คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเวทีวิชาการ “ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่” เมื่อวันที่ 1 กันยายน และ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการจิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของขบวนการเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ทางการเมืองในชนบท” สำนักข่าว “ประชาธรรม” ได้เรียบเรียงมานำเสนอในเว็บไซต์ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งสมาชิกมีแหล่งกำเนิดมาจากชนบท แต่ขบวนการเสื้อแดงกลับไม่ได้เกาะเกี่ยวกันด้วยความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของชนชั้นชาวนาเหมือนกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาเมื่อทศวรรษ 2510 ขณะเดียวกันขบวนการนี้ก็ต่างไปจากขบวนการสมัชชาคนจน
นักวิชาการที่เขียนเรื่องขบวนการเสื้อแดงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าขบวนการเสื้อแดงมีความสลับซับซ้อนและประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายสถานะ หลากความคิดทางการเมือง ยากที่จะกำหนดด้วยเส้นแบ่งทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งความต่างระหว่างเมืองและชนบท
อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ และอาจารย์อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เสนอเรื่องแนวคิดชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองและชนบท อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร เรียกขบวนการนี้ว่าเป็นกลุ่มที่ผสมกันระหว่างกลุ่มที่คัดค้านรัฐประหารกับมวลชนผู้สนับสนุนทักษิณ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ มองว่าขบวนการนี้เป็นแนวร่วมระหว่างชนชั้นรากหญ้าและชนชั้นนายทุนใหญ่ อาจารย์คายส์ (ชาร์ลส์ คายส์) เรียกชาวชนบทที่เข้าร่วมขบวนการนี้ว่าเป็น “กลุ่มคนชนบทผู้เห็นโลกกว้าง” (cosmopolitan villagers) อาจารย์วัฒนา สุกัณศีล เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมือง
3 คำถามขบวนเสื้อแดง
มีหลายคนพยายามตั้งคำถามและหาคำอธิบายเกี่ยวกับขบวนการนี้ งานของตนก็พยายามทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน โดยมีคำถามหลัก 3 คำถามคือ 1.ขบวนการเสื้อแดงในเชียงใหม่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนสถานะใด ก่อรูปขึ้นเป็นขบวนการเสื้อแดงได้อย่างไร และมีพัฒนาการเช่นไร (ที่เลือกศึกษาเสื้อแดงในเชียงใหม่เพราะเป็นหนึ่งในเมืองหลวงของเสื้อแดง)
2.เงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อะไรที่มีอิทธิพลต่อการก่อรูปของจิตสำนึกทางการเมืองของพวกเขาเหล่านั้นจนนำไปสู่การตัดสินใจเข้าร่วมในปฏิบัติการทางการเมือง การสวมรับความเป็นแดงของพวกเขามีนัยเช่นไร สะท้อนตัวตนความเป็นพลเมืองที่ต่างไปจากเดิมอย่างไร และมีนัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากการปะทะทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาอย่างไร
3.สื่อเสื้อแดงในระดับท้องถิ่น อาทิ วิทยุชุมชน มีบทบาทเช่นไรในการสร้างและขับเคลื่อนขบวนการเสื้อแดงในระดับท้องถิ่น ขบวนการนี้มีความแตกต่างจากขบวนการก่อนหน้านี้ถ้าเทียบกับสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาหรือสมัชชาคนจน เพราะมีการใช้สื่อค่อนข้างมาก มีสื่อเป็นของตัวเอง ด้วยความแตกต่างนี้ทำให้ขบวนการนี้แตกต่างจากขบวนการอื่นอย่างไร
ความคิดกระแสหลักเกี่ยวกับคนเสื้อแดงสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มความคิดหลัก ความคิดแรกมองว่าเป็นชนชาวรากหญ้าที่มีการศึกษาต่ำ เป็นชาวชนบทที่จงรักภักดีต่อทักษิณและถูกชนชั้นนำลากเข้าสู่การเมือง ทรรศนะนี้สะท้อนความคิดของผู้ปกครอง ชนชั้นกลาง และนักวิชาการบางท่านก็มองเช่นนี้ คือมองว่าผู้นำตีกันแล้วลากชาวบ้านเข้ามายุ่งทางการเมือง
