วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

กมธ.ร่าง รธน. เตรียมยกเลิกคำว่า "องค์กรอิสระ" และใช้คำว่า "องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ"


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาร่าง รธน. รายมาตราในภาค 3 ว่าด้วยเรื่องนิติธรรม-ศาล "บรวศักดิ์ อุวรรณโณ" เผยเตรียมแก้ไขชื่อ "องค์กรอิสระ" แล้วเรียกใหม่เป็น "องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ด้านประธาน สปช. ห่วงเงื่อนเวลาต้องพิจารณาร่าง รธน. 2 รอบ แต่ยังยืนยัน สปช. ทำงานไม่ล่าช้าแค่ไม่ทันใจ และไม่มีปัญหากับรัฐบาล
20 ม.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็ยประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 09.00 น. วันนี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราต่อเนื่อง ในภาค 3 ว่าด้วย นิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
โดยเป็นการพิจารณาต่อจากวานนี้ ที่มีการพิจารณาในบททั่วไปของศาลและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการบัญญัติหลักการพื้นฐานสำคัญของหลักนิติธรรม 5 ข้อ ถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญที่ได้มีการบัญญัติไว้
ทั้งนี้ กรรมาธิการ ได้กำหนดกรอบเบื้องต้นในการพิจารณาหมวดของ ศาลและหลักนิติธรรม ให้แล้วเสร็จภายในวันพุธที่ 21 มกราคมนี้ จากนั้นตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม และตลอดสัปดาห์หน้าจะเป็นการพิจารณาการเรื่อง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งได้มีการเสนอให้ยกเลิกคำว่า "องค์กรอิสระ" และใช้คำว่า องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทน
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานด้วยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. กล่าวยอมรับว่า เป็นห่วงเรื่องเงื่อนเวลาในการทำงานของ สปช. เนื่องจากต้องแบ่งเวลามาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2 รอบ คือหลังยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จในเดือนเมษายนนี้ และต้องลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ช่วงเดือนกันยายน 2558 ทำให้การทำงานของ สปช. ขาดความต่อเนื่อง และมีระยะเวลาในการทำงานสั้น จึงเตือนให้สมาชิก สปช.รับทราบเพื่องวางแผนให้ดี และเร่งทำงานด้านปฏิรูปไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม และกลับมาเร่งทำงานอีกครั้งหลังเดือนกันยายนไปจนถึงธันวาคม ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงาน ของ สปช. ไม่ได้ล่าช้าแต่ไม่ทันใจ
ประธาน สปช. กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง สปช. กับรัฐบาล ว่า โดยได้หารือเรื่องการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่งการตัดสินใจเป็นของรัฐบาล และสปช.เป็นเพียงอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความเห็นเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นที่รัฐบาลขอความเห็นไป ดังนั้นการที่รัฐบาลไม่รับฟังไม่ถือเป็นความขัดแย้ง และไม่เป็นปัญหาการทำงานระหว่าง สปช. และรัฐบาล ส่วนกรณีที่นายวิษณุระบุว่า มีแม่น้ำบางสายไหลเชี่ยว นั้นไม่น่าจะหมายถึง สปช. เพราะส่วนตัวเห็นว่า แม่น้ำสาย สปช. ยังไหลช้าเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานระหว่างรัฐบาล และสปช. รวมถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรไม่ลงรอยกันหรือมีปัญหา แต่เป็นเพียงความเห็นต่างจึงไม่น่าจะมีผลถึงขั้นยกเลิก(คว่ำ)ร่างรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์เปิดตลาดนัดกล้วยไม้ข้างทำเนียบ-เปิดทุกวันถึงเดือนมีนาคม



