วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สามนักเคลื่อนไหวเพื่อ ปชต.ได้ประกันตัว- ศรรัก มาลัยทอง ดีเจ กวป. ยังรอลุ้น



10 มิ.ย. 2557 - วันนี้ (10 มิ.ย.) ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอฝากขังในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามที่ควบคุมตัวบุคคล 2 รายคือ นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ประธานสมาพันธ์ประชาชนรักประชาธิปไตย 20 จังหวัดภาคอีสาน ฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ที่ 14/2557 และนายชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ ฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองของ คสช. ที่ 7/2557 พร้อมถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 (ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ) อีกด้วย  โดยศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองรายเป็นเวลา 12 วัน
หลังจากรับฟังคำสั่งข้างต้น  ผู้ต้องหาทั้งสองรายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและศาลทหารกรุงเทพได้อนุญาตให้ประกันตัวไปโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 100,000 บาท  โดยมีข้อกำหนดไม่ให้ผู้ต้องหาทั้งสองออกนอกราชอาณาจักร ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายนนี้
ส่วนนายสุเมธ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ต้องหาฐานละเมิดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2557 อีกรายที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็ได้รับอนุญาตจากศาลทหารกรุงเทพให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับสองรายข้างต้นแล้วเช่นกัน ด้วยหลักประกันเป็นเงินสด 40,000 บาท
ในวันเดียวกัน ศรรัก มาลัยทอง หรือ นายมาลัยรักษ์ ทองชัย โฆษกกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ซึ่งมีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23/2557 และได้เข้ารายงานตัวเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เข้ารายงานตัวเมื่อ 28 พ.ค. หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน ถูกนำส่งศาลนครนายก ฟ้องคดีเกี่ยวกับอาวุธสงคราม โดยครอบครัวระบุว่าได้ยื่นประกันตัวแล้ว รอความคืบหน้า

รองโฆษก คสช. วอนเพื่อฟื้นภาพประเทศ-อย่านำภาพสะท้อนความรุนแรงมาเผยแพร่



พ.อ.วินธัย สุวารี ขอความร่วมมือประชาชนไม่นำภาพที่สะท้อนความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มานำเสนอ เพื่อเป็นการฟื้นคืนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติร่วมกัน ส่วน "สมบัติ บุญงามอนงค์" ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี "ในพื้นที่พิเศษ" ไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่นำมาปรับทัศนคติ ขอให้ญาติไม่ต้องกังวล
ภาพงาน "คืนความสุขสู่ประชาชน" โดย พล.ม.2 รอ. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2557 (แฟ้มภาพ)
11 มิ.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้หวังดีได้จัดทำภาพวีดีโอ มาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างให้เกิดบรรยากาศแห่งความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการไม่นำภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ มานำเสนอ เพื่อเป็นการฟื้นคืนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศชาติร่วมกัน
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า พ.อ.วินธัย กล่าวว่า กรณีที่มีบางบุคคลได้ให้ความเห็นต่อเรื่องคดีความต่าง ๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ขอความร่วมมือว่า ถ้ากระบวนการยังไม่สิ้นสุด หรือยังไม่ชัดเจน ไม่ควรกล่าวอ้างหรือคาดการณ์กันไป เพราะจะทำให้สังคมเกิดความสับสน และไม่เขื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้เกิดความแตกแยก คสช. เคารพการทำหน้าที่ขององค์กรตามกระบวนการยุติธรรมเสมอ ไม่ต้องการก้าวก่าย หรือล่วงละเมิด ส่วนกรณี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้รับการควบคุมดูแลอยู่ในพื้นที่พิเศษ ยังไม่ใช่ในสถานะผู้ทำความผิด ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจและปรับทัศนคติ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าตัวเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ยืนยัน เจ้าหน้าที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี แม้ว่าที่ผ่านมา นายสมบัติมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด ฐานยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความไม่สงบ และฝ่าฝืนประกาศของ คสช. ขอให้ญาติไม่ต้องวิตกกังวล ส่วนเรื่องของคดี เป็นเรื่องที่ทางตำรวจ ในฐานะเจ้าพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้ดูแลต่อไป
อนึ่งก่อนหน้านี้ ประชาไทรายงานข่าวว่า เกศสุดา บุญงามอนงค์ ภรรยานายสมบัติ ได้ประสานงานกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประสาน คสช. ขอเข้าเยี่ยมนายสมบัติ โดยได้รับแจ้งว่าให้ไปที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ แต่เมื่อไปถึง กลับได้รับคำตอบว่านายสมบัติไม่เคยมาที่นี่ และเมื่อได้ข่าวว่านายสมบัติอยู่ที่กรมทหารราบที่ 21 (ร.21 รอ.) จ.ชลบุรี  ก็ได้เดินทางไปสอบถาม แต่ทหารระบุว่านายสมบัติไม่เคยมาอยู่ที่ค่ายทหารดังกล่าว โดยภรรยานายสมบัติเรียกร้องให้ คสช. คำนึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกควบคุมตัวที่ควรสามารถแจ้งให้ญาติทราบได้ว่าอยู่ที่ใด (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ภรรยา ขอเยี่ยม บก.ลายจุด ทั้งที่ 'เทเวศร์-ค่ายชลบุรี' ทหารปัด ไม่อยู่ทั้งสองที่


10 มิ.ย.2557 กรณีสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ถูก คสช.เรียกรายงานตัว แต่ไม่ไปตามคำสั่ง จนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่าถูกนำตัวไปไว้ที่ ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี รวมถึงมีข่าวว่าถูกนำตัวมาสอบปากคำที่ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ กรุงเทพฯ นั้น
เกศสุดา บุญงามอนงค์ ภรรยาสมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ ได้ประสานงานกับคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อประสานงานกับ คสช. ขอเข้าเยี่ยม นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ถูก คสช.เรียกรายงานตัว โดยได้รับการแจ้งว่า ให้ไปที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ แต่เมื่อไปถึง กลับได้รับคำตอบว่านายสมบัติไม่เคยมาที่นี่
เกศสุดา กล่าวต่อว่า เนื่องจากเคยข่าวในสื่อต่างๆ ว่ามีการนำตัวสมบัติไปไว้ที่ ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี จึงเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ทหารที่ทำหน้าที่ดูแลคนที่รายงานตัวแจ้งว่า นายสมบัติไม่เคยอยู่ที่นี่ ทำให้วันนี้ เธอไม่ได้พบกับสามี จึงอยากเรียกร้องถึง คสช. ขอให้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของสามี โดยควรแจ้งให้ญาติได้รู้ว่าอยู่ที่ไหนอย่างไร

ดวงใจ พวงแก้ว 4 คนรายงานตัว คสช.-วรเจตน์ป่วยให้ภรรยามาแจ้ง-ปล่อย 6 รายชู 3 นิ้ว



บุคคลที่มีชื่อตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 57-58 ทยอยรายงานตัว เจเจ สาธร-พายัพ ชินวัตร-ณัฐวุฒิ ด้วงนิล ส่วนวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ให้ภรรยามาแจ้งว่าป่วยไม่สามารถมารายงานตัวได้ "ดวงใจ พวงแก้ว" มาพร้อมกัน 4 คน ส่วนก่อนหน้ามีคนชื่อซ้ำ "จรรยา ยิ้มประเสริฐ" มาด้วย ด้านสาวบางพลัดขอรายงานตัวด้วยโดยไม่มีชื่อในคำสั่ง ระบุมีคนบอกว่าใครชอบนโยบายเพื่อไทยให้มารายงานตัว ขณะที่ช่วงเย็นปล่อยคนชู 3 นิ้วแล้ว 6 ราย เหลือ 1 ราย
สโมสรทหารบก เทเวศร์ สถานที่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. (แฟ้มภาพ/สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย)

