วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความสะเทือนใจของกองทัพ
ท่ามกลางสถานการณ์เลือกตั้งที่คลุมเครือ


รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 308 ประจำวัน จันทร์ ที่ 2 พฤษภาคม 2011
         โดย นารายณ์ พรหมพิษณุ
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10550
         คงไม่ใช่เรื่องปรกติธรรมดาที่อารมณ์ของ “หลายบิ๊กในกองทัพ” บังเกิดความสะเทือนใจที่รุนแรง โดยอ้างอิงจากการปราศรัยของแกนนำเสื้อแดงในการชุมนุมเมื่อ 10 เมษายน 2554 เป็นความสะเทือนใจกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต้องให้นายทหารพระธรรมนูญเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับคำพูดซึ่งเห็นว่าล่อแหลมและหมิ่นเหม่ต่อข้อหาจาบจ้วงสถาบัน?

ในการเอาผิดตามข้อผูกมัดของกฎหมายต่อการหมิ่นเบื้องสูงหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งฝ่ายของแกนนำเสื้อแดงก็ชี้แจงตอบโต้ว่าเป็นการพูดที่ไม่ได้หมิ่นเบื้องสูงแต่อย่างใด แต่เป็นการปราศรัยเพื่อกล่าวเตือนมิให้มีการนำสถาบันมากล่าวอ้างเพื่อผลทำลายล้างทางการเมือง สาระทั้งหมดจะจริงเท็จหรือถูกผิดอย่างไร สำหรับฝ่ายที่จ้อง “งาบ” ก็คงต้องตีความให้ถ้อยคำปราศรัยเหล่านั้นถือเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งมาตรา 116 อย่างน้อยที่สุดยังสามารถใช้เป็นข้ออ้างอิงเพื่อยื่นถอนประกันแกนนำ นปช. ได้อย่างมีน้ำหนัก


นี่เป็นการล็อกทางข้อกฎหมายเอาไว้แน่นหนาทีเดียว แม้ศาลไม่ได้กำหนดมาตรา 112 เอาไว้ในเงื่อนไขประกันตัว แต่ถ้าเกิดจำเลยหมิ่นสถาบันตามการตีความหมายเข้าจริงๆ ก็คงหลีกไม่พ้นต่อการกระทำอีกข้อหา ซึ่งเป็นการยั่วยุและปลุกปั่นให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย...จึงมีความเป็นไปได้ที่แกนนำเสื้อแดงเหล่านี้จะมีโอกาสถูกถอนประกัน หากกระทำอย่างนั้นได้ก็จะมีโอกาสลดทอนศักยภาพบนเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ แล้วยังติดตามบังเกิดผลอีกหลายอย่างต่อการผันแปรเกมนี้?


เรื่องความผิดของแกนนำเสื้อแดงที่กล่าวไปพาดพิงในบริบทของกองทหาร ซึ่งมีบทบาทในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 แม้จะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับกรณีนี้ยังสามารถถูกแปรให้กลายเป็นอีกเงื่อนไขที่ขยายผลให้กลายเป็นอีกอาวุธในสนามการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นว่า ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตลอดจนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บางคนก็เห็นด้วยที่จะมีมาตรการป้องกันการโจมตีสถาบัน หรือแอบอ้างต่างๆต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง...บางแหล่งข่าวยังระบุไปถึงบทบาทของการทำผิดมาตรา 112 ที่จะถูกผลักดันไปถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เพื่อเอาผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย?


เมื่อมองไปเช่นนี้แล้วการหาความผิดจากแกนนำเสื้อแดงบนเวทีปราศรัยเมื่อ 10 เมษายน นอกจากอาจเกิดกรณีถอนประกัน สิ่งเหล่านี้ยังสามารถโยงเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองได้อย่างกลมกลืนในลักษณะ “Spin techniques” ทำการปั่นกระแสสูงเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณชน กลายเป็นวาทกรรมที่ผลิตย้ำอีกครั้งใหญ่ถึงความเกี่ยวเนื่องต่อกรณีข้อครหา “แดงล้มเจ้า” ซึ่งก็เป็นการไม่ยากนักที่จะถูกขยายผลนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ได้หลายประการ?


