วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่เข้าพบทักษิณที่ปักกิ่ง



ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผังเมืองกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2557 โดยมีกว่าน มู่ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำกรุงเทพมหานคร ร่วมคณะด้วย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน จะไม่เข้าพบคณะของทักษิณ (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊คยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และรองหัวหน้า คสช. เยือนจีนจริง แต่เป็นไปตามคำเชิญจากจีน มีการเจรจาด้านเศรษฐกิจเพราะจีนเป็นตลาดข้าว-ยางพารา และ พล.อ.ประวิตร มีวิจารณญาณรู้ถึงความเหมาะสมว่าควรพบ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่

29 ต.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า การเดินทางเยือนประเทศจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนี้ ไปในนามของรัฐบาลและตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ที่มีความคุ้นเคยและรู้จักกัน ซึ่งการเยือนครั้งนี้ มีตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ร่วมคณะไปด้วย เพื่อหารือด้านเศรษฐกิจร่วมกัน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ ที่จะสามารถส่งออกข้าว และยางพาราได้
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การเดินทางเยือนของ พล.อ.ประวิตร จะไม่ไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงอยู่ประเทศจีน เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร รู้ถึงความเหมาะสม มีวิจารณญาณ ว่าจะต้องพบเจอหรือไม่ โดยที่ตนเองไม่ต้องสั่งห้าม เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงไม่ต้องโทรศัพท์เพื่อเจรจาต่อสู้คดี แต่หากจะต่อสู้คดีก็ต้องเดินทางกลับมา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันคณะของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบุตรชาย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังคงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ในเฟซบุ๊คของยิ่งลักษณ์ มีการเผยแพร่ภาพที่คณะของยิ่งลักษณ์เยี่ยมชมผังเมืองของกรุงปักกิ่ง โดยมี กว่าน มู่ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำกรุงเทพ ติดตามคณะด้วย

สหรัฐฯ เปลี่ยนมาตรการ 'อีโบลา' เลิกกักกันผู้เดินทางกลับประเทศ ใช้เฝ้าระวังแทน

หลังยูเอ็นวิจารณ์กรณีรัฐนิวเจอร์ซีย์สั่งกักกันตัวพยาบาลที่กลับจากการไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกว่าเป็นการปฏิบัติไม่ดีต่อ 'ผู้เสียสละเพื่อมนุษยชาติ' รบ.กลางจึงประกาศมาตรการใหม่ให้ใช้วิธีเฝ้าระวังดูอาการแทน
28 ต.ค. 2557 ทางการสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงมาตรการด้านสาธารณสุขใหม่โดยยกเลิกการกักกันหน่วยแพทย์และพยาบาลชาวสหรัฐฯ ที่กลับจากการรักษาผู้ป่วยอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกแต่ใช้วิธีคอยเฝ้าระวังติดตามผลเพื่อดูอาการแทน
ก่อนหน้านี้มีกรณีพยาบาลชื่อกาซิ ฮิกค็อกซ์ ถูกกักกันตัวอยู่ในเต็นท์ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์หลังกลับจากการไปช่วยรักษาผู้ป่วยอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ทำให้บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวประณามการกักกันตัวบุคคลในครั้งนี้ และล่าสุดรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจปรับมาตรการดังกล่าว
บัดนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4.922 ราย ซึ่งคนที่ยังไม่แสดงอาการของโรคอีโบลาจะไม่ถือว่าเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้คนอื่น
โฆษกของบันคีมูนกล่าวว่า คนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากการช่วยเหลือด้านโรคอีโบลาเป็นบุคคลดีเด่นที่เสียสละตัวเองเพื่อมนุษยชาติ พวกเขาไม่ควรถูกจำกัดบริเวณโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ก่อนหน้านี้ในสหรัฐฯ การกักกันตัวผู้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมาจากการตัดสินใจของรัฐแต่ละรัฐเอง โดยหลังจากที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของทางการกลางหรือซีดีซีได้ออกมาตรการใหม่โดยยกเลิกการกักกันตัว ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ก็ออกมาคัดค้านการปรับเปลี่ยนมาตรการทันที ซึ่งรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็น 1 ใน 3 รัฐของสหรัฐฯ ที่เคยมีมาตรการกักกันตัวคนทำงานด้านสาธารณสุขที่เคยสัมผัสกับคนไข้ติดเชื้ออีโบลาเป็นเวลา 21 วัน
คริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์กล่าวปกป้องการตัดสินใจกักกันตัวพยาบาลฮิกคอกซ์หลังจากที่ฮิกคอกซ์เดินทางกลับจากประเทศเซียร์ราลีโอนและยืนยันว่าจะมีการกักกันตัวเธอต่อไป
บีบีซีรายงานว่าในตอนนี้ฮิกคอกซ์เดินทางออกจากโรงพยาบาลในนิวเจอร์ซีย์และได้กลับบ้านของเธอในรัฐเมนแล้ว โดยฮิกคอกซ์ไม่ได้แสดงอาการใดๆ ของผู้ติดเชื้อ ฮิกคอกซ์กล่าวว่าเธอรู้สึกเหมือนเป็นอาชญากรในตอนที่เธอกลับถึงสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค.)
มาตรการใหม่ของซีดีซีมีการจำแนกนักเดินทางและคนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากแอฟริกาตะวันตกออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกำหนดให้คนทำงานด้านสาธารณสุขที่กลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดหนักไว้ใน "กลุ่มที่มีความเสี่ยงบางส่วน" ในการติดเชื้อ
ทอม ฟรีเดนผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวว่าคนทำงานด้านสาธารณสุขที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงบางส่วนจะต้องได้รับการเฝ้าระวังติดตามผลเพื่อดูอาการเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งผู้ที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่เคยสัมผัสของเหลวจากร่างกายของผู้ติดเชื้ออีโบลาโดยตรง ฟรีเดนกล่าวอีกว่าแม้พวกเขาจะไม่แสดงอาการแต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางร่วมกับคนทั่วไปหรืออยู่ในงานที่มีผู้คนจำนวนมาก
แดเนียล ดับเบิลยู เดรซเนอร์ จากสำนักข่าววอชิงตันโพสต์กล่าวว่าการตัดสินใจกักกันตัวในบางรัฐของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องในเชิงนโยบายแต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาได้ทำอะไรบางอย่างแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะไม่ได้สร้างความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ดูเป็น "ฉากละครในเรื่องความปลอดภัย" มากกว่า
อนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็มแถลงข่าวเรื่องโปรแกรมแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการทำแผนที่ช่วยเหลือจัดการโรคอีโบลาซึ่งพวกเขาพัฒนาขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทโทรศัพท์มือถือและนักวิชาการ โปรแกรมดังกล่าวสามารถระบุถึงปัญหาและโอกาสการแพร่กระจายเพื่อให้คนทำงานสามารถจัดหาทรัพยากรต่างๆ ในการรับมือกับเชื้อไวรัสได้ทันท่วงที
อูยี สจ๊วต หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในฝ่ายงานวิจัยแอฟริกาของไอบีเอ็มกล่าวว่าพวกเขาเล็งเห็นความต้องการโดยด่วนในการพัฒนาระบบสำรวจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาเพื่อให้ข้อมูลเรื่องวิธีจัดการกับปัญหาโดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ


คลอด 5 รายชื่อ กมธ.ยกร่างฯ จากฝ่ายสนช.


            30 ต.ค. 57 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครั้งที่ 19 ได้มีวาระการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานในการประชุม ทั้งที่ประชุมได้ใช้เวลาในการลงคะแนนลับเพียง 5 นาที โดยมีการแจกใบลงคะแนนที่มีรายชื่อผู้สมัครเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 10 คน ในสัดส่วนของ สนช. ให้กับสมาชิกเลือกเพียง 5 คน ล่าสุดได้รายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก ทั้ง 5 คนได้แก่
  • 1.นายดิสทัต โหตระกิตย์ 175 คะแนน
  • 2.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 167 คะแนน
  • 3.นายปรีชา วัชราภัย 149 คะแนน
  • 4.นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ 126 คะแนน
  • 5.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ 100 คะแนน คะแนน

          ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น กมธ.ยกร่างฯ ได้แก่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ 85 คะแนน,นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน 67 คะแนน, นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง 37 คะแนน, นายนิวัติ ศรีเพ็ญ 26 คะแนน และนายประมุท สูตะบุตร 24 คะแนน
         ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่าน ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้ลงมติคัดเลือกกมธ.ยกร่างฯ 20 คน เรียบร้อยแล้ว(อ่านข่าวที่นี่) รวมแล้วตอนนี้มีกธม.ยกร่างฯทั้งหมด 25 คน จาก 39 คน ซึ่งในส่วนที่เหลือจะมาจากการประชุมร่วมและพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยมีสัดส่วนจากครม. 5 คน คสช. 5 คน และอีก 1 คน คือประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอำนาจหน้าที่ของคสช. ในการเสนอ ทั้งนี้จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะเป็นกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 4 พ.ย. นี้

ศูนย์ทนายยื่นหนังสือ ผบ.เรือนจำฯ ไม่ให้แยกขังนักโทษการเมือง


วันนี้ (30 ตุลาคม 2557) นายศุภณัฐ บุญสด นักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการเรือนจำฯ เรื่อง ขอให้ย้ายผู้ต้องขังคดีอาญาที่เกี่ยวจากเหตุทางการเมืองที่อยู่ตามแดนต่างๆในเรือนจำดังกล่าวให้ย้ายมาร่วมกันที่แดน 1 เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาตามหลักสิทธิมนุษยชน

ในหนังสือได้ยกกรณีการเสียชีวิตของนายสุรกริช ชัยมงคล ผู้ต้องหาในกรณียิง นาย สุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. เสียชีวิต ที่ แดน4 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557ที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่เรือนจำฯได้รับหนังสือดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อย