ผู้อยู่ในรายชื่อ คสช. ทยอยรายงานตัว "ดวงใจ พวงแก้ว" มา 4 คน - วรเจตน์แจ้งว่าป่วยไม่สามารถมาได้
11 มิ.ย. 2557 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ มีบุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. 57/2557 และ 58/2558 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม  โดยมีชื่อเรียกรวมทั้งหมด 35 ราย โดยมีหลายชื่อถูกเรียกเป็นครั้งที่สอง เช่น จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ชินวัฒน์ พาบุญพาด วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สงวน พงษ์มณี ฯลฯ
ทั้งนี้ตั้งแต่เวลา 10.00 น. มีนางกรรณิการ์ เทียนเงิน มารายงานตัวคนแรก ขณะที่มีผู้ที่มีชื่อว่า 'ดวงใจ พวงแก้ว' ซึ่งถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. 58/2557 เดินทางมารายงานตัวซ้ำ 4 คน นอกจากนี้นายสรานุภล กองทอง ซึ่งถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. 58/2557 เมื่อลงจากรถได้ชูสัญลักษณ์ 3 นิ้วก่อนเข้าไปรายงานตัวด้วย
นอกจากนี้มีผู้เดินทางมารายงานตัวเช่น นายเสน่ห์ จงจิตต์ นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายณัฐวุฒิ ด้วยนิล นักแต่งเพลงซึ่งถูกกลุ่มล่าแม่มดกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของนามแฝงหนึ่งในกระดานข่าวสนทนา น.ส.กรกนก ห่อมกระโทก และนายจรัล อัมพรกลิ่นแก้ว หรือ เจเจ สาธร บล็อกเกอร์ชื่อดัง Go6TV
นอกจากนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการกลุ่มนิติราษฏร์ ได้ส่ง นางพัชรินทร์ ภาคีรัตน์ ภรรยาเข้ารายงานตัวแทน โดยให้เหตุผลว่านายวรเจตน์ป่วย ไม่สามารถเข้ารายงานตัวได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ มีญาติของนายวิจารณ์ แสนลี่ บุตรชายของนายเล่าต๋า แสนลี่ พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาสอบถามความคืบหน้าการปล่อยตัว ของนายวิจารณ์ ที่หอประชุมกองทัพบก
ขณะที่นางสมคิด วงศ์โพธิ์ ชาวบางพลัด เดินทางมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ คสช. ด้วย ทั้งที่ไม่มีรายชื่อตามคำสั่ง แต่ระบุว่าได้รับการบอกต่อว่า ผู้ใดที่ชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย ต้องมารายงานตัวต่อ คสช. เจ้าหน้าที่จึงชี้แจงว่า อย่าหลงเชื่อข่าวลือดังกล่าว ให้ฟังประกาศจากคสช.เท่านั้น นางสมคิดจึงเดินทางกลับ

ปล่อยแล้ว 6 ราย "ชูสามนิ้ว" วันอาทิตย์ เหลือควบคุมตัวอีก 1 ราย ขณะที่มีผู้ถูกจับรายใหม่อีก 1 ราย
ต่อมาในช่วงเย็นที่กองปราบปราม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้หญิง 6 คนที่ถูกจับเมื่อวันอาทิตย์เนื่องจากร่วมกิจกรรมประท้วง คสช. ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อราว 18.00 น. วันที่ 10 มิ.ย. ทำให้ขณะนี้ที่กองปราบเหลือผู้ชาย 1 คนที่ถูกควบคุมตัวจากเหตุชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ และมีผู้ถูกควบคุมตัวรายใหม่เพิ่มอีก 1 คน ขณะนี้ยังไม่สามารถว่าถูกควบคุมตัวเพราะกรณีใด
ทั้งนี้หนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัวแจ้งว่า ทหารมีเงื่อนไขการปล่อยตัว คือ เรื่องการขออนุญาตหากจะเดินทางออกนอกประเทศ ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือร่วมการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งห้ามไลค์และแชร์เรื่องทางการเมืองในโซเชียลมีเดีย

ภิญโญยุติผลิตรายการข่าวช่องอมรินทร์ "จนกว่าจะพบกันใหม่"



ภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา ยุติผลิตรายการ "Amarin Newnight" หลังออกอากาศหนึ่งสัปดาห์ ระบุเหตุรัฐประหาร ทำให้สถานการณ์ภายนอก-ภายในสถานีเปลี่ยน จึงขอรักษาจุดยืนและหลักการวิชาชีพ ด้านผู้บริหารอมรินทร์ระบุยุติเพราะวิธีคิดต่างกัน แต่ยืนยันว่าจากกันด้วยดี ส่วนข่าวตอนล่าสุดเสนอเรื่องของนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสีในอเมริกา ชีวิตนักการเมืองที่ถูก คสช. ควบคุมตัว บทเรียนปรองดองทั่วโลก และสัมภาษณ์แกนนำภูมิใจไทย
10 มิ.ย. 2557 - เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (10 มิ.ย.) ในเฟซบุ๊คเพจ "Amarin Newsnight กับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา" มีการขึ้นประกาศยุติการทำรายการ หลังจากผลิตรายการข่าให้กับช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งเป็นช่องทีวีดิจิตอลได้เพียง 1 สัปดาห์ โดยมีรายละเอียดของการประกาศดังนี้
"จากการรัฐประหาร ทำให้สถานการณ์ภายนอกและภายในสถานีเปลี่ยนไป
เพื่อรักษาจุดยืนและหลักการแห่งวิชาชีพไว้
ผมจึงขอยุติการทำรายการ AMARIN NEWSNIGHT ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
จากเวลาเตรียมการแรมเดือน แม้จะออกอากาศได้เพียงหนึ่งสัปดาห์
แต่ผมและทีมงานทุกคนก็ภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์รูปแบบรายการข่าวภาคค่ำมิติใหม่
ให้ออกอากาศได้อย่างสง่างามภายใต้สถานการณ์ปฏิวัติ
แม้วันนี้เมฆหมอกจะยังปกคลุมท้องฟ้า แต่ผมเชื่อมั่นว่า
ทีมงานหนุ่ม-สาวทุกคนจะเป็นดาวที่สุกสกาว เมื่อถึงเวลาฟ้าเปิด
จนกว่าจะพบกันใหม่
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
9 มิถุนายน 2557"
ล่าสุด วอยซ์ทีวี รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่นายภิญโญขอยุติทำรายการ   เป็นเพราะวิธีคิดระหว่างคณะผู้บริหารสถานีกับนายภิญโญ ยืนอยู่คนละจุด  คุณภิญโญคิดแบบคนรุ่นใหม่ ต่างคนมีจุดยืน ซึ่งไม่ตรงกัน โดยทางอัมรินทร์ทีวีกับนายภิญโญจากกันด้วยดี ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
ตัวอย่างรายการข่าว "Amarin Newsnight กับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา" (ที่มา: Youtube/Amarin Newsnight)
 
ภาพแนะนำช่วง The Point ในรายการ Amarin Newsnight ออกอากาศวันที่ 6 มิ.ย. 2557 นำเสนอเรื่องราวของ Maya Angelou (ที่มา: เพจ Amarin Newsnight กับ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา)
สำหรับรายการ Amarin Newsnight เริ่มออกอากาศเทปแรกวันที่ 2 มิ.ย. 2557 ทางช่องอมรินทร์ทีวี ช่อง 34 ช่วงเวลา 18.30 - 20.00 น. โดยตอนล่าสุดที่เผยแพร่ใน Youtube ของช่องรายการ เป็นเทปที่ 5 ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ประเด็นข่าวที่นำเสนอประกอบด้วยช่วง The Point ถ่ายทอดเรื่องราวของ Maya Angelou ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือ "I Know Why the Cages Bird Sings" สกู๊ปพิเศษ "ชีวิตคนการเมืองในวันไร้อิสรภาพ" เป็นการติดตามชีวิตของนักการเมืองฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทยภายหลังถูก คสช. ควบคุมตัวและได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งรายงานข่าวนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำรัฐบาลชุดก่อนถูกส่งขึ้นศาลทหาร สกู๊ปพิเศษ "บทเรียนปรองดองทั่วโลก" และสัมภาษณ์นายอนุทิน ชาญวีรกูล แกนนำพรรคภูมิใจไทย (รับชมคลิป)

ยกคำร้อง "ฉลาด วรฉัตร" ฟ้อง คสช. ม.112-ม.113 ศาลระบุรัฐเท่านั้นคือผู้เสียหาย



ฉลาด วรฉัตร ฟ้องว่าหัวหน้า คสช. และคณะผิดฐานกบฎ-หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลวินิจฉัยว่าคดีอยู่อำนาจศาลยุติธรรม แต่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงให้ยกฟ้อง
ฉลาด วรฉัตร ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)
10 มิ.ย. 2557 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ซึ่งอดอาหารประท้วง คสช. มาตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. หน้ารัฐสภา ได้เดินทางมาที่ศาลอาญารัชดาภิเษก พร้อมทนายความเพื่อยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ คสช. รวม 7 คน ปลัดกระทรวง 20 คน และเจ้ากรมพระธรรมนูญ 1 คน รวม 28 คน ในฐานความผิดข้อหากบฏและหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 113, 83, 86
ล่าสุดในช่วงบ่าย สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 จนถึงวันฟ้องต่อเนื่องกัน ตามคำฟ้องแสดงให้เห็นว่าการเริ่มต้นแห่งการกระทำความผิด ได้เกิดขึ้นก่อนที่ คสช. จะเข้ามาควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แม้มีการกระทำความต่อเนื่องกันมาหลังจากนั้นก็ไม่ทำให้คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ดังนั้น ศาลอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แต่เมื่อความผิดตามฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือได้ว่าเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ แต่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 ให้ยกฟ้อง

กรรมการสิทธิฯ ขยับ วอน คสช.เคารพสิทธิ ยกกรณี 66/23




เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2557  ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และมี อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ร่วมประชุมด้วย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้สัมภาษณ์ว่า หลังมีคำร้องร่วม 10 คำร้องให้ กสม.ติดตามเป็นคนกลาง ช่วยคดี กรณีถูกเรียกรายงานตัว ควบคุมตัว กสม.มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนว่าด้วยสิทธิพลเมือง ติดตามให้ความช่วยเหลือและปกป้องการละเมิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม การทำงานนี้ไม่ใช่การตรวจสอบ แต่เป็นการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ในที่นี้คือ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น เรือนจำ ค่ายทหาร โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ กสม. ไปเยี่ยมเยียน คุยกับฝ่ายปฏิบัติให้ประสานงานกับญาติ เพราะในการควบคุมตัวมีปัญหาหลากหลาย อาทิ เรียกรายงานตัวแล้วไม่แจ้งสถานที่ควบคุมให้ญาติและครอบครัวทราบ ก่อให้เกิดความวิตก ไม่แจ้งญาติเป็นผู้มารับ ไม่รู้ว่ามีการดำเนินการอย่างไรใต้กฎอัยการศึก บางรายมีการฟ้องคดีต่อ ฯลฯ

