รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่าการแจกจ่ายเอกสารความเห็นแย้งสามารถทำได้ ไม่เข้าข่ายปลุกระดม แต่ขออย่าใช้ปกหรือข้อความที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารของ กรธ. เพราะจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ตอบว่าผ่อนปรนหรือไม่ ขอให้ถาม คสช. เอาเอง
ในรายงานของ
มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษาว่า การแจกจ่ายเอกสารความเห็นแย้งสามารถทำได้ เพราะเป็นความเห็นแย้งเป็นความเห็นส่วนตัวและไม่เข้าข่ายเป็นการปลุกระดม หากทำเป็นทำได้อยู่แล้ว อีกทั้งคนที่ทำก็มีจำนวนมาก ไม่ได้ตื่นเต้นหรือสะทกสะท้านอะไรกับสิ่งที่ดำเนินการ แต่หากเป็นกรณีปลอมแปลงขอให้ดูที่เจตนาว่าต้องการทำอะไร วันนี้ศัพท์เรียกกันว่าปลอมรวมความคือไม่ใช่ของจริงของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นฉบับที่ กรธ.ทำ หากเป็นเช่นนั้นก็เข้าข่ายมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
แต่ถ้าเป็นความเห็นต่างจาก กรธ.แปลว่าเป็นความเห็นต่าง ไม่ใช่การปลอมอะไร แต่อย่าใช้ปกหรือข้อความที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเอกสารที่มาจาก กรธ. ซึ่งเรื่องเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร และไม่มีใครเคยพูดว่า หากเห็นแย้งจากผู้มีอำนาจจะเข้าข่ายมาตรา 61 วรรคสอง
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนโทษในเรื่องดังกล่าวจะเป็นการระวางโทษตามมาตรา 61 วรรคสอง หากดูโทษขั้นสุดท้ายก็จะหนักสุด แต่โทษขั้นต่ำไม่มีอะไรมากขึ้นอยู่กับศาลว่าจะลงโทษอย่างไร ทั้งนี้ ถ้าเป็นตามที่สื่อบอกว่าเป็นความแตกต่างในเรื่องความเห็น ไม่บิดเบือน ไม่เท็จถือว่าไม่ผิด ไม่มีโทษอะไรที่ต้องพูด แต่ถ้าเป็นเท็จ บิดเบือนถือว่าผิด ส่วนจะรับโทษเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับศาลตัดสิน ขณะเดียวกันไม่ทราบว่าตอนนี้เสียงประชาชนเป็นอย่างไรเพราะไม่ได้เจอประชาชน แต่เจอเฉพาะตามเวทีที่เคยจัดไป ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่หากอยากแก้ไขขอให้รอฉบับหน้า
เมื่อถามว่า หากไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่ไปผิดคำสั่ง คสช.จะเป็นการหนีเสือปะจระเข้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว อย่าประมาท อย่าแสดงอาการไม่สะทกสะท้านอะไร มีหลายอันที่จะเข้าข่ายได้ ถ้าดูครบหมดและคิดว่าปลอดภัยก็ทำไป และไม่ใช่หน้าที่ผมหรือหน้าที่รัฐที่ต้องไปบอกว่าดูฉบับนู้น ดูฉบับนี้ ส่วนมาตรการผ่อนปรนขณะนี้ผมไม่ทราบจะมีหรือไม่ ต้องถามคสช.”
กรธ.ออกผลสอบเอกสารเห็นแย้งร่าง รธน. เข้าข่ายบิดเบือน ยังไม่สรุปจะเอาผิดหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ
คมชัดลึก นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. เป็นประธานอนุกรรมการ โดยได้รายงานผลตรวจสอบเอกสารความเห็นแย้งร่างรธน.ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ให้ที่ประชุม กรธ. รับทราบ โดยสรุปเนื้อหาบางประเด็นว่า เข้าข่ายบิดเบือนข้อเท็จจริง แต่ที่ประชุม กรธ.ยังไม่สรุปจะเอาผิดตามกม. หรือไม่ นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า มี 3 ทางเลือก คือ 1.กรธ.แจ้งความเอาผิด 2.ส่ง กกต. ดำเนินการ และ 3.ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเอง
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยปกรณ์ อารีกุล แจกเอกสารความเห็นแย้งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ในโครงการจัดการฝึกอบรมวิทยากรระบวนการ (ครู ก) จัดโดยกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อ 18 พฤษภาคม 2559 โดยยังแจกให้กับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ซึ่งรับเอกสารพร้อมกล่าวว่า "ทำไมถึงเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ"
ปมเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ จาก NDM ถึง มีชัย และ สภ.บ้านโป่ง
สำหรับประเด็นเรื่องเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. นั้น เผยแพร่โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เคยนำไปแจกให้ มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มากับมือด้วย โดยมีชัย เมื่อได้รับแจกก็หันมาถามว่า ทำไมเอารูปหน้าปกผมไปใช้ล่ะ
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มีการแจกเอกสารความเห็นแย้งในการประชุมที่จัดโดย สำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎร เวที “รู้จักร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติที่ถูกต้อง” โดยเวทีซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนักศึกษาสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฯ เดินแจกเอกสาร “ความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ” แต่แจกไปได้ 5 นาที ก็ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินเก็บเอกสารคืนทั้งหมด
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สั่งฝ่ายเกี่ยวข้องรวบรวมพยานหลักฐานการแจกเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นของปลอมในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมอ้างว่าเอกสารดังกล่าวทำหน้าปกแบบเดียวกับเอกสารสรุปเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาภายในถูกบิดเบือน เคยถูกนำมาแจกในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระทำเป็นขบวนการและมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ขณะนี้รวบรวมได้แล้ว 100 กว่าฉบับ หากตรวจสอบพบมีความผิด จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ขณะที่ ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) .ในฐานะที่เคยแจกเอกสารความเห็นแย้งดังกล่าวกับมีชัยเอง ได้ชี้แจงกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ประเด็นแรกเรื่องเอกสารดังกล่าวบิดเบือนหรือไม่ เอกสารนี้มีการแจกกันมา 2 เดือนแล้ว และมีการส่งตามที่ต่างๆ ทั้งรถรถทัวร์และไปรษณีย์ ซึ่งพิมพ์มาจริงๆ นั้น ไม่เกิน 10,000 เล่ม หากเอกสารนี้บิดเบือน การที่ตนได้เคยนำเอกสารดังกล่าวไปมอบให้ อ.มีชัย เมื่อเดือนที่แล้ว อ.มีชัย น่าจะตรวจสอบและมีความเห็นมาตั้งนานแล้ว การที่ อ.มีชัย เพิ่งมามีความเห็นว่าเอกสารนี้มีการบิดเบือนในช่วงที่มีการจับกุมนักโทษประชามตินั้น จึงคิดว่าอาจารย์น่าจะออกมาเพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า เพราะการกล่าวหามาเป็นประเด็นทางการเมือง และมีการบอกว่านี่เป็นของปลอม เป็นเท็จแบนี้ เมื่อดูเอกสารจริงๆ แล้ว เป็นเอกสารที่เราให้ความเห็นเหตุผลว่าถ้าจะโหวตโนเรามีเหตุผลอย่างไร อีกส่วนหนึ่งเป็นความเห็นแย้งกับที่ กรธ. บอกถึงข้อดีของ ร่าง รธน. นี้
ทั้งนี้ กรธ. ก็สรุปข้อดีของรัฐธรรมนูญมา เวลาเราอ่านร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วเราสรุปว่าข้อไหนเป็นข้อดี มันก็วิจารณญาณแต่ละคนไม่เหมือนกัน กรธ. สรุปแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการชี้นำและก็เนื้อหาบางอย่างก็อาจจะถ้าบอกว่าเราบิดเบือน กรธ. เองก็ต้องระวังตัวเองเหมือนกันว่าสุ่มเสี่ยงที่จะบิดเบือนเหมือนกัน" ปกรณ์ กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องการมีกลุ่มทุนหนุนหลัง ปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่ม NDM ชัดตลอดว่าเรามีเลขบัญชีให้บริจาคเข้ามา มีกล่องบริจาค และเรื่องนี้ทาง NDM จะชี้แจงว่าสรุปแล้วรายรับเท่าไหร่ พิมพ์เอกสารมา 10,000 ฉบับ ต้นทุนเท่าไหร่ ทำเสื้อมาใช้เงินเท่าใด ดังนั้นเรื่องการกล่าวหาว่ามีกลุ่มทุนหรือใครหนุนหลังนั้น เป็นประเด็นที่มีการกล่าวหามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่านักศึกษาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับนักการเมืองคนนั้นนี้ แต่สุดท้ายผ่านมาปีกว่าก็ไม่มีการตรวจสอบได้ว่าเกี่ยวกับใคร ดังนั้นยืนยันว่าหากมีข้อเท็จจริงอะไรทางเราก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบอยู่แล้ว
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยล่าสุด ปกรณ์ ถูกจับพร้อมนักกิจกรรมกลุ่ม NDM 3 คน หลังเดินทางไป สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้กำลังใจ 18 ชาวบ้านโป่งรายงานตัวสู้คดีตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ปกรณ์ และพวกจะถูกตำรวจค้นรถและยึดเอกสารประชามติ และดำเนินคดีข้อหาผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 โดยดำเนินคดีพร้อมนักข่าวประชาไทที่เดินทางไปทำข่าวด้วย 1 คน และมีการจับกุมนักศึกษา ม.แม้โจ้ ในพื้นที่อีก 1 คน รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 5 คน ล่าสุดบ่ายวันนี้ (11 ก.ค.) ศาลจังหวัดราชบุรีอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราววงเงินประกันรายละ 1.4 แสนบาท