ยิ่งชีพ-ปริญญา-สุภิญญา-ประสงค์ (ซ้ายไปขวา)
7 ต.ค. 2558 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนาเรื่องซิงเกิลดิจิทัลเกตเวย์ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ไอซีที) จะส่งตัวแทนมาโดยเตรียมตัวมาพูดเรื่องแผนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เมื่อทราบว่าเป็นหัวข้อเรื่องซิงเกิลเกตเวย์จึงขอถอนตัวไป ขณะที่ วานนี้ FCCT ระบุในใบแจ้งข่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถพูดถึงนโยบายที่มีความสำคัญและกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ได้
ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นเนล เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำซิงเกิลเกตเวย์ และส่วนตัวไม่สนับสนุนให้ทำ โดยชี้ว่าไทยมีเกตเวย์ 17 แห่งและมีเกตเวย์ภายในอีกเป็นร้อย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเกตเวย์เดียวออกจากไทยไปสู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไทยก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะทำเช่นนั้น เพราะนโยบายหลังรัฐประหารเน้นไปที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับซิงเกิลเกตเวย์ พร้อมเล่าด้วยว่า ตอนที่เขาอยู่ในปักกิ่ง ประเทศจีน ก็ยังสามารถเข้าใช้งานเฟซบุ๊กและกูเกิลได้ ทำให้เห็นว่า เทรนด์การใช้ TOR (ซอฟต์แวร์เสรี ที่ช่วยปกปิดตัวตนผู้ใช้และช่วยเข้าเว็บที่ถูกบล็อค) ก็ทำให้การทำซิงเกิลเกตเวย์เป็นไปไม่ได้ด้วย
สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า นิยามของซิงเกิลเกตเวย์นั้นยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 17 รายจาก กสทช. โดยใบอนุญาต มีอายุ 15-20 ปี หากจะมีการทำซิงเกิลเกตเวย์ หรือเกตเวย์เดียว อาจหมายถึงได้สองแบบ คือ หนึ่ง หมายถึงการที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ ซึ่งก็คงเป็น "ฝันร้าย" และสอง หมายถึงการที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องมาอยู่ใต้เกตเวย์หนึ่งของรัฐ ก็จะเป็นภาระที่เอกชนต้องจ่ายให้กับเกตเวย์รัฐด้วย
สุภิญญา มองว่า แนวคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์นั้นมีเพื่อหาทางไปต่อด้านธุรกิจให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท และ ทีโอที ซึ่งคลื่นในมือใกล้หมดสัมปทานในไม่ช้า โดยส่วนตัวไม่ทราบว่าทั้งสองรัฐวิสาหกิจจะรับรู้ถึงแนวคิดนี้ของรัฐบาลมาก่อนหรือไม่ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำเช่นนี้จริง จะกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งหมด เพราะเรามีผู้เล่นจำนวนมากแล้ว คงยากจะถอยกลับไปยุคที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย
นอกจากนี้ เธอยังมองว่าอีกเหตุผลหนึ่งของการทำซิงเกิลเกตเวย์ก็เพื่อควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริง โดยเทียบการทำเช่นนี้เป็นการ "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"
ประสงค์ เรืองศิริกูลชัย กรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าขอแสดงความเห็นในนามส่วนตัว โดยเขาชี้ว่า เมื่อพูดถึงซิงเกิลเกตเวย์ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 80% มักนึกถึงซิงเกิลเกตเวย์ในทางกายภาพ คือตัดท่อทั้งหมดมาต่อออกท่อเดียว ซึ่งถ้าทำจริงจะก่อให้เกิดปัญหา redundancy หรือกรณีที่ท่อมีปัญหา ระบบก็จะล่มทั้งหมด เพราะมีท่อเดียว ซึ่งส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจะไม่ทำ เพราะจะกระทบกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและแนวคิดเรื่องศูนย์กลางดิจิทัลของเอเชียของรัฐบาลเองด้วย ซึ่งตรงนี้เขาเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะมีเคเบิลใต้น้ำของตัวเองได้แล้ว เพื่อสร้างทางเลือกในการไม่ต้องไปต่อกับเคเบิลใต้น้ำของสิงคโปร์ โดยเปรียบเทียบคล้ายการขุดคอคอดกระ ที่จะช่วยลดระยะทางและประหยัดต้นทุน
ทั้งนี้ ประสงค์ยกตัวอย่างการทำซิงเกิลเกตเวย์ในประเทศต่างๆ ว่า ในจีน ที่ใช้ Great Firewall นั้นก็ยังต้องมีท่อออกนอกประเทศ 3 ทาง คือที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว เพื่อที่ว่าหากท่อใดท่อหนึ่งล่มก็ยังสามารถต่อออกนอกประเทศได้ ขณะที่ประเทศลาวนั้นก็พยายามทำซิงเกิลเกตเวย์ ภายใต้ชื่อที่แปลได้ว่า "ออกประตูเดียว" มาราว 5 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่าตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตัดการเชื่อมต่อใดของเอกชนได้เลย เพราะเอกชนไม่ยินยอม จากกรณีนี้จะเห็นว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีอำนาจพอก็จะทำไม่ได้
ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่า แนวคิดซิงเกิลเกตเวย์เป็นความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการควบคุมเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในอินเทอร์เน็ต โดยชี้ว่าหลังรัฐประหารเป็นต้นมาจะเห็นความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตผ่านการใช้กฎอัยการศึก การพยายามขอความร่วมมือกับบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไลน์ ความพยายามผ่านกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ยิ่งชีพ กล่าวถึงสถานการณ์คดี ม. 112 หลังรัฐประหารว่า มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 54 ราย โดยจำนวนมากเป็นการกระทำก่อนรัฐประหารแต่ถูกจับภายใต้กฎอัยการศึก โดยมีข้อสังเกตว่า 40 รายเป็นการแสดงความเห็นทางออนไลน์ ส่วน 3 รายเป็นการกระทำในโลกออฟไลน์ แต่มีหลักฐานในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ ยิ่งชีพชี้ว่า รัฐบาลมีเครื่องมือทั้งมาตรา 18-20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมหลักฐานรวมถึงขอหมายศาลให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้ รวมถึงมาตรา 9 ของกฎอัยการศึก ในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รัฐบาลทหารยังประสบอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะเว็บไซต์หลายแห่งของต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลผู้ใช้ด้วยนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัว รวมถึงไม่ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในเว็บ ทำให้หากรัฐบาลต้องการบล็อคก็ต้องส่งคำขอไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละราย ซึ่งกินเวลานาน ขณะที่หากมีซิงเกิลเกตเวย์ การทำงานของรัฐก็จะง่ายขึ้น
ยิ่งชีพขยายความถึงการใช้อำนาจใต้กฎหมายที่มีด้วยว่า แม้จะมีกฎหมาย มีขั้นตอนปฏิบัติเช่นต้องขอหมายศาล แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้จำนวนเว็บที่ถูกบล็อคที่แน่ชัด และบางครั้งเราไม่รู้ว่ามีคนถูกจับได้อย่างไร ทั้งที่เขาบอกว่าเขาซ่อนตัวด้วย VPN หรือใช้ TOR แล้ว เพราะมีคดีจำนวนมาก ที่มีการสารภาพตั้งแต่ในชั้นต้นๆ ทำให้เราไม่เห็นหลักฐานว่าตำรวจรู้ตัวผู้กระทำผิดได้อย่างไร
ยิ่งชีพชี้ว่า โดยสรุป หากมีซิงเกิลเกตเวย์ สถานการณ์ด้านคดี 112 ก็คงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก เพราะรัฐบาลมีกฎหมายต่างๆ เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว เพียงแต่เราจะมีโอกาสรู้ได้ยากขึ้นว่าเขาทำอะไรบ้าง