ทางกสม.มีข้อเสนอในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎอัยการศึกว่า ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น แจ้งญาติหรือครอบครัวได้รู้ถึงสถานที่ควบคุมและกำหนดการปล่อยตัว อาจไม่ต้องแจ้งต่อสาธารณะ แต่ควรแจ้งต่อครอบครัว นอกจากนี้ กสม.จะประสานกับองค์กรด้านกฎหมายเข้าในการช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง
สำหรับการช่วยเหลือรูปธรรมนั้น ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ กสม.เดินทางไปค่ายทหารที่ราชบุรีและประสานงานจนสามารถเข้าพบสื่อ 2 รายคือ นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.วารสารฟ้าเดียวกัน และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวนสพ.เดอะเนชั่น รวมถึงนักวิชาการ คือนายสุรพศ ทวีศักดิ์ โดยทหารอนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยมได้และต่อมามีการปล่อยตัว การพาญาติไปพูดคุยทำให้เกิดความมั่นใจในกระบวนการทำงานและทำความเข้าใจกับหัวหน้าหน่วยในพื้นที่ว่าเข้าไปส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่การแทรกแซง
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กรณีที่ห่วงคือ ต่างจังหวัด ซึ่งมีความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไปผูกโยงกับกลุ่มอำนาจและอิทธิพลในพื้นที่ กสม.ไม่ได้มองเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเดียว ขณะนี้ก็มีความขัดแย้งระดับลึกที่ทหารจะเข้าไปมีส่วนแก้ไขด้วยในการทำศูนย์ปรองดองและสมานฉันท์
“กรณีที่กังวลมากคือ จ.เลย ที่เหมืองทอง อ.วังสะพุง ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีการทำร้ายร่างกายประชาชน เกี่ยวเนื่องกับการจัดการทรัพยากรของรัฐ ข้อมูลล่าสุด มีการปรามนักศึกษาไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งที่นักศึกษาเข้าไปทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องกฎหมายกับสังคมเรื่องของการจัดการฐานทรัพยากรซึ่งมีอยู่มากในอีสาน เพื่อให้นักศึกษากฎหมายเรียนรู้ว่า ความขัดแย้งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร  นักศึกษาเข้าไปทำงาน ช่วยเหลือชาวบ้านในประเด็นกม โดยไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการเมือง”นพ.นิรันดร์กล่าว
กรณีการเรียกพบทหารโดยไม่เป็นทางการในต่างจังหวัด นพ.นิรันดร์  ระบุว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทางพื้นที่ กอ.รมน.จังหวัด พูดคุยให้ชัดว่าเรียกคุยเรื่องอะไร ขณะเดียวกันต้องให้ความสนใจเรื่องความขัดแย้งนอกเหนือจากเรื่องการเมืองในพื้นที่ด้วย ในฐานะที่ คสช. ทำศูนย์ปรองดอง ความขัดแย้งหลักในต่างจังหวัดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการจัดการทรัพยากร การพัฒนา ความไม่เป็นธรรม เรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม
“หากโครงการศูนย์ปรองดอง เข้าใจตรงนี้ ก็จะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ ขอย้ำว่าชาวบ้านในแต่ละจังหวัดไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องขัดแย้งทางการเมืองมากเท่าส่วนกลาง” นิรันดร์กล่าวและว่า ต้องระวังอย่านำความขัดแย้งทางการเมืองส่วนกลางไปปะปนกับความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างเรื่องฐานทรัพยากร การพัฒนา ไม่เช่นนั้นจะสร้างแนวร่วมมุมกลับ สร้างความขัดแย้งมากขึ้น และความปรองดองสมานฉันท์ก็จะไม่เกิด
ชูสามนิ้ว..คสช.อย่าเหมารวมเป็นผู้ต่อต้าน
สำหรับกรณีการจับกุมผู้แสดงออกโดยการชูสามนิ้วนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ให้ความเห็นไว้ถูกอยู่ คือให้ความเคารพในเรื่องความเห็นต่าง เพียงแต่ท่านก็มองว่า ความเห็นต่างจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนต่อต้าน คสช.
"ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องแยกให้ออกคือเรื่องการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ สันติวิธี กับการเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. หมายความว่า จะต้องวางหลักการเรื่องการจัดการคนที่มีความเห็นต่าง อย่าเอาเป็นพวกเดียวกันกับผู้ต่อต้าน ไม่งั้นแล้วก็ยิ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ขยายแนวร่วมของฝ่ายที่ต้องการต่อต้าน ด้วยการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะขยายไปถึงขนาดนั้น" นพ.นิรันดร์กล่าว
แยกปลาออกจากน้ำ รีบเลือกตั้ง
“ส่วนที่มีแอคชั่น เช่น การตั้งกองกำลังอาวุธ สะสมอาวุธ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งคิดว่า คสช.เขาไม่ต้องการ โอเค เขาจัดการตรงนั้นไป แต่ถ้าเราที่มีความเห็นต่าง ต้องการให้ คสช.รีบกลับคืนระบอบประชาธิปไตย มีรัฐบาล การเลือกตั้ง คิดว่าเป็นเรื่องความเห็นต่าง ที่ คสช.ต้องรับฟัง และดีเสียอีก เพื่อแสดงให้ต่างชาติรู้ว่า คสช.รับฟังความเห็นต่าง และจะช่วยกระตุ้นให้ คสช.ระมัดระวังในการไม่ใช้อำนาจที่เกินเลย หากปะปนกับฝ่ายที่การกระทำที่ชัดเจนเรื่องการแยกดินแดนจะขยายความขัดแย้งมากขึ้น พูดง่ายๆ คือต้องแยกปลาออกจากน้ำ”
กรณีที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร นิรันดร์ กล่าวว่า วันศุกร์นี้ (13 มิ.ย.) กสม.จะประชุมกันว่าจะมีข้อเสนออย่างไรก็ตาม  ส่วนตัวคิดว่าศาลทหารเป็นศาลที่ปฏิบัติตามภาวะพิเศษที่ใช้กฎอัยการศึก แต่อย่างไรก็คงต้องยึดโยงกับการทำงานที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีทนายความ นักกฎหมาย มีโอกาสไต่สวนพยาน ซึ่งจะทำให้การทำงานของ คสช.เป็นที่ยอมรับ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะได้ตอบคำถามในคณะมนตรีสิทธิมนุษชนได้ว่าแม้จะเป็นกระบวนการพิเศษในสถานการณ์รัฐประหาร ไทยก็ยังดำรงไว้ซึ่งการให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาได้
แนวปฏิบัติเรื่องรายงานตัว
สำหรับแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานตัว นพ.นิรันดร์กล่าวว่า มีตัวอย่างจากกรณีสามจังหวัด ที่กสม.ทำงานกับทหาร เรื่องความมั่นคง เพียงแต่โจทย์มากขึ้น เพราะเป็นการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ การยึดหลักสิทธิมนุษยชนจะทำให้ คสช.เป็นที่ยอมรับ และทำให้เห็นว่าแม้ใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศก็ยังทำงานใต้หลักการให้ความเป็นธรรม ทำให้กระบวนการไม่ถูกกล่าวหา และไม่ถูกมองว่าใช้อำนาจเด็ดขาดเหมือนอย่างในอดีต ตรงนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ แต่สอดคล้องกับกรณี คำสั่งที่ 66/2523 ที่สังคมไทยสามารถสรุปบทเรียนได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย เราสามารถใช้นโยบายทางการเมืองเข้าไปจัดการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเมื่อช่วงบ่าย แบ่งเป็นประเด็นคือเรื่องของผู้ถูกเรียกรายงานตัวและควบคุมตัวและการเก็บข้อมูลการควบคุมตัวและการจับกุม โดยผู้เคยถูกควบคุมตัวรายหนึ่งระบุว่า ระหว่างถูกคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้โทรแจ้งครอบครัวว่าถูกพาไปที่ไหน ทั้งยังถูกละเมิดสิทธิด้วยการขอรหัสเฟซบุ๊กและอีเมลส่วนตัว ขณะที่ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวต้องการทราบว่าเจ้าหน้าที่ทหารนำญาติของตนเองไปไว้ที่ใดและทำอะไรบ้าง
ด้านการเก็บข้อมูล พบว่า ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและด้านกฎหมายหลายองค์กรพยายามรวบรวมข้อมูลของผู้ถูกเรียกรายงานตัวทั้งกรณีถูกเรียกอย่างเป็นทางการและถูกเรียกปากเปล่าในต่างจังหวัด โดยมีการเรียกร้องให้ คสช.เปิดชื่อคนที่ถูกกักตัวและคนที่ปล่อยตัวแล้วทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส นอกจากนี้พบปัญหาว่าบางครั้งมีการเข้าจับกุมผิดคน จึงเรียกร้องให้มีหมายจับให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัว โดยควรให้ญาติ สื่อ หรือองค์กรสิทธิฯ เข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัว เสนอให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวในเวลากลางวันและแจ้งญาติให้มารับ เพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัว ขณะที่กระบวนการเก็บข้อมูลพบปัญหาว่าผู้เก็บข้อมูลกลายเป็นผู้ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่เสียเอง จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ ช่วยคุ้มครองอาสาสมัครเหล่านี้ด้วย
 

'ฟ้าเดียวกัน' แจ้งหยุดพิมพ์ชั่วคราว เหตุถูกเพ่งเล็งหลังรัฐประหาร




10 มิ.ย.2557 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ส่งจดหมายแจ้งสมาชิกวารสารฟ้าเดียวกัน ลงวันที่ 3 มิ.ย.2557 ขอชะลอการพิมพ์วารสารฉบับใหม่ไปก่อน โดยระบุว่า เนื่องจากหลังการรัฐประหาร มีการปิดสื่อและตรวจเนื้อหาอย่างเข้มข้น ส่งผลให้วารสารฟ้าเดียวกัน ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ จนสร้างความหวาดกลัวให้กับทุกส่วนการผลิต เพื่อความปลอดภัยจึงขอชะลอการตีพิมพ์ไปก่อน เมื่อโอกาสอำนวยจะจัดพิมพ์และส่งให้สมาชิก รวมถึงวางจำหน่ายต่อไป
     
สำหรับวารสารฟ้าเดียวกัน เป็นวารสารราย 3 เดือน นำเสนอประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง มีนายธนาพล อิ๋วสกุล เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยตีพิมพ์และเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2546 ฉบับล่าสุด คือฉบับปีที่ 12 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2557 "ระบอบประชาธิปไตยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

รายละเอียดจดหมายมีดังนี้
3 มิถุนายน 2557
เรียน สมาชิกวารสารฟ้าเดียวกันทุกท่าน
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 03.00 น. ในวันอังคารที่ 20 พ.ค. 2557 และก่อการรัฐประหารในวันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตลอดระยะเวลาดังกล่าว คณะรัฐประหารได้มีการปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาอย่างเข้มข้น ภายใต้สภาวะดังกล่าวสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ถูกผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้
วารสารฟ้าเดียวกันได้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ จนสร้างความหวาดผวาให้เกิดกับทุกภาคส่วนของการผลิตที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทางกองบรรณาธิการจึงเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกท่านจึงขอชะลอการตีพิมพ์ วารสารฉบับใหม่ออกไปก่อน และถ้าโอกาสอำนวยเราจะจัดพิมพ์และส่งให้สมาชิกและวางจำหน่ายต่อไป
อนึ่ง ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันยังคงยึดมั่นในแนวทางการจัดทำหนังสือต่อไป ทั้งในรูปแบบของวารสารและหนังสือเล่ม
ขอแสดงความนับถือ
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
     

สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ารับการผ่าตัดไหล่ข้างขวาซึ่งอักเสบเรื้อรัง



เลขาธิการ กปปส. เข้ารับการผ่าตัดไหล่ข้างขวาซึ่งอักเสบเรื้อรังหลังจากชุมนุมทางการเมืองนานกว่า 6 เดือน เบื้องต้นคณะแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพให้พักรักษาตัวหลังผ่าตัด 2 วัน
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เซ็นชื่อหนังสือ Power of Change ก่อนเข้ารับการผ่าตัดไหล่ข้างขวาที่ รพ.กรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. (ที่มา: เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ)
10 มิ.ย. 2557 - เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (10 มิ.ย.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เดินทางไปที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับการผ่าตัดไหล่ข้างขวาหลังอักเสบเรื้อรังช่วงชุมนุมทางการเมืองยาวนานกว่า 6 เดือน โดยก่อนรับการรักษาตัวได้เข้าสักการะท้าวการุณเวทย์ ชีวิตาพระชัยมงคล ภูมิเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิประจำโรงพยาบาลฯเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีกำหนดการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องในเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ แต่ในช่วงเช้าทางคณะแพทย์ให้เข้าตรวจร่างกายก่อน ทั้งนี้ มี นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาลกรุงเทพ และ นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้การต้อนรับ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า มีอาการเจ็บที่หัวไหล่ และหลังการผ่าตัดแล้วพักฟื้นในโรงพยาบาลสัก 2 วันก็กลับบ้านได้ สำหรับอาการบาดเจ็บดังกล่าวเกิดจากการยกแขนข้างขวาช่วงการชุมนุมทางการเมืองต่อเนื่อง ส่งให้หัวไหล่อักเสบเรื้อรัง แม้ว่าที่ผ่านมาได้รักษาด้วยการฉีดยาและรับประทานยาประทังอาการ เพราะติดภารกิจชุมนุมในขณะนั้น ทำให้หลังยุติการชุมนุมจึงได้นัดคณะแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดในวันนี้
ทั้งนี้ในเพจสุเทพ เทือกสุบรรณ เผยแพร่ภาพนายสุเทพ เซ็นชื่อหนังสือ "Power of Change" ก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วย

‘ฉลาด วรฉัตร’ ยื่นฟ้องอาญา ‘พล.อ.ประยุทธ์-คสช.-ปลัดกระทรวง’ ฐานล้มล้างการปกครอง


เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 มิ.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมทนายความ ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมคณะ คสช. ปลัดกระทรวงต่างๆ และ เจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 27 คน ต่อศาลอาญา รัชดา ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ความผิดฐานกบฎ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จากกรณีที่ ร่วมกัน ประกาศกฎอัยการศึก และยึดอำนาจในการปกครองประเทศ
 
 โดย เรืออากาศตรีฉลาด ระบุว่าการประกาศกฎอัยการศึก ประเทศต้องอยู่ในภาวะสงคราม หรือเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจึงใช้ระบบอื่นมาปกครองไม่ได้ ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงต้องมาฟ้องร้องดำเนินคดี แต่หากภายหลัง ที่ยื่นฟ้องแล้วทาง คสช. จะเรียกให้ไปรายงานตัว ก็จะไม่ไปตามหมายเรียก แต่จะไม่หลบหนี หาก คสช. จะจับกุม ก็ให้ไปจับตนที่หน้ารัฐสภา
 
 อย่างไรก็ตาม เรืออากาศตรีฉลาด ได้ทำการอดอาหารประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภา มาแล้วเป็นเวลา 19 วัน และที่ผ่านมา มีแพทย์มาตรวจร่างกาย 2 ครั้ง โดย เรืออากาศตรีฉลาด ยืนยันว่า จะอดอาหารไปจนกว่า จะมีการกำหนดวันเลือกตั้ง ที่ชัดเจน แต่หากประเทศยังไม่มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ขออดอาหารไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต
 
 นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรืออากาศตรีฉลาด มีท่าทางที่อิดโรย และหมดแรง ซึ่งมีผู้ติดตามคอยพยุง เวลาเดิน และตลอดเวลาที่ให้สัมภาษณ์เรืออากาศตรีฉลาดได้ขอนั่งบริเวณบันไดศาล แทนการยืนให้สัมภาษณ์