วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มือดีพ่นสีสัญลักษณ์อนาธิปไตยหน้าศาลอาญา วินธัย ระบุ เข้าข่ายผิดกฎหมาย


24 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เข้าตรวจสอบบริเวณป้าย ศาลอาญา รัชดาฯ  หลังมีผู้นำสีสเปรย์สีดำ มาฉีดพ่นสัญลักษณ์ อนาธิปไตย(Anarchist symbol)  ที่ป้ายศาล บริเวณด้านหน้าและหลังข้อความ คำว่า ศาลอาญา จำนวน 2 จุด
นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธินแล้ว ส่วนผู้กระทำจะมีความผิดในข้อหาใดบ้างนั้น ต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน ส่วนจะมีความผิดฐานล่วงละเมิดอำนาจศาลหรือไม่นั้น ศาลอาญาจะเป็นผู้พิจารณา และขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้ลบสัญลักษณ์ดังกล่าวออกจากป้ายแล้ว
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข้างต้นว่า การกระทำลักษณะนี้ถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คสช.ยังคงมาตรการรักษาความปลอดภัยทุกพื้นที่
บีบีซี แฟนเพจ ขยายความเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของสัญลักษณ์อนาธิปไตยนั้น มีบันทึกถึงการเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในขบวนการแรงงานของสเปนในศตวรรษที่ 19 แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในการประท้วงทางการเมืองทั่วโลกในปัจจุบัน หลังการเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์เมื่อช่วงต้นสหัสวรรษนี้ โดยตัวอักษร A แทนคำว่า Anarchy หรือ อนาธิปไตย อยู่ในวงกลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนตัวอักษร O ใช้แทนคำว่า Order ซึ่งโดยรวมแล้วมีความหมายเชิงต่อต้านอำนาจรัฐ
ในส่วน มติชนออนไลน์ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวคล้ายกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในการต่อสู้ ในภาพยนตร์เรื่องกัปตัน อเมริกา (Captain America) ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากในประเทศไทย

บวรศักดิ์ ยัน รธน.ใหม่ จะนำชาติสู่สันติ เชื่อ สปช. ไม่คว่ำร่าง


ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. บรรยายให้ความรู้เรื่องร่าง รธน. กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร ชี้ รธน.ใหม่จะชาติสู่สันติ โชว์มาตราการป้องกันทุจริตด้วยสมัชชาคุณธรรม พร้อมเชื่อ สปช. จะไม่คว่ำร่าง อย่างที่มีข่าวลือ
25 พ.ค. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายให้ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ  โดยบวรศักดิ์ อธิบายถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าเป็นฉบับเน้นการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง มุ่งแก้ปัญหาในอดีต นำชาติสู่สันติสุข สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ สร้างการเมืองที่ใสสะอาด ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นไม่ได้ลอกเลียนแบบจากต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระบวนการของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ระหว่างการรับฟัง ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และทำการแก้ไข โดยจะต้องทำร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ก.ค. นี้ เพื่อจะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เว้นแต่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อขยายเวลาออกไปอีก 1เดือน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สปช. จะไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่มีกระแสข่าว ซึ่งความเห็นและข้อเสนอของทุกฝ่าย รวมถึง กกร.สามารถเสนอความเห็นมายังกรรมาธิการยกร่างฯได้ เพราะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ
บวรศักดิ์ ระบุอีกว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ได้กำหนดให้รัฐต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเศรษฐกิจที่เป็นธรรม อย่างมีธรรมาภิบาล และต้องสนับสนุนองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติให้มีหน่วยงานในการควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณมาควบคุมดูแล ขณะที่มาตรการป้องกันการทุจริตได้มีองค์กรที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ อาทิ การตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เพื่อขับเคลื่อนกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน
ขณะที่กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า 3 สิ่งสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนและ ประชาชนให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขัน กับต่างชาติได้และปัญหาช่องโหว่ทางการเงินและการคลัง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้นได้วางกรอบในการแก้ปัญหาทั้งการปฏิรูปการเงินการคลังที่มีการกำหนดให้เงินแผ่นดินหมายรวมถึงเงินกู้ที่ต้องตราเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การแสดงรายรับรายจ่ายของ พ.ร.บ.งบประมาณ การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิรูประบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

เปิด จ.ม.จาก ‘แหวน’ ผู้ต้องหาคดีปาระเบิดลานจอดรถศาลอาญา


25 พ.ค.2558 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมอบสำนวนการสอบสวนและความเห็นสมควรสั่งฟ้องแก่อัยการในคดีปาระเบิดใส่ลานจอดรถศาลอาญาเมื่อค่ำวันที่ 7 มี.ค. มีผู้ต้องหารวม 26 คน  แบ่งเป็น 2 สำนวน ซึ่งนายพิบูลย์ จตุพัฒนกุล รองเลขานุการอัยการสูงสุด ระบุว่าจะนำเรื่องเสนอให้อัยการสูงสุด พิจารณามีความเห็นสั่งคดีต่อไป โดยมั่นใจว่าจะมีคำสั่งได้ทันภายในกำหนดระยะฝากขังครั้งสุดท้าย ซึ่งยังเหลือเวลาอีกประมาณ 18 วัน
หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญคือ ณัฐฏธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาผู้เคยเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุม เธอถูกแจ้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยมีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
แหวนหายตัวไปจากบ้านตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.จากนั้นทนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ได้ประกาศแจ้งในเฟซบุ๊กว่าเธอถูกทหารในเครื่องแบบ 2 นายควบคุมตัวไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทหารปฏิเสธข่าวดังกล่าว แต่ต่อมาวันที่ 17 มี.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมรับว่าทหารได้ควบคุมตัวแหวนไว้จริงเพราะต้องการข้อมูลเชื่อมโยงผู้ต้องหาต่างๆ ในคดีปาระเบิดดังกล่าว จากนั้นเธอถูกแจ้งข้อหาและฝากขังในทัณฑสถานหญิงกลางเรื่อยมาจนปัจจุบัน
วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิญญัติ ทนายความของแหวนเปิดเผยว่า แหวนได้ส่งจดหมายชี้แจงเหตุการณ์ทั้งหมด และเขาเตรียมจะนำจดหมายดังกล่าวไปประกอบหนังสือร้องขอความเป็นธรรมยื่นต่ออัยการภายในสัปดาห์นี้ (รายละเอียดของจดหมายอ่านด้านล่าง)
ทั้งนี้สำนวนของตำรวจแบ่งเป็น 2 สำนวนประกอบด้วย
กลุ่มที่หนึ่ง สำนวนคดีอาญาที่ 249/2558 ของสน.พหลโยธิน เหตุเกิดบริเวณ ลานจอดรถศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. ช่วงเดือน ก.พ. 58 - 8 มี.ค. 2558 ที่มีผู้ต้องหารวม 18 คน โดยถูกกล่าวหากรนะทำผิดกฎหมายรวม 10 ข้อหา ซึ่งสามารถจับกุมได้ 14 คน ประกอบด้วย นายมหาหิน หรือ สายเหยี่ยวแดง ขุนทอง ผู้ต้องหาที่ 1, นายยุทธนา หรือ องค์ดำ เย็นภิญโญ ผู้ต้องหาที่ 2, นางณัฎฐพัชร์ หรือ นัท อ่อนมิ่ง ผู้ต้องหาที่ 3, น.ส.ธัชพรรณ หรือ ไข่มุก ปกครอง ผู้ต้องหาที่ 4, นายวิชัย หรือ สหายตั้ม อยู่สุข ผู้ต้องหาที่ 5, นายนรภัทร หรือ สหายบาส เหลือผล ผู้ต้องหาที่ 6, นายสรรเสริญ หรือ สัน ศรีอุ่นเรือน ผู้ต้องหาที่ 7, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล ผู้ต้องหาที่ 8, นางสุภาพร หรือ เดียร์ มิตรอารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 9, นางวาสนา บุษดี ผู้ต้องหาที่ 10, นายณเรศ อินทรโสภา ผู้ต้องหาที่ 11, นายวสุ เอี่ยมละออ ผู้ต้องหาที่ 12, นายเจษฎาพงษ์ หรือ เจต วัฒนพรชัยสิริ ผู้ต้องหาที่ 13, นายสมชัย อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 14 โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนี 4 คนประกอบด้วย นายธนาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 15, นาย วิระศักดิ์ หรือ บิ๊ก/ใหญ่ พัทยา โตวังจร ผู้ต้องหาที่ 16, นายมนูญ ชัยชนะ หรือ นายอเนก ซานฟราน ผู้ต้องหาที่ 17 และผู้ต้องหาที่ 18 ซึ่งเป็นเยาวชน อายุ 17 ปี บุตรชายของของนางสุภาพร มิตรอารักษ์
      
