วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คดี 112 หนุ่มอุบล ศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี 22 เดือน กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 9 กรรม


31 ก.ค.2557 เว็บไซต์ศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ โดย ไอลอว์ รายงานว่า ทนายประเวศ ประภานุกูล ทนายจำเลยแจ้งว่า ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษากรณีของนาย พ. อายุ 27 ปี จำเลยในคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ ว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งหมด 9 กรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 27 ปี ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ลงโทษกรรมละ4 เดือน รวม 36 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 36 เดือน (หรือรวมแล้วคือ 30 ปี)  จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกรวม 13 ปี 22 เดือน
ทั้งนี้ทนายกล่าวด้วยว่า หากบวกลบจริงๆโทษควรจะเป็น 13 ปี 24 เดือน แต่ศาลอ่านคำพิพากษาเป็น 13 ปี 22 เดือน หลังจากนี้ ทนายและญาติของจำเลยจะหารือถึงแนวทางคดีต่อไป ว่าจะอุทธรณ์คดี หรือยุติคดีและขอพระราชทานอภัยโทษ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ศาลเคยนัดไต่สวนแพทย์ผู้ให้การรักษาอาการทางจิตของจำเลยเพื่อนำไปประกอบการเขียนคำพิพากษา ในกรณีที่จำเลยมีอาการป่วยทางจิตและแพทย์มีความเห็นว่าต้องทำการรักษา ทนายระบุว่า ศาลอาจวินิจฉัยให้รอลงอาญาเป็นกรณีพิเศษได้ แม้โทษของจำเลยจะสูงกว่าเกณฑ์ที่ศาลจะรอลงอาญา แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่มีการรอลงอาญาแต่อย่างใด
นาย พ. ถูกตำรวจหน่วยสืบสวนของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และตำรวจภูธรในพื้นที่อุบลราชธานีจำนวนหลายสิบนายบุกไปจับกุมตัวที่บ้าน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.55 โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเขาใช้บัญชีเฟซบุ๊คทั้งหมด 3 บัญชี  โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 500,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย.57 อัยการส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14(3) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิด 9 กรรม เขาจึงถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย.57 มีการนัดพร้อมสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพ โดยทนายแถลงขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาเนื่องจากต้องการเขียนคำแถลงประกอบ คำรับสารภาพว่าจำเลยทำไปด้วยความคึกคะนอง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้สายลับมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขา โดยใช้ชื่อในเฟซบุ้คว่า Tangmo Momay เข้ามาตีสนิท ยั่วยุให้โพสต์ข้อความที่หมิ่นเหม่ และมีการโทรศัพท์พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยผู้ต้องหาอ้างว่าได้เห็นบันทึกการพูดคุยทางโทรศัพท์นั้นถูกถอดเทป และนำมาใช้เป็นหลักฐานของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิ.ย.57 รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 44 ลงวันที่ 1 มิ.ย.57 คำสั่งฉบับดังกล่าวกำหนดให้นาย พ. เข้ารายงานตัวที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ ในวันที่ 3 มิ.ย.57 หลังจากนั้น นายพ.ได้เดินทางเข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิ.ย. และถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 คืนด้วย

จิตรา คชเดช ได้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว หลังอัยการทหารสั่งฟ้อง ฐานไม่มารายงานตัว คสช.


31 ก.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 20.40 น. ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว หลังจากวันนี้อัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้องข้อหาขัดคำสั่ง คสช. กรณีไม่มารายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่ คสช.กำหนด
โดยอัยการได้ขออำนาจฝากขัง ก่อนที่จิตราจะใช้หลักทรัพย์ 20,000 บาท ขอประกันตัวจนได้รับการปล่อยตัวในเวลาดังกล่าว และจะมีการนัดหมายขึ้นศาลทหารต่อไป
ทั้งนี้ จิตรา ถูกคำสั่ง คสช.ที่ 44/2557 เรียกรายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในขณะนั้นเธออยู่ในระหว่างเดินทางดูงานกิจกรรมสหภาพแรงงานที่สวีเดน และในวันที่ คสช.นัดได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในสวีเดนแล้ว แต่ภายหลังกลับถูกออกหมายด้วยข้อหาดังกล่าว และเมื่อเดินทางกลับในวันที่ 13 มิ.ย.ตามกำหนดการที่วางไว้ล่วงหน้าจึงถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิและดำเนินคดี

'จารุพงศ์' โดน 3 ข้อหา แถลงต้าน คสช.- ตร.ตั้งทีมตาม ‘อภิวันท์' หนีออกนอก

ตร.แจ้ง 3 ข้อหา ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-หมิ่นประมาทผ่านสื่อ-ขัดคำสั่ง คสช. ขณะ ‘พ.อ.อภิวันท์’ โดนข้อหา ผิด ม.112 มอบ "จักรทิพย์" ตั้งทีมสืบสวน เร่งติดตามตัวมาดำเนินคดี เหตุผู้ต้องหาหลบหนีไปนอกประเทศ
 
31 ก.ค. 2557 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านความมั่นคง พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผช.ผบ.ตร.รรท.ผบช.น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ.ปฏิบัติราชการ บช.น.  พร้อมด้วยนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และคณะทำงานสอบสวนนครบาล ประชุมเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและหมิ่นเบื้องสูง ที่เกิดขึ้นในความรับผิดชอบของ บช.น. ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
 
พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ว่า เร่งรัดสั่งการชุดสอบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน กรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาต่อต้านรัฐธรรมนูญชั่วคราว ความยาว 12 นาที โดยประสานกับ ปอท.ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แจ้งข้อหาความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, หมิ่นประมาทผ่านสื่อ และขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. รวม 3 ข้อหา
 
ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้มอบหมาย พล.ต.ท.จักรทิพย์ ดำเนินการติดตามจับกุมตัว โดยตั้งชุดสืบสวนติดตามจับกุมตัวแล้ว
 
จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า พ.อ.อภิวันท์ หลบหนีออกไปนอกประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมประสานกองการต่างประเทศในการขอตัวกลับมาดำเนินคดี ทั้งนี้ พ.อ.อภิวันท์ ยังมีคดีกรณีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550 เช่นเดียวกับนายจักรภพ เพ็ญแข ด้วย

อดีตการ์ดเสื้อแดงถูกคุมตัวหายเงียบ ญาติเตรียมทวงถาม

n_118


มีรายงานว่า วันนี้ (1 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ญาติของนายปัญญา อุนานันท์ อดีตการ์ด นปช. จะเดินทางไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ ที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) สนามเป้า กรณีที่มีทหารจากค่าย พล.ม.3รอ. มาควบคุมตัวนายปัญญาในระหว่างทำงานที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยไม่ชี้แจงสาเหตุ ไม่อนุญาตให้ติดต่อญาติ และไม่ยินยอมให้ญาติเข้าพบ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ญาติระบุว่า ทราบภายหลังว่านายปัญญาควบคุมตัวไปเพื่อสอบถามที่อยู่ของนายสันติ พี่ชายฝาแฝดของนายปัญญาเอง และจากการพยายามติดต่อสอบถามในภายหลังทราบว่าถูกส่งตัวให้หน่วยเหนือที่สนามเป้าแล้ว จึงจะเดินทางมาเพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์และขอทราบความเป็นอยู่ของนายปัญญา

นายทหาร-ตำรวจพรึ่บ สนช. - เรียกประชุมนัดแรก 7 ส.ค.


ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 200 ชื่อ นายทหาร-นายตำรวจเกินครึ่ง วันเดียวกันมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภา 7 ส.ค. นี้ โดยผู้มีรายชื่อนั่ง สนช. ไปรายงานตัวได้ที่รัฐสภา 1-5 ส.ค. นี้
31 ก.ค. 2557 - เมื่อเวลา 21.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ตีพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา 2 เรื่อง ได้แก่ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2557 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 31 ก.ค. 2557
โดยในพระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 มีรายละเอียดดังนี้
"โดยที่ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แล้ว อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 มาตรา 22 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2557 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ"
วันเดียวกัน ในราชกิจจานุเบกษา ยังมีประกาศแต่งตั้งสภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จำนวน 200 รายชื่อ รายชื่อจำนวนมากเป็นนายทหารและนายตำรวจยศนายพล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ทั้งนี้สามารถอ่านรายชื่อ สนช. ตาม "ประกาศแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ตามรายงานข่าวนี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คสช. พร้อมด้วย พล.ท.สุชาติ หนองบัว รองหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ และคณะฝ่ายกิจการพิเศษ ตรวจเยี่ยมและประชุมการเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจด้านนิติบัญญัติเพื่อรองรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นางนรรัตน์ พิมพ์เสน เลขาธิการวุฒิสภา พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ให้การต้อนรับ
ขณะที่ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประกาศให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถมารายงานตัว ที่รัฐสภา อาคาร 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. - วันที่ 5 ส.ค. รวมเวลา 5 วัน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. - 16.00 น. ไม่เว้นหยุดราชการ

