วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555


ประวัติศาสตร์อันตรายความขัดแย้งและความหวัง
 
ประวัติศาสตร์อันตรายความขัดแย้งและความหวัง
         นายธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ปาฐกถา “ประวัติศาสตร์อันตรายในอุษาคเนย์” ในการประชุมวิชาการ “อาเซียน : ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้งและความหวัง” ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อให้ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่ทำให้คิดเป็นและรู้ว่าเราเป็นอิสระอย่างไร

       เคยคิดไหมว่ามีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอันหนึ่งที่เราจะอธิบายอย่างไรดี ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อวิชาหนึ่ง เวลาสอบก็สุมหัว เร่งท่องจำ เพื่อสอบให้มันผ่านๆไป เป็นวิชาที่ไม่ได้สำคัญเท่าไร แต่ครั้นพอโตขึ้นเวลามีความขัดแย้งเรื่องประวัติศาสตร์จะเป็นจะตายกันให้ได้ เวลาขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารทุกคนเป็นผู้รู้ดีกันหมดเลย ใครที่ชอบประวัติศาสตร์เป็นคนที่แปลกมาก
คนที่ตีความประวัติศาสตร์ต่างไปจากที่เคย เราจะเป็นเดือดเป็นแค้นได้ คือเป็นความรู้ที่เราไม่ต้องรู้ดีแต่สามารถอวดรู้ได้ ใครๆก็สามารถบอกตัวเองว่ารู้ประวัติศาสตร์ เป็นความรู้ที่สามารถเข้าถึง เป็นเดือดเป็นแค้น โดยไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย พอเอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ที่เราพูดถึงกันไม่ใช่เรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องความเชื่อ ความสามารถที่จะเข้าใจลักษณะทางจิตวิญญาณได้อย่างกว้างๆ ปรกติไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อไรที่มีคนแย้งหรือท้าทายขึ้นมาเราจะรู้สึกถูกลบหลู่ เป็นเดือดเป็นแค้น


            ความรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบเป็นอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา บ่อยครั้งเราเรียกอันนี้ว่าเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่เอาเข้าจริง 2 อย่างนี้เป็นประวัติศาสตร์คนละชนิด ไม่รู้ว่า 2 อย่างนี้แตกต่างกันขนาดไหน แต่เราเรียก 2 อย่างนี้ว่าประวัติศาสตร์เหมือนกัน โดยด้านหนึ่งประวัติศาสตร์คืออัตลักษณ์ของเรา อีกด้านหนึ่งคือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ บ่อยครั้ง 2 อย่างนี้ปะปนกัน


            อย่างหนึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ชีวิต วัฒนธรรม ขาดไม่ได้ ซึ่งเราเน้นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง เห็นด้านที่เป็นคุณมาก แต่เราลืมพูดถึงด้านที่เป็นอันตรายของประวัติศาสตร์ชนิดนี้ คือเมื่อไรที่ถูกกระทบ ถูกท้าทาย เราจะรู้สึกเดือดร้อน เคียดแค้น เพราะเราขาดมันไม่ได้


             อีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือทางปัญญาในการคิดและวิเคราะห์ อยากจะเรียนว่ายิ่งยึดเอาประวัติศาสตร์ในการคิดวิเคราะห์มากขึ้นเท่าไรจะทำให้กลายเป็นคนเชื่ออะไรยากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่า 2 อย่างนี้ต่างกัน อย่างหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการณ์ทางสังคมการเมือง อีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ


              ประวัติศาสตร์ที่เป็นความเชื่อส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเราโดยไม่ใช่ด้วยรายละเอียด แต่ด้วยโครงเรื่อง เช่น แม้เราไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยมากนัก แต่เรารู้ว่าเวลาสังคมไทยเกิดปัญหามักมีวีรบุรุษ วีรสตรีมากอบกู้ และสามารถทำให้เราเดินหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น แต่จริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างนั้น


ประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้อยู่ด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่อยู่ด้วยโครงเรื่อง อยู่ด้วยสาระเรื่องเล่าที่เล่าซ้ำๆกัน เช่น เรารู้ว่ามีชาวบ้านบางระจันเมื่อไร ที่ไหน เราไม่รู้ แต่เรารู้ว่าประวัติศาสตร์สอดคล้องกับโครงเรื่องหลักๆ


               เหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นอะไรไม่รู้ แต่เราเรียก 16 ตุลาก็ได้ เพราะสุดท้ายโครงเรื่อง match กัน รายละเอียดคือการตอกย้ำโครงเรื่องซึ่งเหมือนๆกันให้เป็นอย่างที่เรารู้ เชื่ออย่างที่มันเป็น ตอกย้ำที่เป็นมาตรฐานความเชื่อจำนวนหนึ่ง ในแง่นี้สำหรับประวัติศาสตร์อย่างนี้เราจึงไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด ไม่จำเป็นต้องรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องรู้ใจความสำคัญก็ได้ ขอให้จับสาระที่เป็นจิตวิญญาณของสังคมหรือชาตินั้นๆได้ ขอให้เรามั่นใจได้ว่ารายละเอียดนั้นตอกย้ำโครงเรื่องซ้ำๆซากๆที่เป็นสปิริตของสังคมนั้นก็พอ


              ส่วนประวัติศาสตร์ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือไม่เชื่ออะไรเลย เคยตั้งข้อสังเกตว่าคนสอนประวัติศาสตร์ไทยในที่หนึ่งๆจะมีนักประวัติศาสตร์ที่สังกัดชนิดแรกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินนั้นไม่ว่าจะแนวอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมล้วนแต่เป็น skeptic กันทั้งนั้น ทำให้คิดว่าทั้ง 2 อย่างสมาทานประวัติศาสตร์ในแง่ที่เป็นความรู้คนละชนิดกัน


            ขออ้างถึงงานของนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่เขียนบทความคลาสสิก What is the Nation? เมื่อปี 1882 กล่าวว่า “มีของ 2 สิ่ง ซึ่งประกอบเข้าเป็นหลักการหรือเป็นจิตวิญญาณของชาติหนึ่งๆ อันหนึ่งคือการที่เป็นเจ้าของมรดกอันร่ำรวยกับสังคมนั้น อันที่ 2 คือความเห็นร่วมกันในปัจจุบัน” โดยมีการขยายความว่า “การลืมนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับการก่อร่างสร้างชาติขึ้นมา การหลงลืมเป็นความจำเป็นเพราะว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ยิ่งคืบหน้าไปมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อหลัก soul และ spirit ของชนชาตินั้น”


ความเชื่อ-อัตลักษณ์


           ประวัติศาสตร์ความเชื่อ-อัตลักษณ์ โดยปรกติเป็นชีวประวัติของสังคมหรือชาติหนึ่ง มักจะมีสาระสำคัญอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้นคือ อย่างที่หนึ่ง บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่และถูกเสมอ อย่างที่สอง บอกเล่าเรื่องราวการถูกรังแก ความเจ็บปวด และการเอาตัวรอดมาได้ และอย่างที่สาม ปกปิดเรื่องราวเลวๆ อัปยศ คือตัวเองเคยทำกับคนอื่นเอาไว้ แทบทุกประเทศในอาเซียนมีเรื่องราวทำนองนี้ และแตกต่างกันในรายละเอียด


           อย่างแรกเป็นประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวขยายอำนาจเมื่อไร เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่เมื่อไร จริงๆการขยายอำนาจหมายถึงการทำให้คนอื่นเจ็บปวด เช่น การตีเอาปัตตานีมาเป็นของตัวเอง เป็นความยิ่งใหญ่ที่เราเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เราลืมไปว่ามันเป็นความเจ็บปวดของคนอื่น


         ส่วนเรื่องราวที่ถูกรังแก ถูกกระทำย่ำยี อับอายจากผู้อื่น เช่น ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ หรือเป็นมายาคติหรือไม่ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา คือต้องให้รู้ว่าเราถูกรังแกในสมัยก่อน ส่วนประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องอัปยศ เช่น เรื่อง 6 ตุลา ไม่สามารถพูดได้ เพราะถ้าพูดขึ้นมาก็เป็นเรื่องขายขี้หน้ากันทุกฝ่ายอย่างมโหฬาร


ประเทศในกลุ่มอาเซียนเรามีประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ชนิด อย่างลาว เขมร ก็บอกว่าเขาเสียดินแดน ทุกคนบอกว่าตัวเองเสียดินแดน ตามหลักฟิสิกส์คืออะไรที่หายไปก็ต้องไปอยู่อีกที่ แต่กลายเป็นว่าดินแดนเป็นสิ่งหนึ่งที่เสียไปแล้วหายไปเลย ทุกคนบอกตัวเองเสียหมด และเน้นการถูกรังแก เช่น การตกเป็นอาณานิคม


ประเทศในอาเซียนมีประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่องยิ่งใหญ่และเจ็บปวดไม่ต่างกัน หากเราเอาประวัติศาสตร์ของทุกประเทศมาเรียงกันจะพบว่าประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นปะทะกัน ขัดแย้งกัน ฉะนั้นทางที่คือต่างคนต่างอยู่ ในขณะที่อาเซียนเน้นอะไรร่วมกัน แม้จะบอกว่าเราสามารถเรียนรู้จากกันได้ เรามีด้านที่น่ารัก แต่คิดว่ามีบางส่วนที่สำคัญ อาจจะพอๆกับอธิปไตยเหนือดินแดน เรื่องอธิปไตยของประวัติศาสตร์ก็คือต่างคนต่างอยู่


         หากเอาประวัติศาสตร์มาแชร์กัน มาทำให้ลงรอยกัน มีหวังได้ทะเลาะกัน เราไม่สามารถสูญเสียอธิปไตยทางประวัติศาสตร์ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยกับพม่าก็ทะเลาะเรื่องนี้ เช่นเดียวกันเรื่องประวัติศาสตร์ไม่มีใครถอยให้แก่ใครแม้แต่ก้าวเดียว


อันตรายเพราะอยู่บนความเชื่อ


          ในประเทศต่างๆมีประวัติศาสตร์ที่ตัวเองต้องปกปิดความอัปยศของตัวเองเอาไว้ เพราะถ้ารื้อขึ้นมาจะเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดและยังเน่าเฟะอยู่ เช่น อินโดนีเซียในปี 1965 มาเลเซียปี 1969 ในเวียดนามมีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยทางด้านศาสนาชาติพันธุ์ ส่วนไทยมีเดือนตุลาทั้งหลาย และกำลังจะเพิ่มพฤษภาอีก 2 รายการ


          ประวัติศาสตร์แบบนี้อันตราย เพราะอยู่บนความเชื่อ อยู่บนความแข็งแกร่งยาวนานที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ แต่จะถูกท้าทายจากประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา เรามักคิดว่าประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์แบบนั้นเป็นอันตราย อย่างที่เรนัลด์บอก ยิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ก้าวหน้ามากเท่าไร การศึกษาแบบวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งเป็นอันตรายต่อความเชื่อที่เป็นจิตวิญญาณของชาติ


          เมื่อเราคิดกลับกันจะเห็นว่าประวัติศาสตร์แบบแรกต่างหากที่เป็นอันตรายยิ่งกว่า เพราะจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อต้องให้คนในชาตินั้นๆมีความเชื่อทำนองหนึ่งไปเรื่อยๆ เมื่อถูกสั่นคลอนด้วยเหตุด้วยผล หลักฐาน ประวัติศาสตร์แบบแรกจะเกิดความสั่นคลอนในอัตลักษณ์ของตัวเองทันที


            ประวัติศาสตร์ก็เหมือนความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสังคมที่ความเชื่อที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะไม่มีความรู้ว่าความเชื่ออันไหนที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างถาวร
ประเทศในอาเซียนมีประวัติศาสตร์แบบที่เป็นความเชื่อ ประกอบกับเป็นอัตลักษณ์ค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย อันนี้ต่างหากถือว่าเป็นอันตราย วันนี้ ดร.สุรินทร์ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน) บอกว่าเราสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ แต่ผมอยากให้เห็นถึงข้อจำกัดเชิงประวัติศาสตร์ พอพูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์เราหยุด ปิดประตู และตั้งด่านทันที ทำให้เราต้องเก็บประวัติศาสตร์ไว้หลังๆ ในบรรดาอาชีพที่อนุญาตให้ข้ามไปข้ามมาได้ คือไม่ใช่แค่ภาษาดอกไม้ ภาษาหรูๆเท่านั้นที่เราพูดว่าเรียนรู้ร่วมกันได้ แต่อยากให้ตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ และเราต้องข้ามพ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นประชาคมอาเซียนก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้


            แต่ไม่ใช่ว่าให้ทุกประเทศมีประวัติศาสตร์เหมือนกัน หรือต้องลืมประวัติศาสตร์ตัวเอง ผมคิดว่าเราต้องจัดการปัญหาประวัติศาสตร์แห่งชาติ เราอาจจะกล่าวว่ายุโรปก็มีปัญหาเหล่านี้เขายังอยู่กันได้ แต่จริงๆยุโรปก้าวข้ามวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่ถือเอาประวัติศาสตร์เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างยึดมั่นไปสู่ประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือสร้างความรู้ความเข้าใจปัจจุบันอย่างวิพากษ์วิจารณ์


