วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554


นี่คือหน้าที่ฝ่ายค้านจริงหรือ ?
โดย แคน คนรากหญ้า
           
            ผมชมการอภิปรายนโยบาย รัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 54 ช่วงที่ ส.ส. คนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ (ผมจำชื่อเขาไม่ได้) อภิปรายพอดี เขาพูดถึง หน้าที่ ของ ฝ่ายค้าน ตามที่เขาถามอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเขาสมัยเป็นนักศึกษาเมื่อ 10 ปีมาแล้ว สรุปความเท่าที่ผมจำได้ว่า

            “ฝ่ายค้านมี หน้าที่ คัดค้านสิ่งที่รัฐบาลทำ ซึ่งตน เห็นว่าไม่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องพูดสนับสนุน แต่ทำเฉย ๆ เสีย....”

            ตีความว่า ค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลทำ แต่ตน (ฝ่ายค้าน) เห็นว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง

            ข้อความที่ ส.ส. คนนี้กล่าวจะผิดหรือถูกอย่างไร ผมไม่ทราบ และไม่คิดจะถามนักวิชาการหรือผู้รู้ทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมรู้สึกว่า มันขัดความรู้สึกของผมจริง ๆ ในฐานะคนรากหญ้าที่ไม่คิดอะไรให้ซับซ้อน

            เพราะผม รู้สึก ว่า ไม่ว่า ฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายรัฐบาล ต่างก็มีหน้าที่ทำงาน เพื่อประโยชน์ของประชาชน เหมือนกัน

            เป้าหมาย การทำงานของนักการเมืองคือ “ประโยชน์ของประชาชน” ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะ ตัวของนักการเมืองโดยตรง

            ดังนั้น “ประโยชน์ของประชาชน” จึงเป็นตัว กำกับ หรือเป็น กรอบ ที่นักการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐจะต้องถือปฏิบัติหรือยึดเป็นอุดมการณ์

            ถ้าการค้านมีความหมายดังที่ ส.ส. คนดังกล่าวพูด ก็นับว่าเป็นความ ใจแคบ อย่างยิ่งที่ไม่ต้องพูดสนับสนุน ถ้าฝ่ายรัฐบาลทำถูกต้องเพราะการพูด สนับสนุน มันมีความหมายอย่างยิ่งในการทำงานให้เป็นผลดียิ่งขึ้น มันเป็น กำลังใจ ของคนทำงานและอยากทำงานให้ดียิ่งขึ้น ส่วนฝ่ายที่กล่าวสนับสนุนก็เป็นการแสดงความใจกว้าง พลอยยินดีต่อฝ่ายที่ทำดี ซึ่งทางพระเรียกว่า “มุทิตา” นั่นเอง

            ผมเข้าใจว่า ฝ่ายค้านมีหน้าที่ คัดค้าน เมื่อฝ่ายรัฐบาลทำไม่ถูกต้อง (ตรงกับที่ ส.ส. คนนั้นพูด) แต่นั่น ยังไม่พอ จะต้องเสนอหรือแนะนำสิ่งที่ดีกว่า หรือวิธีการทำที่ดีกว่าการกระทำของฝ่ายรัฐบาล ซึ่ง ส.ส. คนนั้นไม่ได้พูดถึง อาจเป็นเพราะเกรงว่า ถ้าฝ่ายรัฐบาลทำตามข้อเสนอนั้นและประสบความสำเร็จ ฝ่ายรัฐบาลจะได้คะแนนนิยมจากประชาชน ส่วนตน (ฝ่ายค้าน) ไม่ได้อะไรเลย

            การคัดค้านโดยไม่มีข้อเสนอแนะนั้น ผมคิดว่า ไม่ใช่การคัดค้าน แต่เป็นการ โจมตี ต่างหาก เมื่อเป็นการ โจมตี ก็จะขยายการโจมตีนั้นให้กว้างขวางออกไปอีก กลายเป็นเรื่องการ กล่าวหา การ ทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็จะนำไปสู่การ แตกแยก กันอันไม่เป็นผลดีแก่ประชาชนเลย

            ซึ่งก็เป็นจริงดังที่ผมกล่าว คือ การอภิปรายของ ส.ส. คนนี้ก่อให้เกิดการประท้วง โต้เถียงกันและใช้อารมณ์ทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล วุ่นวายกันทั้งสภาจนประธาน พักการประชุมและเลิกประชุมไปในที่สุด

            นี่เพราะความเข้าใจคำว่า “ฝ่ายค้าน” ตามที่อาจารย์สอนมาแบบใจแคบดังกล่าวแล้ว

            ถ้าฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ยังเข้าใจในหน้าที่ของฝ่ายค้านเช่นที่กล่าวนี้ ก็อย่าหวังว่าการเมืองไทยจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบสร้างสรรค์เลย

            ใช่! ในอดีตเมื่อ 40-50 ปีมาแล้ว การค้านจะมุ่งไปที่การใช้ “โวหาร” หรือ วาทะดุเดือด เผ็ดมัน (พูดใส่อารมณ์) ใครพูด เก่ง พูด ดุเดือด ก็จะได้รับเสียงปรบมือจากผู้ฟัง (ประชาชน) และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.

            แต่ ณ พ.ศ. นี้ สังคมเปลี่ยนไปมากและรวดเร็ว จนคนหัวโบราณตามไม่ทัน ทุกอย่างย่อม ขึ้นอยู่กับ ความจริง เหตุผล และ ข้อมูล แม้พูดเรียบ ๆ แต่มีเหตุผล ให้คนมองเห็นได้ตามที่พูด ก็จะได้รับการยอมรับจากประชาชน

            การอภิปรายนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ ตามที่ผมสอบถามคนทั่ว ๆ ไป (ไม่ใช่นักวิชาการ) เขาจะพูดคล้าย ๆ กันว่า น่ารำคาญ มีแต่โต้เถียง ทะเลาะกัน เป็นพฤติกรรมการเมืองน้ำเน่าแบบเดิม ๆ บางคนปิด ที.วี. เลย เพราะทนดูพฤติกรรมการเมืองเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งที่จริงมันก็ไม่ถึงขั้นเลวร้ายมากมายนัก เมื่อเทียบ ส.ส. ของบางประเทศที่โต้เถียงกันรุนแรงสุด ๆ ถึงขึ้น ชกต่อย ฟาดปากกันจนเลือดสาดก็มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ

            คิดได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร ส.ส. จะโต้เถียงหรือทะเลาะกันอย่างไร ประชาชนก็น่าจะทนดูได้ เพราะดู ละครทีวี (ละครน้ำเน่า) โต้เถียงกันมากกว่านี้ ผู้ชมยังทนได้

            แต่คิดอีกทีก็น่าเห็นใจประชาชน เพราะเขาคาดหวังนักการเมืองสูงเกินไป ในทุก ๆ ด้าน สมกับที่พูดว่าเป็นผู้ทรงเกียรติ ดังนั้น นักการเมืองเอง ควรสำรวจตนเองอย่างตรงไปตรงมาบ้าง และปรับปรุงส่วนที่ขัดหูขัดตาประชาชนให้ดียิ่งขึ้น สมกับที่ประชาชนยอมรับนับถือ

            ข้อสำคัญ คนรุ่นใหม่ที่เข้าไปสู่วงการเมืองจะถูกครอบงำโดยพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักการเมือง กลายเป็นมรดกตกทอดกันชั่วลูกชั่วหลาน คนรุ่นใหม่จะถูกคนรุ่นเก่ากลืนไปโดยอัตโนมัติ อย่างนี้ประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไรครับ!
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น