วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

สันติอโศก: ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism
Thu, 2011-03-31 14:41   สุรพศ ทวีศักดิ์
แต่ทว่าโลกเราก็ได้เรียนรู้แล้วว่า การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจนเกินขอบเขตทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี !
ฉะนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่จึงแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างชัดเจน คือให้ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่การเมืองเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม
ศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หมายความว่า การนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพของแต่ละบุคคล และบทบาทของศาสนาจำกัด “ขอบเขต” อยู่เพียงการแนะนำสั่งสอนให้คนเห็นคุณค่าของศีลธรรมหรือความสงบทางจิตใจเท่านั้น ศาสนาไม่ควรมีบทบาทเรียกร้องหรือกดดันให้รัฐออก (หรือไม่ออก) กฎหมายบังคับให้ประชาชนต้องปฏิบัติโดยอ้างอิงความเชื่อหรือหลักศีลธรรมทางศาสนานั้นๆ
เป็นไปได้ที่ศาสนาอาจเห็นว่า การออกกฎหมายอนุญาตการทำแท้ง การมีหวยบนดิน หรือเปิดบ่อนเสรีเป็นการขัดต่อหลักศีลธรรมทางศาสนา แต่บทบาทที่ศาสนาควรทำในกรณีเช่นนี้คือ การวิจารณ์ผลเสียของการออกกฎหมายเช่นนั้น และชี้ให้สังคมเห็นคุณค่าของการปฏิบัติตามศีลธรรมทางศาสนา ไม่ใช่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องกดดันหรือบีบบังคับให้รัฐหรือสังคมต้องทำตามหลักศีลธรรมทางศาสนาชนิดที่ว่า “ไม่ชนะไม่เลิก”
เพราะโดยหลักการแล้ว ศีลธรรมทางศาสนาไม่ใช่เรื่องของการบังคับ แต่เป็นเรื่องของการแสดงเหตุผลชี้แนะให้คนคล้อยตาม หากหลักความเชื่อทางศีลธรรมของศาสนามีพลังของเหตุผลเพียงพอ และรัฐหรือประชาชนเห็นว่ามีประสิทธิภาพแก้ปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมปัจจุบันได้จริง รัฐและประชาชนย่อมคล้อยตามเอง ไม่จำเป็นที่ศาสนาต้องออกมาประท้วงกดดัน
แต่ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้ ศาสนาหรือพระสงฆ์ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองในบทบาทการแนะนำทางศีลธรรม ดังความเห็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า
“...พระควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย” [1]
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือพระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ไม่ได้ เช่นการออกแถลงการณ์หรือเดินขบวน พระสงฆ์ก็ย่อมสามารถทำได้หากไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของพระสงฆ์หรือทางศาสนาโดยเฉพาะ แต่ทำเพื่อสันติภาพของสังคมเช่น ออกมาเรียกร้องสันติวิธี บิณฑบาตความรุนแรง คัดค้านไม่ให้รัฐเข่นฆ่าประชาชน ฯลฯ (เรื่องบัญญัติพุทธศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญเป็นเสรีภาพที่พระสงฆ์จะเสนอเหตุผลต่อสาธารณะได้ แต่ไม่ควรออกมาเดินขบวนกดดันให้รัฐหรือสังคมต้องทำตาม)
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง สิ่งที่พึงระวังคือการสร้างความเชื่อสุดโต่งจนมีลักษณะเป็น “ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism” ดังความเชื่อของชาวสันติอโศกที่ยึดถือว่า “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน”
ความเชื่อเช่นนี้มีปัญหาอย่างน้อยสองประการ คือ
ประการแรก ข้อความ “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน” มีความหมายเช่นเดียวกับ “A = B” ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะธรรมชาติหรือเนื้อหาของศาสนากับธรรมชาติหรือเนื้อหาของการเมืองไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ศาสนามุ่งตอบสนองต่อความต้องการทางจิตวิญญาณ ความสงบทางจิตใจ หรือความพ้นทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก หรือที่พุทธศาสนาพูดถึง “ประโยชน์สุขของมหาชน” ก็มีความหมายเจาะจงประโยชน์สุขตามนิยามหรือตามกรอบศีลธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลัก
ส่วนประโยชน์สุขในทางการเมือง มีลักษณะเป็นสากลกินความกว้างครอบคลุมถึงความเป็นมนุษย์ในทุกมิติมากกว่า เช่น เสรีภาพที่จะทำตามกิเลสเป็นเสรีภาพที่ขัดต่อหลักศีลธรรมหรืออุดมคติทางศาสนา แต่เป็นเสรีภาพที่การเมืองยอมรับอย่างปกติหากไม่ไปละเมิดเสรีภาพคนอื่น
ประการที่สอง นิยาม “ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน” นำไปสู่ความเชื่อในหลักการของกลุ่มตนเองแบบหัวชนฝา (Dogmatism) และนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองแบบ “ไม่ชนะไม่เลิก” แม้ว่าเป้าหมายการต่อสู้นั้นเป็นการล้มระบบสากลที่จำเป็นต้องปกป้องเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกของสังคมทุกคน ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ หรือเห็นต่างจากเราอย่างไรก็ตาม
เช่น การต่อสู้ที่เรียกร้อง “คนดีมีศีลธรรม” แลกกับการล้ม “ระบบการเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการผูกขาดการนิยาม การตัดสินใจเลือก “คนดีมีศีลธรรม” ไว้ที่กลุ่มตนหรือกลุ่มชนชั้นนำที่ฝ่ายตนสนับสนุน ซึ่งเท่ากับปฏิเสธอำนาจและวิจารณญาณของประชาชนที่จะร่วมกันนิยามหรือเลือก “คนที่เหมาะสม” มาทำงานการเมืองแทนตามสิทธิที่พวกเขามี
หรือพูดในแง่การใช้เสรีภาพ การปฏิเสธการเลือกตั้งและเรียกร้องรัฐประหาร หรือเรียกร้องอำนาจพิเศษ ย่อมเป็นการใช้เสรีภาพที่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้เสรีภาพเรียกร้องการล้มหลักการ และ/หรือระบอบที่เป็นประชาธิปไตย !
(สังคมไทยนั้นแปลกประหลาดกว่าประเทศใดในโลก ตรงที่ประชาชน “ไม่มีเสรีภาพในการพูดความจริง” เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเรียกร้องรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย !)
ฉะนั้น ท่วงทำนองของ “ศาสนาการเมืองแบบ Dogmatism” ของสันติอโศก จึงเป็นท่วงทำนองของการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่าง “เกินขอบเขต” แห่งบทบาทหน้าที่ของศาสนาและพระสงฆ์
และนำไปสู่การใช้เสรีภาพทางการเมืองอย่างเลยเถิดเพื่อล้มหลักการ และ/หรือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีความหมายเป็นการทำลายเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชน !
อ้างอิง
[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์.พระกับการเมือง.มติชนรายสัปดาห์ 24, 1251 (6 สิงหาคม 2547), หน้า 36.*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น