วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิษณุแจงใช้คำสั่งทางปกครองกับยิ่งลักษณ์ ปมจำนำข้าว ทำตามกฎหมาย


12 ต.ค. 2558 จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้ทบทวนและยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เตรียมออกคำสั่งเพื่อยึดทรัพย์ และชำระหนี้ความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเรียกเก็บเงินจำนำข้าวด้วยการฟ้องศาล แทนการออกคำสั่งทางการปกครอง พร้อมทั้งระบุด้วยว่านายกฯ ขณะนี้เป็นประธานกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ที่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาในเรื่องข้าวในขณะนี้ ซึ่งอาจเห็นแตกต่างกันในเชิงนโยบายและกลไกในการบริหารนโยบายในเรื่องข้าวในอดีต ส่งผลให้ไม่อาจถือว่ารัฐบาลนี้เป็นกลาง แต่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย (อ่านรายละเอียด)
โดยสำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนเข้าใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะให้คนมายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 13 ต.ค. ซึ่งนายกรัฐมนตรี อาจจะส่งมาให้ตนดูรายละเอียด จะได้รู้ว่าร้องเรียนอะไร
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินคดีทั่วไป รัฐจะเป็นผู้ฟ้องร้อง แต่เนื่องจากมี พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2539  ที่บัญญัติไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิด และการกระทำนั้นเป็นการประมาทเลินเล่อ ไม่ร้ายแรง ให้ฟ้องร้องหน่วยงาน ไม่ฟ้องร้องตัวบุคคล แต่หากเป็นการกระทำละเมิด และจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องฟ้องที่ตัวบุคคล ไม่ให้ฟ้องรัฐ ซึ่งการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองต้องทำภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนด เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 แต่หากไม่พอใจสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้
“วิธีที่รัฐบาลจะดำเนินการเป็นกระบวนการปกติ และประเด็นอยู่ที่กรณีนี้ เข้าข่ายตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อมีการรายงานว่าเข้าข่าย เพราะผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำละเมิด และเป็นการกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา จึงต้องนำไปสู่กระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การออกคำสั่งทางปกครองเป็นการหลีกเลี่ยงการดำเนินการทางศาล เพราะต้องวางเงินประกันศาลนั้น  นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยง แต่รัฐไม่สามารถใช้กระบวนการอื่นได้ เพราะกฎหมายสร้างกระบวนการนี้ไว้ และไม่ใช่มีวิธีเลือกสองทางแล้วมาเลือกทางนี้ แต่ไม่มีวิธีอื่นให้เลือกอีกเลย
“ประเด็นคือมี 2 กระบวนการสำหรับการดำเนินคดี ซึ่งไม่ใช่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเข้าล็อกอย่างนี้ต้องใช้กระบวนการ ก. คือฟ้องปกติ หากอีกอย่างหนึ่งต้องใช้กระบวนการ ข. คือการใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิด ไม่ใช่เลือกว่า ก.หรือ ข.ก็ได้ การจะใช้กระบวนการ  ก.หรือ ข. หากผู้กระทำผิดกระทำโดยไม่จงใจ ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องใช้กระบวนการ ก. แต่ถ้าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องใช้กระบวนการ ข.เท่านั้น วันนี้เมื่อ ป.ป.ช.บอกเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ต้องใช้กระบวนการ ข. หากไม่พอใจไปฟ้องศาล ก็มีสิทธิ์จะยกว่าเรื่องนี้ไม่ควรใช้กระบวนการ ข. เพราะไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็คือต้องเถียงกับป.ป.ช. ไม่ใช่รัฐบาล” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการให้การดำเนินคดีอาญาเสร็จสิ้นก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะอายุความมีเพียง 2  ปี หากเลย 2 ปีไปแล้วไม่สามารถออกคำสั่งได้อีก และหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินออกมาอีกแบบหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร หากมีการร้องคัดค้านคำสั่งต่อศาลปกครอง การพิจารณาอาจใช้เวลานาน คำพิพากษาในคดีอาญาออกมาว่าอย่างไร ศาลปกครองก็คงฟัง ไม่ได้ชิงตัดสินอยู่แล้ว
“รัฐบาลต้องรีบออกคำสั่ง เพราะหากรอคดีอาญาซึ่งไม่รู้ว่าจะกี่ปีแล้วจะทำอย่างไร หากปล่อยให้อายุความขาด รัฐก็จะกลายเป็นจำเลย” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ที่ส่งมา 1 ชุดแล้ว ชุดที่สองมีการส่งเข้ามาแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่มีการยื่นเข้ามา และชุดแรกที่ตนได้รับก่อนหน้านั้น ตนยังไม่ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่อย่างใด และ ทั้งสองเรื่องไม่สามารถนำมารวมกันได้ ตอนนี้มีเพียงวิธีการคำนวณค่าเสียหายเท่านั้น
นายวิษณุ ปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า 

ประยุทธ์ส่งสารฉ.2 ปฏิเสธกองทัพขัดแย้ง-ขอโอกาสให้กรธ. ย้ำปรองดองต้องรอบคอบยึดกม.


12 ต.ค.2558 เมื่อเวลา 18.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้เผยแพร่สารจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 โดยมี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อ่านสารฉบับดังกล่าว ระบุ ความสำคัญของสารมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองและการปรองดองกับเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นประเด็นที่เคยเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบกันไปแล้ว แต่วันนี้สรุปเพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของรัฐบาลว่ามีความตั้งใจจริงที่จะพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ทุกคนให้โอกาสกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อนำประเทศกลับสู่ความผาสุกและยั่งยืนโดยเร็ว
ส่วนประเด็นความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองและการปรองดอง ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เสนอความคิดเห็นทั้งเหมือนและแตกต่าง รัฐบาลพร้อมรับข้อมูลไว้ทั้งหมด เพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ยืนยันการดำเนินการทุกอย่างเป็นการวางแผนเพื่อวันข้างหน้าที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งได้ใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายจากพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง นายกรัฐมนตรีจึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศ ยอมรับเรื่องในอดีต และหันมาร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าและยั่งยืนต่อไป
สำหรับการปรองดองต้องมีการศึกษาในรายละเอียดอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดกระบวนการที่เหมาะสม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ ชัดเจน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย
ส่วนอีก 2 ประเด็นที่เพิ่มขึ้นมา คือ การดำเนินงานของกองสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานต่างๆ เข้าไปตรวจสอบไม่ได้หมายความว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นแล้ว หากแต่เป็นการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า สสส.มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างครบถ้วน และเป็นไปตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ อย่างรัดกุม มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะที่การเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนบางส่วนที่ออกไปในทิศทางของการขัดแย้งภายในกองทัพ ยืนยันขณะนี้สถานการณ์ในกองทัพเป็นปกติ กำลังพลทุกนายมีความรัก ความสามัคคีต่อกัน แม้บางท่านจะมีแนวคิดที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการเคารพต่อการตัดสินใจ และการให้เกียรติซึ่งกันและกันตามหน้าที่ภาระของแต่ละคน นายกรัฐมนตรีคาดหมายจะได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนที่จะยุติการเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะออกไปในทางความขัดแย้งอย่างที่ผ่านมา เพราะไม่เป็นข้อเท็จจริงและไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใด

เพิ่มสิทธิผู้ประกันตน พ.ร.บ.ประกันสังคมใหม่ บังคับใช้ 20 ต.ค.นี้


เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานโดยได้ผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมสำหรับลูกจ้างผู้ประกันตนมากขึ้น ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศเป็นพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 และจะมีผลบังคับใช้ 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจะได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ คลอบคลุมในหลายกรณี ได้แก่ กรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร โดยสาระสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน อาทิเช่น
กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและค่าใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์โดยปัจจุบันไม่ครอบคลุม ในส่วนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังหรือทุพพลภาพและถึงแก่ความตายจะได้รับเพิ่มสิทธิประโยชน์ แม้ส่งเงินสมทบไม่ครบตามสิทธิ ส่วนผู้ประกันตนที่ทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต หรือสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายโดยไม่เกิดจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนในอัตราไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จากเดิมไม่ได้รับสิทธิ ทั้งนี้ ในขณะที่ผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขกฎหมายเพื่อขยายความคุ้มครองผู้ทุพพลภาพ ส่งผลให้ผู้ทุพพลภาพ 2 กลุ่มนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน คือกลุ่มหนึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 15 ปี และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับตลอดชีวิต ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตลอดชีวิตเท่ากัน
กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ๆ ละ 13,000 บาท รวมถึงได้เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วันไม่เกิน 2 ครั้งสำหรับผู้ประกันตนหญิง ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร สำหรับบุตรอายุ 0 - 6 ปี มีสิทธิได้รับคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาท/คน จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คนเท่านั้น  ขณะที่กรณีว่างงาน เพิ่มให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง และผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน เช่น โรงงานถูกน้ำท่วม จะได้รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน จากเดิมที่ไม่ให้การคุ้มครอง รวมทั้งกรณีไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้จากเหตุสุดวิสัย (ปัจจุบันผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น)
กรณีตาย เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย  ได้ปรับแก้ไข : ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือน แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับ 50% ของค่าจ้างรายเดือน คูณด้วย 4 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 2 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 1.5 เดือน แต่ถ้าผู้ประกันตน จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือน ให้จ่าย 50% ของค่าจ้าง คูณด้วย 12 (เท่ากับค่าจ้างประมาณ 6 เดือน) จากเดิมจ่ายแค่ 5 เดือน ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์ เพิ่ม : ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือ ระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา (ปัจจุบัน : ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท (บิดา มารดา บุตร และคู่สมรส) ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน)  ทั้งนี้ รวมไปถึงผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย หากทำงานครบตามสัญญาจ้างและไม่ประสงค์ทำงานต่อในประเทศไทย ให้มีสิทธิรับเงินชราภาพแม้จะส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนก็ตาม
อีกทั้ง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ยังกำหนดให้รัฐบาลร่วมส่งเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนมาตรา 40 ในอัตราไม่เกินครึ่งหนึ่งที่ผู้ประกันตนนำส่ง และยังขยายการคุ้มครองไปยังลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ  (ปัจจุบัน คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน)ให้เป็นผู้ประกันตนมาตรา33 โดยส่วนราชการต้องเป็นผู้ยื่นทะเบียนและนำส่งเงินสมทบให้และจะครอบคลุมถึงลูกจ้างรายวันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างไทยของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส ได้มาตรฐาน และผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประกันสังคม จะต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนด และต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ทินพันธุ์ นาคะตะ นั่งปธ.สปท. อลงกรณ์-วลัยรัตน์ นั่งรอง


สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เลือก ทินพันธุ์ นาคะตะ นั่งประธาน ยันพร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มุ่งปฏิรูปประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อลงกรณ์-วลัยรัตน์ นั่งรองคนที่ 1 และ 2
13 ต.ค. 2558 เมื่อเวลา 9.30 น. ที่ผ่านมา มีการการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นัดแรก โดยมีนายชัย ชิดชอบ ผู้มีอาวุโสสูงสุดใน สปท. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมชั่วคราว เพื่อเลือกประธาน และรองประธาน สปท. โดยที่ประชุมได้รับทราบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พร้อมกล่าวปฏิญาณตนต่อที่ประชุม หลังจากนั้นได้ดำเนินการเลือกประธานและรองประธาน สปท. คนที่ 1 และ คนที่ 2 โดยพลโท ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิก สปท. เสนอชื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. ขณะที่ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา สมาชิก สปท. เสนอชื่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 1 ส่วนรองประธาน สปท. คนที่ 2 นั้น นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ สมาชิก สปท. เสนอชื่อ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 2
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานและรองประธาน สปท. แสดงวิสัยทัศน์ โดยที่ประชุม สปท.ได้มีมติเลือกศาสตราจารย์เกียรติคุณ ร้อยเอก ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ เป็นประธาน สปท. นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 1 และมีมติเลือกนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธาน สปท.คนที่ 2
โดย  ดร.ทินพันธุ์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม ว่า ตนพร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดย สปท.จะทำหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่วางแผนการปฏิรูปประเทศไว้ระดับหนึ่งแล้วให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และตามแนวทางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557โดยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ได้คำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดลำดับก่อนหลังความสำคัญของการปฏิรูปประเทศ รวมถึงความสัมฤทธิ์ผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ด้วย ซึ่งการทำหน้าที่ของ สปท.ในครั้งนี้นับเป็นความหวังของประชาชนทั้งประเทศที่ต้องการเห็นประเทศมีการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อประโยชน์แห่งความเจริญของประเทศและความผาสุกของประชาชนในชาติ พร้อมเชื่อมั่นว่าสมาชิก สปท.จะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้สำเร็จได้ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ช่วยระดมความคิดเห็น และแนวทางการขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน ดังนั้นจึงขอให้สมาชิก สปท. ทำหน้าที่ด้วยความเป็นหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้พร้อมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน  อย่างไรก็ตามขอให้การอภิปรายของสมาชิกควรจำกัดขอบเขตเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศ และเคารพข้อบังคับการประชุมเนื่องจากมีระยะเวลาที่จำกัดเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
สำหรับ ดร.ทินพันธุ์ นั้น เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ปี 2516 สำหรับผลงานในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์นั้นได้แต่งตำราเรียนหลายเล่ม เช่น หนังสือปรัชญาการเมือง หนังสือประชาธิปไตยไทย หนังสือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นต้น

ล่าชื่อถึง ‘ก.วัฒนธรรม-ประยุทธ์’ ฉาย ‘อาบัติ’ โดยไม่เซ็นเซอร์ ทะลุ 1.4 หมื่นแล้ว


13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อ 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้ใช้ชื่อ ‘Worakasem Rungmekarat’ ตั้งรณรงค์ใน change.org ล่ารายชื่อเรียกร้องถึง กระทรวงวัฒนธรรม และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง " อาบัติ " โดยไม่เซ็นเซอร์เนื้อหาใดๆ ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. มีผู้ร่วมลงชื่อ 14,809 คน คนแล้ว
โดยเนื้อเหาข้อเรียกร้องระบุว่า อยากให้ภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ " ได้เข้าฉายตามปกติ โดยไม่มีการตัดตอน ปรับแก้เนื้อหาใดๆ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เห็นอีกมุมอันเป็นมุมแห่งความเสื่อมที่เกาะกินพระพุทธศาสนา ยังผลทำให้พระศาสนาเสื่อมทราม
พร้อมระบุอีกว่าภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" นี้ จะได้ตีแผ่นำเสนอพฤติกรรมนอกรีตในพระศาสนาบางอย่างของบุคคลบางกลุ่มที่มุ่งร้ายต่อพระศาสนา มุ่งหวังผลประโยชน์ ลาภอันมิควรได้จากความศรัทธาที่มิได้มาพร้อมด้วยสติออกมาให้เราได้รับรู้ในเสี้ยวมุมหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีที่แย่ยิ่งกว่านี้อยู่อีกมาก ผ่านตัวละครในเนื้อเรื่อง เพื่อที่จะได้ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายตระหนักรู้ และตื่นตัวในการที่จะดูแลและปกป้อง ทำนุบำรุงพระศาสนาประจำชาติไทย ให้ดำรงไว้ซึ่งความน่าเลื่อมใส เป็นไปตามพระปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศาลฎีกายืนยกฟ้องคดีฆ่า ‘เจริญ วัดอักษร’-ภรรยาเขียนจม.ประชาชนต้องปกป้องกันเอง


13 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีจ้างวานฆ่า นายเจริญ วัดอักษร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเสน่ห์ เหล็กล้วน , นายประจวบ หินแก้ว , นายธนู หินแก้ว , นายมาโนช หินแก้ว (อดีตสจ.ประจวบคีรีขันธ์) และนายเจือ หินแก้ว (อดีตกำนัน ต.บ่อบอก) ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันจ้างวานฆ่าผู้อื่น และความผิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
ในการอ่านคำพิพากษาในวันนี้มีชาวบ้านจากประจวบคีรีขันธ์ใส่เสื้อสีเขียวเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยราว 150 คน เต็มห้องพิจารณา
คำฟ้องสรุปว่า จำเลยที่ 3-5 ร่วมกันจ้างวานให้จำเลยที่ 1-2 ฆ่านายเจริญ โดยใช้ปืนขนาด 9 มม. ยิงนายเจริญรวม 9 นัด จนเสียชีวิต ขณะที่นายเจริญกำลังลงจากรถทัวร์สายกรุงเทพ-บางสะพาน หลังจากเดินทางไปให้ปากคำกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณะคลองชายธงในเขต อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เหตุเกิดที่สี่แยกบ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานจ้างฆ่าผู้อื่นฯ ให้ประหารชีวิต ส่วนนายมาโนช และนายเจือ จำเลยที่ 4 - 5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง นายมาโนช และนายเจือ และพิพากษากลับให้ยกฟ้องนายธนู หินแก้ว จำเลยที่ 3 ด้วย เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอเช่นกัน ระหว่างฎีกาจำเลยที่ 3-5 ได้รับการปล่อยตัว
ส่วนนายเสน่ห์ และนายประจวบ จำเลยที่ 1-2 กลุ่มมือปืน ที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้เสียชีวิตเมื่อเดือน ส.ค. 2549 ระหว่างการพิจารณาคดีศาลชั้นต้น
ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา กลับมีเพียง นายมาโนช จำเลยที่ 4 ที่เดินทางมาศาลเท่านั้น ส่วนนายเจือ จำเลยที่ 5 ส่งทนายร้องขอศาลเลื่อนฟังคำพิพากษาโดยอ้างว่ามีอาการป่วย ต้องนอนรักษาตัวอยู่ในรพ. พร้อมยื่นใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน ขณะที่นายธนู จำเลยที่ 3 ศาลสั่งออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้(13ต.ค.) เมื่อถึงเวลา จำเลยที่ 3 ยังไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาอีก ศาลจึงเห็นควรอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามกระบวนการ โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 -2 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าซัดทอดจำเลยที่ 3-5 แต่ให้การขัดแย้งกันเอง โดยพยานโจทก์ไม่ยืนยันชัดเจนว่า จำเลยที่ 4 และ 5 เกี่ยวข้องอย่างไร อีกทั้งจำเลยที่ 3 และผู้ตายก็ไม่เคยมีความขัดแย้งกันมาก่อน จำเลยที่ 3-5 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่มั่นคง พิพากษยืน ยกฟ้อง 3-5 และ ให้ถอดหมายจับจำเลยที่.
“เนื่องจากคำให้การของมือปืนไม่มีน้ำหนักในการรับฟังและก็เสียชีวิตไม่มีโอกาสมาซัก ถือว่าเป็นคำตัดสินที่ไม่ได้แตกต่างจากศาลอุทธรณ์ เราก็ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่ก็จำใจต้องยอมรับคำพิพากษาของศาล ในส่วนประชาชนก็คงต้องไปหารือกันว่าการต่อสู้ที่ไปข้างหน้า หวังกับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนได้ยาก พี่น้องประชาชนจะจัดการตัวเองอย่างไร มันสิ้นสุดแล้วสำหรับกระบวนการยุติธรรม เราหวังการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้”  กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญกล่าว (ชมคลิป)
นอกจากนี้ภรรยาของเจริญยังเขียนแถลงการณ์ด้วยลายมือ  ดังนี้

แถลงการณ์ฟังคำพิพากษาคดีฆ่าเจริญ

1)เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลฎีกา แต่ในฐานะประชาชนเราก็จำต้องยอมรับคำตัดสินนั้น

2) 11 ปีของการติดตามคดีสังหาร"เจริญ วัดอักษร "เราได้เรียนรู้ว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีวันเอื้อมไปถึงผู้บงการฆ่าได้ ถ้ามีกระบวนทำให้มือปืนตายก่อนไปให้ปากคำต่อหน้าศาล ซึ่งหมายความว่า ประชาชนที่ต่อสู้กับอิทธิพลอำนาจเถื่อนคงคาดหวังจะได้รับความคุ้มครองจากขบวนการยุติธรรมได้ยากเต็มที
.
3) ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงการใช้ดุลย์พินิจของตุลาการทุกระดับ ต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร่งด่วนให้มีความโปร่งใสตรวจสอบสอบได้ ไม่เช่นนั้นคนชั่วก็จะลอยนวลออกไปก่อกรรมทำเข็ญอีก ขณะเดียวกันคนบริสุทธิ์กลับถูกจองจำ ดังเช่นพี่น้องเราที่บางสะพานที่คัดค้านโครงการโรงถลุงเหล็กสหวิริยา ตอนนี้ถูกพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 21 ปีอยู่ 1 คนและอีก 4 คนกำลังรอคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคงรอดยากเพราะเป็นคดีเดียวกัน เชื่อไหมว่า 1 ในผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วยซ้ำ
.
การปล่อยผู้ต้องหาบงการฆ่า"เจริญ วัดอักษร"ในวันนี้ คงทำให้กลุ่มนักการเมืองอิทธิพลในพื้นที่จ.ประจวบยิ่งเหิมเกริมมากขึ้น ซึ่งคงทำให้เราทำงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งนิเวศในท้องถิ่นอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น อยากให้ผู้สื่อข่าวช่วยกันติดตามการต่อสู้ของชาวบ่อนอกเพื่อรักษาระบบนิเวศชายฝั่งอันเป็นฐานทรัพยากรของเราไม่ให้ถูกส่วนราชการจ.ประจวบสมคบกับนักการเมืองและกลุ่มทุนในพื้นที่ แย่งชิงไปสร้างมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด ซึ่งทวีความตึงเครียดมากขึ้นทุกวัน
...
ขณะนี้เริ่มมีการข่มขู่และคุกคามเอาชีวิตชาวบ้านอีกครั้ง

อ่านละเอียด มติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

24 พ.ค. 2557 สนามเป้า กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: ประชาไท

P8_TA-PROV(2015)0343
สถานการณ์ในประเทศไทย
มติรัฐสภายุโรป ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย
(2015/2875(RSP))
รัฐสภายุโรป
  • – อ้างถึงการลงมติก่อนหน้านี้เกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553, 6 กุมภาพันธ์ 2557 และ 21 พฤษภาคม 2558
  • – อ้างถึงคำแถลงการณ์โดยโฆษกของ Federica Mogherini รองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เกี่ยวกับความเป็นไปในประเทศไทย
  • – อ้างถึงคำแถลงการณ์ของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับคณะเอกอัครราชทูตของสมาชิกประเทศสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557, 30 มิถุนายน 2558 และ 24 กันยายน 2558
  • – อ้างถึงมติสภายุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับประเทศไทย
  • – อ้างถึงคำตอบของ Catherine Ashton รองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงในขณะนั้น ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับสถานการณ์ของกรณีนายแอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall)
  • – อ้างถึงการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ของผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติเกี่ยวกับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
  • – อ้างถึงการนำเสนอรายงานและคำชี้แนะของกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะ Universal Periodic Review ประจำประเทศไทยต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554
  • – อ้างถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948
  • – อ้างถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1998 อ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ค.ศ. 1966 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้
  • – อ้างถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984
  • – อ้างถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  • – อ้างถึงข้อบังคับ 135(5) และ 123(4) ของข้อบังคับการประชุมของรัฐสภายุโรป

A. อันเนื่องจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่กองทัพทำรัฐประหารถอดถอนรัฐบาลของประเทศไทยและดำเนินการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมทั้งประกาศยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

B. อันเนื่องจากกองทัพไทยดำเนินการก่อตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีผู้นำคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บริหารอำนาจทั้งหมดและมีอำนาจไม่จำกัดในการออกคำสั่งและจัดการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

C. อันเนื่องจากองค์กรร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. ตั้งขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทหารจากกองทัพ รวมทั้งการที่สมาชิก คสช. ได้รับการคุ้มครองจากการรับโทษใดๆ อันเกิดจากการกระทำความผิด ความรับผิดชอบหรือภาระรับผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 44 และ 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

D. อันเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 กันยายน 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน และการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดนี้อาจยืดเวลาการปกครองของรัฐบาลทหารในประเทศนี้ออกไป

E. อันเนื่องจากเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมหลายเว็บไซต์ที่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถูก คสช. กล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมทั้งมีการเซ็นเซอร์ช่องโทรทัศน์และสถานีวิทยุชุมชนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองภายในประเทศทุกกลุ่มอย่างเข้มงวดเกินกว่าเหตุ

F. อันเนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้มีการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างมากและมีบทลงโทษรุนแรงด้วยการจำคุกไม่เกิน 10 ปีสำหรับการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การขัดขวางระบบการบริการสาธารณะ

G. อันเนื่องจากนายทหารกองทัพที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “พนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” มีอำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนตามอำเภอใจ สามารถเรียกประชาชนไปสอบปากคำและตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล

H. อันเนื่องจากผู้เข้าร่วมการประท้วงโดยสันติถูกตั้งข้อหาปลุกระดมและข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรณีนักกิจกรรม 14 คนจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ถูกจับกุมตัว

I. อันเนื่องจากประเทศไทยยังคงใช้โทษประหารชีวิต และตัวบทกฎหมายใหม่ได้ขยายเงื่อนไขในการบังคับใช้โทษประหารชีวิต

J. อันเนื่องจากการจับกุมคุมขังภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

K. อันเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ได้รับอนุญาตให้พบบุคคลที่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องระหว่างการถูกกักขังคุมตัวอย่างถาวรโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือได้รับการพิจารณาคดีในศาลภายใต้อำนาจของศาลทหาร

L. อันเนื่องจากความเสื่อมถอยในด้านสวัสดิภาพของชุมชนท้องถิ่นและนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดินนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

M. อันเนื่องจากประเทศไทยมิได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 และไม่มีกรอบกำหนดการให้ที่ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในระดับชาติ รวมทั้งหน่วยงานรัฐไทยยังคงส่งตัวผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งพวกเขามีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับการข่มเหงทำร้าย

N. อันเนื่องจากประเทศไทยมีข้อผูกมัดภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกในด้านการไต่สวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมต่อการทรมาน การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ

O. อันเนื่องจากคดีฟ้องร้องหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิแรงงาน นายแอนดี้ ฮอลล์ ซึ่งเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป ได้รับการยกฟ้องก็จริง แต่เขายังถูกฟ้องร้องตั้งข้อหาในคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และคดีหมิ่นประมาท รวมทั้งคดีหมิ่นประมาททางแพ่งอีกสองคดี ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกลงโทษจำคุกถึงเจ็ดปีและปรับอีกหลายล้านบาท หลังจากฮอลล์ทำรายงานให้องค์กร Finnwatch ว่ามีการกดขี่แรงงานโดยบริษัทค้าส่งสับปะรดของไทย ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าบริษัทนี้ละเมิดสิทธิของแรงงานจริงทั้งจากกระทรวงแรงงานของไทยและจากลูกจ้างบริษัทคนหนึ่งในคำให้การต่อศาลก่อนหน้านี้ ทั้งนี้คดีของฮอลล์จะมีการไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 ตุลาคม 2558

P. อันเนื่องจากถึงแม้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 29 แต่คนงานข้ามชาติก็ยังได้รับการคุ้มครองน้อยมาก การค้าแรงงานมนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ สถานการณ์ในภาคการประมงยังน่าวิตกอย่างยิ่ง

Q. อันเนื่องจากสหภาพยุโรปยับยั้งการเจรจากับประเทศไทยเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2013 และสหภาพยุโรปปฏิเสธการลงนามในความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement—PCA) ที่บรรลุความตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2556 จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศไทย
  • 1. ขอยืนยันในพันธะอันเข้มแข็งที่สหภาพยุโรปมีต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งสหภาพยุโรปมีความผูกพันอย่างเข้มแข็งและยาวนาน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขอย้ำว่าสหภาพยุโรปในฐานะมิตรและหุ้นส่วนของประเทศไทย ได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการฟื้นคืนกระบวนการประชาธิปไตยกลับมาสู่ประเทศนี้

  • 2. อย่างไรก็ตาม รัฐสภายุโรปมีความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เสื่อมถอยลงตั้งแต่การรัฐประหารที่ผิดกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2557

  • 3. กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐไทยยกเลิกการจำกัดกดขี่ต่อสิทธิเสรีภาพและการใช้สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ อย่างสันติ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ

  • 4. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยล้มล้างคำตัดสินและการลงโทษ ถอนข้อหาและปล่อยตัวบุคคลและสื่อมวลชนที่ถูกจำคุกหรือถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมอย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทันที เนื่องจากข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นข้ออ้างให้หน่วยงานรัฐไทยมีอำนาจในการกดปราบเสรีภาพขั้นพื้นฐานและกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรับผิด

  • 5. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยช่วยป้องกันภัยคุกคามด้านสวัสดิภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยทั้งปวง และควรตอบสนองต่อความกังวลของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นและนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดิน

  • 6. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยเริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากกองทัพมาสู่หน่วยงานพลเรือนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ กำหนดแผนการชัดเจนที่จะจัดการเลือกตั้งเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการปฏิบัติตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัด

  • 7. ส่งเสริมการถ่ายโอนอำนาจตัดสินทางตุลาการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนจากกองทัพมาสู่ศาลพลเรือน ยุติการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจภายใต้กฎอัยการศึก และมีมาตรการจำกัดอำนาจของกองทัพในการกักขังหน่วงเหนี่ยวพลเรือน มิใช่ส่งเสริม

  • 8. ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐไทยทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันมิให้กฎหมายนี้ลงโทษการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ และยับยั้งการใช้กฎหมายนี้อย่างเกินเลยในส่วนของประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง

  • 9. ขอให้เคารพและคุ้มครองสิทธิในการมีสวัสดิภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งดำเนินการไต่สวนการละเมิดสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในทันที ด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและอิสระจากการแทรกแซง

  • 10. จับตาดูคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่รัฐบาลไทยแต่งตั้ง เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เรียกร้องให้รัฐธรรมนูญวางพื้นฐานบนหลักการประชาธิปไตย เช่น ความเท่าเทียม อิสรภาพ การเลือกผู้แทนอย่างเป็นธรรม ความโปร่งใส ความรับผิด สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างถ้วนหน้า

  • 11. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีตามรัฐธรรมนูญของตนเองและพันธกรณีระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอิสระของกระบวนการยุติธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสมาคมและการชุมนุมอย่างสันติ รวมทั้งความเป็นพหุนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย “ต่อต้านการหมิ่นประมาท” ที่เข้มงวดรุนแรงมากขึ้น

  • 12. จับตาดูมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยรับว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์และยุติระบบทาสยุคใหม่ที่แพร่ระบาดในห่วงโซ่ด้านอุปทานของอุตสาหกรรมประมง ส่งเสริมให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ให้ดีขึ้น

  • 13. เรียกร้องให้ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 

  • 14. กระตุ้นให้ประเทศไทยมีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

  • 15. แสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อการเห็นชอบพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศของประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกอนาคตที่เปิดกว้างมากขึ้นของประเทศนี้ในการปฏิบัติต่อบุคคลภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ (LGBT)

  • 16. แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อแอนดี้ ฮอลล์และการปล่อยตัวเขา เรียกร้องให้คดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการหมิ่นประมาททางอาญาที่ฟ้องร้องเขาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับการยกฟ้องด้วย เนื่องจากการกระทำของเขาในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีเป้าหมายเพื่อเปิดโปงการค้ามนุษย์และปรับปรุงสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งยืนยันสิทธิของเขาในการทำวิจัยและการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง รัฐสภายุโรปมีความกังวลต่อคดีหมิ่นประมาทในแง่ที่การพิจารณาคดีอาจไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่ฟ้องร้องกับกลุ่มนักการเมืองไทยระดับสูง  รัฐสภายุโรปขอให้คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยติดตามสถานการณ์ทางกฎหมายของเขาต่อไปอย่างใกล้ชิดและเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี

  • 17. แสดงความยินดีต่อการยกฟ้องนักหนังสือพิมพ์สองคนคือ ชุติมา “อ้อย” สีดาเสถียรและอลัน มอริสันที่ศาลจังหวัดภูเก็ต

  • 18. กระตุ้นให้ชุมชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ทุ่มเทความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและการบังคับย้ายถิ่นฐาน โดยส่งเสริมการร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามตรวจสอบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาแรงงาน

  • 19. กระตุ้นให้สหภาพยุโรปและรัฐบาลไทยมีการสนทนาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ เน้นย้ำการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย

  • 20. สนับสนุนคณะกรรมาธิการและกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (Commission and the European External Action Service-EEAS) ในการรักษาแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อสร้างหลักประกันว่าประเทศไทยจะหวนคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย้ำเตือนรัฐบาลไทยในแง่นี้ว่าไม่ควรคาดหวังความก้าวหน้าในด้านความตกลง FTA และ PCA ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยตราบที่รัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจ

  • 21. แสดงความยินดีต่อบทบาทใหม่ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปประจำปี 2558-2561 ชี้ให้เห็นผลประโยชน์ร่วมกันที่อาเซียนกับสหภาพยุโรปจะได้จากความร่วมมือกัน

  • 22. ขอให้ EEAS และคณะผู้แทนสหภาพยุโรป รวมทั้งคณะผู้แทนของประเทศสมาชิก ใช้เครื่องมือทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องในการไต่สวนและการพิจารณาคดีผู้นำฝ่ายค้าน

  • 23. เสนอแนะให้ประธานส่งต่อมตินี้ไปยังรองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง คณะกรรมาธิการ รัฐบาลและรัฐสภาแห่งประเทศไทย รัฐสภาและรัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน