เป็นปริศนาอันน่าฉงนระดับเดียวกับความสงสัยที่ว่าพญานาคมีจริงหรือไม่ หรือฐานทัพ Area 51 ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวอย่างไร เมื่อบรรดาคนดีทั้งหลายซึ่งเคยรวมพลังกันภายใต้ชื่อปฏิวัตินกหวีด (Whistle Revolution) อันมีกลุ่ม กปปส.เป็นตัวจักรสำคัญ ล้วนประพฤติตนเหมือนนกกระจอกเทศซุกหัวของตัวเองลงทราย เมื่อข่าวไม่ดีไม่งามเกี่ยวกับรัฐบาลและกองทัพในปัจจุบันโชยกลิ่นมาอยู่ไม่ขาด แน่นอนว่าหากเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้นกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรหรือนักการเมืองคนอื่น ๆ ในเครือข่ายทักษิณแล้วไซร้ เราคงเห็นกลุ่มคนดีร่วมกันทะยานดุจดังราชสีห์ออกมาเป่านกหวีดเพื่อขับไล่คนชั่วให้พ้นไปจากผืนแผ่นดินไทยโดยพลัน ปริศนาที่ว่าก็คือเหตุใดในนาทีนี้บรรดาเหล่าคนดีจึงทำนกหวีดหายไป
ต่อไปนี้เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การไขปริศนาในระดับหนึ่ง
1. ผู้ปลุกระดม (Agitator) และกลุ่มอำนาจซ่อนเร้น (Power that be)
การระดมมวลชนหรือคนจำนวนมากออกมาประท้วงพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้ว่าสถานการณ์บางอย่างทางการเมืองจะเอื้ออำนวยเช่นรัฐบาลเต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่นโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเฉื่อยชาแม้แต่ในบรรดาชนชั้นกลางเองก็ตาม มวลชนมักขาดความใส่ใจเรื่องการเมืองหรือแม้จะทราบหรือสนใจการเมืองอยู่บ้างแต่ก็ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ การออกมาประท้วงจึงต้องอาศัยคนกลางหรือ นักปลุกระดม ในการเร่งเร้ามวลชน
นักปลุกระดมสำหรับบรรดาคนดีเป่านกหวีด ย่อมเป็นตาสีตาสาไปไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นคนดังหรือคนน่าเชื่อถือในแวดวงต่างๆ ที่ชนชั้นกลางชื่นชอบหรือให้การนับถือ เช่นแวดวงการเมือง อย่างกำนันสุเทพและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำของกลุ่มกปปส. แวดวงบันเทิงเช่นดร.เสรี วงษ์มณฑา สินใจและฉัตรชัย เปล่งพานิช พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ศรัญญู วงศ์กระจ่าง นิติพงษ์ ห่อนาค ฯลฯ แวดวงผู้อาวุโสที่น่าเลื่อมใสอย่างเช่นวิสิษฐ เดชกุญชร หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ปราโมทย์ ไม้กลัด ฯลฯ แวดวงนักวิชาการเช่น สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ บรรเจิด สิงคะเนติ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ฯลฯ อีกทั้งยังไม่นับนักวิชาการระดับรองๆ ลงมาในมหาวิทยาลัยที่มักลงชื่อในการประท้วงผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงยิ่งลักษณ์ เช่นเดียวกับผู้นำในแวดวงอื่นๆ ไม่ว่าเอ็นจีโอ พระสงฆ์ ทหาร ตำรวจ แพทย์ ฯลฯ โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่างมีอุดมการณ์ค่อนข้างแตกต่างกันตั้งแต่อนุรักษ์นิยม ศาสนานิยมจนไปถึงหัวเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ จึงสามารถดึงดูดฝูงชนที่หลากหลายความคิดได้
