วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ครม. แนะ กรธ. เขียนบทเฉพาะกาล ให้รัฐบาลประยุทธ์มีอำนาจ หลังมีรัฐบาลใหม่


ครม. ส่งความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ แนะเขียนบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ ไปจนหลังเลือกตั้ง และหลังตั้งรัฐบาลใหม่ ชี้เพื่อความมั่นคง ป้องกันความขัดแย้ง ห่วงประเทศประเทศตกอยู่ในวังวนที่อาจทำรัฐล้มเหลว
18 ก.พ. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า คณะรัฐมนตรีโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นเอกสารรวม 7 หน้า 16 ข้อเสนอ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รวบรวมมาจากกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงกลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษา สำนักงบประมาณ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
      
ทั้งนี้ มีข้อเสนอข้อสุดท้ายข้อที่ 16 ซึ่งเป็นข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ขอให้ กรธ. พิจารณาขยายช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง หรือขยายบทเฉพาะการที่ให้คงอำนาจพิเศษเพื่อเหตุผลความมั่นคง ให้ยาวครอบคลุมไปจนหลังการเลือกตั้งและหลังการมีรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยอ้างถึงความขัดแย้งที่อาจก่อวิกฤตที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา
      
“ข้อ 16 ในขณะนี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์และความเห็นต่างเกี่ยงกับร่างรัฐธรรมนูญมาก ส่วนใหญ่เป็นความไม่แน่ใจ หรือไม่วางใจในระบบ ตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ วิธีการที่จะได้คนมาสู่ระบบ และอำนาจหน้าที่ แต่ที่ ครม. เป็นห่วงคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว ดังเมื่อก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีกภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ภายหลังการเลือกตั้งและภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหากเช่นนั้นแล้วจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และคุณธรรมของคนในชาติอย่างรุนแรง ประเทศอาจจะตกอยู่ในวังวนหรือบ่วงแห่งการสู้รบ การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน การแทรกแซงกลไกของรัฐ การใช้วาจาก่อให้เกิดความเกลียดชัง การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
และในครั้งนี้อาจหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมอันเป็นสภาวะที่ไม่ปรากฏใน ต่างประเทศ และยากแก่ความเข้าใจของประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคีปรองดองและการปฏิรูปประเทศจะสะดุดหรือล้มเหลวจนเป็นไป ไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและความเป็นความตายของประเทศ ครม. จึงเห็นว่าบางทีหากบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสองเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจ หรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และในช่วงที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่าง ๆ ลงให้มาก ดังนี้ น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้” ข้อเสนอข้อ 16 ดังกล่าวระบุ
นอกจากนี้ ข้อ 15 ในข้อเสนอดังกล่าว ยังระบุขอให้กำหนดระยะเวลาและขั้นตอนภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้สอด คล้องกับโรดแมปของ คสช. กล่าวคือให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้เดือน ก.ค. 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ทำให้เนิ่นช้าออกไป จึงเห็นว่า กรธ. ควรทำเฉพาะกฎหมายเท่าที่จำเป็นแก่การเลือกตั้งและการจัดให้มีวุฒิสภาจนแล้ว เสร็จ เมื่อประกาศใช้แล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งในเวลาที่กำหนด ส่วนกฎหมายประกอบอื่นที่จำเป็นอาจทยอยจัดทำในระยะเวลาต่อมาให้เสร็จก่อนการ จัดตั้งรัฐบาลใหม่
สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เป็นรายละเอียดที่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญส่วนต่าง ๆ เช่น ข้อ 14 ครม. เสนอให้แยกหมวดปฏิรูปเป็นหมวดเฉพาะ ข้อ 10 เสนอให้รวมศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาลแทนการแยกออกมาเป็นหมวดเฉพาะ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอที่ 9 เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลฎีกาแผนกคดี อาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรจะเป็นสองชั้นศาล ไม่ควรจัดเป็นระบบศาลเดียว แม้ กรธ.จะให้อุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายหรือกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น
สำหรับข้อเสนอของสำนักงบประมาณในข้อที่ 8 มีรายละเอียดข้อย่อยเกือบ 3 หน้านั้น เป็นข้อเสนอในปัญหาการใช้ถ้อยคำและการปฏิบัติเกี่ยวกับข้อห้ามใหม่ ที่ กรธ. ห้ามนักการเมืองแทรกแซงยุ่งเหยิงกับการแปรญัตติงบประมาณ เพื่อโยกไปลงพื้นที่ หรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
ส่วนข้อเสนอของกระทรวงกลาโหมในข้อ 2 นั้น ขอให้เพิ่มสถานการณ์การรบ เพิ่มเติมจากภาวะสงคราม สำหรับกรณีการเกณฑ์แรงงาน และการตรวจสองข่างของสื่อมวลชนก่อนเผยแพร่ โดยอ้างว่าให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และข้อเสนอของกระทรวงศึกษาในข้อ 7.4 เสนอให้รัฐจัดการศึกษาให้ 12 ปีตามเดิม แทนการลดเหลือภาคบังคับ 9 ปี แต่ให้ปรับเรื่องค่าใช้จ่ายที่รัฐออกให้ โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้ถูกอ้างให้รัฐต้องออกค่าหนังสือ เครื่องแต่งกาย และค่าใช้จ่ายนอกหลักสูตรไปด้วย

