วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

'เรืองไกร' เตรียมยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ 'อรรชกา' แจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จหรือไม่


'เรืองไกร' เตรียมยื่นตรวจสอบ 'อรรชกา สีบุญเรือง' แจ้งทรัพย์สินมีการให้กู้ยืมแก่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ตนตรวจสอบไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่าเป็นการแจ้งเท็จหรือไม่ ชี้ต้องเทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ 'เสธ.สนั่น'
 
 

 
21 พ.ค. 2560 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าจากการติดตามตรวจสอบการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า กรณีของ นางอรรชกา สีบุญเรือง ที่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินในตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวม 3 ครั้ง คือ เมื่อรับตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม เมื่อพ้นจากตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และเมื่อรับตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ พบว่ามีการแสดงรายการเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท ไว้ด้วย ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวต้องมีนางอรรชกา แสดงไว้เป็นเจ้าหนี้ในงบการเงินด้วยยอดเงินที่เท่ากันไว้ด้วย
 
นายเรื่องไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเพื่อยืนยันยอดจากข้อมูลของบริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด ที่ขอมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรากฏว่าไม่พบการแสดงบัญชีของบริษัทดังกล่าวว่ามีเงินกู้ยืมจากนางอรรชกา แต่อย่างใด โดยงบการเงินตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2559 ปรากฏว่า มีนางฉฎา สีบุญเรือง เป็นกรรมการเพียงคนเดียว และเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมด จากจำนวน 500,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท ยกเว้นเพียง 2 หุ้น ที่เป็นบุคคลอื่นคนละ 1 หุ้น
 
"จากข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน จึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไปว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินของนางอรรชกา ต่อ ป.ป.ช.ว่ามีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท รุ่งเรืองมหาเศรษฐี จำกัด จำนวนเงิน 39,333,333.33 บาท แต่ในงบการเงินของบริษัทดังกล่าวไม่มีเงินดังกล่าวที่กู้ยืมนั้น จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ทั้งนี้ เทียบเคียงมาตรฐานจากกรณีที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ มาก่อนแล้ว" นายเรื่องไกร กล่าว
 
ทั้งนี้ จึงจะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการยื่นบัญชีเงินให้กู้ยืมของนางอรรชกาว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ พร้อมทั้งทวงถามเรื่องที่ร้องนายกฯ กับ 2 รมต.ด้วยว่าดำเนินการแล้วหรือไม่ โดยจะไปยื่นหนังสือในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.) เวลา 10.00 น.ที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินเศรษฐกิจ 3 ปีหลัง คสช. ยึดอำนาจ เอกชนลงทุนเติบโตต่ำ


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช. พบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ชี้ภาคการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ  
 
21 พ.ค. 2560 ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและประเมินผลงานเศรษฐกิจ 3 ปีหลังการยึดอำนาจของ คสช และภาวะเศรษฐกิจว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องแต่การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 0.8% ในปี พ.ศ. 2557 มาอยู่ที่ 3.3% ในไตรมาสรแรกปี พ.ศ. 2560 โดยคาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับ 3.6% การลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ภาคการบริโภคยังขยายต่ำเพราะสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.88% ช่วงกลางปี 57 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในปัจจุบันแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ระดับ 81.2% รายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักจึงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายนำมาสู่การก่อหนี้ ยอดรวมหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากระดับ 10.13 ล้านล้านบาทมาอยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หลังการยึดอำนาจสามปี ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นประมาณ 1.34 แสนล้านบาท สะท้อนว่าภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่องแม้นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีจะเริ่มลดลงแล้วก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวของรายได้และความมั่งคั่งมากกว่าปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินและก่อหนี้เกินตัวหรือความไม่สามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฉะนั้นต้องมุ่งไปที่ทำอย่างไรให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีการกระจายตัวมากกว่านี้ 
 
การลงทุนภาคเอกชนเติบโตต่ำแม้นกระเตื้องขึ้นและมีสัญญาณฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางส่วน ทุนข้ามชาติสัญชาติไทยไหลออกไปลงทุนนอกประเทศมากขึ้นขณะที่ทุนต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามากอย่างที่คาดการณ์และยังไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2557 ภาคการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนเมื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีคุณภาพ 
 
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของไทยในหนึ่งถึงสองทศวรรษข้างหน้า นโยบายเหล่านี้รัฐบาลมีความคืบหน้ามากพอสมควร แต่สิ่งที่จะประกันความสำเร็จ คือ เสถียรภาพของระบบการเมือง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันและระบบนิติรัฐ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ในส่วนนี้รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอีกมากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาให้เกิดผลจึงต้องส่งมอบภารกิจให้กับรัฐบาลชุดต่อไปดำเนินการต่อ ขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนนักต่อประชาคมอาเซียนหรือการมียุทธศาสตร์อาเซียนของประเทศไทยและยังไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนต่อนโยบายสำคัญ One Belt One Road ของจีน 
 
ส่วนภาคส่งออกที่เคยติดลบต่อเนื่องฟื้นตัวขึ้นในปีที่สามหลังการยึดอำนาจ โดยภาคส่งออกนั้นเริ่มมีการติดลบมาตั้งแต่ก่อน คสช เข้ายึดอำนาจในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และรัฐบาล คสช เข้ามาบริหารประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 
 
ประเมินผลงานเศรษฐกิจมีทั้งดีขึ้น ทรงตัวและแย่ลง ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ระดับ ดีพอใช้ B ด้านความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีมากระดับ A ด้านความสามารถในการแข่งขันได้ระดับดีพอใช้คะแนนระดับ B ด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต้องปรับปรุง คะแนนระดับ D ด้านการพัฒนาสถาบันทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ด้านความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขันยังต้องปรับปรุงอีกมากได้คะแนนระดับ D ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ดีขึ้นโดยภาพรวมแต่กิจการขนาดย่อยยังประสบปัญหา ประชาชนฐานรากยังคงเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ด้านฐานะทางการคลัง ก่อหนี้มากขึ้น ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ไม่สามารถกลับคืนสู่งบประมาณสมดุลได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้คะแนนพอใช้หรือระดับ C ฐานะการคลังแย่ลงเพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็น รายจ่ายด้านสวัสดิการสูงขึ้นและไม่พยายามลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธ ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีนั้นอยู่ในเกณฑ์ดีพอใช้ ได้คะแนนระดับ B สนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หารายได้เข้ารัฐ ปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้ประเทศมีฐานรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนผลงานด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จมากกว่านี้ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีความคืบหน้าระดับหนึ่งเท่านั้นจึงได้คะแนนในระดับ C 
 
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อต่ำ อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% แต่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางกิจการ อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้ รายได้ภาคเกษตรกรรมลดลงต่อเนื่องมาตลอดสองปีกว่าๆเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นช่วงต้นปีนี้ รัฐบาลลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทำให้ภาระทางการคลังลดลงแต่ก็ทำให้กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนตัวลงมาก ส่วนการไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลามากกว่า 2 ปีและปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย 1-5 บาทในช่วงต้นปีทำให้แรงงานระดับล่างทักษะต่ำยังคงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ 
 
ต้องเพิ่มประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ลดอำนาจผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ปกป้องผู้บริโภค การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการมีระบอบการเมืองที่มีคุณภาพและมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการวางรากฐานสู่ประเทศพัฒนาแล้วและศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน หากไม่สามารถทำให้เกิดระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้นได้ ไทยจะเผชิญกับทศวรรษที่สองแห่งการสูญเสียโอกาส ถดถอยและจะเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย
 
ด้านการปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงินโดยเฉพาะในส่วนของกองทุนประกันสังคมมีความคืบหน้าดีพอใช้ ได้ระดับคะแนน B ส่วนในระบบสาธารณสุขนั้นยังไม่มีข้อสรุปหรือความก้าวหน้าชัดเจนนัก ยังไม่สามารถให้คะแนนได้ การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่ตกผลึก 
 
ประเมินผลงานด้านการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวและเป้าหมาย มีความคืบหน้าและรูปธรรมชัดเจนแต่การมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด ได้ระดับคะแนนดีพอใช้ B 
 
ประเมินผลงานด้านการยุติความขัดแย้งรุนแรงอันนำมาสู่สงครามกลางเมือง คสช มีผลงานอย่างชัดเจนในการลดความเสี่ยงและขจัดเงื่อนไขเฉพาะหน้าอันนำไปสู่ความรุนแรงและการนองเลือด จึงได้คะแนนในระดับ A แต่ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริง เนื่องจากการปรองดองอย่างแท้จริงต้องเกิดจากกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง ใช้กระบวนการประชาธิปไตย แสวงหาข้อเท็จจริง สถาปนานิติรัฐเอาผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ คืนให้ความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมือง 
 
ประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ผลงานด้านนี้ไม่ผ่าน ได้ระดับคะแนน F แม้นจะมีการผ่อนคลายทางด้านสิทธิเสรีภาพบ้าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง แต่ได้มีการสร้างกลไกสถาบันและกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่ให้หลักประกันในเรื่องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นอกจากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆการรับรองอนุสัญญาต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิแรงงานดีขึ้น
 
ประเมินผลงานทางด้านการศึกษา คะแนนอยู่ในระดับ A มียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนและกระบวนการในการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวทางการศึกษาอยู่บนข้อมูลการวิจัยและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเพิ่มการกระจายอำนาจทางการศึกษา ปฏิรูปครูและปฏิรูปการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น 
 
3 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช ก่อนการเลือกตั้ง ควรเพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 6 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการจาก Supply-side เป็น Demand-side มากขึ้นเพื่อลดความสูญเปล่าทางการศึกษาและงบประมาณ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น 
 
ผลงานด้านความมั่นคงและระบบการป้องกันประเทศ ได้คะแนนภาพรวมพอใช้ หรือ ระดับ C เท่านั้น เพราะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ แทนที่จะนำงบประมาณมาลงทุนวิจัยพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศเองผ่านทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ควรนำงบประมาณลงทุนพัฒนาบุคลากรของกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ เพิ่มระบบทหารอาสา ลดสัดส่วนทหารเกณฑ์และทำให้คุณภาพชีวิตและผลตอบแทนของทหารเกณฑ์และกำลังพลดีขึ้น ขณะที่การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศลดลงแต่ไม่ได้หมดไปจึงต้องลดเงื่อนไขการก่อเหตุที่กระทบความมั่นคงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนลดลงอย่างชัดเจนอันเป็นผลบวกต่อการค้าการลงทุนและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2560 สามารถเติบโตได้ในระดับ 3.6-4.2% ดีขึ้นกว่าปี 2557 (จีดีพีขยายตัว 0.8%) 2558 (2.9%) และ ปี 2559 (3.2%) (โปรดดูตารางตัวเลขเศรษฐกิจเปรียบเทียบ) อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวมายังกิจการขนาดเล็ก เกษตรกร ผู้ใช้แรงงานและประชาชนระดับฐานรากมากนัก “ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 
 
เนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแม้นไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจถดถอยลง แต่ยังมีความหวังว่า การร่างกฎหมายลูกที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของประชาชนมากขึ้น เพิ่มความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมืองมากขึ้น จะทำให้ปัญหาบางอย่างในรัฐธรรมนูญบรรเทาลงและไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ 
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง จะกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วม รัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีก 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 เป็นความต่อเนื่องของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 เป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังอำนาจที่อิงระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง กับ พลังอำนาจที่ไม่เชื่อในระบบเลือกตั้ง รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และ คสช ต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสองพลังอำนาจนี้โดยไม่สูญเสียหลักการประชาธิปไตยและความมั่นคงของระบบการเมืองอันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมสันติธรรม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งคืนความเป็นธรรมให้กับทุกคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ศึกษาความผิดผลาดในอดีตไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ย้ำรอยความล้มเหลว หากผู้ต้องการเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งและการแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาจะทำให้ระบบประชาธิปไตยไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง อันนำมาสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืน 
 

ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”


ไอลอว์เปิดรายงาน 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  ชี้ คสช.พาไทยถอยหลังกลับรวมศูนย์อำนาจ ทำลายการมีส่วนร่วมและระบบตรวจสอบโดยตุลาการ สร้างกลไกสืบทอดอำนาจให้แก่ตนเอง 

22 พ.ค. 2560 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยแพร่รายงานเรื่อง 3 ปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”  เนื่องในวันครบรอบ 3 ปีการเข้าปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า คสช. ใช้เวลา 3 ปีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมืองการปกครองของไทยไปอย่างใหญ่หลวง ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การดึงอำนาจการปกครองกลับไปอยู่ที่หน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่, การตัดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน, การใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชน, การสถาปนาอำนาจทหารในกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจสูงสุดอย่างที่ไม่มีกระบวนการใดสามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ ไอลอว์ กล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นการประมวลภูมิทัศน์ทางการเมืองภายใต้การปกครองของคสช. โดยรวบรวมข้อมูลจากการติดตามกระบวนการออกกฎหมายและเก็บข้อมูลของไอลอว์ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า คสช. ได้นำพาประเทศไทยย้อนกลับไปในยุคการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจอีกครั้ง ผ่านการออกกฎหมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560, พระราชบัญญัติอย่างน้อย 239 ฉบับ, คำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 อย่างน้อย 151 ฉบับ และประกาศและคำสั่งคสช. อีกมากมาย 
แฟ้มภาพ
“คสช. ได้ทำลายกลไกและวัฒนธรรมการปกครองประเทศโดยประชาชนที่พัฒนาขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาไปจนหมดสิ้น ระยะเวลาสามปีของ คสช. ถือว่า นานมาก อาจจะนานพอที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย และรู้สึกชินชากับวิธีการปกครองแบบผู้นำใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งบรรยากาศแบบนี้อันตราย ทำให้ประเทศไทยกลับสู่วัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยได้ยาก” ยิ่งชีพ กล่าว
ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คสช. ยังบ่อนทำลายการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วยการปิดกั้นการทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามการชุมนุมโดยสงบของประชาชน, การควบคุมตัวโดยอำนาจพิเศษของทหาร, การดำเนินคดีด้วยข้อหาความมั่นคง ส่งผลให้สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้ความเงียบงัน แต่อย่างไรก็ดี ตลอดสามปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนก็พยายามเคลื่อนไหวสร้างพื้นที่การส่งเสียงตลอดมา ตั้งแต่การชุมนุม การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ การใช้กลไกองค์กรอิสระ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างแต่ก็เป็นสามปีที่สร้างประสบการณ์ให้ภาคประชาสังคมไทยอย่างมากทีเดียว
สำหรับ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย ติดตามจับตาการออกกฎหมาย โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และการออกประกาศ คำสั่ง โดย คสช. รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เช่น การปรับทัศนคติ, การจับกุม, การดำเนินคดีต่อประชาชนในศาลยุติธรรมและศาลทหาร โดยได้บันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2554 เรื่อยมาจนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช.เข้าปกครองประเทศและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

วีรชน ชี้ 3 ปี คสช.ผลงานเกินเป้า - ยิ่งลักษณ์ ทวงสัญญา อย่าให้ เป็น 3 ปี ที่ต้องสูญเปล่า


รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผย คสช. จะแถลงผลงาน 3 ปี พร้อมรัฐบาล ปลาย ส.ค.-ต้น ก.ย. ย้ำผลงานของ คสช. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเกินเป้าเป็นอย่างมาก ด้าน ยิ่งลักษณ์ ทวงสัญญา อย่าให้ เป็น 3 ปี ที่ต้องสูญเปล่า

22 พ.ค. 2560 สำนักข่าว INN รายงานวาา พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ถึงความชัดเจนในการแถลงผลงาน 3 ปี คสช. เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี วันนี้ ว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ คือจะเป็นการแถลงรวบยอดทั้งครบรอบ 3 ปี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 3 ปีรัฐบาล ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายนทีเดียว ส่วนรูปแบบกำลังอยู่ระหว่างการหารือ เบื้องต้นยืนยันว่าได้มีการรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และนำมาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

พล.ท.วีรชน ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า ผลงานของ คสช. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเกินเป้าเป็นอย่างมาก หากมองย้อนกลับไป ในช่วงวันที่ 22 พ.ค. 2557 ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวันนี้ โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง การดูแลความสงบเรียบร้อย ที่ทำให้เกิดเสถียรภาพ สามารถขับเคลื่อนงานด้านอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ และเหตุระเบิดที่โรงละครแห่งชาติ จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน ในด้านความมั่นคงอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องอื่นๆ รัฐบาลก็พยายามวางรากฐาน และปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืน เพื่อรัฐบาลหน้ามาขับเคลื่อนต่อได้ทันที เช่นเดียวกับด้านเศรษฐกิจ ที่พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเต็มที่ 

ยิ่งลักษณ์ทวงสัญญา อย่าให้ เป็น 3 ปี ที่ต้องสูญเปล่า

ขณะที่วันนี้ (22 พ.ค.60) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Yingluck Shinawatra' ในหัวข้อ 'อย่าให้ 3 ปี ของการยึดอำนาจต้องสูญเปล่า'  โดยระบุว่า วันนี้เป็นวันที่ ครบรอบ 3 ปี ของ คสช. ที่เข้ามายึดอำนาจจาก รัฐบาลตน คงจะจำกันได้ว่า เหตุผลที่เข้ามายึดอำนาจนั้นเพราะมี ปัญหาจากความแตกแยกทางการเมือง ต้องแก้ไข ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ให้ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา และต้องการที่จะมาปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้ดีขึ้น เกิดความเป็นธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย จะได้เกิดความสงบ และมีความปรองดองเกิดขึ้นในชาติ 
"และวันนี้ก็ครบ 3 ปี แล้วนะคะ เป็น 3 ปี ของประเทศไทย ที่รอวันนั้นด้วยความหวัง หวังจะให้บ้านเมือง เกิดความสงบ ปรองดองและเกิดหลักนิติธรรมขึ้นในบ้านเมือง เราจะได้เลิกทะเลาะกันสักที และร่วมกันปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จะได้ร่วมกันทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ อยู่ในเวทีโลกด้วยความภาคภูมิใจ ตามที่สัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศ แต่วันนี้พวกเรายังไม่เห็นการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีการปฏิรูปก็สูญเปล่าเพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจมีมากจากการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น "อย่าให้ เป็น 3 ปี ที่ต้องสูญเปล่าเลยค่ะ" ยิ่งลักษณ์ พร้อมทั้งท้ายด้วยว่า ดิฉันขอทวงสัญญา

เครือข่ายนักวิชาการฯ แถลง '3 ปีที่เสียของ' เปิด 10 ความสูญเสียในยุค คสช.


เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เปิด  10 ความสูญเสีย เสียสิทธิและเสรีภาพ เสียเวลาและอนาคตสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เสียโอกาสเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เสียการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนระดับล่าง/คนยากจน ฯลฯ

22 พ.ค. 2560 เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้จัดการแถลงข่าว ในหัวข้อ " ‘3 ปีที่เสียของ’: 3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร” ณ ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 
คนส. แบ่งความสูญเสียของสังคมไทยในยุค คสช. ออกเป็น 10 ด้าน ประกอบด้วย 1) การสูญเสียสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น 2) การสูญเสียเวลาและอนาคตของประเทศในการสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย 3) การสูญเสียโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ 4) การสูญเสียการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร 5) การเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนระดับล่าง/คนยากจน 6) การเสียระบบสวัสดิการและคุณภาพชีวิตพื้นฐาน 7) การเสียโอกาสในการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้ 8) เสียระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ 9) การเสียหน้าและไม่ได้รับการยอมรับในประชาคมโลกในฐานะที่เป็นประเทศเผด็จการ และ 10) การสูญเสียความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย
สำหรับในประเด็นสูญเสียสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้น คนส. ได้ยกตัวอย่างการตั้งข้อหานักกิจกรรมและสื่อมวลชนกรณีอุทยานราชภักดิ์และคดีประชามติ รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการอภิปรายทางวิชาการที่ลุกลามมาถึงในรั้วมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการหายไปของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งแม้แต่การจุดเทียนหรือวางดอกไม้เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ก็ยังทำไม่ได้ ที่สำคัญมีความพยายามควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการแทรกแซงการสนทนาส่วนตัวของประชาชนแล้วนำมาตั้งข้อหาที่มีโทษร้ายแรง เช่น ข้อหาด้านความมั่นคงและ 112
ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อโครงการพัฒนาใหญ่และจัดการทรัพยากร คนส. ชี้ว่า สิทธิเหล่านี้ที่เคยมีถูกยกเลิกไปหมดในยุค คสช. ด้วยการออกคำสั่ง คสช. ฉบับต่างๆ เช่น คำสั่ง คสช.เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและยกเว้นการทำ EIA ขณะที่ระบบสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าทั้งในด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาล ในฐานะที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่มแทนในยุค คสช. 
ส่วนการตรวจสอบการคอรัปชั่นนั้น คนส. ชี้ถึงการที่ไม่สามารถตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยว่าขาดความโปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพได้เลย สุดท้าย คนส. ได้ชี้ว่าในยุค คสช. มีการพยายามลบประวัติศาสตร์การปฏิวัติของคณะราษฎรและสร้างประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่เอื้อต่อระบอบเผด็จการแบบสมบูรณ์ขึ้นมาแทน ดังกรณีที่หมุดคณะราษฎรถูกทำให้หายไปและแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส”

รายละเอียดคำแถลง คนส. : 

คำแถลงของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารโดย คสช.
"3 ปีที่เสียของ"
3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร
วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 
1. เสียสิทธิและเสรีภาพ 
นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา พลเมืองไทยตกอยู่ใต้การปกครองที่ทหารเป็นใหญ่เหนือองค์กรอื่นๆ ผู้นำประเทศใช้ทหารเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานร่วม ทำให้ทหารเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการแทรกแซง กดดัน และจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในส่วนของการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล คสช. รวมถึงกองทัพ ดังกรณีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ ที่มีทั้งการขัดขวางการเดินทางและตั้งข้อหากับประชาชน กรณีประชามติ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว กระทั่งทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ตกเป็นจำเลย มิพักต้องเอ่ยถึงการนำคดีของพลเรือนเหล่านั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยศาลทหาร 
นอกจากนี้ การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏในการอภิปรายทางวิชาการทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งทำให้การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์และสันติถูกจำกัดวงอย่างมาก ขณะที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็ถูกแทรกแซงทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังกรณีการเชิญนายโจชัว หว่อง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง มาอภิปรายเรื่องการเมืองของคนรุ่นใหม่เนื่องในวาระ 40 เหตุการณ์ 6 ตุลาคา 2519 แต่นายหว่องกลับถูกกักตัวและส่งกลับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง สร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัวให้กับนิสิต นักศึกษา และอาจารย์ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้เข้าไปแสดงตัวถึงในมหาวิทยาลัยในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการ 
ในส่วนของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่ก็ยังพบว่ามีการจำกัดสิทธิตลอดจนการคุกคามการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบและสันติอยู่ ล่าสุดดังการรำลึกเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ห้ามจุดเทียนรำลึกในบริเวณที่มีการปะทะและสลายการชุมนุม ญาติของผู้เสียชีวิตจะแสดงการรำลึกก็ถูกควบคุมตัว 
การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังปรากฏชัดขึ้นผ่านความพยายามควบคุมสื่อทางสังคม (social media) เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค และอื่นๆ ถึงในระดับของบทสนทนา ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่ามีคดีทางการเมืองและ 112 จำนวนมากพุ่งเป้าไปที่บทสนทนาส่วนตัวในสื่อทางสังคม ขณะที่ประชาชนก็อยู่ในความหวาดกลัวเพราะไม่รู้ว่าจะตกเป็นเป้าเมื่อใด รวมทั้งวิตกกังวลว่ารัฐบาลจะปิดสื่อทางสังคมหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจะมีการตรากฎหมายควบคุมสื่อทางสังคมในที่สุด 
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่ประชาชนคนไทยเสียสิทธิและเสรีภาพอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ไม่สามารถอภิปรายถกเถียงประเด็นสาธารณะบนฐานของหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติและอย่างมีอารยะ
2. เสียเวลา เสียอนาคต
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารและ คสช. “กล่าวอ้าง” มาตลอดว่า มีเจตนารมณ์ที่จะสร้าง “ความปรองดองสมานฉันท์ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้สังคมไทยยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องแตกแยก แบ่งฝ่าย ยึดหลักนิติรัฐควบคู่กับหลักรัฐศาสตร์ ในการบริหารจัดการความขัดแย้ง ความเท่าเทียมและเป็นธรรม จะต้องไม่มีการละเลยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม”
หากแต่ในความเป็นจริงรัฐบาลทหารและ คสช. กลับใช้อำนาจเถื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการอาศัยมาตรา 44 ในการข่มขู่คุกคามและจับกุมคุมขังนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชน ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากตน อีกทั้งยังละเมิดหลักการ ขั้นตอน และกระบวนการยุติธรรม/กฎหมายปกติ และในหลายกรณีกลับอาศัยกลไกของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอีกด้วย 
พฤติการณ์ของรัฐบาลทหารและ คสช. ดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดการ “เสียเวลา” ในการพัฒนาสังคมการเมืองไทยให้ไปสู่สังคมที่เคารพและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากแต่ยังทำให้ประเทศชาติและประชาชนจำนวนมาก “เสียอนาคต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ “คนหนุ่มสาว” ที่มีความฝันและจิตวิญญาณเสรี ในร่วมสร้างสังคมการเมืองไทยให้เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
3. เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารและ คสช. ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ในช่วง พ.ศ. 2541-2556 เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ช่วง พ.ศ. 2557-2559 การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2-3 ต่อปี เช่นเดียวกับในส่วนของการส่งออกที่ในช่วง พ.ศ. 2550-2556 เคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ทว่าในช่วง พ.ศ. 2556-2559 กลับกลายเป็นติดลบเฉลี่ยร้อยละ -2 ต่อปี
นอกจากนี้ การลงทุนภายในประเทศของเอกชนที่เคยเติบโตร้อยละ 11.8 ใน พ.ศ. 2556 กลับกลายเป็นลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -0.8 ใน พ.ศ. 2557 และลดลงอีกร้อยละ -2.2 ใน พ.ศ. 2558 ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเพียงร้อยละ 1.8 ใน พ.ศ. 2559 เช่นเดียวกับในส่วนของเงินทุนระหว่างประเทศ ก่อน พ.ศ. 2556 เคยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมากลายเป็นเงินทุนไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2557 ไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน พ.ศ. 2558 ไหลออก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และใน พ.ศ. 2559 ไหลออก 2.6 หมื่นล้าน 
ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เคยสูงสุด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2556 ลดลงเหลือ 2,553 ล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2559 โดยภายในกลุ่มอาเซียน ถึง พ.ศ. 2556 ประเทศไทยรับเงินลงทุนต่างชาติจากนอกอาเซียนสูงเป็นอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ แต่ถึง พ.ศ. 2558 ประเทศไทยตกเป็นอันดับห้า รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (รองจากไทยคือ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน)
นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง เช่น
- การขอใบอนุญาตพื้นที่ก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -4.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -1.0 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงอีกร้อยละ -8.7 ใน พ.ศ. 2559
- ดัชนีวัสดุก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -1.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -2.4 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงร้อยละ -2.0 ใน พ.ศ. 2559
เช่นเดียวกับรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง จากลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -5.6 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงอีกร้อยละ -10 ใน พ.ศ. 2558 และเพิ่มเพียงร้อยละ 1.3 ใน พ.ศ. 2559 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ใน พ.ศ. 2556 ก็ชะลอลงเป็นร้อยละ 11 ใน พ.ศ. 2559
นอกจากนี้ การใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนของประชาชนลดลง (ติดลบ) ทุกปี จากลดลงร้อยละ -15.3 ใน พ.ศ. 2557 เป็นร้อยละ -6.7 ใน พ.ศ. 2558 และร้อยละ -1.2 ใน พ.ศ. 2559 สะท้อนความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและมาตรฐานการครองชีพที่ไม่กระเตื้องขึ้น ประเทศจึงเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร
4. เสียการมีส่วนร่วมและอำนาจของประชาชนในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร
ก่อนหน้ารัฐประหาร พ.ศ. 2557 รัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ในหลายมาตรา ทว่าเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจก็ได้ยกเลิกฉันทามติการอยู่ร่วมกันในสังคมและหันมาใช้อำนาจเฉพาะกิจ อาทิ การออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2559 ฉบับที่ 4/2559 และฉบับที่ 9/2559 ปลดล็อคโรงไฟฟ้าขยะให้ตั้งในพื้นที่ใดก็ได้ และหากมีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ก็ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นประมาณ 50 แห่งเพียงแค่ในช่วงปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันหากมีการจัดกิจกรรมรับฟังสาธารณะชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเทียบเรือ เหมืองถ่านหิน เหมืองทอง เหมืองโปแตช ชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบก็มักถูกควบคุมและกีดกันออกจากการประชุมโดยกำลังทหาร รวมทั้งยังมีการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม แกนนำการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง 
นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในต่างจังหวัด ชนบทห่างไกล หรือเขตทุรกันดาร หากแต่ยังเกิดขึ้นในกลางกรุงเทพฯ ด้วย ดังกรณีโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจากคนกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่มีคำถามถึงประโยชน์และผลกระทบที่คลุมเครือ เพราะไม่มีรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน แต่รัฐบาล คสช. ก็เดินหน้าอนุมัติดำเนินการต่อ เป็นต้น
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คสช. ไม่เคยนำข้อมูลและความเห็นของประชาชนกลับมาทบทวนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ทั้งในแง่ของการศึกษาผลกระทบ การปฏิบัติการ รวมถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ จึงเป็นช่วงเวลา 3 ปีที่สังคมเสียโอกาสการมีส่วนร่วมและอำนาจในการพัฒนาและจัดการทรัพยากร
5. เสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตลอดสามปีที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. ใช้คำพูดที่ดูถูกเหยียดหยามประชาชนโดยเฉพาะคนระดับล่างหรือคนยากจนตลอดเวลา นับตั้งแต่การกล่าวหาว่าพวกเขายากจนเพราะฟุ้งเฟ้อ ไม่รู้จักพอเพียง เช่น “บอกให้พวกเขาสอนลูกหลานให้รู้จักฐานะตนเอง ลูกต้องไม่รบกวนพ่อแม่จนเกินไป จนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน...ไปหลงติดการพนัน สุรา ยาเสพติด ใช้ของราคาแพงเกิน” และครั้นจะให้ความช่วยเหลือ นอกจากจะเน้นในด้านการสงเคราะห์แทนจะเป็นการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เปลี่ยนสถานะประชาชนผู้ทรงสิทธิให้เป็นคนอนาถา หัวหน้า คสช. ยังมักถือโอกาสตำหนิและทวงบุญประชาชนคุณเสมอมา ดังที่ว่า “ผู้มีรายได้น้อย ต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด เพิ่มความขยันขันแข็ง...อย่าเกียจคร้าน รอรัฐบาลช่วยเหลือตลอดเวลา”
นอกจากนี้ หัวหน้า คสช. ยังมักแสดงทัศนะเชิงเหยียดเพศหญิงอยู่เสมอ เช่น “ผู้หญิงเปรียบเสมือนทอฟฟี่หรือขนมหวานที่ต้องมีห่อ หากเราเอาขนมมาขายแล้วเปิดห่อทั้งหมดก็คงไม่มีใครอยากกิน มันต้องอยู่ในห่อแล้วจะน่าสนใจ พอเห็นแล้วน่ากินจึงค่อยเปิดดู ส่วนที่เปิดหมดแล้วมันก็ไม่น่าสนใจ ส่วนคนที่ไม่เปิดก็โชคดีไป” ไม่นับรวมข้อที่เขาไม่เชื่อว่า “คนจน” จะมีความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตย ดังที่ว่า “ไอ้คนตัดหญ้าเนี่ยมันรู้เรื่องไหม ชาวนามันรู้เรื่องกี่คน ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตยไหม” 
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนคนไทยได้ถูกกระทำย่ำยี ประชาชนถูกกล่าวหา ตีตรา และต้องแบกรับภาระในการแก้ปัญหา ทั้งที่สาเหตุมาจากโครงสร้าง กฎเกณฑ์ และกติกา ที่รัฐบาลและ คสช. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
6. เสียสวัสดิการและคุณภาพชีวิต
ห้วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล คสช. เป็นห้วงเวลาที่ประชาชนต้องจับตากับการเปลี่ยนแปลงในระบบสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาพยาบาลและการศึกษา ระบบสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าในประเทศไทยได้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 จนกระทั่งครอบคลุมประชากรเกือบทั้งหมดของประเทศ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษา โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลงได้มาก พร้อมกันกับการประกาศคุณภาพการบริการพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่รัฐบาล คสช. กลับมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าไปเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม ด้วยความพยายามในการตัดสิทธิของประชาชนในการศึกษา 12 ปี (จนถึง ม.6 หรือ ปวช.) ตามรัฐธรรมนูญ ลงเหลือแค่การศึกษาภาคบังคับ แล้วไปเพิ่มกองทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์แทน 
เช่นเดียวกับเรื่องการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลพยายามจะจำกัดงบประมาณและทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพยายามจะเปลี่ยนแนวคิดและถ้อยคำที่มีการรับรองสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพทัดเทียมกันออกไปจากรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ สิทธิในการจัดการศึกษาด้วยตนเองของประชาชนและชุมชนก็ได้ถูกยกออกไปจากรัฐธรรมนูญด้วย
 ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าในช่วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล คสช. ประชาชนได้เสียสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งของตนให้กลายเป็นผู้รับบริการของภาครัฐไปแล้ว แม้การจับตาอย่างใกล้ชิดของภาคประชาชนจะมีผลให้รัฐบาล คสช. จำเป็นต้องกลับการตัดสินใจหลายครั้ง เช่น การออกประกาศ คสช. โดยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อขยายการให้สวัสดิการเรียนฟรีจนถึงชั้น ม.6 หรือ ปวช. และการบรรจุพยาบาล เป็นต้น
7. เสียโอกาสการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาชายแดนใต้
แม้หัวหน้า คสช. ประกาศจะ “ขจัดความเลวร้ายต่างๆ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ภายใน 6 เดือน อีกทั้งยังได้แต่งตั้ง ครม. ส่วนหน้าเป็นตัวแทนพิเศษของรัฐบาลมาแก้ปัญหา แต่สถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาชายแดนใต้ก็ไม่ได้คลี่คลายลง เนื่องภายใต้ระบอบ คสช. แนวทาง “การทหาร” ถูกนำมาใช้เหนือแนวทาง “การเมือง” โดยปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและสิทธิพลเมือง มีการเหวี่ยงแห เหมารวม และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (ดังกรณีการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) ขณะที่ปฏิบัติการทางการเมืองก็ยังมีข้อกังขาว่าไม่มีความจริงใจ เป็นเพียงการสร้างภาพ (เช่น ภาพนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปรับคนเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน การนำผู้ต้องสงสัยเข้าอบรมจริยธรรมทางศาสนาในค่ายทหาร) อีกทั้งยังปล่อยให้มีปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าว (IO) โจมตีนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและมีการขู่จะใช้มาตรการทางกฎหมายกับนักสิทธิมนุษยชนที่เปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานด้วยในกระบวนการรีดข้อมูลด้วย 
นอกจากนี้ ในยุค คสช. อุดมการณ์ชาตินิยมแบบแข็งตัวถูกตอกย้ำและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น แม้ คสช.จะสานต่อการพูดคุยสันติภาพ แต่ก็ดำเนินการได้จำกัดอย่างมากเนื่องจากวางอยู่บนฐานคิดแบบชาตินิยม ส่งผลทำให้รัฐไทยกลายเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเจรจาแต่เพียงฝ่ายเดียว บนฐานของความหวาดกลัวและหวาดระแวงต่อองค์กรและกฎกติการะหว่างประเทศ จึงไม่สามารถรวมกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ให้เข้ามาร่วมกระบวนการเจรจาได้อย่างเต็มใจ 
ในด้านการมีส่วนร่วม ทหารได้เข้ามาสังเกตการณ์และจับตากิจกรรมขององค์กรในภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มีความพยายามเรียกพบผู้ปฏิบัติงานเพื่ออบรมสั่งสอนให้มีความคิดและการทำงานภายใต้กรอบที่รัฐบาลทหารกำหนด รวมทั้งได้เข้ามาตรวจสอบแหล่งทุนของภาคประชาสังคมด้วย 
ประการสำคัญ ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การส่งเสริมความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และการศึกษาได้ลดน้อยลงไปมาก มีการคุกคามการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ (ดังกรณีการจัดการกับกลุ่มนักศึกษาที่แสดงป้าย “ขออนุญาตเรียกตัวเองว่า ‘คนปาตานี’ ” ในขบวนพาเหรดกีฬา) รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดด้านการด้านงบประมาณแผ่นดินประจำปีเพื่อช่วงชิงนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มาเรียนในโรงเรียนรัฐ 
ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชายแดนใต้ คสช. เน้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่มักส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แทนที่จะมองและพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของวัฒนธรรมและศาสนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ขณะที่ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้ก็มักเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นมากกว่าชาวบ้านทั่วไปหรือผู้ประสบปัญหาหรือว่าผู้มีความต้องการช่วยเหลือ
8. เสียระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ
คสช. ใช้งบประมาณจำนวนมากโดยที่สังคมมีข้อกังขาว่าไม่โปร่งใส ไม่จำเป็นและไม่คุ้มประโยชน์ เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนสามลำรวม 36,000 ล้านบาท ที่จะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ในอ่าวไทยที่มีความลึกเฉลี่ยเพียง 44 เมตร ขณะที่ความลึกที่เหมาะสมสำหรับเรือดำน้ำรุ่นนี้คือ 60 เมตร หากจะมีเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนการอ้างว่า สามารถใช้สำรวจทรัพยากรทางทะเลได้ ก็ไม่จริง เพราะลักษณะการใช้งานและการติดอุปกรณ์เป็นคนละประเภท หากจะมีเรือเพื่อสำรวจทรัพยากรก็ควรซื้อเรือสำรวจทรัพยากรใต้น้ำแทน และราคาถูกกว่าด้วย 
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีบทเรียนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ของกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด GT 200 ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท ต่อมาศาลประเทศอังกฤษได้ลงโทษบริษัทผู้ขายโทษฐานหลอกลวง เพราะเครื่องดังกล่าวมีต้นทุนเพียง 600 บาท สูญงบประมาณ 660 ล้านบาท หรือกรณีเรือเหาะตรวจการณ์ใน พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้งบประมาณ 350 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถใช้งานได้ 
สามปีที่ผ่านมาจึงเป็นสามปีที่กองทัพใช้งบประมาณจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างขาดความโปร่งใสและไร้ประสิทธิภาพ ปราศจากกลไกในการตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง กองทัพจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณเช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ
9. เสียหน้าในประชาคมโลก
รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งหนึ่งในผลประโยชน์ของชาติคือศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ แต่รัฐบาล คสช. กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในเวทีระหว่างประเทศตลอดสามปีที่ผ่านมา อาทิ
รัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ คสช. คืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนโดยเร็ว
สหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทย ลดระดับการฝึกซ้อมร่วมคอบร้าโกลด์ให้เหลือเพียงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ระงับการซ้อมรบร่วมทางทะเลตามโครงการ “การัต” (Carat)
สหภาพยุโรปมีมติระงับการเจรจาข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับไทย รวมทั้งการเยือนอย่างเป็นทางการจนกว่าประชาธิปไตยในไทยจะได้รับการฟื้นฟู
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สหภาพยุโรป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น Human Rights Watch, Asian Human Rights Commission ฯลฯ ประณามการจับกุมและคุกคามนักศึกษาและนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย การใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน การใช้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของ คสช. และการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างกว้างขวาง 
ในเดือนพฤษภาคม 2559 ประเทศไทยเผชิญกับการทำให้อับอายในที่ประชุม “การทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Periodic Reviews) ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์สพาดหัวข่าวว่า “Thailand faces "moment of shame" at UN rights council review”
ในระหว่างการประชุม สมาชิกสหประชาชาติ 97 ประเทศได้ยื่นข้อเสนอแนะ 249 ข้อเพื่อให้รัฐบาลทหารปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย อาทิ การคุกคามและจับกุมผู้เรียกร้องประชาธิปไตย การใช้มาตรา 44 การใช้ศาลทหารกับพลเรือน การซ้อมทรมาน การบังคับอุ้มหายในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบังคับใช้และการลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายอาญามาตรา 112 การค้ามนุษย์ ฯลฯ 
นายเดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดูแลกิจการด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิควิจารณ์กรณี สนช. มีมติให้ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์กรณีจำนำข้าวและคอรัปชั่นว่า กระบวนการทางการเมืองที่ดำรงอยู่ไม่ได้เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายในสังคม
กรณีจับกุมคุมขัง “ไผ่ ดาวดิน” (จาตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) และปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่งผลให้ Human Rights Watch ออกแถลงการณ์ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ไทยทบทวนมาตรา 112 ล่าสุดคณะกรรมการรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ได้มอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2560 ให้แก่ไผ่ ในฐานะผู้ต่อสู้และปกป้องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน
เหตุการณ์ข้างต้นคือการประกาศของอารยะประเทศว่าพวกเขาไม่สามารถยอมรับและนิ่งเฉยต่อพฤติกรรมอำนาจนิยมของ คสช.และพลพรรค
10. เสียความทรงจำ
ประวัติศาสตร์ชาติครอบงำความคิดของคนไทยมาเนิ่นนาน ผ่านตำราเรียนที่เขียนขึ้นโดยรัฐ และวิธีการสอนที่ไม่เอื้อให้เกิดทักษะเพื่อการคิดวิเคราะห์ บ่อยครั้งที่อดีตบางอย่างถูกรัฐขีดฆ่าและลบออกไปจากความทรงจำของสาธารณะ และในขณะเดียวกันก็มักมีประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่เพิ่งสร้างเข้ามาแทนที่ ดังกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 
ภายหลังการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 มีกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็น “ปฏิปักษ์การปฏิวัติ 2475” เพื่อล้มล้างความน่าเชื่อถือของคณะราษฎร เวลาผ่านไปกว่า 8 ทศวรรษ ความพยายามล้มล้างบทบาทการปฏิวัติของคณะราษฎรก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ดี ในประเทศประชาธิปไตย การลบล้างประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะผู้กระทำการจะพบกับการต่อต้านโดยสังคม แต่ในสังคมเผด็จการ การต่อต้านการลบล้างอดีตเกิดขึ้นได้ยาก เพราะนอกจากผู้คนจำนวนมากจะหันหลังให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว รัฐบาลยังปราบปรามผู้มีความคิดเห็นต่างอย่างรุนแรง พร้อมกับผูกขาดประวัติศาสตร์และฉกชิงประวัติศาสตร์ให้มาอยู่ข้างตนเอง ดังกรณีการหายไปของหมุดคณะราษฎรและแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส”

ศรีวราห์ยันเหตุหน้าห้องวงษ์สุวรรณ รพ.พระมงกุฎฯ เป็นระเบิด เนื่องจากพบเศษถ่านไฟฉาย-สายไฟ


พล.ต.อ.ศรีวราห์ ยืนยันเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุระเบิด เนื่องจากตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเศษถ่านไฟฉายและสายไฟ ประยุทธ์สั่งเร่งสอบ พร้อมดูแลผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ ผบ.ทบ.เรียกถกหน่วยงานความมั่นคงด่วน 

22 พ.ค. 2560 จากเหตุระเบิดในช่วงสายวันนี้ (22 พ.ค.60) ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. โดย คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ โดยแบ่งเป็นชื่อ ห้องติณสูลานนท์ ห้องยงใจยุทธ ห้องวงษ์สุวรรณ โดย ระเบิดดังกล่าวพบบริเวณหน้าห้องวงษ์สุวรรณ เบื้องต้นพบกลุ่มควันจำนวนมากที่บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยมีทหารได้เข้าควบคุมพื่นที่ โดยใช้สารเคมีดับ ขณะเดียวกันได้ลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุจำนวนหลายราย นั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 13.13 น. ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เดินทางไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุระเบิด เนื่องจากตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเศษถ่านไฟฉายและสายไฟ แต่ต้องรอตรวจสอบอย่างละเอียดและประชุมสรุปอีกครั้ง โดยยังตอบไม่ได้ว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เชื่อมโยงกับเหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ก่อนหรือไม่ ต้องรอเจ้าหน้าที่ประชุมหารืออีกครั้ง

ประยุทธ์สั่งเร่งสอบ

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการ ทหารบกแล้วถึง กรณีเหตุระเบิดบริเวณ ห้องจ่ายยานายทหารสัญญาบัตร ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในช่วงสายวันนี้ โดยมีผู้บาดเจ็บ เล็กน้อย ประมาณ 24 ราย
"เบื้องต้น ทางโรงพยาบาลได้ควบคุมพื้นที่ เกิดเหตุได้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล ผู้บาดเจ็บ อย่างเต็มที่ และ ให้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง ต่อไป"  พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ผบ.ทบ.เรียกถกหน่วยงานความมั่นคงด่วน 

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน.) เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วนในวันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 15.00 น. ภายหลังจากเกิดเหตุระเบิดดังกล่าว โดยมี พล.อ.สสิน ทองภักดี เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการกอ.รมน. พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กองทัพภาคที่ 1 รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านการข่าวและฝ่ายยุทธการของฝ่ายความมั่นคง เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และตรวจสอบสาเหตุระเบิดดังกล่าว
พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่โรงพยาบาลพระมงกุฎว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงในเรื่องรายละเอียด ในส่วนของตนไปดูมาตรการการรักษาความปลอดภัย ว่ามีจุดบกพร่องอะไรบ้าง ซึ่งตนคิดว่าเหตุการณ์ลอบวางระเบิดครั้งนี้ ไม่ควรกระทำเนื่องจากหวังทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธ์ อย่างไรก็ตามตนเน้นย้ำให้เจ้าหน้าเข้มงวดในเรื่องความความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.ม.2 รอ. รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนแจ้งแบะแสหากพบสิ่งผิดปกติ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นติดต่อกันในรอบ 1 เดือนกว่าที่ผ่านมา 3 ครั้งแล้ว โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมาเกิดเหตุที่บริเวณหน้ากองสลากเก่า สนามหลวง ขณะที่เมื่อ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงละคร แห่งชาติ สนามหลวง