นักปลุกระดมเหล่านี้มีแรงจูงใจอันต่างกันเช่นบางกลุ่มอาจมาเองด้วยความบริสุทธิ์ใจคือต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปในทางที่ดีขึ้น หรือบางกลุ่มอาจได้รับการว่าจ้างและการสนับสนุนจาก กลุ่มอำนาจซ่อนเร้น ที่เป็นปรปักษ์กับทักษิณและเครือข่ายโดยนอกจากจะสนับสนุนในด้านทีมงานและค่าใช้จ่ายสำหรับการประท้วงด้วยแล้ว สมาชิกของกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นหลายคนยังสวมบทบาทนักปลุกระดมด้วยจากระยะทางที่ห่างไกลหรือแสดงสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้กลุ่มเป่านกหวีดรับรู้ได้
ปัจจุบันนักปลุกระดมจำนวนไม่น้อยได้ผสมเป็นหนึ่งเดียวกับระบอบทหารโดยการรับตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ หรือการรับภารกิจที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือกองทัพมอบหมายให้ หรืออย่างน้อยก็มักด่าทักษิณและเครือข่ายทางโซเชียลมีเดีย หรือในทางกลับกันก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยการลงรูปตัวเองกับแฟนหรือครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศ อัพเดตการเจริญเติบโตของลูกตัวเอง ธรรมะสวัสดี สดุดีเจ้า หรือ ช่วยเหลือสังคมเล็ก ๆ น้อย ๆ ฯลฯ ผ่านเฟซบุ๊คหรืออินสตราแกรม ท่ามกลางข่าวทหารตำรวจจับกุมตัวนักศึกษาที่ทำการประท้วงรัฐบาลหรือโดนคดีอาญามาตรา 112 อย่างไร้ความยุติธรรม สำหรับกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นไม่ต้องกล่าวถึงเพราะพวกเขาไม่มีทางจะจับมือกับทักษิณและเครือข่ายได้จริงๆ
ดังนั้นในปัจจุบัน แม้จะมีคนจำนวนมากที่เคยออกมาเป่านกหวีดจะรู้สึกเสื่อมศรัทธากับรัฐบาลก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถรวมตัวกันได้เหมือนเดิม เพราะ ไม่มีนักปลุกระดมและกลุ่มอำนาจซ้อนเร้นดังกล่าว นักเป่านกหวีดสามัญชนจึงได้แต่ก่นด่ารัฐบาลทางโลกโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นนักประท้วงบนคีย์บอร์ดเท่านั้น แม้ว่ามีบางกลุ่มที่ยังออกมาประท้วงอยู่แต่ก็เป็นไปในลักษณะหัวเดียวกระเทียมลีบและยังถูกจำกัดบทบาทหรือปราบปรามโดยระบบราชการที่ภักดีต่อรัฐบาลปัจจุบัน (ดูปัจจัยข้อ 3) สำหรับนักปลุกระดมที่สนับสนุนทักษิณและเครือข่ายก็ถูกกองทัพเข้าจัดการจนหมดบทบาทไป สมมติว่าคนเหล่านั้นยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่ พวกคนดีก็คงทำใจได้ยากที่จะก้าวเดินตามคนอย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อหรือนายจตุพร พรหมพันธุ์ได้ยาก ส่วนนักวิชาการที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาลก็ไม่สามารถแสดงความคิดทางการเมืองอย่างเสรีได้มากนักจึงไม่สามารถชี้นำมวลชนให้ขบถต่อรัฐบาลได้เหมือนกับกลุ่มกปปส.
2.การครอบงำของสื่อมวลชน (Media manipulation)
ผู้เขียนเคยได้ยินนักวิชาการของกลุ่มกปปส.ท่านหนึ่งบอกว่าสื่อมวลชนถูกผูกขาดโดยทักษิณ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าค่อนข้างคลาดเคลื่อนอยู่ไม่น้อย เป็นเรื่องจริงที่ว่าตอนทักษิณมีอำนาจในช่วงแรก สื่อมวลชนจำนวนมากต่างพร้อมใจกันสนับสนุนรัฐบาล แต่ในช่วงหลังจากนั้นสื่อมวลชนก็เริ่มตีตนออกจากห่างทักษิณและเครือข่าย จะมีกรณีที่ภักดีอย่างเช่นกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย และ ไอทีวีซึ่งเคยเป็นของทักษิณ หรือสื่อของคนเสื้อแดงและสื่อในท้องถิ่นอย่างสถานีวิทยุชุมชนซึ่งภาพลักษณ์และอิทธิพลไม่สามารถเทียบได้กับสื่อมวลชนกระแสหลักภายใต้กลุ่มอำนาจซ่อนเร้น ที่มีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางไม่ว่าสถานีโทรทัศน์ วิทยุ นิตยสารไฮโซ หนังสือ รวมไปถึงสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่หันมาโจมตีทักษิณและเครือข่ายตอนช่วงท้าย ๆ ก่อนจะเกิดรัฐประหารปี 2549 ด้วยข้อมูลที่เน้นไปทางเท็จภายใต้กระบวนการทำทักษิณและเครือข่ายให้เป็นปีศาจ (Demonization) สื่อมวลชนกระแสหลักยังประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมชนชั้นกลางหัวขบถต่อรัฐบาลที่แสนชั่วร้ายจนกลายเป็นตัวดึงดูดมวลชนจำนวนมาก แม้แต่ชนชั้นรากหญ้าเองก็มีความปีติไม่ได้น้อยที่จะถูกผนวกเข้ากับการเป็นชนชั้นกลาง นั่นคือได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนดังหรือคนมีฐานะดีที่พวกเขาทั้งอิจฉาและให้ความทึ่งอยู่เสมอมา
ในปัจจุบันสื่อมวลชนเหล่านั้นจำนวนมากสมัครใจสงบเงียบอยู่ใต้รองเท้าบูท มีสื่อจำนวนหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลอย่างน่าละอายใจอย่างเช่นสถานีวิทยุในเครือ อสมท. เช่นเดียวกับสำนักโพลหลายสำนักที่มักอ้างทัศนคติของประชาชนมาประจบประแจงรัฐบาล แต่ก็มีสื่อมวลชนอีกพอสมควรที่กล้าวิจารณ์รัฐบาล (ตลกที่ว่าหนึ่งในนั้นมีหนังสือพิมพ์อย่างบางกอกโพสต์อยู่ด้วย) หรือเปิดเผยข้อมูลอันไม่ดีไม่งามของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือติเพื่อก่อเสียมากกว่าจะมุ่งเน้นการวิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงเหมือนยุคทักษิณและเครือข่าย เพราะสามารถถูกแบนโดยกสทช.ในที่สุด อันส่งผลให้เกิดความเงียบสงบของมวลชนที่เฝ้ามองการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารด้วยความรู้สึกปะปนกัน แม้บ้างจะหูตาสว่าง (disillusioned) แต่คงมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมองรัฐบาลอัศวินขี่ม้าขาวด้วยความศรัทธาอันไม่ผันแปร[1] ซึ่งทำให้การก่อการประท้วงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยากยิ่ง
3. พลังอันยิ่งใหญ่แห่งระบบราชการ (Supremacy of Bureaucracy)
ระบบราชการของไทยก็เหมือนกับของประเทศโลกที่ 3 นั่นคือมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถต่อรองจนไปถึงคุกคามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้เสมอมา โดยเฉพาะฝ่ายตุลาการและกองทัพซึ่งทรงพลังเหนือสังคมไทยไม่ว่ายุคใด พ.ศ.ไหน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ตอนปลายถือได้ว่าถูกกระหน่ำรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบราชการซึ่งน่าจะเป็นแขนขาให้ แต่กลับกลายกลายเป็นตัวทำลายภูมิต้านทานของรัฐบาลจากกลุ่มผู้ต้องการโค่นล้มเหมือนเชื้อเอชไอวี (ยกเว้นบางกลุ่มเช่นตำรวจและกรมประชาสัมพันธ์) ดังเช่นการขัดขืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรี หรือการเอื้อโอกาสให้กับกลุ่มประท้วง จนไปถึงการเข้าร่วมการประท้วงหรือแม้แต่เป็นนักปลุกระดมด้วยตัวเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้สำหรับประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ด้วยข้าราชการประจำมักเชื่อฟังนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่สำหรับไทยซึ่งยังมีการผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่าข้าราชการคือเจ้าคนนายคนหรือบุคคลที่น่าเคารพเชื่อถือ เช่นเดียวกับ การผลิตซ้ำภาพตัวตาย (Stereotype) ของนักการเมืองว่าโลภโมโทสัน เต็มไปด้วยความชั่วร้าย ข้าราชการที่หาญสู้กับนักการเมืองจึงเปรียบได้ดังอัศวินต่อสู้กับมังกรไฟ โดยไม่ต้องสงสัยว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจซ่อนเร้นในข้อ 1 อีกเช่นกัน
ในปัจจุบัน ไม่ว่ากลุ่มใดก็ไม่สามารถออกมาประท้วงในประเด็นการเมืองระดับประเทศได้อีกต่อไป แม้จะเป็นคนดี เพราะระบบราชการดังที่ได้กล่าวมาต่างมีความภักดีและได้สร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลเสียแล้ว พวกเขาจึงเป็นแขนขาให้กับรัฐในการจัดการกับกลุ่มกระด้างกระเดื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นบรรดานักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลทหาร รวมไปถึงกลุ่มประท้วงในเรื่องเฉพาะด้านอย่างกลุ่มประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกลุ่มวัดพระธรรมกาย
4. ลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ (Ultra-Royalism)
ลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ (หรือคลั่งเจ้า) หมายถึงการยกย่อง จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อเจ้าและไม่ยินยอมรับฟังถึงคำวิจารณ์หรือข้อโต้แย้งต่อสถาบันในทุกกรณี อันถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์หลักของกลุ่มคนดีเป่านกหวีด ดังจะเห็นได้ว่าปัจจัยข้างบนคือข้อ 1. ผู้ปลุกระดมและกลุ่มอำนาจซ่อนเร้น และข้อ 2.การครอบงำของสื่อมวลชน ล้วนแต่ได้รับการเสริมแรงจากลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือ แม้แต่ข้อ 3. พลังแห่งระบบราชการเองก็เห็นได้ว่า ข้าราชการจำนวนมากยกตัวตัวเองว่าเป็นข้าราชการสังกัดพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ของรัฐบาล สำหรับทักษิณและเครือข่ายมักถูกสร้างภาพโดยนักปลุกระดมและสื่อมวลชนกระแสหลักว่าเป็นผู้อยู่บนฝั่งตรงกันข้ามกับเจ้า ผ่านการแบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วนตามโลกทัศน์แบบมานิเคียน (Manichean Worldview) นั่นคือมีฝั่งเทพและฝั่งปีศาจ
ดังนั้นทักษิณจึงเปรียบได้กับปีศาจ หรือผู้ปรารถนาจะโค่นล้มเจ้าและตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี[2] หรือกลุ่มเสื้อแดงซึ่งนอกจากจะเผาบ้านเผาเมืองแล้วยังหมิ่นเบื้องสูงอยู่เป็นนิจ ความเชื่อดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ เพราะอิทธิพลของลัทธิราชานิยมอย่างล้นเหลือที่รัฐใช้ครอบงำสังคมผ่านกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มายาคติดังกล่าวก็ได้กระตุ้นเร่งเร้าให้ชนชั้นกลางจำนวนมากออกมาเป่านกหวีดเพื่อขับไล่ปีศาจและบรรดาสมุนอย่างกระตือรือร้นยิ่ง[3] เพื่อป้องกันไม่ให้นำสังคมไทยเข้าสู่โลกแห่งความวิบัติหรือโลกที่ไม่มีเจ้า (dystopia)
เมื่อปีศาจและบรรดาสมุนถูกกำจัดออกไปแล้ว พวกคนดีก็ตระหนักว่าพวกเขาได้กลับมาสู่โลกอันมั่นคงและอบอุ่นโดยมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนโดยระบบราชการและนายทุนซึ่งไม่ได้ชั่วร้ายเท่าทักษิณดังเดิม อีกทั้งยังปราศจากความขัดแย้งที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนซีเรียหรือเยเมน หรืออย่างน้อยก็เป็นโลกปกติซึ่งมีความชั่วร้ายในขอบเขตที่พวกเขาพอยอมรับได้ เหมือนคำพูดปลุกระดมของเสรี วงษ์มณฑาทำนองว่าการทุจริตคอรัปชั่นของคนอื่นนั้นพอยอมรับได้แต่ของเครือข่ายทักษิณเป็นที่ยอมรับไม่ได้ กล่าวอีกแง่มุมหนึ่งคือพวกเขากลับมาสู่วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าอีกครั้งภายใต้ระบบการปกครองรัฐที่เปรียบได้ดังบิดาผู้มีเมตตา[4] พวกคนดีจำนวนมากจึงเปรียบได้ดังคนที่มี “ดวงตาเบิ่งกว้างแต่มองไม่เห็น” (ดังวลี Eyes Wide Shut ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของสแตนลีย์ คิวบริก) คือเห็นความชั่วร้ายของผู้มีอำนาจในแต่ปัจจุบันแต่ก็ไม่ใส่ใจ แม้จะมีคำถามเชิงเยาะเย้ยของฝ่ายตรงกันข้ามมาอยู่เรื่อยๆ
ตามความจริงแล้วบรรดาคนดีอาจไม่ได้ทำนกหวีดหายไปก็ได้ พวกเขาได้แต่เก็บมันอย่างทะนุถนอมไว้ในกล่องเพื่อรอหยิบมันขึ้นมา เมื่อปัจจัยข้างบนได้ส่งอิทธิพลอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่นักการเมืองได้กลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง
เชิงอรรถ
[1] เนื่องจากปัจจุบันการทำโพลที่ซื่อสัตย์ต่อความเป็นจริงนั้นหาได้ยากมากหรืออาจไม่มีเลย ทำให้ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะยังมีคนที่ศรัทธาอย่างแท้จริงต่อรัฐบาลกี่คนบนความเชื่อที่ว่ารัฐบาลเต็มไปด้วยคนดีและความมุ่งมั่นในการปฏิรูปการเมืองให้ใสสะอาดอย่างแท้จริง ส่วนข่าวอันไม่ดีไม่งามนั้นเกิดจากความชั่วร้ายของฝ่ายตรงกันข้ามที่ต้องการใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาลของลุงตู่
[2] ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐในประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ นั่นคือประเทศที่ไม่มีระบอบกษัตริย์ อนึ่งตัวอย่างโดดเด่นอันอื่นๆ ได้แก่นักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งกล่าวหาว่าทักษิณทำตัวเหมือนกับเป็นฮิตเลอร์ ซึ่งอาจสมเหตุสมผลในระดับหนึ่งที่ว่าทักษิณพยายามรวบอำนาจเหมือนกับผู้นำนาซี แต่ดูเหมือนนักวิชาการท่านนั้นจะพยายามสร้างความเข้าใจให้ถึงขั้นว่าทักษิณสามารถสร้างความพินาศให้กับประเทศไทยเหมือนกับการที่ฮิตเลอร์ผลักดันให้เยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปราศจากมูลความจริงทั้งสิ้น และท่านก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับคำพูดของตัวเองแม้แต่น้อยทั้งที่ท่านมีความรู้ในด้านกฎหมายอย่างดี
[3] การทำให้ทักษิณเป็นปีศาจยังฟอกตัวพวกเขาให้กลายเป็นคนดี เพราะสำนึกของชนชั้นกลางเต็มไปด้วยปมด้อยจากการถูกโจมตีอยู่เสมอว่าไม่สนใจการเมืองและชะตากรรมของชาติเลย ผู้เขียนจึงมองว่าการประท้วงของกลุ่มกปปส.จึงเปรียบได้ดังพิธีกรรมแห่งการล้างบาปของศาสนาคริสต์ แม้คุณธรรมหรือโลกทัศน์ทางการเมืองของพวกเขาจะไม่ต่างอะไรกับฝ่ายตรงกันข้ามเลย (บางทีอาจแย่ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ) จนถึงปัจจุบัน
[4] เป็นเรื่องจริงที่ว่าข้าราชการบางกลุ่มเช่นตำรวจถูกสังคมประณามอย่างมากจากเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นและความบกพร่องในการปฏิบัติงาน (รวมถึงทหารในปัจจุบัน) กระนั้นเองสาธารณชนอีกจำนวนไม่น้อยยังให้ความไว้ใจอยู่หากเทียบกับนักการเมืองซึ่งถูกผลิตซ้ำภาพว่าแสนฉ้อฉลแล้ว