'ดา ตอร์ปิโด' ยังอยู่ในคุก ไม่ได้ไปชุมนุมต้านประยุทธ์ที่สหรัฐฯ อย่างที่ 'ทีนิวส์' รายงาน


 
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ Sunnylands เมือง Rancho Mirage รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดการประชุม Asean Summit โดยมีประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นเจ้าภาพในการประชุม ที่มีผู้นำประเทศและตัวแทนจากกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง ทำให้มีกลุ่มคนไทยผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาได้นัดรวมตัวกันมาชุมนุมต่อต้าน โดยในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนไทยที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมชุมนุมให้การสนับสนุนด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
 
พาดหัวข่าวดังกล่าวของทีนิวส์
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า 17 ก.พ. สำนักข่าทีนิวส์ รายงานโดยพาดหัวว่า "คนไทยUSA"ฉะแหลก!!! น.ส.พ.ยักษ์ใหญ่ไทยลงข่าวสุดมั่ว คนต้อนรับ"ประยุทธ์" ตรึมกว่า 400 แต่อ้างมี 150 - ขณะเรดยูเอสเอหงอยชูป้ายต้านมีแค่ 120 คน" พร้อมทั้งรายงานด้วยวว่า "ดา ตอร์ปิโด" มาร่วมชุมนุมประท้อง พล.อ.ประยุทธ์ด้วย
 
เนื้อข่าวส่วนหนึ่งของทีนิวส์ที่ระบุว่า ดา ตอร์ปิโด มาร่วมชุมนุม ต้าน พล.อ.ประยุทธ์
ที่มา ทีนิวส์
 
วันนี้ (19 ก.พ.59) ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ นักศึกษาไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมกิจกรรมประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในงาน Asean Summit ได้โพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะด้วยว่า ดา ตอร์ปิโด ไม่ได้มาร่วมชุมนุมประท้วงประยุทธ์อย่างที่ทีนิวส์รายงาน เนื่องจากยังถูกคุมขังอยู่ในคุกไทย แต่ผู้ที่มาชุมนุมคือดารุณี กฤตบุญญาลัย
 
ชุติพงศ์ ยังเล่าเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ดังกล่าวด้วยว่า ทางผู้จัดสถานที่เขาจัดให้คนละมุม โดยมีม็อบมาค้านจากหลายประเทศ ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ตนสังเกตอุปกรณ์พร็อพป้ายของฝั่งสนับสนุนเผด็จการ ยืนยันว่ามาเยอะและอลังการกว่าฝั่งต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ สำหรับตัวเลขคนมาชุมนุมฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า 400 คนนั้น ไม่ใช่มาพรึบเลย แต่ดูคร่าวๆ ประมาณก็ 100 กว่าคน ที่ปักหลัก โดยอาศัยการหมุนเวียนมา
 
"จากการคุยกับนักข่าวที่มาหาประเด็น สื่อเขาไม่ลงข่าวฝั่งนั้นเลยเพราะเขาจับประเด็นไม่ได้ว่ามาทำไม คนมาประเทศอื่นๆ เขามาต้านเรื่องเขตเศรษฐกิจหรือมาต้านเผด็จการ ฝั่งประชาธิปไตยเขาก็เตรียมประเด็นมาเสนอเขาถึงได้ลงข่าวไง คุณมาเชียร์ประยุทธ์ พอยท์คืออะไรล่ะ" ชุติพงศ์ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการรายขายข่าวของ The Desert Sun เป็นต้น
 
สำหรับฝ่ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ชุติพงศ์ ระบุว่า มีประเด็นมาเสนอ เรื่องหยุดคุกคามสิทธิมนุษยชน เรื่องต้านรัฐธรรมนูญ หยุดใช้ม.44และหยุดคุกคามนักศึกษานักกิจกรรม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ความเข้าใจผิดระหว่าง ดา ตอร์ปิโด กับ ดารุณี กฤตบุญญาลัย นั้น ไม่ใช่ครั้งแรก เช่นเหตุการณ์เมื่อปี 55 ที่ มนัสนันท์ หนูคำ อดีตครูสาวโรงเรียนนานาชาติ ได้ยืนด่า ดารุณีกลางห้างสยามพาราก้อน กล่าวหาว่า "ด่าในหลวงทำไม” ด้วย
 