กลุ่มความคิดที่ 2 มองจากฐานความคิดเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก คือมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางระดับล่างในชนบทที่ชีวิตทางเศรษฐกิจนั้น “ปริ่มน้ำ” นโยบายไทยรักไทยได้ช่วยให้คนเหล่านี้พ้นจากอาการปริ่มน้ำหรือความเสี่ยงได้ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา เมื่อมีการรัฐประหารได้ทำลายโอกาสทางเศรษฐกิจอันนี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันทวงสิทธิให้กับพรรคการเมืองของตนเองที่ได้เลือกขึ้นมา
ความคิดทั้ง 2 แบบไม่ผิด แต่ไม่พอ ความคิดที่ว่าผู้นำตีกันแล้วลากชาวบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตนไม่มีความเห็น เพราะเป็นวิธีอธิบายความขัดแย้งในสังคมไทยที่ดำเนินมาตลอดช่วงสมัยอยู่แล้ว คือมองว่าประชาชนไม่มีสมองหรือปัญญาเป็นของตนเองที่จะวิเคราะห์การเมือง สามารถถูกลากมาประหนึ่งว่าเป็นวัวควาย จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปโต้เถียงทางวิชาการ
ความคิดแบบที่ 2 อาจเป็นหลักคิดที่น่าสนใจกว่า คือการมองว่าการรวมตัวของกลุ่มคนรากหญ้าเหล่านี้มีแรงผลักทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเคยเถียงกับนักวิชาการหลายท่าน เพราะคิดว่าไม่พอที่จะนำมาใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ของชนบททั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ผ่านมา พูดง่ายๆคือการอธิบายแบบใช้เศรษฐกิจกำหนดนั้นไม่ช่วยให้เข้าใจว่าความคิดทางการเมืองของชาวบ้านเปลี่ยนไปอย่างไร และเพราะอะไร
มองกลับหัวกลับหาง
งานวิจัยชิ้นนี้จึงพยายามอธิบายแบบกลับหัวกลับหาง คือแทนที่จะมองการเมืองจากด้านบนลงมา ตนพยายามทำความเข้าใจในความขัดแย้งทางการเมืองจากฐานคิดของรากหญ้า ชาวบ้านที่เข้าร่วมขบวนการนี้คิดอย่างไร ขบวนการนี้ต่างไปจากขบวนการทางสังคมอื่นในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง
ข้อค้นพบเบื้องต้นพบว่าก็จริงที่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบเลือกตั้ง (Election Politic) มีผลอย่างยิ่งต่อจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนในชนบท ในทุกหมู่บ้านที่เข้าไปศึกษา ในยุคก่อนไทยรักไทยชาวบ้านไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และไม่คิดว่าการเลือกตั้งคือปริมณฑลทางการเมือง คือเป็นปริมณฑล (ทางการเมือง) ของคนกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยคิดว่าปริมณฑลของการเลือกตั้งจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในชนบท
รัฐบาลไทยรักไทย 2 สมัยได้เปลี่ยนความคิดนี้ แล้วก็ช่วยทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบเลือกตั้งนั้นมีผลโดยตรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นตัวทำให้ชาวบ้านมองว่าสิทธิทางการเมืองจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจในชนบท คือการเชื่อมโยงของ 2 อันนี้ทำให้จิตสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านในชนบทปัจจุบันไม่ต่างไปจากสำนึกทางการเมืองของปัญญาชนหรือชนชั้นกลางทั่วไป แต่ก่อนเรามองว่าชาวบ้านไม่เข้าใจการเมืองในระบอบเลือกตั้ง หรือมองการเมืองในระบอบการเลือกตั้งห่างไกลจากชนบท ซึ่งแต่ก่อนนั้นอาจใช่ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการมองแบบนี้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
