วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

นิธิ-ชัยวัฒน์-ปิยบุตร เปิดตัวหนังสือประจักษ์ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่านฯ”


เปิดตัวหนังสือผลงานของประจักษ์ ก้องกีรติ “ประชาธิปไตยยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม” เสวนาโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ - ปิยบุตร แสงกนกกุล และประจักษ์ ก้องกีรติ
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย” ในโอกาสจัดพิมพ์หนังสือ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน: รวมบทความว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม” เขียนโดย อาจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินรายการโดย อาจารย์ดร.ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในฐานะผู้เขียนคำนิยมในหนังสือเล่มนี้ นิธิกล่าวถึงสิ่งที่ประจักษ์เขียนในหนังสือเล่มใหม่นี้จาก 2 เรื่อง คือหนึ่งเรื่องจากข้างในปกหนังสือ และสองเรื่องจากข้างนอกปกหนังสือ โดยในส่วนข้างในปกหนังสือได้สะท้อนช่วงเวลาที่อาจารย์ประจักษ์เขียนก่อนการรัฐประหาร พ.ค.2557 อันเป็นงานที่ถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งมีความคิดอะไรบางอย่างที่ตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลานั้นด้วย อย่างแรกบทความเป็นการตอบโต้ต่อข้อถกเถียง ข้อสงสัย ข้อโจมตีในลักษณะต่างๆที่มีมาก่อนการรัฐประหารถึงความเป็นไปได้ของระบอบประชาธิปไตย โดยอาจารย์ประจักษ์เขียนขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากงานวิจัยของอาจารย์เอง เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่าการเลือกตั้งซื้อสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยมีมากน้อยแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั้งโลก อีกส่วนหนึ่งคืออาจารย์ประจักษ์ได้เสนอข้อเท็จจริงในมิติทางประวัติศาสตร์ของสิ่งที่กำลังเถียงกันอยู่ เช่น การสืบทอดอำนาจทางการเมืองมีปัญหาในตัวมันเองมากมายขนาดไหน และประชาธิปไตยตอบปัญหาที่เผชิญอยู่นี้ได้แค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมอื่น และสำหรับการต่อต้านประชาธิปไตยในสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หรือกำลังเปลี่ยนแปลงในทางลึก ประชาธิปไตยจะถูกต่อต้านไปอย่างไร โดยงานชิ้นนี้เข้าไปศึกษาการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวา ตัวอย่างกรณีฝ่ายขวาไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
อีกลักษณะหนึ่งที่ในหนังสือได้สะท้อนคือการมองประวัติศาสตร์ในเชิงเปรียบเทียบ ที่เกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศ เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดอะไรขึ้นและจะเกิดอะไรตามมา เช่น ในเรื่องประชาสังคมกับความรุนแรง ซึ่งอาจารย์ประจักษ์อธิบายว่าในหลายสังคมประชาสังคมที่ไม่อารยะได้ไปทำร้ายประชาธิปไตยได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้อาจารย์ประจักษ์อธิบายถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในสังคมหนึ่งๆความยุติธรรมเป็นแนวหน้าตัวหนึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน และมันจะรักษาตัวเองไว้อย่างไร ประโยชน์ของการอธิบายแนวนี้คือช่วยทำให้เราเถียงกันรู้เรื่อง ยิ่งในเวลาช่วงเวลาก่อน 22 พ.ค. 2557 ดังจะพบว่า ส่วนนี้ของหนังสือได้ให้ข้อเท็จจริง เพื่อให้เราเถียงกันด้วยข้อมูลที่มาจากการศึกษาเปรียบเทียบอย่างกว้างขวาง และสามารถมองเห็นภูมิหลังของสังคมไทย ซึ่งช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลึกกว่าตัวบุคคลได้ ที่มักจะมุ่งไปที่ นาย ก. นาย ข. หรือ ผบ.ชื่อนายนั้น หรือนายนี้ แต่ทว่าคือความเคลื่อนไหวของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ซับซ้อนกว่าเรื่องของบุคคล
ในทัศนะของนิธิเห็นว่า หนังสือได้แสดงความวิตกและห่วงใยของผู้เขียนหนังสือเอง และความห่วงใยของคนจำนวนมากในสังคมไทย ตั้งแต่ก่อนและหลัง 22 พ.ค. 2557 นั่นคือเรื่องความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายอย่างมาก ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงม็อบตีกันหรือทหารยิงประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นในหลายรูปแบบมากยิ่งในสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนในระดับโครงสร้าง เพราะฉะนั้นอาจารย์ประจักษ์จึงเสนอการศึกษาความรุนแรงในหลายรูปแบบ จากรัฐประเภทเหล่านี้ เช่น รัฐเองเป็นคนทำ หรือบางส่วนของรัฐเป็นคนทำ เป็นต้น และสิ่งนี้ได้เคลื่อนไปสู่วิธีคิดคือเรื่องประชาสังคมที่อนารยะกระทำต่อกัน ว่าเราจะสามารถยับยั้งความรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างไร รวมไปถึงเครื่องมืออย่างหนึ่งคือความยุติธรรมข้ามชาติ เช่นการเข่นฆ่าประชาชน ในบางลักษณะ บางเงื่อนไข ในประเทศทำไมจึงไม่ทำงานแต่ไปทำงานในประเทศอื่นแทน เช่น กรณีอาร์เจนติน่า และจะสามารถทำให้ความขัดแย้งดำเนินไปภายใต้กติกาโดยไม่ผ่านความรุนแรงไปอย่างไร
ในประเด็นเรื่องนอกปก คือเรื่องประชาธิปไตยในยุคที่ไม่เปลี่ยนผ่าน นิธิยอมรับว่า “เป็นคนหนึ่งที่มีอคติว่าอยากให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่พอหลัง 22 พ.ค.2557 ผมก็เริ่มยอมรับว่ามันมีประชาธิปไตยในยุคที่มันไม่เป็นเปลี่ยนผ่านก็มีเหมือนกัน” นิธิเสนอว่า คสช.อาจจะเป็นจุดเล็กๆแค่เพียงจุดเดียว หากเรามองแค่ คสช. แต่ถ้ามองไปทั่วทั้งโลกจะพบว่ามีประเทศที่เผชิญชะตาที่กรรมไม่เปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยอยู่จำนวนมาก รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วที่รู้จักกันดี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน อีตาลี (กรณีอีตาลีเป็นประชาธิปไตยช่วงหนึ่งหลังจากรวมประเทศแล้ว เมื่อประชาธิปไตยไม่ตอบสนองก็นำไปสู่การปกครองในระบอบอื่น) โดยส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาทั้งหลายที่เปลี่ยนไม่ผ่านจากประชาธิปไตยไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้น อีกส่วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนไม่ผ่านทางการเมืองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเอกราชเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เป็นต้น
คำถามคือ ทำไมบางสังคมสามารถเปลี่ยนผ่านได้ และทำไมบางสังคมจึงไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปได้ ซึ่งมีเงื่อนไข ปัจจัยที่ต้องอธิบายมากพอสมควร ไปตามแต่ละสังคม “ผมอยากจะเห็นการศึกษาประชาธิปไตยเปรียบเทียบในยุคที่เปลี่ยนไม่ผ่านบ้าง เพื่อที่เราจะสามารถทำความเข้าใจสิ่งทีเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ อย่างน้อยที่สุดจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า คสช.จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ หรือตัวแสดงใหม่ที่อาจจะแนบเนียนกว่า และบทบาทของการลิดรอนประชาธิปไตยจะลึกซึ้งกว่านี้ หวังว่าจะมีงานใหม่ๆที่ศึกษาเรื่องพวกนี้มาอธิบายบ้าง” นิธิกล่าวทิ้งท้ายในช่วงแรกของการเสวนา

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตรอธิบายการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยเป็นการอธิบายการเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย เขาเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วการศึกษาประเด็นดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในหมู่การศึกษาทางวิชารัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ ในกลุ่มการเมืองเปรียบเทียบ ที่เรียกว่า “กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย” (democratization) หรือ “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน” (transitional democracy) แต่ในระยะหลังนักนิติศาสตร์มีความพยายามเข้ามาขอแบ่งพื้นที่การศึกษาด้วย และเปลี่ยนหน่วยในการศึกษาโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้งว่าจะสามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปเวลาจะศึกษาว่ารัฐธรรมนูญก็มักให้ความสนใจว่า รัฐธรรมนูญ A กลายเป็นรัฐธรรมนูญ B ได้อย่างไร ซึ่งในการที่จะมีรัฐธรรมนูญตัวใหม่นั้นต้องเกิดในช่วงรอยต่อที่เปลี่ยนผ่านจากเก่ามาสู่ใหม่ และจะมีกระบวนการที่เปลี่ยนจาก A ไป B เช่น ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญเปลี่ยน จะมีพลังการเมืองฝ่ายไหนบ้างที่ทำให้เปลี่ยน เป็นต้น ในแง่มุมนิติศาสตร์ ก็มักจะถามว่า แล้วอะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่าระบบแบบ A มันพังแล้ว แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบแบบ B นักวิชาการต่างประเทศที่คิดเรื่องนี้เสนอว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากเผด็จการไปประชาธิปไตยสามารถแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ซึ่งนักรัฐศาสตร์ไทย อาจจะอธิบายว่าเป็น “วงจรอุบาทว์” ในความเห็นของเขาแล้วถือว่าการบรรยายเพียงเช่นนั้นไม่เพียงพอ ทำหน้าที่เป็นเพียงอรรถาธิบายเท่านั้นที่เมื่อฟังซ้ำๆจะทำให้เรามองไม่เห็นพลังขอการต่อต้านซึ่งมักจะถูกว่าเป็นเพียงจุดหนึ่งของวงจรอุบาทว์เท่านั้น และหมุนวงจรให้เดินไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ทว่าวงจรดังกล่าวไม่ได้เดินอย่างเรียบๆ ในบางประเทศ เส้นทางประชาธิปไตยก็สามารถหมุนจากขั้นตอนที่ 3 กลับไปขั้นตอนที่ 1 ใหม่ได้ หรือบางประเทศสำเร็จและบางประเทศล้มเหลว สำหรับขั้นตอนต่างๆ มีดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 “วิกฤติในรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ” ต้องทำความเข้าใจล่วงหน้าว่า รัฐธรรมนูญของเผด็จการอาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญเพียงหนึ่งฉบับ แต่อาจจะรวมถึงกฎหมายในรูปแบบอื่น เช่น คำสั่งคณะคณะรัฐประหาร คำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งเมื่อดำเนินการผ่านไประยะหนึ่งก็จะต้องเผชิญวิกฤตในตัวมันเอง และอาจจะมาช้าหรือเร็ว เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤติในขั้นตอนนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้สงคราม ดังที่เกิดขึ้นในประเทศอย่าง เยอรมนีหรือญี่ปุ่น, วิกฤติเศรษฐกิจ ในกรณีของโปรตุเกสในปี 1974, เกิดจากขบวนการปลดปล่อยชาตินิยมของเหล่าประเทศอาณานิคม, เกิดจากกรณีมีความขัดแย้งในประเทศตัวเอง เช่น แอฟริกาใต้, หรือสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน, หรือกรณีผู้นำสูงสุดในระบอบเผด็จการเสียชีวิต ขณะที่ประชาธิปไตยซึ่งซ่อนตัวอยู่ก็สามารถโผล่ขึ้นมาได้, หรือกรณีต่างประเทศกดดัน เช่น กัมพูชา
ขั้นตอนที่ 2 “การทำลายรัฐธรรมนูญของระบอบเผด็จการ” พบว่ามีการเปลี่ยนไป 2 แบบ แบบแรกคือเปลี่ยนทันเวลา ซึ่งก็จะเป็นการเปลี่ยนแบบค่อยๆเปลี่ยน มีลักษณะละมุนละม่อม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นได้จากการที่หัวหน้าใหญ่ในระบอบเผด็จการมีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องเปลี่ยน อาจจะเปลี่ยนจากการตระหนักด้วยตัวเองหรือถูกกดดันจากคนรอบข้างก็ได้ แต่ท้ายที่สุดต้องอยู่ที่การตัดสินใจของหัวหน้าเผด็จการ เพราะถ้าผู้ถืออำนาจคนที่ 1 ไม่เปลี่ยนแล้ว ก็จะไม่มีผู้ทรงอำนาจ เช่น กรณีนายพลปีโนเชต์ ในชิลี ที่ช่วงแรกของการขึ้นสู่อำนาจมีความเป็นเผด็จการทหาร แต่ทว่าในช่วงท้ายของปีโนเชต์ได้เปิดทางให้มีการทำประชามติเพื่อปูทางให้ประเทศเปลี่ยนไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนการทำลายรัฐธรรมนูญเผด็จการในแบบที่สอง มักเกิดจากการเปลี่ยนไม่ทันหรือเปลี่ยนช้าเกินไป หรือเปลี่ยนแล้วไม่ตอบสนองต่อฝ่ายประชาธิปไตย สิ่งที่ตามมาคือ จะเป็นกวาดล้มโต๊ะ หรือ “Tabula Rasa” ในที่นี้อาจจะหมายถึงการปฏิวัติ การลุกฮือของประชาชน หรือการรัฐประหารโดยกองทัพ เช่น กรณีนายทหารรุ่นหนุ่มที่มีวิสัยทัศน์ว่าระบอบเก่าไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังที่เกิดขึ้นในประเทศโปรตุเกส หรือกรณีการปฏิวัติในปี 2475 ของไทย ก็เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
สำหรับในแบบแรกคือการเปลี่ยนอย่างทันเวลา ยังเคยเกิดในบราซิล อาร์เจนติน่า อีกประเทศที่เป็นตัวอย่างได้ชัด คือสเปน เมื่อนายพลฟรังโก (Francisco Franco) ขึ้นสู่อำนาจในปี 1939 และเสียชีวิตในปี 1975 ในระหว่างที่ครองอำนาจด้วยแนวทางฟาสซิสต์ และครองมาอยู่เรื่อยมา ฟรังโก้ตัดสินใจว่าจะมอบอำนาจให้ทายาททางการเมืองคือให้เจ้าชายฮวน คาลอส เพื่อกลับไปสู่ระบอบที่มีกษัตริย์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งนักวิชาการสเปนเรียกช่วงเวลานี้ว่า “double royalty” หรือ “การจงรักภักดีต่อสองสิ่งพร้อมๆกัน” คือต้องรักษาทั้งระบอบฟรังโก้ เพราะฟรังโก้ให้อำนาจในการครองราชย์สำหรับฮวน คาลอสที่ 1 ขึ้นมา ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์และรักษาสถาบันกษัตริย์ไปให้อยู่รอดได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อฝ่ายประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องให้เอาผิดกับระบอบฟรังโก้จนเกิดกระแสสูงขึ้นมา ระบอบทั้งสองจึงจำเป็นต้องคานอำนาจกัน หากไม่เช่นนั้นแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ต้องหลุดจากอำนาจไปด้วย ดังนั้นกษัตริย์ฮวน คาลอส จึงเลือกตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนระบอบฟรังโก้ เพื่อคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์แทน วิธีการคือใช้กลไกในระบอบฟรังโก้มาเปลี่ยนตัวระบอบฟรังโก้เอง กษัตริย์ฮวน คาลอสใช้วิธีเปิดโอกาสให้มีการทำรัฐธรรมนูญแบบใหม่ จัดให้มีเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เปิดให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และทำประชามติ เพื่อเปิดโอกาสให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา
ปิยบุตรได้ชี้ว่า “หากพิจารณาจากกรณีสเปนจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นอย่างราบรื่น โดยไม่ต้องล้มโต๊ะ คือ เผด็จการหมายเลขหนึ่งต้องเดินหน้าปฏิรูปด้วยตัวเอง ข้อดีคือร่วมมือไปด้วยกัน ขณะที่ข้อเสียคือ ไม่สามารถเอาผิดระบอบเก่าได้ เช่น ในการครองอำนาจของพนายพลปีโนเชต์ ของประเทศชิลี เมื่อมีข้อตกลงห้ามเอาผิดหลังจากเขาลงจากตำแหน่ง ทั้งที่สมัยเขาครองอำนาจ มีการลอบฆ่า สังหารประชาชนจำนวนมาก หรือในระบอบฟรังโก้ ของสเปน ซึ่งพระเจ้าฮวน คาลอสได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1977 และปัจจุบันคนสเปนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้มีการกลับไปเอาผิดเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ระบอบเผด็จการ แต่พบว่ายังติดกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ ขณะที่ฝ่ายกษัตริย์ฮวน คาลอสก็อ้างว่าหากไม่ทำเช่นนี้แล้วการเปลี่ยนผ่านก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นข้อเสียแบบการเปลี่ยนแปลงได้ละมุนละม่อมของแบบแรก
ขั้นตอนที่ 3 “รัฐธรรมนูญในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน” ช่วงนี้เกิดขึ้นขณะที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านไปแล้ว รัฐธรรมนูญ A หายไป และรัฐธรรมนูญ B ยังมาไม่ถึง จึงจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป้าหมายคือ กำหนดกรอบรัฐธรรมนูญทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยมี 2 หน้าที่ที่สำคัญ อย่างแรกกำหนดว่าอะไรในรัฐธรรมนูญเก่าที่ต้องยกเลิก และสองกำหนดว่าอะไรในของเก่าที่ยังต้องอยู่ต่อ ดังจะพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ยังอยู่ต่อหรือเลือกรับตัวบทอะไรของระบอบเก่าให้คงอยู่ ในระยะเวลาที่กำลังเปลี่ยนผ่าน หน้าที่ต่อมาคือ กำหนดกฎเกณฑ์การใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน และสุดท้ายกำหนดไปยังอนาคตเพื่อวางกรอบรัฐธรรมฉบับถาวร รวมไปถึงการประกาศให้ลบล้างการกระทำของระบอบเผด็จการเป็นโมฆะหรือให้เสียเปล่า กรณีนี้เกิดขึ้นในฮังการี กรีซ ฝรั่งเศส ฯลฯ หรือการเปิดกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งในหนังสืออาจารย์ประจักษ์เล่มนี้ก็ได้เขียนถึง เช่น ในแอฟริกาใต้ ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ไว้เช่นกันว่าเป็นการใช้การนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด เพื่อแลกกับการให้ผู้กระทำผิดออกมาพูดความจริง อีกมาตรการคือ“ล้างคราบไคลของระบอบเผด็จการ” (purification) เช่น ตอนนาซีแพ้สงคราม
ขั้นตอนที่ 4“รัฐธรรมนูญของประชาธิปไตย” อยู่ในช่วงที่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นแล้ว อาจจะมาด้วยการทำประชามติเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น มีการเลือกตั้ง พร้อมกับการตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาปกครองประเทศ
ขั้นตอนที่ 5 “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยถูกทดสอบท้าทาย” รัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะเริ่มถูกทดสอบและท้าทาย และที่มักเกิดขึ้นบ่อย คือพลังของระบอบเก่ายังมีชีวิตอยู่และยังไม่ตาย จึงพยายามที่จะตอบโต้ หรือทำการก่อการร้าย ซึ่งหากเปลี่ยนในรูปแบบ กวาดล้มโต๊ะ หรือ “Tabula Rasa” เช่น การปฏิวัติในโปรตุเกสเมื่อปี 1974 (carnation revolution) ที่ทหารเข้ามาเปลี่ยนแปลงและกุมอำนาจชั่วคราวและต้องการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ จำเป็นต้องเปลี่ยนให้ทหารออกไปจากการเมือง จะเห็นได้ว่าระบอบเก่าไม่สามารถท้าทายได้ แต่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทหารซึ่งร่วมเปลี่ยนแปลงมาด้วยต้องการพารัฐไปถึงความเป็นสังคมนิยม ขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองพลเรือนต้องการเดินไปในแนวทางเสรีประชาธิปไตยมากกว่า ในลักษณะเช่นนี้จึงเกิดความขัดแย้ง พรรคการเมืองจึงร่วมมือกันเปลี่ยนอีกครั้ง โดยในช่วงแรกตัวบทรัฐธรรมนูญได้ตราให้มีสภาปฏิวัติทำหน้าที่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็ยอมลงนามเพื่อยอมกลุ่มกองทัพที่ร่วมมือกันไปก่อน เพราะถ้าหากไม่มีการเลือกตั้งแล้วพิมพ์เขียวที่วางไว้ก็พัง แต่เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาในภายหลัง พรรคการเมืองจึงสามารถเข้าไปแก้ตัวบทเดิมเพื่อวางแนวทางให้ทหารออกไปจากการเมือง กรณีของไทยก็เคยเผชิญกับสถานการณ์ที่กล่าวมา เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ในปี 2475 ในปี 2476 มีความจำเป็นต้องใช้ทหารป้องกันการโต้ปฏิวัติของกบฏบวรเดช อีกปัญหาหนึ่งที่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องเผชิญคือความขัดแย้งภายในระบอบประชาธิปไตยเอง เช่น ความกังวลใจว่าระบอบใหม่มีลักษณะที่ถอนรากถอนโคนมากเกินไป เช่น อียิปต์ ในกรณีล้มกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (The Muslim Brotherhood) แล้วประเทศก็กลับไปที่ระบอบเผด็จการเช่นเดิม
ขั้นตอนที่ 6 “รัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง” ในช่วงนี้รัฐธรรมนูญมีการตกผลึก มีเสถียรภาพ สามารถเอาชนะฝ่ายเผด็จการได้อย่างเด็ดขาด สามารถแก้ไขความขัดแย้งด้วยระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ และมีการตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญแบบใหม่เกิดจากการประนีประนอมกันเองระหว่างทหารและพลเรือนเพื่อโค่นล้มระบอบเก่า เช่น โปรตุเกส มีการรัฐประหารซ้อนแต่ไม่สำเร็จเมื่อทหารต้องการเป็นคอมมิวนิสต์ ในรัฐธรรมนูญปี 1986 จึงได้แก้ไขให้รัฐธรรมนูญเข้ารูปแบบเสรีประชาธิปไตยมากกว่าเดิม หลังจากที่ช่วงแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่ประนีประนอม หรือกรณีสเปน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบไม่ล้มโต๊ะ แต่กษัตริย์ฮวน คาลอส ก็ยังช่วยนำการเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้ ทว่าในปัจจุบันถูกท้าทายอีกครั้งด้วยการที่สถาบันกษัตริย์ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินฟุ่มเฟือย ตามมาด้วยการที่คะแนนนิยมตกต่ำ จึงมีการสละราชสมบัติให้กับเจ้าชายฟลิปเป้แทน ประกอบกับกษัตริย์องค์ใหม่ก็ทรงมีวิสัยทัศน์มากกว่าเดิม โดยให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายของสำนักพระราชวังได้เพื่อความโปร่งใส ทำให้ยังรักษารูปแบบรัฐธรรมนูญเช่นเดิมได้ ขณะที่กรีซ ใช้การเปลี่ยนแบบกวาดล้มโต๊ะ (Tabula Rasa) ด้วยการประกาศโมฆะการกระทำของทหารทิ้งหมด
ในแอฟริกาใต้เป็นตัวแบบของการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อประธานาธิบดี เดอ เคลิก กับ เนลสัน แมนดาล่าตกลงประนีประนอมกันว่าจะไม่เอาผิดรัฐบาลคนขาว ขณะที่ลาตินอเมริกา ในอาร์เจนติน่า กรณีแม่ของเหยื่อที่เสียชีวิตในช่วงเผด็จการปีโนเชต์ ได้เรียกร้องให้มีการเอาผิดกับทหารต่อศาลรัฐธรรมนูญอาร์เจนติน่า และมีการฟ้องคดีกันใหม่แต่ต้องใช้เวลาหลายปี แม้ว่าเผด็จการอายุมากแล้วแต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ได้คือการพิสูจน์ความจริง ในกรณีตูนีเซีย หนึ่งในประเทศกลุ่มอาหรับสปริง เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี พวกเขาได้รัฐบาลที่เป็นกลุ่มสายกลาง ต่างจากประเทศอาหรับสปริงอื่นๆ แต่ก็ถูกท้าทายด้วยวิธีอื่นเช่นกันคือ การก่อการร้าย ตูนีเซียจึงอยู่ขั้นตอนที่ 5 ที่กำลังจะเข้าสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ขณะที่กัมพูชา ซึ่งเปลี่ยนผ่านกโดยการถูกกดดันจากภายนอก โดยประเทศไทยได้เข้าไปช่วยจัดการ ก็พบว่าในปัจจุบันได้ถูกท้าทายจากปัญหาทางการเมืองภายใน และถ้าหากมีการปรับปรุงให้เปลี่ยนรัฐบาลได้ด้วยการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ก็จะสามารถเข้าสู่ขั้นที่ 6 ได้
ปิยบุตรเสนอว่า หากพิจารณา 6 ขั้นตอนที่กล่าวมา ก็สามารถคิดกลับไปได้เช่นกันว่า รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยก็สามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญไปเป็นเผด็จการได้ ดังจะพบได้จากกรณีของไทย เมื่อมีความพยายามเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งในทัศนะของปิยบุตรมองว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้มือของปรีดี พนมยงค์ เพื่อที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 6 ให้ได้ หลังจากประนีประนอมกับฝ่ายเจ้าในรัฐธรรมนูญเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 แต่หนทางดังกล่าวต้องหยุดลงเมื่อการรัฐประหารในปี 2490 ได้มาถึง ทำให้ไทยต้องย้อนกลับไปใหม่ ตามขั้นตอน มาจนถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ท้าทายเผด็จการใหม่อีกครั้ง และมาเปลี่ยนไม่ผ่านในปี 2519 ซึ่งมีลักษณะหมุนกลับไปกลับมา และตามมาด้วยรัฐประหารอีกหลายครั้ง ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆอยู่ในขั้นตอนใด ในความเห็นปิยบุตรแล้วเขาเสนอว่า วิธีดูว่าลักษณะรัฐธรรมนูญสะท้อนขั้นตอนอะไร สามารถพิจารณาจากตัวบทในรัฐธรรมนูญ ว่าหน้าตาเป็นแบบใด ซึ่งหากพิจารณาในปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และ ร่างฯรัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ก็ถือว่ายังเปลี่ยนไม่ผ่าน และที่กำลังเกิดขึ้นอาจจะเปลี่ยนจากประชาธิปไตยน้อยไปเป็นน้อยมาก หรือเป็นระบอบผสมกับเผด็จการ (hybrid regimes) ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตอะไรบางอย่างถึงจะเปลี่ยนผ่านไปอีก
ปิยบุตรทิ้งท้ายว่า “วงจรอุบาทว์” (Vicious circle) มันก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ได้เป็นตามรูปแบบเดิมเสมอไป ตัวอย่างที่ยกมาพิจารณาได้คือ การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารภายหลังการยึดอำนาจ ซึ่งตามมาพร้อมๆกับการรับรองการกระทำของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ในความเป็นจริงลักษณะเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นและมีพัฒนาการ ซึ่งในอดีตใช้เนติบริกรมักใช้ในรูปของพระราชบัญญัติ บางคนบอกว่าเกิดตั้งแต่สมัยใหม่คณะราษฎร ขณะที่การตราตัวบทนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2549 และรับรองคำสั่งของ คปค. (ชื่อคณะรัฐประหารเวลานั้น) และในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ตามไปรับรองรัฐธรรมชั่วคราวนั้นเช่นกัน รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ทำเช่นนั้นรวมถึงร่างฯรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดนี้ด้วย สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองหากแต่เกิดมาจากการท้าทายบางอย่าง ในปี 2515 มีนวัตกรรมใหม่ พัฒนาจากที่ตราเป็นพระราชบัญญัติมาเป็นเขียนในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย วิษณุ เครืองาม ท่านเขียนว่าคณะรัฐประหารในปี 2514 ถูกคุณอุทัย พิมพ์ใจชนและพวกได้ฟ้องศาลผู้ทำรัฐประหาร แต่ศาลยังไม่ได้ดำเนินคดี จอมพลถนอมจึงนำมาตรา 17 ไปจับ 3 คน คณะรัฐประหารจึงกังวลใจ ในยุคหลังเลยใส่การนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยเพื่อรับรองว่าที่ทำมาชอบด้วยกฎหมาย (2519,2520,2534,2549,2557) ต่อมาแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ตามไปรับด้วย (2550,2558) ไม่เพียงเท่านั้น นักยกร่างฯยังเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะที่รับรองการกระทำของคณะรัฐประหารไว้ในทุกมิติ ดังที่เห็นได้ในร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 รวมไปถึงรัฐธรรมนูญถาวรฉบับซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรับรองการกระทำของคสช.ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตว่าชอบด้วยกฎหมาย เราจึงพบว่าเผด็จการมีพัฒนาการด้วยเช่นเดียวกันในบ้านเมืองอื่นไม่ได้ป้องกันตัวเองขนาดนี้ หากเขียนมากที่สุดก็แค่ “ห้ามฟ้องคดี” มีเฉพาะในไทยที่กล้าเขียน และรับรองการกระทำในอนาคตด้วย
“ถ้าของที่ชอบอยู่แล้ว เราจะมาเขียนให้ชอบได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเผด็จการไทยไปไกลกว่าประเทศอื่น สำหรับผู้ที่สนใจลองเอามาศึกษากันดู หากเราพิจาณานักกฎหมายจะเห็นว่าเวลาศึกษาเขาไม่แยกรัฐประหาร การปฏิวัติ คือมองว่าอะไรก็ตามทำลายรัฐธรรมนูญถือเป็นปฏิวัติหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สนใจศึกษาจากแนวทาง “ปฏิฐานนิยม” (positivism) มักจะไม่แยกรูปแบบการยึดอำนาจและความเป็นประชาธิปไตยว่าคืออะไร แต่หากอะไรทำลายรัฐธรรมนูญได้ถือว่าเป็นการปฏิวัติทั้ง ถ้าปฏิวัติในทางรัฐศาสตร์คือการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่านักกฎหมายมักจะบอกว่านี่คือ ‘อัตวิสัย’”

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
ชัยวัฒน์เริ่มต้นด้วยการชวนให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาตั้งคำถาม ในเวลาที่คิดถึงประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านว่า “รูปร่าง (shape) ของการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร ?” ไม่ใช่คำถามว่า “เปลี่ยนผ่านแล้วเป็นอะไร ?” “หากพิจารณาจากที่อาจารย์ปิยบุตรไล่ขั้นตอนให้เห็นรูปร่างของการเปลี่ยนผ่านจากแบบหนึ่งสู่แบบหนึ่ง จะพบว่าลักษณะดังกล่าวอาจจะอธิบายบางที่ได้ อธิบายในบางที่อาจจะไม่ได้ เพราะมันมีหลายรูปร่าง อาจจะเป็นเส้นตรง เส้นตกลงก็ได้ วงกลมก็ได้ ของเราอาจจะเป็นวงกลม สำหรับหลายท่านที่ไม่แน่ใจในปรัชญากรีก วงกลมเป็นภาพที่สมบูรณ์”
ประเด็นที่สอง ความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยมันมีหลากหลายมาก ประมาณกลางศตวรรษที่แล้ว มีนักวิชาการชาวสวีเดนคนหนึ่งนั่งนับนิยามประชาธิปไตยได้ 311 นิยาม เพราะฉะนั้นเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยว่าคืออะไร ไม่นับที่อาจารย์ประจักษ์ใช้คำว่า “ประชาธิปไตยที่มีคุณศัพท์” รวมทั้ง ฟารีด ซักคาเรีย (Fareed Zakaria) ที่ใช้คำว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่เป็นเสรี” (illiberal democracy) หรือที่ชัยวัฒน์เองเคยใช้ว่า “ประชาธิปไตยอำนาจนิยม”
ประเด็นที่สาม ประชาธิปไตยกับความรุนแรงเกิดขึ้นได้ไหม มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าประชาธิปไตยก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของความรุนแรงเหมือนกัน โดยเกี่ยวพันกับรายได้ของประเทศ และมักเกิดขึ้นในประเทศรายได้ประชาชาติ (gross national income) ต่ำกว่า 2,700 ดอลล่าร์ ซึ่งรายได้ประชาชาติต่ำอาจจะเปลี่ยนเป็นระบอบอำนาจนิยมได้ ยกตัวอย่างเช่น พม่า ประเด็นถัดมาคือมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาความขัดแย้งและความรุนแรงเปรียบเทียบประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยแบ่งความขัดแย้งออกเป็น 3 กลุ่มปัญหา ได้แก่ ปัญหาว่าใครจะครองอำนาจรัฐ ปัญหาเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ ปัญหาเรื่องชายแดน และพบว่าทุกประเทศมีสถานการณ์ดีขึ้น เช่น ปัญหาในหมู่เกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางประเทศมีปัญหาทางทะเลก็สามารถตกลงกันได้บ้าง พบว่ามีเพียงประเทศเดียวที่ไม่เคยมีปัญหาเลยแต่แล้วกลับมีปัญหาครบสามแบบอยู่ด้วยกัน (ชัยวัฒน์ให้ผู้ฟังทายว่าคือประเทศอะไร ผู้ฟังตอบว่าประเทศไทย) คำถามถัดมาคือเปลี่ยนได้อย่างไร พบว่าไทยที่เคยเป็นปึกแผ่นแต่กลับแย่ลง เวลาเอามาวางไว้ในบริบทที่พบคือ ประเทศจำนวนหนึ่งเป็นประชาธิปไตยไม่แข็งแรง มีความขัดแย้งและความรุนแรง เหตุผลที่ค้นพบคือ หนึ่งขาดระบอบการปกครองที่อยู่ตัว และสองกองกำลังทหารและตำรวจที่มีวินัย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสถาบันทางการเมืองต้องเข้มแข็งและสถาบันที่ใช้กำลังต้องถูกควบคุม เงื่อนไข 2 ประการนี้จะทำให้หลายประเทศประชาธิปไตยค่อนข้างจะมั่นคง เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และประเทศลาตินอเมริกาจำนวนมากอย่างอาร์เจนติน่า
นอกจากนี้ชัยวัฒน์ได้เพิ่มเติมข้อมูลเรื่อง กลุ่มแม่ที่เรียกร้องเอาผิดรัฐบาลเผด็จการในอาร์เจนติน่าว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มแม่ที่มาเดินร่วมตัวจุดเทียนที่ จัตุรัสมาโย (Plaza De Mayo) พวกเธอทำแบบนี้อยู่เป็นปีๆ ไม่มีใครสนใจ จนเมื่อวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยน หนังสือพิมพ์ไปทำข่าว ตอนอาร์เจนติน่าไปเตะบอลโลก ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นสัมพันธ์กับการเปลี่ยนระบอบ อาร์เจนติน่าได้กลายเป็นตัวแบบที่น่าสนใจคือมันมีการเปลี่ยนผ่านระบอบ และน่าจะเป็นตัวอย่างในเรื่องกระบวนการปรองดองอีกด้วย
ประเด็นถัดมา ชัยวัฒน์เสนอว่า “ปัญหาในสังคมไทยตอนนี้เป็นอาการของความขัดแย้งยืดเยื้อ ตัวความขัดแย้ง เมื่อเวลายืดเยื้อยาวนานมันจะยืดความสามารถในการจัดการความขัดแย้งให้เหนื่อยอ่อนลงไปด้วย” ผลก็คือ ทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆในสังคมเสื่อมทรามลง และหนีไม่ออกต้องอยู่กับอะไรที่เราไม่ชอบ สิ่งนี้เป็นอันตรายและน่าเป็นห่วงกับสังคมไทยปัจจุบัน คำถามที่ตามมาคือ ทำไมประชาธิปไตยถึงสำคัญ ข้อสังเกตของเขาคือ ประชาธิปไตยมีอุดมคติ 4 เรื่อง (จากหนังสือเรื่อง เสรีนิยมกับประชาธิปไตย เขียนโดย นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ แปลโดยเกษียร เตชะพีระ สำนักพิมพ์คบไฟ, 2558) ประกอบไปด้วย 1.ความทนกันได้ (toleration) มีความสำคัญเพื่อเอาไว้ต่อสู้กับการใช้ครอบงำความจริงจากระบอบ 2. การเห็นความสำคัญของสันติวิธี การแก้ไขปัญหาการครองอำนาจรัฐซึ่งระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาดังกล่าว พอแก้ปัญหาได้ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านกระบวนการของประชาธิปไตยเรื่องก็จบ ซึ่งต้องทำให้ฝ่ายตรงข้ามบนเวทีทางการเมืองไม่ใช่ศัตรู แล้วเปลี่ยนมามองการต่อสู้ในพรรคการเมืองในฐานะคู่แข่ง เช่น เราจะมองฝ่ายที่เราจะสู้ด้วยในฐานะใด ซึ่งการเมืองไม่ใช่การจบเกมส์แต่เป็นการเล่นเกมส์ในกฎกติกาลักษณะหนึ่ง ในแง่นี้วิธีการของการใช้ความรุนแรงของทหารมันจึงสัมพันธ์กับการมีชีวิต ต้องทำให้ชีวิตของผมในเกมส์มีความหมาย ถ้าไม่มีเขาก็ไม่มีผมในฐานะผู้เล่นเช่นกัน
ประเด็นที่ 3 ระบอบประชาธิปไตยมีข้อดีอีกข้อ คือทำให้สังคมเปลี่ยนแล้วฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ ความรู้สึกมันอาจจะอ่อนแอ อ่อนใจ แต่มันก็สามารถกลับมาเปลี่ยนแปลงได้ และทำให้สังคมเปลี่ยนไปในความหมายนี้
ประเด็นที่ 4 มีความเห็นว่าคนที่อยู่ในสังคมเป็นพี่เป็นน้องกัน ในอุดมการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสจะมีคำว่า “ภราดรภาพ” การสร้างภราดรภาพมีคำถามสำคัญอยู่ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ? และเราจะสร้างสังคมการเมืองที่ดีได้อย่างไร และอะไรดีหรือไม่ดี ในบทสนทนาของเพลโต เรื่องพีทาโกรัส จะพบประเด็นการถกเถียงที่ไม่ได้มุ่งไปสู่สังคมการเมืองที่ดีคือการไปสู่ประชาธิปไตย ชัยวัฒน์อธิบายว่าดีเบตนี้มีนาน เมื่อโสเครติสสนทนากับพีทากอรัส (ซึ่งเป็นโซฟิสต์หมายถึงคนที่ขายความรู้ เชื่อว่าความรู้นั้นขายได้) โสเครตีสถามเขาว่า “เป็นไปได้ยังไงที่การปกครองจะเป็นเรื่องของช่างฝีมือ เรื่องของชาวประมง ฯลฯ นี่เป็นเรื่องของการปกครอง” พีทาโกรัสใช้เทพเจ้าตอบโสคราตีส ว่า “สิ่งที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์คือความสามารถในการรู้ว่าอะไรเป็นความยุติธรรม” ในแง่นี้แปลว่ามนุษย์รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี มนุษย์จึงสามารถใช้ความสามารถในการตัดสินชะตาชีวิตของตัวเองได้ ตั้งคำถามได้ว่าเราจะปกครองชีวิตของเราได้หรือไม่ ชัยวัฒน์สรุปว่า “ผมสงสัยว่าปัญหาในอนาคตคนอาจจะตอบปัญหานี้ไม่ได้ อาจจะมากขึ้นไม่ได้ลดลง ปัญหาในเชิงเทคนิคอาจจะมากขึ้นจนคนทั่วไปตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยคืออะไร มันคือการเคลื่อนไหวของจินตนาการ หาทางออกว่าชีวิตจะเดินไปทางไหน ไม่ว่าจะเคลื่อนหรือเปลี่ยนไปอย่างใด เส้นทางที่เราไปข้างหน้าอาจจะไม่ทรมานอีกต่อไป เพราะผมคิดว่าเราทรมานมานานพอแล้ว”