สำหรับ ดา ตอร์ปิโด นั้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.54 ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก 15 ปี จากการกระทำผิด 3 กรรม (ปราศรัยบนเวทีเล็ก 3 ครั้ง) เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้ว และถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยชี้ข้อเสนอบทเฉพาะกาล ครม.ประยุทธ์ ส่อเจตนาสืบทอดอำนาจ


19 ก.พ. 2559 มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย แสดงความเห็นกรณีคณะรัฐมนตรีทำข้อเสนอต่อประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้เขียนบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ ไปจนหลังเลือกตั้ง และหลังตั้งรัฐบาลใหม่ว่า เป็นการพยายามจะยืดโรดแมปออกไป เป็นการทำให้เห็นว่า ครม.และ คสช. เจตนาจะสืบทอดอำนาจต่อ บวกกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศ 20 ปี ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ชุดนี้ด้วยแล้ว ก็แสดงเจตนารมณ์ว่า คสช.ประสงค์จะสืบทอดอำนาจอยู่แล้วอย่างน้อย 20 ปี
ทั้งนี้ มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยเสนอด้วยว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน มาแก้ไขแทนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย
รายละเอียดมีดังนี้
คำแถลงมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รวบรวมความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ จากกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ แล้วได้มีหนังสือ ที่ นร.0404/1625 ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ถึงประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเลขานุการประธานกรธ.เป็นผู้รับหนังสือแทนโดยมีเลขรับ110/59 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีรายละเอียดจำนวน 7 หน้า 16 ประเด็น ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่
“ให้จัดทำรัฐธรรมนูญ เป็น 2 ช่วง คือช่วงเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนาน โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งเสมือนข้อยกเว้นตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่อยู่บนพื้นฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงที่จะใช้รัฐธรรมนูญในระยะต่อไปซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและเป็นไปตาม ระบอบประชาธิปไตยที่ลดข้อจำกัดต่างๆ ลงให้มาก ดังนี้น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติได้”
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ขอแสดงความเห็นดังนี้

1.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นฉบับเฉพาะกิจหรือเฉพาะกาลหรือชั่วคราวอยู่แล้ว การร่างรัฐธรรมนูญให้มีฉบับเฉพาะกิจ/เฉพาะกาลอีก ก็เป็นการพยายามจะยืดโรดแมปออกไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทย และนานาชาติเห็นถึงเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป อันจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศไทย มีความสับสน และเสื่อมลง ดังเช่นที่เป็นมาในระยะปีเศษนี้
2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศ 20 ปี ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช.ชุดนี้ด้วยแล้ว ก็แสดงเจตนารมณ์ว่า คณะ คสช.มีความประสงค์จะสืบทอดอำนาจผ่านการวางโยบายและทางปฏิบัติผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชุดนี้อยู่แล้วอย่างน้อย 20 ปี
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 เป็นอานิสงส์ของการเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนนับร้อย เมื่อเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535   และมาจากการยกร่างโดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เป็นตัวแทนของประชาชนมาจากทุกจังหวัด และผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ถ้ามีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจากระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีก็ควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนไทยและนานาชาติมากกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย
มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยจึงแถลงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

