วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

ศาลจำคุกคดี 112 ‘เอฟ พลอยหิน’ อ้างหลานศรีรัศมิ์ ล้มคดี รวม 5 ปี

ศาลอาญาสั่งจำคุก 'เอฟ พลอยหิน' อ้าง 'หลานศรีรัศมิ์-เครือข่ายพงศ์พัฒน์' 5 ปี ฐานหมิ่นเบื้องสูง ผิด ม.112 ส่งตัวไปเรือนจำ ค้านประกันตัว ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ
จากเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกชัย พลอยหิน หรือ เอฟ อายุ 28 ปี เป็นจำเลยฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ,เรียกหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยวิธีทุจริต ผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
วันต่อมา (12 มี.ค.58) ศาลนัดถามคำให้การในคดีนี้โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2551 ผู้ต้องหาร่วมกับพวกแอบอ้างสถาบัน ทำนองว่าสามารถช่วยเหลือผู้กระทำผิดคดียาเสพติด ว่าสามารถดำเนินการช่วยให้ได้รับการประกันตัว พร้อมเรียกรับเงิน 1.3 ล้าน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่ยอมคืนเงินผู้เสียหาย จนถูกตำรวจจับกุมได้ในที่สุด ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งอัยการได้ส่งสำนวนมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา
ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้นายเอกชัยฟัง ซึ่งนายเอกชัยให้การรับสารภาพ และไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุกฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นเวลา 5 ปี ฐานเรียก หรือยอมรับทรัพย์สิน จำคุก 2 ปี และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน จำคุก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี คงรับโทษจำคุก 5 ปี แล้วออกหมายขังส่งตัวไปเรือนจำ โดยไม่มีการขอปล่อยตัวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องของอัยการโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.51 จำเลยอ้างกับ น.ส.บุษกร อุ่นใจ ทางโทรศัพท์ว่าสามารถช่วยเหลือนายไพฑูรย์ เนมีแสน สามีของ น.ส.บุษกร ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษจังหวัดราชบุรีให้หลุดพ้นจากคดียาเสพติดได้ โดยเรียกค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาท ก่อนนัดให้ไปพบที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี จำเลยอ้างกับ น.ส.บุษกร และนายบรรเทิง เนมีแสน บิดานายไพฑูรย์ว่าเป็นหลานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (พระยศในขณะนั้น) ทำให้ น.ส.บุษกรและนายบันเทิงหลงเชื่อ ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค.51 ผู้เสียหายนำเงิน 1.3 ล้านบาท ไปมอบให้จำเลยที่ รร.โกลเด้นส์ซิตี้ จ.ราชบุรี จำเลยรับปากว่าจะดำเนินการให้ หลังจำเลยรับเงินไปแล้วนายไพฑูรย์กลับไม่ได้รับการประกันตัวและถูกศาลพิพากษาจำคุก ต่อมาตำรวจเข้าจับกุมจำเลยได้พร้อมของกลางปืนหลายชนิดรวม 5 กระบอก เครื่องกระสุนขนาดต่างๆรวม 55 นัด เหตุเกิดในพื้นที่ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ต. โคกหม้อ อ.เมืองราชบุรี และ ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี

ผบ.ตร. ชี้ระเบิดศาลอาญาเชื่อมโยงพารากอน ปมขัดแย้งทางการเมือง

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยัน ผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา เชื่อมโยงห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เหตุขัดแย้งทางการเมือง หลังรับมอบผู้ต้องหาจากทหาร 4 คนวันนี้ และรอรับมอบอีก 6 คน วันที่ 15 มี.ค.

13 มี.ค. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่าพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการสอบปากคำผู้ต้องหาคดีระเบิดศาลอาญา 4 คน หลังรับมอบตัวจากทหาร ว่า เบื้องต้นผู้ต้องหา 3 คน คือ นายมหาหิน ขุนทอง นายยุทธนา เย็นภิญโญ และนางสาว ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง ให้การรับสารภาพ ขณะที่ นางสาวธัชพรรณ ปกครอง ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น แต่จากหลักฐาน นางสาวธัชพรรณ เป็นภรรยาของนายยุทธนา และอาศัยอยู่ในห้องที่กลุ่มผู้ต้องหาวางแผนก่อเหตุ โดยกลุ่มผู้ต้องหา ยังให้การพาดพิงถึง นางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ ที่ถูกทหารควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการสืบสวนพบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และมีความชัดเจนว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน ส่วนที่เลือกก่อเหตุที่ศาลอาญา เพราะเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ และเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทหารยังควบคุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวอีก 6 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยจะมีการส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 มีนาคม เวลา 10.30 น. ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเช่นเดียวกัน ส่วนจะมีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ต้องรอสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดก่อน และหากเชื่อมโยงถึงบุคคลใด จะต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่ละเว้น ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ตำรวจได้มีการแสดงแผนผังความเชื่อมโยงการก่อเหตุของคนร้าย ตั้งแต่การก่อเหตุบริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนมาถึงเหตุระเบิดศาลอาญา จนสามาถจับกุมผู้ต้องหาได้ทันที 2 คน จากนั้น สามารถขยายผล จนออกหมายจับกลุ่มแรกได้ 4 คน หลังจากนั้น ออกหมายจับได้อีก 4 คน ซึ่งร่วมประชุมวางแผนก่อเหตุ

เกรงถูกยุบ ขรก. กรรมการสิทธิแต่งดำประท้วง กมธ. ยกร่าง รธน.

เผยข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งชุดดำมาทำงานตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้าน “หมอนิรันดร์” เข้าแจงอนุฯ ย้ำ “กสม.- ผู้ตรวจฯ” ทำคนละหน้าที่ หวัง กมธ. ยกร่างฯ ทบทวน เชื่อ เกิดประโยชน์กับ ปชช. มากกว่า

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าข้าราชการสำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีการแต่งชุดดำมาทำงาน ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมาธิการยกร่างฯกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีการควบรวมระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เข้าเป็นคณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) แถลงภายหลังเข้าให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่าได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารเกี่ยวกับการทำงานของ กสม. ใน 3 ข้อ คือ
     
1. กสม. ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้มีเพียงแค่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักที่ใช้กันทั่วโลกตามที่ไทยเป็นพันธกรณี ดังนั้น จึงไม่สามารถนำมาควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เพราะมีหน้าที่ต่างกัน รวมถึงการบริหารจัดการ อีกทั้งผู้ตรวจการฯทำงานแยกเป็นเอกเทศแต่ผู้ตรวจฯทำงานเป็นกลุ่ม
     
2. กสม. ทำหน้าที่ในลักษณะเชิงรุกในการเสนอนโยบายและกฎหมายต่างๆ ซึ่งผู้ตรวจการฯไม่ได้ทำหน้าที่ในลักษณะนี้
     
และ 3. กสม. มีหน้าที่ทำให้สังคมดำเนินการตามแผนและให้การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถ้านำ 2 หน่วยงานดังกล่าวมาควบรวมก็จะเกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อเรื่องการพิทักษ์สิทธิให้กับประชาชน อย่างไรก็ตาม กสม. ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกับองค์สิทธิมนุษยชนนานาชาติเพื่อปกป้องสิทธิในกับคนทั่วโลกด้วย
     
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า คณะอนุฯจะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อคณะ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาภายใน 60 วัน โดยหลังวันที่ 25 พฤษภาคม กมธ. ยกร่างฯ จะทบทวนความเห็นที่ประมวลจากแม่น้ำอีก 4 สาย และหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้น จึงหวังว่า กมธ. ยกร่างฯ จะให้ความกรุณาทบทวนการควบคู่ 2 หน่วยงานดังกล่าว่า ถ้าแยกกันก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า จึงขอให้มีการปรับปรุงละประสิทธิภาพการทำงานของ กสม. จะเหมาะสมกว่า

เด้ง 'ผกก.สส.นนทบุรี' หลังม็อบ สธ. ร่วม 500 หนุน 'ปลัดณรงค์'

13 มี.ค. 2558 มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผบช.ภ.1 เปิดเผยว่ามีคำสั่งให้ พ.ต.อ.พุฒิพัฒน์ วรรธน์จิรัฐ ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี ไปปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1) ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นไป โดยไม่มีกำหนดกลับ ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาประชาคมสาธารณสุขกว่า 500 คน เดินทางมารวมตัวหน้าสาธารณสุข(สธ.) เพื่อให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. หลังมีคำสั่งให้ย้ายเข้าไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี  แต่ ผกก.สส.ภ.จว.นนทบุรี กลับไม่ได้เข้าไปดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยแต่อย่างใด โดยกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เนื่องจากรับสารภาพ โดยอ้างว่าไม่ทราบว่าจะมีการรวมตัวดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะมีการแต่งตั้งให้ผู้ที่มารักษาราชการแทนต่อไป

ทั้งนี้ มีคำสั่งให้พ.ต.ท.พิเชียรยศ อรุณพันธ์กุล รองผู้กำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ วันที่ 12 มี.ค.เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การปฏิบัติราชการของกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาประชาคมสาธารณสุขกว่า 500 คน ประกอบด้วย เครือข่ายวิชาชีพด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ต่างสวมเสื้อประจำวิชาชีพของตัวเองและสวมชุดดำเดินทางมายังบริเวณหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เพื่อให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่ถูกสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข่าวทำให้สังคมเข้าใจว่ากระทรวงเกิดความขัดแย้ง และถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งให้ย้ายเข้าไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรีระหว่างรอผลการสอบสวน ซึ่งมองว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรม
     
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากพบว่ามีการสกัดไม่ให้ข้าราชการเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนที่จะมีการนำปี๊บคลุมหัวมาแสดงสัญลักษณ์เช่นเดียวกับกรณีประชาคม ม.มหิดล คัดค้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ในการควบตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ อธิการบดี ม.มหิดล นั้น พบว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้นำปี๊บเข้ากระทรวง อย่างไรก็ตาม บางส่วนยังมีการนำป้ายมาแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า “คนดี ข้าราชการที่ดีต้องมีที่ยืน” และ “ถ้าประเทศไม่มีธรรมาภิบาล ข้าราชการ และประชาชนจะอยู่อย่างไร” “ตรวจสอบกองทุนแสนล้านบาทกลัวเจออะไร ต้องย้ายปลัด สธ.” “คงไว้อาลัย แด่อำนาจการเมืองที่รังแกข้าราชการประจำ” จากนั้นทางกลุ่มได้ส่งตัวแทนนำถุงดำมาดัดแปลงคลุมหัวแทนปี๊บ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าคำสั่งดังกล่าวถือเป็นความอัปยศ นอกจากนี้ ยังมีการตะโกนขับไล่ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ด้วย
     
ทั้งนี้ ได้มีตัวแทนแต่ละกลุ่ม แต่ละเครือข่ายวิชาชีพออกมาปราศรัย โดย นพ.ฐาปนวงศ์ อุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ที่ออกมาให้กำลังใจปลัด สธ. เพราะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นธรรม เนื่องจาก ปลัด สธ. ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณบัตรทอง แต่กลับมีการตรวจสอบคนที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลแทน เป็นเพราะไปตีท้ายครัวเงินกว่าแสนล้านบาทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือไม่ และหากจะต้องสั่งย้ายก็ต้องสั่งย้ายทั้งหมดเพื่อความเป็นธรรม ถ้าประเทศไทยไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศชาติจะอยู่อย่างไร
     
“พวกผมมีการนัดให้กำลังใจปลัด สธ. แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 11 มี.ค. กลับมีการโทรศัพท์จากทางผู้ว่าราชการจังหวัดแทบทุกจังหวัด โดย โทร.ไปยัง ผอ.โรงพยาบาล ขอความร่วมมืออย่าเดินทางมา ซึ่งใครรับโทรศัพท์ก็ต้องลำบากใจ แต่บางส่วนก็เดินทางมาจนได้ อย่างพื้นที่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ปัญหาคือ เดินทางมาได้แต่ตัว เพราะป้ายผ้าต่างๆ รวมไปถึงปี๊บที่จะนำมาเป็นสัญลักษณ์ก็ถูกตั้งด่านยึดหมด แม้แต่บุคลากรสาธารณสุขอีกหลายคนอยากมา เมื่อเจอด่านก็ทำให้มาล่าช้า บางรายเกรงกลัวก็ไม่มาเลยก็มี” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว
     
นพ.ประจวบ มงคลศิริ ผอ.รพ.พิจิตร กล่าวว่า อยากให้นายกรับมนตรีมาเก็บซากศพ รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข ไป เพราะเขาได้ตายไปจากชาวสาธารณสุขแล้ว เนื่องจากตอนแรกที่เข้ามาพวกเราคิดว่าท่านทั้งสองจะช่วยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข แต่กลับมาสร้างความแตกแยก เพราะมีประโยชน์ทับซ้อนกับตระกูล ส
     
พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวว่า วันนี้มาดูความเรียบร้อย เนื่องจากกังวลว่าจะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์ก่อความวุ่นวายได้ แต่จากการดูแลพบว่าไม่ใช่ม็อบการเมือง เพราะการพูดจาไม่มีการให้ร้าย หรือปลุกปั่นไล่รัฐบาล เป็นเพียงแค่การรวมตัวกันของข้าราชการเท่านั้น

ชมวิดีโอเสวนา 'The Future of Politics in Thailand'

Image from @FCCThai's Twitter account.

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2558 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) มีการจัดเสวนาหัวข้อ 'The Future of Politics in Thailand' โดยเชิญนักการเมืองที่มีบทบาทสูง 4 คนมาร่วมในการอภิปรายถึงความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้รัฐบาล คสช. และทิศทางการเมืองไทยภายหลังการปฏิรูปประเทศ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายกษิต ภิรมย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา มาร่วมในการอภิปราย ดำเนินรายการโดย โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี

โฆษก คสช. ขู่ 'พลเมืองโต้กลับ' หากละเมิดกฎหมายถูกดำเนินคดีแน่


พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ชี้กลุ่มพลเมืองโต้กลับ พยายามสร้างเงื่อนไขในช่วงบ้านเมืองไม่ปกติ ขู่ละเมิดกฎหมายถูกดำเนินคดีแน่
13 มี.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายอานนท์ นำพา ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. จากการจัดกิจกรรมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ประกาศจัดกิจกรรมเดินเท้าไปพบพนักงานสอบสวนในช่วง 14-16 มี.ค.นี้ ว่า กรณีดังกล่าวคงเป็นความพยายามที่จะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ไม่ต่างจากพฤติกรรมเดิม ๆ ของนายอานนท์ ที่ระยะหลังพยายามที่จะไม่เข้าใจและสร้างเงื่อนไขอยู่ตลอด เมื่อบ้านเมืองเกิดภาวะไม่ปกติ ข้อเรียกร้องของกลุ่มฯ ในเรื่องการให้ยุติดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารนั้น  จริง ๆ แล้วมีเฉพาะบางคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการส่งฟ้องของตำรวจ ไม่ว่าส่งฟ้องที่ศาลทหาร หรือศาลพลเรือนก็ตาม  คงอยู่ในบรรทัดฐานเดียวกันหากผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ มีความผิดจริงตามองค์ประกอบของพยานหลักฐานที่สมบูรณ์

“จะตัดสินคดีด้วยศาลใดก็ตาม ผลที่ออกมาก็ไม่แตกต่างกันอย่างแน่นอน ส่วนโอกาสในการต่อสู้ทางคดียืนยันว่าจะศาลไหนก็ยังคงสามารถทำได้เหมือนกัน ส่วนการเคลื่อนไหวดังกล่าวคงเป็นมุมมองส่วนบุคคลที่ยังเข้าใจสถานการณ์ไม่ครบถ้วน   มั่นใจว่าสังคมส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า ช่วงเวลาบ้านเมืองไม่ปกติ จำเป็นที่ภาครัฐต้องการให้คนในสังคมเคารพและปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบกติกามากขึ้น  ภาครัฐจึงอาจต้องมีเงื่อนไขเสริมพิเศษมาบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ” พ.อ.วินธัย กล่าว

โฆษก คสช. กล่าวว่า เชื่อว่าสังคมยังคงสับสนในเจตนาที่แท้จริงของนายอานนท์ ว่าสิ่งที่พยายามดำเนินการอยู่นั้นเพื่อตนเอง หรือเพื่อประเทศชาติ และจากข้อมูลที่ได้การจัดกิจกรรมวันพรุ่งนี้อาจถูกมองว่าส่อเค้าไปในลักษณะเชิงการเมือง

“ที่ผ่านมาสังคมส่วนใหญ่เข้าใจและให้ความร่วมมือกับ คสช. เป็นอย่างดี  กรณีมีบางบุคคลที่ยังไม่เข้าใจ คสช. ก็คงจะเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด และถ้าพบว่าละเมิดกฎหมายก็จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอน” โฆษกคสช. กล่าว

'ดร.โกร่ง'เห็นด้วยเบรกภาษีที่ดิน ชี้ไม่ใช่เวลาขึ้นภาษีทุกแบบ เตรียมพบเศรษฐกิจซบยาว

อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติเห็นด้วยกับการชะลอภาษีที่ดิน ชี้ไม่ใช่เวลา ซ้ำจะเป็นการควักเงินที่มีน้อยอยู่แล้วจากกระเป๋าประชาชน ทำคนหดหู่ คาดปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัว (อ่านสรุปบรรยายฉบับเต็มท้ายข่าว) 
13 มี.ค. 2558 ดร. วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนบรรยายพิเศษให้กับหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระบุว่า เศรษฐกิจซบยาวเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ไม่เห็นทางฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้ เตือนรัฐบาลวางมาตรการให้ประชาขนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายวีรพงษ์กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร ขณะนี้ที่ต้องระวังคือสถาบันการเงินว่าจะกระทบต่อเนื่องหรือไม่
โดยคาดการณ์ว่าในด้านการส่งออกก็จะยังไม่ดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นประเด็นเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
"ในปีนี้เศรษฐกิจน่าจะหดตัว ซึ่งเท่าที่ผมทำงานด้านเศรษฐกิจมา ไม่เคยมี มีแต่ขยายตัวมากหรือน้อย นี่เป็นครั้งแรก"
ในส่วนของนโยบายภาษีนั้น อดีตประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำว่า เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีเบรกมาตรการภาษีบ้านและที่ดิน พร้อมระบุว่านี่ไม่ใช่เวลาในการเพิ่มมาตรการภาษีอะไรทั้งนั้น ภาษีปัจจุบันนี้ทำหน้าที่เป็นเครืองมือในการหารายได้เท่านั้น มาตรการภาษีเป็นมาตรการกระจายรายได้ที่เลวที่สุด ขณะเดียวกัน การเพิ่มภาษีในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนสองประการ คือ เป็นการเพิ่มภาระ ดึงเงินออกจากกระเป๋าของประชาชน และส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนหดหู่
เมื่อถามว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลในทางเศรษฐกิจหรือไม่ วีรพงษ์ตอบว่า การทำมาค้าขายกันมีความกดดันที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในประชาคมเดียกันจะต้องมีแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน สหรัฐและยุโรปมีการกดดันเรื่อง non-economic factor เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องโลกร้อน กระแสเหล่านี้กดดันรัฐบาลเขาเองให้มากดดันประเทศที่มาตรฐานต่ำให้เพิ่มมาตรฐานขึ้น มีการประกันสุขภาพ มีสิทธิเสรีาพ ในเสื้อคลุมของการแข่งขันในทางการค้าและการลงทุนจึงออกมาในรูปที่ไม่ใช่ศรษฐกิจด้วย เช่น การไม่ใช้แรงงานเด็ก มาตรฐานในการดำงชีวิต คุณค่า ทัศนคติ มันไปสะท้อนในต้นทุนเชิงคุณค่า
เมื่อถามว่า การกดดันดังกล่าวมีผลจริงหรือไม่  วีรพงษ์ตอบว่า ตอบยาก เพราะเราก็มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจกับเขา ถ้าเราตอบโต้เขาก็เสียประโยชน์ แต่มีเรื่องของการแข่งขันและเพื่อนบ้านเราไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องของการไม่เป็นประชาธิปไตย นำไปสู่การมีมาตรการกดดันจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก จะเป็นแค่ lip service หรือไม่นั้นไม่แน่ใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการไม่บังคับใช้กฎหมายของเราเป็นเหตุให้ต้นทุนของเขาแพงกว่าของเรา สิ่งเหล่านี้ผมไม่แน่ใจ แต่ที่เห็นชัดคือเราไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้ากับเขาได้ เพราะเขาไม่รับมาตรการลดภาษีทางการค้า ของเราถึงจุดที่เขาต้องเลิกเพราะเราพัฒนาไปถึงระดับหนึ่ง เราหวังเอาเรื่องเขตการค้าเสรีมาทดแทนก็ทำไม่ได้เพราะเราไม่สามารถไปเจรจาการค้ากับเขาได้    
=========
สรุปบรรยายพิเศษ ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ เศรษฐกิจวิกฤตจริงหรือ ?
หมายเหตุ : บรรยายพิเศษในวิชาสัมมนากฎหมายมหาชน โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13 มีนาคม 2558

ลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจไทย

1.ระบบเศรษฐกิจไทย มีลักษณะ small and open ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ สินค้าอะไรที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตนิดเดียวก็เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศแล้วจึงต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม แม้แต่แรงงาน ซึ่งไม่ควรโยงก็ยังเชื่อมโยงกับต่างประเทศก็ยังโยง ถ้าเราตั้งค่าแรงสูง เศรษฐกิจบูม ก็จะมีแรงงานอื่นหลั่งไหลมา ไม่สามารถปิดตลอดแรงงานเหมือนที่อื่นได้ เพราะมีพรมแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ตลาดเงินทุนก็เปิด
ลักษณะเช่นนี้เป็นเหตุให้นโยบายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่านโยบายการเงิน การคลัง ข้อเท็จจริงนี้คนไทยไม่เคยยอมรับ ฉะนั้นเราจึงมีนโยบายจำนำข้าว หรือนโยบายยกราคาสินค้าที่เราผลิตให้สูงกว่าในตลาดโลก
ในตลาดทุน ดอกเบี้ยเป็นตัวสร้างความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าไหลออก ดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาของทุน ถ้าดอกเบี้ยเราสูงกว่าต่างประเทศ เงินทุนก็ไหลเข้า ค่าเงินบาทก็จะแข็ง การส่งออกก็จะยากลำบากขึ้น แต่การนำเข้าจะมากขึ้น ในที่สุดเงินจะไหลออก อัตราแลกเปลี่ยนก็กลับมาอยู่ที่เดิม แต่สร้างความปั่นป่วนให้การผลิตและเรื่องอื่นๆ ค่อนข้างมาก
สรุปแล้วเราต้องคำนึงเสมอว่า เศรษฐกิจเราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เราเป็นผู้รับราคา ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา
2.โครงสร้างการผลิต ปกติแล้วจะแยกผลผลิตประชาชาติเป็น 3 ส่วน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ เราอาจคิดว่าภาคเกษตรสำคัญที่สุด แต่มีผลผลิตเพียง 10% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีประมาณ 40% ที่เหลืออยู่ในภาคบริการ แต่เรามีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด ฉะนั้น ภาคเกษตรมีประสิทธิภาพต่ำสุด แต่อันนี้คิดเพียงผิวเผิน ถ้าคิดให้ดี ภาคเกษตรสร้างงานต่อเนื่องได้ค่อนข้างมาก ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคใหญ่รองลงมา แต่ทั้งหมดล้วนต้องพึ่งการส่งออก ส่วนภาคบริการก็ต้องขายนักท่องเที่ยว และทั้งสามส่วนก็กระทบถึงกันและกัน
“จะเห็นได้ว่าต่างประเทศเป็นผู้กำหนด ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน การกระจายรายได้ เกือบจะทุกอย่างสำหรับประเทศของเรา”
“เมื่อเป็นอย่างนี้ผมถึงบอกว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้น เฟื่องฟูไม่ได้ แต่ทำให้ซบเซา ทำให้การเงินการคลัง ล่มสลาย พังพินาศได้ เหมือนอย่างที่เรานำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ต่อสู้การรักษาค่าเงินบาท จนเงินทุนสำรองหมดในปี 2540”
การที่เศรษฐกิจเรามีลักษณะเช่นนี้ หลายเรื่องจึงเป็นเรื่องที่เราทำไปโดยไม่มีผลทางเศรษฐกิจแต่จะมีผลทางการเมืองมากกว่า เช่น กรณีโครงการจำนำข้าว การซื้อยางพารามาไว้ในสต๊อก เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้านั้นแพงขึ้น แต่เกษตรกรสามารถขายให้รัฐบาลในราคาดีขึ้นได้ เป็นอย่างนี้เสมอ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้

ปกติเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามวัฏจักร ประมาณ 10-15 ปีจะขึ้นและลงครั้งหนึ่ง หัวเรือที่สำคัญของเศรษฐกิจในวัฏจักรสุดท้าย ไม่ใช่อเมริกาและยุโรป เพราะทั้งสองนั้นความเป็นอยู่ของประชาชนสูงเกินไปกว่าจะสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จึงเป็นประเทศผู้ลงทุน คอยนั่งกินเงินปันผล ดอกเบี้ย การเก็งกำไร หรือบริการทางการเงินต่างๆ รวมถึงสินค้าไฮเทค แต่ตอนหลังการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นบ่อย ประเทศที่ดึงเศรษฐกิจโลกขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากลายเป็น BRICS คือ Brazil, Russia, India, China, South Africa เป็นประเทศใหญ่ทั้งสิ้น แต่อยู่มาพักหนึ่งความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง ค่าแรงแพงขึ้น เศรษฐกิจของโลกก็ลง
อเมริกา
ประกอบกับอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีการขุดเจาะลงไปในพื้นพิภพลึกไปกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งมีแก๊สและน้ำมันมหาศาล คาดว่าพลังงานที่จะขุดได้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 80 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 100 เหรียญ โครงการนี้จึงเป็นไปได้ ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและรัสเซีย ลดลงจนต่ำกว่าความสามารถในการผลิต ประเทศแรกที่พังคือรัสเซีย การที่ราคาน้ำมันร่วงลงเร็วอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพลังงานลดลงมหาศาล พร้อมกับ supply ในอเมริกาเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจอเมริกาจึงมีทีท่าว่าจะ recover
การไม่ต้องน้ำเข้าพลังงาน และอาจส่งออกได้ด้วยซ้ำของอเมริกาก็ไม่สามารถชดเชยการตกลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ได้ กรณีของยุโรป
สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปไม่มีพลังเพียงพอจะใช้ และการผูกกันด้วยเงินสกุลเดียวกัน นานๆ เข้าความแตกต่างในความสามารถมีประสิทธิภาพในการผลิตก็ปรากฏชัด เยอรมัน สแกนดิเนเวีย ก็กลายเป็นผู้ส่งออกมายังยุโรปใต้ พวกอิตาลี สเปน ทำให้ขาดดุลการค้าให้ยุโรปเหนือ ธนาคารกลางยุโรปก็ต้องรับซื้อพันธบัตร ของกรีซ สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ มากขึ้นเรื่อย จนกระทั่งไม่มีทีท่าว่าจะใช้หนี้ได้ จนปีที่แล้วกรีซถึงกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรและต้องขอกู้เพื่อมาใช้หนี้เก่าด้วย เกิดการบังคับให้กรีซตัดงบประมาณสวัสดิการต่างๆ ด้วยนโยบายรัดเข็มขัด (Austerity Program) ทำให้เกิดการว่างงานสูงขึ้น เกิดการเดินขบวนมากมายในกรีซ จนเกิดพรรคใหม่ที่ชูนโยบาย “ไม่จ่ายหนี้” พอชนะเลือกตั้งท่วมท้น ประธานาธิบดีและรมว.คลังเดินทางไปเยี่ยมเจ้าหนี้เพื่อเจรจาการครบดีลเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ในที่สุดต้องประนีประนอมทำแผนฟื้นฟู แม้เดิมเจ้าหนี้อย่างเยอรมนีจะแข็งกร้าวมาก ขณะนี้กรีซดำเนินนโยบายงบประมาณเกินดุลอยู่แล้ว ประมาณ 2% ของรายได้ประชาชาติ ส่วนที่เกินก็เอามาไถ่ถอนพันธบัตรที่ประเทศอื่นซื้อไว้ ต้องขึ้นภาษีให้งบเกินดุลประมาณ 6% เพื่อเอาไปใช้หนี้เพิ่มขึ้น
สเปน อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ดูอยู่ว่ารัฐบาลยุโรปจะทำอย่างไร เชื่อว่าต่อไปก็คงจะเป็นตาของประเทศเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน
ดังนั้นเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่มีทางฟื้น ยังยุ่งอยู่กับปัญหาหนี้สินระหว่างกันเองว่าจะทำอย่างไร ระหว่างนี้ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ตกอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุในสวิสเซอร์แลนด์ไม่ผูกค่าเงินตนไว้กับยูโร ยุโรปจึงต้องออกมาตรการ QE เหมือนอเมริกา คือ ธนาคารกลางสร้างเงินใหม่ขึ้นมาเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ กรณีอเมริกานักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการเพิ่มเงินนั้นไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาฟื้น แต่เพราะค้นพบเทคโนโลยีขุดน้ำมันและก๊าซทดแทนการนำเข้าได้ ปัญหาหนี้สินประเทศต่างๆ ในเขตยูโรไม่น่าจะแก้ได้โดยมาตรการ QE แต่ก็ต้องดูกันต่อ เพราะมันฝืนกับทฤษฎี เพราะช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ นโยบายการเงินไม่มีผล ต้องใช้นโยบายการคลัง สร้างถนนหนทางอะไรก็ว่าไป ให้เงินออกมาจากรัฐบาลและต้องตั้งงบขาดดุล
“ผมก็แปลกใจรัฐบาลไทยประกาศนโยบายงบประมาณสมดุล ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แสดงว่าเราไม่เข้าใจเศรษฐกิจ ช่วงอย่างนี้เราควรมีงบประมาณขาดดุล แต่ต้องดูยอดว่าตั้งเป้าเท่าไหร่ เราตั้งว่าไม่เกิน 60% ของจีดีพี ตอนนี้หนี้สาธารณะเรามีแค่ 48% ของจีดีพี”  
การชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทำได้สองวิธี หนึ่ง ขึ้นภาษี สอง ออกพันธบัตรกู้เงิน สุดแท้แต่ว่ายอดเพดานเราเท่าไร ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และอยู่ในช่วงไหน ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ อเมริกา ยุโรป ใช้วิธีลดภาษีและกู้เพิ่ม ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูจะตั้งงบประมาณเกินดุลหรือสมดุล ส่วนที่เกินเอาไปใช้คืนเงินกู้ เพื่อให้เศรษฐกิจสมดุล ไม่ขึ้นลงมากเกินไป มีเสถียรภาพ
ญี่ปุ่น
เศรษฐกิจซบเซามาตั้งแต่ปี 1995 และนิ่งสนิทอย่างนั้นไม่ฟื้นเลย ทั้งที่ญี่ปุ่นมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นที่ 2 รองจากจีน ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุล แต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น อัตราการขยายตัวใกล้ 0 อัตราเงินเฟ้อติดลบ เมื่ออาเบะเข้ามาก็ประกาศจะเพิ่มปริมาณเงินเพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนก็ได้ผลตามต้องการและหวังว่าการส่งออกจะสูงขึ้น การนำเข้าจะลด เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจ
จีน
ประเทศสุดท้ายที่เราหวังคือ จีน เพราะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราที่สูงมา เลขสองหลักมาตลอด แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวมาเรื่อย จนกระทั่งขณะนี้ปีที่แล้วเหลือ 7.4% ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศลดอัตราการขยายตัวลงมาเหลือ 7%

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย

อย่างที่เรียนว่าเศรษฐกิจไทยขึ้นกับการส่งออก ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เราส่งออกไปอเมริกา 10% ยุโรป 10% ญี่ปุ่น 10% จีนประมาณ 15% ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งไปอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ตัวเลขการส่งออกเมื่อ ม.ค. หดตัว 3.46% (-3.46%) ตลาดที่หดตัวมากที่สุดคือ ตลาดจีน การส่งออกไปจีนหดตัว 20%
ตลาดการท่องเที่ยวหดตัวประมาณ 20-25% เหลือแต่นักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก แต่ก็ดูจะลดลงอีก
จากการที่ตัวเลขสองเดือนแรกในปีนี้เป็นอย่างนี้ ที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีจะขยายตัว รัฐบาลคาด 3.8% เอกชนคาด 2.8% ของผมผมคาดว่าใกล้ๆ 0%
กรณีการประเมินของรัฐบาล หลักฐานการวิเคราะห์มาจากไหน การส่งออกทั้งปีไม่น่าจะเป็นบวก การลงทุนไม่น่าจะมีเลย เพราะการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมใช้เพียงครึ่งเดียว ณ ตอนนี้ แล้วอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทยโยงกับการส่งออกทั้งนั้น ตลาดภายในประเทศก็หดหายไป เพราะราคาสินค้าเกษตรทุกตัวพร้อมใจกันตกหมด ถ้าจะเกิดเรื่องเร็วๆ นี้อาจคือ โรงน้ำตาล เพราะราคาน้ำตาลตกมา 50% เพราะประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดคือบราซิล เป็นประเทศที่ใช้แก๊สโซฮอลล์และส่งออกน้ำตาลมากที่สุด ลำดับสองคือ ไทย สับปะรดไทยส่งออกเป็นอันดับ1 กุ้งแต่เดิมเราก็เป็นที่ 1 ตอนนี้ทุกอย่างราคาตกหมด
“ผมถึงบอกว่าหนี้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ประชาชนลดลง เทียบเปอร์เซ็นต์กัน หนี้ครัวเรือนมันถึงมากขึ้น”
“ที่ผมคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวในปีนี้ อธิบายได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นลบ ไม่ว่าการบริโภค การลงทุน การส่งออก ที่เหลือตัวเดยวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ แต่สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐนี้ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ มันเพียง 20% เท่านั้น ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลขาดดุลให้ตายก็ไปชดเชยตัวอื่นไม่ได้ และการใช้จ่ายภาครัฐนั้นเรามีกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้รัฐบาลมีวินัยทางการคลัง ดังนั้นรัฐบาลจะกู้มาใช้จ่ายในงบประจำไม่ได้ ได้เฉพาะงบลงทุน แล้วการจะกู้มาลงทุนก็มีขั้นตอนต่างๆ ในการประเมิน เราออกกฎหมายสมัยนายกฯ อานันท์ คือ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน กฎหมายนี้มีประโยชน์ในตอนเศรษฐกิจเฟื่องฟู เพราะรัฐบาลจะชดเชยลงทุนภาครัฐให้มากก็ทำได้ยาก โครงการที่เกินพันล้านต้องใช้วิธีการตามกฎหมายนี้ ตกลงแล้วที่เราหวังว่ารัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจฟื้น ไม่แย่ไปกว่านี้ ดูท่าจะหาเหตุผลมารองรับได้ยาก”
“แนวทางที่ถูกต้อง คือ จะทำอย่างไรที่จะอยู่กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่กำลังมานี้ให้ได้ แต่ที่จะทุ่มสติปัญญาหรืองบประมาณในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อันนี้น่าห่วง ถ้าหมอไม่รู้สมุฐานของโลกจะให้ยาถูกได้อย่างไร”

สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ จะดำรงอยู่ชั่วคราวหรือยาวนาน

วัฏจักรเศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมาไม่เคยสั้น ไม่ว่าราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน ฯลฯ เท่าที่ผ่านมามักกินเวลา 6-10 ปี ปัญหาใหญ่คือ ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ลุกลามไปที่สถาบันการเงิน เศรษฐกิจชะลอตัวเที่ยวนี้ อุตสาหกรรมขนาดย่อมพัง หนี้ครัวเรือนถึงได้โผล่ ตัวแรกที่ต้องดูคือ เอสเอ็มอีแบงก์ อีกอันที่กำลังมีปัญหาคือ ธนาคารอิสลาม ให้นักการเมืองกู้แล้วไม่ยอมเอามาคืน
ปัญหาเรื่องจะไฟแนนซ์การขาดทุนโครงการจำนำข้าวอย่างไร ปิดบัญชีคาดว่าขาดทุนประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จะหาเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.อย่างไร เพราะถ้ารัฐบาลจะกู้มาใช้ตรงไปตรงมาก็ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณแน่นอน จะออกพ.ร.บ.พิเศษก็ถูกต่อต้าน ทำไม่ได้ จึงต้องคอยดูว่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขเรื่องที่ไม่ได้ทำนี้อย่างไร เป็นบทเรียนราคาแพง ตอนเกิดต้มยำกุ้งเราตั้ง สถาบันฟื้นฟูฯ หนี้กองทุนฟื้นฟูประมาณ 8 แสนล้าน ทุกวันนี้ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท 18 ปีมาแล้ว เงินต้นลดลงไม่ถึง 10% ทีนี้มีหนี้มาอีก 5-6 แสนล้านจะทำยังไง ฝากนักกฎหมายดูไม่ให้นักการเมืองทำอะไรสุดโต่งได้ ไม่ให้ทำอะไรผิดวินัยการเงินการคลัง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต