วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554



ผลกระทบและข้อวิจารณ์ต่อวาทกรรม-นิติรัฐ


ในทศวรรษที่ ๘๐ มีผู้เห็นกันว่าหลักนิติรัฐถูกแปรสภาพกลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง วาทกรรม “นิติรัฐ” ถูกนำไปใช้กล่าวอ้างเพื่อเป็น “อำนาจ” ในการปกครอง จนเรียกได้ว่า หากมีรัฐใดประกาศตนว่าเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย และต้องการสร้างความชอบธรรมในการปกครอง ตลอดจนต้องการให้นานาอารายประเทศยอมรับนับถือแล้ว ก็หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องประกาศตนเป็น “นิติรัฐ” กล่าวให้ถึงที่สุด หลักนิติรัฐ นอกจากจะเป็นหลักที่เกิดขึ้นมาเพื่อจำกัดการใช้อำนาจของรัฐที่ไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนแล้ว อีกมุมหนึ่ง หลักนิติรัฐได้พัฒนาจนกลายเป็นฐานของความชอบธรรมในการปกครองประเทศอีกด้วย “กฎหมาย” จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นของการปกครองในรัฐสมัยใหม่ ทั้งในฐานะตัวแทนของความชอบธรรม และทั้งในฐานะของเครื่องมือการปกครอง

ในยุคปัจจุบัน แม้หลักนิติรัฐจะได้การยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะเป็นเป้าหมายที่แต่ละรัฐควรไปให้ถึง แต่นักคิดจำนวนมากยังคงวิจารณ์และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมาจากวาทกรรม “นิติรัฐ” นี่เป็นข้อวิจารณ์พอสังเขป

ประการแรก สภาวะ “เฟ้อ” ของกฎหมาย
ความเป็นหลักการอันปฏิเสธไม่ได้ (Dogmatique) ของ “นิติรัฐ” ทำให้ “กฎหมาย” กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม การขยายความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ปัจเจกชน เป็นปัจจัยเร่งให้ผลิตกฎหมายลายลักษณ์อักษรรายฉบับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ศาลก็มีบทบาทมากขึ้น ด้วยเชื่อกันว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางในการแก้ไขข้อพิพาทในทุกปัญหาที่ถูกทำให้เป็นเรื่องทางกฎหมายทั้งหมด

กระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “กฎหมาย” (Juridicisation) ได้ขยายพรมแดนของ “ความเป็นกฎหมาย” (Juridicité) ออกไปอย่างกว้างขวาง กฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกแขนง ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กีฬา หรืออาหาร เรื่องบางเรื่อง ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีใครคิดว่าจะเกี่ยวกับกฎหมายได้ แต่ในท้ายที่สุด กฎหมายก็ยังเข้าไปสร้างกฎเกณฑ์ เช่น การทำแท้ง การให้สตรีอื่นอุ้มครรภ์แทน การุณยฆาต การห้ามมิให้สตรีมุสลิมใส่ผ้าคลุมหน้าในสถานที่ราชการ การคุ้มครองศพ เป็นต้น ในวันข้างหน้า ความเป็นกฎหมายอาจไม่ได้อยู่กับสังคมมนุษย์เท่านั้น แต่ขยายลงไปถึงสังคมสัตว์ ดังที่สมาคมพิทักษ์สัตว์บางสมาคมได้เสนอแนวคิดให้มีสิทธิสัตว์ทำนองเดียวกันกับกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชน ในอนาคต หากเทคโนโลยีก้าวไกลถึงขนาด รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิหุ่นยนต์ตามจินตนาการในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องพลูโต ก็อาจไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ

นอกจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมายจะทำหน้าที่ประกันเสรีภาพและเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ปัจเจกชนแล้ว ยังขยายไปถึงภารกิจการไล่จับความเสี่ยง ความไม่สะดวกสบาย หรือความไม่ลงรอยกันในเรื่องเล็กน้อย ผลที่ตามมาก็คือ กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดขยายตัวมากขึ้น ทั้งความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง ตลอดจนการแปรสภาพคดีการเมืองให้มีความรับผิดทางอาญา

ในส่วนของสิทธิและเสรีภาพ ประเทศที่ประกาศตนเป็นนิติรัฐ-เสรีประชาธิปไตยทั้งหลายมักรับรองสิทธิและเสรีภาพในระดับรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ในหลายประเทศพัฒนาข้อความคิดสิทธิและเสรีภาพตัวใหม่ๆขึ้น เช่น สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด สิทธิขั้นต่ำในการเข้าถึงอาหารอย่างพอเพียง เป็นต้น การเสกสรรสิทธิและเสรีภาพกลายเป็น “แฟชั่น” ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดูดีและทันสมัย ผู้ร่างต้องเขียนเรื่องสิทธิและเสรีภาพไว้หลายมาตรา โดยการรับรองสิทธิและเสรีภาพตัวใหม่ๆด้วยถ้อยคำอย่างกว้างๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้ให้เกิดผล จนอาจกล่าวได้ว่าสิทธิและเสรีภาพที่ถูก “สร้าง” ขึ้นนั้น ไม่ต่างอะไรกับเซ็นเช็คสั่งจ่ายโดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคาร

มีแนวโน้มว่า “กฎหมาย” จะถูกทำให้เป็น “ยาวิเศษ” ที่สามารถรักษาโรคทุกโรคได้ดังใจนึก เมื่อเกิดประเด็นถกเถียงกันในสังคม ทางออกสุดท้ายมักไปอยู่ที่การเจรจาต่อรองจนได้ฉันทามติและนำไปตราเป็นกฎหมาย เพราะความเป็นกฎหมายเป็นหลักประกันถึงความเป็นกฎเกณฑ์และสภาพบังคับ กฎหมายจึงกลาดเกลื่อนไปด้วยบทบัญญัติที่บอกว่าสิ่งนี้ทำได้ สิ่งนั้นทำไม่ได้ 

องค์กรทางกฎหมายย่อมเพิ่มตามความสำคัญของกฎหมายไปด้วย องค์กรผู้ผลิตกฎหมายมีหลายระดับทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ หรือระดับทวีป ตลอดจนองค์กรโลกบาลต่างๆ เมื่อตรากฎหมายขึ้นใช้ก็ต้องมีสภาพบังคับ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

จากข้อวิจารณ์ดังกล่าว จึงมีผู้เห็นกันว่าแนวโน้มสภาวะกฎหมาย “เฟ้อ” เหล่านี้สร้างต้นทุนให้กับสังคม
ประการที่สอง นักกฎหมายเป็นใหญ่
ความสำคัญของ “กฎหมาย” มีมากขึ้นเท่าไร ความสำคัญของ “นักกฎหมาย” ก็เพิ่มมากตามไปด้วยเท่านั้น เมื่อกฎหมายถูกพัฒนาจนเป็นวิชานิติศาสตร์ ย่อมต้องมีนิติวิธีหรือองค์ความรู้ที่เฉพาะบุคคลที่ร่ำเรียนมาทางกฎหมายเท่านั้นถึงจะทราบ กฎหมายจึงกลายเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการฝึกฝนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ “กฎหมาย” เบ่งบาน ในขณะที่ “กฎหมาย” ก็เรียกร้องให้ “นักกฎหมาย” เข้ามาจัดการ เรื่องของกฎหมายจึงถูกผูกขาดโดยบรรดานักกฎหมายไปโดยปริยาย เปิดโอกาสให้นักกฎหมายได้ครอบงำสังคมในนามของผู้รู้กฎหมาย

การครอบงำสังคมโดยนักกฎหมายปิดโอกาสไม่ให้บุคคลอื่นได้เข้ามีส่วนร่วมในการถกเถียงประเด็นต่างๆในสังคม จริงอยู่อาจอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆหรือผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นนั้นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอยู่บ้าง แต่ในท้ายที่สุด ในชั้นสุดท้าย การชี้ขาดประเด็นเหล่านี้ก็อยู่ในมือของแวดวงนักกฎหมายเท่านั้น นักกฎหมายที่ติดอยู่กับมายาภาพนี้มักจะปฏิเสธมิให้ผู้อื่นได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเหตุผลเพียงว่าเรื่องกฎหมายต้องสงวนให้นักกฎหมายเท่านั้น อาชีพนักกฎหมายจึงเฟื่องฟูมาก ในสังคมนิติรัฐ คำว่า “กฎหมายเป็นใหญ่” เอาเข้าจริงคือ นักกฎหมายเป็นใหญ่นั่นเอง
ประการที่สาม บทบาทของศาลเพิ่มมากขึ้น
เมื่อทุกปรากฏการณ์ในสังคมถูกทำให้เป็น “กฎหมาย” ผลลัพธ์สุดท้ายก็มักมาจบที่ศาล ความขัดแย้งในสังคมถูกนำมาชี้ขาดที่ศาล ศาลกลายเป็นผู้ให้ “คำตอบสุดท้าย” แม้ศาลจะไม่ต้องการเข้าร่วมในความขัดแย้ง แต่คู่ขัดแย้งซึ่งต้องการผลบังคับและผลเป็นที่สุดในทางกฎหมาย ก็พยายามชงเรื่องสู่ศาล สังคม “นิติรัฐ” จึงกลายเป็นเป็นสังคมแห่งคดีความ เมื่อมีคดีความมาก ความมั่นคงแน่นอนของนิติฐานะก็ถูกคุกคาม ในกรณีคดีนิติกรรมสัญญา คู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่กล้าดำเนินการตามสัญญาต่อไปเพราะไม่มั่นใจว่าศาลจะตัดสินให้ใครชนะคดี ในกรณีคดีรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายอาจถูกตรวจสอบหรือถูกประกาศให้สิ้นผลได้โดยศาล เมื่อข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น การดำเนินการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญก็อาจสะดุดหยุดลงชั่วคราว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่มั่นใจในเสถียรภาพของตำแหน่งตนเองเพราะขั้วตรงข้ามจ้องหาทางปลดออกจากตำแหน่งด้วยการชงเรื่องไปสู่ศาล สังคมแห่งคดีความจึงสร้างภาระและต้นทุนให้กับทั้งคู่ความ รัฐ และตัวศาลเอง

นิติรัฐ-ประชาธิปไตย และความคิดประชาธิปไตยโดยกฎหมาย เปิดโอกาสให้องค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ในฐานะผู้ควบคุมตรวจสอบองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งหลาย จนกล่าวกันว่าศาลกลายเป็น “ผู้พิทักษ์คนสุดท้ายของพันธสัญญา” ในระบอบประชาธิปไตย  เมื่อศาลมีบทบาทมากขึ้นก็ส่งผลตามมาสองประการ หนึ่ง ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของศาล เมื่อศาลเผชิญหน้ากับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ศาลปลดนักการเมืองออกจากตำแหน่งบ่อยครั้ง ศาลล้มกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาอยู่เสมอ ก็อาจเกิดคำถามตามมาว่าศาลซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมากเพียงใดถึงไปล้มโครงการและขัดขวางองค์กรทางการเมืองที่มีฐานความชอบธรรมจากประชาชน สอง ด้วยความต้องการของสังคม ผู้พิพากษากลายเป็นผู้ชี้ผิดชี้ถูก-ชี้เป็นชี้ตายในทุกคุณค่า เนื้อหาของข้อพิพาทไปเกี่ยวพันในหลายสาขาวิชา คดีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในบางกรณี ผลของคดีไม่ได้มีต่อเฉพาะคู่ความเท่านั้นแต่ยังส่งผลออกไปในวงกว้างในฐานะเป็นคำพิพากษาบรรทัดฐาน ในขณะที่ผู้พิพากษาไม่ใช่ผู้มีความรู้ความชำนาญในทุกเรื่อง จึงเกิดข้อวิจารณ์ว่าสมควรหรือไม่ที่ประเด็นปัญหาทั้งหลายในสังคมควรผูกขาดการชี้ขาดไว้ที่ผู้พิพากษา
ประการที่สี่ เหตุผลทางกฎหมายถูกท้าทาย
ยิ่งนิติรัฐพัฒนาและสมบูรณ์มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเปิดเผยให้เห็นข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ภาพตัวแทนที่ซ่อนอยู่ในรูปของ “นิติรัฐ” ที่ว่าสังคมที่ตีกรอบและดำเนินการด้วยกฎหมายนั้นเป็นภาพตัวแทนที่ลวงตา การเพิ่มขึ้นของกระบวนการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกฎหมาย (Juridicisation) แม้ดูเหมือนว่ากฎหมายเถลิงขึ้นสู่อำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งแล้วกฎหมายก็อาจถึงคราวล่มสลายเช่นกัน

อัตราที่เพิ่มขึ้นของจำนวนกฎหมายลายลักษณ์อักษร และพลวัตของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดูผิวเผินอาจจะไม่มีอะไรผิดปกติ แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความไม่มั่นคงของนิติฐานะ และความไม่แน่นอนชัดเจนของกฎหมาย ปัจเจกชนไม่อาจมั่นใจได้ว่าว่ากฎหมายใดยังคงมีผลใช้บังคับอยู่หรือกฎหมายใดถูกยกเลิกไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคโลกาภิวัตน์ มีองค์กรผู้ผลิตกฎหมายหลายระดับ ตั้งแต่องค์กรโลกบาล หรือองค์กรระดับทวีป มาจนถึงองค์กรระดับท้องถิ่น ซึ่งผลิตผลขององค์กรเหล่านี้ที่ออกมาในรูปของกฎหมาย ก็อาจมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกัน

นิติรัฐพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับรัฐ โครงสร้างลำดับชั้นของกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว กฎหมายไม่ได้เกิดจากระเบียบโครงสร้างเหล่านี้ หากเกิดจากความสัมพันธ์ทางอำนาจและการต่อรองทางอำนาจมากกว่า นิติรัฐถูกทำให้เป็นหลักการอันปฏิเสธไม่ได้และดูเสมือนว่าเป็นความจริงแท้ แต่เมื่อพิจารณาลึกซึ้งแล้วเป็นการสร้างมายาคติว่าเป็นความจริงแท้เพื่อครอบงำสังคมและมุ่งรับใช้เสรีนิยม

การใช้และการตีความกฎหมายก็เช่นกัน แม้จะมีความพยายามทำให้วิธีวิทยาของการใช้และการตีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าการตีความกฎหมายกลับเป็นการกระทำของเจตจำนง (Acte de volonté) ผู้มีอำนาจตีความกฎหมายต่างหากที่เป็นผู้บอกว่าอะไรเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย หาใช่ผู้ตรากฎหมายไม่ กฎหมายที่เป็นศูนย์กลางในนิติรัฐจึงมีค่าเป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษเท่านั้น

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญทั้งหลาย แม้จะบรรจุหลักการเสรีประชาธิปไตย หลักการนิติรัฐ หลักการดุลยภาพอำนาจอย่างสวยหรูเพียงใด หากปราศจากซึ่ง “การเมือง” แล้ว ก็อาจเป็นแค่ตัวอักษรบนกระดาษ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีประสิทธิภาพหรือส่งผลเลิศได้ด้วยตัวของมันเอง ตรงกันข้ามต้องขึ้นกับการปฏิบัติของผู้เล่นทางการเมือง การใช้อำนาจของผู้เล่นทางการเมือง (ไม่ว่าจะยินยอมไปในทางเดียวกันหรือปะทะขัดแย้งกัน) นำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นการ “แปล” ความตัวอักษรในรัฐธรรมนูญให้เกิดผล ความเชื่อที่ว่าปัญหาทั้งหลายในสังคมสามารถแก้ไขได้ด้วยรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นไม่เป็นความจริง ความเชื่อเช่นนี้ส่งผลให้เดิมพันของการยกร่างรัฐธรรมนูญสูงขึ้น และการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจเป็นเพียง “สนาม” ให้นักร่างรัฐธรรมนูญอาชีพได้มีโอกาสได้แสดงบทบาท

ข้อวิจารณ์เหล่านี้ อาจดูสุดโต่ง เป็นพวก Nihilisme และไม่ให้คำตอบหรือคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด แต่อย่างน้อยการมีข้อวิจารณ์ต่ออะไรก็ตามที่ถูกสถาปนาเป็น Dogma ก็น่าจะมีข้อดีอยู่บ้างมิใช่หรือ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น