เช็คชื่อ สนช. ทหาร 105 ตำรวจ 9 – กล้าณรงค์-นรนิติ-สมคิด-สมชายก็มา


สำรวจ 200 รายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกินครึ่งเป็นทหารตำรวจ พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผบ.พล.ร.2 ปราจีนบุรี-พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาค 3-พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กลุ่มสยามสามัคคี รวมทั้ง “พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก” อดีตปลัด กห. และยังมีกล้าณรงค์ จันทิก-นรนิติ เศรษฐบุตร-บุญชัย โชควัฒนา-สมชาย แสวงการ-สมคิด เลิศไพฑูรย์-สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ฯลฯ
31 ก.ค. 2557 - ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 147 ง ลงวันที่ 31 ก.ค. 2557 มีการตีพิมพ์ "ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" จำนวน 200 รายชื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นทหารและตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โดยมีนายทหารรวมทั้งอดีตนายทหาร 105 รายชื่อ นายตำรวจ 9 รายชื่อ
เช่น พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ตท.10 อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนายการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ในการควบคุมสถานการณ์ชุมนุมปี 2552, พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ตท.20 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี, พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ตท.13 อดีตข้าราชการทหาร อดีตประธานที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม อดีตแม่ทัพภาคที่ 1, พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาค 3 น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา,
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม น้องชาย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม โดย พล.อ.สมเจตน์ เป็นอดีต ส.ว.สรรหาชุดก่อน อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติปี 2549 อดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เคยมีบทบาทดูแลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคมปี 2550 ใน จ.เชียงราย ซึ่งนำมาสู่กรณียุบพรรคพลังประชาชน
สำหรับรายชื่อบุคคลอื่นๆ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากทหารและตำรวจแล้ว เช่น นายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550, นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และผู้ปราศรัยบนเวที กปปส.
นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กรรมการกฤษฎีกา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ, นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน), นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหาชุดก่อน อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และว่าที่ประธานวุฒิสภา เคยมีบทบาทในการหาทางออกทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้าน กปปส. และรัฐบาล แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี, นายอำพน กิตติอำพน อดีตประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฯลฯ
สำหรับรายละเอียดของประกาศมีดังนี้
000
ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ดังต่อไปนี้
1. นายกรรณภว์ ธนพรรคภวิน
2. พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช
3. พลตรี กลชัย สุวรรณบูรณ์
4. นายกล้านรงค์ จันทิก
5. นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูร
6. พลโท กัมปนาท รุดดิษฐ์
7. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์
8. พลเรือเอก กําธร พุ่มหิรัญ
9. นายกิตติ วะสีนนท์
10. พลโท กิตติ อินทสร
11. นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย
12. พลเอก กิตติพงษ์ เกษโกวิท
13. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
14. พลตรี กู้เกียรติ ศรีนาคา
15. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์
16. พลเอก คณิต สาพิทักษ์
17. พลอากาศโท จอม รุ่งสว่าง
18. พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ
19. พลตํารวจโท จักรทิพย์ ชัยจินดา
20. พลตรี จารึก อารีราชการัณย์
21. พลเอก จิรพงศ์ วรรณรัตน์
22. พลเอก จีระศักดิ์ ชมประสพ
23. พลเอก จิระเดช โมกขะสมิต
24. นายเจตน์ ศิรธรานนท์
25. พลโท ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข
26. นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
27. พลโท เฉลิมชัย สิทธิสาท
28. พลอากาศเอก ชนะ อยู่สถาพร
29. พลอากาศเอก ชนัท รัตนอุบล
30. พลเอก ชยุติ สุวรรณมาศ
31. พลตํารวจเอก ชัชวาล สุขสมจิตร์
32. นายชัชวาล อภิบาลศรี
33. พลตรี ชัยยุทธ พร้อมสุข
34. พลเรือเอก ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร
35. พลโท ชาญชัย ภู่ทอง
36. นายชาญวิทย์ วสยางกูร
37. พลโท ชาตอุดม ติตถะสิริ
38. พลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง
39. พลเรือเอก ชุมนุม อาจวงษ์
40. พลเรือโท ชุมพล วงศ์เวคิน
41. นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ
42. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี
43. พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์
44. นายดิสทัต โหตระกิตย์
45. พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง
46. นายตวง อันทะไชย
47. พลเอก ไตรรัตน์ รังคะรัตน
48. พลอากาศโท ถาวร มณีพฤกษ์
49. พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์
50. พลอากาศเอก ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์
51. คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี
52. พลเอก ทวีป เนตรนิยม
53. พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์
54. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
55. พลอากาศเอก ธงชัย แฉล้มเขตร
56. พลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ
57. พลเอก ธวัชชัย สมุทรสาคร
58. นายธานี อ่อนละเอียด
59. พลโท ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ
60. นายธํารง ทศนาญชลี
61. พลโท ธีรชัย นาควานิช
62. พลเอก ธีระวัฒน์ บุญยะประดับ
63. พลเอก ธีรเดช มีเพียร
64. พลเอก นพดล อินทปัญญา
65. พลเรือเอก นพดล โชคระดา
66. นายนรนิติ เศรษฐบุตร
67. นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล
68. นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา
69. พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
70. นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์
71. พลโท นิวัติ ศรีเพ็ญ