เวลามองขบวนการเสื้อแดงเฉพาะในเชียงใหม่จังหวัดเดียวพบว่าไม่จริงที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นตัวลากชาวบ้านเข้ามาร่วมกัน จากงานวิจัยพบว่ามีพหุลักษณ์ของเหตุผลและผูกสัมพันธ์กลุ่มชนชั้นต่างๆที่เข้ามาร่วมกันสร้างขบวนการ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางการเมืองหรืออุดมการณ์ บางกลุ่มเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ
พัฒนาการคนเสื้อแดง
จากคำบอกเล่าของแกนนำ เหตุผลการขึ้นมาค้านรัฐประหารของเสื้อแดงเชียงใหม่ไม่ใช่เพราะทักษิณ แต่เป็นเรื่องของการประกาศกฎอัยการศึกในเชียงใหม่ ทำให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวตกต่ำ เมื่อกลุ่มแกนนำไปประท้วงกัน ทหารก็จับไปขัง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ขบวนการต่อเนื่องตามมา
มีเหตุผลมากมายของผู้คนที่เข้ามาร่วมกับขบวนการเสื้อแดง ความหลากหลายเหตุนี้จึงน่าสนใจถ้าเทียบกับการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมในยุคก่อนๆ ขบวนการชาวนาชาวไร่ประเด็นคือค่าเช่านา ขบวนการของสมัชชาคนจนประเด็นคือค้านโครงการขนาดใหญ่ เสื้อแดงอาจเป็นขบวนการแรกในประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเหตุผลมากมาย แต่สามารถเหลาให้เป็นประเด็นเดียวกันได้ในเวลาต่อมา
ขบวนการดังกล่าวมีความเป็นเอกเทศ และรวมตัวกันแบบหลวมๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำอธิบายกระแสหลักที่ว่าเป็นประเด็นที่สั่งการมาจากศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ โดยพบจากการศึกษาว่าขบวนการนี้รวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่มีใครสั่งใครได้ ถ้าเห็นพ้องกันว่าการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายสำคัญก็รวมตัวกันเป็นขบวนการแนวนอนเชื่อมโยงในรูปแบบเครือข่ายและพึ่งพาตัวเองในแง่ทุน เราพบว่ากลุ่มที่เรียกว่าเสื้อแดงในระดับอำเภอหรือท้องถิ่นพัฒนายุทธศาสตร์อย่างหลากหลาย กล่าวคือ สมัชชาคนจนอาจได้ทุนมากมาย ส่วนหนึ่งมาจากการระดมทุน ส่วนหนึ่งเอ็นจีโอสนับสนุนทุนด้วย แต่ขบวนการของชาวบ้านเสื้อแดงพึ่งพาตัวเองในแง่จัดหาทุนค่อนข้างเติบโตและเป็นตัวของตัวเอง
การเกิดขึ้นของชมรมเสื้อแดงในแต่ละอำเภอมีโทนใหญ่มาจากกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 และ นปช. เสื้อแดง ซึ่งแตกต่างจากขบวนการสังคมในอดีต เราพบว่าในขณะที่ขบวนการชาวไร่ชาวนา กลุ่มจัดตั้งหลักเป็นกลุ่มนักศึกษาหรือชนชั้นกลาง ปัญญาชนในเมือง ขบวนการสมัชชาคนจน กลุ่มที่จัดตั้งเป็นขบวนการเอ็นจีโอ ในขบวนการเสื้อแดงเราพบว่าชาวบ้านธรรมดาผันตัวเองขึ้นมาเป็นนักกิจกรรมชนบท ทำงานจัดตั้งกันเอง ทำงานสร้างเครือข่ายกันเอง ซึ่งเป็นมิติที่ไม่มีในขบวนการสังคมในอดีต
อุดมการณ์-ความเชื่อ
งานวิจัยยังพบอีกว่าสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้นมีการเปลี่ยนผ่าน ไม่ได้เริ่มจากฐานความคิด ความเชื่อเดียวกัน (ตอนแรกเขาอาจคิดง่ายๆว่าเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่) มีการเปลี่ยนผ่านสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของคนเสื้อแดงในการมองความสัมพันธ์ของตนเองกับสถาบันต่างๆ 2 ระลอก (จริงๆแล้วเปลี่ยนผ่านหลายระลอก) โดยเหตุการณ์พฤษภา 53 ถือเป็นระลอกที่สำคัญ
ความเชื่อที่ว่าคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมาเป็นแขนขาพรรคไทยรักไทยเพื่อกลับมามีอำนาจอีกครั้งก็ไม่จริงทีเดียว เพราะหลังจากพรรคไทยรักไทยถูกโค่นใหม่ๆกลับไม่มีปฏิบัติการทางการเมืองใดๆ จนกระทั่งมีรัฐประหารแล้ว กรณีของเสื้อแดงเชียงใหม่เริ่มต้นจากในเมืองก่อนชนบท มีการก่อตัวของชนชั้นกลางในเมืองที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วค่อยๆขยายลงสู่ชนบท และกลไกสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มในระดับอำเภอคือวิทยุชุมชน 92.5 MGH
นอกจากนี้พบว่าสมาชิกเสื้อแดงในระดับอำเภอมีความหลากหลายทางอาชีพมาก กลุ่มแดงดอยสะเก็ดมีประธานเป็นพ่อค้าในตลาดดอยสะเก็ด แกนนำของกลุ่มประกอบไปด้วย ครู นักธุรกิจท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ข้าราชการในอำเภอ เกษตรกร แรงงานรับจ้าง และแม่ค้า-แม่บ้าน ซึ่งแทบทุกกลุ่มจะมีสมาชิกที่สังกัดทุกสถานะทางสังคม ไม่ใช่แค่เป็นเกษตรกรหรือชาวนารับจ้างอย่างเดียว
กรณีกลุ่มรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการก็เช่นเดียวกัน แกนนำมาจากหลายหมู่เหล่า ทั้งผู้นำทางการของชุมชน อดีตสหาย กลุ่มครู นักธุรกิจท้องถิ่น โดยมีคหบดีท้องถิ่นเป็นประธานกลุ่ม ในสันกำแพง กลุ่มสันกำแพงรักประชาธิปไตย กลุ่มหลักประกอบด้วยแม่ค้าและนักธุรกิจ
ก้าวข้ามชนชั้น
การยกกลุ่มหลากอาชีพขึ้นมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าเป็นขบวนการข้ามชนชั้น ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายอาชีพและสถานะอย่างยิ่ง แต่สามารถมารวมตัวกันภายใต้อุดมการณ์เดียวกันได้ ซึ่งขบวนการแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะความเชื่อว่าคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่างกันจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันได้อย่างไร
คำถามใหญ่ซึ่งมักจะถูกถามอย่างยิ่งจากนักรัฐศาสตร์คือ เสื้อแดงนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคการเมือง พบว่าพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคไทยรักไทยมีบทบาทสำคัญในขบวนการเสื้อแดงอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าสนใจในช่วงการก่อตัวในยุคแรก พรรคการเมืองหรือ นปช.ส่วนกลางมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง หรือไม่ค่อยเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในระดับท้องถิ่นทำกันเอง พรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุน แกนนำให้สัมภาษณ์ด้วยซ้ำไปว่า “อยากให้พรรคการเมืองท้องถิ่นสนับสนุน” แต่หลายส่วนค่อนข้างกลัวเพราะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร
เมื่อมีกิจกรรมขึ้นมาแล้วพรรคการเมืองจึงเริ่มเข้ามาสัมพันธ์ด้วย แต่ความสัมพันธ์เป็นไปในเชิงเครือข่ายพันธมิตร พรรคการเมืองสนับสนุนเรื่องเงินบ้าง แต่ส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนกันเอง เป็นลักษณะของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นมวลชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย
ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการกลายเป็นแดง เสื้อแดงไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ที่จะเป็นกันง่ายๆในช่วงหลายปีของการเข้าร่วมขบวนการ หรือกลายเป็นแดงค่อนข้างหลากหลายจนสร้างอัตลักษณ์ร่วมขึ้นมาได้ ในที่สุดก็ถามว่าความเป็นแดงคืออะไร ชาวบ้านนิยามในความหมายที่คล้ายๆกันคือ “ตัวตนใหม่ของพลเมืองเสรีนิยม”
คำพูดของแกนนำ นปช.จังหวัดเชียงใหม่คนหนึ่งในระดับชาวบ้านพูดชัดว่า
“ผมว่าเรื่องที่เราต่อสู้ช่วงแรกเนี่ย ต้องถือว่าปัญหาที่เป็นหลักใหญ่ใจความก็คือว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ปวงชน ฉะนั้นหมายความว่า 3 อำนาจต้องถูกเลือกจากประชาชน...แล้วทุกคนพูดถึงระบอบ ถึงโครงสร้างตัวนั้นเนี่ย ผมบอกว่าตัวนั้นถ้าไม่ปรับตัวนะ ผมว่าพัฒนาการขับเคลื่อนทางสังคม ผมทายไว้ก่อนเลยนะครับ มิคสัญญีจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยล้านเปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่สังคมนี้ไม่ได้ประชาธิปไตย 1.โครงสร้างไม่ปรับ 2.ยาก ผมบอกเลยยากที่สังคมจะสงบนะครับ”
คำพูดของชาวบ้านสันทรายคองน้อย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ก็น่าสนใจ โดยกล่าวว่ากระบวนการกลายเป็นแดงหรืออัตลักษณ์แดงไม่ได้คล้ายกับสมบัติที่ไปซื้อมาแล้วอยู่ๆก็เป็น แต่เห็นว่าผู้ขึ้นมามีอำนาจไม่ทำตามกติกาจึงกลายมาเป็นแดง คนเสื้อแดงบางส่วนกลายเป็นแดงด้วยเหตุผลนี้
"แต่ก่อนน่ะเหรอ เมื่อก่อนเป็นสีเหลืองน่ะสิ เมื่อก่อนนี้ก็เป็นเสื้อเหลือง อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พวกนี้ ในป่า ในอะไรพวกนี้ แล้วที่นี้เรื่องที่เป็นเสื้อแดงก็หมายถึงว่าความไม่ยุติธรรม หมายความว่ากติกา คนเราจะต้องมีกติกาใช่ไหม กติกาก็หมายถึงสัญญา แล้วทีนี้รัฐบาลไม่ทำตามสัญญาเราใช่ไหม ไม่ทำตามสัญญาก็หมายความว่าละเมิดข้อสัญญาเรา ไม่มีการเลือกตั้งขึ้นมา มีการไปแต่งตั้งขึ้นมา ไม่มีการเลือก แต่งตั้งแล้วเอาอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ อันนี้คือประชาชนไม่ได้เลือกตั้งขึ้นมา หมายความว่าไม่ทำตามกติกา เหมือนกับชาวบ้านเราเหมือนกันนะ เมื่อมีการประชุมเราก็จะมีกติกา ให้ทำตามแบบนี้ แล้วทีนี้ทางรัฐบาลไม่ยอมทำตามกติกา เรา ตาก็เลยเริ่ม เออ ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมา ก็เลยเป็นเสื้อแดง เป็นเสื้อแดงแบบนี้แหละครับ”
ความเป็นแดงกับไพร่
อันนี้คือสิ่งที่พยายามแยกให้เห็นว่าแม้ว่าจะเป็นพันธมิตรของพรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นแขนขา ดังตัวอย่างคำพูดของแกนนำ นปช.อำเภอดอยสะเก็ดที่ให้สัมภาษณ์ก่อนการเลือกตั้งว่า “แต่ถ้าสมมุติว่าพรรคที่ได้รับเลือกมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลนะครับ แล้วทำไม่ดี ทำห่วยยิ่งกว่าพรรคประชาธิปัตย์ เราก็จะจัดการคนของเราเองนะครับ อันนี้ก็จองกฐินไว้ล่วงหน้าเลย กลุ่มของเราชนะแล้วไม่ใช่จะเลิก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นกระบวนการตามกติกาของระบอบการเลือกตั้งที่ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตามนโยบายที่ได้รับปากไว้ ประชาชนก็มีสิทธิที่จะกดดันเรียกร้องให้เปลี่ยนพรรคการเมือง
มีคำ 2 คำที่พูดในขบวนการเสื้อแดงมากคือ ความเป็นแดงกับความเป็นไพร่ ซึ่งเมื่อไปถามคนเสื้อแดงว่าเสื้อแดงคืออะไร ทุกคนจะตอบคล้ายกันว่าเสื้อแดงคือคนที่รักความเป็นธรรม รักประชาธิปไตย เป็นผู้ที่รักความจริง
อันสุดท้ายสำคัญมาก คือชาวบ้านมองว่าสื่อกระแสหลักและสิ่งที่รัฐพูดนั้นเป็นข้อมูลด้านเดียว เสื้อแดงเป็นผู้ที่จะมาเปิดข้อมูลอีกด้านหนึ่งให้โลกรู้ นี่เป็นที่มาว่าสื่อเสื้อแดงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะพยายามเปิดเผยความจริงด้านที่สังคมไทยปิด นี่เป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยทางการเมือง
ส่วนความเป็นไพร่สะท้อนความเป็นพลเมืองชั้นสองภายใต้ความสัมพันธ์กับรัฐไทย แต่พอผ่านการเลือกตั้งมาก็ไม่แน่ใจว่าวาทกรรมนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก่อนการเลือกตั้งวาทกรรมนี้เป็นวาทกรรมใหญ่ ซึ่งนิยามให้เห็นว่าแม้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่เป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ไม่ว่าทำอะไรรัฐไม่เคยรับรู้ และพยายามกดทับอยู่ตลอดเวลา
ความเป็นแดงและความเป็นไพร่ เป็นอัตลักษณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นใครหรือว่าอยู่ชนชั้นไหน แต่ด้วยความเป็นผู้ที่รักความจริง รักประชาธิปไตย เป็นผู้ไม่มีอำนาจทางการเมืองในสังคมไทย จึงกลายเป็นเสื้อแดง
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 327
วันที่ 10 - 16 กันยายน พ.ศ. 2554 หน้า 5 - 7
คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น