วัฒนธรรมและอดีต


         คิดว่าทุกวันนี้ประวัติศาสตร์มี 2 ชนิด มีการเรียนรู้คนละอย่างคือ culture of history คือวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หมายความว่าเราจะมีชีวิตร่วมกับหรืออยู่กับอดีตอย่างไร ใช้อดีตอย่างไร มีระยะห่างอย่างไร มี critical distance หรือ detachment เราจะถืออดีตเป็น “ประเทศอื่น” ประเทศหนึ่งได้แค่ไหน การมีชีวิตอยู่ประจำวัน ประวัติศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งอย่างไรในชีวิตของเราปัจจุบัน


          การที่ชาติต่างๆถือเอาประวัติศาสตร์เป็นปริมณฑลที่ละเมิดไม่ได้ ที่อาจารย์สุรินทร์กล่าวถึงกรณีไทยกับกัมพูชาขัดแย้งกัน หากเราไม่ย้อนกลับไปยุคก่อนอาณานิคมต้องถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราจะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วที่เป็นมรดกส่วนหนึ่งของปัจจุบันด้วย เรามีมรดกของพ่อแม่ แต่เรายังสามารถมีท่าทีต่อมรดกเหล่านั้นได้ ไม่ได้บอกว่าต้องเดินตามรอยของพ่อแม่ทั้งหมด สิ่งที่เสนอต่อไปนี้อาจดูเป็นอุดมคติและ living aspiration คือเป็นความปรารถนาที่มีชีวิต


          1.เรายอมรับได้ไหมว่าความรู้ประวัติศาสตร์ไม่มีวันจบสิ้น คำถามใหม่ๆทางประวัติศาสตร์มีตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท้าทายได้ เปลี่ยนได้ ไม่มีปริมณฑลที่ห้ามละเมิด ในโลกที่มีวุฒิภาวะทางวัฒนธรรม ทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัว ไม่ว่าจะในระดับรายละเอียดหรือโครงเรื่อง หรือในระดับจิตวิญญาณของชาตินั้นๆ สามารถถูกท้าทายได้ตลอดเวลา เราจะยอมรับประวัติศาสตร์แบบนั้นได้หรือไม่ หากรับไม่ได้ประวัติศาสตร์จะยังอันตรายอยู่ แต่ถ้ายอมรับได้ก็เป็นการถอดชนวน เอาประวัติศาสตร์ไว้ศึกษา แต่ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่จำเป็นต้องถือว่าตัวเองถูกเสมอ มี detachment คือระยะห่างที่เป็นตัวของเราในปัจจุบัน


         2.ต้องใช้ชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของ Prasenjit Duara คือ Rescuing History from the Nation “เราจะกอบกู้ประวัติศาสตร์จากชาติได้หรือยัง” ให้ประวัติศาสตร์คือเรื่องอดีต ไม่ได้ผูกพันกับชาติ ชาติไม่ได้เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอดีตเป็นอะไรก็สามารถเถียงกันได้ วิจารณ์ได้ วัฒนธรรมข้อ 2 ที่ผมคิดว่าควรส่งเสริมคือ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์ มีระยะห่างและเป็นอิสระจากชาติ แน่นอนว่ามีผลต่อความเป็นชาติ ตามที่เคยเรียนรู้มาในฐานะความรู้ชุดหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องเดินตามมันอย่างที่เคยเป็นมา เราสามารถใช้วิจารณญาณเข้าไปตัดสินได้


           3.ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่ทำให้เราคิดเป็น ปรับตัวได้ เรารู้ว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีต อย่างไรก็ตาม เราเป็นอิสระ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีมรดก แต่ในความหมายที่ว่าเรามีระยะห่างไม่จำเป็นต้องเป็นตายร้ายดีไปกับประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสตร์มีไว้คิด ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ ไม่ได้มีไว้ให้เกิดความภูมิใจ ฉะนั้นต้องส่งเสริมให้ประวัติศาสตร์ที่คนรู้จักคิด และใช้ในการคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง


          4.ต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกอย่างแบกันบนโต๊ะให้หมด รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ท้าทาย ประวัติศาสตร์ที่แย้ง เพราะการถูกท้าทายในโลกที่มีคนหลากหลาย เหตุการณ์หนึ่งมีคนสูญเสีย มีคนได้ มีคนเสียใจก็มีคนดีใจ เช่น เราจะไปกักเก็บประวัติศาสตร์เรื่องเดือนตุลาคม พฤษภาคม หรือเรื่องปัตตานีไว้ทำไม ต้องอนุญาตให้เขาแบออกมา ถ้าเราเก็บกดเอาไว้จะยิ่งทำให้ลึกลับซับซ้อน ทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นมีพลังจนเกินเหตุ ต้องแบออกมาและถกเถียงกันโดยต้องมีระยะห่าง และทำให้อยู่ในที่เปิดเผย


         เราจะไม่มีวันเห็นอะไรลอย  ๆร่วมกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมนุษย์เป็นอย่างนั้น ถ้าเราทำให้ประวัติศาสตร์แบออกมาได้ซึ่งมาจากหลายทิศทางและผลประโยชน์ฟังไว้ จะให้เราไปรบ ไปโกรธ ไปแค้นกับเขา ไม่


ไม่โกรธแค้น-ดีใจ


        เชื่อว่าในอนาคตสังคมจะเดินไปสู่สังคมที่รู้จักคิด มีวุฒิภาวะ และเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในภาวะเช่นนี้อัตลักษณ์จะหลากหลายปนเปจนนับไม่ถ้วน และจะไม่ต้องการ single narrative อีกต่อไป อัตลักษณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีหลายเรื่องราวประกอบกัน


สังคมที่มีวุฒิภาวะจะต้องให้ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวหลากหลายเหล่านั้นอยู่ด้วยกัน ใครจะภูมิใจ ดีใจ หรือเสียใจกับประวัติศาสตร์นั้นก็ให้เขายึดถืออย่างนั้นได้ ไม่ใช่ว่าพูดกันแต่ภาษาดอกไม้ ลดการทำสงครามระหว่างประเทศให้หมด และประเทศอาเซียนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีไมตรีจิต ไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่แบกันให้หมด จะรบกี่ครั้ง จะอัปยศแบบไหน กับพ่อแม่ใคร เมื่อปีไหน ก็แบออกมา ใครยังมีอายุความอยู่ก็จัดการตามกฎหมาย ใครที่หมดอายุความแล้วให้เป็นประวัติศาสตร์ไป เราก็มีระยะห่างกับมัน แม้กระทั่งลูกของผมก็ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องตุลาแบบเดียวกับผม ไม่จำเป็น ยิ่งคนที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือดยิ่งไม่จำเป็นใหญ่
เราจะอยู่ร่วมกันได้ในแง่เป็นประชาคม ต้องการประชากรที่ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีประวัติศาสตร์ต่าง ๆ นานา ต้องเคารพเขาไม่ใช่ด้วยการละเลยในด้านอัปลักษณ์ ต้องเคารพเขาในด้านอัปลักษณ์ของเราและของเขาด้วย นั่นคือประวัติศาสตร์ที่ยอมรับความจริง
ในเงื่อนไขอย่างนี้เราจึงต้องการสังคมที่สามารถจะเปิดให้มีเสรีภาพ แบกันออกมาได้ ยิ่งแบออกมามีความหลากหลาย เรื่องเล่าหลากหลายในอดีตจะยิ่งลดความน่าอันตรายลงไป อันนี้จะตรงกันข้ามกับที่สังคมคิด ยิ่งมีความท้าทายจะยิ่งอันตราย ผมกลับคิดว่าเปิดออกมาโดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สปิริตตรงนี้ยิ่งจะลดอันตรายลงไป


         ขอย้ำว่าไม่ใช่แค่พูดภาษาดอกไม้ แต่ตรงข้ามต้องปล่อยให้ประวัติศาสตร์เลวร้าย อัปยศแค่ไหนโผล่ออกมา โดยเราไม่เอาตัวเองเข้าไปโกรธแค้นหรือดีใจกับประวัติศาสตร์เหล่านั้น เรายินดีฟังอย่างมีวิจารณญาณ นี่ต่างหากที่หวังว่าจะสร้างประชากรให้มีคุณภาพ ประชาคมอาเซียนอยากจะมีความฝันอย่างไรก็แล้วแต่ ผมขอให้มีวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ชนิดใหม่


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 354 

วันที่  7 - 13 เมษายน พ.ศ. 2555 หน้า 4  
คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ประชาไท prachathai3.info



http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น