72. นางนิสดารก์ เวชยานนท์
73. นายนิเวศน์ นันทจิต
74. นายบุญชัย โชควัฒนา
75. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ
76. พลอากาศเอก บุญยฤทธิ์ เกิดสุข
77. พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์
78. พลตํารวจโท บุญเรือง ผลพานิชย์
79. นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์
80. นายประมุท สูตะบุตร
81. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์
82. พลโท ปรีชา จันทร์โอชา
83. นายปรีชา วัชราภัย
84. พันตํารวจโท พงษ์ชัย วราชิต
85. ร้อยตํารวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร
86. นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
87. พลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
88. คุณพรทิพย์ จาละ
89. นายพรเพชร วิชิตชลชัย
90. นายพรศักดิ์ เจียรณัย
91. พลเรือเอก พลวัฒน์ สิโรดม
92. พลเรือเอก พิจารณ์ ธีรเนตร
93. พลตํารวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์
94. พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง
95. พลโท พิสิทธิ์ สิทธิสาร
96. นายพีระศักดิ์ พอจิต
97. นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ
98. พลอากาศเอก เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์
99. พลเอก ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ
100. พลอากาศเอก ไพศาล สีตบุตร
101. พลตรี ไพโรจน์ ทองมาเอง
102. พลเอก ไพโรจน์ พานิชสมัย
103. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง
104. นายภาณุ อุทัยรัตน์
105. พลโท ภาณุวัชร นาควงษม์
106. นายภิรมย์ กมลรัตนกุล
107. นายมณเฑียร บุญตัน
108. นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด
109. นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร
110. พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์
111. พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ
112. นายยุทธนา ทัพเจริญ
113. พลเรือเอก ยุทธนา ฟักผลงาม
114. พลเอก ยุวนัฏ สุริยกุล ณ อยุธยา
115. นายรัชตะ รัชตะนาวิน
116. พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์
117. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร
118. พลโท วลิต โรจนภักดี
119. พลตํารวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ
120. นายวันชัย ศารทูลทัต
121. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
122. พลเรือเอก วัลลภ เกิดผล
123. พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
124. พลเอก วิชิต ศรีประเสริฐ
125. นายวิทยา ฉายสุวรรณ
126. นายวิทวัส บุญญสถิตย์
127. พลตํารวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้
128. พลเอก วิลาศ อรุณศรี
129. พลเรือโท วีระพันธ์ สุขก้อน
130. นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล
131. พลโท วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล
132. นายวุฒิชัย กปิลกาญจน์
133. นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์
134. นายศรีศักดิ์ ว่องส่งสาร
135. นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย
136. นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์
137. นายศิระชัย โชติรัตน์
138. พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล
139. นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ
140. พลอากาศเอก ศิวเกียรติ์ ชเยมะ
141. พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ
142. พลโท ศุภกร สงวนชาติศรไกร
143. พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์
144. พลเอก สกล ชื่นตระกูล
145. นายสถิตย์ สวินทร
146. พลเรือโท สนธยา น้อยฉายา
147. นายสนิท อักษรแก้ว
148. นายสม จาตุศรีพิทักษ์
149. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์
150. นายสมชาย แสวงการ
151. นายสมบูรณ์ งามลักษณ์
152. นายสมพร เทพสิทธา
153. นายสมพล เกียรติไพบูลย์
154. นายสมพล พันธุ์มณี
155. พลตํารวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
156. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ
157. พลเอก สมหมาย เกาฏีระ
158. พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม
159. พลตรี สมโภชน์ วังแก้ว
160. นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์
161. พลอากาศเอก สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์
162. พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร
163. นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล
164. นายสีมา สีมานันท์
165. พลโท สุชาติ หนองบัว
166. พลอากาศเอก สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์
167. นายสุธรรม พันธุศักดิ์
168. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี
169. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ
170. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
171. พลโท สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์
172. พลเอก สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์
173. พลเอก สุรวัช บุตรวงษ์
174. พลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์
175. นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์
176. พลโท สุวโรจน์ ทิพย์มงคล
177. นางสุวิมล ภูมิสิงหราช
178. นางเสาวณี สุวรรณชีพ
179. พลเอก โสภณ ศีลพิพัฒน์
180. พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
181. พลเอก องอาจ พงษ์ศักดิ์
182. พลอากาศเอก อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ
183. พลโท อดุลยเดช อินทะพงษ์
184. พลโท อนันตพร กาญจนรัตน์
185. นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ
186. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล
187. พลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง
188. นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช
189. พลเอก อักษรา เกิดผล
190. พลอากาศเอก อาคม กาญจนหิรัญ
191. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
192. พลอากาศเอก อานนท์ จารยะพันธุ์
193. นายอาศิส พิทักษ์คุมพล
194. นายอําพน กิตติอําพน
195. พลโท อําพล ชูประทุม
196. พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย
197. พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์
198. นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
199. พลเอก อู้ด เบื้องบน
200. พลตํารวจเอก เอก อังสนานนท์
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เซียร์ราลีโอนประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขจากเหตุเชื้ออีโบลาระบาด


