วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

‘ประยุทธ์’ ขอใช้ ม.44 ห้ามใช้คำ "คนรากหญ้า" แต่ใช้ "คนที่มีรายได้น้อย" แทน


26 ส.ค. 2558 มติชนออนไลน์ เดลินิวส์ Spring News และ Now26.TV รายงานตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องปฏิรูปการศึกษาสร้างอนาคตประเทศไทย ในงานสัมมนา เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์สู่อนาคต จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง นักการเมืองต้องยอมรับผลประโยชน์ของชาติแม้ความเห็นจะไม่ตรงกัน รวมถึงยุติความขัดแย้งที่นักการเมืองและนักวิชาการชอบนำเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่เข้ามาทำให้เกิดขึ้น ส่งผลให้คนที่มีการศึกษาน้อยสับสน ทั้งนี้ตนขอใช้มาตรา 44 ห้ามเรียกว่า "คนรากหญ้า" แต่ให้เรียกว่า "คนที่มีรายได้น้อย" แทน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชนชั้นวรรณะ
"วันนี้ผมขออนุญาตใช้มาตรา 44 ไม่ให้ใครในประเทศนี้ ห้ามเรียกคนเหล่านี้ว่า รากหญ้า ให้เรียกว่าคนที่มีรายได้น้อย มีการศึกษาน้อย ซึ่งเราต้องยกระดับพวกเขามาให้เท่าเทียม อย่าไปเรียกเขาว่าเป็นรากหญ้า วันนี้บ้านเมืองเราไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นแล้วไม่มีอำมาตย์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อำมาตย์ก็คือข้าราชการที่เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะมาดูแลประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทุกคนต้องเข้าใจระบบการศึกษาของโลก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ว่า วันนี้ทำหน้าที่เพียงขับเคลื่อนประเทศในสถานการณ์พิเศษ ถ้าไม่มีการปฏิรูปในวันนี้ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งการศึกษาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชาติอาจทำให้ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังมีคนจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่มีการร่วมมือกับรัฐบาลเท่าที่ควร ดังนั้นต้องให้ประชาชนเรียนรู้และร่วมกันปฏิรูป โดยเฉพาะผู้บริหารและทุกคนต้องเข้าใจระบบการศึกษาของโลก อาเซียน รวมถึงการศึกษาภายในประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ไทยจะต้องบูรณาการระหว่างองค์กรให้เกิดความเชื่อมโยง โดยรัฐบาลพยายามเร่งประสานงานบูรณาการทุกกระทรวงทุกหน่วยงาน ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ยังไม่มีตาย มีแต่ป่วยตายเท่านั้น และไม่มีรัฐบาลใดที่สามารถทำได้แบบที่ตนทำ เว้นแต่บางคนที่ไม่ร่วมมือ ขออย่ากลัวตนจะอยู่นานหรือสืบทอดอำนาจ ยืนยันว่าตนมีแต่อำนาจเพื่อใช้ทำงานและการบังคับบัญชาการเท่านั้น ไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง

แม่'ศศิวิมล'ร่ำไห้ออกสื่อ ประณมมือวอนให้ในหลวง ราชินี พระราชทานอภัยโทษ


แม่ผู้ต้องหาเผยความรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็นหลังลูกสาวถูกพิพากษาจำคุก 28 ปี คดีมาตรา 112 พร้อมระบุลูกสาวยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้ทำความผิด คาดศาลจะลงโทษเพียง 1-2 ปี หวังพึ่งพระบารมีให้ลูกได้รับอภัยโทษ
กลุ่มพลเมือง'เสมอกัน' เผยแพร่คลิปวิดีโอ ภาพและเสียงของนางสุชิน กองบุญ วัย 48 ปี มารดาของศศิวิมล หญิงวัย 29 ปี ผู้ถูกพิพากษาจำคุก 28 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112  นางสุชินพูดทั้งน้ำตาจับใจความได้ว่า เธอไม่คิดว่าจะมีการพิพากษาลงโทษให้ศศิวิมลต้องจำคุกนานขนาดนี้

นางสุชินกล่าวว่าเธอมีปัญหาด้านสุขภาพ สามวันดี สี่วันไข้ ไม่รู้ว่าจะอยู่นานถึงเมื่อไร จะทันให้ลูกสาวของเธอออกมาจากเรือนจำหรือไม่ พร้อมทั้งประณมมือกล่าวขอพระเมตตา ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีพระราชทานอภัยโทษเพื่อให้ศศิวิมลได้พ้นโทษออกมาเลี้ยงดูลูกเล็กทั้ง 2 คนของเธอ

นางสุชิน กองบุญ มารดาของ ศศิวิมล มีอายุ 48 ปี เป็นชาวเชียงใหม่ ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดอยู่ที่โรงแรมเดียวกันกับศศิวิมลโดยศศิวิมลทำงานแผนกเครื่องดื่ม หลังศศิวิลถูกตัดสินจำคุก 28 ปี นางสุชินจึงต้องเป็นผู้รับภาระเลี้ยงดูด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของหลานสาววัย 10 ปี และ 7 ปี โดยปัจจุบันนางสุชินมีรายได้จากการเป็นพนักงานทำความสะอาดเดือนละ 9,000 บาท พร้อมระบุว่าเบื้องต้นต้องหักค่าเช่าห้องพักเดือนละ 2,500 บาท

ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และจาก เว็บไซต์ไอลอว์ ระบุว่า ศศิวิมลรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานสอบสวน เนื่องจากไม่เคยทราบเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกระบวนการทางกฎหมายใดๆ มาก่อน และในกระบวนการดังกล่าวไม่มีทนายความอยู่ด้วย
ในชั้นศาลเธอก็ได้ยอมรับสารภาพโดยคำแนะนำของทนายความ ซึ่งได้ให้แนะนำกับเธอว่าจะทำคำให้การประกอบขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบา และยังสามารถทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษได้ต่อไป
7 สิงหาคม 2558 ศาลทหารมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยความผิดกรรมละ 8 ปี รวมเป็นจำคุก 56 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี
สำหรับประเด็นคำให้การประกอบขอให้ศาลรอการลงโทษหรือลงโทษสถานเบาที่ทนายความจำเลยได้ยื่นต่อศาลนั้น ศาลวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า “คำร้องที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ ศาลเห็นว่าความผิดของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ประชาชนเคารพสักการะ การกระทำของจำเลยจึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว" 
ในเพจของกลุ่มพลเมืองเสมอกัน ยังมีการะดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวนี้ด้วย โดยระบุว่า สามารถร่วมสมทบเงินทุนเพื่อเป็นค่าเล่าเรี­ยนของลูกสาวศศิวิมลทั้งสองคน ได้ที่บัญชีชื่อ นางสุชิน กองบุญ ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนช้างคลาน บัญชีเลขที่ 533-0-08020-7

‘ThaiCERT’ สำรวจพบกว่า 106 เว็บไทยถูก ‘Fallaga Team’ โจมตี


จากเหตุการณ์ที่เว็บไซต์ส่วนราชการในไทยจำนวนหนึ่ง ถูกแฮกเกอร์กลุ่ม “Fallaga Team” จากตูนิเซีย แฮกหน้าแรก เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า "เพื่อมุสลิมของพวกเราในพม่า" (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด ไทยเซิร์ต (ThaiCERT) หรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงไอซีที ระบุว่าได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนไปคือวิเคราะห์หาช่องโหว่ของเว็บไซต์ที่โดนโจมตี เพื่อดำเนินการในเชิงรุกในการป้องกันต่อไป
ไทยเซิร์ต ระบุว่า จากการตรวจสอบทางสถิติถึงการโจมตีเว็บไซต์ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2558 ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีของกลุ่ม Fallaga Team พบว่ามีการโจมตีเว็บไซต์ในประเทศไทยมากกว่า 106 เว็บไซต์
ไทยเซิร์ต อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการไทยนั้น เรียกว่า  Web defacement” คือการโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เผยแพร่หน้าเว็บ ซึ่งผู้โจมตีมักจะปรับเปลี่ยนหน้าแรกของเว็บไซต์เป้าหมาย หรือทั้งเว็บไซต์ ไปเป็นหน้าเว็บไซต์ใหม่ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของหน่วยงานเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งในเว็บไซต์ที่ถูกโจมตีส่วนใหญ่จะปรากฏรูปภาพหรือข้อความที่บ่งบอกว่า เว็บไซต์ได้ถูกโจมตีสำเร็จแล้ว
เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไทยเซิร์ตได้ยกระดับการเฝ้าระวังเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยขอความร่วมมือไปยังผู้ดูแลเว็บไซต์ของภาครัฐ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  หากพบเห็น Web defacement  เพิ่มเติม โปรดแจ้งมายังทางไทยเซิร์ตทันที  โดยสามารถแจ้งปัญหาและขอคำปรึกษาได้ที่ไทยเซิร์ต ทางอีเมล report@thaicert.or.th หรือโทรศัพท์  0-2123-1212
ทั้งนี้มีข้อแนะนำจากไทยเซิร์ต เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ/ลดผลกระทบจากภัยคุมคามดังกล่าว คือ
·         ผู้ดูแลระบบหรือผู้เกี่ยวข้องควรปิดกั้นการเข้าถึงบริการหรือเว็บไซต์ที่ถูกควบคุมดังกล่าวทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้าถึงข้อมูลหรือกระทำกิจกรรมการอันเป็นผลเสียต่อระบบในส่วนอื่น ๆเพิ่มเติมได้
·         ผู้เกี่ยวข้องควรรีบตรวจสอบข้อมูล Log จากระบบหรือบริการต่าง ๆ เพื่อยืนยันช่องทางการเข้าโจมตี และประเมินสถานการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีที่เกี่ยวข้อง
·         ผู้เกี่ยวข้องควรอัปเกรดระบบให้บริการต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ที่อาจมีผู้ค้นพบขึ้นได้
·         ผู้เกี่ยวข้องควรมีการตรวจสอบช่องโหว่ของระบบหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ และให้รีบแก้ไขปัญหาทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุการโจมตีจากไทยเซิร์ต เพื่อลดผลกระทบจากการที่ข้อมูลในระบบ ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลของผู้ใช้งานถูกขโมยออกไป