วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ศาลปกครองชี้บัวแก้วเลือกปฏิบัติต่อ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' สั่งคืนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ

จาตุรนต์ ฉายแสง (ที่มา: เพจจาตุรนต์ ฉายแสง)

ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง 3 ฉบับ ให้มีผลย้อนหลัง ศาลปกครองกลางระบุ 'จาตุรนต์ ฉายแสง' แม้ถูกห้ามออกนอกประเทศตามคำสั่ง คสช. และศาลทหาร ก่อนเดินทางต้องขออนุญาตทุกครั้ง จึงถือว่าถูกจำกัดเสรีภาพการเดินทางอยู่แล้ว ที่ผ่านมาไปต่างประเทศก็กลับมาตามกำหนด นอกจากนี้ยังไม่เคยถอนหนังสือเดินทางกับผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และ ม.116 กรณีที่เกิดขึ้นกรมการกงสุล-อธิบดีกรมการกงสุล จึงปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
31 มี.ค. 2560 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีการอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 57/2559 ที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ, กรมการกงสุล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี 1-7 ขอให้ศาลเพิกถอนคำร้องและคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ดที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของนายจาตุรนต์ ผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดี ระบุว่า กระบวนการยกเลิกหนังสือเดินทางของผู้ฟ้องคดีเร่งรีบผิดปกติ ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ในรายงานของมติชนออนไลน์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 และ 23 ที่ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอหรือแก้ไขหนังสือเดินทาง รวมทั้งยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือเดินทางไปแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาผู้กระทำความผิดคดีอาญา ซึ่งกำลังรับโทษอยู่ หรือตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในศาลและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้ 
แต่ข้อเท็จจริงรากฏแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ไปรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนข้อหากระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
จากกรณีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ผู้ฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก กรณีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกจากตำแหน่งว่า การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2558 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยและเป็นการทำลายหลักการเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามอย่างร้ายแรง ซึ่งเรื่องการถอดถอนนี้สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 253 กับมาตราอื่นที่เชื่อมโยงกันนั้น ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิเสธข้อหานี้และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดี เพียงแต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
ดังนั้น ถึงแม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2557 และศาลทหารกรุงเทพก็ตาม
แต่ที่ผ่านมานายจาตุรนต์เคยได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเยอรมนี รวมหลายครั้ง
กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ที่ศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทางให้ เนื่องจากได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ ประกอบกับหากผู้ฟ้องคดีมิได้รับอนุมัติจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้เสียก่อน ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องเป็นบุคคลที่ต้องห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งเท่ากับว่าผู้ฟ้องคดีถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรอยู่แล้ว
และช่วงที่ผ่านมานายจาตุรนต์เดินทางออกนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง และก็เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งที่ได้รับอนุมัติทุกครั้ง โดยไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีคดีอาญาออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงไม่เป็นภาระหน้าที่แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 จะต้องกังวลในการสืบหา ระบุถิ่นที่อยู่เพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักฐานประกอบคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ฟ้องคดีเข้ามาดำเนินคดีหรือรับโทษทางอาญาในฐานะที่เป็นผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีโดยมีเจตนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจอ้าง ชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามาตรการในการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้
กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่ามาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดีมีความเหมาะสมหรือสมควร ตรงกันข้าม มาตรการดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการใช้สิทธิ มีและใช้หนังสือเดินทางเพื่อการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ฟ้องคดีอย่างรุนแรง จึงเท่ากับว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้มาตรการดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยกว่าผลเสียที่เกิดขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี
อีกทั้งยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 7 ได้ใช้มาตรการยกเลิกหนังสือเดินทางกับบุคคลอื่นที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกันกับผู้ฟ้องคดี กรณีจึงถือได้ว่ากรมการกงสุลและอธิบดีกรมการกงศุลใช้ดุลพินิจในการออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยอธิบดีกรมการกงสุล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ที่ยกเลิกหนังสือเดินทางทั้ง 3 ฉบับของผู้ฟ้องคดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่มีคำสั่งยกเลิก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ห้ามผู้แทนอนามัยโลก WHO พูดเวทีประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย สสส. หวั่นรุกล้ำอธิปไตย

แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก

ผู้แทนองค์การอนามัยโลก WHO ร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับใหม่ แต่เมื่อจะเริ่มแสดงความเห็น ก็ถูก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภาเบรกไว้เสียก่อน อ้างว่าการแสดงความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศจะรุกล้ำอธิปไตยไทย กระทบความมั่นคงประเทศ WHO ไม่ใช่พ่อ เราไม่จำเป็นต้องฟัง
31 มี.ค. 2560 ที่เวทีประชาพิจารณ์ ร่าง พระราชบัญญัติ สสส. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ..... ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิล แกรน์ด คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีกระทรวงวาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดรับฟังความเห็น ภายในงานมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมทั้งจากองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้แทนจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) เข้าร่วมรับฟังความเห็นพร้อมให้ข้อเสนอแนะ
อย่างไรก็ตามเมื่อ ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนจาก WHO เริ่มกล่าวแสดงความเห็น กลับมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการแพทยสภา กล่าวโต้ถึงความกังวลใจต่อการแสดงความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศก่อนที่จะได้ฟังว่า หาก WHO แสดงทัศนะต่อร่าง พ.ร.บ. สสส. แล้วนั้น ตนเกรงกว่า จะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของคนไทย
“WHO ไม่ใช่พ่อ เราไม่จำเป็นต้องฟัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นผลกระทบของคนในชาติ หากให้ต่างชาติเข้ามาเสนอความเห็น อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้” พญ.เชิดชู กล่าว
ทั้งนี้ ผู้แทน WHO กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าทางองค์กรจะทำหนังสือถึงที่ประชุมเกี่ยวกับข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. สสส. เข้ามาภายหลัง 

สนช.ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ถอนปมตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไปไว้ในข้อสังเกตแทน


สนช. มีมติ 227 เสียงผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใน 1 ปี ไว้ในข้อสังเกต  ขณะที่ ประยุทธ์ ยันต้องศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ยันรับฟังทุกความเห็น ขออย่าปิดล้อมสถานที่ราชการ โดยวานนี้ คปพ. ร้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จ ก่อนประมูลผลิตปิโตเลียม
31 มี.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. ....  ด้วยคะแนน เห็นด้วย  227 เสียง  ไม่เห็นด้วย 1 และงดออกเสียง 3 ทั้งนี้  ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  สมาชิกสนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง  ในประเด็น มาตรา 10/1 เกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่คณะกรรมาธิการเพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยสมาชิก สนช. หลายคน  เสนอให้มีการตัดมาตราดังกล่าวออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องสุ่มเสียงให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรษัทผิดเพี้ยนไปและเสนอให้ใส่ไว้ในข้อสังเกต โดยเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วันเพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป ทำให้คณะกรรมาธิการฯ  ได้ขอถอนประเด็นดังกล่าวที่กำหนดไว้ใน มาตรา 10/1 ออกไป โดยจะให้ไปใส่ในข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม แทน
สำหรับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะใส่ไว้ในข้อสังเกตว่า “การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม.จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป”

ประยุทธ์ ยันต้องศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้สัมภาษณ์กรณี สนช. ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  โดยให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (Nation Oil Company) หรือ NOC ภายใน 1 ปี ไว้ในข้อสังเกต ว่า ในนามของรัฐบาลต้องรับมาปฏิบัติทั้งหมด เพราะเมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศบังคับใช้ ต้องปฏิบัติตามข้อสังเกต ส่วนผลการศึกษาจะออกมาอย่างไร เหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางพลังงานของประเทศไทย โดยได้นำแบบอย่างจากต่างประเทศมาศึกษาควบคู่ไปด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำงานไม่สามารถทำตามความรู้สึก หรือความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ จึงต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะเรื่องพลังงานเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน มีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด หากจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดี ก็จะส่งผลดีไป แต่หากไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบตามมาทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องใช้แนวทางแก้ปัญหาทีละขั้นตอน และแก้ปัญหาทุกระดับ ซึ่งจะทำให้ปัญหาดีขึ้น หากยังประท้วง หรือล้มโครงการทั้งหมด ต้องคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจทั้งหมดจะเดินไปอย่างไร 

ยันรับฟังทุกความเห็น ขออย่าปิดล้อมสถานที่ราชการ

“การเสนอความคิดเห็น หรือต้องการให้รัฐบาลรับทราบความเดือดร้อนในเรื่องใด สามารถยื่นหนังสือมาได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม อย่ามาปิดล้อมสถานที่ราชการ หรือเขตพระราชฐาน เพราะจากนี้ ผมจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ได้ขู่ แต่ต้องรักษาระเบียบวินัยของบ้านเมือง ขณะนี้ประเทศไม่ได้มีปัญหาเรื่องพลังงานเรื่องเดียว แต่มีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ปัญหา ขอให้เชื่อใจกัน หากสิ่งไหนไม่ดี ขอให้บอก พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นในช่องทางที่ถูกต้อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีความระมัดระวังในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานให้สำเร็จ โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก และไปกระทบกับงานอื่นๆ ที่ทำอยู่ ตนเป็นห่วงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการค้า การลงทุน เพราะประเทศไทยมีด้านอื่นๆ ที่ต้องขับเคลื่อน และวันนี้รัฐบาลกำลังวางอนาคตให้กับประเทศ ทุกคนจึงต้องช่วยรัฐบาลพัฒนาประเทศ การจะศึกษาเรื่องใด จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน
"ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามระเบียบวิธีการขั้นตอน ผมส่งเอกสารขั้นตอนให้ดูแล้วเมื่อวานนี้ ขั้นตอนก็เป็นแบบนั้น รัฐบาลรับทราบ เห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาได้ เพราะเมื่อมีการพูดคุยพบปะกับประชาชนมาแล้ว ก็ว่ามา ถ้าทำได้ ก็ทำไป ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับท่าน แต่ทำอย่างไรจะไม่ไปมีผลกระทบเดิม ก็ต้องไปหาวิธีการให้ได้ ถ้าจะทำ แต่ต้องระมัดระวัง อย่าให้ธุรกิจใหญ่เสียหาย ขอแค่นั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

คปพ. ร้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จ ก่อนประมูลผลิตปิโตเลียม

โดยวานนี้ (30 มี.ค.60) พีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เข้ารับหนังสือจาก ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดยขอให้ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตเลียม ออกจากการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ก่อน  เพื่อขอให้แปรญัตติ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายฯ โดยก่อนที่จะมีการประมูลผลิตปิโตเลียมในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ การจ้างผลิตให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพื่อดำเนินการบริหาร และขายปิโตรเลียมในส่วนของรัฐให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมแก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับให้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 และต้องระบุให้ชัดเจนในระบบแบ่งปันผลผลิต ว่า หากใช้วิธีการประมูลแข่งขันการเสนอส่วนแบ่งปิโตรเลียมรัฐต้องได้ประโยชน์สูงสุดเป็นเกณฑ์ แต่หากเป็นระบบการจ้างผลิตให้ใช้เกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำในการพิจารณา พร้อมกันนี้ต้องมีมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วย 

ทักษิณโพสต์ขอตัดตนออกจาก 'สมการปรองดอง' อัดผู้มีอำนาจหยุดเลี้ยงไข้ความขัดแย้ง


ทักษิณ โพสต์เฟซบุ๊ก ขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดตนออกจากสมการปรองดอง ยันไม่ต้องการให้ใครมาเสนอเพื่อช่วย พร้อมอัดผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหาร-ทำทุกทางเพื่อขจัดตนเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป
31 มี.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.57 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Thaksin Shinawatra' ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความ ระบุตอนหนึ่งถึง กระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดตนออกจากสมการไปได้เลย ตนไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวตน และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดตนเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความขัดแย้ง ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังเช่นที่หลายๆ คนรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้
โดยมีรายละเอียดดังนี้

เรียน พี่น้องที่เคารพรัก
ผมตั้งใจที่จะหยุด โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ รวมทั้งไม่ต้องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่จะถูกมองหรือถูกอ้างว่าไปขัดขวางการทำงานของรัฐบาลทหารมานานมากแล้ว มิใช่เพราะกลัวรัฐบาลทหาร แต่เพราะผมตระหนักดีว่า พี่น้องร่วมชาติเรากำลังลำบาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องที่มีแต่จะย่ำแย่ลงทุกวัน จึงอยากให้รัฐบาลทหาร ได้ใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเต็มที่
แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมือง รัฐบาลกลับพยายามป้ายสี โดยพูดให้คนเข้าใจว่า ตัวผมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ หรือลากผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดตรงแยกราชประสงค์บริเวณพระพรหม หรือเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเขตจังหวัดภาคใต้ ก็จะโยนบาปมาให้ผมทันที ซึ่งทุกครั้งความจริงก็ปรากฏในภายหลังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวอะไรกับตัวผมเลย
ไม่เพียงแต่ตัวผมคนเดียว ครอบครัวของผมก็ตกเป็นเหยื่อของการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี และถูกกระทำมาโดยตลอด ล่าสุดคือเรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งหากมีการกระทำผิดจริงแล้ว รัฐบาลที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร 2-3 รัฐบาลที่ผ่านมา ย่อมต้องเอาผิดผมไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยไว้จนกระทั่งหมดอายุความ จึงค่อยใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” มาเล่นงานผมแบบนี้ ซึ่งผมขอเรียนว่า ในหลักการของกฎหมายสากล จะต้องไม่มีการใช้อำนาจหรืออภินิหารใดๆ นอกเหนือไปจากการใช้ “ความเที่ยงตรงและเป็นธรรม” ในการสั่งฟ้องหรือตัดสินคดีเท่านั้น
ครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องออกมาพูดอีกครั้ง เนื่องจากมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่า ตัวผมเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกับขบวนการล้มล้างระบอบการปกครองของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมยอมรับไม่ได้ ตัวผมขอยืนยันว่าผมมีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเคยถวายงานเจ้านายทุกพระองค์ ด้วยหัวใจแห่งความจงรักภักดีมาตลอด และมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่มั่นคง ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และผมเชื่อว่า ระบอบการปกครองของไทยเรานี้ ประกอบกับพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คือสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยของเรารักษาเอกราชและความเป็นไทยมาได้ตราบจนทุกวันนี้
ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย คือการปฏิวัติรัฐประหารมากกว่า และการรัฐประหารตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ ใช้ข้ออ้างที่แทบไม่เคยเปลี่ยน คือความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตคอรัปชั่น แต่ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองของทหาร ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการรัฐประหารครั้งใดที่ไม่ใช้หลักนิติธรรมในการแก้ปัญหา ก็จะยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจและความเห็นต่างกลับบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งที่จะแก้ไขได้ยากขึ้นทุกที
ผมต้องจากประเทศไทยที่ผมรักสุดชีวิตมาร่วมสิบเอ็ดปีแล้ว ต้องจากบ้านที่เคยอยู่ จากครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง เนื่องจากการรัฐประหาร จากนั้นแล้ว ยังถูกใส่ร้ายป้ายสี รวมถึงถูกกลั่นแกล้งด้วยการตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นปฏิปักษ์ขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ใช้หลักนิติธรรม ซึ่งผมอยากให้พี่น้องได้รับทราบว่า ผมยินดีแบกรับความเจ็บปวดและความรู้สึกโดดเดี่ยวนี้ไว้ทั้งหมด ขอเพียงบ้านเมืองมีความปรองดอง สามารถเดินไปข้างหน้าได้ และพี่น้องหายทุกข์ยาก ผมก็พอใจและมีความสุขแล้ว
สำหรับกระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ผมขอให้ทุกฝ่ายโปรดตัดผมออกจากสมการไปได้เลยครับ ผมไม่ต้องการให้ใครมาเสนออะไรเพื่อช่วยตัวผม และในทางกลับกัน ผู้มีอำนาจก็ไม่ควรใช้อภินิหารและกระทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดผมเพียงคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม และต้องไม่เลี้ยงไข้ความ “ขัดแย้ง” ให้ยืดเยื้อ เพื่อเป็นข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังเช่นที่หลายๆ คนรู้สึกได้อยู่ทุกวันนี้
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้ คนไทยทุกคนอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้หัวใจของเราทุกคนแตกสลาย พวกเราจึงควรใช้เวลานี้ มาร่วมกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดแก่บ้านเมือง รู้รักสามัคคี จริงใจในการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะส่งผลให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายให้สมพระเกียรติ ด้วยความจงรักภักดีอย่างแท้จริง
สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า “ผมคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เติบโตจากครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง และวันนี้ก็ยังเป็นคนธรรมดาคนเดิม ผมถือว่าผมโชคดีมากแล้ว ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี ได้สนองงานรับใช้สังคมไทยในฐานะต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 35 ปี และจะขอรับใช้ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผมรักนับถือ เคารพ และเทิดทูน ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ไม่ว่าผมจะอยู่ ณ หนใดบนพื้นพิภพนี้”
ผมหยุดแล้วครับ ท่านล่ะ เมื่อไหร่จะหยุดสักที อย่ารักชาติ รักสถาบันฯ เพียงแค่คำพูดกันเลยครับ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร นำหนังสือแจ้งประเมินภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปฯ ของ ทักษิณ เมื่อปี 2549 รวมเป็นเงินกว่า 17,629.58 ล้านบาท ไปติดไว้ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นบ้านพักของ ทักษิณ โดย เอกสารดังกล่าว ระบุว่า การประเมินภาษีครั้งนี้ เป็นการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.12 ประจำปี 2549 อาศัยอำนาจตามมาตรา 20, 22 ,27 และ 61 แห่งประมวลรัษฎากร โดยทักษิณมีเงินได้พึงประเมิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,899.27 ล้านบาท เมื่อรวมกับเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งคำนวณถึงวันที่ 31 มี.ค. 2560 รวมเป็นระยะเวลา 120 เดือน ทำให้มีเงินภาษีซึ่งทักษิณต้องจ่ายทั้งสิ้นรวม 17,629.58 ล้านบาท โดยให้ไปชำระที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางพลัด
ทั้งนี้ ตามกฎหมายทักษิณสามารถยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าว ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หรือภายในวันที่ 27 เม.ย. นี้