 ตุลา 16 ติดตัวอยู่แม้ตอนนี้เขาจะไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้ว แต่ภาพลักษณ์ที่ถูกสถาปนาว่านักศึกษาเป็นผู้บริสุทธิ์ออกมาเรียกร้องในทางการเมือง ต่อต้านเผด็จการและเป็นผู้หวังดีกับประเทศยังคงติดตัวพวกเขาอยู่ตลอด แม้จะไม่ได้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยแล้วก็สามารถใช้ทุนก้อนนี้ได้อยู่ ประการต่อมาเขาสามารถทำให้เรื่องเล่านี้เป็นอมตะ ไม่มีวันตายจากสังคมไทย เพราะมีการฝังเรื่องเราเหล่านี้ไว้ในสถานศึกษา และสามารถจะผลิตซ้ำได้ทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ภาพลักษณ์ดำรงอยู่อย่างไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็มีการสร้างมุมมองในเชิงเปรียบเทียบระหว่างนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 16 กับยุคปัจจุบัน โดยมีการมองอย่างปรามาตรว่า นักศึกษาในยุคปัจจุบันไม่สนใจการเมือง ไม่เห็นออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม มัวแต่สนใจเรื่องของตัวเอง ซึ่งด้วยมุมมองแบบนี้เองก็ยิ่งเป็นการดึงให้สถานะของคนเดือนตุลาสูงขึ้นไปอีกในการรับรู้ของคนในสังคม
อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
“อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” เป็นคำที่อนุสรณ์ใช้เรียกอุดมการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งผู้คนต่างยึดมั่นเชื่อถือ แน่นอนรวมทั้งคนเดือนตุลาบางส่วนด้วย อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” นี้ไม่มีทางไปได้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา เพราะมีการเติบโตของคนกลุ่มใหญ่ในสังคมซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นเพียงผู้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบรรดาปัญญาชน นักศึกษาและชนชั้นกลางในเมือง คนเหล่านั้นลุกขึ้นมาเรียกร้องและอยากจะเข้ามามีส่วนมากขึ้น
อนุสรณ์เทียบระหว่าง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กับเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสีว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้นเป็นการตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา ซึ่งมีลักษณะสืบทอดมาจากคนเดือนตุลา และหลังจากเหตุการณ์นี้ เราได้เห็นการเติบโตของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยคนที่เข้ามามีส่วนในการจัดการให้เกิดการเติบโตแบบนี้ได้ก็คือ NGO ซึ่งส่วนมากก็เป็นพวกนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเก่าที่ออกมาจากป่า โดยเข้าไปทำให้เกิดการขยายตัวของภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับการเมืองในยุคเสื้อสีนั้น อนุสรณ์มองว่าเป็นการบรรจบกันของ NGO ที่ทำงานกับชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการเสื้อเหลือง และมีชาวบ้านเข้าร่วมจำนวนมาก กลุ่มขบวนการเสื้อแดงเองก็เช่นกัน ในแง่ที่เป็นการเรียกร้องทางการเมืองของคนจำนวนมากซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นการเรียกร้องเฉพาะของกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง กลุ่มคนมีการศึกษา หรือปัญหาชนอีกต่อไป แต่มันเป็นการเมืองของคนส่วนใหญ่ เป็นประชาธิปไตยของมวลชน ฉะนั้นเรื่องเล่าเดือนตุลาที่ผูกอยู่กับนักศึกษา ปัญญาชนคนเดือนตุลา จึงไม่สามารถไปกันได้กับสภาวะสังคมแบบนี้
และยิ่งไปกว่านั้น อนุสรณ์ชี้ว่า “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบอำพราง” ที่ยึดโยงกับจักรวาลวิทยาแบบพุทธเถรวาท ซึ่งมีการแบ่งช่วงชั้นความดีงามตามลำดับความละเอียดของจิต พูดให้ง่ายคือมีวิธีการมองคนไม่เท่ากัน ไม่มีทางที่จะไปกันได้กับการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ และคนเหล่านั้นต้องการโอกาสเข้าร่วมในทางการเมืองอย่างเสมอหน้ากัน
“คนรุ่นเรารับรู้เหตุการณ์ทางการเมืองผ่านความทรงจำของคนอื่น เรารับรู้ความทรงจำและตีความเรื่องราว… จนมันกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งนี่เรียกว่าการเมืองของความทรงจำ”ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น
วัฒนธรรมการต่อต้าน และกับความทรงจำที่ต่างกัน
ภาคิไนย์เริ่มต้นด้วยชี้ให้มองวัฒนธรรมทางการเมืองในเดือนตุลา ว่าคือวัฒนธรรมการต่อต้าน ซึ่งปัจจุบันในความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมต่อต้านเช่นกัน ทว่ากลุ่มต่อต้านในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียว แต่แบ่งแยกออกไปอย่างน้อยได้สองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มเสื้อเหลือง นับรวมไปถึงกลุ่มกปปส. และกลุ่มเสื้อแดง ภาคิไนย์ชวนตั้งคำถามสำคัญต่อไปว่า คนทั้งสองกลุ่มนี้ต่อต้านอะไร และมีความทรงจำกับเหตุการณ์ใดมากกว่ากันระหว่าง 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 และเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น
