วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ฟ้อง 116-พ.ร.บ.คอมฯ คนโพสต์ FB วิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ศาลทหารให้ประกัน วงเงิน 1แสน


1 ธ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลาประมาณ 10.30น. ตำรวจ สน.พระโขนงนำตัว นางแจ่ม (นามสมมติ) ซึ่งถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไปฝากขังที่ศาลทหาร
โดยในตอนบ่าย ศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังโดยทางตำรวจได้อ้างเหตุว่ายังต้องสอบพยานอีก 7 ปาก และยังต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลางจึงมีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวระหว่างสอบสวน ทางทนายความของนางแจ่มจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังต่อศาล ซึ่งศาลพิจารณาว่า มีหลักฐานพอสมควรว่ากระทำผิดจริง และเป็นคดีอัตราโทษเกิน 3 ปี จึงอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 12 ธ.ค. ภายหลังศาลอ่านคำสั่งทนายจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพร้อมวางหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
สำหรับคดีนี้ นางแจ่มเล่าว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 พ.ย. มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบและตำรวจนอกเครื่องแบบราว 20 นาย ไปที่บ้านของเธอย่านพระโขนง แต่ไม่พบตัวจึงไปหาที่ทำงานของเธออีก แล้วไม่พบตัวเธออีกมีเพียงลูกสาวที่อยู่ในที่ทำงานจึงได้ฝากให้ลูกสาวบอกกับเธอว่าให้ไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แต่นอกจากการแจ้งให้นางแจ่มไปที่ ปอท. แล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของที่ทำงานไปด้วย
นางแจ่มเล่าว่า ภายหลังจากที่นางแจ่มทราบเรื่องจึงเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ที่ ปอท. ในเวลาประมาณ 20.00 น. วันเดียวกัน เมื่อเธอไปถึงพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเธอในคืนวันเดียวกัน โดยเธอถูกสอบสวนเกี่ยวกับข้อความที่เธอโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เป็นข้อความที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในการสอบสวนเธอได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและรหัสเข้าโซเชียลมีเดียไปด้วย แล้วปล่อยตัวเธอกลับ รวมถึงให้เธอไปที่ ปอท. อีกครั้งในวันจันทร์ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเพียงว่าเป็นการไปรับโทรศัพท์คืน
นางแจ่มระบุว่า ต่อมาในวันจันทร์เมื่อนางแจ่มเดินทางไปถึง ปอท. นอกจากเธอจะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่าจะนำตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อไปถึง บช.น. เธอถูกตำรวจเกลี่ยกล่อมให้ยอมแถลงข่าว จากนั้นเธอถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่ สน.พระโขนง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาว่เธอได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่แสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อนุ 2 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 (1), (2) และ(3) ซึ่งนางแจ่มได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาจะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เมื่อเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวเธอกลับบ้านและนัดมาที่ สน.พระโขนงอีกครั้ง ก่อนนำตัวเธอไปฝากขังที่ศาลทหารในเช้าวันนี้

กรุงเทพโพลล์เผยกว่าครึ่งไม่พบซื้อเสียงเลือกตั้งใหญ่ 54 ระบุภาคใต้เคยพบมากที่สุด


เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จึงได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในประเทศไทยรุนแรงเพียงใด” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,192 คน พบว่า ในภาพรวมประชาชนร้อยละ 57.0 ไม่เคยพบเห็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 43.0 เคยพบเห็น โดยเมื่อแยกพิจารณาแต่ละภูมิภาคพบว่า ภาคใต้เป็นภาคที่ประชาชนเคยพบเห็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 51.0 รองลงมาเป็นภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยพบเห็นร้อยละ 49.1) ส่วนภาคอื่นๆ มีดังนี้  
ภาคกลาง                        เคยพบเห็นร้อยละ 45.9 ขณะที่ร้อยละ 54.1 ไม่เคยพบเห็น
ปริมณฑล                       เคยพบเห็นร้อยละ 45.3 ขณะที่ร้อยละ 54.7 ไม่เคยพบเห็น
ภาคตะวันออก                  เคยพบเห็นร้อยละ 40.2 ขณะที่ร้อยละ 59.8 ไม่เคยพบเห็น
ภาคเหนือ                       เคยพบเห็นร้อยละ 36.9 ขณะที่ร้อยละ 63.1 ไม่เคยพบเห็น
กรุงเทพมหานคร              เคยพบเห็นร้อยละ 27.4 ขณะที่ร้อยละ72.6 ไม่เคยพบเห็น
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นับจาก ปี 2554 เป็นต้นมา พบว่า ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.1 ไม่เคยพบเห็น ขณะที่ร้อยละ 49.9 เคยพบเห็น โดยเมื่อแยกพิจารณาแต่ละภูมิภาคพบว่า  ภาคใต้เป็นภาคที่ประชาชนเคยพบเห็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมากที่สุด (ร้อยละ 63.8) รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยพบเห็น ร้อยละ 54.8) ส่วนภาคอื่นๆ มีดังนี้ 
ปริมณฑล                       เคยพบเห็นร้อยละ 52.3 ขณะที่ร้อยละ 47.7 ไม่เคยพบเห็น
ภาคกลาง                        เคยพบเห็นร้อยละ 49.5 ขณะที่ร้อยละ 50.5 ไม่เคยพบเห็น
ภาคตะวันออก                  เคยพบเห็นร้อยละ 47.7 ขณะที่ร้อยละ 52.3 ไม่เคยพบเห็น
ภาคเหนือ                       เคยพบเห็นร้อยละ 45.8 ขณะที่ร้อยละ 54.2 ไม่เคยพบเห็น
กรุงเทพมหานคร  เคยพบเห็นร้อยละ 34.5 ขณะที่ร้อยละ 65.5 ไม่เคยพบเห็น
ทั้งนี้จากผลสำรวจในภาพรวมที่ประชาชนเกือบครึ่งเคยพบเห็นการซื้อสิทธิ์ สะท้อนให้เห็นถึงระดับปัญหาที่อยู่ในขั้นรุนแรง  โดยการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีระดับความรุนแรงที่มากกว่าการเลือกตั้งใหญ่  และเกือบทุกภาคจะมีระดับความรุนแรงที่พอๆ กันยกเว้นพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการเร่งปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนของประชาชนที่เป็นคนดีและคนเก่งมากที่สุด  
รายละเอียดการสำรวจ
วัตถุประสงค์การสำรวจ เพื่อต้องการทราบถึงระดับความรุนแรงของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2554 และการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ และสะท้อนผลสำรวจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป
ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
วิธีการรวบรวมข้อมูลใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Phone Survey) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล     :  24-26 พฤศจิกายน 2558
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ           :  1 ธันวาคม 2558

ทบ.แนะเสนอปมราชภักดิ์ในกรอบธรรมเนียมมารยาท ประยุทธ์ชี้อุดมเดชคิดเองได้เรื่องออก


2 ธ.ค. 2558 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก(ทบ.) กล่าวถึง ทบ. ยืนยันความโปร่งใสในการดำเนินโครงการอุทยานราชภักดิ์ และพร้อมสนับสนุนกระบวนการไขข้อสงสัยของสังคม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการประสานในเรื่องของข้อมูลมาได้ตามช่องทางของทางราชการ เพื่อให้กระบวนการคลี่คลายข้อสงสัยเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น สำหรับบางหน่วยงานขอบเขตตามกฎหมายอาจจะไม่ครอบคลุมถึง ก็อาจประสานขอมาได้ตามความเหมาะสม
"ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือในการนำเสนอข้อมูลใดๆ ควรอยู่ในกรอบแบบธรรมเนียมมารยาทที่เหมาะสม ไม่อยากให้มีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะเป็นการชี้นำด้านความรู้สึก ควรใช้สติรับฟังข้อมูลอย่างมีเหตุผลรอบด้าน เชื่อว่าใช้เวลาสักระยะหนึ่งข้อสงสัยต่างๆ ก็จะได้รับการคลี่คลายอย่างแน่นอน" พ.อ.วินธัย กล่าว
ประยุทธ์ชี้อุดมเดชคิดเองได้เรื่องลาออก
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส ถึงกรณีที่มีกระแสกดดันให้พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง ว่า ให้ไปสอบถามพล.อ.อุดมเดช เอง และเชื่อว่าพล.อ.อุดมเดชจะคิดเองได้ สำหรับข้อกล่าวหามีการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์นั้น  ควรจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการการตรวจสอบแล้ว  อย่านำไปเปรียบเทียบกับบางคน ที่ไม่ยอมรับกฎหมาย  หากพล.อ.อุดมเดช ลาออกจริง  เชื่อว่าจะไม่กระทบกับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ป.ป.ช. เผย ยังไม่ได้รับข้อมูล กสทช. บริจาคเงินให้อุทยานราชภักดิ์
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง กรณีที่มีการตรวจพบ กสทช. ได้บริจาคเงินสนับสนุนการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นจำนวน 88 ล้านบาท ว่า กรณีนี้ต้องดูว่ามีการใช้งบประมาณในส่วนใดและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด การดำเนินการในแต่ละขั้นตอนเจ้าหน้าที่ทำถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดส่งเรื่องร้องเรียนมา และยังไม่พบข้อมูลที่เข้าข่ายน่าสงสัย
เมื่อถามว่า ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้เองเลยหรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่าป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้ หากพบว่าเข้าหลักเกณฑ์ คือ มีผู้ร้องเรียน และมีกรณีต้องสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะทำให้สืบสวนคดีต่อไปได้ ซึ่งหากเข้าหลักเกณฑ์ก็สามารถดำเนินการได้ทันที
เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการใช้งบประมาณจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์  นายสรรเสริญ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กองปราบปรามและคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอุทยานราชภักดิ์ ที่กระทรวงกลาโหมตั้งขึ้น  ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับข้อมูล ยังตอบอะไรไมได้  อย่างไรก็ตามหากมีการแจ้งข้อมูลที่น่าเชื่อว่ามีการทุจริตงบประมาณของรัฐ นอกเหนือจาก 3 ช่องทางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ป.ป.ช. ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์
“ป.ป.ช. มีอิสระในการทำหน้าที่ และกล้าตรวจสอบ หากพบว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องแม้จะระดับสูงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลคงติดตามผลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับ ป.ป.ช.ที่พร้อมจะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป” นายสรรเสริญ กล่าว

ศาลฎีกาพิพากษาคดี ‘สนธิ’ หมิ่นหม่อมอุ๋ย จำคุก 1 ปี รอการลงโทษ


2 ธ.ค.2558 ที่ศาลอาญารัชดา มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากกรณีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 นายสนธิได้กล่าวหา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ในทำนองว่าล้างมลทินให้กลุ่มอำนาจเก่า โดยปล่อยให้มีการออกสลากบนดิน 2 ตัวขัดต่อกฎหมาย และปกป้องผู้กระทำผิดในกรณีที่ปล่อยให้มีการโอนหุ้น บมจ.ชินคอร์ป โดยไม่เสียภาษีผ่านทางรายการเมืองไทยรายสัปดาห์
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 1 ปีแต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี สนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งนี้คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกนายสนธิเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เหลือโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

ศาลนักการเมือง ‘ไม่อนุญาต’ ยิ่งลักษณ์ไปยุโรป ร่วมถกการเมือง ชี้ยังไม่มีเหตุสมควร


2 ธ.ค.2558 จากกรณีสมาชิกรัฐสภายุโรปได้ทำจดหมายเชิญ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังจากการรัฐประหาร ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หรือเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ตามแต่ ยิ่งลักษณ์ จะสะดวก โดย ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ให้คำตอบต่อคำเชิญดังกล่าวในทันที เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าว่าทางคสช.จะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปพูดคุยหรือไม่(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) และ คสช. ให้เป็นอำนาจของศาลในการอนุญาตนั้น
ล่าสุดวันนี้(2 ธ.ค.58) มติชนออนไลน์ รายงานว่า แหล่งข่าวจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ จำเลยในคดีโครงการรับจำนำข้าว มอบอำนาจให้ทนายความมายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานเป็นหนังสือเชิญจากรัฐสภายุโรป ต่อศาลฎีกาฯนักการเมือง เพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศตามหนังสือที่ได้รับเชิญ ต่อมาองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วเห็นว่ากรณียังไม่มีเหตุอันควร ไม่อนุญาตตามคำร้อง
เช่นเดียวกับสำนักข่าวไทย รายงานว่า องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีเหตุสมควร ให้ยกคำร้อง
มติชนออนไลน์ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันที่ 15 ม.ค. 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรกในคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ ตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(ในขณะยื่นฟ้อง) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้รัฐได้รับความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท