วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทอ.ยันซื้อเครื่องบินยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง 'ศรีสุวรรณ' เตรียมฟ้องศาล รธน. 20 ก.ค.นี้


โฆษกกองทัพอากาศ จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ T-50TH ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ยันซื้อโดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้าน 'ศรีสุวรรณ' เตรียมฟ้องศาล รธน. 20 ก.ค.นี้

13 ก.ค. 2560 จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ T-50TH ในระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง เพื่อให้ครบ 12 เครื่อง วงเงินประมาณ 8,800 ล้านบาทเศษ งบประมาณผูกพัน 3 ปี ให้กับกองทัพอากาศ ซึ่งมีการอนุมัติก่อนหน้านี้ กองทัพอากาศจัดเตรียมงบประมาณไว้แล้ว โดยระยะแรก อนุมัติซื้อไปเมื่อปี 58 จำนวน 4 ลำ ด้าน ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านและระบุว่าการจัดซื้อเครื่องบินอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 62 ประกอบมาตรา 75 และมาตรา 76

โฆษก ทอ.ยันซื้อเครื่องบินยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ล่าสุดวานนี้ (12 ก.ค.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจง โครงการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นชาติที่มีเอกราชและอธิปไตย การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพที่เหมาะสม เพียงพอ และที่จำเป็นเพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ การดำเนินการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อการป้องกันประเทศ และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้กองทัพมีหน้าที่ในการเตรียมกำลังและป้องกันราชอาณาจักร 
"ไม่มีทางสรุปง่ายๆ ได้เลยว่าการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเพื่อการป้องกันประเทศเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรค 2 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ประกอบมาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพ"

ส่วนที่ศรีสุวรรณระบุว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ขัดต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสะท้อนว่ารัฐบาลไม่รักษาวินัยทางการเงินการคลังนั้น โฆษกกองทัพอากาศ ชี้แจงว่า โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของกองทัพอากาศในครั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน

พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ ยังยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ซึ่งกำหนดโครงสร้างกำลังรบของกองทัพอากาศให้มีฝูงบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น โดยการจัดหาเครื่องบิน T-50TH ในครั้งนี้ จะเข้าประจำการทดแทนเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นแบบ L-39 (ในฝูงบินเดิม) ซึ่งปัจจุบันได้ทยอยปลดประจำการเนื่องจากครบอายุการใช้งาน หากไม่มีการจัดหาทดแทนจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ

"การจัดทำงบประมาณประเทศเป็นกระบวนการทางกฎหมาย เรื่องนี้ได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการจนเป็นรายการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 การจัดทำงบประมาณเป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณประจำปีของรัฐบาล โดยรายการดังกล่าวมีการวางแผนผูกพันงบประมาณข้ามปี และแบ่งชำระเป็น 4 ปี (พ.ศ.2560 - 2563) เป็นการทยอยจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณที่กองทัพอากาศได้รับการจัดสรรในแต่ละปี ตามแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงฯ ทำให้ไม่สามารถชะลอการจัดซื้อฯ ได้เพราะจะกระทบต่อการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้นของกองทัพอากาศ ส่งผลต่อการเตรียมกำลังกองทัพอากาศเพื่อการป้องกันประเทศตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ" พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

ศรีสุวรรณ เตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ 20 ก.ค.นี้

ด้าน ศรีสุวรรณ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงคัดต้านข้อแถลงดังกล่าวด้วย ดังนี้ 
  • 1) การจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH ดังกล่าว ไม่สอดคล้องใด ๆ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ “รัฐต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศ” ไม่ได้กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้เพื่อป้องกันประเทศ” แต่อย่างใด อีกทั้ง “การเตรียมกำลัง” ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 นั้น มี “พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497” บัญญัติไว้รองรับชัดเจนอยู่แล้ว ที่กำหนดให้ให้เฉพาะชายที่มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์เพื่อรับราชการทหารด้วยตนเองทุกคน อันถือได้ว่าเป็น “การเตรียมกำลัง” ไว้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติโดยชัดแจ้ง ดังนั้น การอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อการจัดซื้อเครื่องบิน T-50TH จึงเป็น “การตะแบง” ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
  • 2) การอ้างมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุขของประชาชนโดยรวมนั้น เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่คำนึงถึงมาตรา 3 วรรคแรกเสียก่อนที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ไม่ใช่อำนาจอธิปไตยเป็นของกองทัพอากาศ หรือของกระทรวงกลาโหม หรือของรัฐบาลฝ่ายบริหารแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น กองทัพอากาศควรที่จะต้องไปพิจารณาและปฏิบัติให้เป็นไปตามหมวดที่ 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” ในมาตรา 51 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 62 และมาตรา 63 ด้วย จึงจะถูกต้อง
  • 3) การอ้างมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหารที่มีประสิทธิภาพนั้น ข้ออ้างดังกล่าวนั้น สอดคล้องกับรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงกับบูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐอย่างไร เมื่อเทียบกับ กรณีเขาพระวิหาร กรณีที่มีชาวกัมพูชาเข้ามายึดครองที่ดินทำกินบริเวณหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว กรณีพื้นที่ทับซ้อนแหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย และล่าสุดกรณีการอนุญาตให้สถาปนิก และวิศวกรจีนเข้ามาก่อสร้างและดำเนินการรถไฟความเร็วสูง อย่างไร กองทัพอากาศได้ปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้มาตรา 52 ดังกล่าวเป็นการบัญญัติให้ “รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ” ไม่ใช่กำหนดให้ “รัฐต้องจัดให้มีการซื้อเครื่องบิน T-50TH ไว้” แต่อย่างใด ซึ่งในยุค 4.0 นี้เขาใช้การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบูรณภาพแห่งอาณาเขต สิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐกันแล้ว ไม่ใช่ “การสะสมอาวุธ” ดังที่กระทรวงกลาโหมกำลังดำเนินการในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และในรอบ 50 ปีที่ผ่านมากองทัพไทยได้สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายมหาศาลจนเกินจำเป็นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันประเทศหรือรักษาความมั่นคงแห่งรัฐอีกหรือ ?
  • 4) ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ถามหน่อยเถิดว่า สอดคล้องกับหลักความพอประมาณ หลักความมีเหตุผล หลักความโปร่งใส และมีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้อย่างไร ประชาชนคนธรรมดาสามารถตรวจสอบกระบวนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพได้อย่างไร โดยวิธีการใด และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2555 ที่กล่าวอ้างนั้น กระทรวงกลาโหมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเจ้าของประเทศที่แท้จริงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร

           แถลงการณ์ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุด้วยว่า สมาคมฯ จะไปแถลงรายละเอียดและประเด็นการคัดค้านอีกครั้งในวันพุธที่ 19 ก.ค. พ.ศ.2560 เวลา 10.00-12.00 น. ในเวทีอภิปรายสาธารณะ “แก้ปัญหาคอรัปชั่น ชาตินี้หรือชาติหน้า ? (ครั้งฉุกเฉิน 2) ณ ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ และจะนำความไปหาข้อยุติโดยยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพฤหัสที่ 20 ก.ค. 2560 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม.ด้วย

จอม เผยได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกา ย้ำมีพลังใจทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น


จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ผู้ลี้ภัยในต่างแดนหลังถูกคำสั่ง คสช. เรียกรายงานตัวตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกาแล้ว ระบุสถานะนี้ทำให้มีพลังใจในการทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อปากเสียงของคนไทยได้มากขึ้น

13 ก.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ก.ค.60) จอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะกรณีได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกาว่า ขอกราบขอบพระคุณ ทุกๆ กำลังใจ ที่หลั่งไหลเข้ามานะครับ หลังจากที่ทราบข่าวว่า ตนได้รับสถานะ ผู้ลี้ภัย อย่างสมบูรณ์ในอเมริกา
จอม ระบุด้วยว่า ทีแรกไม่อยากจะบอกใคร นอกจากสมาชิกในครอบครัว แต่เมื่อคนที่รู้จักทราบเรื่อง ก็มีการนำไป เผยแพร่และเขียนความคิด ความรู้สึกเพิ่มเติมเข้าไป ต้องขอขอบคุณด้วยความซาบซึ้งใจ เพราะหลายคนรู้ว่า สภาพความเป็นอยู่ในขณะที่ยังไม่ได้รับรองเป็นผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร 
"ก็อยากจะขอชี้แจงเพื่อให้หายห่วงใยกันนะครับ คือ สถานะที่ผมได้รับเป็น สถานะผู้ลี้ภัย นะครับ ไม่ใช่ กรีนคาร์ด แต่เนื่องจากสถานะผู้ลี้ภัยจะได้รับสวัสดิการจากรัฐ เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพ เกือบจะเท่ากับคนที่มี กรีดคาร์ด ทำให้คนไทยในอเมริกาส่วนใหญ่ก็มักจะสรุปรวมว่ามีค่าหรือมีความหมายเท่ากัน ซึ่ง ทนายความบอกว่า หลังจากได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว การ apply green card ก็เร็วและง่ายขึ้น โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน และเมื่อได้ green card แล้วก็สมัครเป็น พลเมือง citizenship ก็จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ของอเมริกา ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเราอีกทีว่า สุดท้ายแล้วจะยอมทิ้งมาตุภูมิที่ให้กำเนิด เพื่อยอมเป็นพลเมืองในแผ่นดินใหม่เพื่อใช้เป็นที่พักพิงสุดท้ายหรือไม่ 
ต่อกรณีคำถามที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้ความเป็นอยู่ต่างไปจากเดิมอย่างไรนั้น จอม โพสต์ตอบว่า สบายใจและเบาใจมากขึ้นในการดำรงชีวิต ประการสำคัญแรกสุดคือ การรักษาพยาบาล การตรวจสุขภาพ เจ็บป่วย ไม่สบาย ก็จะได้รับการดูแลรักษาฟรี ถัดมาคือเรื่องอาหารส่วนหนึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ถัดมาคือเรื่อง อาชีพ จะได้รับการแนะนำ ช่วยเหลือ ฝึกทักษะให้ถ้าต้องการทำงานในสายอาชีพ และไม่ต้องต่ออายุ working permit เป็นรายปีอีกต่อไป นับจากนี้ไปก็สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกแห่งตามความสามารถ 
"สถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ ทำให้มีพลังใจในการทำงานสื่อเพื่อประชาธิปไตย และเพื่อปากเสียงของคนไทยได้มากขึ้นด้วย ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับทุก ๆ กำลังใจอีกครั้งนะครับ ขอบคุณที่เป็นลมใต้ปีกให้สามารถเข้มแข็ง มีแรงบินมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้จะรู้ว่าจะยังต้องประคองตัวเองให้บินอยู่ได้ต่อไปอีกยาวไกลก็ตาม" จอม โพสต์
ตัวอย่างภาพรายการของจอมที่เผยแพร่ทางยูทูบ
สำหรับ จอม สื่อมวลชนอิสระ หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกตัวเขาเพื่อเข้ารายงานตัวด้วยคำสั่ง คสช. 82/2557 โดยปัจจุบัน จอม ได้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ จนล่าสุดได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างสมบูรณ์ในอเมริกา ปัจจุบัน เขา ยังคงผลิตรายการสัมภาษณ์ผ่านทางยูทูบจำนวนมาก ผ่านช่อง 'jom voice' โดยช่องนี้ ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา ถูกปิดกันการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งค่าโลเคชั่นในประเทศไทย โดยเมื่อเข้าหน้ารวมของช่อง จะมีข้อความ "ไม่สามารถดูช่องนี้ได้ในประเทศของคุณ"
ภาพยูทูบช่อง 'jom voice' ที่ถูกระงับการเผยแพร่สำหรับผู้ที่ตั้งโลเคชั่นในประเทศไทย

คสช. สั่งกองทัพบก เปิด 'ตู้ปณ.-สายด่วน' รับเรื่องร้องเรียนทุจริต


ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ คสช.-กองทัพบก เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 

13 ก.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและกองทัพบก ซึ่งรวมไปถึงกองทัพภาคและหน่วยทหารของกองทัพบกในพื้นที่ เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้วยการเปิดตู้ ปณ.และสายด่วนให้ประชาชนแจ้งข้อมูลเบาะแสต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นผู้รับผิดชอบ
“นายกฯ กำชับให้ คสช.และกองทัพเร่งดำเนินการ และแจ้งให้ประชาชนทราบ เนื่องจากการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ การขาดความศรัทธาในหน่วยงานของรัฐ ประเทศชาติสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมหาศาล และกระทบต่อความเชื่อถือของต่างประเทศ” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะถูกรวบรวมส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด  นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน เปลี่ยนประเทศไทยให้ใสสะอาด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน
ล่าสุด เฟซบุ๊ก กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "โกงเก่าโกงใหม่ ต้องไม่ให้มีที่ยืน" ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ข้อมูลความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ที่ "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ของ คสช.
สำหรับรูปแบบวิธีการระบุหน้าซองจดหมาย ถึง "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ของ คสช. สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ ดังตัวอย่าง กรุณาส่ง (1.) ตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200 หรือ (2.) สำนักงานเลขาธิการ คสช. ตู้ ปณ.444 ปณ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

วิกฤตตุลาการคือการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย


เลือกประธานศาลฎีกาไม่ได้ ทำไมจึงเป็นวิกฤตตุลาการ? ‘ประชาไท’ ชวนตั้งคำถามหรือวิกฤตตุลาการคือการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงประชาชน ขาดห่วงโซ่แห่งความชอบธรรม นักนิติศาสตร์เสนอโมเดลเชื่อมโยงประชาชน ชี้อาการรังเกียจการเมือง-นักการเมืองเป็นปมปัญหาใหญ่ปฏิรูปตุลาการ
เมื่อ ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกาคนที่ 43 ซึ่งจะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2560 ก่อนที่ ก.ต. จะมีมติเอกฉันท์แต่งตั้งชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการคนที่ 44
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถูกจับตาและตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นานา เนื่องจากกรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับองค์กรตุลาการที่ค่อนข้างจะเคร่งครัดกับระบบอาวุโส
อย่างน้อยก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตตุลาการปี 2534 ที่ฝ่ายการเมืองที่นำโดยประภาศน์ อวยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม งัดข้อกับฝ่ายตุลาการนำโดยโสภณ รัตนากร ประธานศาลฎีกา เมื่อฝ่ายแรกต้องการดันสวัสดิ์ โชติพานิชขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาต่อจากโสภณ ขณะที่โสภณกลับเสนอให้ประวิทย์ ขัมภรัตน์ ซึ่งมีอาวุโสน้อยกว่าสวัสดิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากตน
แต่สุดท้าย 8 พฤศจิกายน 2534 ก็มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธานศาลฎีกา ทำให้ม็อบผู้พิพากษากว่า 500 คนที่ชุมนุมกันที่เวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ (หรือเซ็นทรัล เวิร์ลในปัจจุบัน) มีมติน้อมรับพระราชโองการในที่สุด แต่เรื่องก็ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อ 11 กันยายน 2535 รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2521 แต่ถูกต่อต้านจากผู้พิพากษากว่า 700 คนทั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะทำให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีอิทธิพลเหนือผู้พิพากษาและทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเมื่อชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 กันยายน 2535 แล้ว 7 ตุลาคม 2535 สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว
อาจกล่าวได้ว่า ทุกอย่างจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายตุลาการที่ยังสามารถป้องกันการ ‘แทรกแซง’ จากฝ่ายการเมืองได้อีกครั้ง
วิกฤตความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
กับกรณีการแต่งตั้งประมุขฝ่ายตุลาการที่เพิ่งผ่านไป ด้านศิริชัยเองก็ยืนยันว่าจะไม่มีการฟ้อง ก.ต. ดังที่เป็นข่าว ฝ่ายที่หวั่นวิตกว่าจะเกิดวิกฤตตุลาการคงจะเบาใจได้ อย่างไรก็ตาม ชวนตั้งคำถามว่า จะเกิดวิกฤตได้อย่างไร ในเมื่อครั้งนี้การแต่งตั้งประธานศาลฎีกาเป็นเรื่องภายในของเหล่าผู้พิพากษาเท่านั้น ฝ่ายการเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องหรือพยายามแทรกแซงแต่อย่างใด
อีกทั้งในบริบทปัจจุบัน คงต้องยอมรับว่าฝ่ายการเมืองซึ่งมาจากการรัฐประหารกับฝ่ายตุลาการค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว
ตรงกันข้าม ประชาไททดลองตั้งสมมติฐานใหม่ว่า หรือจริงๆ แล้ว องค์กรตุลาการของไทยวิกฤตมาก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยเฉพาะวิกฤต ‘ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย’ ที่ไม่สามารถสืบสาวหรือยึดโยงกลับไปหาประชาชนได้เลย
หากดูตำแหน่ง ก.ต. จำนวน 15 คน จะพบว่า 13 คนมาจากฝ่ายตุลาการ ที่เหลืออีก 2 คนมาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา ซึ่งเป็นความพยายามหาจุดยึดโยงกับประชาชนอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนนี้ถูกเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกทั้งในอนาคต ประเทศไทยจะมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ความพยายามยึดโยงกับประชาชนที่บางเบาอยู่แล้ว จึงหายไปในทันที
ห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขาดหาย
ฤทธิภัฏ กัลป์ยาณภัทรศิษฏ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ศึกษาเรื่องการถ่วงดุลและตรวจสอบฝ่ายตุลาการในระบบกฎหมายไทย กล่าวว่า ระบบ ก.ต. เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเพื่อสร้างการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายตุลาการ เนื่องจากผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาคือรัฐมนตรี ก.ต. จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าฝ่ายการเมืองแต่งตั้งคนเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่
“แต่ของเรากลับมีปัญหา หลังการปฏิวัติ 2475 อาจารย์ปรีดี พนงยงค์ พยายามนำโมเดลนี้มาใช้ คือรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาและมีการตั้ง ก.ต. ขึ้นมาถ่วงดุลกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แต่ระบบนี้ถูกเปลี่ยนประมาณปี 2500 เปลี่ยนไปให้ ก.ต. มีอำนาจในการควบคุมการคัดเลือกผู้พิพากษาทั้งหมด รัฐมนตรีมีอำนาจแค่คัดค้าน ถ้าจะไม่แต่งตั้งก็ต้องโยนกลับมาที่ ก.ต. ซึ่ง กต. ก็จะมีอำนาจยืนยันมติของตนเองและแต่งตั้งไปตามนั้น แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการตรา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ปี 2542 และ 2543 ตอนนั้นตัดอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมไปเลย กลายเป็นประธานศาลฎีกาเป็นคนแต่งตั้งตามข้อเสนอของ ก.ต.”
ถามว่า ก.ต. ที่มีสัดส่วน 2 คนที่มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภาถือว่ามีความเชื่อมโยงกับประชาชนเพียงพอหรือไม่ ฤทธิภัฏ กล่าวว่า ไม่พอ เพราะโดยหลักแล้วสมาชิกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องเชื่อมโยงกลับไปหาประชาชนได้ เช่น ผู้พิพากษาตั้งจาก ก.ต. ต้องย้อนกลับไปว่า ก.ต. มาจากไหน ถ้า ก.ต. มาจากผู้พิพากษาด้วยกันเอง ลักษณะนี้เรียกว่าห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขาดไป แต่ถ้า ก.ต. มาจากสภา สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ลักษณะนี้ห่วงโซ่ความชอบธรรมจะย้อนกลับไปหาประชาชนได้
"ประธานศาลฎีกาของไทยมีอำนาจควบคุมการบริการตุลาการด้วย ดังนั้น โดยสภาพผู้ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ควรได้รับความชอบธรรมหรือได้รับการอนุมัติมาจากตัวแทนประชาชน"
“เมื่อเดินมาแบบนี้ทำให้การคัดเลือกหรือแต่งตั้งผู้พิพากษาถูกตัดออกจากฝ่ายการเมือง ซึ่งในมุมมองของฝ่ายตุลาการมองว่า ถ้าปล่อยให้การเมืองเข้ามายุ่งจะทำให้เสียความเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกันเมื่อตัดฝ่ายการเมืองออกไปก็เท่ากับตัดขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยออกไปด้วย”
มิซซูรี แพลน-เมอร์ริต แพลน
ฤทธิภัฏ อธิบายว่า ในต่างประเทศมีหลายโมเดลที่จะทำให้ห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยไม่ขาดตอน ขณะที่การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสองฝ่ายยังคงมีอยู่ และความมีอิสระของฝ่ายตุลาการไม่ถูกกระทบกระเทือน เช่น การให้ประชาชนเลือกผู้พิพากษาโดยตรง ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในระดับมลรัฐในอเมริกาฯ ในการเลือกผู้พิพากษาระดับล่าง มีข้อดีว่าความชอบธรรมหรือการยอมรับผู้พิพากษาจากประชาชนจะมีสูง ส่วนข้อเสียคือการเลือกตั้งไม่สามารถคัดกรองคนที่มีความรู้ความสามารถ ในบางกรณีอาจเป็นการเลือกตามกระแส ตามอารมณ์ของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ทำให้ได้ผู้พิพากษาที่ไม่มีคุณภาพดีพอ
อีกโมเดลหนึ่งที่ใช้ในอเมริกาฯ เรียกว่า มิสซูรี แพลน ระบบนี้จะมีกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษา กรรมการชุดนี้ครึ่งหนึ่งมาจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย อีกครึ่งมาจากฝ่ายการเมืองเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามา แล้วทำการเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้พิพากษา ทำเป็นบัญชีรายชื่อประมาณสามสี่คนส่งให้ผู้ว่าการรัฐเป็นผู้เลือกจากบัญชีรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการเลือกจะต้องไปเรียนการเป็นผู้พิพากษาและทำงานประมาณปีหรือสองปีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วจึงให้ประชาชนลงมติว่าจะให้ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ กล่าวได้ว่าเป็นการเลือกเพื่อรักษาตำแหน่งผู้พิพากษา
ขณะที่ญี่ปุ่นนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้เรียกว่า Merit Plan โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุด 15 คนและสามารถทำงานได้ทันที แต่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนว่าจะให้ผู้พิพากษาดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบก็จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ 10 ปี เมื่อครบ 10 ปี ประชาชนก็จะลงมติซ้ำว่าจะให้เป็นต่ออีกหรือไม่ ขณะที่ผู้พิพากษาระดับล่าง คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งตามที่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดเสนอมา เป็นการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายตุลาการ
ประธานศาลฎีกาควรได้รับความชอบธรรมจากตัวแทนประชาชน
ส่วนกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาของไทย ฤทธิภัฏ กล่าวว่า
“ในความเห็นของผมต้องดูก่อนว่า ประธานศาลฎีกามีหน้าที่อะไรบ้าง หลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 มีการแยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม หมายถึงว่าให้ฝ่ายตุลาการรับผิดชอบจัดทำบริการสาธารณะทางตุลาการ คือจัดสถานที่ จัดบุคลากร ตัดสินข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไป ก่อนปี 2540 งานนี้เป็นภารกิจ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หลังปี 2540 อำนาจนี้ถูกโอนมาให้ฝ่ายตุลาการ คนที่รับผิดชอบงานนี้คือประธานศาลฎีกาทำหน้าที่กุมนโยบาย แต่ในโครงสร้างจะมีองค์กรที่คอยถ่วงดุลอำนาจประธานศาลฎีกาอีกทีหนึ่ง
“เพราะฉะนั้นประธานศาลฎีกาที่คนทั่วไปอาจจะคิดว่าตัดสินคดีอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วประธานศาลฎีกาของไทยมีอำนาจควบคุมการบริการตุลาการด้วย ดังนั้น โดยสภาพผู้ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ควรได้รับความชอบธรรมหรือได้รับการอนุมัติมาจากตัวแทนประชาชน ในความเห็นของผมอาจอนุมัติโดยให้สภาเป็นผู้ลงมติเห็นชอบ โดย ก.ต. อาจทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติ ทำบัญชีรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติ แล้วให้สภาคัดเลือก ซึ่งจะเชื่อมโยงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่ทั้งหมด”
บริหาร-ตุลาการ ถ่วงดุลหรือแทรกแซง?
แต่ด้วยบุคลิกของสังคมไทยที่รังเกียจการเมืองและนักการเมือง การสร้างห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและตุลาการ มักถูกหันเหไปสู่ประเด็นว่าการเมืองแทรกแซงฝ่ายตุลาการ ฤทธิภัฏ แสดงความเห็นว่า
“ในสังคมมองว่าตุลาการเป็นฝ่ายเทพ ถ้าให้การเมืองเข้ามาแต่งตั้งผู้พิพากษาจะทำให้ฝ่ายตุลาการแปดเปื้อนไปด้วย ซึ่งปมนี้เป็นปมที่แกะยากที่สุดในสังคมไทย การที่ ก.ต. มีอำนาจแบบนี้เคยมีความพยายามจะแก้อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จะออกมาเป็นประกาศคณะปฏิวัติ แต่ก็โดนสื่อมวลชนและสังคมประณามว่าจะทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงฝ่ายตุลาการ สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป อีกครั้งหนึ่งคือตอนวิกฤตตุลาการ 2534 ที่พยายามจะออกพระราชกำหนดแก้สัดส่วนใน ก.ต. ก็โดนต่อต้าน จนต้องถอนออกไปเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เป็นปมที่ยากที่สุดในการปฏิรูปฝ่ายตุลาการบ้านเรา”
ฤทธิภัฏ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศที่แม้ว่าจะมีความรังเกียจฝ่ายการเมือง แต่ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าตนมีอำนาจสามารถควบคุมฝ่ายการเมืองได้ ซึ่งต่างกับในประเทศไทย เขาอธิบายเพิ่มเติม เหตุนี้ นอกจากการนำโมเดลต่างๆ ข้างต้นมาประยุกต์ใช้แล้ว การสร้างระบบที่แยกเรื่องการแต่งตั้งกับการถอดถอนออกจากกันถือเป็นหนทางหนึ่งที่จะคงความเป็นอิสระของตุลาการ
“การแยกระบบการแต่งตั้งกับระบบถอดถอนออกจากกัน คนที่มีอำนาจแต่งตั้งจะไม่มีอำนาจถอดถอน คนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าไปแม้จะทำสิ่งที่ไม่ถูกใจผู้ที่แต่งตั้งตน แต่ก็ไม่กลัวว่าจะถูกถอดโดยผู้แต่งตั้ง เช่น อเมริกา คนแต่งตั้งคือประธานาธิบดีโดยมีวุฒิสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่ตอนถอดออกต้องเข้ากระบวนการ Impeachment ซึ่งต้องเริ่มจาก ส.ส. ก่อน ลงมติ แล้วเสนอมให้ สว. ลงมติซ้ำ ซึ่งประธานาธิบดีไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงไม่ต้องกลัวและไม่ต้องทำงานตอบสนองต่อผู้ที่แต่งตั้งตนเข้าไป”
สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตตุลาการที่วิตกกันไปก่อนหน้านี้จึงอาจเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ทว่า วิกฤตจริงๆ ของสถาบันตุลาการไทยคือวิกฤตการขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่ยังไม่มีหนทางคลี่คลาย

ประยุทธ์นำถก 'กก.เตรียมการปฏิรูป' กำหนดอนาคตเพื่อพ้น 'กับดักรายได้ปานกลาง'


ประยุทธ์ นั่งประธานนำถก คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย เสนอ 7 วาระสำคัญ
12 ก.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (12 ก.ค.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศมีหลักการสำคัญที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปต้องทำให้เกิดขึ้นตามห้วงเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลงานผลสัมฤทธิ์ปรากฏตามห้วงเวลาที่จะต้องเกิดขึ้นทุกปี และทุก ๆ 5 ปี และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีก 5 แผน ในระยะ 20 ปี คือแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ถึง 15 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องหาข้อสรุปออกมาให้ได้ ว่าทำอย่างไรจะสอดคล้องกันทั้งหมด โดยเมื่อมีการปฏิรูปก็จะต้องมีแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ล่วงหน้า ในทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวาระของสหประชาชาติ ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการในทั้ง 11 เป้าประสงค์ ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการให้ประสานสอดคล้องกันให้ได้ทั้งหมด
โดย ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมมีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการกำหนดอนาคต เพื่อให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งวิธีบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายให้สากล โดยคำนึงถึงอัตตลักษณ์ความเป็นไทย  จึงอยากให้ทุกคนใส่ใจกับกฎหมายให้มากขึ้น อย่ามองว่ารัฐบาลออกกฏหมายมาเพื่อควบคุม ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะกฏหมายถูกใช้เพื่อสร้างกระบวรการยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่ม
“ผมย้ำว่า หากออกกฏหมาย เรื่องใด และส่งผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหาจะต้องมีมาตรการมารองรับ ไม่ให้เป็นเหมือนอดีตที่ผ่านมา และอย่ามองว่ากฏหมายเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้มีการจัดระเบียบวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น เข้าหมวดหมู่ให้เหลือ 11 วาระ และนำกิจกรรมมาปรับใช้ให้เกิดแผนปฏิรูป ที่ต้องสอดคล้อง กับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับวางเป็นแนวทางให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปใช้เป็นแนวทางในการทำงาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะสำเร็จได้ 
“วันนี้รัฐบาลมองเป้าหมายประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทุกวัย จะทำอย่างไรให้คนได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปประเทศ ทั้งคนในวันนี้และคนในวันหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คาดหวัง วันนี้ทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องร่วมมือกันในวันนี้ หากขัดแย้งกันในวันนี้ ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง เรื่องอะไรต่าง ๆ  แล้วก็ขัดแย้งกันเหมือนเดิม แล้วใครจะรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรี คสช. รับผิดชอบ อย่างไรผมก็ต้องรับอยู่แล้ว แต่ผมก็จะไม่ให้ไปสู่ตรงนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมวันนี้ได้มีการเสนอทั้งหมด 7 วาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การปฏิรูประบบตัวชี้วัดของภาครัฐทั้งหมด ที่ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของภาครัฐในวันนี้ยังไม่ตอบโจทย์  จะสามารถตอบโจทย์ว่าประชาชนได้อะไรนั้นได้อย่างไร 3. ทำอย่างไรที่จะเป็นการปฏิรูปให้รัฐบาลมีความคล่องตัว กระชับมากขึ้น มีการผ่องถ่ายภารกิจที่ไม่จำเป็นออกไปให้ภาคส่วนอื่น 4. การจัดการกำลังคนภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะวันนี้มีข้าราชการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรที่จะมีข้าราชการจำนวนที่เหมาะสมในอนาคต โดยในอนาคตจะมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ที่จะทำให้กำลังพลบางส่วนหายไป  และบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยข้าราชการที่มีทักษะอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นในเรื่องของการรองรับ ในเรื่องของการ Re-skill ในเรื่องของการ Training ราชการ ตลอดจนการคัดกรองคนที่ไม่มีประสิทธิภาพออกจากระบบโดยที่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งข้าราชการที่มีประสิทธิภาพนั้นจะทำอย่างไร 5. การปฏิรูปงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 6. การปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล 7. การยกระดับการให้บริการภาคประชาชน ซึ่งใน 7 เรื่องดังกล่าวมีข้อเสนอที่สำคัญคือจะใช้กลไกประชารัฐดำเนินการใน 7 เรื่องนี้ เพราะเนื่องจากระบบราชการเป็นเรื่องที่การปฏิรูปคงยังไม่สามารถทำขึ้นมาได้โดยตัวเอง จึงจะให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงรายชื่อบุคคลที่น่าสนใจที่จะทาบทามให้มาร่วมดำเนินการในด้านต่าง ๆ ซึ่งการปฏิรูปใน 7 มิตินี้จะเป็นมิติใหม่ของการปฏิรูปไปสู่ระบบราชการ 4.0 โดยจะเป็นกลไกประชารัฐ ที่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนมืออาชีพเข้ามามีส่วนในการปฏิรูป