ประจักษ์ ก้องกีรติ
เริ่มต้นด้วยการขอบคุณสำนักพิมพ์ และขอบคุณคณะเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เรามีห้องในงานเสวนา เพราะปัจจุบันการมีห้องเสวนามีความหมายมาก วันนี้จะพูดหลักๆ 2-3 อย่าง
เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเป็นบทความที่เขียนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา บางชิ้นเขียนมาก่อน 2549ส่วนสองบทความล่าสุดคือที่พูดไว้ในงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์เมื่อวันที่24เดือนมิถุนายน2557และบทวิเคราะห์การเลือกตั้งที่มันล้มเหลวไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2557 ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่รุนแรงมาก เพราะเป็นการสะท้อนถึง การที่คนที่มีฐานะการศึกษาสูงแสดงจุดยืนถึงขั้นที่ปฏิเสธประชาธิปไตย น่าสนใจว่า บทความชิ้นแรกได้เขียนขึ้นก่อนที่จะเกิดขึ้นรัฐประหาร ผมมักจะบอกกับนักศึกษาว่า ไม่รู้ว่าคุณโชคดีหรือโชคร้าย เพราะนักศึกษารุ่นปัจจุบันต้องเห็นรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และเมื่อถามนักศึกษาว่าคาดหวังจะเห็นรัฐประหารอีกหรือไม่ในอนาคต ทุกคนในห้องเรียนตอบว่า ต้องได้เห็นรัฐประหารอีก ประชาธิปไตยไทยจึงเหมือนชิงช้าสวรรค์ ไม่ต่างอะไรกับกระเช้าที่ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ พอถึงจุดที่สูงสุดก็ย้อนกลับลงมาใหม่
นักรัฐศาสตร์มักมีแนวคิดแนวหนึ่งที่ศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย democratization” หรือ “การพัฒนาประชาธิปไตย” แนวคิดดังกล่าวมองการพัฒนาประชาธิปไตยว่าเป็นเส้นตรง โดยเริ่มจากจุดที่มีคนกลุ่มน้อยเป็นผู้ปกครอง และเมื่อเวลาผ่านไป สังคมจะก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย จะเคลื่อนตัวสู่ระบอบประชาธิปไตย แนวทางการศึกษาจึงเริ่มจากการค้นหาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย นำไปสู่การสร้างสูตรสำเร็จ และนำมาใช้กับโลกในความเป็นจริง อย่างไรก็ดี หนทางไปสู่จุดหมายนั้นมันไม่ได้เป็นเส้นตรง ในหลายประเทศทั่วโลก บางประเทศไม่เคยได้ลิ้มรสระบอบการปกครองประชาธิปไตยเลยด้วยซ้ำ บางครั้งมีการเลี้ยววกกลับมา ดังเช่นความเห็นคุณ ฮิวโก้ที่ว่า เมื่อสังคมไทยดำเนินไปเจอวิกฤต เราจะเลี้ยวขวาตลอด จนสุดท้ายวกกลับมาที่เดิม ดังนั้น ถนนประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงไม่เป็นเส้นตรงหากแต่เป็นวงเวียน ด้วยเหตุนี้ แทนการถามว่าเราจะเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร คำถามที่ควรตั้งคือ “ทำไมสังคมเผด็จการอำนาจนิยมจึงอยู่ได้อย่างมีอำนาจยืนยง” ทำไมระบอบเผด็จการถึงปรับตัวและครองอำนาจยาวนาน (persistence of authoritarianism) ในสังคมไทยอาจจะต้องตั้งคำถามแบบนี้บ้าง ในหลักสูตรการเรียนการสอน เราอาจจะต้องมีวิชาเผด็จการศึกษา ที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับระบอบเผด็จการว่ามันทำงานอย่างไร อันที่จริง การทำรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย การทำรัฐประหารต้องมีองค์ความรู้ เช่นในฟิลิปปินส์ ทหารพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลว มีครั้งหนึ่งไปยึดห้างสรรพสินค้า ซึ่งถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างง่ายดาย กรณีข้างต้นสะท้อนการไม่มีองค์ความรู้เรื่องการทำรัฐประหาร ตอนผมไปฟิลิปปินส์ปีที่แล้ว พอพูดเสร็จมีตัวแทนหรือผู้วิจัยในกองทัพเรือ อยากจะเชิญผมให้ความรู้เรื่องการทำรัฐประหาร
เวลาที่เราพูดถึงประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ผมคิดว่าเราพูดกันบนฐานข้อเท็จจริงค่อนข้างน้อย กล่าวคือ เราขาดมุมมองเชิงเปรียบเทียบ เชิงประวัติศาสตร์ เรามักจะทึกทักว่าไทยมีระบอบปกครองแบบนี้ๆขึ้นอย่างลอยๆ และพูดถึงประเทศอื่นโดยมองข้ามพลวัต ดังนั้นเราจึงนำทางออกของประเทศอื่นมาใช้แบบง่ายๆ เช่น ตอนนี้เรากำลังเอาเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ซึ่งเป็นการมองสิ่งต่างๆแบบตัดตอน คือ มองว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก หรือมองว่าปัญหาที่สังคมไทยเผชิญไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น
วิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มักถูกมองว่าสังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง เศรษฐกิจและ สังคมการเมือง อย่างไรก็ดีผมคิดว่าวิกฤตที่สำคัญที่สุดคือ วิกฤตทางความคิด โดยเฉพาะในหมู่ผู้มีการศึกษาจำนวนมากที่มีมายาคติเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทย
ประชาธิปไตยมักจะถูกทำให้เป็นเรื่องเลวร้าย ประชาธิปไตยกลายเป็นผู้ร้าย เป็นระบอบการปกครองที่ชั่วร้ายมาก แน่นอน ประชาธิปไตยมีข้อบกพร่อง ทั่วโลกก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าว ในประเทศไทย มีคนตั้งคำถามกับประชาธิปไตย มีคนสงสัยระแวดระวัง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีคนตั้งคำถามกับเผด็จการอำนาจนิยมน้อยมาก พูดง่ายๆก็คือ เราใจดีมากกับเผด็จการ และเราใจร้ายมากกับระบอบประชาธิปไตย หากนักปฏิรูป นักวิชาการหันมาตั้งคำถามและตรวจสอบระบอบเผด็จการให้เข้มข้นเท่ากับที่ได้ทำกับระบอบประชาธิปไตย บ้านเมืองเราคงเจริญ ไม่ต้องวนเวียนอยู่แบบนี้ ต้นเหตุของปัญหาข้างต้นอาจจะเป็นเพราะว่าสังคมไทยมีแนวคิดที่เรียกว่า “เผด็จการโดยธรรม” กล่าวคือ มองว่ามีคนกลุ่มน้อยที่มีคุณธรรมและคนกลุ่มมากที่ไม่มีการศึกษา ฉะนั้นปกครองโดยเผด็จการดีกว่า เราปล่อยให้อำนาจตกในมือคนกลุ่มนี้ที่มีสติปัญญา มีศีลธรรมดีกว่าก็พอ ความคิดข้างต้นฝังรากลึกในสังคมไทยมาก ทำให้อำนาจนิยมเผด็จการอยู่ได้ต่อเนื่องยาวนาน อาจมองได้ว่านี่เป็นรากฐานทางความคิดรองรับ มิใช่เพียงแค่โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น
สุดท้ายผมอยากสรุปว่า หนังสือเล่มนี้พยายามจะเสนอมุมมองเชิงเปรียบเทียบเพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกมีวิกฤตประชาธิปไตย และในสังคมอื่น เขาแก้ปัญหามันอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากประเทศอื่นบ้าง แม้กระทั่งในประเทศเยอรมัน อเมริกา ฯลฯ ประชาธิปไตยก็ถูกมองว่าก่อให้เกิด ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน แต่ในประเทศอื่นเขาใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยไปแก้ปัญหาประชาธิปไตย เขาแก้ปัญหาด้วยการทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขามองว่าประชาธิปไตยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาตนเอง ในประวัติศาสตร์โลกก็ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยยืดหยุ่นกว่าระบอบอำนาจนิยมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยากที่นำไปสู่ประชาธิปไตยได้ ทว่า ในสังคมไทยที่ผ่านมา มีนักวิชาการจำนวนมากพยายามอภิปรายชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดี สังคมไทยวนเวียนอยู่กับการใช้วิธีการผิดๆมาแก้ปัญหา ทุกครั้งที่เรามีวิกฤติประชาธิปไตยหรือมีความบกพร่องของประชาธิปไตย เรากลับไปใช้ระบอบอำนาจนิยมไปแก้ปัญหาแทน เราบอกว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงประชาชน พรรคการเมืองเป็นเผด็จการ แต่เราแก้ปัญหาโดยการเอาระบอบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงมาแทนที่ เราอาจจะต้องถามกับตัวเองว่า สุดท้ายแล้วโจทย์ที่เราใฝ่ฝันคืออะไร จริงหรือที่เรามีประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง จริงหรือที่เราอยากทำให้การเมืองโปร่งใส ประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบค้านผู้มีอำนาจไม่ว่าเขาจะมาหรือไม่มาจากการเลือกตั้ง เพราะกลายเป็นว่า ถ้าเรามีผู้นำมาจากการเลือกตั้ง เราตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่ถ้ามีผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เรากลับไม่ได้ตรวจสอบ อาจจะถึงเวลาที่เราต้องทบทวนแล้วว่า ที่เราออกไปสู่ท้องถนนในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราก็ต้องการสิ่งใดกันแน่
สังคมไทยถกเถียงกันเรื่อง“คำ”มากเกินไป จนไม่แน่ใจว่าเราใช้คำว่าประชาธิปไตยในความหมายเดียวกันหรือไม่ ผมเสนอว่า เราต้องไปดูที่เนื้อหาสาระ ไม่ควรถามอีกแล้วว่าตกลงรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะทุกฝ่ายก็อ้างว่าการปกครองของตนเป็นประชาธิปไตย แม้กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ก็อ้างเช่นเดียวกัน แต่เราควรเจาะไปที่รายละเอียดเลยว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่กับระบอบการปกครองที่มีผู้นำคนเดียวมีอำนาจเด็ดขาด ที่สื่อไม่มีเสรีภาพในการทำงาน ในการนำเสนอข่าว ที่ประชาชนไม่สามารถรวมกลุ่มห้าคนในที่สาธารณะ ที่นักวิชาการไม่มีเสรีภาพในการพูดในมหาวิทยาลัยของตนเอง เนื้อหาแบบนี้เอาไหม จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ แต่เผอิญทั่วโลกเขาเรียกระบอบการปกครองแบบนี้ว่า ระบอบเผด็จการ เราจะไม่เรียกก็ได้ แต่ถามว่าคุณเอาระบอบที่มีเนื้อหาสาระนี้ไหม ถ้าบอกว่าเอา เราจะได้ถกเถียงกันรู้เรื่อง มันอาจจะถึงขั้นที่ว่า มีคนทราบดีว่านี่เป็นเผด็จการ แต่ชอบแบบนี้ ชอบผู้นำที่ใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะศรัทธาว่าเขาจะแก้ไขปัญหาได้
ถัดไปผมคิดว่า เพื่อจะออกไปจากวิกฤตประชาธิปไตยในรอบนี้ สังคมไทยต้องการการปฏิรูปอย่างรอบด้าน ทุกสถาบันต้องการปฏิรูป โดยเฉพาะสถาบันที่ใช้อำนาจในทางสาธารณะอย่างมหาศาลอย่างกองทัพ จากข้อมูลทุกประเทศ การปฏิรูปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมีความจำเป็นหากต้องการเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจควบคุมความรุนแรงมีโอกาสที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สูง องค์กรเหล่านี้ต้องถูกควบคุม ปฏิรูปและทำให้เป็นประชาธิปไตยด้วย ขณะนี้เรากำลังอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปหลายองค์กร แต่ไม่มีใครพูดถึงการปฏิรูปกองทัพเลย ดังนั้นกองทัพควรแสดงความจริงใจโดยการปฏิรูปองค์กรตัวเองด้วย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในชิลี บราซิล และอาเจนติน่า เป็นต้น
สุดท้าย ในสภาวะการเมืองปัจจุบัน ผมมองว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ พยายามสถาปนาระบอบที่เรียกว่า controlled democracy ขึ้นมา หรือ “ประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม” กล่าวคือ มีการสร้างผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงมีการใช้อำนาจไม่ต่างจากนักการเมืองทั่วไป แต่ว่า กลุ่มองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวถูกทำให้ไม่ต้องยึดโยงประชาชน มองได้ว่าเป็นการเมืองแบบสองชั้น ชั้นแรกเป็นส่วนที่ประชาชนเลือกกันมา เช่นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ซึ่งถูกทำให้อ่อนแอ และจะอยู่ภายใต้การกำกับขององค์กรชั้นสอง
ในอดีต มีการอ้างว่า ประชาชนยังไม่มีการศึกษา บัดนี้ ข้ออ้างเรื่องการศึกษามีน้อยลง คุณธรรม จริยธรรมกลายเป็นเกณฑ์ใหม่ในการให้องค์กรที่ไม่มีที่มาจากประชาชนขึ้นมามีอำนาจปกครอง สภาวะเช่นนี้จะเหมือนกับในหลายประเทศ ที่อนุญาตให้มีการแข่งขัน แต่ยกเว้นให้ตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง สร้างองค์กรมาควบคุม ผลที่ตามมาก็คือ ไม่ว่าพรรคไหนชนะเลือกตั้ง จะไม่มีความหมาย เพราะโดน “ควบคุม” จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ เราอาจเรียกได้อีกว่าเป็น partial democracy คือ ประชาธิปไตยแบบ “ส่วนเสี้ยว” ไม่มีประชาธิปไตยถึงครึ่งใบแบบที่ใช้เรียกรัฐธรรมนูญปี2521เสียด้วยซ้ำ
ผมอยากจะจบด้วยมุมมองในแง่ร้าย หลายคนยังเชื่อในการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเส้นตรง มองว่าถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ สังคมจะก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยได้เอง แต่จากบทเรียนในหลายประเทศ หากเราไม่ทำอะไร เราก็ไม่ได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ยิ่งไปกว่านั้น การกลับสู่ประชาธิปไตยคราวนี้ยากกว่าปกติ เพราะทุกส่วนของสังคมไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้เลยว่าระบอบการเมืองที่ดีคืออะไร แม้แต่ในภาคประชาชนด้วยกันเอง วิกฤตครั้งนี้จึงแตกต่างจากเมื่อครั้ง 14 ตุลา หรือ พฤษภา 35 เพราะอย่างน้อยมีสองกรณีข้างต้นก็มีฉันทามติเรื่องการปฏิเสธระบอบแบบอำนาจนิยม ต้องการจะกลับสู่การปกครองแบบรัฐสภา ต้องการมีสิทธิเสรีภาพ ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างฉันทามติใหม่ขึ้นได้ เราก็เปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และต้องทนอยู่กับระบอบที่เป็นอยู่ต่อไป อีกนัยหนึ่ง เรายอมอยู่ภายใต้ระบอบนี้ เพียงเพราะสังคมไทยยังไม่สามารถ ตกลงกันได้ว่าระบอบการปกครองแบบใหม่ที่มันเป็นประชาธิปไตยที่ดีจะเป็นอย่างไร

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยขอให้ กสท. ทบทวนมติถอนใบอนุญาติพีซ ทีวี


อุปนายกฝ่ายสิทธิ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอให้บอร์ด กสท. ทบทวนมติถอนใบอนุญาต สถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี โดยเห็นว่าลงโทษหนักเกินไป ควรยึดขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ให้ชัด มิเช่นนั้นจะถูกตั้งคำถามเรื่องเลือกปฏิบัติ และขอให้ พีซ ทีวี ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบด้วย
29 เม.ย. 2558 - ในเพจของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิและเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ ทบทวนมติสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ พีซ ทีวี (PEACE TV) เพราะน่าจะเป็นการใช้อำนาจที่ผิดขั้นตอน เพราะแม้การออกอากาศของพีซ ทีวี จะมีปัญหามาหลายครั้ง และถูกทาง กสท. มีขั้นตอนลงโทษมาโดยตลอด แต่ในกระบวนการลงโทษยังมีมาตรา 37 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2550 ของ กสทช. ดังนั้น ทาง กสท. ควรจะยึดการดำเนินการตามขั้นตอนให้ชัด มิฉะนั้น ทาง กสท. เองจะโดนตั้งคำถามว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่
“ส่วนสถานีโทรทัศน์ พีซ ทีวี(PEACE TV) เองก็ต้องตระหนักว่า แม้สื่อจะมีเสรีภาพแต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อเสรีภาพที่แสดงออกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังต้องการความเข้าใจที่จะนำไปสู่การปฏิรูป และปรองดอง”

'ซาบีน มาห์มูด์' นักกิจกรรมปากีสถานถูกยิงเสียชีวิตหลังพยายามจัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน


นักกิจกรรมผู้เปิดพื้นที่เสรีด้านการถกเถียงในปากีสถาน ซาบีน มาห์มูด์ ถูกยิงเสียชีวิตหลังจากที่ถูกสั่งยกเลิกกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นในพื้นที่บาโลชิสถาน ที่มีกรณีคนหายและถูกทารุณกรรมจำนวนมาก ท่ามกลางการแสดงความเสียใจของสื่อและนักกิจกรรมที่ยกย่องความกล้าหาญของเธอ

28 เม.ย. 2558 ซาบีน มาห์มูด์ นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงในปากีสถานถูกยิงเสียชีวิตเมื่อช่วงเย็นวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังจากเธอออกจากที่จัดงานกิจกรรมชื่อ "อย่าให้บาโลชิสถานเงียบเสียง" โดยมารดาของเธอยังได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสจากการถูกยิงด้วย
งานกิจกรรมดังกล่าวเป็นความต้องการพูดถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดบาโลชิสถานทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน รวมถึงการให้ข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ ความซับซ้อนของสถานการณ์ และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในบาโลชิสถาน งานนี้มีแผนจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการจัดการทางวิทยาศาสตร์ลาฮอร์ (LUMS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน
ซาบีน มาห์มูด์เป็นผู้จัดงานนี้โดยเชิญนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คนคือ มามา คาเดียร์ และฟาร์ซานา มาจีด ผู้ทำงานสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในเรื่องกรณี "คนหาย" ในบาโลชิสถาน ซึ่งทั้งสองคนนี้มักจะถูกกล่าวหาใส่ร้ายผ่านโซเชียลมีเดียว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" หรือเป็น "ผู้ทรยศชาติ" อย่างไรก็ตามงานกิจกรรม "อย่าให้บาโลชิสถานเงียบเสียง" ถูกยกเลิก โดยผู้ร่วมงานเพิ่งได้รับแจ้งก่อนการเข้างาน ทางคณะของมหาวิทยาลัยอ้างว่าที่พวกเขายกเลิกงานนี้เนื่องจากพวกเขาได้รับคำขู่จากหน่วยงานสืบราชการลับไอเอสไอ (ISI) ของทางการปากีสถาน
บาโลชิสถานเป็นพื้นที่ๆ มีประชากรอยู่น้อยที่สุดและยากจนที่สุดในปากีสถาน มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ปี 2490 มีการจัดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนสาธารณะในเรื่องการสู้รบในบาโลชิสถานน้อยมาก อีกทั้งยังมีการรายงานข่าวในพื้นที่น้อยมากเช่นกัน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปากีสถานเปิดเผยว่านับตั้งแต่ปี 2553 มีการค้นพบศพของบุคคลที่สูญหายในบาโลชิสถานหลายร้อยคนซึ่งมีร่องรอยการถูกทารุณกรรม ในปี 2556 มีการพบศพ 116 ราย ซึ่งครอบครัวของเหยื่อ 87 ศพกล่าวหาว่าหน่วยงานความมั่นคงของรัฐปากีสถานเป็นผู้ลักพาตัวพวกเขา
กรณีการสังหารมาห์มูด์มีผู้ตั้งสมมติฐานไปในหลายแนวทาง โดยนักสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากการข่มขู่จากหน่วยงาน ISI ของรัฐ ขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนมองว่าอาจจะเป็นฝีมือของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนบีแอลเอ (BLA) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแบ่งแยกบาโลชิสถานจากปากีสถาน มีการตั้งสมมติฐานว่าพวกเขาทำไปเพื่อใส่ร้ายรัฐบาลปากีสถาน
ซาบีน มาห์มูด์ เป็นนักกิจกรรมจากกลุ่ม 'เดอะเซคันด์ฟลอร์' หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ T2F ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการเปิดพื้นที่ในชุมชนให้มีการเสวนาอย่างเปิดกว้างเพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเมืองใหญๆ อย่างการาจีของปากีสถาน เว็บไซต์ของ T2F ระบุว่าองค์กรนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 มีการจัดกิจกรรมหลายร้อยกิจกรรมตั้งแต่การจัดอ่านบทกวี การฉายภาพยนตร์ การอภิปรายในประเด็นสำคัญ ซึ่งกิจกรรมของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากศิลปิน นักดนตรี นักเขียน ผู้ทำภาพยนตร์ นักวิทยาศาสตร์ นักแสดงตลก ผู้นำทางความคิด และผู้ชมที่มีส่วนร่วม
"T2F มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเมืองการาจี และเป็นผู้จัดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการอภิปรายถกเถียงในเชิงทางเลือกที่เป็นอิสระ" T2F ระบุในเว็บไซต์
มีสื่อและนักกิจกรรมแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียในครั้งนี้ เว็บไซต์ข่าว Wired โพสต์ในทวิตเตอร์ของตนแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของมาห์มูด์ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานแฮ็กกาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นงานรวมกลุ่มของนักพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์และไอที ขณะที่วาจาฮัต อาลี นักข่าวปากีสถาน-อเมริกัน โพสต์ไว้อาลัยในเฟซบุ๊กของตนระบุว่ามาห์มูด์เป็นนักวิจารณ์ผู้ที่มีความกล้าหาญ เป็นผู้ที่พยายามจัดหาพื้นที่แสดงออกที่ปลอดภัยให้กับสังคมและรักในความแตกต่างหลากหลาย

คณะผู้แทน EU เยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและประเทศสมาชิกในกลุ่มอียู เข้าเยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชมประทับใจในการทำงาน-ชื่นชมในความพยายามปกป้องสิทธิฯ ทนายจากศูนย์ทนายฯ เผยคุยเรื่องการบังคับใช้มาตรา 44



ภาพจากเพจ European Union in Thailand
28 เม.ย.2558 วานนี้ ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยและประเทศสมาชิกในกลุ่มอียู เข้าเยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยเพจทางการของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ระบุว่า มีความประทับใจในการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก และรู้สึกชื่นชมในความพยายามของศูนย์ฯ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า วานนี้ ได้พูดคุยกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ถึงการทำงานของศูนย์ ปัญหาและอุปสรรคที่พบ โดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปฯ ได้สอบถามถึงผลจากการบังคับใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนกฎอัยการศึก ด้วย
เยาวลักษณ์ กล่าวถึงปัญหาสำคัญขณะนี้ว่า ระบบนิติรัฐไม่ได้เป็นไปตามปกติ โดยมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 3, 4, 5 ให้อำนาจทหารเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกือบทุกฉบับ ทั้งนี้ ตั้งคำถามกับการเข้ามามีบทบาทในกลไกต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างกว้างขวางด้วย 
เยาวลักษณ์ชี้ว่า บางกรณียังไม่เห็นคำสั่งแต่งตั้ง แต่ก็เห็นการอ้างใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีจับ อบต. คอร์รัปชันในจังหวัดทางภาคตะวันออก
เธอชี้ว่า อุปสรรคการทำงานของศูนย์ทนายฯ คือการเข้าถึงผู้ต้องหา โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร เวลาไปเรือนจำ เพื่อสอบข้อเท็จจริงหรือพูดคุยกับผู้ต้องหา พวกเขาก็ไม่กล้าให้ข้อมูล ขณะที่ศาลทหารเองก็ออกแนวปฏิบัติใหม่ ให้ทนายพบผู้ต้องหาได้สั้นลง
เยาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า แม้ คสช. จะยกเลิกกฎอัยการศึกและหันมาใช้มาตรา 44 แทน แต่สถานการณ์ของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เปลี่ยน และยิ่งเห็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารที่มากขึ้น
"ตอนกฎอัยการศึก 7 วัน ทนายไม่ได้พบผู้ต้องหา พอใช้คำสั่งที่ 3 ทนายก็ไม่ได้พบผู้ต้องหาเหมือนกัน เราเข้าถึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ยากขึ้น ผู้ต้องหาก็เข้าถึงความยุติธรรมได้ยากขึ้น ทั้งไม่มีการเปิดเผยสถานที่คุมขัง ไม่มีสิทธิพบญาติ และเสี่ยงถูกซ้อมทรมาน"

‘ถวิล’ ให้ปากคำป.ป.ช.ยันไม่มีสลายการชุมนุม53 เพียงกระชับพื้นที่ ‘วิชา’ เผยกำลังพิจารณาคดีเยียวยา


29 เม.ย.2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี นายวิชา มหาคุณ  กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการเข้าให้ถ้อยคำของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ว่า ถือเป็นอำนาจการพิจารณาของที่ประชุมองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป.ป.ช. ส่วนการชี้แจงรายละเอียดตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ช่วงที่มีการสลายการชุมนุม ถือเป็นรายละเอียดการให้ถ้อยคำของนายถวิล ซึ่งป.ป.ช.ต้องเคารพการให้ข้อมูล ทั้งนี้ นายถวิลยังยืนยันในส่วนของพยานหลักฐาน ซึ่งทางป.ป.ช. จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานมีความเพียงพอแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ ได้ยื่นชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังป.ป.ชแล้ว ซึ่งทางองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป.ป.ช.กำลังพิจารณาว่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ จะชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น นายวิชา กล่าวว่า  โดยเบื้องต้นตนยังไม่เห็นเอกสารคำชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นอำนาจขององค์คณะไต่สวนจะพิจารณาและส่งการไต่สวน เมื่อครบกำหนดการให้พยานเข้าชี้แจงข้อมูลในคดีดังกล่าวแล้ว
ส่วนคดีกล่าวหา คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48-พฤษภาคม 53) รอบแรกจำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาทนั้น นายวิชากล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่
"ถวิล" ยัน ไม่มีสลายการชุมนุม′ 53 เป็นเพียงกระชับพื้นที่
ขณะที่วานนี้(28 เม.ย.58) นายถวิล เข้าให้ปากคำต่อ องค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ในฐานะพยานของนายอภิสิทธิ์ ในคดีดังกล่าว และเปิดเผยก่อนเข้าให้ถ้อยคำว่า ป.ป.ช.น่าจะมีการสอบถามถึงการควบคุมสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะมีการตั้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่ามีการใช้กำลังจนทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต
โดยตนก็คงจะมาชี้แจงว่าเราได้ควบคุมสถานการณ์ในช่วงนั้นอย่างไร การชุมนุมในช่วงเวลาดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ
ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ใช้อาวุธ หรือกลุ่มชายชุดดำใช้อาวุธกระทำต่อสถานที่ และเจ้าหน้าที่ในหลายเหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 53 ที่กลุ่มชายชุดดำได้ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งก่อเหตุทั้งในนอกพื้นที่ชุมนุม อาทิ บริเวณแยกราชประสงค์ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง รวมทั้งบริเวณสวนลุมพินี
โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งจุดตรวจรอบพื้นที่ชุมนุม ในมาตรการที่เรียกว่ากระชับวงล้อมและกระชับพื้นที่ และได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่ามีการจู่โจมเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจรอบพื้นที่ชุมนุมโดยชายชุดดำจึงทำให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น
นายถวิลกล่าวอีกว่าเรื่องของการสลายการชุมนุมนั้นในช่วงการควบคุมสถานการณ์ช่วงเมษายน-พฤศจิกายน53 รวมทั้งเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี 52 นั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุม เพราะในปี 52 ไม่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเลย
ส่วนในปี 53 ตั้งแต่ช่วงเดือน มีนาคม 53 จนถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53 ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุม ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการเล่นคำ หรือหลีกเลี่ยงคำว่าสลายการชุมนุม แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆเพราะไม่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ที่ถูกผู้ชุมนุมเรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมมี 2 เหตุการณ์
คือเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 53 บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งเป็นการขอคืนพื้นที่
ส่วนอีกเหตุการณ์ในช่วง วันที่ 11-19 พฤษภาคมนั้น ก็ไม่ได้เป็นการใช้กำลังสลายชุมนุม แต่เป็นการกระชับวงล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้กำลังเข้าไปสลายการชุมนุมแม้แต่ในวันที่ 19  พฤษภาคม ที่มีการยุติสถานการณ์โดยแกนนำประกาศยุติการชุมนุมเอง
หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจลมีการเผาสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯรวม 37 จุด และเผาศาลากลางจังหวัดอีก 4 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่เองก็ยุติสถานการณ์เพียงแค่นั้น ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม
เมื่อถามว่าส่วนที่มีการระบุว่าพบการใช้กระสุนจริงในพื้นที่แยกราชประสงค์นายถวิลกล่าวว่าหลังจากการชุมนุมยุติลงในวันที่20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ชุมนุม ซึ่งก็พบอาวุธในพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ สวนลุมพินี รวมทั้งในวัดปทุมวนาราม  ซึ่งเป็นอาวุธสงครามทั้งM79 ลูกระเบิดเพลิง ระเบิดขว้า
เมื่อถามต่อว่ามองว่าอาวุธที่พบไม่ใช่อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ใช่หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ก็ไม่แน่ เพราะก่อนหน้านั้นวันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้รับการกำชับว่าให้ใช้กระบองและโล่ ห้ามใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมเป็นอันขาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน มีความสูญเสียเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ทหาร อาทิ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล. ร.2 รอ.) และยังมีประชาชนสูญเสียอีกรวม 26 คน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงรู้ว่ามีการใช้อาวุธจากผู้ชุมนุม และในวันดังกล่าวก็เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฏตัวของชายชุดดำ จนมีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธซึ่งก็ต้องใช้ให้เป็นไปตามกฎ 7 ขั้นตอน
เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลอาญาเคยมีคำวินิจฉัยสาเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้ชุมนุมว่าเกิดจากการใช้อาวุธ นายถวิลกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการพิสูจน์การตาย ซึ่งมีหลายกรณี เช่นกรณีนายพัน คำกอง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มี นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ได้มีการพิสูจน์การเสียชีวิตตามที่ศาลมีคำวินิจฉัย และได้มีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต ก็คือข้ามว่ามีคนสั่งถึงมีคนตาย แต่ใครทำให้ตายนั้นไม่รู้ข้ามช่วงกลางไปแล้ว ส่วนช่วงปลายว่ามีคนตายจึงได้ตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลทั้ง 2 ว่าฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกรณีดังกล่าวศาลอาญาก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (1) “หนักกว่า 2550”


“รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะสร้างระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมา คล้ายๆ กับย้อนไปปี พ.ศ. 2492 ที่เป็นการ Counter การอภิวัฒน์ 2475 รัฐธรรมนูญนี้มีทิศทางแบบนั้น แต่หนักกว่าปี 2492 และปี 2550 เข้าไปอีก”

รัฐธรรมนูญที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง จะขาดการแสดงความคิดเห็นจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้อย่างไร ในฐานะนักกฎหมายมหาชนที่มีคนเชื่อถือมากทั้งคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างระบบเลือกตั้งและหลายสิ่งหลายอย่างจากเยอรมัน ซึ่งวรเจตน์จบทั้งปริญญาโทและเอกจากเยอรมันด้วยคะแนนสูงสุด
อะไรคือระบบเลือกตั้งเยอรมัน ที่เขียนมานี้ใช่หรือไม่ อะไรคือ “กล่องดวงใจ” ของระบอบอำนาจใหม่ที่รัฐธรรมนูญจะสร้างขึ้น ฟังความเห็นตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปเรื่องเล็ก แม้การสัมภาษณ์ครั้งนี้อาจมีเวลาไม่มากนัก ไม่ครบถ้วนทุกประเด็น แต่ก็เห็นภาพรวม
บทสัมภาษณ์นี้แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกเป็นการวิจารณ์รายหมวดจนถึงวุฒิสภา ตอนที่สองเริ่มต้นจากคณะรัฐมนตรีจนถึงบทเฉพาะกาล

มองเตสกิเออผิดยุค

รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามที่จะสร้างระบอบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมา คล้ายๆ กับย้อนไปปี พ.ศ. 2492 ที่เป็นการ Counter การอภิวัฒน์ 2475 รัฐธรรมนูญนี้มีทิศทางแบบนั้น แต่หนักกว่าปี 2492 และหนักกว่าปี 2550 เข้าไปอีก เพราะรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งสืบต่อจากรัฐธรรมนูญรัฐประหาร 2490 ยังมีด้านที่เป็นประชาธิปไตยบ้างโดยเฉพาะการแยกข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองออกจากกัน รัฐธรรมนูญ 2550 ยังให้วุฒิสมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเน้นอำนาจขององค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเยอะมาก
ถ้าพูดถึงหลักการพื้นฐาน  เราอาจจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานที่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตยแน่ๆ แม้ว่าจะมีหลักนิติธรรม ในมาตรา 217 ที่พยายามพูดถึงหลักนิติธรรมที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตย ต้องมีหลักการพื้นฐานสำคัญดังต่อไปนี้....ฯลฯ แล้วก็พูดถึงเรื่องซึ่งอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล และพูดเรื่องการแบ่งแยกการใช้อำนาจ
คือผมอยากให้ดูหลักตรงนี้สักนิดก่อน ในเจตนารมณ์มีการพูดถึงมองเตสกิเออ (Montesquieu) ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีคือ การพยายามเอากลุ่มพลังต่างๆ มาไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่หลักคิดของมองเตสกิเออ ไม่ได้เป็นการแบ่งแยกอำนาจบนฐานประชาธิปไตย ตอนที่เขาเสนอหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นการเสนอในช่วงที่ฝรั่งเศสยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพยายามเอาหลักการหลายหลักเข้ามาผสมกัน อย่างเช่น อำนาจนิติบัญญัติ เขาเสนอว่าต้องใช้หลักอภิชนาธิปไตยกับหลักประชาธิปไตยประกอบกัน ในแง่ที่ว่ามีสภาขุนนางเป็นสภาสูง แล้วก็มีสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอำนาจในทางบริหารเขาใช้หลักราชาธิปไตย คือให้กษัตริย์มีอำนาจในการบริหารประเทศ ส่วนอำนาจตุลาการนี่ยังไม่ชัด แต่บอกว่าผู้พิพากษาจะมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ ให้กษัตริย์เป็นคนแต่งตั้ง แต่ให้เป็นอิสระจากกษัตริย์
เราจะเห็นว่าการแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเออ ไม่ได้วางอยู่บนฐานของประชาธิปไตย เพียงแต่พยายามปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส ให้มีลักษณะของการแบ่งแยกอำนาจเกิดขึ้น
พอเราเอามองเตสกิเออมาอ้างในยุคสมัยนี้ สิ่งเดียวที่เราควรจะรับก็คือแนวคิดในเรื่องของการแบ่งแยกอำนาจ ให้มีการคานและดุลอำนาจกัน ไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่งใหญ่กว่าอำนาจอื่น แต่ว่าการแบ่งแยกอำนาจต้องเป็นการแบ่งแยกบนฐานประชาธิปไตย แปลว่าทุกอำนาจรัฐต้องมีความเชื่อมโยงกลับมาหาประชาชนได้ ซึ่งเราเรียกว่า ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ ส่งความชอบธรรมในอำนาจของเขาไปยังองค์กรของรัฐ
ฉะนั้นวิธีการที่เราจะเช็คว่ารัฐธรรมนูญนั้นวางอยู่บนฐานของประชาธิปไตยหรือไม่ คือการเขียนผังขึ้นมา แล้วดูว่าองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐแต่ละหน่วย มีองค์กรใดบ้างที่โยงกลับมาหาประชาชนได้  รัฐธรรมนูญในโลกนี้ที่เป็นประชาธิปไตยต้องอธิบายตรงนี้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้น อย่าไปบอกว่าเป็นประชาธิปไตย
แล้วสิ่งที่เขียนในมาตรา 217 ก็เป็นการเขียนอย่าง “มุสา” ที่บอกว่าหลักนิติธรรมเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจที่แบ่งไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายอำนาจมันไม่ได้ยึดโยงกับประชาขนเลย
“สิ่งที่เห็นคือ วุฒิสภา หน่วยองค์กรอิสระ ที่มีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งนี้องค์กรพวกนี้น่าจะเป็นอนุมูลอิสระมากกว่า ไม่ใช่องค์กรอิสระ มีสภาพเป็นอนุมูลอิสระ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาธิปไตยไปแล้ว”

การแบ่งแยกอำนาจทำไมมาเขียนในหมวดนี้ หมวดว่าด้วยนิติธรรมและศาล

ใช่ ซึ่งก็ประหลาด เอาหลักนิติธรรมมาไว้ภาค 3 การเขียน การวางโครงของรัฐธรรมนูญไม่ค่อยดี มีการย้ำคิดย้ำทำ
จริงๆ แล้วหลักนิติธรรมมีการพูดถึงในมาตรา 3 วรรค 2 แต่ถูกเอาไปขยายในหมวดของศาล ซึ่งก็แปลกว่าจะเอามาไว้ทำไม เพราะหลักนิติธรรมหรือนิติรัฐต้องใช้ในทุกภาคของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว มีการพูดถึงความสูงสุดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเหนืออำเภอใจของบุคคล ซึ่งตลก ไม่มีหรอกความสูงสุดของกฎหมาย  มีแต่ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้น หรือกฎหมายลำดับรอง ตลอดจนกฎหมายของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญลงมา เป็นการเขียนแบบที่ไม่เคลียร์ในเชิงคอนเซปท์ และทำให้สับสน

อำนาจศาล รธน.โยงวุฒิสภา

เราจะพิสูจน์กันว่าอำนาจที่ใช้ในหลายองค์กรขาดฐานความชอบธรรมของความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ก่อนหน้านี้ผมพยากรณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะวางอยู่บนฐานอำนาจสามระดับ อำนาจที่อยู่ล่างสุดคือ อำนาจที่มาจากเลือกตั้ง หรือหน่วยที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจน้อยสุด อำนาจในส่วนที่สองคือองค์กรอิสระทั้งหลายและศาล ก่อนหน้านี้นึกว่าในสุดท้ายอาจจะมีองค์กรแก้วิกฤตที่จะถูกเขียนขึ้นมา
ปรากฏว่าเรื่องนี้ผมคาดผิดคือไม่มีการเขียน แต่ไม่ได้คาดผิดอย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว เพราะเหตุว่ามีการเขียนอำนาจบางอย่างขึ้นมา และมีการบ่งชี้ว่ามีการเอาอำนาจแบบนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการเอาสภาวะพิเศษนี้ ไปให้หน่วยหรือองค์กรหนึ่งใช้ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญ
เราสังเกตเรื่องนี้ได้ในมาตรา 7 วรรค 2 ในเรื่องการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแต่เดิมไม่มีวรรค 2ฉะนั้นมาตรา 7 วรรคสอง จึงเป็นการสถาปนาอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ หากมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย หน่วยต่างๆ สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่เขียนว่า “วินิจฉัยชี้ขาดเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน” ดังนั้นเฉพาะมาตรานี้อาจจะไม่ชัด ต้องดูอีกมาตราหนึ่งซึ่งเป็นมาตราที่มีขึ้นใหม่ และถูกซ่อนเอาไว้ในมาตราที่เกี่ยวกับวุฒิสภา ซึ่งเชื่อมกลับมาถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย
คือในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจวุฒิสภาเอาไว้อย่างหนึ่ง ในมาตรา 141 (3) ซึ่งพูดถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือสภาถูกยุบ จะประชุมวุฒิสภาไม่ได้เว้นแต่เป็น “กรณีอื่นที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้งานของวุฒิสภา หรืองานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร”
อันนี้เราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรบ้าง เป็นการเขียนเข้ามาใหม่ทีเดียวเลย ทำให้นึกถึงตอนที่เขาอยากได้นายกคนนอก ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องขึ้นมามันต้องตีความ
แล้วมาตรานี้ถูกรับต่อไปในวรรค 3 ที่บอกว่า “ในกรณีที่มีปัญหาตาม (3) สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ อาจร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้” คือเขาสามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ได้
เราจะเห็นว่าเขาพยายามให้ตัวองค์กรศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจขึ้นเยอะ ในสภาวะพิเศษ และอย่าลืมว่าการห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งต่างๆ ในบทเฉพาะกาล ไม่ได้ห้ามไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องห้ามลงเล่นการเมืองภายใน 2 ปี ห้ามลงสมัคร ส.ส. ส.ว. หรือการเมืองท้องถิ่น ซึ่งคนพวกนี้เขาไม่ไปลงอยู่แล้ว เขาห้ามเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งอำนาจไม่เยอะ แต่ตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกห้าม และมีอำนาจเยอะ เพราะสิ่งที่มีเพิ่มเข้ามาคือ อำนาจตามมาตรา 7 วรรค 2 และที่จะเห็นต่อไปคือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นแม้จะไม่มีองค์กรแก้วิกฤต สิ่งที่ผมคาดการณ์ก็ไม่ได้ผิดไปเสียหมด เขาเลือกใช้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในสภาวะแบบนั้น ซึ่งในมาตรา 7 วรรค 2 เขาพยายามทำให้อำนาจส่วนหนึ่งถูกผลักไปสู่คนเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

แต่ดูแล้วเขาก็เขียนคุมไว้ทุกอย่างจนไม่น่าจะทำให้เกิดวิกฤต ที่ถึงขั้นที่ต้องให้เรื่องไปถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เขาก็เผื่อไว้ จริงๆ ในสภาวะข้างหน้าเราจะเห็นว่า ฝ่ายการเมืองจะทำอะไรไม่ได้มากเท่าไรนักในข่วงห้าปีแรก ยิ่งไปดูเรื่องหมวดการปฏิรูป ซึ่งก็จะมีการจัดตั้งองค์ขับเคลื่อนการปฏิรูป มีองค์กรอิสระเยอะแยะเต็มไปหมด

เทศนา “หน้าที่พลเมือง”

ในเชิงโครงสร้าง ครั้งนี้เขาแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสี่ภาค ภาคหนึ่งคือพระมหากษัตริย์และประชาชน ภาคสองคือผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี  นี่เป็นความพยายามเขียนคำที่ไม่ใช่คำเชิงกฎหมาย คือ “ที่ดี” เพราะเป็นคำในแง่ของการประเมินค่า ภาคถัดไปเป็นเรื่องหลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สุดท้ายเป็นเรื่องของการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง
ในบททั่วไป ภาคหนึ่ง หลักๆ ไม่เปลี่ยนแปลง จะมีเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเพียงมาตราเดียวคือ 7 วรรค 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจเฉพาะพิเศษให้กับศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา
หมวดพระมหากษัตริย์โดยโครงสร้างยังเหมือนเดิม มีการเปลี่ยนถ้อยคำเล็กน้อยไม่มีนัยสำคัญ คือเดินตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารของ รสช.ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
หมวดประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลง คือพยายามพูดถึงความเป็นพลเมือง ซึ่งเดิมเป็นหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
เคยมีการถกเถียงกันว่าเวลารัฐธรรมนูญเขียนเรื่องพวกนี้ สิทธิอันไหนเป็นของคนทุกคน รวมทั้งคนต่างด้าวด้วย สิทธิอันไหนเป็นสิทธิของบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งก็ต้องมาดูเป็นรายสิทธิเสรีภาพไปว่า สิทธิแบบไหนเป็นสิทธิมนุษยชน สิทธิแบบไหนเป็นสิทธิพลเมือง เช่น สิทธิในชีวิต ในร่างกาย เป็นสิทธิมนุษยชน แต่เสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือชุมนุม เป็นสิทธิพลเมือง
เดิมทีไม่มีคำนี้เขาก็พยายามเขียนขึ้นมา ในความเห็นผม จริงๆ การใช้คำว่าพลเมืองเป็นเพียงความพยายามที่จะโชว์หรือแสดงของกรรมาธิการยกร่างฯ มากกว่า ว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นของพลเมือง และเป็นการทำลายคำว่าราษฎร แต่ก็ยังคงคำว่าสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้อยู่
หมวดประชาชนส่วนแรก พยายามพูดถึงความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง นี่คือสิ่งซึ่งเขาคิดว่าคนไทยจะต้องเป็นแบบนี้ เหมือนกับการเอาวิชาหน้าที่พลเมืองมาเขียนให้เป็นรัฐธรรมนูญ พลเมืองในจินตนาการของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องเป็นอย่างในมาตรา 26  ซึ่งเราสังเกตเห็นได้ว่าในมาตรานี้จะบอกว่าพลเมืองจะต้องทำนั่น ต้องทำนี่ ต้องเคารพนั่นเคารพนี่ ต้องมีค่านิยมที่ดี มีวินัย รู้รักสามัคคี มีความเพียร พึ่งตนเอง ฯลฯ คือเป็นการเอาเรื่องในทางศีลธรรมจริยธรรมมาเขียน มันคือการเทศนาผ่านตัวบทในทางรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง ซึ่งผมก็ไม่เห็นประเทศไหนเขาทำกัน
ส่วนที่ 2 พูดถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล แล้วก็แยกเป็นบททั่วไป พูดถึงสิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง ซึ่งในส่วนของสิทธิมนุษยชน ผมคิดว่าไม่เป็นระบบ เพราะมีการเอาเรื่องข้าราชการตำรวจทหารไปใส่ไว้ในมาตรา 35 คือหมวดนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่กลับเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลเข้าไปใส่
จริงๆ ถ้าพูดถึงสิทธิมนุษยชนควรจะพูดถึงรายสิทธิแต่ละชนิดที่มนุษย์ทุกคนมี ถ้อยคำที่ใช้ ไม่ควรจะใช้แบบนี้ ปกติน่าจะใช้คำว่า “บุคคล” หรือ “บุคคลทุกคน” จะเป็นคำในทางกฎหมายมากกว่า ถ้าอยากจะให้อันไหนหมายถึงสิทธิพลเมือง ก็ใช้คำว่า “บุคคลสัญชาติไทย” ถ้าใช้อย่างนี้ก็จะชัดเจน จะมีความสม่ำเสมอ แล้วอะไรที่ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องสิทธิโดยตรงก็แยกออกมาอีกส่วนหนึ่ง

แต่อันนี้มันไม่เคลียร์ เพราะมีบางกรณีที่มีปัญหากันมานาน อย่างเช่นเรื่องชุมชน  ในมาตรา 63 เป็นสิทธิชุมชน แต่กลับอยู่ในหมวดของสิทธิพลเมือง แล้วคำถามคือ ชุมชนกับพลเมือง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร อะไรคือตัวตนของชุมชนในทางกฎหมาย ชุมชนจะมีสิทธิฟ้องคดี หรือถูกฟ้องคดีได้หรือไม่ ใครจะเป็นคนฟ้องหรือเป็นคนถูกฟ้องในนามชุมชน นี่เป็นเรื่องที่ตกค้างมาเพราะเราไม่ชัดเจนในคอนเซปท์เรื่องของบุคคลในทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ไม่พยายามทำให้ชัดขึ้นมา
โดยรวมแล้วปัญหาเกี่ยวกับหมวดนี้เป็นเรื่องการบังคับตามสิทธิ เป็นเรื่องป่วยการที่จะมาเทศนา หรือเขียนรับรองสิทธิอะไรมากๆ ในเมื่อสิทธิจริงๆ ที่พึงมีในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คุณกลับไม่เคารพ ปัญหาของบ้านเราคือสิทธิทางการเมืองต่างหากที่ไม่ได้รับความเคารพ  แล้วคุณจะรับรองสิทธิพลเมืองอะไรเอาไว้มากมาย แค่ผมจะลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. อิสระ ยังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น logic หรือวิธีคิดของคนร่างรัฐธรรมนูญมันไม่สม่ำเสมอ เป็นส่วนๆ เอามาปะ มาเติม แปะกัน รัฐธรรมนูญเลยมีลักษณะหรือสภาพแบบนี้ แต่ก็อย่างที่บอก สาระสำคัญของเรื่องสิทธิคือการบังคับการตามสิทธิ ต่อให้เขียนสวยงามไป คำถามคือสามารถบังคับได้จริงหรือไม่


สิทธิมีไว้โชว์

บทบัญญัติเพื่อให้สิทธิแยกได้เป็นหลายกลุ่ม เช่นสิทธิป้องกัน คือสิทธิที่ปัจเจกบุคคลกันไม่ให้รัฐก้าวล่วงเข้ามาในแดนสิทธิเสรีภาพของตัว เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในเคหสถาน ช่วงหลังมีสิทธิอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นสิทธิทางบวก คือสิทธิในการเรียกร้องให้รัฐให้ประโยชน์แก่ตัว เช่นสิทธิเข้าเรียน สิทธิคนชรา สิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถของรัฐในการดำเนินการบังคับตามสิทธิ ซึ่งต้องมีสถานะทางการเงินการคลังดีพอประมาณ จึงจะสามารถทำให้สิทธิเหล่านี้เป็นไปได้จริง แต่ปัญหาคือเขียนเรื่องสิทธิเหล่านี้ขึ้นมาแล้วจะทำได้จริงหรือเปล่า สุดท้ายจะเป็นอย่างไร
ผมยกตัวอย่าง มาตรา 57 พลเมืองย่อมมีสิทธิรับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพและสวัสดิการในการทำงานที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิตทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
สมมติว่ามีคนทำงานในบริษัทเอกชน แล้วเมื่อออกจากบริษัทเอกชนไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติเขาจะเรียกร้องให้รัฐบังคับตามสิทธิของเขาได้มากน้อยแค่ไหน ก็จะมีปัญหาการตีความต่อไป

ในหมวดนี้เห็นมีเรื่องใหม่อย่างในมาตรา 51 ว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการ และการวิจารณ์คำพิพากษา ไม่เข้าใจว่าการเขียนแบบนี้มันดีหรือไม่ดีอย่างไร

เสรีภาพในทางวิชาการ โดยปกติมีอยู่แล้ว แต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงถ้อยเพิ่มเติมในวรรค 2 วรรค 3 เข้ามา ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขียนแบบนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร โดยปกติในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองก็ระบุเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล ให้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตตามหลักวิชาการ แต่ในแง่นี้มันจะเป็นปัญหาสำหรับคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ได้มีสถานะนักวิชาการ นักกฎหมาย เขาจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่
ส่วนที่เขียนว่ามีเสรีภาพทางวิชาการ “เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” มันก็เปิดให้ตีความได้กว้างขวางมาก และอาจจะตีความกันอย่างกว้างมากจนไปกระทบกับเสรีภาพในทางวิชาการซึ่งจริงๆก็เกี่ยวพันกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็เป็นได้

โดยภาพรวม มีอะไรก้าวหน้าบ้างไหม ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ

โดยภาพรวมแล้วในส่วนนี้ก็ยังคงเดิม แต่มีส่วนที่ผมเห็นว่าไม่ก้าวหน้าขึ้น แต่ล้าหลังลง คือมาตรา 31 (มาตรา 68 เดิม) ซึ่งเคยเกิดเป็นคดีขึ้น ที่ตอนนั้นเถียงว่าต้องผ่านอัยการหรือไม่ (การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา)
มาตรานี้เป็นการเขียนในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย คือมันเป็นการ justified ย้อนหลังกลับไปในอดีต ผ่านตัวบทมาตรานี้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมแบบไทยๆ
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะมีกลไกในการป้องกันตนเองเวลาที่คนใช้สิทธิเสรีภาพในการทำลายระบอบ  อย่างในเยอรมัน เขาให้ศาลสั่งให้สิทธิเสรีภาพของคนนั้นสิ้นสูญไป เช่น มีคนกลุ่มหนึ่งใช้เสรีภาพในการชุมนุมกัน วางแผนล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อความปรากฏต่อองค์กรของรัฐ แน่นอนเขาก็มีอำนาจในการดำเนินคดีต่างๆ ที่เป็นไปได้ กลไกหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้พวกนี้เอาสิทธิเสรีภาพมาใช้ในทางที่ผิด เขาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งว่า สิทธิเสรีภาพของคุณเรื่องการชุมนุมสูญสิ้นไป แต่เป็นเฉพาะบุคคล และเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป คนนั้นก็อาจจะร้องขอให้คืนสิทธินั้นให้กับตัว ไม่ใช่เป็นแบบเราที่เปิดให้ยื่นเรื่องต่อศาล อย่างในกรณีการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น รัฐสภาใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญในการแก้ไข แต่มาตรานี้กลายเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่กลไกการป้องกันแบบที่อารยะประเทศเขาทำกัน เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เล่นทางการเมือง
โดยภาพรวม หมวดสิทธิเขียนไปแบบพยายามเขียนให้ดูดี เพราะในรัฐธรรมนูญทั้งหมด หมวดที่จะให้คนอื่นเขาดูได้ก็คือหมวดนี้ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ที่พอจะให้คนอื่นมาเห็น ก็พยายามเขียน แต่ที่เหลือทั้งหมดก็คงโชว์ใครไม่ได้
เรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตรวจสอบ มีการตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด มีที่มาจากสมัชชาพลเมือง ก็มีความพยายามสร้างระบบตรวจสอบเข้ามา แต่ปัญหาคือคนที่จะไปตรวจสอบคนอื่นเป็นใครมาจากไหน แล้วความชอบธรรมในการตรวจสอบได้มาอย่างไร ในส่วนนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เขาเขียนไว้กว้างๆ เพื่อที่จะทำให้คนที่อยากตรวจสอบได้มีที่ทางในกฎหมาย ซึ่งต้องไปดูตามกฎหมายที่จะออกมาขยายความเรื่องนี้อีกที ว่าจะมีที่มาอย่างไร

อำนาจกลับหัวกลับหาง

ภาคที่สอง ผู้นำการเมืองที่ดีและระบอบผู้แทนที่ดี ในส่วนนี้ก็จะเป็นเรื่องของนักการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี เป็นหลัก
โดยสภาพจะเห็นว่า องค์กรซึ่งมีอำนาจมาก จะกลายเป็นวุฒิสภา ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญระบุให้วุฒิสภามีอำนาจในการเสนอกฎหมายเอง และมีอำนาจแม้แต่การเป็นสภาในการพิจารณากฎหมายเป็นสภาแรก เป็นการกลับหัวกลับหาง จากระบบกฎหมายปกติ ฉะนั้นในแง่นี้การวางดุลอำนาจในส่วนนี้จึงไปหนักอยู่ที่วุฒิสภา
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรก็ยังมีอำนาจคงเดิมแบบที่เคยมี แต่ว่าเราจะเห็นว่ามันถูกกัดเซาะด้วยระบบที่วางขึ้นมา และโดยการวางโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบ แต่อำนาจน้อย จะไม่ได้ดุลกัน คือคุณจะมีความรับผิดชอบมาก แต่อำนาจที่คุณจะใช้จะถูกรอนไปโดยองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ

โดยปกติแล้ว ในเรื่องของการออกกฎหมาย ผู้ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ใช่หรือ

คนที่ออกกฎหมายต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน และต้องเชื่อมโยงโดยตรงด้วยในที่สุด พูดให้ง่ายก็คือมันมีคอนเซปท์เรื่องห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตย อำนาจไหนที่เป็นอำนาจในการกำหนดกฏเกณฑ์ทั่วไป อำนาจควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจที่เป็นตัวแทนของประชาชน เหล่านี้ห่วงโซ่ความชอบธรรมมันต้องสั้น คำว่าต้องสั้นหมายความว่า จากประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ มันต้องถึงตัวแทนของเขาเลย

หมวดผู้นำการเมืองที่ดีและระบอบผู้แทนที่ดีขึ้นต้นด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

ถ้าดูมาตรา 74 ขึ้นต้นมาก็จะเห็นคำว่าสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ แต่เรายังไม่รู้ว่าสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะมาจากไหน
อำนาจอันหนึ่งที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีคือ อำนาจคุมนักการเมือง แต่เขาไม่เป็นคนคุมโดยการถอดถอนโดยตรง มีการวางกลไกให้สมัชชาคุณธรรม หากจะตรวจสอบ หากจะเอานักการเมืองออกจากตำแหน่ง ให้ส่งเรื่องไปที่ กกต. แล้วก็ให้ กกต. ทำประชามติ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แล้วตรงนี้เขาก็เอามากล่าวอ้างว่า นี่ไงประชาชนมีอำนาจมากขึ้นเยอะเลย คุณมีอำนาจในแง่ของการออกเสียงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเสนอ และถ้าเกิดนักการเมืองถูกถอดถอน ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วยอีก 5 ปี

ในแง่นี้อาจจะฟังดูดี แต่ปัญหาคือคนที่จะเสนอให้ถอดถอนคนอื่น ตัวเองมาจากไหน ความชอบธรรมคืออะไร นี่คือสิ่งที่ต้องถาม และกรณีที่เสนอรายชื่อนักการเมืองให้ประชาชนลงประชามติถอดถอน แต่ประชาชนไม่ถอดถอนล่ะ คนเสนอให้ถอดถอนต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ หรือสักแต่จะเสนอให้ถอดถอน
มีหรือไม่ว่าหากเสนอรายชื่อนักการเมืองไปแล้ว ประชาชนไม่ถอดถอน นั้นเท่ากับว่าประชาชนไม่ไว้วางใจคุณ คุณต้องถูกยุบสิ
หากถามผม ถ้าจะเอาระบบถอดถอนแบบนี้ ก็ต้องวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ หากมีการเสนอถอดถอนนายกฯ โดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ การถอดถอนนั้นก็เป็นการวัดกันระหว่างนายกฯกับสมัชชาฯ ถ้าเขาถอดถอนนายกฯ นายกก็ออกไป แต่ถ้าเขาไม่ถอดถอนนายกฯ พวกคุณก็ถูกยุบ อย่างนี้ถึงจะทำให้กลไกของการถอดถอน balance อำนาจกันและเคารพตัวประชาชนเจ้าของอำนาจ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในแง่ของการกำกับนักการเมือง ซึ่งอาจจะมีบุคลิกลักษณะที่ไม่ตรงกับที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต้องการ หรือมีมาตรฐานทางจริยธรรมไม่เป็นไปตามที่เขากำหนด ซึ่งถามว่าคนที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นศาสดาหรือ
แล้วองค์กรนี้ไม่ได้คุมเฉพาะนักการเมือง แต่คุมมาถึงฝ่ายราชการประจำ และเหตุแห่งการถอดถอน ก็เพียงแค่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม คือนอกจากมีกฎหมายแล้วยังมีประมวลจริยธรรมอีก ซึ่งแน่นอนคุณจะเขียนคำหลวมๆ พอถึงเวลาก็จะตีความเอาเอง พูดให้ง่ายคือเป็นเผด็จการในทางจริยธรรมคุณธรรม ผูกขาดนิยามความหมายของความดีงาม

คุณธรรมหรือทุมมังกุ

โดยความตั้งใจแล้ว สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ประจานหรือเปล่า

ถูกต้อง เรากำลังจะย้อนยุคกลับไปในสมัยที่เป็นยุคกลาง ยุคมืด เพียงแต่แปลงสภาพให้มันเป็นสมัยใหม่ พูดให้ง่ายคือยืมมือประชาชน คนที่ถูกเสนอชื่อให้ประชาชนถอดถอนก็เป็นการประจานเขาแล้ว ซึ่งคนที่โดนแบบนี้ก็เหนื่อย โดนถอดถอนเพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งใครก็ไม่รู้ตั้งขึ้นมา มาจากไหนยังไม่รู้เลย

เรื่องการถอดถอน เวลาเราจะให้ประชาชนถอดถอนควรจะเป็นตำแหน่งสำคัญ และคนที่มีสิทธิเสนอเรื่องให้มีการถอดถอนต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะการถอดถอนเวลาประชาชนไปโหวต มันเป็นการโหวตในทางการเมือง ไม่ใช่เกณฑ์มาตรฐานทางกฎหมาย แล้วถามว่าการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี คืออะไร เขาทำอะไรผิด เขาทำอะไรไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ทางกฎหมาย หรือเพียงเพราะทำไม่ถูกต้องตามเกณฑ์จริยธรรมของคุณแค่นี้หรือ ถ้าเป็นการทำผิดทุจริต มีคำพิพากษาที่ถูกต้องเที่ยงธรรมของศาลในระบอบประชาธิปไตย แบบนั้นผมไม่มีปัญหา แต่เวลาเราพูดถึงการไปถอดถอนในความหมายของสมัชชาคุณธรรม บางคนที่ไปถอดถอนก็แค่ชอบหน้าไม่ชอบขี้หน้า มันไม่มีเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน เราทำให้กฎเกณฑ์แบบนี้เป็น subjective มากเลย ฉะนั้นคนที่จะเข้าทำงานการเมืองพวกนี้ต้องเป็น Good Boy ในสายตาผู้ครองอำนาจในการกำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม ถึงที่สุดแล้วก็มีสภาพเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่ง

ถาม โมเดลนี้เคยมีเกิดขึ้นที่ไหน หรือคิดว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ไหน

ไม่น่าจะมี นี่อาจเป็นนวัตกรรมของเขาแท้ๆ ประเทศที่เป็นเผด็จการ ประเทศที่เป็นฟาสซิสม์ เขาคงมีระบบอื่น คงไม่อ้างเรื่องพวกนี้ เขาคงอ้างในเรื่องอุดมการณ์อย่างอื่น แต่ตอนนี้คำว่าคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยมันถูกใช้จนเฟ้อ
สิ่งที่ผมรู้สึกแย่คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยใช้คำพวกนี้จนเสียความหมายไปหมด คนที่เขาเป็นคนดี เขาจะไม่โฆษณาตัวเองนะ เขาจะอายที่จะไปประกาศบอกใครๆว่าตัวเองเป็นคนดี แต่นี้เรามาถึงยุคที่คนไม่อายที่จะประกาศว่า “ข้านี่คนดี ข้าเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม” พูดง่ายๆคือเรามาถึงยุคที่มี “ทุมมังกุ” (คนหน้าด้าน) ในทางการเมืองเยอะ อย่างหลายคนที่เขียนเรื่องพวกนี้ออกมา ในสายตาผม ผมไม่เห็นว่าจะเป็นคนที่มีคุณธรรมเลย แต่จะมาพูดเรื่องคุณธรรม แล้วถ้าคนพวกนี้เข้าไปอยู่ในสมัชชาคุณธรรมฯ ก็คงสนุก

ถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้ถูกเสนอถอดถอนลาออกก่อนก็ไม่มีผลอะไร

ไม่มี ต่อให้ลาออกก่อน ก็ยังถอดถอนได้ แล้วสามารถโดนตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
เรื่องนี้เป็นปัญหาของประเทศเรา เราไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการเอาออกจากตำแหน่ง เวลาคุณจะเอาใครออกจากตำแหน่งด้วยระบบถอดถอน มันเป็นเรื่องทางการเมือง เป็นเรื่องของการยกมือโหวต เป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดทางการเมือง ฉะนั้นโดยหลักของการถอดถอน ถ้าเขาลาออกก่อนกระบวนการนี้ก็จบ เพราะมันพ้นวัตถุประสงค์ไปแล้ว แต่ในบ้านเราดันเอาเรื่องนี้มาผูกกับการตัดสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิทางการเมือง แล้วบอกว่าคุณพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วไม่เกี่ยว เพราะจุดมุ่งหมายจริงๆ คือการตัดสิทธิทางการเมือง
พอเป้าหมายอยู่ที่การตัดสิทธิ แต่คุณดันมารับรองเรื่องสิทธิเป็นคำใหญ่คำโตไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วเวลาจะตัดสิทธิทางการเมืองของคนอื่น ก็ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิโดยใช้เกณฑ์ทางกฎหมาย แต่เป็นการใช้เกณฑ์ทางการเมือง เป็นการโหวตโดยใช้ความรู้สึกตัดสิน ซึ่งไม่ถูก ถ้าคุณจะตัดสิทธิใครสักคนหนึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องพิสูจน์ว่าเขาผิดอย่างไร ไม่ใช่เอากระแสความรู้สึกทางสังคมหรืออำนาจทางการเมืองมาตัดสิทธิ

หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีอะไรสำคัญต้องพูดถึงไหม

หมวดนี้ผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนไว้ทำไม เขียนเพื่ออะไร กลายเป็นการสั่งให้รัฐทำอะไรต่อมิอะไรมากมาย ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2492 รัฐธรรมนูญก่อนปี 2492 ไม่มีหมวดนี้
แต่ในหมวดรัฐสภามีมาตรา 102 เอาไว้ล็อกนักการเมืองอีกที เป็นกับดักอีกที มาตรานี้พูดว่าถ้ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ, พ.ร.บ. หรือกฎหมาย หรือให้ดำเนินการใด แต่ผู้มีหน้าที่สนับสนุนผู้มีหน้าที่พิจารณากฎหมายไม่ทำ ทำให้การปฏิบัติไม่บังเกิดผล ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
คือบังคับให้เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ไม่รู้ว่าจะมุ่งหมายเข้มข้นขนาดไหน ถ้ามุ่งหมายเข้มข้นก็คงจะละเว้นกันตลอดทุกวัน และมันจะกลายเป็นประเด็น จะถึง ม.157 หรือเปล่าก็เป็นปัญหาอีก เวลาเขียนแบบนี้มันจะเป็นกับดัก เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ตลอดเวลา เหมือนเป็นหนามทิ้งเอาไว้ ใช้ก็ได้ อยากจะหยิบใช้ก็ใช้ ไม่ใช้ก็ปล่อยไป ซึ่งประหลาดมาก

รัฐสภา: เจตจำนงรัฐบาลผสม

เรื่องการจัดระบบการเมือง และพรรคการเมือง ในรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยมีปัญหาคอนเซปท์เรื่องพรรคการเมืองมานานแล้ว คือไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองจริงๆ เป็นหน่วยเอกชน โดยสภาพต้องถือว่าเป็นนิติบุคลในทางกฎหมายเอกชน โดย logic ของมัน พรรคจะรับใครไม่รับใคร มันเป็นเรื่องของเสรีภาพในการรวมกลุ่มของเขา เขามีสิทธิในการเอาคนที่ตอนแรกเข้ามา แล้วทำให้ภาพลักษณ์เสียนั้นออกไปได้
แต่ว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนที่ต่างจากนิติบุคคลเอกชนอื่น ตรงที่เป็นนิติบุคคลในทางเอกชนที่มุ่งหมายในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง เขาจะต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อเขาได้ ส.ส. ในสภาแล้ว ส.ส.ในสภาของพรรคการเมืองพรรคนั้นก็จะกลายเป็นกลุ่มการเมืองในสภา จะมีสถานะอีกแบบคือ เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Faction คือกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมือง ซึ่งจะมีภารกิจแตกต่างจากพรรคการเมืองที่เขาเป็นสมาชิก เพราะว่าพรรคการเมืองเป็นหน่วยที่ทำงานอยู่นอกสภา หาสมาชิกพรรค เผยแพร่ความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงนโยบายของพรรค ส่วนพวก Faction ซึ่งคือ ส.ส. ก็ทำงานในสภา ควบคุมการบริหารงานแผ่นดินไป ฉะนั้นถ้ามีการขับใครออกจากพรรคการเมือง ก็เป็นเรื่องของเอกชน ถ้าเขาไม่เห็นด้วยก็จะไปสู่ระบบศาลยุติธรรม แต่ถ้าเป็นกรณีที่กลุ่มสมาชิกในสภาที่เป็น Faction ขับ ส.ส. ของกลุ่มออกก็เป็นเรื่องทางมหาชน บ้านเราไม่เคยแยก logic แบบนี้ ปนกันหมด
รัฐธรรมนูญฉบับให้ตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมา โดยไม่รู้ว่ากลุ่มการเมืองกับพรรคการเมืองต่างกันอย่างไร ทำไมต้องมีกลุ่มการเมือง
เขาบอกว่ากลุ่มการเมืองคือกลุ่มขนาดเล็ก เป้าหมายของการมีกลุ่มการเมืองขึ้นมาในความคิดของคนร่างรัฐธรรมนูญคือ ต้องการให้เกิดรัฐบาลผสม เขาต้องการให้เกิดกลุ่มย่อยๆ เข้าไปอยู่ในรัฐสภา ซึ่งเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับระบบเลือกตั้งอีก ซึ่งมันจะสำเร็จหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการเลือกตั้ง โดยส่วนตัวผมมองว่าอาจจะไม่สำเร็จง่ายๆ แต่อย่างน้อยเราเห็นความพยายามของพวกเขาในการออกแบบให้มีพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง เพื่อหวังให้เกิดรัฐบาลผสม
ปัญหาใหญ่จะเกี่ยวกับภาพใหญ่ของสภาด้วย คือด้วยการที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ มุ่งประสงค์ให้รัฐบาลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลผสม ต้องการให้มีพรรคการเมืองเยอะๆ หรือกลุ่มการเมืองเยอะๆ ความต้องการแบบนี้มันละเลยหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของสภา ด้วย โดยการที่พยายามให้มีพรรคการเมืองเยอะๆ กลุ่มการเมืองเยอะๆ ทำให้เขาละเลยฟังก์ชั่นที่สำคัญที่สุดของรัฐสภา คือความสามารถในทำงานของสภา และการหล่อหลอมเจตจำนงของประชาชน
ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละคนมีเจตจำนงทางการเมืองไม่เหมือนกัน ระบบรัฐสภาต้องการให้เกิดการรวมกันทางการเมือง คนเราคิดไม่เหมือนกันทุกเรื่อง แต่ถ้าแนวทางใหญ่ตรงกันก็สามารถรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองจัดโครงสร้างต่างๆ ให้มีตัวแทนในสภา เพื่อให้การตัดสินใจทำงานด้วยกันทำได้โดยง่าย แต่ถ้ายิ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ มันทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ยาก ไม่เกิดการหล่อหลอมเจตจำนงทางการเมืองของบุคคล และยิ่งทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก


โมเดลเลือกตั้งเยอรมัน?

