เปิดเนื้อหา 3 รายการหลักที่ถูก กสท.ลงดาบสั่งปิดทั้งสถานี 7 วันว่าพูดกันเรื่องอะไร แค่ไหน พร้อมวิเคราะห์กฎหมาย คำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ รวมถึง MOU ที่ผูกมัดบรรดาสถานีข่าวในทีวีดิจิตอล-ทีวีดาวเทียมไว้หลายชั้น จะได้เข้าใจตรงกันและไม่บ่นกันอีกต่อไปว่า “ทีวีเดี๋ยวนี้แทบไม่มีอะไรดู”
หลังเที่ยงคืนของเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) วอยซ์ทีวียุติการออกอากาศทั้งสถานี หลังจากถูก กสท.สั่งพักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีมีการกระทำผิดซ้ำเดิม ให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสนยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยก
ย้อนกลับไปปีที่แล้ว กสทช.ลงดาบกับวอยซ์ทีวีหลายแบบ ทั้งสั่งปรับ สั่งระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว 10 ครั้ง ไม่รวมการตักเตือน “อย่างไม่เป็นทางการ” อีกมากมายหลายครั้ง ส่วนปีนี้ลงโทษแล้ว 2 ครั้งแบบให้ผู้จัดบางคนยุติจัดรายการชั่วคราว
หากเหตุการณ์จอดำเกิดขึ้นช่วงหลังรัฐประหารทันทีก็คงเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินเช่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นมาบรรยากาศดูเหมือนค่อยๆ คลี่คลายขึ้น เหตุใดจึงเกิดการปิดสถานีขึ้นในระยะนี้จากเหตุแห่งการแสดงความคิดเห็น และไม่ใช่โดย คสช. แต่เป็น กสทช. โดยผู้ตั้งต้นเรื่องในการร้องเรียนคือ หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช.
ตามคำสั่ง กสทช. ระบุว่า รายการที่ “มีความผิด” ทำให้ กสทช.สั่งยุติออกอากาศทั้งสถานี คือ
1.รายการใบตองแห้งออนแอร์ ตอน จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ
2.รายการ In Her View ตอน ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร
3.รายการ Overview ตอน ยันกองทัพป้องทหารยังยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี
รายการทั้งสามมีลักษณะตั้งคำถามแหลมคมกับประเด็นร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระแส แน่นอนว่า ประเด็นธรรมกาย เด็กหนุ่มลาหู่ และโกตี๋ เป็นประเด็นหนามยอกอกของ คสช.อย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 รายการที่ถูกนำไปพิจารณาโทษในครั้งล่าสุดนี้ด้วยแต่หลุดโผมาได้ คือ
1.รายการ Over View หัวข้อ มีอะไรไปเคลียร์ในกรม อภิสิทธิ์ชนแถว 3 ทำสังคมเดือด (ไม่ได้ออกอากาศทางทีวี จึงไม่อยู่ในอำนาจของ กสทช.)
2.รายการ Voice News ช่วง Voice News Report เวลา 20.13 น. หัวข้อ นายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณี บ่อนตาพระยา (ถูกนำมาพิจารณา แต่ท้ายที่สุดหลังการชี้แจงไม่มีการหยิบยกรายการนี้มาในคำสั่งพักใบอนุญาต)
รู้จัก กสทช. ดาบในมือนั้นท่านได้แต่ใดมา
ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและลงโทษสถานีโทรทัศน์คือ กสทช. มีคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน แบ่งออกเป็น กทช. รับผิดชอบในส่วนกิจการโทรคมนาคม และ กสท. รับผิดชอบส่วนกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ปัจจุบัน กสท. มีคณะกรรมการเหลือเพียง 3 คน เนื่องจาก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการเสียงข้างน้อยตลอดกาล ได้ขอยุติปฏิบัติหน้าที่หลังจากศาลฎีกาสั่งให้มีความผิดตามศาลชั้นต้น และรอการกำหนดโทษ 2 ปี ใน
คดี “ปีนสภาค้านกฎหมาย สนช.ในปี 2550” กรรมการอีกคนคือ ทวีศักดิ์ งามสง่า พ้นสภาพจากตำแหน่งเนื่องจากอายุครบ 70 ปี
ใน กสท.นี้เองที่มีคณะอนุกรรมการกำกับเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งจะดูแลเนื้อหาของทีวีทุกช่อง โดยมีอำนาจลงโทษหลายแบบตั้งแต่
1.ตักเตือนเป็นหนังสือ
2.ปรับ 50,000-500,000 บาท
3.พักใช้ใบอนุญาต (ปิดสถานีชั่วคราว)
4.เพิกถอนใบอนุญาต (ปิดสถานีถาวร)
ทั้งหมดเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรานี้กำหนดกรอบความผิดไว้ว่า
“ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน
ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้”
ดาบ โซ่ แส้ กุญแจมือ: ม.37 + ประกาศ คสช.คุมเนื้อหาสื่อ ยกเว้นโทษ กสทช.
ไม่เพียงมาตรา 37 ที่เป็นดาบคมกริบในการ “ควบคุมดูแล” เนื้อหาในทีวีดาวเทียม ทีวีดิจิตอลที่ กสทช.เองก็เคยใช้มันบ่อยครั้งแล้วเท่านั้น (เช่น การลงโทษปรับ 5 แสนบาทกับรายการ 3 รายการ เช่น ไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 2 นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยอกวาดภาพ ซีซั่น 3 เผยแพร่ภาพผู้เข้าแข่งขันเป็นออทิสติกแล้วถูกเหยียดหยามจากคณะกรรมการฯ รายการปากโป้ง ช่อง 8 เชิญมารดาและเด็กหญิงออทิสติกที่ถูกข่มขืนมาสัมภาษณ์)
เมื่อมีการรัฐประหารในปี 2557 คสช.ยังได้ออกประกาศหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสื่อฉบับหลักๆ คือ
ฉบับที่ 97/2557 ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และองค์กรอิสระ ในลักษณะที่อาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง และห้ามการวิพากษ์ วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนให้ระงับการเผยแพร่ทันทีละให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดความผิดฐานนั้นดำเนินการตามกฎหมาย
ฉบับที่ 103/2557 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมวิชาชีพสื่อ จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับที่ 97 ให้สื่อวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์โดยมีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนจะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม
ที่เป็นประเด็นสำหรับวอยซ์ทีวีโดยเฉพาะ คือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ซึ่งอนุญาตให้ทีวีดิจิตอลจำนวน 23 ช่อง ออกอากาศได้ตามปกติหลังหยุดไปนานช่วงทำรัฐประหาร แต่
ยกเว้นช่องวอยซ์ทีวีเพียงช่องเดียวในบรรดาทีวีดิจิตอล อีกช่องหนึ่งที่ยกเว้นด้วยคือ ช่องทีนิวส์ในระบบทีวีดาวเทียม อาศัยตามคำสั่งตามกฎอัยการศึก นั่นทำให้สองช่องนี้ได้กลับมาออกอากาศช้ากว่าช่องอื่นๆ เกือบเดือน
“ช่องนี้พิเศษเพราะมี MoU กับ คสช. เขาต้องระวังเป็นพิเศษ แต่นี่เขาระวังแค่ปกติและผิดบ่อยมาก” พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสท. ในฐานะประธานอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการกล่าว
ที่พล.ท.พีระพงษ์ กล่าวเช่นนั้น เพราะวอยซ์ทีวีเป็นทีวีดิจิตอลหนึ่งเดียว ร่วมกับทีวีดาวเทียมอีก 13 ช่อง (
ตามประกาศคสช.ที่ 15/2557) ที่ถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงร่วม หรือ MoU เฉพาะกับ คสช.
ไม่มีใครเคยเห็น MoU ที่ว่านั้นจะๆ แต่
ไอลอว์อ่านมันโดยอ้อมผ่านงานวิจัย ระบุว่า
“สาระของ MoU ตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ “การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์” ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า ทางสถานียินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที”
ล่าสุดในปี 2559 มี
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 41/2559 หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง เรื่องการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ที่ให้อำนาจ กสทช. ตัดสินและกำหนดกับสื่อมวลชนโดยเว้นโทษความผิดแพ่งและอาญาต่อคณะทำงาน นั้นหมายความว่า กสทช. สามารถออกคำสั่งควบคุมสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิด
ทั้งหมดนี้คือ กรอบกำหนดในการควบคุมเนื้อหาของสื่อทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียมอย่างเข้มข้น....และไม่อาจขัดขืน
ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 19.10 น.
วิจารณ์เรื่องปฏิบัติการของรัฐต่อวัดพระธรรมกาย ใบตองแห้งตั้งคำถามว่า ปรากฏการณ์ที่สะท้อนในคดีธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีทักษิณ ยังเป็นประเด็นสังคมที่จะปรองดองกันได้หรือเปล่า
ใบตองแห้งวิจารณ์ว่า สื่อกระแสหลักยังเป็นเหมือนเดิม ปลุกความเกลียดชังเข้าใส่ธรรมกาย โดยไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 คล้ายสังคมไทยไม่ไปไหน เป็นความไม่มีเหตุผล ใครไม่เห็นด้วยกับมาตรา 44 กลายเป็นเลวร้าย เป็นพวกเดียวกับธรรมกาย ไม่มีการสรุปบทเรียน แม้สื่อจะมีจุดร่วมต่อต้านพ.ร.บ.สื่อของสปท.ก็ตาม
กรณีเก็บภาษีทักษิณไม่ได้ตั้งต้นมาจากรัฐบาลเลย แน่นอน มันตั้งต้นมาจากองค์กรรัฐคือ สตง. แต่ขณะเดียวกันก็มีการปลุกกระแสทำนองว่าถ้าคุณไม่เก็บภาษีทักษิณแสดงว่าคุณเกี้ยเซียะกับทักษิณ
“ปรองดองไม่ได้อยู่ที่การที่คุณเกี๊ยเซียะ ปรองดองมันคือการที่สังคมมีเหตุผล มีสติ และรู้จักแยกแยะเรื่องต่างๆ จะเก็บภาษีทักษิณผมไม่ว่า แต่พูดให้มีเหตุผล”
ใบตองแห้งกล่าวว่า ทักษิณเป็นอำนาจนิยม แต่คนที่ไล่ทักษิณก็สนับสนุนอำนาจนิยมยิ่งกว่า การปรองดอง ของฝ่ายรัฐ รัฐต้องการคงอำนาจของรัฐราชการ ความเป็นรัฐที่มั่นคง ให้อยู่ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ไม่อาจนำไปสู่การปรองดองได้ตราบที่สังคมค่อนข้างไร้สติ
เขายังได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างธรรมกายกับเรื่องการเก็บภาษีของทักษิณว่า ธรรมกายคืออะไรที่แปลกแยก ประหลาด โอเว่อร์ อลังการ ทำให้รู้สึกต้องทำลายธรรมกายเพื่อไม่ให้พุทธเพี้ยน แต่พุทธที่เรานับถือคืออะไร เราก็มีหนังสือท่านพุทธทาส ท่านป.อ.ปยุตโตอยู่ด้านหนึ่ง แต่ก็มีการพ่นน้ำมนต์ปลุกเสก มันก็อยู่กันมาปกติ ทั้งพุทธทั้งผี ทำลายมันก็ไม่ใช่จะกลับมาสู่พุทธแท้อะไร ไม่ใช่คนจะกลับมาอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสหรือท่านปยุตฺโต
ทักษิณเป็นผู้แปลกแยกเหมือนกัน ทักษิณมีอำนาจมาก ทำลายระบบดั้งเดิมของเรา ซึ่งดั้งเดิมก็คือระบบเกี้ยเซียะอุปถัมภ์ โกงแบบผู้ดีหน่อย พอประมาณ นี่คือสิ่งที่เรารับได้อยู่ แต่ทักษิณแปลกแยกใหญ่โต เพราะงั้นทำลายมัน แต่ก็หวนกลับไปสู่สิ่งเดิมซึ่งเสื่อมไปเรื่อยๆ ก็ไปไม่ได้ ถึงที่สุดเราไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ถึงต้องอยู่กับ คสช.อยู่อย่างนี้ อาจจะต้องไปสู่ภาวะที่คุณต้องถดถอยหนักๆ คุณถึงจะคิดกันรึเปล่าก็ไม่รู้
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการของใบตองแห้งมีการนำเสนอที่ไม่ได้ติชมโดยสุจริต วิพากษ์วิจารณ์ที่ขาดเหตุผล ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม
ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 18.30 น.
ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา อ้างบทวิเคราะห์ของมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งนำเสนอว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่โกตี๋เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี หลักๆ จึงเป็นการตรวจค้นที่จังหวัดปทุมธานี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ของวัดพระธรรมกายอยู่จังหวัดใด ยิ่งไปกว่านั้นโกตี๋มีภาพลักษณ์เป็นเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ บทวิเคราะห์จึงตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกันหรือไม่ นอกจากนี้ความจริงการตรวจค้นรังโกตี๋ไม่ใช่ครั้งแรก และสังคมก็รู้ว่าโกตี๋ไม่ได้อยู่เมืองไทย บทบาทของเขาอยู่ต่างแดน รัฐมีความพยายามหลายหนที่จะจัดการ มีการขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่เป็นผล เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง และข้อกังขาของสังคมว่าเป็นการจัดฉากรึเปล่า
ลักขณาได้กล่าวว่า ทางฝั่งรัฐบาลบอกว่าไม่จัดฉาก ในวันที่ไปค้นมีสื่อมวลชนอยู่เป็นพยาน ทั้งหมดนี้เป็นอาวุธที่มีอยู่ตรงนั้นจริงๆ
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ In Her View ขาดการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน นำบทวิเคราะห์มาจากมติชนฉบับเดียว โดยไม่ได้นำของค่ายอื่นมาด้วย
ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 18.55 น.
ศิโรตม์ นำเสนอเหตุการณ์ว่า ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมที่ใช้ศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อดึงคนรุ่นเดียวกันให้ออกจากวังวนยาเสพติด และต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ คนที่รู้จักชัยภูมิหลายต่อหลายคนออกมาไว้อาลัย ทั้งยังกล่าวถึงความดีที่ผู้ตายได้ทำ โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงานศพชัยภูมิที่มีคนมาไว้อาลัยมากมาย ผิดกับภาพที่อาชญากร ค้ายา ปาระเบิดควรจะเป็น
สังคมมีคำถามถึงพฤติการณ์ดังกล่าวมากมาย แต่โฆษกกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี กลับแถลงข่าวเข้าข้างเจ้าหน้าที่ ประหนึ่งว่าเหตุการณ์วิสามัญฯ ในไทยนั้นไม่เคยเกิดจากความเข้าใจผิด หรืออคติของเจ้าหน้าที่เลย ในชุมชนพื้นที่ที่เกิดเหตุ มีความเกี่ยวพันกับยาเสพติดจริง แต่ไม่ใช่ว่าชนพื้นเมืองทุกคนจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กองทัพควรจะรับฟังคนในพื้นที่บ้าง เพราะในพื้นที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่มานาน เคยมีเหตุการณ์ประทุษร้ายประชาชนเกิดขึ้น
ศิโรตม์ กล่าวว่า อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ไม่ได้ ทำผิดไม่ได้ ทำไมไม่ฟังประชาชนก่อน อย่าลืมว่า 25 มีนาคม 2559 ที่ทุ่งยางแดง มีเหตุทหารวิสามัญฯ เด็กและเยาวชน ตอนนั้นมีข่าวว่าผู้ที่ถูกวิสามัญฯ เป็นโจรใต้ เป็นคนชั่ว เจ้าหน้าที่ทหารเองก็รายงานสอดคล้องกัน พร้อมอาวุธของกลาง เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องลุกลามใหญ่โต ผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพ กลไกฝ่ายปกครองสอบสวน ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนที่เสียชีวิต 4 คนไม่มีใครผิดเลย คนหนึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 24 ปีด้วยซ้ำไป มีการจับคนไป 22 ราย เรื่องนี้ถูกดำเนินคดีไปเรียบร้อยแต่ใช้เวลานานมาก เพิ่งมีการสอบสวนของศาลนัดสุดท้ายไป
“นี่คือตัวอย่างให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในกองทัพไม่ลืมว่า ประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่เมื่อมีการวิสามัญฆาตกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่ถูกไปหมดทุกครั้ง ประเทศเราเป็นประเทศซึ่งหลายครั้งมีการวิสามัญฯ โดยมาจากอคติของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ทุ่งยางแดงอาจจะมีความเชื่อที่ผิดว่าคนมุสลิมจะเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นโจรใต้ไปหมด ในที่สุดมีการสังหารประชาชนเกิดขึ้น ภาษากฎหมายเรียกว่าวิสามัญฆาตกรรม ภาษาชาวบ้านเรียกว่ายิงทิ้ง กลไกกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า วิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่ใบสั่งให้เจ้าหน้าที่ยิงประชาชนทิ้งได้ตามอำเภอใจ” พิธีกรจากวอยซ์ทีวีกล่าว
ศิโรตม์ กล่าวว่า ในกรณีของชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ต้องทำแบบคดีอื่นๆ ที่มีความคลุมเครือ คือ มีการนำพนักงานปกครอง อัยการ เจ้าหน้าที่สอบสวนเข้ามา และทำการชันสูตรศพ เขายังกล่าวถึงข้อสงสัยในสังคมเกี่ยวกับพฤติการณ์การตายว่ามีระเบิดจริงหรือเปล่า กระสุนยิงเข้าข้างหน้าหรือข้างหลัง เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ปกป้องตนเอง แต่ประชาชนต้องระวัง และมีสิทธิ์จะซักถามได้ว่า เจ้าหน้าที่วิสามัญฯ โดยชอบ หรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย
หมายเหตุ – ร้องเรียนโดย หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อยสำนักงานเลขาธิการ คสช. เหตุผลในการร้องเรียนคือ รายการ Overview คือ ศิโรตม์แสดงความเชื่อมั่นว่า ชัยภูมิไม่ได้ค้ายาเสพติด โดยบอกว่า ถ้าชัยภูมิมีประวัติค้ายาเสพติด ก็คงไม่มีคนมาร่วมงานศพมากมายและแสดงความเสียใจขนาดนั้น คือมีเนื้อหาที่ยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน แต่นำเสนอสู่สาธารณะและไม่ได้ติชมหรือเสนอแนะความคิดโดยชอบธรรม
ส่วนในปี 2559 กสท.
เว็บไซต์ผู้จัดการ ระบุว่า มีทั้งหมด 10 เรื่องที่กสท.สั่งลงโทษไม่ว่าจะเป็นการปรับหรือการระงับบางรายการเป็นการชั่วคราว แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวและสืบค้นได้จากข่าววาระการประชุม กสท.นั้น อาทิ
- วันที่ 21 เม.ย. 2559 รายการ Wake Up News เสนอข่าวกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีเงื่อนไข
- วันที่ 25 พ.ค. 2559 รายการ Tonight Thailand เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ)
- วันที่ 4 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาในช่วง “ห้องเรียนรัฐธรรมนูญ” มีเนื้อหาลักษณะส่อเสียด โดยการนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบัน
- วันที่ 21 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และพูดแนะนำให้ประชาชนลงชื่อในเว็บไซต์ต่อต่านร่างรัฐธรรมนูญ
- วันที่ 22 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหารถไฟฟ้าสีน้ำเงิน
- วันที่ 29 ก.ค. 2559 รายการ Wake Up News ในช่วงห้องเรียนรัฐธรรมนูญ มีการสัมภาษณ์ รศ.สุขุม นวลสกุล เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ
- วันที่ 8 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News เสนอมีลักษณะเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. (ไม่ได้ระบุหัวข้อ
- วันที่ 15 ส.ค. 2559 รายการ Wake Up News สัมภาษณ์ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ “วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้” และวันที่ 16 ส.ค. 2559 วิเคราะห์เหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ ต่อด้วยนำเสนอในหัวข้อ “ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนัก” และ “มีชัย ชี้ ส.ว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว” มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช.
- วันที่ 6 ธ.ค. 2559 รายการ Wake Up News วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็น “กรธ.เล็งเปิดร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมือง” และ “เพื่อไทยชี้ยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี กับดักประเทศ” เข้าข่ายขัดต่อประกาศ คสช.