เมื่ออดีตที่ผ่านมาการกล่าวหาซื้อสิทธิขายเสียงก็มีเกิดขึ้น ทั้งรายการซื้อจริงและกรณีของการจัดฉากสร้างพยานหลักฐานเพื่อทำลายคู่แข่งขัน ดังนั้น โอกาสการใช้ประโยชน์จากมาตรา 112 ในลักษณะจัดฉากเพื่อป้ายความผิดก็ไม่มีความซับซ้อน หากจะเกิดการวางแผนเพื่อวางยาสร้างให้เกมเลือกตั้งกลายเป็นหมัน ทำพยานหลักฐานปั้นเท็จขึ้นมาประกอบ ซึ่งอาจจะง่ายมากกว่าหลักฐานเทียมในการกล่าวหาเรื่องซื้อสิทธิขายเสียงด้วยซ้ำไป...มองไปเช่นนี้แล้วกรณีความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพย่อมบังเกิดขึ้นได้ในสนามแข่งขันของการเลือกตั้ง อาจเป็นทั้งกรณีจริงหรือเท็จ ซึ่งคงจะพิสูจน์ให้จบสิ้นในเวลารวดเร็วไม่ได้ แต่เกมเลือกตั้งก็จะถูกเบี่ยงเบนไปแล้ว เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้!


ทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือถูกสร้างให้เป็นไปเช่นนั้น ดูเหมือนจะมาถูกเวลาและสอดคล้องกับสถานการณ์ของการเลือกตั้งทั้งสิ้น นายทหารใหญ่หลายคนเริ่มขยับตัวผ่านสื่อ “แสดงอาการสะเทือนใจที่แดงถูกตั้งข้อหากล่าววาทะจาบจ้วงเบื้องสูง แล้วย้ำถึงความสะเทือนใจที่ไม่ได้ไปเอาใจใครเป็นพิเศษ?”


ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ความสะเทือนใจของทหารใหญ่บางคนเป็นจังหวะเดียวกับการถอนสะอื้นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเห็นด้วยในการเอาจริงเอาจังต่อผู้กระทำผิดตามกระบวนการของกฎหมาย “หมิ่นสถาบัน” ความสะเทือนใจทั้งหมดยังสอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวของดีเอสไอ และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ขึงขังต่อกิจกรรมยื่นขอถอนประกันบรรดาแกนนำคนเสื้อแดง แล้วความสะเทือนใจเหล่านี้ยังคล้ายกับถูกขานรับจากบางเสียงใน กกต. โดยเปรยถึงมาตรการที่จะจับผิดการพูดจาปราศรัยของผู้หาเสียงเลือกตั้งในประเด็นสถาบันเบื้องสูง...ทุกอย่างลงตัวได้พอเหมาะในเวลาเช่นนี้?
ความสอดคล้องเหล่านี้ยังมองเห็นจากกรณีที่นายสุเทพกล่าวถึงประเด็นที่มีการหารือกับ กกต. เพื่อให้ออกระเบียบไม่ให้มีพรรคการเมืองไปหาเสียงโดยอ้างสถาบัน ประเด็นนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ แล้วเรื่องจริงคงไม่ใช่เฉพาะมิติปัญหาของคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น เพราะมีบางพรรคการเมืองได้จัดพิมพ์เอกสารขึ้นมา แล้วบอกว่าได้รับพระบรมราชานุญาต สำนักราชเลขาธิการก็ตอบหนังสือปฏิเสธออกมา ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยจากนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา จึงมีความเป็นไปได้ที่กรณีตัวอย่างเหล่านี้ทำให้ทาง กกต. เกิดความตระหนักเกี่ยวเนื่องกับสถาบัน?


ประเด็นของสถาบันกับโฉมหน้าการเลือกตั้งดูจะส่งสัญญาณควันไฟผิดปรกติมากยิ่งขึ้น เมื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยื่นใบลาออกจากพรรคเพื่อไทย โดยแหล่งข่าวระบุถึงเสียงเตือนที่จะเล่นหนักกับขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ท่าทีของ “บิ๊กจิ๋ว” คงไม่ใช่อะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ ชั่วโมงบินระดับนี้จึงไหวตัวเป็นธรรมดา เพราะเริ่มรับรู้ถึงสัญญาณ “ความอยากจะเล่นแรง”


ทุกบรรดาความเคลื่อนไหวจึงกลายเป็น “เรื่องเดียวกันโดยอัตโนมัติ” แม้กระทั่งบทบาทของทหารที่เริ่มทยอยตบเท้าขู่พวกหมิ่นสถาบัน สัญญาณความแรงนั้นก็ทำให้หลายคนคิดไปมากถึง “การสร้างเงื่อนไขที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้ง” มุมมองเช่นนี้คงเป็นอีกมุมที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด


แต่สำหรับความเป็นไปได้แล้วมันคงไม่มีน้ำหนักไปถึงขั้นใช้เป็นข้ออ้างเพื่อล้มกระดานหมากรุกทางการเมืองกันด้วยรถถังอย่างทันทีทันใด หากทหารจะเล่นเกมนอกบทคงมีความจำเป็นจะต้องใช้มวลชนสนับสนุนเป็นด่านหน้าเสียก่อน กระแสปลุกเร้า Vote No หรือให้เว้นวรรคประเทศไทยคงจำเป็นต้องขยายตัวกว่านี้อีกมากจึงจะแสดงบทบาทได้ ซึ่งคงจำเป็นต้องติดตามบทบาทของการเมืองข้างถนนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง?


อย่างไรก็ตาม หาก กกต. ไปซีเรียสเอาจริงเอาจังต่อประเด็นการพูดหาเสียงหมิ่นสถาบัน หรือบางฝ่ายเป็นการแอบอ้าง โดยความจริงแล้วมาตรา 112 น่าจะเพียงพอต่อการเอาความผิด แต่ถ้าไปออกระเบียบอีกอาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวกันได้ระหว่างประเด็นความผิดต่อสถาบันกับประเด็นความผิดนี้ที่จะถูกโยงและซ้อนไปใช้ประโยชน์ในอีกระดับหนึ่งสำหรับการหาเสียงเลือกตั้ง


ข้อนี้หมายถึงว่าพวกที่สมัครผู้แทนฯย่อมจะต้องปิดปากตัวเองสนิท ไม่ว่าเป็นการสื่อสารในลักษณะใดๆเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง แต่ถามว่าหากเกิดมีกลุ่มเคลื่อนไหวนอกระบบการเลือกตั้งที่รับใช้บางพรรคการเมือง ได้ไปใช้ประเด็นสถาบันหาเสียงสนับสนุนและโจมตีอีกฝ่าย เป็นไปได้สำหรับยุทธการวาทกรรมแดงล้มเจ้าที่จะถูกใช้ลุยในภาคสนามอาจถูกถือเป็นทีเด็ด เพื่อเผด็จศึกผลของการแพ้-ชนะในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แม้คนของพรรคประชาธิปัตย์จะปิดปากสนิท ก็ไม่ได้หมายถึงบรรดาตัวช่วยอื่นๆจะพูดแทนไม่ได้ ประเด็นของการอ้างหรือหมิ่นสถาบันยังเป็นวาระน่าจับตามองในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมกับอาการสะเทือนใจของทหาร?


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 308 

วันที่ 30 เมษายน – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 11 
คอลัมน์ คิดทวนเข็มนาฬิกา โดย นารายณ์  พรหมพิษณุ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น