นายกรัฐมนตรีเปิด "ตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ" ริมคลองผดุงกรุงเกษม หวังพัฒนาส่งเสริมตลาดกล้วยไม้ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกกล้วยไม้ไทย โดยจะเปิดต่อเนื่อง 3 เดือนสิ้นสุดเดือนมีนาคมนี้
20 ม.ค. 2558 - เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (19 ม.ค.) เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า บริเวณถนนด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ริมคลองผดุงกรุงเกษม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “ตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะรัฐมนตรี คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย นายกสมาคมผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย ประธานสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด นายกสมาคมภัตตาคารไทย นายกสมาคมโรงแรมไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมงานในครั้งนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพ เพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดกล้วยไม้คุณภาพให้กว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศและส่งเสริมการพัฒนาการผลิตกล้วยไม้ให้ได้มาตรฐานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้ากล้วยไม้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น รณรงค์ให้มีการใช้กล้วยไม้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นและจัดตลาดนัดจำหน่ายกล้วยไม้จากเกษตรกรโดยตรง ส่วนระยะกลาง กำหนดให้พัฒนาตลาดกลางกล้วยไม้เพื่อรองรับผลผลิตกล้วยไม้คุณภาพในรูปแบบต่าง ๆ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้กระจายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค สำหรับระยะยาว เน้นการพัฒนานวัตกรรมและการลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพส่งออกกล้วยไม้ต่อไป
สำหรับระยะเริ่มต้น กิจกรรมรณรงค์การใช้กล้วยไม้ภายในประเทศ กำหนดให้มีการจัดงานแสดงกล้วยไม้ การจัดตลาดนัด และการประกวดการใช้ประโยชน์กล้วยไม้ที่บริเวณถนนด้านข้างทำเนียบรัฐบาลริมคลองผดุงกรุงเกษม ทุกวันจันทร์ถึงวันพุธ โดยเริ่มจัดงานสัปดาห์แรกระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2558 ระหว่างเวลา 09.00 -18.00 น. ต่อเนื่อง 3 เดือน สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2558
กิจกรรมการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากการจำหน่ายกล้วยไม้คุณภาพส่งออกจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ วิสาหกิจชุมชน และ สหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด แล้วยังมีนิทรรศการแสดงการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ มาตรฐานกล้วยไม้ส่งออก ตลอดจนแนะนำการดูแลและเพาะเลี้ยงกล้วยไม้จากมืออาชีพ การพัฒนารูปแบบกล้วยไม้ส่งออกในลักษณะต่าง ๆ รวมถึงการเจรจาธุรกิจสำหรับผู้ค้าและผู้ผลิตกล้วยไม้โดยตรงอีกด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญของโลก ในแต่ละปีประเทศไทยสามารถส่งออกดอกกล้วยไม้และต้นกล้วยไม้ทำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่า 3,000 ล้านบาท จากเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเพียง 3,000 ราย และพื้นที่การผลิตราว 22,000 ไร่ ซึ่งถือว่ากล้วยไม้เป็นดอกไม้ไทยที่ได้สร้างมูลค่าเป็นจำนวนมาก กล้วยไม้เป็นต้นไม้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้อง เพื่อแข่งขันกับประเทศผู้ปลูกกล้วยไม้และไม้ดอกชนิดอื่นๆ ดังนั้น ปริมาณความต้องการชนิด พันธุ์ และสีของกล้วยไม้ในแต่ละปี ในแต่ละกลุ่มประเทศผู้ซื้อจึงแตกต่างกันไป เกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไม้จำเป็นต้องเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพของกล้วยไม้ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อควบคู่กับการเพิ่มการซื้อ-ขาย กล้วยไม้ในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าไปอีก 5 ปีข้างหน้า ภายใต้วิสัยทัศน์ “มั่นคงและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน” เพื่อหารายได้เข้าประเทศให้มากที่สุด และดูแลประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งประเทศ รวมถึง ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้บริโภค ให้ได้รับการดูแลในสัดส่วนที่เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน และการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดงานตลาดนัดกล้วยไม้ในครั้งนี้คือ เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร และเปิดช่องทางการเรียนรู้กล้วยไม้ให้กับประชาชนผู้สนใจ โดยดำเนินการตามโครงการพัฒนาตลาดกล้วยไม้คุณภาพ ซึ่งจะสามารถขยายตลาดกล้วยไม้ในประเทศให้กว้างขวาง และขยายฐานวงการกล้วยไม้ไทยให้มากขึ้น
พร้อมกล่าวว่า แหล่งผลิตและส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญคือประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ส่งออกกล้วยไม้เป็นอันดับหนึ่งของโลกส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยไม้เขตเมืองหนาว ส่วนประเทศไทยรองลำดับสอง แต่แหล่งผลิตและส่งออกกล้วยไม้ในเขตร้อนอันดับหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณเกษตรกรผู้ผลิตและภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกล้วยไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการกล้วยไม้ของไทยที่ได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ ในส่วนของรัฐบาลพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี มีรายได้และดูแลประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นธรรม ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเปิดช่องทางตลาด รวมทั้ง ผลักดันให้วงการกล้วยไม้ของไทยเติบโตได้กว้างขวางอย่างยั่งยืนต่อไป

ประวิทย์–สุภิญญา เสนอบรรจุวาระ พ.ร.บ.ดิจิทัลเข้าที่ประชุม กสทช.

วาระ กสทช.นัดแรกของปี ประวิทย์-สุภิญญา สอง กสทช.เสียงข้างน้อย เสนอบรรจุวาระซีรีส์กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้ เพื่อรวบรวมความเห็นส่งกฤษฎีกา-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ลุ้นการคิดค่าบริการเป็นวินาทีนำกลับมาบรรจุในร่างประกาศฯ
20 ม.ค. 2558 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (พุธที่ 21 ม.ค. 58) ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งแรก ประจำปี 2558 มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ... ซึ่งร่างประกาศฉบับนี้เป็นร่างที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม เสนอให้มีการนำเรื่องการคิดค่าบริการเป็นวินาทีใส่เข้ามาด้วย ในการยกร่างต่อๆ มาจนถึงฉบับล่าสุด ซึ่ง กสทช. สามารถนำเรื่องการคิดค่าบริการเป็นวินาทีมาบรรจุในร่างประกาศฉบับนี้ได้ ก่อนนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ตนเอง และนายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้บรรจุเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และร่างกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 10 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. . ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. . ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. . ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นวาระการประชุม กสทช.ด้วย เพื่อให้กรรมการได้ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับร่างกฎหมายเหล่านี้ อย่างน้อยเพื่อทราบและเตรียมรับสถานการณ์ ตลอดจนเพื่อรวบรวมความคิดเห็น กสทช. สำหรับนำส่งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ต่อไป

ประยุทธ์ตอบเรื่อง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ "จะผ่านแล้วจะทำไม"


หลังมติ ครม. 6 ม.ค. อนุมัติหลักการกฎหมาย 8 ฉบับ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พ่วงแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯลฯ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังประชุม ครม. ว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
20 ม.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีการวม 8 ฉบับเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการอนุมัติหลักการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยถูกวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะละเมิดสิทธิ เพราะมีการรับรองการดักฟังข้อมูลนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดวันนี้ (20 ม.ค.) เว็บไซต์บล็อกนัน ซึ่งอ้างรายงานทวิตเตอร์ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ ระบุว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลที่ต้องออกกฎหมายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้น นิยาม "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ว่าหมายถึง "มาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจกระทบความมั่นคงของประเทศ ให้ กปช. สั่งหน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทาความเสียหายที่เกิดหรืออาจจะเกิดได้ กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์หรือความมั่นคงของประเทศ กปช. สั่งหน่วยงานเอกชนได้
และตามร่างกฎหมายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้ เช่น 1. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานรัฐ บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หลักฐานเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูล 2. มีหนังสือให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของ กปช. 3. เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่ประชุม ครม. เตรียมนำเข้าน้ำมันปาล์ม 5 หมื่นตัน - จัดสรรเงินเลี้ยงเด็กเล็ก 400 บาท/เดือน

ที่ประชุม ครม. เตรียมขออนุมัติงบประมาณจัดชื้อน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ 5 หมื่นตัน 1.5 พันล้านบาท ขอจัดสรรเงินเลี้ยงเด็กเล็กแรกเกิด - 1 ปี 400 บาท ต่อเดือน ส่วนที่การประชุมร่วม ครม. และ คสช. เตรียมติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น
20 ม.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการประชุม ครม. วันนี้ จะเป็นการเร่งรัดงานที่สั่งการไป พร้อมพิจารณาวาระสำคัญๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขอจัดสรรเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กเล็กช่วงอายุ 0-1 ขวบ รายละ 400 บาท/เดือน กระทรวงพาณิชย์ขออนุมัติงบประมาณจัดชื้อน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ จำนวน 50 ล้านลิตร หรือ 5 หมื่นตัน วงเงินไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ด้านสำนักงบประมาณ เสนอยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
ส่วนการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันเดียวกันนี้ จะมีการรายงานความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น การออกกฎหมาย และการแก้ไขปัญหาต่างๆ เบื้องต้น แนวทางการดำเนินการทั้งหมดยังถือว่าเป็นไปตามแผนโรดแม็ปของ คสช. แต่บางเรื่องต้องเร่งรัดให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีการออกกฎหมายสำคัญๆ ที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนแรก จึงขอความร่วมมือไปยัง สนช. ให้เร่งรัดการพิจารณากฏหมายสำคัญ อาทิ กฎหมายชุมนุมสาธารณะ และกฏหมายว่าด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 5-6 ฉบับ

ศาลปกครองสูงสุดตัดสินพุธนี้-กรณีคนพิการใช้บีทีเอสไม่ได้เพราะหลายสถานีไม่มีลิฟต์


เครือข่ายคนพิการนัดรวมตัวฟังคำพิพากษาประวัติศาสตร์พุธนี้-หลังคนพิการฟ้องศาลปกครอง เข้าถึงรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ได้เหตุไม่มีลิฟต์-ทางเชื่อมต่อ สุดเจ็บปวดกับข้ออ้างบริการ "เท่าที่จำเป็น" มากกว่า "ความเท่าเทียม" เรียกร้องบริการสาธารณะต้องเปลี่ยนแนวคิดจากหลัก "สังคมฐานเวทนานิยม" ไปสู่ "สังคมฐานสิทธิ"
สมาคมคนพิการ จ.นครปฐม จัดกิจกรรม "ปลดแอกมนุษย์ล้อแห่งชาติ ทวงสัญญาคุณชายสุขุมพันธ์" เรียกร้องให้สถานีรถไฟฟ้า BTS ติดตั้งลิฟต์สำหรับคนพิการ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 (ที่มา: สมาคมคนพิการจังหวัดนครปฐม/แฟ้มภาพ)
19 ม.ค. 2558 - สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ในวันพุธที่ 21 ม.ค. 2558 เวลา 13.30 น. นี้ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ กรณีคนพิการฟ้อง กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 22 กันยายน 2552 เนื่องจากกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง  เพราะมีการทำสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2539 ก่อนที่จะมีกฏกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการและคนชรา ได้มีผลบังคับใช้ในปี 2542 ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่หลักการบริการสาธารณะ
"ในวันนั้นเวลา 12.00 น. ที่หน้าศาลปกครองสูงสุด คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้สนใจ จะทะยอยมารวมตัวคาดว่าประมาณร้อยกว่าคน เพื่อมาฟังคำพิพากษาร่วมกัน เวลา 13.00 น. จะมีการเปิดแถลงจุดยืนของเครือข่ายต่ออนาคตอิสรภาพและความเท่าเทียมในการเดินทาง เพราะการตัดสินของศาลในวันนั้นจะถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ของพวกเรา ที่พวกเราได้ได้ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนปี 2538 นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยมีรถไฟฟ้า แต่คนพิการกลับไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการใช้บริการเลย  โดยเฉพาะลิฟต์ที่จะช่วยคนพิการขึ้นไปที่ชานชราได้"
นายสุภรธรรม กล่าวว่า  ทุกวันนี้รถไฟฟ้าระยะแรกทั้ง 23 สถานี มีการติดลิฟต์แค่ 5 สถานีเท่านั้น  คือ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์  สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช  ซึ่งเป็นสถานีปลายทางและสถานีเชื่อมต่อ ทำให้คนพิการไม่สามารถลงที่สถานีอื่นได้  ที่มากไปกว่านั้นยังเป็นการติดตั้งลิฟต์แค่จุดเดียวเท่านั้น และไม่มีจุดเชื่อมต่อในการเดินทาง ทำให้เมื่อลงลงลิฟท์มาแล้ว หากคนพิการต้องการข้ามถนนอีกฝั่งก็ไม่สามารถทำได้ นอกจากต้องนั่งแท็กซี่ข้ามเอง ซึ่งทำให้เสียทั้งเงินและเวลา นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ที่คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะนี้ได้
"คนพิการได้ต่อสู้เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการขับเคลื่อนสังคมไทยจาก "สังคมฐานเวทนานิยม" (Charity Base) ไปสู่ "สังคมฐานสิทธิ" (Rights Base)  เพราะเรื่องที่เป็นสิทธิที่คนพิการควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป และไม่มีควรมีการเลือกปฏิบัติ  สิ่งที่เราเรียกร้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์สาธารณะ เพราะการติดลิฟต์ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนแก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ พ่อบ้านแม่บ้านที่หิ้วของใช้และอาหารกลับบ้าน นักท่องเที่ยวที่มีประเป๋าเดินทาง เห็นได้ว่าทั้่งหมดนี้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ของคนพิการกลุ่มเดียว เป็นไปตามมาตรฐานสากลทุกประเทศทั่วโลก”
นายพิเชฎฐ์ รักตะบุตร ผู้ฟ้องคดีอีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่รถไฟฟ้า BTS เท่านั้น  แต่ยังเกิดขึ้นที่รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ด้วย เพราะถึงแม้จะมีการติดตั้งลิฟต์ครบ 18 สถานี แต่จาก 60 ทางออก มีการทางออกที่ติดลิฟต์เพียง 30 ทางออก เท่านั้น โดยบางสถานีมีลิฟต์แค่ทางออกเดียวเท่านั้น  เช่น สถานีลาดพร้าว เมื่อเป็นเช่นนี้คนพิการก็ไม่สามารถใช้ MRT ได้อยู่ดี เพราะปัญหาเดิมคือ หากต้องการข้ามถนนไปอีกฝั่งก็ต้องรถแท็กซี่ข้ามไป  เพราะระบบที่มีอยู่ไม่ได้อำนวยความสะดวกและไม่มีทางเชื่อมต่อให้คนพิการได้ใช้บริการการขนส่งเหมือนคนทั่วไป
“ที่มากไปกว่านั้นสำหรับ MRT ทุกวันนี้มีลิฟต์ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้เพราะลิฟต์ถูกล็อค ต้องมีการขออนุญาต ซึ่งกว่าจะมีคนมาเปิดให้ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที พอเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่าเราเป็นภาระ เพราะฉะนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกปฏิบัติที่สะสมมาอย่างยาวนาน ที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ เพราะการเดินทางของคนพิการมีต้นทุนที่สูงมาก  ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเห็นได้ เพราะระบบที่เป็นอยู่ทำให้คนพิการไม่สามารถไปไหนมาไหนได้แบบคนทั่วไป” นายพิเชฎฐ์  กล่าว
เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ  กล่าวว่า  การเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้น เพราะผู้กำหนดนโยบายใช้หลักในการจัดการบริการสาธารณะตามหลัก “ตามที่จำเป็น” มากกว่าหลัก “เพื่อความเท่าเทียม” ในการเดินทาง  โดยจากการที่เราได้สร้างความเข้าใจเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน  เขาบอกว่าเหตุที่ติดลิฟต์ไม่ครบทุกทางออก  เพราะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและพบว่าบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่พบว่ามีคนพิการจึงสร้างออกมาแค่นี้ ซึ่งเป็นหลักการคิดที่ไม่เป็นธรรม เขาคงลืมไปว่าที่พวกเขาไม่เห็นคนพิการ ไม่ใช่ไม่มีคนพิการ แต่เป็นเพราะพวกเราไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปต่างหาก
“เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาที่ผู้กำหนดนโยบายใช้ตรรกะนี้ ซึ่งจำเป็นต้องทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินเกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการสร้างจุดติดตั้งลิฟต์สถานีละ 1 ทางออกเท่านั้น  ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะสุดท้ายคนพิการ หรือคนที่ต้องใช้รถเข็นทั้งคนแก่ คนท้อง ก็จะไม่สามารถใช้บริการได้ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้และสร้างจุดติดลิฟท์ให้ครบทุกทางออกทุกสถานี เรามีบทเรียนมาแล้ว ไม่ควรเกิดความผิดพลาดซ้ำซากขึ้นอีก  ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะ”  นายสุภรธรรม กล่าว

ศาลเลื่อนตรวจพยานหลักฐาน ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ ศึกชิงคูหาเลือกตั้งหลักสี่ นัดอีกครั้ง 30 มี.ค.

19 ม.ค.2558 ที่ห้องพิจารณา 808 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขคดีดำ อ.1626/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง วิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือ ‘มือปืนป็อปคอร์น’ อายุ 24 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนออกนอกเคหสถานภายในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา ม.4, 7, 8ทวิ, 72, 72ทวิ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ม.5, 6, 11, และ 18
คดีดังกล่าวอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 สรุปความผิดจำเลยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2557 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้มีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ติดตัวไปที่ทางแยกหลักสี่ เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอทีสแควร์ จน น.ส.สมบุญ สักทอง ผู้เสียหายที่ 1, อะแกว แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายที่ 2, นครินทร์ อุตสาหะ ผู้เสียหายที่ 3 และ พยนต์ คงปรางค์ ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม.
โดยวันนี้อัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากโจทก์ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า ยังรวบรวมข้อเท็จจริง สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานการเสียชีวิตของ อะแกว แซ่ลิ้มไม่เสร็จสิ้น ซึ่งพนักงานสอบสวนขอเลื่อนการส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมออกไปเป็นวันที่ 25 ม.ค. 2558
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอะแกว แซ่ลิ้ม ผู้เสียหายที่ 2 ในคดีนี้ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2557 โจทก์มีความจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ศาลจึงเห็นควรให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 30 มี.ค.2558 เวลา 09.00 น. เนื่องจากคดีนี้ศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลามาพอสมควรและจำเลยในคดีนี้ถูกขังมาโดยตลอด จึงให้โจทก์กำชับพนักงานสอบสวนให้ส่งผลสอบสวนการตายตามกำหนดและให้พร้อมตรวจพยานหลักฐานในนัดหน้า