วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เว็บรัฐบาล-ไอซีที-ความมั่นคงล่มรัวๆ ไม่ต่ำกว่า 6 เว็บ คาดต้าน 'ซิงเกิลเกตเวย์'


เว็บหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการซิงเกิลเกตเวย์ทยอยล่ม คาดเกิดจากการระดมเข้าเว็บของกลุ่มต้าน ด้านไอซีทีแจง เว็บไม่ได้ล่ม แค่ 'ช้า'-ถามคนทำ ทำไมไม่คุยกันก่อน ตร.เผยโจมตีเว็บ ผิด ม.10 พ.ร.บ.คอมฯ-ยัน จนท.หาตัวคนโจมตีได้
30 ก.ย. 2558 ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำที่ผ่าน เว็บไซต์หน่วยงานราชการหลายแห่งล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเริ่มจากเว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ http://www.mict.go.th/ ตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. เป็นเวลา 45 นาที ก่อนจะล่มอีกครั้งในช่วง 20.00 น.
เว็บที่ล่มต่อมา คือ เว็บ กสท www.cattelecom.com, เว็บกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) http://center.isocthai.go.th/, เว็บทำเนียบรัฐบาล http://www.thaigov.go.th/, เว็บสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม http://opsd.mod.go.th/Home.aspx และเว็บทีโอที http://www.tot.co.th ตามลำดับ
ล่าสุด เวลา 23.05 น. พบว่าเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ http://www.democrat.or.th/ ล่มเช่นกัน โดยพบว่ามีการโพสต์ลิงก์เว็บประชาธิปัตย์โดยเพจ โหดสัส ตามภาพ
นอกจากนี้ พบว่า เว็บกองบัญชาการกองทัพไทย http://rtarf.mi.th/rtarf_inter/index_new.html  ก็ใช้งานไม่ได้เช่นกัน โดยปรากฏข้อความ "ขอระงับการใช้ชั่วคราว"
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา มีการส่งข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบุว่า วันนี้ หลังเวลา 22.00 น. กลุ่มผู้ที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านระบบซิงเกิลเกตเวย์ จะถล่มเว็บไซต์เชิงสัญลักษณ์ ด้วยวิธีการ DDoS เพราะเป็นวิธีที่ทุกคนที่มีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชน โดยเป้าหมายแรกคือเว็บไซต์กระทรวงไอซีที และเมื่อเว็บไซต์ดังกล่าวล่มไปแล้ว จะแจ้งเป้าหมายใหม่ให้ทราบ ลงชื่อ "แหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนาม" จากนั้น เมื่อเว็บไอซีทีล่ม ก็มีข้อความที่ส่งต่อๆ กันชี้เป้าต่อไป โดยมีการโพสต์ในลักษณะกระจาย ทั้งในเฟซบุ๊กส่วนตัวและเฟซบุ๊กเพจ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ชุดแรก (ไม่นับพรรคประชาธิปัตย์) เป็นเว็บของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีโครงการซิงเกิลเกตเวย์ โดยในข้อสั่งการของนายกฯ ระบุให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการเร่งรัดการติดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลงานกระทรวงไอซีทีให้ข่าววานนี้ว่า นอกจากไอซีทีแล้ว ได้ให้ทางบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของซิงเกิลเกตเวย์
 
ไอซีทีแจง เว็บไม่ได้ล่ม แค่ 'ช้า'-ถามคนทำ ทำไมไม่คุยกันก่อน
ด้านเว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ปลัดกระทรวงไอซีที ให้สัมภาษณ์ว่า จากการที่นัดแนะเข้าโจมตีเว็บไซต์เพื่อต่อต้านนโยบายซิงเกิลเกตเวย์นั้น จากตรวจสอบแล้วพบว่าเว็บไซต์ของกระทรวงไม่ได้ล่มเพียงแต่มีปริมาณผู้ใช้งานจำนวนมาก จำนวนทำให้การทำงานช้าลงเท่านั้น
น.อ.สมศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า ขอถามกับคนที่ทำเรื่องนี้ว่าทำเพื่ออะไร กระทรวงยังไม่ได้ดำเนินการอย่างใด ทำไมไม่มาร่วมพูดคุยหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมมือกัน ดีกว่าใช้วิธีชักชวนกันทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ นอกจากนี้ เมื่อเว็บไซต์ล้ช้าใช้งานไม่ได้ ก็จะส่งผลเสียต่อประชาชนที่ต้องการเข้าไปดูข้อมูลข่าวสารจากกระทรวง การใช้โซเชียลปั่นกระแสจะมีแต่ทำให้สังคมสับสน ทุกวันนี้รู้หรือไม่ว่าไอซีทีทำอะไรไปถึงไหน เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย มีอะไรก็มาคุยหารือกัน ขอให้เห็นแก่รัฐเห็นแก่สังคม เอาความรู้ความสามารถช่วยกันให้สังคมเกิดความปลอดภัยดีกว่า ทำแบบนี้เกิดประโยชน์กับสังคมตรงไหน

ตร.เผยโจมตีเว็บ ผิด ม.10 พ.ร.บ.คอมฯ-ยัน จนท.หาตัวคนโจมตีได้
ด้านไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เปิดเผยว่า การโจมตีเว็บไซต์ใดๆ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 10 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยยืนยันว่า จากเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบย้อนหลังไปถึงผู้ที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตโจมตีเว็บไซต์ของรัฐได้ทุกคน

ชาวสวนยาง 16 จังหวัดใต้ ร้องประยุทธ์ชดเชยส่วนต่างกก.60 บ. ตั้งกก.สอบผู้ทรงคุณวุฒิ


เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นำโดย สุนทร รักษ์รงค์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท และขอให้มีการอนุมัติกองทุนข้าวสารที่ได้มีการหารือในสมัยที่ อำนวย ปะติเส อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่มีแนวคิดนำยางพารามาแลกเป็นข้าวสารที่ค้างสต๊อกอยู่ โดยจะขอซื้อเพื่อขายต่อให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในราคาถูก แต่ต้องไม่ใช่ข้าวเน่า และเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับชาติ จังหวัด และระดับพื้นที่ในการดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
สุนทร กล่าวว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติราคายางตกต่ำเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีผลผลิตราคาตกต่ำมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี จนทำให้เกิดวิกฤตส่งผลกระทบต่อชาวสวนยาง จึงขอให้ผู้มีอำนาจดูแลความร้อนจากล่างขึ้นบน โดยเริ่มดูแลเกษตรกรชาวสวนยางก่อนดูแลบริษัทรับซื้อยางใหญ่ๆ ทั้งนี้ การติดป้ายประกาศ และจะมีการรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพื่อขอเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นช่องทางที่ทำให้เกษตรกรไม่อึดอัด เพราะขณะนี้มีทั้งพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ และคำสั่งตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 ฉบับชั่วคราวเป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว แต่หากนายกรัฐมนตรีเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและความเดือดร้อนของเกษตรกรก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
นอกจากนี้ สุนทร ยังขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีการตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยมิชอบในสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีการแฝงการเลือกตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดเวทีสัมมนาการขับเคลื่อน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายลูก แต่ตามกฎหมายสมัชชาฯ ไม่สามารถคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ เพราะยังไม่มีระเบียบการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกร ที่ขณะนี้ตนและสมาคมฯ ได้ออกจากสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยแล้ว

เพื่อไทยแถลงค้าน Single Gateway ชี้ผลเสียมากกว่าผลดี-เสี่ยงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล


1 ต.ค.2558 อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงท่าทีของพรรคเพื่อไทย ทีมีต่อกรณีการจัดตั้ง Single Gateway ระบุไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เชื่อว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี สุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงมีและควรได้รับการคุ้มครอง
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต ​โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไปด้วยนั้น และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดตั้ง Single Gateway ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยด่วนต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการและโครงการสำคัญต่างๆ เร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ซึ่งมติดังกล่าวได้รวมถึงเรื่องการจัดตั้ง single gateway ที่ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2558ได้สั่งการให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนสิงหาคม 2558 และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเร่งรัดการดำเนินการเรื่องดังกล่าวและรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบภายในเดือนกันยายน 2558 ต่อไปด้วยนั้น
ตามเหตุผลที่คณะรัฐมนตรีกล่าวอ้าง ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวภาครัฐจะสามารถควบคุมดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถคัดกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และปิดกั้นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชน รวมถึงสามารถใช้คุณลักษณะของระบบเพื่อควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมได้อย่างสะดวก แต่โครงการดังกล่าวหากดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง เชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบด้านลบอื่นๆตามมาหลายประการด้วยเช่นกัน เพราะจากข้อเท็จจริงที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน IT จำนวนมากได้แสดงความเห็นไว้พบว่า เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนวิธีการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศจากหลายช่องทางเป็นช่องทางเดียว ข้อมูลจำนวนมากย่อมไหลเข้าออกในช่องทางเดียว เมื่อไรก็ตามที่ปริมาณข้อมูลมีจำนวนมาก เมื่อนั้นย่อมส่งผลให้ความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ตลดลง และเมื่อไรก็ตามที่ช่องทางสื่อสารช่องทางเดียวเกิดปัญหาทางเทคนิคหรือ gateway ล่มใช้งานไม่ได้ ความผิดพลาดดังกล่าวอาจส่งผลให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั้งประเทศ และถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคธุรกิจ ผู้ลงทุนทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศย่อมขาดความมั่นใจและเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยอาจขาดโอกาสที่จะยกระดับขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน นอกจากนั้นการที่ประเทศไทยเปลี่ยนไปใช้ระบบการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศช่องทางเดียว หากผู้มีอำนาจดำเนินการควบคุมข้อมูลต่างๆอย่างไม่เป็นระบบและขาดมาตรฐานที่ชัดเจน การดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในระบบการสื่อสารช่องทางเดียวนี้ หากผู้มีอำนาจมีความประสงค์จะตรวจสอบหรือปิดกั้นข้อมูลต่างๆของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และ social media ในประเทศไทย ท่านก็สามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว พรรคเพื่อไทยในฐานะของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นและเติบโตมาตาม กระบวนการประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการสื่อสารถึงกัน สิทธิในความเป็นส่วนตัวของพี่น้องประชาชน ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ขอแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะหากปล่อยให้มีการดำเนินการโครงการต่อไปพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีตามเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว โดยเฉพาะการควบคุมข้อมูลต่างๆของรัฐ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงมีและควรได้รับการคุ้มครองโดยปราศจากเงื่อนไขตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นสากล

‘น้องกะลา ต้านซิงเกิลเกตเวย์’ แถลงปฏิเสธเอี่ยวเหตุเว็บไอซีทีล่ม พร้อมเสียใจอย่างสุดซึ้ง

1 ต.ค. 2558 จากเหตุการณ์เมื่อช่วงค่ำวานนี้(30 ก.ย.58)ที่ผ่าน เว็บไซต์หน่วยงานราชการหลายแห่งล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเริ่มจากเว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
วันเดียวกัน Coconut Shell Thailand ซึ่งนำทีมโดย ‘น้องกะลา’ ผู้ตั้งแคมเปญ “ต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์ Go against Thai govt to use a Single Internet Gateway.” ใน change.org ซึ่งล่าสุด(1 ต.ค.58) มีผู้สนับสนุน 135,395 คน แล้ว ออกแถลงการณ์ปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถล่มเว็บไซต์ไอซีที และอื่นๆ ของทางราชการ
โดยระบุว่า มีข่าวเรื่องชาวเน็ตนัดกันรวมตัวต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์โดยการเตรียมเข้าถล่มเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอีกหลายเว็บของทางราชการ ทาง Coconut Shell Thailand นำทีมโดย ‘น้องกะลา’ ขอปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ที่ได้รับผลกระทบ และทางทีมงานขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมา ณ ที่นี้
“ตอนนี้แคมเปญมีผู้สนับสนุนถึงแสนรายชื่อแล้ว เรายังไม่หยุดนะครับและคิดว่าเร็วๆ อาจมีโปรเจ็คพิเศษที่อยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม” น้องกะลา กล่าว

ไอซีทีแถลงยันจะไม่ลิดรอนสิทธิปชช. เผยเหตุเว็บล่าช้าหน่วยงานมีสิทธิดำเนินการทางกม.ได้

1 ต.ค. 2558 อุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) แถลง กรณีเว็บไซต์กระทรวงเกิดการขัดข้องเมื่อคืนที่ผ่านมา(30ก.ย.)ว่า จากการรายงานพบว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการเข้าสู่เว็บ เพื่อใช้งานจำนวนมากผิดปกติ ทำให้ผ่านเข้าสู่เว็บไซต์มีความล่าช้า โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของอยู่ในช่วงเวลาที่หลายฝ่ายกำลังสนใจเรื่องซิงเกิลเกตเวย์  จึงอาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่า มีคนบางกลุ่มมีความคิดเห็นและเขากังวลเกี่ยวกับ ซิงเกิ้ลเกตเวย์ อย่างไร การที่เว็บไซต์ทำงานได้ช้าลง ยังน้อยถือเป็นความตั้งใจโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยราชการรัฐ
อุตตม กล่าวอีกว่า ภารกิจหลักของรัฐบาลคือการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลออกสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอล โดยเน้นประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ก้าวทันต่างประเทศ ยืนยันว่า จะไม่มีการกระทำใดที่จะลิดรอนสิทธิของประชาชนของคนไทยหรือของผู้ใดก็ตาม รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะปิดกั้นหรือลิดรอนการใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันหรือในทางธุรกิจรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะทำเช่นนี้
อุตตม กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเรื่องการใช้ข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมจึงให้มีการศึกษาแนวทางที่จะดูแลให้การใช้ข้อมูลความปลอดภัย กระทรวงจะส่งเสริมและพัฒนารวมถึงให้หลักประกันให้เยาวชนให้ใช้อินเตอร์เน็ตในการเรียนรู้อย่างเสรี
“ไม่อยากให้มีคำว่าซิงเกิลเกตเวย์อีก รัฐบาลไม่ได้มีแนวทางที่จะทำสิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงการศึกษาเพื่อดูแลความเหมาะสมให้กับเยาวชน ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกปิดร้านสิทธิเสรีภาพในการใช้แต่เน็ตไม่มีแน่นอนรัฐบาลจะไม่มีการดำเนินการคืนนั้นมันผิดอย่างมากและจะไม่ทำเช่นนั้น” อุตตม กล่าว
อุตตม กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหา กระทรวงจะปรับปรับปรุงทรัพยากรระบบให้เหมาะสม รองรับ ความต้องการของ ประชาชนที่ต้องการเข้ามาใช้งานข้อมูลจากเว็บไซต์จำนวนมาก
ด้าน ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมีผลกระทบกับการให้บริการหรือความเสียหายกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ที่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้
ม.ล.ปนัดดา ยันนายกฯเพียงแต่สั่งให้ศึกษา ยังไม่เคยมีการระบุว่าจะใช้
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสการคัดค้านซิงเกิล เกตเวย์ ว่า ตามที่เข้าใจ นายกรัฐมนตรีเพียงแต่สั่งให้ทำการศึกษาเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ ตามที่มีผู้เสนอในบริบทของความมั่นคง แต่ยังไม่เคยมีการระบุว่าจะใช้ระบบดังกล่าว และเป็นที่รับรู้กันดีว่าระบบซิงเกิล เกตเวย์นั้นมีความไม่เสถียร ล่มง่าย หรืออาจะถูกแฮกได้ง่ายซึ่งกระทบความมั่นคงปลอดภัยของระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศ และอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการและบรรดานักลงทุนตัดสินใจย้ายไปใช้บริการนอกประเทศ กระทบต่อเศรษฐกิจของไทยต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่าการศึกษาระบบซิงเกิล เกตเวย์เอาไว้ย่อมไม่เสียหลาย