ลือปลด 57 พนง.-'วอยซ์ทีวี' เตรียมแถลงทิศทาง 29 ก.พ.นี้


วอยซ์ทีวีเตรียมลดพนักงาน 57 อัตรา เพื่อให้องค์กรมีขนาดเหมาะสมต่อการทำงานในภาวะทีวีดิจิทัลแข่งขันสูง เตรียมแถลงทิศทางธุรกิจ 29 ก.พ. นี้
19 ก.พ. 2559 กรณีมีกระแสข่าวว่าสถานีโทรทัศน์ 'วอยซ์ทีวี' จะเลิกจ้างพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวจำนวน 57 คน โดยจะมีการแถลงข่าวในวันนี้ เวลา 16.00 น.
ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารองค์กร สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เปิดเผยว่า ในวันนี้ เวลา 16.00 น. ผู้บริหารองค์กรจะนัดพูดคุยกับพนักงานทุกคนเป็นการภายใน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ามาทำข่าว หลังจากนั้นจะมีเอกสารอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะเปิดแถลงข่าวทิศทางธุรกิจของบริษัทฯ ในวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 10.30-11.30 น. ณ วอยซ์ทีวี
ต่อมา นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทวอยซ์ทีวี จำกัด เผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชน เรื่อง "นโยบายการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืน"
โดยระบุในเอกสารว่า "วอยซ์ทีวีมีเป้าหมายในการเป็นหนึ่งในผู้นำของผู้ผลิตสื่อยุคใหม่ภายใต้แนวคิด "Cross Platform Content Provider" ทีวีสื่อสารครบทุกช่องทาง ที่ต้องการผลิตเนื้อหารายการทีวีคุณภาพสูงและส่งตรงถึงผู้รับสื่อยุคใหม่ครบทุกช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับชมผ่านสื่อออนไลน์ที่เป็นอนาคตของการสื่อสาร
เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัท จึงได้ปรับกลยุทธ์การบริหาร และโครงสร้างองค์กร ปี 2559 โดยปรับลดพนักงานลงจำนวน 57 อัตรา เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวะการแข่งขันอย่างสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิทัล ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการสื่อสารกับพนักงานทั้งหมดให้เข้าใจเป้าหมาย และนโยบายต่างๆ เพื่อก้าวสู่การพัฒนาคุณภาพเนื้อหารายการให้มีคุณภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
ในการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ บริษัทได้ดูแลและชดเชยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรม ตามกฎหมายแรงงานทุกประการ ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีแผนงานส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรตามโครงสร้างองค์กรในปี 2559 อีกกว่า 300 คน เพื่อมุ่งสู่การเติบโตไปพร้อมกับองค์กรได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" ตอนหนึ่งของเอกสารระบุ

กรธ. ยืนยันให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย กรณีไม่มีบทบัญญัติใน รธน.


โฆษก กรธ. แถลงเพิ่มความค้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หลังจากโดนท้วงติง พร้อมยันให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตาม มาตรา 7 เดิม ย้ำไม่ได้เพิ่มอำนาจศาล แต่ทำให้ศาลทำหน้าที่ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
19 ก.พ. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ซึ่งได้รวบรวมมาเป็นจำนวนมาก โดยให้ความสำคัญกับทุกความเห็นอย่างไม่แบ่งแยก แต่ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่มีการเสนอเข้ามาให้ปรับแก้ว่ามีความเหมาะสมกับบ้าน เมืองอย่างไร ซึ่งการพิจารณาได้ไล่เรียงลำดับในแต่ละมาตรา ขณะนี้ถึงหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 แล้ว และจากนี้การแถลงให้ประชาชนทราบจะเป็นการแถลงลักษณะเป็นเรื่องเป็นประเด็นที่ได้ข้อยุติแล้ว จะไม่แถลงรายมาตรา
อุดม กล่าวต่อไปว่า กรธ. ได้ปรับแก้ส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติงโดยนำหลักการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้ รับความคุ้มครองในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กลับมา รวมถึงปรับแก้มาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างเบื้องต้น ซึ่งยังคงหลักการว่าสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีกฎหมายจำกัดหรือไม่กระทบต่อความสงบ เรียบร้อยย่อมทำได้ แต่ได้นำมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบัญญัติเพิ่มเพื่อเป็นการยืนยันหลักประกันดังกล่าวให้ประชาชนมั่นใจใน สิทธิเสรีภาพมากขึ้น อาทิ การใช้สิทธิเพื่อต่อสู้ในชั้นศาล นอกจากนี้ ในมาตรา 26 เกี่ยวกับการตรากฎหมายที่มีผลต่อสิทธิเสรีภาพบุคคล ได้แก้ไขให้รองรับกับหลักนิติธรรมมากขึ้น จากเดิมระบุ “กฎหมายดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรม” แก้ไขเป็น “กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม” มาตรา 27 หลักความเสมอภาค ได้นำหลักความแตกต่างของบุคคลมาขยายความให้ครอบคลุมครบถ้วน ด้วยการเติมข้อความให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในปัจจุบันได้รับความ คุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นมาตรา 7 เดิมของรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้การวินิจฉัยเป็นไปตามประเพณีการปกครอง นั้น กรธ. จะนำมาบัญญัติในบททั่วไป แม้ถูกมองว่าให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป แต่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในอดีตประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก ว่าจะมีองค์กรใดนำหลักการดังกล่าวมาใช้ จึงยืนยันที่จะให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย แต่จะต้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องวินิจฉัย อาทิ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา องค์กรอิสระ เป็นผู้ส่งเรื่องนั้นๆ ไปให้ศาล รธน. พิจารณา
อุดม ยืนยันว่า การบัญญัติดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย