วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

ศาลปกครองนัดฟังคำพิพากษาคดีเพิกถอนคำสั่งไล่ 'สมศักดิ์' ออก 11 เม.ย.นี้


8 เม.ย.2559 จากกรณีที่ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ฟ้องคดี โดยฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ บ.408/2558
โดยจากเดิมที่ศาลปกครองกลางมีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าวในวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่กลับถูกเลื่อนออกไป ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางส่งหมายแจ้งผู้รับมอบอำนาจจาก สมศักดิ์ นัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว ในวันที่ 11 เม.ย. นี้ เวลา10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3  ศาลปกครองกลาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ศาลปกครองกลางเคยนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ภาวิณี ทนายความผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทน สมศักดิ์ ได้แถลงด้วยวาจาสรุปประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดีต่อหน้าองค์คณะตุลาการ และตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คำสั่งไล่ สมศักดิ์ ออกจากราชการเป็นคำสั่งทางปกครองที่มิชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งความเห็นดังกล่าวตามกฎหมายแล้วไม่ผูกพันต่อองค์คณะตุลาการศาลปกครองในคดีนี้
โดยตุลาการผู้แถลงคดีอ่านความเห็น โดยสรุปได้ว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาประเด็นแรก  คือ การกระทำของ สมศักดิ์ ผู้ฟ้องคดี  เป็นการกระทำที่ผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ และประเด็นที่สอง คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 คำสั่งที่ ศธ. 0592(3)1.9/6266 ออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้เพิกถอนคำสั่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไล่ออกผู้ฟ้องคดีจากราชการ โดยให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีมีเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตและเสรีภาพ จนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ  เมื่อมีคำสั่งเรียกกลับมาสอน ผู้ฟ้องได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการทันที ไม่ได้ยื่นล่วงหน้าตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการลาออกจากตําแหน่งบริหารแต่ถือได้ว่ามีเหตุผลจำเป็นพิเศษแล้ว
นอกจากนี้ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ.ยัง ได้อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการในต่างประเทศ ในความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่าในทางปฏิบัติผู้ฟ้องคดีได้ลงไปเพิ่มพูนความรู้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีจงใจละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดต่อกันในคราวเดียวเป็นเวลา 15 วัน โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ คำสั่งไล่ออกจากราชการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 คำสั่งที่ ศธ. 0592(3)1.9/6266 จึงเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ภาวิณี ทนายความผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า แถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีดังกล่าวเป็นไปตามข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟ้องคดีอย่างยิ่ง แม้ว่าความเห็นดังกล่าวจะไม่ผูกพันองค์คณะเจ้าของสำนวนในการทำคำพิพากษาก็ตาม

เปิดหลักสูตรอบรมของ คสช. - ด้านวัฒนาชี้หลักสูตรฯ กระทบบรรยากาศประชามติ


เปิดตารางหลักสูตรอบรมของ คสช. 7 วัน ตี 5 อาบน้ำ-ทำธุระส่วนตัว ออกกำลังกาย กินข้าว ให้ความรู้ในหลักสูตร จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ-เป้าหมายรัฐบาล เปิดให้แลกเปลี่ยนความเห็น แถมสันทนาการ ก่อนส่งเข้านอน 21.30 น. วัฒนาชี้หลักสูตรอบรมกระทบบรรยากาศประชามติ
8 เม.ย.2559 ความคืบหน้าหลักสูตรการฝึกอบรมผู้นำการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์ สำหรับผู้นำ หรือแกนนำประชาชนทั่วไป ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช.หนึ่งในผู้ดูแลหลักสูตร ชี้แจงว่าไม่ได้มุ่งหวังจะเรียกมาปรับทัศนคติ แต่บุคคลที่ถูกเชิญเข้ามาร่วมหลักสูตรจะเป็นผู้ที่เข้าข่ายมีความผิดที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กระทบต่อความมั่นคง ส่วนใครจะเข้าข่ายอยู่ที่เกณฑ์การพิจารณาของคณะทำงาน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสอดส่องพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความตามสื่อโซลเชียล และการแสดงความคิดเห็นตามเวทีต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในสังคมทุกมิติ และทันทีที่มีผู้ได้รับสิทธิเข้าอบรม เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อหาที่กระทำความผิดและเชิญตัว ทั้งรูปแบบลายลักษณ์อักษรและวาจา พร้อมกับแจ้งให้ญาติทราบถึงสถานที่ ซึ่งจะเป็นหน่วยทหารทั่วประเทศตามภูมิลำเนาของผู้ที่ได้รับการอบรม และมีระยะเวลาในการอบรม ขั้นต่ำ 7 วัน ขั้นตอนต่อไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมั่นใจกับเจ้าตัวและญาติ เจ้าหน้าที่จะพาไปตรวจเช็กสุขภาพก่อนเข้ารับการอบรม ป้องกันข้อกล่าวหาการซ้อมหรือทำร้ายร่างกาย
สำหรับตารางการอบรมในแต่ละวัน จะเริ่มตั้งแต่รับอรุณวันใหม่ เวลาตี 5 อาบน้ำและทำธุระส่วนตัว ออกกำลังกาย รับประทานอาหารเช้า ก่อนที่จะเริ่มช่วงเวลาสำคัญในการให้ความรู้ในหลักสูตร จากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ และเป้าหมายการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีช่วงเวลาคลายเครียดด้วยกิจกรรมสันทนาการ ก่อนส่งเข้านอนเวลา 21.30 น. และจะเป็นอย่างนี้ทุกวันจนครบ 168 ชั่วโมง โดยหลังจากจบหลักสูตรแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องลงนามความตกลงร่วมกับ คสช. ว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีก แต่หากยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม ก็มีโอกาสสูงที่บุคลนั้นๆ จะได้กลับเข้ามาอบรมใหม่ อย่างไรก็ตาม คสช.หวังว่าการยกระดับการพูดคุยสร้างความเข้าใจนี้จะทำให้ประเทศผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นและหากเป็นไปได้ คสช.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีใครเข้ามาอบรมในหลักสูตรนี้
คสช. แจ้งเบื้องต้นว่าหลักสูตรการสร้างชาติอย่างสร้างสรรค์นี้ จะเริ่มใช้ทันทีที่มีบุคคลกระทำความผิดต่อจากนี้ ส่วนจะเปิดหลักสูตรไปจนถึงเมื่อไหร่นั้น ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจน
 

วัฒนา ชี้หลักสูตรอบรมกระทบบรรยากาศประชามติ

ขณะที่วานนี้ (7 เม.ย.59) วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ผู้ที่ก่อนหน้านี้ถูกคุมตัวเข้าปรับทัศนคติบ่อยครั้ง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Watana Muangsook' ในหัวข้อ "หลักสูตรอบรมนักการเมือง" โดย วัฒนา ระบุว่า หลายคนคงสับสนเมื่อเห็นข่าว คสช. จัดหลักสูตรอบรมทางการเมือง โดยจะนำนักการเมืองที่พูดไม่รู้เรื่องมาเข้าค่ายทหารที่มีอยู่ทั่วประเทศซึ่งรวมถึงปัตตานีและยะลาเป็นเวลา 7 วัน ในขณะที่ประเทศอยู่ในระหว่างการนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จึงควรเป็นบรรยากาศที่ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แทนที่จะเป็นการปิดกั้นอีกฝ่ายในการแสดงความคิดเห็นด้วยมาตรการที่อ้างว่าเป็นความมั่นคง คสช. และทุกฝ่ายต้องเชื่อมั่นว่าคนไทยมีวุฒิภาวะพอที่จะเลือกวิถีทางทางการเมืองของตัวเองได้โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้นำ
 
วัฒนา กล่าวว่า การออกเสียงประชามติ คือการนำร่างกฎหมายหรือนโยบายที่สำคัญ ไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ตัดสินด้วยการลงคะแนนว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ก่อนที่จะนำเอาการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติหรือบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป คสช. จึงควรเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนสามารถมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแม่น้ำ 5 สาย ได้รับโอกาสแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ล่าสุดคือนายมีชัยได้ไปปาฐกถาถึงข้อดีในร่างรัฐธรรมนูญในงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ถูกกลุ่มนักศึกษาชูป้ายประท้วง การแสดงออกดังกล่าวถูกผู้มีอำนาจมองว่ามีเบื้องหลัง ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างจาก คสช. หรือเป็นผู้ก่อความแตกแยกหรือสร้างความวุ่นวายจนต้องนำไปปรับทัศนคติ พฤติกรรมดังกล่าวถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น โดยอ้างความมั่นคงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการออกเสียงประชามติ
 
วัฒนา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องสูญเสียประชาธิปไตยไปถึงสองครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง รัฐธรรมนูญจึงเป็นความหวังของคนไทย ที่จะเป็นกลไกนำพาประเทศชาติให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานได้ การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศ การให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ จะทำให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้รับการยอมรับในที่สุด การยอมรับฟังความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน ตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (1) และการยอมรับการตัดสินใจของประชาชน คือการแสดงถึงความกล้าหาญและความบริสุทธิ์ใจของ คสช. ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างสันติด้วยความราบรื่น ดังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโอบามาที่กล่าวในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติในโอกาส 70 ปีตอนหนึ่งที่ว่า "รัฐบาลที่ปราบปรามคนที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ ไม่ได้แสดงความเข้มแข็ง แต่กำลังแสดงความอ่อนแอ สุดท้ายแล้วรัฐบาลที่กลัวประชาชนของตนเองจะต้องพังลงในที่สุด"

มติเครือข่ายเอ็นจีโอ ประกาศ 'ไม่รับ' ร่างรัฐธรรมนูญ



เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2559 ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) ได้จัดเวทีวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ วิทยากรได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) และภาคประชาชนกลุ่มต่างๆร่วมแลกเปลี่ยน
ไพโรจน์ ซึ่งเป็นตัวแทนรวบรวมความคิดเห็นเครือข่ายต่างๆ แถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและสรุปข้อเรียกร้องของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ว่า
 1.ต้องการให้มีการเผยแพร่ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นไปตามหลักประชามติว่าต้องเหตุเป็นผลของคนทั้งประเทศ ปราศจากการข่มขู่คุกคามจากหน่วยงานทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้ 
2.ในความเห็นของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน การรับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นปัญหามากกว่าการไม่รับ และสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีความเห็นว่าเราจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราจะเข้าคูหาประชามติเพื่อกาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 
2.1 ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เพียงแต่กำหนดให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยลงแต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ
2.2 รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจ คสช. สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยเฉพาะการใช้ ม.44 ในการออกคำสั่ง ประกาศ ที่มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ และมีผลผูกพันรัฐบาลและรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช.ได้
2.3 คำสั่งที่ออกมาทั้งหมดถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้และมีผลระยะยาวต่อสังคมไทยในอนาคต จนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เราเห็นว่าการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการรับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงยืนยันที่จะรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้ศึกษา วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างเต็มที่ต่อไป

วิเคราะห์ปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ควรรับร่างฯ

บัณฑูร กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน มีรัฐบาลผสมหลายพรรคเพื่อการปฏิรูปและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็งแต่มีหน้าที่ของรัฐที่เข้มข้น ซึ่งมีการจำกัดการเมืองภาคพลเมือง โดยมีกลไกอย่างน้อย 5 ประการในช่วง 5 ปี คือ 1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) 2) การใช้อำนาจตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช. 3) วุฒิสภา 250 คน จากการเลือกโดย คสช. 4) ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 5) บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ
บัณฑูรให้ข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจใช้คำสั่งตาม ม.44 เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะทำอย่างไรจึงจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไม่เกิดความรุนแรงเพื่อมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
สุนี กล่าวสรุปประเด็นในที่ประชุมของกลุ่มภาคประชาชนเครือข่ายต่างๆ ว่า ผู้ร่างไม่เข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้เข้าใจประชาธิปไตยของการมีส่วนร่วมจึงลดอำนาจของประชาชนทุกกลุ่ม ตัวอย่างการกระจายอำนาจหรือสิทธิชุมชน สวัสดิการสังคม รัฐธรรมนูญเก่าดีอยู่แล้วแต่กลับมีการแก้หลักการใหญ่ซึ่งจะมีผลอย่างมากในอนาคต รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการปราบโกงโดยลดอำนาจประชาชนและมีอคติต่อนักการเมืองมากเกินไป โดยไม่ได้มองถึงระบบราชการหรือกลุ่มทุนต่างๆ ที่เป็นปัญหาด้วย
เรื่องสวัสดิการสังคม สุนี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชุดนี้เจาะจงกับกลุ่มผู้ยากไร้และคนด้อยโอกาสถึงจะได้รับสิทธิ ทำให้เห็นว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  โดยปกติรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 เขียนเอาไว้ค่อนข้างละเอียด แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างกรณีที่รัฐธรรมนูญปี40 เขียนคำว่าผู้ยากไร้ แต่ร่างฉบับนี้เขียนเรื่องเหล่านี้แย่ลงกว่าเดิม
ในส่วนขององค์กรอิสระ ทั้ง 5 องค์กรมาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาซึ่งส่วนใหญ่มาจากศาล ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.)ที่ถูกตัดอำนาจฟ้องออกไป เปลี่ยนเป็นบทบาทชี้แจงรายงานเหมือนเป็นองค์กรวิชาการ ขณะเดียวกันก็ไปเพิ่มอำนาจที่ไม่ควรจะเพิ่มคือแก้ตัวแทนรัฐบาลเวลารัฐบาลถูกวิจารณ์จากสากล ทำให้ กสม.เป็นอัมพาต ทำให้หน่วยงานที่จะเข้าตรวจสอบรัฐ ไปช่วยเหลือประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ แต่กลับไปทำหน้าที่ให้รัฐแทน
สุนี ย้ำว่า ถ้าเราเจาะลงไปในบทเฉพาะกาล การใช้อำนาจ ม.44 จะส่งผลกระทบมาก ขณะนี้เหมือนเขียนรัฐธรรมนูญออกมาไม่ดีเรื่องสิทธิเสรีภาพและยกให้คำสั่ง คสช.มีผลสืบเนื่องทั้งหมด ทำให้คำสั่งต่างๆ แก้ไขได้ยาก เพราะบทเฉพาะกาลได้ล็อกคำสั่งเหล่านี้เอาไว้และกระบวนการแก้ไขถูกออกแบบไม่ชัดเจน
ไพโรจน์ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการรับรองสิ่งที่มีอยู่ แต่ไม่มีความก้าวหน้า ในหมวดปฏิรูปกล่าวเพียงสองเรื่องคือให้ประชาชนรู้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องพัฒนาพรรคการเมืองให้ถูกควบคุมให้ได้ ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้ร่างว่ามองประชาชนอย่างไร
ไพโรจน์ เน้นย้ำเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ยอมรับให้มีจังหวัดจัดการตนเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี40 และปี50 ให้จังหวัดนั้นสามารถปกครองตนเองจัดการตนเองได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน การตัดสิทธิประชาชนการลงมติระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ตัดสิทธิประชาชนองค์กรส่วนชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิเด็กเยาวชน สิทธิคนพิการหายไป สิทธิทางการศึกษาไปอยู่ในหน้าที่ของรัฐไม่ใช่สิทธิของประชาชน และยังมีเรื่องต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี ซึ่งมีในรัฐธรรมนูญปี 40 ปี50 แต่ร่างนี้กลับไม่ปรากฏ

ศาลทหารขอนแก่น ไม่อนุญาตประกันตัวจำเลยคดี ม.112 'ป่วน Bike for Dad'


8 เม.ย.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น นัดสอบคำให้การจำเลยในคดีที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จ.ส.ต.ประธิน จันทร์เกศ และพวกรวม 5 คน ในข้อหา ร่วมกันหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมายเลขคดีดำที่ 1 ก./2559
รายงานระบุว่า เวลาประมาณ 10.10 น. ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังค์พิจารณาคดี และอ่านบรรยายฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งห้าฟัง ความโดยสรุปว่า ระหว่างเดือน ส.ค. 2557 ถึงวันที่ 24 ก.พ. 2558 เวลาใดไม่ปรากฏชัด เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  จำเลยทั้ง 5 กับพวกที่หลบหนี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันสนทนาข้อความที่มีลักษณะหมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท จำนวน 3 ข้อความ ต่อหน้าบุคคลผู้มีชื่อ จำนวน 2 คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้ง 5 กับพวกเป็นไปโดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และรัชทายาท เสื่อมเสียพระเกียรติ ทรงถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี อัยการทหารฝ่ายโจทก์จึงแถลงต่อศาลขอนัดวันเพื่อสืบพยานโจทก์ แต่ทนายจำเลยคัดค้าน โดยขอให้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน อัยการฯ แถลงว่า โจทก์มีเพียงพยานบุคคล ซึ่งมีหลักฐานเป็นบันทึกคำให้การ บันทึกการชี้ตัวและชี้รูป ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาไม่ต้องให้คู่ความตรวจสอบ ทนายจำเลยแถลงจึงขอใช้สิทธิตามกระบวนการพิจารณาคดี โดยขอให้โจทก์ยื่นบัญชีพยาน ศาลจึงมีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานก่อนการสืบพยาน ในวันที่ 9 มิ.ย. 2559 โดยให้คู่ความแต่ละฝ่ายยื่นบัญชีพยานก่อนวันนัดไม่น้อยกว่า 7 วัน
ในวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จ.ส.ต.ประธิน จำเลยที่ 1 และนายพาหิรัณ กองคำ จำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีโรคประจำตัว ต่อมาในช่วงบ่ายศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต
ก่อนหน้านี้ จ.ส.ต.ประธิน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวจากบ้านพักใน อ.เมืองขอนแก่น เมื่อวันที่ 21 พ.ย.58 และนายณัฐพล ณ.วรรณ์เล ถูกทหารควบคุมตัวจากบ้านในอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 พ.ย.58 วันเดียวกัน MThai News รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ที่ก่อความวุ่นวายในการซ้อม Bike for Dad เมื่อ 22 พ.ย.58 ที่จังหวัดขอนแก่นหลายคน
ต่อมา วันที่ 24 และ 25 พ.ย.58 ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติออกหมายจับ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 9 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในจำนวนนี้ มี 4 ราย เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี วันที่ 26 พ.ย.58 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า มีการแถลงผลการจับกุม จ.ส.ต.ประธิน  และนายณัฐพล ณวรรณ์เล พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรม กล่าวว่า จากการสืบสวน พบว่าบุคคลกลุ่มนี้มีแนวคิดเตรียมก่อเหตุรุนแรงโดยมีการปรึกษาหารือกันในการตระเตรียมอาวุธที่จะนำเข้ามาทำการก่อเหตุในช่วงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในหลายพื้นที่ โดยมีผู้ร่วมก่อเหตุทั้งหมด 9 คน
ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับอีก 7 คน ถูกจับกุมในเวลาต่อมา 2 คน เข้ามอบตัว 2 คน ถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่แล้ว 1 คน ส่วนอีก 2 คน ยังหลบหนี ทั้ง 6 คน ที่เจ้าหน้าที่ได้ตัวมา ถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี ซึ่งอยู่ใน มทบ.11 เรื่อยมา ระหว่างนี้ 1 ใน 6 คน ได้ถูกปล่อยตัวไป จนกระทั่งอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 23 ได้ยื่นฟ้อง จ.ส.ต.ประธิน  และพวกรวม 5 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นฟ้อง จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 2 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

เว็บไซต์ประชามติ ชี้คำถามพ่วง สนช. เปิดช่อง ส.ว. เลือกนายกฯ สองสมัย


เว็บไซต์ประชามติ ตั้ง 3 ข้อสังเกตุต่อคำถามพวง ส.ว. เลือกนายกฯ ชี้ตัวคำถามขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อยสองสมัย ย้ำ 250 ส.ว. มาจากสรรหาโดย คสช.
8 เม.ย. 2559 เว็บไชต์ประชามติ รายงานว่า หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติด้วยคะแนนเสียง เห็นชอบ 152 คน งดออกเสียง 15 คน จากผู้เข้าประชุม 167 คน เห็นชอบคำถามพ่วง ที่จะถามประชาชนควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคำถามคือ
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควร ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ขั้นตอนหลังจากนี้ สนช.จะส่งคำถามนี้ให้กับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อนำไปจัดทำประชามติ เท่ากับว่า ในการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะมีคำถามสองคำถาม คือ เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือไม่ และคำถามนี้

ขยายความคำถามพ่วง

1) ตามร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติครั้งนี้ และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 กำหนดเหมือนกันว่า ให้ "สภาผู้แทนราษฎร" หรือ ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน "วุฒิสภา" หรือ ส.ว. นั้นไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หลักการของคำถามพ่วงที่ สนช.ลงมติเลือกไปนั้น เขียนว่าให้ "ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา" พิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี หมายความว่าให้ ทั้ง ส.ส. 500 คน และ ส.ว. อีก 250 คน ลงมติร่วมกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
โดยตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการตัดสินใจเลือก ส.ว. ทั้ง 250 คน (อ่านต่อที่ http://ilaw.or.th/node/4069)
2) การที่คำถามพ่วง กำหนดว่าให้ใช้ "ในระหว่าง 5 ปีแรก" หมายความว่า ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งและมีรัฐสภาชุดแรก โดยไม่จำกัดว่าจะให้เลือกนายกรัฐมนตรีกี่คน
ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 กำหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรทุกชุด มีวาระ 4 ปี ดังนั้น หากประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบวาระ และมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ยังเลือกโดย ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกัน เท่ากับว่า ส.ส.และ ส.ว.จะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างน้อย 2 คน และหากนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนอยู่ครบวาระ ประเทศไทยก็จะมีนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์เพื่อให้การ ปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเวลา 8 ปี
หรือหากภายในระยะเวลา 5 ปีแรกนายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งลาออก หรือต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ หรือต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น ส.ส.และส.ว.ก็ยังจะร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะต้องเลือกกี่คนก็ตาม
3) ส่วนที่กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของคำถามพ่วงไว้ว่า "เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ" นั้น สำหรับ "แผนยุทธศาสตร์ชาติ" ที่อ้างถึง ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ มาตรา 275 กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเป็นผู้จัดทำขึ้น โดยมีเวลาจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติภายใน 120 วันนับจากร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ และให้เวลาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติต่ออีกภายใน 1 ปี
โดยในมาตรา 162 ยังกำหนดด้วยว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ด้วย เท่ากับว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะมีผลต่อนโยบายการบริหารประเทศ และส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งแรกนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้จัดทำขึ้น และยังไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร

ผลของคำถามพ่วงหลังลงประชามติ

หากประชาชนเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงนี้ จะทำให้ได้วิธีการเลือกนายกรัฐมนตรที่ไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 37/1 และ 39/1 วรรค 12 กำหนดทางแก้ปัญหากรณีเช่นนี้ไว้ว่า ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ส่วนที่แก้ไขนั้นสอดคล้องกับคำถามพ่วงแล้วหรือไม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป
แต่ปัญหาต่อไปยังมีว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แต่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วงนี้ ผลจะเป็นอย่างไร? ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความแน่ชัดจากทาง คสช. ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แล้วจะมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป และก็ทำให้ยิ่งไม่ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับต่อไปจำเป็นต้องสอดคล้องกับคำถามพ่วงนี้ด้วยหรือไม่
และหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีโอกาสที่ข้อเสนอเรื่องการให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ตามคำถามพ่วงนี้ จะกลับมาได้อีกหรือไม่

สตช.สั่งห้ามนำเข้านิตยสาร Marie Claire ฉ.ฝรั่งเศส พ.ย.58 ระบุหมิ่นฯสถาบันกษัตริย์


8 เม.ย .2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ที่่ 156/2559 โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งวันที่ 16 มี.ค.59 เรื่อง ห้ามสั่งเข้าหรือนําเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร
โดยคำสั่งระบุว่า ด้วยปรากฏว่านิตยสาร Marie Claire ฉบับภาษาฝรั่งเศส เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ของฝรั่งเศส ตีพิมพ์บทความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
อาศัยอํานาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 จึงห้ามสั่งเข้าหรือนําเข้านิตยสาร Marie Claire ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร รวมทั้งให้ริบหรือทําลายซึ่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าว