กลุ่มที่ 2 สำนวนคดีอาญาเลขที่ 477/2558 สน.โชคชัย เหตุเกิดที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น, ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี, แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. และแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง กทม. ช่วงเดือน ก.พ. 2558 - วันที่ 5 ก.พ. 2558 ผู้ต้องหารวม 8 คน ซึ่งจับกุมได้ 6 คน ประกอบด้วย นาง สุภาพร หรือ เดียร์ มิตรอารักษ์ ผู้ต้องหาที่ 2 ,นางวาสนา บุษดี ผู้ต้องหาที่ 3, น.ส.ณัฏฐธิดา หรือแหวน มีวังปลา ผู้ต้องหาที่ 4, นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 5 ,นายวสุ เอี่ยมละออ ผู้ต้องหาที่ 6 และนาย สมชัย อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 7 และยังหลบหนีอีก 2 คน ประกอบด้วย นายมนูญ ชัยชนะ หรือ นายอเนก ซานฟราน ผู้ต้องหาที่ 1 และ นายธนาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ 8 โดยผู้ต้องหาทั้ง แปด ถูกกล่าวหาในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย , ร่วมกันเป็นอั้งยี่ , ร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยมีและใช้เครื่องกระสุนปืนที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1, 209, 289 (4), พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พ.ศ. 2490 ม.4(2), 7, 55, 72 วรรคแรก, 78 วรรคแรก, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ม.4, 15 วรรคแรก, 42, ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ ที่ต้องขออนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ฯ ลงวันที่ 30 พ.ย. 50 ข้อ 2.1.2 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2557 

000000

19 พ.ค. 2558
เรียนทนายวิญญัติ ชาติมนตรี
เนื่องจากดิฉัน ขญ.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, มีและใช้อาวุธสงครามที่ใช้แต่การทหารที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้, และพยายามฆ่า ดิฉันขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้
ในวันที่ 7 มีนาคม 2558 ดิฉันได้เห็นข่าวการปาระเบิดหน้าศาลอาญารัชดาจากทางทีวี และทางกลุ่มไลน์ข่าวอาสา S.M.A.R.T. ในข่าวดังกล่าวดินฉันเห็นชื่อผู้ต้องหา ที่ใช้นามแฝงว่า “เหยี่ยวแดง” ซึ่งดิฉันไม่เคยรู้จักบุคคลนี้เป็นการส่วนตัว แต่เคยเห็นชื่อนี้ปรากฏในกลุ่มไลน์ชื่อ “กลุ่มภาคีไทยเสรีชน” ที่ดิฉันเคยอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงประมาณต้นเดือนมกราคม 2558 ดิฉันได้ออกจากกลุ่มไลน์นี้เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ดิฉันได้ว่ากล่าวตักเตือนบางคนในกลุ่มแต่เขาไม่ฟัง จนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวตามข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ดิฉันได้นำข่าวนี้พร้อมข้อมูลบางส่วนที่ปรึกษากับทนายที่เคารพและนัดเข้าพบท่านเพื่อชี้แจงข้อมูลเพื่อหาทางป้องกันตนเอง และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ที่ดิฉันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ  ดิฉันเป็นเพียงอาสาพยาบาลเบื้องต้น ไม่สามารถฆ่าหรือทำร้ายผู้ใดได้ และที่สำคัญ ดิฉันไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงและขอยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับคดีนี้ อนึ่งไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่กระทำความผิดหรือเข้าข่ายผู้ต้องสงสัยเขาไม่ควรถูกทำร้าย เขาควรถูกไต่สวนตามกระบวนการ ขั้นตอน ที่มีในประเทศไทย ดิฉันอยากเห็นความเป็นธรรมในสังคมไทย เพราะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมมีอยู่จริง ด้วยเหตุและผลที่ดิฉันมี ดิฉันศรัทธาในความดีและเชื่อว่าคนมีค่าเท่ากับคน สุดท้ายนี้ดิฉันหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมไทย ประเทศไทย คงมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ข.ญ.ณัฏฐธิดา มีวังปลา

ดาวดินออกแถลงการณ์เรียกร้องหยุดสร้างความเกลียดชังคนเห็นต่าง


25 พ.ค. 2558 กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ ดาวดิน ออกแถลงการณ์ ยันปัญหาสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองเชิงโครงสร้างมีความเชื่อมโยงถึงผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล แจงการต่อสู้ของกลุ่มปราศจากความรุนแรงและอามิสสินจ้างใดๆ และไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไหนหรือสีใด เรียกร้องประชาชนกลุ่มที่มุ่งทำลายความชอบธรรมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเกลียดชังนักศึกษาให้หยุดการกระทำดังกล่าวนั้นทันที พร้อมเรียกร้องถึงรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วเร่งคืนอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว รวมถึงหยุดการคุกคามและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปล้นชิงไปจากประชาชน
อนึ่ง สมาชิกกลุ่มดาวดิน 7 คน ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังทำกิจกรรมคัดค้านรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น เมือวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
 
แถลงการณ์กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เป็นวันครบรอบวันเกิด 1 ปีเผด็จการ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจและปล้นชิงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนไป พร้อมกับประกาศใช้กฎอัยการศึกและอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 44 และด้วยอำนาจอันยิ่งใหญ่คับฟ้า อดีตผู้บัญชาทหารบกได้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้นำและตั้งรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมและไม่ใช่รัฐบาลของประชาชนขึ้นมาปกครองประเทศ หลังจากนั้นก็ทำการกวาดล้างประชาชนผู้คิดต่าง ข่มขู่สื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหาร รวมถึงการต่อสู้ของประชาชนที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ได้ปฏิบัติการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ คุกคามสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งการต่อสู้เชิงโครงสร้างเพื่อสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองและการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง
วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พวกเราทั้ง 7 คน จึงไปแสดงจุดยืนของพวกเราคือ “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เพื่อต้องการสื่อสารต่อสาธารณะและรัฐบาลถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนเพื่อให้สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ล้วนแต่ต่อสู้มาอย่างอาจหาญและยาวนาน แต่เสียงของพวกเขาที่ร้องตะโกนนั้นรัฐบาลไม่เคยสนใจและเอาใจใส่ ไม่ว่ารัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ปืนจ่อหัวอยู่และมนต์สะกดว่าให้มีความสุข ชาวบ้านไม่สามารถออกมาต่อสู้ เรียกร้อง และมีส่วนร่วมตามสิทธิชุมชนที่เคยมีได้ กิจกรรมที่พวกเราทำในวันนั้น จึงเป็นการพูดถึงปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูน เหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม เหมืองแร่โปรแตซ การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาการไล่รื้อที่ทำกินของชาวบ้าน ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และปัญหาที่ของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ภายใต้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว อันเป็นเครื่องมือกำราบประชาชนให้อยู่ในความสงบ ห้ามแข็งขืน ปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ห้ามคิด ห้ามพูด ห้ามแสดงออก ห้ามมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือแสดงสิทธิใดๆ นอกจากนี้ พวกเรายังพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของประชาชนเพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนเอง ร่างเอง และลงมติเอง โดยกลุ่มคนที่ คสช. แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพราะพวกเราเชื่อว่าปัญหาสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองเชิงโครงสร้างมีความเชื่อมโยงถึงผลกระทบจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพวกเราทั้ง 7 คน ถูกตั้งข้อหา ”รักประชาธิปไตย” “รักความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” ทำให้พวกเราถูกจับกุมและขัง วันเดียวกันนั้นเองเพื่อนๆ ของพวกเราที่ออกมาแสดงจุดยืนที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตามแต่ก็สู้เพื่อสิ่งที่คิดและเชื่อว่าถูกต้องเหมือนกัน เพื่อนบางคนถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ถูกบีบคอ ถูกดึงผม และนำไปสู่ความรุนแรงและการปะทะระหว่างนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสถานการณ์ได้บานปลายมาถึงขั้นล่าแม่มดจากฝ่ายปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย เกิดการตามล่าและใส่ร้ายป้ายสีว่าถูกจ้างมาบ้าง เป็นขบวนการล้มเจ้าบ้าง เพื่อทำลายความชอบธรรมของพลังอันบริสุทธิ์ของนักศึกษาทั่วประเทศ

เนื่องในโอกาสครบครบ 1 ปี เผด็จการทหาร พวกเราในนาม กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ขอประกาศถึงพี่น้องนักศึกษา ประชาชน และผู้ที่รักในสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทั่วประเทศว่า ขอให้ร่วมกันออกมาแสดงพลังของท่านในวิถีทางที่ทำได้และขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องหากพวกเราและเพื่อนๆ ทั่วประเทศ ถูกตามล่า ข่มขู่ คุกคาม ด้วยวิธีการอันไม่ชอบธรรมและนอกกฎหมาย พวกเราขอประกาศประชาชนกลุ่มที่มุ่งทำลายความชอบธรรมและยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเกลียดชังนักศึกษาว่า ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวนั้นทันที หากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไม่เคยสอนอะไรพวกท่านเลย กลับพยายามหมุนเข็มนาฬิกากลับไปหาอดีตอันมืดมน แต่สุดท้ายมันจะหมุนกลับมาที่เดิมและตอกย้ำตราบาปที่พวกท่านได้หมุนเข็มนาฬิกากลับไป พวกท่านจะได้ชื่อว่า "คนที่เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะความคิดต่างทางการเมือง” ตราบเท่าที่ลูกหลานพวกเราจะเติบโตขึ้นมาและรับรู้เรื่องราวในวันนี้ พวกเราขอประกาศถึงขบวนการต่อสู้ในที่อื่นๆ ทั้งประเด็นทางการเมืองและปัญหาปากท้องของชาวบ้านว่า การต่อสู้ของพวกเราปราศจากความรุนแรงและอามิสสินจ้างใดๆ พวกเราไม่ใช่ฝ่ายการเมืองไหนหรือสีใด พวกเราคือ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กลุ่มนักศึกษาที่ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาและต่อสู้เคียงข้างกลุ่มชาวบ้าน ที่ถูกรัฐและนายทุนละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมาและในอนาคตข้างหน้านั้น เป็นไปด้วยความชอบธรรมและด้วยสันติวิธี และพวกเราขอประกาศถึงรัฐบาลที่ไม่ได้มาประชาชนว่า ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วเร่งคืนอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยเร็ว รวมถึงหยุดการคุกคามและทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ปล้นชิงไปจากประชาชน (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) และสุดท้ายพวกเราขอประกาศว่า “พอกันที!” กับรัฐบาลเผด็จการทั้งที่ผ่านมาในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตทั้งหลายทั้งปวง และขอให้อำนาจประชาธิปไตยสถิตย์อยู่กับประชาชนตลอดไป
ด้วยจิตคารวะต่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
25 พฤษภาคม 2558

นิธิ เอียวศรีวงศ์: เขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้

ในงานมุทิตาจิต "75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้าของ นิธิ เอียวศรีวงศ์" ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. นั้น เดิมมีกำหนดจะจัดงานที่โรงละคร หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก่อนหน้างานเพียงหนึ่งวัน ทางคณะวิจิตรศิลป์ได้แจ้งว่าโรงละครกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม จึงไม่สะดวกให้ใช้สถานที่ ทำให้ผู้จัดงานย้ายมาจัดงานในพื้นที่เอกชนแทน โดยในงานวิทยากรได้กล่าวคนละ 10 นาที เพื่อตอบโจทย์ว่า "หากมองไปในอนาคต ถ้าหากมีรัฐบาลประชาธิปไตย คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการเมืองและประชาธิปไตยที่ดี" นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)และจากนั้นมีการร้องเพลง "Do You Hear the People Sing?" แปลเนื้อร้องโดย สุขุม ยังวัน


เพลง Do You Hear the People Sing?


นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวปิดงาน

หลังจบเพลง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปิดงานว่า พยายามนึกว่าที่ทหารกลัวและทำให้งานนี้จัดที่หอศิลป์ ถ.นิมมานเหมินท์ ไม่ได้นั้น เขากลัวอะไรกันแน่ ทั้งนี้ เขาบอกว่าเขากลัว แต่เขาไม่ได้กลัวผม แต่เขากลัวคนที่มาพูดทั้งหลาย พวกท่านเคยไปทำอะไรไว้ผมก็ไม่ทราบ เขากลัวพวกท่านมากกว่า เขาเห็นชื่อแล้วคงจัดไม่ได้ ผมพยายามจะนึกว่าเขากลัวอะไร ผมก็เลยมานึกออกและอาจจะตอบคำถามนี้ด้วยในตัว คือจริงๆ แล้วเขากลัวว่า เขาจะไม่สามารถจัดการเวลาได้ ในประเทศเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าตั้งแต่ปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองของไทย พยายามในการจัดการเวลาของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง วิธีในการที่ชนชั้นปกครองจะจัดการเวลาในประเทศไทยใช้ คือ จัดการอดีต  ให้เป็นเรื่องเล่าที่เขาเป็นฝ่ายเล่า แล้วให้ทุกๆ คน จดจำอดีตของตนเอง ตามเรื่องเล่าของเขา
สืบมาจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีนักประวัติศาสตร์ ครูสอนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เริ่มมาตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเหล่านั้น ว่ามันเป็นอดีตที่ไม่จริง อดีตที่คับแคบเกินไป ทำให้ทุกคนสูญเสียอดีตที่แท้จริงของตนเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำให้ทุกคนมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เขาจะไม่มีทางเลือกสำหรับปัจจุบันและอนาคตเลย ฉะนั้นเมื่อไรที่มีคนมาตั้งคำถามว่าอดีตที่เขาเล่ามันไม่จริงหรือคับแคบเกินไป มันคือการท้าทายการจัดเวลา ไม่ใช่อดีตอย่างเดียว แต่การจัดเวลาในปัจจุบันและอนาคตด้วย สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้น คงจำคำพิพากษาของศาลในกรณีที่มีดีเจกล่าวว่าปัจจุบันเราไม่ได้มีทาสเหมือนรัชกาลที่ 4 ศาลลงโทษว่าบุคคลผู้นี้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 นี่เป็นครั้งแรกที่ ม.112 ถูกตีความถึงพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ปกครองแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ มันแปลว่าการท้าทายเรื่องเล่าในอดีต มันรุนแรงจนคุณต้องขยายให้ม.112 ไปครอบคลุมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ นี่เป็นคำพิพากษาที่แสดงความตกใจที่คนอื่นๆ แทรกเข้ามาจัดการเวลาด้วย แล้วจากคำพิพากษาก็กลายเป็นการยึดอำนาจบ้านเมือง
รัฐประหารครั้งนี้เป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะจัดเวลาอดีต เวลาปัจจุบันก็ใช้กำลังอำนาจยึดอำนาจรัฐ จัดการปัจจุบัน เช่น ไม่ยอมให้จัดเสวนา จัดพูดต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าพยายามจัดการอนาคตไปด้วย แต่บัดนี้กลวิธีที่เคยใช้ได้ผลมาร้อยกว่าปีคือการยึดกุมอดีตมันใช้ไม่ได้แล้ว จึงต้องใช้อำนาจตรงๆ เลยในการเข้ามายึดกุมปัจจุบันและอนาคตด้วย จึงคิดว่าไม่มีครั้งไหนที่บ้านเมืองจะมืดมิดถึงขนาดนี้ แต่เชื่อว่ามันจะไม่มืดสนิทและมีแสงสว่างขึ้นมา

ประธาน กมธ. ปฏิรูปการเมือง เสนอแก้ ที่มานายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น



Mon, 2015-05-25 18:27


‘สมบัติ ธำรงธัญวงศ์’ เสนอแก้ไขร่าง รธน. ปิดโอกาสคนนอกเป็น นายกฯ ขอตัดมาตรา 181-182 ชี้ระบบเลือกตั้งแบบ MMP จะทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ ควรใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน พร้อมเพิ่มช่องทางตรวจสอบแทน และ ส.ว. ตั้งมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

25 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง แถลงข่าวถึงคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของกลุ่มการเมืองและกฎหมาย ที่ได้ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.เห็นตรงกันว่า รธน.จะต้องกระชับและไม่ยาวเกินไป จึงขอเสนอแก้ไขทั้งฉบับให้เหลือเพียงร้อยกว่ามาตรา โดยประเด็นสำคัญก็เพื่อต้องการให้ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบ รัฐสภาโดยยึดหลักการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่สำคัญจะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เท่านั้น ไม่เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมต้องการให้ตัด มาตรา 181มาตรา 182 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากจนเกินไปออก เพื่อป้องกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกกฎหมายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ด้านระบบการเลือกตั้งเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้ระบบรัฐสภาอ่อนแอ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และจะส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการบริหารประเทศในอนาคต โดยเสนอให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ส.ส. 400คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนและเพิ่มกลไกในการตรวจสอบรัฐบาล กำหนดให้ สส. สามารถเข้าชื่อเสนอญัตติ ต่อ ส.ว. เพื่อให้พิจารณาสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล หากพบหลักฐานว่ามีความผิดต้องให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาใช้เสียงเกินขึ้นเป็น ผู้พิจารณาถอดถอน

ส่วนของวุฒิสภา เห็นว่าควรให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เนื่องจากร่าง รธน.ที่เขียนขึ้นให้อำนาจ สว. มาก ดังนั้นควรกำหนดมาตรการคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ที่เข้มข้นมากขึ้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง มีอำนาจออกใบแดง ใบเหลืองเหมือนเดิมและให้ตัดคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ออก

พลเมืองโต้กลับ เปิดคำฟ้องเต็ม พล.อ.ประยุทธ์-พวก ข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร





25 พ.ค. 2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจกลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen’ เผยแพร่คำฟ้องฉบับเต็ม ระหว่างโจทก์ คือ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพและพวกรวม 15 คน กับจำเลย คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกรวม 5 คน  ประกอบด้วยพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย, พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง, พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว, พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ กลุ่มพลเมืองโต้กลับนำโดย พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พร้อมด้วย อานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เดินทางไปศาลอาญา รัชดา เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก รวม 5 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร โดยศาลรับคำร้องไว้พิจารณา และนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 29 พ.ค. นี้