เรื่องที่มาของ ส.ส. ระบบเลือกตั้งของเยอรมัน สัดส่วนผสม คงต้องอธิบายระบบเลือกตั้งกันก่อน อันนี้โดยโครงเป็นแบบเยอรมัน แต่ไม่ใช่เยอรมันเสียทีเดียว
ต้องอธิบายเป็นพื้นความรู้ก่อนว่า ระบบเลือกตั้งมีหลากหลายมากๆ ในโลกนี้ แต่ถ้าเราจัดกลุ่มใหญ่ก็จะมีสองแบบ เรียกว่าแบบเสียงข้างมาก Majority System และแบบสัดส่วน Proportional Representation
แบบเสียงข้างมากนั้นง่าย ใครได้คะแนนมากสุดก็เอาไป อันนี้คือเสียงข้างมากสัมพัทธ์ อาจจะมีระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดก็ได้ คือให้ไปลงคะแนนรอบแรก ถ้ารอบแรกไม่มีใครได้คะแนนชนะกันเด็ดขาด ก็เอาคนที่ได้ที่ 1 ที่ 2 มาแข่งกันในรอบที่สองเพื่อให้เกิด Absolute Majority อันนี้ง่าย
ในแง่ของการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบบ Majority System จะช่วยส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะมันเป็นระบบที่ The winner takes all คนชนะได้ทั้งหมด ข้อดีของระบบนี้คือ ง่าย และทำให้เกิดการหล่อหลอมเจตจำนงการเมืองได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียคือ มันอาจจะขาดความเป็นธรรม คะแนนที่ลงให้กับผู้แพ้กลายเป็นคะแนนเสียงที่ไม่มีความหมายเลย หายไปหมด
อีกระบบหนึ่งจะกลับกัน เรียกว่าระบบสัดส่วน ระบบนี้ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงให้บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ต้องมีบัญชีที่มีลำดับรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่ละพรรค คะแนนที่ลงให้กับบัญชีรายชื่อใดจะถูกนำมารวมกันเพื่อคำนวณ และจะกระจายที่นั่งของพรรคการเมืองนั้นในสภาตามสัดส่วนคะแนนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจากจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็จะได้ที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนตามสัดส่วน บุคคลที่ลงสมัครในบัญชีรายชื่อก็จะได้เป็นส.ส.เรียงตามลำดับจนครบจำนวนที่นั่งที่พรรคการเมืองพรรคนั้นได้
ระบบนี้แน่นอน ข้อดีของมันคือยุติธรรม เพราะคะแนนทุกคะแนนถูกนำมาคำนวณหมด แต่ข้ออ่อนคือทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก ถ้าพรรคใดหรือกลุ่มการเมืองใดได้คะแนนถึงเกณฑ์ที่จะได้ที่นั่งหนึ่งที่นั่ง เขาจะมี ส.ส.ทันทีในสภา ในแง่นี้มันเป็นกระจกสะท้อนประชาชนจริงๆ สมมติใครบางคนตั้งพรรคเกย์แห่งชาติ กลุ่มเป้าหมายของเขาก็มาออกเสียง อาจได้ ส.ส. มันก็จะสะท้อนว่ามีกลุ่มคนนี้อยู่ในสังคม ระบบนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงแค่ “ค่าในการนับ” แบบระบบเสียงข้างมาก แต่ให้ความสำคัญกับ “ค่าของน้ำหนักคะแนนหรือผลของคะแนน”ด้วย
ในโลกนี้ยังมีความพยายามผสมสองแบบนี้เข้าด้วยกัน เราเองก็เคยผสมสองแบบ เมื่อตอน 2540 แต่ผสมแบบแยกขาดจากกัน มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 แบบบัญชีรายชื่อ 100 ก็เป็นการผสมแบบคู่ขนานที่เน้นเสียงข้างมากสัมพัทธ์ เที่ยวนี้เขาเปลี่ยนใหม่ ไปเอาระบบที่พูดกันว่าเยอรมันโมเดล
ในเยอรมันเป็นอย่างไร ที่เรียกว่า Mixed Member Proportional Representation หรือระบบสัดส่วนผสม ในเยอรมันเวลามีการเลือกตั้ง ประชาชนจะมีสองคะแนน บัตรเลือกตั้งมีใบเดียวแบ่งเป็นฝั่งซ้ายกับฝั่งขวา ฝั่งซ้ายคือคะแนนที่หนึ่ง ฝั่งขวาคือคะแนนที่สอง คะแนนที่หนึ่งจะลงให้กับ ส.ส.ในเขตของตัวเอง คะแนนที่สองลงให้พรรคการเมือง คะแนนที่สำคัญคือคะแนนที่สอง เพราะคะแนนที่สองจะเป็นตัวกำหนดสัดส่วนเก้าอี้ในสภาที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ พูดง่ายๆ ว่าในชั้นแรกเพื่อจะดูว่าพรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.กี่คนในสภา ไม่ดูคะแนนที่หนึ่งที่ลงให้กับ ส.ส.เขตเลย แต่ดูคะแนนที่สองแล้วคำนวณเป็น 100% ว่าใน 100% พรรคนี้ได้คะแนนกี่เปอร์เซ็นต์แล้วจัดที่นั่งส.ส.ให้กับพรรคนั้น จากนั้นเอา ส.ส.ที่พรรคได้จากระบบเขตมาหักออก เหลือเท่าไหร่ให้ส.ส.ในระบบสัดส่วน อันนี้คือระบบเยอรมัน
เยอรมันพยายามคงข้อดีของสองแบบไว้ด้วยกัน นั่นคือ ข้อดีของระบบสัดส่วนซึ่งได้แก่ความเป็นธรรม คะแนนทุกคะแนนมีความหมายหมด กับข้อดีของระบบเสียงข้างมากคือมีผู้แทนของคนในเขตนั้นเข้ามา ก็ต้องถือว่าเขาคิดได้ค่อนข้างละเอียด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในเยอรมันคือมีหลายครั้งเมื่อคำนวณที่นั่งที่พรรคการเมืองพึงจะได้รับแล้วปรากฏว่าน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่เขาชนะในระบบแบ่งเขต เช่น พรรค ก.คำนวณที่นั่งแล้วได้ 100 ที่นั่ง แต่เขาได้ส.ส.จากระบบแบ่งเขต 50 ที่นั่ง ก็ไม่มีปัญหา คือ 50 คนที่ชนะในเขตก็มาเป็น ส.ส. ส่วนโควตาที่เหลืออีก 50 ก็ให้กับส.ส.บัญชีรายชื่อ ไล่ตามลำดับ 1-50 อันนี้พูดแบบ simple
แต่มันจะเกิดปัญหาหากคำนวณแล้วได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ชนะในเขตเลือกตั้ง 110 คน เมื่อเอามาลบกันยังเหลือส.ส.แบบเขตอีก 10 คน อย่างนี้เท่ากับว่าพรรค ก. ไม่ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลย แต่ได้ ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง 110 คน ทุกคนเป็น ส.ส. แล้วในสมัยสภานั้นจะมี ส.ส.แบบที่เรียกว่า overhang mandate หรือได้ที่นั่ง overhang seat ก็คือที่นั่งเสริมเพิ่มเข้าไปอีก 10 คน คือมันประกันว่าถ้าชนะในเขตเลือกตั้งคุณเป็นส.ส.แน่ๆ
อันนี้ก็เพิ่งเกิดเรื่องเมื่อสักไม่กี่ปีมานี้ในเยอรมัน ในรัฐธรรมนูญเราก็ยังไม่ได้คิดไปถึง มันมีเรื่องร้องกันว่าที่นั่งเสริมหรือ overhang seat นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไปทำให้คะแนนที่สองลดความสำคัญลง เกิดความผันแปร เพราะถ้าคุณชนะในเขตเลือกตั้งเยอะ คุณได้เป็น ส.ส.หมดเลย ทำให้คุณได้ที่นั่งในสภามากกว่าสัดส่วนที่พึงจะได้รับ เช่น คะแนนที่สองคำนวณแล้วได้ 100 ที่นั่ง แต่คุณได้ ส.ส.เขต 110 คน แทนที่คุณจะได้ที่นั่งในสภา 100 ที่นั่งคุณก็ได้ตั้ง 110 ที่นั่ง ได้เปรียบพรรคอื่นที่ไม่มี overhang mandates มันไปบิดเบือนคะแนนที่สอง เพราะตัวกำหนดที่นั่งของพรรคคือคะแนนที่สอง ไม่ใช่คะแนนที่หนึ่ง ในเยอรมันเขาเถียงกันแบบนี้
ดังนั้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน เยอรมันจึงแก้กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่งเสริมเข้าไปเยอะ ให้เฉลี่ยที่นั่งเสริมเพิ่มให้กับพรรคการเมืองอื่นด้วย สมมติ พรรค ก.คำนวณแบบสัดส่วนควรได้ที่นั่ง 100 คน แต่ได้รับเลือกส.ส.เขตมา 110 คน มีส่วนเกินมา 10 ที่นั่ง พรรค ข.คำนวณแล้วควรได้ 50 ที่นั่ง ได้จากส.ส.เขต 25 จึงได้จากบัญชีรายชื่ออีก 25 ที่นั่งรวมเป็น 50 ที่นั่ง โดยไม่มีส่วนเกิน ก็ต้องเกลี่ยส่วนให้พรรค ข. ได้ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 5 คน เป็น 55 คนโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมากไปกว่าที่กำหนดเป็นฐานไว้เป็นธรรมดา
ความสำคัญของเรื่องนี้ยังอยู่ที่ว่า ในเยอรมันสมัครทั้งบัญชีรายชื่อและเขตพร้อมกันได้ ไม่ได้แยกขาด ผมไม่รู้ว่าบ้านเราจะแยกขาดไหม ในเยอรมันไม่ตัด ถ้าตัดนี่เจ๊ง เพราะถ้าเกิดคุณไปลงในเขตแล้วไม่ได้ คุณก็ไม่ได้เป็น ส.ส.เลย แต่ถ้าคุณลงในเขตแล้วไม่ได้ แต่พอเฉลี่ยในบัญชีรายชื่อแล้วมาถึงลำดับของคุณ คุณก็ยังได้เป็น ส.ส. อยู่ ดังนั้น ผู้นำพรรคการเมืองบางทีลงทั้งเขตและบัญชีรายชื่อคู่กัน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้และจะใช้เป็นฐานในการวิจารณ์รัฐธรรมนูญไทยด้วย
คือในเยอรมันเขามีประสบการณ์ในสมัยไวมาร์ สมัยนั้นใช้ระบบสัดส่วนอย่างเดียวทั้งประเทศ (1919-1933) จนถึงฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ มันทำให้เกิดพรรคการเมืองเยอะมากในสภา บางสมัยมีถึง 15-16 พรรคการเมือง ผลคืออีรุงตุงนังไปหมด มันทำงานไม่ได้เลย เกิดการบล็อคกันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายนาซีแล้วยังมีฝ่ายอื่นๆ รวมกันตั้งรัฐบาลก็เดี๋ยวล้มเดี๋ยวล้ม
พอทำรัฐธรรมนูญ Basic Law หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สองแล้วใช้ระบบสัดส่วนผสม อันหนึ่งที่เขากำหนดขึ้นมาเลยแล้วหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมเยอรมันกำหนดแบบนี้ คือเขาจะกำหนด 5% ที่เป็นคะแนนขั้นต่ำที่พรรคการเมืองต้องได้จากคะแนนที่สอง พรรคการเมืองจะได้ที่นั่ง ส.ส.ไปก็ต่อเมื่อได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 5% ของคะแนนทั้งหมด แปลว่าถ้าพรรคไหนได้คะแนนเสียงแบบสัดส่วน อาจจะถึงขั้นมี ส.ส. 10 คนในสภา แต่รวมแล้วไม่ถึง 5% พรรคนั้นจะไม่ได้เก้าอี้ในสภาเลย (ประเภทหนึ่งได้ แต่ประเภทที่สองจะอด) เช่น คุณคำนวณแล้วควรได้เก้าอี้ 20 ที่นั่ง ชนะแบบเขตมา 2 เขต ได้ 2 ที่นั่ง ควรได้จากระบบบัญชีรายชื่อ 18 ที่นั่ง แต่บังเอิญคำนวณแล้วคะแนนที่สองที่พรรคคุณได้ไม่ถึง 5% คุณจะไม่ได้ ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อเลย ได้แค่ 2 คนจากส.ส.เขตเท่านั้น เว้นแต่คุณชนะอย่างน้อย 3 เขตเลือกตั้งจึงจะเป็นข้อยกเว้นไม่เอาเรื่อง 5% มาใช้
เยอรมันกำหนดแบบนี้ขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะเกินไปในสภา แต่เราทำกลับกับเขา ทำในแง่ให้มีกลุ่มการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาเพราะเราไม่มี 5% 

สมัครอิสระคือ ‘สิทธิ’

อีกอันหนึ่งก็คือ เยอรมันไม่บังคับสังกัดพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญเราบังคับสังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ไม่มี ส.ส.อิสระ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะเป็นเรื่องสิทธิ สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง เขาต้องสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องสังกัดพรรค ในเยอรมันถ้าคุณเป็น ส.ส.อิสระ คุณสามารถลงได้ในแบบเขตแต่ลงระบบบัญชีไม่ได้ เพราะต้องมีพรรค ระบบ Proportional Representation เป็นการบังคับให้สังกัดพรรคโดยผลของระบบเลือกตั้งนั่นเอง ไม่ใช่โดยกฎหมาย เพราะต้องทำเป็นลิสต์
ผมมองว่าข้ออ่อนสำคัญมากๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ที่เขาคุยกันว่ามี open list นี่แหละ ตรงนี้ไม่รู้คิดมาได้อย่างไร open list ทำให้คนในบัญชีฟัดกันเอง เขาบอกว่าทำขึ้นมาเพื่อทำลายไม่ให้ผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองกำหนดลำดับหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ในบัญชีรายชื่อ
ถามว่าทำไมต้องทำลายระบบแบบนี้ ก็ในเมื่อระบบปาร์ตี้ลิสต์คุณต้องการให้เขาเลือกพรรคไม่ใช่หรือ ระบบแบ่งเขตคุณเลือกคน ก็แยกกันแล้ว อันหนึ่งเลือกคน อันหนึ่งเลือกพรรค ถ้าไม่มีระบบแบ่งเขตแล้วมีลิสต์อย่างเดียว อันนี้พอมีเหตุผล open list อาจจะพอเป็นไปได้ แต่ในเมื่อคุณมีระบบแบ่งเขตเลือกตั้งอยู่แล้ว ประชาชนสามารถเลือกตัวคนได้อยู่แล้ว คุณจะยังให้เขามาจัดลิสต์อีกทำไม ทำให้ต้องมาแข่งกันเอง ทำลายความเป็นเอกภาพ และความเป็นปึกแผ่นของพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยข้ออ้างว่ากลัวนายทุนพรรคจะครอบงำการจัดลำดับ แต่ประชาชนเขาเลือกนี่ แล้วเวลาเลือกเขาก็ดู ในลิสต์นั้นอาจมีคนที่เขาไม่อยากเลือก แต่ดูรวมๆ แล้วคนที่อยากเลือกมีเยอะกว่าหรือนโยบายพรรคดีก็เลือก เขาตัดสินใจอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปเปิดเป็น open list ซึ่งผมมองว่าเป็นข้ออ่อนมากๆ
นี่คือความประสงค์จะทำลายพรรคการเมือง พรรคการเมืองไม่มีทางเป็นสถาบันทางการเมืองได้ในที่สุด แล้วประเทศไหนที่พรรคการเมืองพัฒนาไปเป็นสถาบันทางการเมืองไม่ได้ ประชาธิปไตยก็ไม่มีอนาคตหรอก เพราะว่าระบบประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่คุณปฏิเสธความสำคัญของพรรคการเมืองไม่ได้ คุณต้องทำให้เขามีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างกลไกที่เป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ตรงนี้ผมว่าถูกต้อง แต่ไม่ใช่ไปทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองโดยระบบแบบนี้ เราลองนึกภาพดูสิ เรา 5 คนอยู่ในลิสต์เดียวกัน เวลาเราไปหาเสียง เราจะหาเสียงกันยังไง คุณกาเลือกพรรคผมแล้วต้องกาผมนะ อย่าไปกาคนนี้ เราเองต้องได้คะแนนเยอะสุดเพื่อให้อยู่ลำดับต้นๆ
ผมได้ยินเขาให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างอำนาจให้กับพลเมือง ท่องกันเป็นคาถา พลเมืองมีอำนาจแล้ว ถ้าคุณเคารพเสียงของเขา เคารพคะแนนที่เขาเลือกตั้ง มันไม่ใช่ไปทำอย่างนี้
และผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองรับไม่ได้ เขามีเหตุผลที่เขาจะรับไม่ได้ คุณอย่าไปว่าเขาว่าพวกนี้เป็นนักการเมือง มันเห็นแต่ประโยชน์ตัวเอง คือส่วนนั้นก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่เอามาทำลายหลักการ ทำให้ต้องแข่งกันเองในพรรค มันไม่ถูกต้อง
ปัญหาใหญ่ซึ่งไม่แก้เลยตั้งแต่ปี 2517 คือการบังคับให้คนลงรับสมัครเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง ในทุกฝ่ายที่เป็นประชาชน ผมประเมินเรื่องบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค คนส่วนใหญ่จะเห็นชอบเพราะเขาติดภาพเรื่อง ส.ส.ขายตัว ส.ส.โสเภณีหรือขายเสียงในสภา อันนี้ก็เข้าใจได้ในบริบทการเมืองไทยที่ผ่านมา แต่ประเด็นคือ เราต้องไม่เอาหลักวิธีคิดแบบนี้มาทำลายหลักการใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เอาประเด็นว่ามี ส.ส.กลุ่มหนึ่งขายเสียงในสภาแล้วเอาตรงนี้กลับมาคิดทำลายหลักเรื่องของสิทธิในทางประชาธิปไตย ผมว่าไม่ถูก เรามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไรที่จะwin-win หลักการยังอยู่ ขณะเดียวกันทางปฏิบัติเราก็ได้ด้วย
ระบบแบ่งเขตบังคับให้คนสังกัดพรรคไม่ได้หรอกโดยสภาพ เพราะมันเป็นสิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง คนแต่ละคนที่เป็นประชาชนพลเมือง เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย เขามีสิทธิลงสมัคร เขาไม่พอใจนโยบายพรรคการเมืองไหนเลย ต้องการลงสมัครเอง ก็ต้องได้ลง อาจมีคนพูดว่าอย่างนี้ก็จะมี ส.ส.อิสระเยอะแล้วจะทำลายความเข้มแข็งของสภา อย่ามาให้เหตุผลแบบนี้กับผมเด็ดขาด ในเมื่อคุณยังอนุญาตให้มีกลุ่มการเมืองเยอะแบบนี้ในสภา คุณจะลิ้นพันกันเอง
ประเด็นของผมคือเปิดโอกาสให้ลง แต่ขณะเดียวกันเราสร้างแรงจูงใจให้คนสังกัดพรรค แรงจูงใจคือต้องชี้ให้เห็นว่าถ้าเป็น ส.ส.อิสระแล้วอภิปรายในสภาจะได้เวลาน้อยมาก มันต้องเฉลี่ยส่วนแล้วเขาจะแบ่งให้เป็นพรรค บทบาทที่คุณได้จะน้อยกว่าการเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา หรือเราอาจกำหนดกฎเกณฑ์สภาขึ้นมา ถ้าเป็น ส.ส.อิสระไม่มีสิทธิเป็นกรรมาธิการ เพราะกรรมาธิการเป็นโควตาของกลุ่ม ส.ส.ในสภาที่สังกัดพรรคการเมืองเดียวกันที่เรียกว่า faction เพื่อทำให้กระบวนการตรวจสอบในสภาเป็นเอกภาพ เป็นกลุ่มก้อน โดยการกำหนดลักษณะแบบนี้ก็จะจูงใจให้คนสังกัดพรรค แต่ไม่บังคับเขา สุดท้ายให้เขาตัดสินใจ ถ้าไม่มีพรรคไหนที่เขาอยากสังกัดก็เรื่องของเขา สุดท้ายประชาชนจะตัดสินใจเอง นี่คือการเคารพประชาชนในที่สุด
เวลาผมให้เหตุผลเรื่องส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ผมไม่ได้ให้เหตุผลแบบปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนท่านหนึ่ง ที่บอกพรรคเอา ส.ส.เข้าคอก ทำให้ ส.ส.อยู่ในอุ้งมือของนายทุนพรรค ไม่ใช่แบบนั้น ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นเรื่องสิทธิของบุคคล เขาควรมีสิทธิจะลงสมัครอิสระ ตราบใดที่เราไม่ได้ใช้ระบบสัดส่วนทั้งหมด ตราบใดที่เรายังมีระบบแบ่งเขต เขาควรลงอิสระได้ แต่ควรใช้วิธีจูงใจให้สังกัดพรรคการเมือง

อิสระกับวินัย

ปัญหาสำคัญอันหนึ่ง พอไปบังคับให้คนลงสมัครสังกัดพรรคหรือกลุ่ม ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อเข้าไปทำงานในสภาแล้วเกิดขัดใจกับพรรคหรือกลุ่มที่ตนสังกัดทำอย่างไร ครั้งนี้ กรรมาธิการทำแตกต่างไปจากเดิมจากรัฐธรรมนูญ 40 รัฐธรรมนูญ 50 หรือของเก่าๆ เที่ยวนี้เท่าที่ผมเห็นในร่างรัฐธรรมนูญไม่มีระบบให้ขับออกจากพรรค แต่ถ้า ส.ส.ลาออกจากพรรคหมดสมาชิกภาพ
ผมก็บอกว่า อ้าว ส.ส.ระบบแบ่งเขตประชาชนเลือกเขามา หรือแม้แต่เป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อก็ตาม แล้วคุณให้เป็น open list มันยิ่งไม่สมเหตุสมผลว่าทำไมออกจากพรรคแล้วต้องหมดสมาชิกภาพ เพราะ Mandate เขามาจากประชาชน หลักคิดหรือ logic มันไม่ได้ไปด้วยกัน กลับไปกลับมา
ถ้าพรรคถูกยุบคุณต้องหาพรรคใหม่อยู่ให้ได้ตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไม่อย่างนั้นหมดสมาชิกภาพ แต่ถ้าคุณมีเรื่องขัดใจกับพรรค พรรคขับคุณออกไม่ได้ สมมติคนส่วนใหญ่ของพรรคบอกคุณทำให้พรรคเสียหายมากๆ แล้วพรรคจะทำยังไง
เขาบอกต้องให้ ส.ส.มีความเป็นอิสระ เดี๋ยวพรรคจะโดนครอบงำ มันคนละประเด็นกัน อิสระของ ส.ส.กับวินัยของพรรคมันไปด้วยกันได้ เราเข้าใจอิสระผิด เราไปเข้าใจว่า ส.ส.ไม่ผูกพันมติของพรรค โหวตอย่างไรก็ได้ ทำตัวยังไงก็ได้ ทำแล้วพรรคจะขับออกจากพรรคไม่ได้ ไม่ใช่ มันเหมือนกับผู้พิพากษาตุลาการเป็นอิสระ อิสระนี้หมายถึงใครจะมาสั่งคดีคุณไม่ได้ รับใบสั่งไม่ได้ ตัดสินไปตามหลักความยุติธรรม ตีความกฎหมายตามหลักที่ถูกต้องที่เรียนมา ในกรอบนี้คุณอิสระ แต่ไม่ใช่ว่าจะมาเปิดศาลตอนห้าทุ่ม นัดคู่ความเก้าโมงมาสิบเอ็ดโมงแล้วบอกว่าอิสระ นี่มันเรื่องวินัย อิสระกับวินัยต้องไปด้วยกัน
เวลาเราประกันอิสระของ ส.ส.หมายความว่า เวลาที่เขาจะโหวต พรรคไปบังคับเขาไม่ได้ แล้วจะเอาเหตุที่เขาไม่โหวตตามพรรคไปไล่เขาออกไม่ได้ เพราะมันมีหลักอาณัติมาจากประชาชน เขาเป็นผู้แทนของประชาชน เขาโหวตตามมโนสำนึกของเขา แต่แน่นอนพรรคมีมติแนะนำได้ มันเป็นนโยบายของพรรคที่พรรคหาเสียงมา เช่น หาเสียงว่าเข้าไปในสภาแล้วจะแก้กฎหมายทำแท้ง ขยายเหตุทำแท้งให้กว้างขึ้น ไม่ให้คนไปทำแท้งเถื่อน ส.ส.ก็รู้นโยบายของพรรคตั้งแต่แรก แต่พอจะโหวตกฎหมายบอกว่าผมไม่โหวตให้หรอก ก็เรื่องของเขา แล้วพรรคจะไปขับเขาออกไม่ได้ แต่พรรคบอกว่าครั้งต่อไปผมไม่ส่งคุณลงได้
แต่ถ้า ส.ส.คนนั้นทำตัวให้พรรคเสียหายเสียชื่อเสียง หรือไม่มาประชุมสมาชิก คุณหายไปเลย อันนี้เขาต้องมีสิทธิจะเอาออก จะอยู่ด้วยกันได้ยังไง เพราะสิ่งที่เขาพูดเขาทำมันทำในนามพรรคด้วย คำว่าพรรคที่ผมพูดทั้งหมดนี้หมายถึงกลุ่ม ส.ส.ของพรรคการเมืองเดียวกันในสภาที่รวมกันเป็น faction เดียวกัน ขับออกจากพรรคในที่นี้หมายถึงขับออกจาก faction แต่บ้านเราไม่มีแนวคิดเรื่อง faction ที่เป็นกลุ่ม ส.ส. ในสภาของพรรคการเมืองเดียวกัน ผมก็จะใช้คำว่าขับออกจากพรรคเพื่อความเข้าใจเบื้องต้นก่อน

ในทางปฏิบัติเขาอาจกลัวว่า พรรคการเมืองจะหาเหตุว่าผิดวินัยแล้วเอาออกได้

ใช่ แต่เหตุอันนี้ตรวจสอบได้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบว่าคุณขับเขาออกจากพรรคมันมีเหตุที่ผิดวินัยพรรคจริงหรือเปล่า มันมีกลไกเยียวยาได้ แต่ปัญหาที่เป็นงูกินหางแบบนี้ เป็นเพราะไปบังคับให้เขาต้องมีพรรคมีกลุ่มอยู่ตลอดเวลา เพราะสุดท้ายต่อให้มีการขับจริง แล้วเขาบอกมติของพรรคไม่ชอบก็ไม่ควรให้ขับออกได้ใช่ไหมครับ แต่ต่อให้มติชอบแล้วขับออกได้ก็ต้องไม่ให้เขาเสียสมาชิกภาพ หลักควรจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ออกปุ๊บแล้วหมดสมาชิกภาพ มันเป็นปัญหาหลักคิด
บ้านเราคิดว่า ส.ส.ต้องมีพรรคตลอดเวลา รัฐธรรมนูญ 40 กับ 50 พยายามจัดการปัญหานี้แต่ไม่ค่อยดี สุดท้ายมาฉบับนี้เลยไม่ให้ขับออกจากพรรคเลย แล้วก็ประกันว่าให้ส.ส.มีอำนาจเยอะ จริงๆ ก็คือประกันให้พรรคทำอะไรไม่ได้ มันต้อง balance สองเรื่องเข้าด้วยกัน เรื่องอิสระของ ส.ส. กับวินัย คนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่มีวินัยจะทำงานกันยังไง

ประเด็นจำนวน ส.ส.

จำนวนของ ส.ส.ก็โอเค น้อยลงกว่าเดิมคือ 450 –470 จำนวนโอเค ถือว่าแฟร์ๆ 500 คนอาจจะเยอะไป 400-450 ผมว่าโอเค
หลักคิดเรื่องจำนวน เดิมทีเราคำนวณจากสัดส่วนจำนวนประชากร ซึ่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส. บ้านเราอยู่ที่ระดับประมาณ 400 หรือ 390 กว่าๆ พอรัฐธรรมนูญ 2540 มีการต่อรองกัน พวกนักการเมืองที่มาจากระบบแบ่งเขตก็ไม่อยากสูญเสียพื้นที่ของเขาจึงกำหนดให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมี 400 บวกแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 จึงกลายเป็น 500 มาตั้งแต่ตรงนั้น ซึ่งมันอาจจะโป่งไปกว่าที่จะเป็นนิดนึง แต่เรื่องนี้อาจไม่เป็นประเด็นที่เป็นสาระสำคัญมาก
เรื่องของการทำลิสต์เป็นภาคก็ไม่ได้มีอะไร เพราะเรื่องนี้ผมได้วิจารณ์ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 แล้วว่าถ้าไม่ทำเป็นเขตประเทศทั้งหมดก็ต้องแบ่งลิสต์ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ปัญหาของร่างนี้จึงอยู่ที่โอเพ่นลิสต์เป็นหลัก รวมทั้งเรื่องที่ไม่มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำที่พรรคพึงจะได้จากคะแนนที่สอง เพื่อทำให้ไม่มีกลุ่มย่อยๆ ในสภาเยอะจนเกินไป แต่เรื่องนี้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งเขาอาจแก้ปัญหาได้เองโดยพฤติกรรมของเขาถ้าเขาเลือกพรรคใหญ่หมด อันนี้ดูพฤติกรรมการเลือกตั้งประกอบ แต่ในทางหลักการ การออกแบบแบบนี้มันไม่ค่อยถูก เพราะอาจจะทำให้มีกลุ่มๆต่างๆมากเกินไปในสภา

การแบ่งลิสต์ตามภาค

เหตุผลที่แบ่งเป็นภาคคือไม่เช่นนั้นลิสต์มันจะใหญ่มาก คือลิสต์ 200 คน เพราะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 มันไม่ใช่ 100 แล้ว จึงแบ่งเป็นภาคและเปิดเป็นโอเพนลิสต์ด้วย คิดว่าอย่างนั้น ความเป็นภาคมันจึง support วิธีคิดแบบนี้ด้วยส่วนหนึ่ง จริงๆ ระบบโอเพ่นลิสต์มันไม่ถูกกับระบบแบบนี้ ส่วนที่เป็นภาคก็โอเคหากมีฟังก์ชั่นของภาคในอนาคต ซึ่งทุกวันนี้มันไม่มี
แต่อย่างน้อยการแบ่งเป็นภาคในรัฐธรรมนูญนี้ ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ในตอนที่แบ่งเป็นจังหวัดโดยเอาประชากรใกล้เคียงมาเฉลี่ยกัน ทำให้จังหวัดมารวมกันในแบบที่ไม่เกี่ยวกัน อันนี้อาจเป็นประเด็นเดียวที่เรื่องของระบบเลือกตั้งอาจจะดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2550
เขาจะแบ่งเป็น 6 ภาค โดยได้จังหวัดที่ติดกัน โดยสภาพของการแบ่งในรัฐธรรมนูญ เขียนว่าการแบ่งไม่ต้องแบ่งเท่ากัน มันก็จะมีภาคเล็กภาคใหญ่ ส.ส.ลิสต์ในแต่ละภาคก็จะไม่เท่ากัน ลิสต์ของภาคใต้อาจจะน้อยกว่าอีสานตอนบน เป็นต้น เพราะขนาดของบัญชีรายชื่อของภาคก็จะผันแปรตามประชากร

ในเยอรมันมันใช้มลรัฐ ของเยอรมันก็มีเหตุผลเพราะเป็นระบบสหพันธ์ บ้านเราเป็นรัฐเดี่ยว อาจจะมีคนติงประเด็นนี้ แต่ถ้าไม่แบ่งลิสต์มันก็จะใหญ่มาก

ข้ามไปมาตรา 133 ก่อน ที่ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาจากฝ่ายค้าน เคยมีที่ไหนบัญญัติอย่างนี้ไหม มีเหตุผลรองรับอย่างไร แล้วจะส่งผลอย่างไร

ในรัฐธรรมนูญของไทยผมไม่เคยเห็นมาก่อน รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ผมเคยศึกษาก็ไม่มีการเขียนในลักษณะเช่นนี้ ปกติแล้วตำแหน่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่จะกำหนดในข้อบังคับการประชุมสภา ตามจารีตธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป กลุ่ม ส.ส.ของพรรคการเมืองเดียวกันในสภาหรือพรรคในสภา พรรคใดได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีธรรมเนียมว่าพรรคฝ่ายค้านต้องได้ตำแหน่งรองประธานสภา เพราะพรรคฝ่ายค้านอาจจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นลำดับสามลำดับสี่ก็ได้ เรื่องพวกนี้ไม่ควรไปกำหนดตายตัว
เรื่องเหตุผลนี้ผมไม่แน่ใจ อาจจะเป็นว่าคนร่างไม่ต้องการให้พรรครัฐบาลได้เก้าอี้ตำแหน่งต่างๆในสภาผู้แทนราษฎรไปหมด เลยกำหนดไว้เลยให้รองประธานสภาคนที่หนึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้าน อันนี้เป็นการกำหนดที่ตายตัวเกินไป และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานก็ได้ ถ้าจะกำหนดผมว่ากำหนดกว้างๆให้มีคณะผู้บริหารสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากพรรคต่างๆดีกว่า อาจจะเรียงตามลำดับจำนวนและสัดส่วนเก้าอี้ในสภา จากนั้นค่อยให้คณะผู้บริหารเหล่านั้นตกลงกันว่าจะกำหนดตำแหน่งรองประธานสภาอย่างไร แล้วให้ที่ประชุมสภาเลือกอีกทีหนึ่ง ซึ่งคณะผู้บริหารนี้ย่อมจะมีคนจากพรรคฝ่ายค้านร่วมอยู่แล้ว ส่วนว่าจะถึงขนาดต้องเป็นรองประธานสภาคนที่หนึ่งเลยไหม อันนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความตกลงกัน มากกว่าเขียนบังคับ

วุฒิเลือกตั้งกำมะลอ

เรื่องวุฒิสภา ที่จริงผมแทบไม่ต้องพูดอะไรเลยเพราะมีคนพูดเยอะมากแล้ว คือมีวุฒิฯอย่างนี้อย่ามีเลย เอาสภาเดียวไปเลยดีกว่า
ต้องถามก่อนเรื่องการมีวุฒิสภามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะเดิมทีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเราใช้ระบบสภาเดียว การมีสภาที่ 2 มันเริ่มต้นในรัฐธรรมนูญ 2489 ตอนนั้นเรียกพฤฒสภาที่แปลว่าสภาผู้อาวุโส แต่จะสังเกตเห็นว่าเขาเรียกสภาผู้แทนราษฎรว่า ‘สภาผู้แทน’ เฉยๆ แล้วก็มีพฤฒสภา เหตุเพราะทั้งสภาผู้แทนและพฤฒสภาเป็นสภาที่มาจากราษฎรด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าสภาผู้แทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง พฤฒสภามาจากเลือกตั้งโดยอ้อม หมายถึงว่าประชาชนเลือกบุคคลและบุคคลเหล่านั้นไปเลือกสมาชิกพฤฒสภาอีกทีหนึ่ง
แต่รัฐธรรมนูญ 2489 ที่สามารถอธิบายที่มาที่ไปของ 2 สภา ถูกฉีกไปตอนรัฐประหาร ผิน ชุณหะวัณ ปี 2490 หลังจากนั้นเกิดรัฐธรรมนูญ 2492 เกิดวุฒิสภาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยผู้ลงนามรับสนองฯ คือประธานองคมนตรี เห็นสภาพใช่ไหม นี่เป็นโมเดล
รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการย้ำสภาพแบบ 2492 โดยลักษณะ ตอนแรกกรรมาธิการยกร่างฯ พูดว่ามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งก็เป็นการพูดไม่จริง เพราะคำว่าเลือกตั้งต้องไปหาประชาชนที่เป็นคนเลือก แต่นี่เขาให้เป็นระบบคัดคนมาเลือกกันเอง หรือกลุ่มอาชีพเลือก อะไรประมาณนี้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมหรอก ที่สื่อเรียกว่าลากตั้งก็อาจจะไม่ผิดนัก
เมื่อถูกวิจารณ์มากก็เลยไปปรับ ซึ่งเป็นการปรับแบบไม่เต็มใจ เพราะไปตีอันหนึ่งที่เป็นกล่องดวงใจของคนร่างรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นกล่องดวงใจอันหนึ่ง ใน 2-3 องค์กร นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของวุฒิสภาจึงมาจากการสรรหาแบบเลือกกันเอง บวกกับการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา และบวกกับ “การเลือกตั้ง” ที่คนจะลงสมัครต้องผ่านการกลั่นกรองก่อน กลุ่มที่มาจากการสรรหาแบบเลือกกันเอง ก็เช่น อดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ พวกผู้แทนสภาวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพ พวกผู้แทนองค์กรด้านต่างๆ พวกนี้เลือกกันเอง กลุ่มที่จะมีคณะกรรมการมาสรรหา พวกนี้กำหนดคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ และให้มีคณะกรรมการสรรหาเป็นคนเลือก พวกสุดท้ายนี่จะเป็นพวกที่ประชาชนเลือก แต่ก็ต่างจากรัฐธรรมนูญ 50 ที่จะลงเลือกตั้งได้ต้องผ่านการกลั่นกรองเสียก่อน
การเอาอดีตข้าราชการประจำมาก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นเรื่องคนชรา มีสภาพความเป็นชราธิปไตยนิดหน่อย คือเน้นว่าประเทศนี้มันต้องให้คนที่มีวัยวุฒิมีอำนาจในเชิงการปกครอง เราจะเห็นว่าคณะกรรมการแต่งตั้งต่างๆ ก็จะเอาพวกเกษียณมาส่วนหนึ่ง พวกเกษียณบางส่วนก็อยู่ในองค์กรอิสระอีก จริงๆผมไม่ได้รังเกียจเดียดฉันอะไรกับท่านผู้มีวัยวุฒิสูง เพราะหลายท่านก็มีความรู้ความสามารถจริง แต่ควรจะมาแบบชอบธรรม ไม่ควรจะมาแบบที่กำหนดในรัฐธรรมนูญนี้

ในวุฒิสภาที่กำหนดไม่เกิน 200 คน ก็มาจากพวกสรรหากับพวกถูกกลั่นกรองแล้วก็ให้ประชาชนเลือก ที่น่าประหลาด สาเหตุที่ถูกวิจารณ์มากคือมันยิ่งหนักว่ารัฐธรรมนูญ 2550 อีก เพราะปี 50 ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหาครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง แต่เที่ยวนี้เกินครึ่งประมาณ 2 ใน 3 มาจากการสรรหา อีก 1 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านการกลั่นกรอง เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เต็มใจให้ประชาชนเลือกเลย คือมีคณะกรรมการมากลั่นกรองคนให้ประชาชนเลือก คนจะสมัครสมาชิกวุฒิสภาก็ต้องผ่านกรรมการกลั่นกรองก่อน สมมติผมสมัครก็ไม่แน่ว่าจะผ่านการกลั่นกรองหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านประชาชนก็จะไม่มีโอกาสเลือกผมเป็น ส.ว.

นี่ไม่มีพื้นฐาน (ground) ทางประชาธิปไตยเลย เรื่องสรรหาชัดเจนว่าไม่มี ที่น่าเกลียดไปกว่านั้นคือใช้การเลือกตั้งกํามะลอ การเลือกตั้งวุฒิสภาเป็นการเลือกตั้งกํามะลอ เพราะการเลือกตั้งต้องให้คนมีโอกาสเลือก และคนที่จะสมัครต้องมีโอกาสลงให้เขาเลือกด้วย ไม่ใช่ต้องผ่านการกลั่นกรองก่อน
ทำเหมือนเป็นเครื่องกรองน้ำ คือคล้ายๆกับคิดว่าประชาชนมันไม่รู้หรอกว่าน้ำแบบไหนดื่มได้แบบไหนดื่มไม่ได้ มีเครื่องกรองสักนิดว่าอันนี้เป็นน้ำบริสุทธิ์แล้วให้ประชาชนดื่ม ซึ่งเครื่องกรองอาจจะมีปัญหาด้วยก็ได้ คือไม่รู้ว่ากรองของดีมาให้ประชาชนเลือกหรือกรองของไม่ดีมาให้ประชาชนเลือก เราคิดว่าคณะกรรมการกลั่นกรองต้องกรองของดีมา แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าคณะกรรมการกลั่นกรองจะไม่กรองของดีออก แล้วเอาของเสียมาให้เลือก

อำนาจกดดันนายกฯ

อำนาจสำคัญข้อหนึ่งของวุฒิสภา ก็คืออำนาจตามมาตรา 130 วรรค 2 อำนาจในการที่จะให้ความเห็นคนที่จะเป็นรัฐมนตรี ต่อไปคนที่จะเป็นนายกฯ เลือกใครเป็นรัฐมนตรีก็ต้องส่งชื่อไปให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นก่อน วุฒิสภาก็จะไม่มีอำนาจบอกว่าไม่เอาหรือเอา คือให้ความเห็นเฉยๆ แต่ความเห็นที่ให้นั้น ให้แล้วก็ประกาศให้ประชาชนทราบ การทำแบบนี้คือการสร้างแรงกดดันให้กับคนที่เป็นนายกฯ คล้ายว่านายกฯ จะเลือกใครก็จะต้องไปผ่านวุฒิสภา เข้าใจว่าเขาพยายามให้วุฒิสภามาเป็นคนดูว่าคนแบบไหนที่ไม่ควรเป็นรัฐมนตรี ความเห็นที่เขาให้นั้นเป็นความต้องการให้มีผลทางการเมือง
คำถามคือมันเป็นหน้าที่อะไรของคุณ ในแง่ของความชอบธรรม คุณจะมีความเห็นก็มีความเห็นไปแบบคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีความเห็น เพราะสุดท้ายพวกฝ่ายบริหารเขาบริหารไปเขาก็ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบคนที่ตัวเองเลือกอยู่แล้ว มันเป็นอำนาจในการจัดการดุลอำนาจภายในของเขาในพรรคการเมืองต่างๆ เขาต้องจัดการตรงนี้

ทั้งๆ ที่มาของวุฒิสภาไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลย

อาจจะมี 77 คน แต่ก็ไม่ใช่การเลือกตั้งในความหมายที่แท้จริง เพราะตัวเลือกที่คนจะเลือกถูกคัดมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ต้องการให้วุฒิสภามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย วิธีการที่เขาพูดถึงคือต้องการให้เป็นสภาหุนิยม ขอโทษเถอะ ความเป็นพหุนิยมนี่มันมีในหมู่ประชาชน ประชาชนเขาแสดงออกอยู่แล้วผ่านการเลือกคนของเขาเข้าไปโดยสภา ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาอุปโลกน์ตัวเองมาสร้างความเป็นพหุนิยมให้กับคนอื่น แล้วโดยเนื้อแท้มันคือการเอากลุ่มก้อนของคนจำนวนหนึ่งที่เป็นอดีตข้าราชการเป็นผู้แทนองค์กรต่างๆ เข้าไป
แล้วก็ไปอ้างต่างประเทศ อังกฤษบ้าง แคนาดาบ้าง คำถามคือเวลาคุณไปอ้างต่างประเทศคุณดูหรือไม่ว่าวุฒิสภาของประเทศอื่นเขามีอำนาจมากมายอย่างวุฒิสภาบ้านเราหรือเปล่า ยิ่งเขียนก็ยิ่งอำนาจเยอะขึ้น แต่ยิ่งอำนาจเยอะขึ้นที่มายิ่งถอยห่างจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น คือทำกลับทิศเลย สวนทิศทางในทางประชาธิปไตยเลย

มีอำนาจออกกฎหมายเองได้ด้วย

วุฒิสภายังมีอำนาจในแง่ของการตรากฎหมาย แล้วตราแบบเป็นสภาหลักได้ด้วย หมายถึงเป็นสภาแรกในแง่ของการตรากฎหมาย ไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงสภากลั่นกรอง ถ้าร่างกฎหมายนั้นเสนอมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป วุฒิสภาก็จะมีบทบาทเป็นสภาหลักในการตรากฎหมายทันที ต่างจากกฎหมายทั่วไปที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาหลักในแง่ของการตรากฎหมาย ระบบที่วุฒิสภาเป็นสภาหลักกลายเป็นการกลับหัวกลับหาง ผลของมันคืออาจจะมีกฎหมายจำนวนหนึ่งที่มาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป อาจจะผ่านไปเป็นกฎหมายได้โดยที่ไม่เชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตย