วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555


"OTOP" กับ "รถไฟฟ้าความเร็วสูง" พร้อมวิ่งไปด้วยกัน
"OTOP" กับ "รถไฟฟ้าความเร็วสูง" พร้อมวิ่งไปด้วยกัน
นายกฯยิ่งลักษณ์เดินทางจากโตเกียว มายังเกาะกิวชู ในเมืองฟูกูโอกะ
เพื่อเยี่ยมชม
การจัดการสินค้าโอท๊อป (21 เมษายน 2555)
“หากประเทศไทยจะทำรถไฟฟ้าความเร็วสูง ควรต้องดำเนินการเชื่อมโยงทั้งระบบการขนส่งและการสร้างรายได้”

ประโยคทองแสดงวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ขณะเยี่ยมศูนย์ควบคุมการจราจรคิวชู ของบริษัท รถไฟฟ้าเดอาร์คิวชู ผู้ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า ชินกันเซน ของญี่ปุ่น และการแวะเยี่ยมเมืองคุมาโมโต เพื่อศึกษาโครงการโอท็อป สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของญี่ปุ่น

ต้องกล่าวว่าโครงการโอท็อปของไทยนั้น ถือกำเนิดขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยท่านได้ไปเยือนเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ชื่อเมือง โออิตะ ซึ่งเมื่อห้าสิบปีก่อน ชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวรวมตัวกันเริ่มโครงการสงเสริมเพาะปลูกบ๊วยและเกาลัดในรูปแบบเกษตรกรรมผสมผสาน จนสามารถขยายและแปรรูปผลิตภัณฑ์ไปเป็นขนมปัง ไส้กรอก สมุนไพรแปรรูป มากกว่า 100 ชนิดจนได้ชื่อว่า หนึ่งหมู่บ้าน ร้อยผลิตภัณฑ์ และได้เกิดการเรียนรู้ขยับขยายผลิตภัณฑ์ออกไปจากชุมชนหนึ่ง ไปขายอีกชุมชนหนึ่ง

ปี 2544 อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้เริ่มโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” โดยมีประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2544 กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ โดยกำหนดยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการดำเนินการ กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การคัดเลือกและขึ้นบัญชีผู้ผลิตดีเด่นตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลจนระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ จนคนไทยทั้งประเทศได้รู้จักคำว่า OTOPแต่โครงการดังกล่าวมาสะดุดหยุดลง หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 โครงการได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปและคณะกรรมการถูกยุบทิ้ง

วันนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปเยือนหมู่บ้านโอท็อปของญี่ปุ่น ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของโครงการโอท็อป และต้องการผลักดันให้โครงการดังกล่าวกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่การมองในครั้งนี้จะมองแบบบูรณการรอบด้านมากขึ้น

ปัญหาของโอท็อปประเทศไทยนั้น เป็นโอท็อปที่ขาดองค์ความรู้ที่จำเป็น ขาดแนวคิดด้านการตลาดมาประกอบ และต้นทุนการขนส่งที่สูง

การสร้างผลิตภัณฑ์ของชาวชุมชน มักยึดตามรูปแบบเดิมที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่ขาดการวิจัยว่า “ผลิตภัณฑ์แบบใดที่ตลาดลูกค้าต้องการ” และ “สร้างหีบห่อบรรจุอย่างไรที่น่าสนใจ”

ทีมงานได้เคยพูดคุยกับผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่ง ที่ได้ยินเรื่องผลิตภัณฑ์โอท็อป “กระดาษสา” ของไทย นักธุรกิจท่านนี้เล่าให้ฟังว่า “ญี่ปุ่น” มีวัฒนธรรมการใช้ “กระดาษ” อย่างมากมาย หลากหลายรูปแบบ เมื่อทราบว่าเมืองไทยมีกระดาษทำมือชนิดหนึ่งเรียกว่า “กระดาษสา” ที่มีลวดลายเฉพาะตัว แต่ละแผ่นมีความหนา-บาง สีสันไม่เหมือนกันเนื่องจากผลิตด้วยแรงงานฝีมือชาวนาชาวไร่ จึงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว ให้นักธุรกิจคนนี้จึงมาเมืองไทย เพื่อดูกระดาษสาที่จังหวัดเชียงใหม่ และสนใจจนกระทั่งตั้งโรงงานขนาดเล็กในเขตปริมณฑลของกรุงเทพ รับกระดาษสาจากเชียงใหม่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์หลากรูปแบบ และส่งกลับไปขายยังประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้

นี่คือตัวอย่างความต้องการด้าน “การตลาด” และ “การต่อยอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์” ที่ผู้ผลิตโอท็อปต้องเรียนรู้

ประเด็นการขนส่ง เป็นอีกปัญหาหนึ่งของเราเพราะประเทศไทยต้องขนส่งผลิตภัณฑ์โอท็อปด้วยระบบการขนส่งทางบก ซึ่งมีต้นทุนสูงถึงเกือบ 20% ของต้นทุนทั้งหมด (โดยเฉลี่ยระดับประชาชาติ) มุมมองของนายกรัฐมนตรี คือหากจะแข่งขันได้ ผลิตภัณฑ์ต้องดีระดับโลก และระบบขนส่งต้องถูกที่สุด ดังนั้นการสร้างเครือข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูง ผนวกรวมกับขนส่งสาธารณะที่มีทั้งหมด เพื่อให้การขนส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในอนาคต ลดต้นทุนลงมาให้ได้มากที่สุด

จึงเป็นวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไทยที่ ที่มุ่งเน้นสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อตอบโจทย์การขนมวลชน ขนส่งสินค้า แก้ปัญหาโลจิสติคพื้นฐาน และฟื้นฟูชีวิตชาวชนบท โอท็อป ให้กลับมารุ่งเรืองไปพร้อมๆกัน อีกครั้ง


ภาพประกอบ: สินค้า OTOP ของประเทศญี่ปุ่น

 
      
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น