ผู้นำเซียร์ราลีโอนประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้เชื้ออีโบลาระบาดเพิ่มขึ้น ขณะประเทศอื่นๆ ในแอฟริกากำลังพยายามดำเนินมาตรการเดียวกัน ด้านไลบีเรียมีมาตรการภายในประเทศตัวเองหลังโรคระบาดจากเชื้อไวรัสอีโบลาคร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกาจำนวนมากตามที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าเป็นการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุด
31 ก.ค. 2557 ประธานาธิบดีเออร์เนสต์ ไบ โคโรมา แห่งสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
โดยโคโรมากล่าวว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในครั้งนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา โดยให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยบังคับใช้มาตรการ ตัวอย่างของมาตรการเช่นการให้นักท่องเที่ยวล้างมือด้วยสารกำจัดเชื้อโรคก่อน
ก่อนหน้านี้ ไลบีเรียก็มีมาตรการสกัดและควบคุมโรคในประเทศตนเอง โดยมีการสั่งปิดโรงเรียนและในบางชุมชนมีการการกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรคเพื่อสกัดการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ผู้นำของทั้งสองชาติก็ยกเลิกการไปเยือนสหรัฐฯ ในการประชุมระหว่างสหรัฐฯ และแอฟริกาในสัปดาห์หน้า เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้
ขณะที่ในประเทศเอธิโอเปีย และเคนยาก็เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินมากขึ้นรวมถึงมีสายการบินสองสายยกเลิกเที่ยวบินที่ไปสู่ประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน
เว็บไซต์องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคไวรัสอีโบลาหรืออีวีดี (EVD) เป็นโรคร้ายแรงที่มีโอกาสทำให้คนเสียชีวิตร้อยละ 90 แต่คนไข้มีโอกาสรอดมากขึ้นถ้าหากได้รับการรักษาโดยเร็ว อย่างไรก็ตามยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาโรคนี้ได้
ไวรัสอีโบลาแพร่กระจายมาจากสัตว์ป่าและสามารถติดต่อได้จากคนสู่คน สัตว์ที่เชื่อว่าเป็นพาหะนำโรคได้แก่ค้างคาวกินผลไม้ในตระกูล Pteropodidae โดยโรคนี้มักจะมีที่มาจากแถวหมู่บ้านชนบทในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใกล้กับป่าดิบชื้น
จากรายงานข่าวของเดอะการ์เดียน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุว่าในการระบาดรอบล่าสุดมีผู้ติดเชื้อในกินี 427 ราย เสียชีวิตแล้ว 319 ราย ในไลบีเรียมีกรณีผู้ติดเชื้อ 249 ราย เสียชีวิตแล้ว 129 ราย ในเซียร์ราลีโอนมีกรณีผู้ติดเชื้อ 525 ราย เสียชีวิตแล้ว 224 ราย
องค์กรอนามัยโลกระบุว่านับตั้งแต่การระบาดในเดือน ก.พ. 2557 มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 1,300 ราย เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557
เชื้ออีโบลาสามารถติดต่อผ่านจากคนสู่คนได้ในกรณีที่มีการสัมผัสเลือด, ของเสีย, สารคัดหลั่ง หรืออวัยวะภายในร่างกายของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดทางอ้อมได้จากของเหลวในธรรมชาติที่มีเชื้อโรคอยู่ ผู้ที่ฟื้นตัวจากโรคแล้วยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้อยู่ในช่วงระยะ 7 สัปดาห์หลังการฟื้นตัวโดยถ่ายทอดเชื้อผ่านทางน้ำอสุจิ
ผู้เป็นโรคจากเชื้ออีโบลาจะมีอาการไข้ขึ้นอย่างกระทันหัน อยู่ในภาวะอ่อนแรงอย่างมาก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปดวหัว และเจ็บคอ ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องร่วง มีผื่นขึ้น ตับและไตทำงานได้แย่ลง นอกจากนี้ในบางกรณียังมีอาการเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลในระดับการพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการขาดน้ำจึงต้องรักษาแบบประคับประคองด้วยการรักษาสมดุลอิเล็กโตรไลต์และสารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
องค์การอนามัยโลกระบุอีกว่าการระบาดในครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา สื่อเดอะเทเลกราฟระบุว่าการติดต่อของโรคสามารถติดต่อข้ามทวีปได้ในกรณีที่ผู้มีเชื้อเดินทางข้ามประเทศจนทำให้มีโอกาสติดต่อกับคนในประเทศเป้าหมายการเดินทาง

เรียบเรียงจาก
Sierra Leone declares Ebola emergency, BBC, 31-07-2014
http://www.bbc.com/news/world-africa-28579890
Ebola in west Africa: the outbreak country by country, The Guardian, 30-07-2014
http://www.theguardian.com/society/2014/jul/30/ebola-in-west-africa-the-outbreak-country-by-country

พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 2557

31 ก.ค.2557 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 บัญญัติให้องค์ประกอบและจำนวนกรรมการในคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ วิธีการสรรหา กำหนดเวลาในการสรรหา จำนวนบุคคลที่จะต้องสรรหา และการอื่นที่จำเป็น เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
0000
 

พระราชกฤษฎีกา

ว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

พ.ศ.2557


            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 30 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้
“คณะกรรมการสรรหา” หมายความว่า คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4
“คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด” หมายความรวมถึงคณะกรรมการสรรหาประจำกรุงเทพมหานครด้วย
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
มาตรา 4 ให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
  • (1) คณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง
  • (2) คณะกรรมการสรรหาด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
  • (3) คณะกรรมการสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  • (4) คณะกรรมการสรรหาด้านการปกครองท้องถิ่น
  • (5) คณะกรรมการสรรหาด้านการศึกษา
  • (6) คณะกรรมการสรรหาด้านเศรษฐกิจ
  • (7) คณะกรรมการสรรหาด้านพลังงาน
  • (8) คณะกรรมการสรรหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
  • (9) คณะกรรมการสรรหาด้านสื่อสารมวลชน
  • (10) คณะกรรมการสรรหาด้านสังคม
  • (11) คณะกรรมการสรรหาด้านอื่นๆ
  • (12) คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคณะ

มาตรา 5 ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคนซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง ทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
บุคคลใดจะเป็นกรรมการสรรหาเกินหนึ่งคณะมิได้
ให้กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งประชุมเพื่อเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา
ให้ประธานกรรมการสรรหาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา
ให้นำความในวรรคห้าและวรรคแปดของมาตรา 6 มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา 6 ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานครประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดของจังหวัดนั้นครั้งล่าสุด และประธาน กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นกรรมการสรรหา
ในจังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วยให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลือกกันเองเพื่อให้ได้คนหนึ่งเป็นกรรมการสรรหาแทนประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ในจังหวัดใดมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลายคน ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดซึ่งมีอาวุโสสูงสุดเป็นกรรมการสรรหา
ให้คณะกรรมการสรรหาประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเขตในระดับจังหวัดของกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด และประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการสรรหา
กรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่จะแต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นทำการแทนมิได้
ผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ให้หมายความรวมถึงผู้รักษาราชการแทนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย
ให้กรรมการสรรหาประจำจังหวัดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสี่เลือกกรรมการสรรหาประจำจังหวัดคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหาประจำจังหวัดของคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดนั้น
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการสรรหาประจำจังหวัดในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดประกอบด้วยกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเท่าที่มีอยู่จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะแต่งตั้งบุคคลที่เห็นสมควรให้เป็นกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแทน
ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด
มาตรา 7 วิธีการประชุมและการลงมติของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะกำหนด
มาตรา 8 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสรรหาและของคณะกรรมการสรรหา เพื่อการนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกฤษฎีกานี้
ให้กรรมการสรรหาได้รับค่าตอบแทนการประชุมครั้งละสองพันบาท และให้กรรมการสรรหาซึ่งเป็นผู้แทนสภาองค์กรชุมชนได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายอีกคนละสามพันบาท
มาตรา 9 ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) สรรหาบุคคลซึ่งสมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคณะละไม่เกินห้าสิบคน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรายชื่อที่ได้รับมาตามมาตรา 10 ในด้านนั้นๆให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดตามมาตรา 4 (12) สรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นจังหวัดละห้าคน
การสรรหาตามมาตรานี้ ให้คำนึงถึงบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ จากภาครัฐภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส
มาตรา 10 ในการสรรหาตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาบุคคลจากชื่อที่เสนอโดยนิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันที่อยู่ในภาคต่างๆตามมาตรา 9 วรรคสาม โดยแต่ละนิติบุคคลเสนอได้ไม่เกินสองชื่อ
ให้นิติบุคคลที่ประสงค์จะเสนอชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง เสนอชื่อต่อหน่วยงานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 4 (1) ถึง (11)
มาตรา 11 ในการเสนอชื่อบุคคลของนิติบุคคลตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
  • (1) ส่วนราชการ ให้เสนอชื่อตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม แล้วแต่กรณี
  • (2) รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน
  • (3) หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการดังกล่าว ในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้หัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้เสนอชื่อ
  • (4) นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือสภา ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิ หรือคณะกรรมการของสภา
  • (5) นิติบุคคลอื่นที่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมการของนิติบุคคลนั้น
  • (6) สถาบันการศึกษา ให้เสนอชื่อตามมติของสภาหรือคณะกรรมการสถาบัน
  • (7) นิติบุคคลใดไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลหรือบริหารงาน ให้ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ

มาตรา 12 ให้นิติบุคคลตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง เสนอชื่อตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และต้องแนบเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้ด้วย
(1) สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวอื่นของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้
(2) เอกสารที่บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อแสดงความประสงค์ว่าจะเข้ารับการสรรหาในด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา 4
(3) หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อ ทั้งนี้ บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อจะทำหนังสือยินยอมให้มีการเสนอชื่อเกินหนึ่งฉบับมิได้
(4) คำรับรองของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อว่าตนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องด้วย
แบบการเสนอชื่อที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการที่กำหนดให้ผู้เสนอต้องระบุถึงความรู้ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อด้วย
มาตรา 13 ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ รวมทั้งตรวจสอบว่าการเสนอชื่อเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้หรือไม่ แล้วส่งให้คณะกรรมการสรรหาภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามมาตรา 10 วรรคสอง เพื่อดำเนินการต่อไป
มาตรา 14 ให้คณะกรรมการสรรหาเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามจำนวนที่กำหนดในมาตรา 9 ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายในสิบวันนับแต่วันที่พ้นระยะเวลาตามมาตรา 13
มาตรา 15 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
  • (1) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน
  • (2) พิจารณาคัดเลือกบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านตามมาตรา 4 (1) ถึง (11) เสนอ ตามจำนวนที่เห็นสมควรแต่เมื่อรวมกับจำนวนตาม (1) แล้ว ต้องไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน

ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตามวรรคหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อตามมาตรา 14 เพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป
เมื่อทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ให้ประกาศรายชื่อนั้นในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 16 ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือมีเหตุอันสมควรที่จะแต่งตั้งเพิ่ม คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา 14 เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นหรือเพิ่มขึ้นก็ได้
มาตรา 17 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเสนอชื่อหรือการสรรหา หรือมีปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวินิจฉัย และเมื่อได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชกฤษฎีกานี้และกฎหมาย
ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจประกาศเปลี่ยนแปลงระยะเวลา กำหนดให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ได้
มาตรา 18 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