วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554


"สัก" นำสภาทนายความแถลงต้านนิติราษฎร์
ชี้นักการเมืองโกงเลวร้ายกว่ารัฐประหาร



วันที่ 27  ก.ย. เว็บไซต์สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2554 เรื่อง "คำแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์"โดยมีเนื้อหาระบุว่า


          ตามที่กลุ่มนิติราษฎร์ประกอบด้วยอาจารย์สาขากฎหมายมหาชน 7 คน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในหัวข้อ "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" และการชี้แจงเพิ่มเติมของกลุ่มดังกล่าวสรุปได้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่ามีตัวอย่างในต่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้วนั้น

          สภาทนายความเห็นว่า ประเด็นการนำเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ อาจทำให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในระบบประชาธิปไตยภาคปฏิบัติของประเทศอย่างถ่องแท้ที่แตกต่างกับนักวิชาการและโดยที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ของสภาทนายความในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายให้รู้เท่าทันกลไกการเมืองและนักวิชาการบางท่าน

 สภาทนายความจึงขอให้ความเห็นทางกฎหมายอันอาจเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปดังนี้


           1. สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารโดยชอบธรรมเนื่องจากเป็นการทำให้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสะดุดและต้องเริ่มต้นใหม่ตลอดมาถึง 17 ครั้ง สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจเงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารและอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผล ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร

          รัฐบาลผู้ใช้อำนาจบริหารก็ดี สภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้อำนาจตุลาการที่มีการดำเนินการหลังการรัฐประหาร มีส่วนที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน มีการตรากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีส่วนในการสร้างความสงบสุขให้เกิดแก่สังคม ซึ่งไม่ควรให้ตกเป็นเสียเปล่า หรือไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งรวมถึงรัฐบาล และรัฐสภาในปัจจุบันต่างก็มีที่มาจากกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารทั้งสิ้น อันไม่สมควรให้สิ้นผลตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์

         2. การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นการช่วยให้การสอบสวนในคดีที่มีความสับสนและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ที่มีกลไกสนับสนุนจากนักการเมือง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปฟ้องยังศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และวิธีพิจารณาในศาลฎีกาดังกล่าว เป็นศาลและวิธีพิจารณาที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งใช้บังคับก่อนที่จะมีการรัฐประหาร จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และมีบางคดีที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้แก่จาเลยได้เป็นอย่างดี

          3. ความผิดทางอาญาตามมาตรา112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น อยู่ในหมวดของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นตัวบทกฎหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยอันมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์อยู่ในทุกรัฐธรรมนูญเมื่อพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ทรงไม่อาจดำเนินการใดๆ โดยลำพัง การดำเนินการใดๆ ของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา จะมีบทบัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ดังนั้น มาตรา 112 ดังกล่าว จึงมุ่งที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และให้ความสำคัญเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษรุนแรง สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดังกล่าว

         4. การประกาศใช้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย มีมาหลายฉบับแล้ว ในฉบับหลังๆ มักจะมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่แก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน การนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้บังคับ ย่อมทำให้ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนย่อมต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของกลุ่มนักการเมืองและพวกพ้องย่อมต้องได้รับการคัดค้านอย่างเต็มที่

          5. อย่างไรก็ตามการที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้ชี้แจงเวลาต่อมาว่า มิได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นการทั่วไป แต่ที่ให้ลบล้างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เนื่องจากมีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร สภาทนายความเห็นว่า เป็นการเลือกใช้หลักการที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มที่ตนเองต้องการสนับสนุนเท่านั้น มิได้ยึดถือหลักการที่ต้องใช้เป็นการทั่วไป
          6. ตัวอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์นำเสนอว่าเคยมีกรณีลบล้างคาพิพากษาและการกระทำที่เสียเปล่าในนานาอารยประเทศนั้นเป็นกรณีการกระทาที่เกิดขึ้นจากอำนาจเผด็จการที่ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการรัฐประหารและทำการตรวจสอบความผิดของผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่ใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอีกทั้งในประเทศไทยก็เคยมีกรณีที่ศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

           การยกตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ความเสียเปล่าของกลุ่มนาซี กลุ่มเสียเปล่าในระบบวิซี (Vichy) ในประเทศฝรั่งเศสรวมถึงคำพิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยนาซีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในประเทศกรีกและในประเทศตุรกีนั้นสภาทนายความเห็นว่า ระบบการเมืองและระบบกฎหมายของประเทศที่กล่าวอ้างมานั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระบบการเมืองในประเทศไทยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อและไม่เคยมีการทำร้ายเข่นฆ่ากันแต่อย่างใดเพียงแต่มีนักการเมืองบางคนที่สืบทอดเจตนารมณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุจริตคิดมิชอบต่อทรัพย์สินของรัฐอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุให้มีการรัฐประหารช่วงชิงอำนาจกันตลอดมา พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยได้ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างยากลำบาก จนสามารถก่อตั้งประเทศขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เสียดินแดนเพื่อเสริมสร้างอิสรภาพเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างร่มเย็นเช่นทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่สืบทอดตลอดมา

            7. สภาทนายความขอตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ส่วนที่เป็นผลร้ายต่อนักการเมืองในอดีตเป็นอันสูญเปล่า เสียไป แต่กลับเป็นประโยชน์ต่ออดีตนักการเมืองมากกว่าการแสวงหาความยุติธรรมให้แก่สังคม การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งไม่มีนักการเมืองคนใดที่จะทำให้สังคมไทยรับรู้ว่าการโกงบ้านโกงเมืองนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการรัฐประหารที่มุ่งทำลายความเลวของนักการเมืองบางคนและกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงที่ประชาชนให้การรับรองประชาชนควรต้องติดตามตรวจสอบพฤติการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างใกล้ชิดต่อไป

นายสัก กอแสงเรือง
สภาทนายความ
27 กันยายน 2554
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น