ภาคิไนย์กล่าวว่า สิ่งที่คนเสื้อเหลืองต่อต้านมากที่สุดก็คือทักษิณ ระบอบทักษิณ หรือสิ่งที่เกษียร เตชะพีระให้คำนิยามว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากเลือกตั้ง ฉะนั้นภาพลักษณ์ของทักษิณ รัฐบาลทักษิณ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงถูกมองว่ามีลักษณะที่เป็นเผด็จการรัฐสภา ในชุดความคิดของคนเสื้อเหลือง รวมทั้งกลุ่มกปปส. ฉะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาที่พวกเขายึดโยงด้วยมากที่สุดจึงเป็น 14 ตุลา 16 เพราะภายในความทรงจำแบบนี้มีภาพของการต่อสู้เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร สำหรับพวกเขายุคนี้ก็เป็นการต่อสู้เพื่อขับไล่เผด็จการเหมือนกันแต่เป็นเผด็จการรัฐสภา
ในขณะเดียวสิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงต่อต้านมากที่สุด แม้ภายในกลุ่มเสื้อแดงจะมีหลากหลายความคิดมากก็ตาม แต่มีจุดร่วมที่ตรงกันคือ การต่อต้านอำมาตย์ โดยภาคิไนย์อธิบายว่า แม้ว่าการรวมกลุ่มกันของคนเสื้อแดงจะมีที่มาที่หลากหลาย บางกลุ่มเป็นฝ่ายซ้ายเก่า บางกลุ่มเป็นคนที่นิยมทักษิณ บางกลุ่มเป็นแดงสายฮาร์ดคอร์ ทว่าพวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภา 53 และเหตุการณ์นี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาตั้งคำถามทำไมพวกเขาถึงตกไปผู้ถูกกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ พฤษภา 53 เป็นบาดแผลร่วมกันสำหรับพวกเขา ฉะนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองที่พวกเข้าคิดถึงมากที่สุด คือ 6 ตุลา 19 และไม่ใช่เพียงการมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลเหมือนกันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทว่าอุดมการณ์ที่กระทำกับคนทั้งสองเหตุการณ์ยังคงเป็นอุดมการณ์เดิม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นักศึกษาที่ถูกฆ่าแขวนคอ และถูกฟาดด้วยเก้าอี้เมื่อปี 19 ถูกมองว่าเป็นมารของสังคมในตอนนั้น ถึงที่สุดคือ ถูกมองว่าไม่เป็นไทย ภายใต้อุดมการณ์หลักของสังคม กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี 53 ก็ถูกมองและถูกทำให้เป็นมารของสังคมไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญมุมมองของสังคมไทยการกำจัดมาร หรือฆ่ามารเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรกระทำ
ตุลาที่ถูกลืม กับความรู้สึกร่วมที่ไม่ถูกนับรวม
ในขณะที่เราพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา ดูเหมือนว่าจะมีเพียงมุมมองต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เท่านั้น กลับไม่ได้มีการพูดถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมที่ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แต่อย่างใดในการร่วมรำลึกเดือนตุลา อนุสรณ์ได้ชี้ให้เห็นความน่าสนใจอยู่หลายประการ อย่างแรกเหตุที่เรื่องราวที่ตากใบไม่ค่อยจะเป็นที่รับรู้หรือ ถูกลืม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆในสังคม ที่ถึงที่สุดแล้วเข้ากันไม่ได้กับระเบียบหลักของสังคม ประการต่อมาคือ มีความน่าสนใจว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีการรับรู้และมีแนวโน้มทางการเมืองที่เข้ากันได้กับกลุ่มเสื้อแดงมากกว่ากลุ่มเสื้อเหลือง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นสภาวการณ์ร่วมกัน คือมีความรู้สึกที่ถูกส่งถึงกัน มีความรู้สึกว่าถูกกระทำจากคู่ปะทะ คู่ขัดแย้ง แบบเดียวกัน
ด้านภาคิไนย์เห็นว่า เหตุการณ์ตากใบนั้น แท้จริงแล้วสะท้อนให้เห็นถึง ‘สันดานของรัฐไทย’ ที่ยึดมั่นในเรื่องความมั่นคง โดยต้องการมองเห็นสังคมเป็นแบบเดียวกัน คือมีระบบระเบียบชุดเดียวกัน และหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาท้าทายรัฐก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเสมอ ขณะเดียวกันการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 เองก็เข้าข่ายภาพสะท้อน 'สันดานของรับไทย' เช่นกัน แตกต่างกันก็ตรงที่เปลี่ยนจากกองกำลังของทหารมาเป็นกองกำลังของตำรวจเท่านั้น ทว่าผลสะเทือนหลังจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 นั้นภาคิไนย์ ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