วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ดอกซากุระกับพุทธศาสนา

(โดย ดร.พิทยา พุกกะมาน อดีตเอกอัครราชทูต) 

http://www.pchannel.org/index.php?name=pitaya&file=readknowledge&id=17


        
 ดอกซากุระเป็นดอกไม้สีขาวอมชมพูที่ขึ้นบนต้นเชอร์รี่ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่าต้นซากุระ ต้นไม้ประเภทนี้ มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และจีน  แต่ในปัจจุบันหาดูได้ในหลายประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นเหมือนญี่ปุ่น  
เทศกาลชมดอกซากุระเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ถือกำเนิดในยุคนาราในญี่ปุ่น คือระหว่างปี คศ. ๗๑๐ ถึง ๗๙๔ ซึ่งก่อนยุคสุโขทัยของเราหลายปี  ในปัจจุบัน เทศกาลชมดอกซากุระถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ดีงามของญี่ปุ่น ซึ่งมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คือในต้นเดือนเมษายนของทุกปี  ในช่วงนี้ คนญี่ปุ่นจะอาศัยอากาศที่เริ่มอุ่นขึ้น และพากันออกมาชมดอกซากุระกับเพื่อน ๆ  สมาชิกในครอบครัว และคนรัก  โดยนั่งรับประทานอาหารและดื่มสาเกญี่ปุ่น รวมถึงร้องรำทำเพลงใต้ต้นซากุระอย่างสนุกสนาน

       ในมุมมองของทางปรัชญา ดอกซากุระถือเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตของมนุษย์ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนาพุทธที่สอนว่า ไม่มีอะไรในโลกที่ยั่งยืนจีรัง โดยเฉพาะชีวิตของมนุษย์ที่มีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย  ดอกซากุระจะบานพร้อม ๆ กันในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน โดยจะมีอายุเพียงไม่กี่วันก็จะร่วง  หากมีฝนและลม ดอกซากุระก็จะร่วงเร็วขึ้น          

          ฉะนั้น ชีวิตของดอกซากุระตั้งแต่การผลิบานจนถึงการร่วงโรยก็เปรียบเสมือนความไม่เที่ยงของชีวิตมนุษย์เราซึ่งเป็นหลักคำสอนของพระพุทธองค์ อีกทั้งยังเป็นปรัชญาชีวิตของนักรบซามูไรในสมัยก่อน  ชีวิตของนักรบซามูไรไม่มีความจีรังเพราะจะต้องจบชีวิตเมื่อใดก็ได้ ไม่ด้วยการทำสงครามก็ด้วยก็ผลีชีวิตด้วยตนเองตามแนวทางของบูชิโด   หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ  ดอกซากุระเป็นดอกไม้ที่ไม่จีรัง  ในยามบานก็จะมีลักษณะและสีที่สวยงามยิ่งนัก  แต่อีกไม่นานก็ต้องจบชีวิตลงอย่างกระทันหันและน่าใจหาย

          ปรัชญาของพุทธศาสนา หรือปรัชญาของดอกซากุระนี้ สอนให้คนญี่ปุ่นรู้จักอดทน รู้จักปลงต่อภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหวและซึนามิ  และยอมรับสัจจะธรรมแห่งชีวิตซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ   จะฝืนธรรมชาติไม่ได้    คนไทยควรเรียนรู้จากญี่ปุ่นในเรื่องของสัจจะธรรมแห่งชีวิต  คือ ไม่มีอะไรที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนจีรัง  ทุกอย่างที่สร้างขึ้นได้ก็ต้องดับได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง
http://www.pchannel.org
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น