วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

2475- ปัจจุบันประชาธิปไตยจริงหรือ


2475- ปัจจุบันประชาธิปไตยจริงหรือ




                                   2475- ปัจจุบันประชาธิปไตยจริงหรือ
     
เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยในสังคมการเมืองไทย เราอาจกล่าวได้ว่ายุคที่เริ่มมาสู่การเป็นระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นในเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่24 มิถุนายน2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งเราพูดถึงกันหนักหนาว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยประชาชน  แต่แล้วหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า คณะราษฏร (ที่เป็นราษฏรจริง ๆ ) ก็ค่อย ๆ ถูกเขี่ยออกไปอยู่นอกแวดวงการปกครองของประเทศนี่ แล้วการบ้านการเมืองก็เดินนาไปสู่ยุคที่มีการพัฒนาการทางด้านประชาธิปไตยอีกรูปแบบหนึ่ง ตามที่คนที่ยึดกุมอำนาจ สร้างวิมานในอากาศสำหรับคำว่าประชาธิปไตย อันมีสร้อยห้อยท้าย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่เราเรียกการปกครองของไทยว่าเป็น   รูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี.............

      แต่หากเรามองสังคมการเมืองไทยยุค2475-ปัจจุบันเปรียบเทียบกับหลักการหรือวิถีการแห่งประชาธิปไตยในสังคมโลกที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่าง อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่เรารับแนวคิดมานั้นเราจะพบอะไรบางอย่าง

      เมื่อกล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 โดยเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีสภา และต่อมาก็มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้นเป็นผลผลักดันความคิดที่ต้องการมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของรัฐที่สำคัญกับบรรดากลุ่มขุนนางและเป็นผลิตผลของการปฏิรูปการปกครองเมื่อพ.ศ.2475 และปัจจัยการผลักดันการเคลื่อนไหวการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิต นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเหตุการณ์ตุลาคม 2516นั้น ก็คือ การป้องกันมิให้เกิดการสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยนำเอารัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือต่อต้านการก่อรูปอย่างเป็นสถาบันของอำนาจเผด็จการโดยคณะทหารและการต่อต้านรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม 2528ก็ได้รับการผลักดันจากการต่อสู้กับการฝักตัวของอำนาจเผด็จการทหารภายใต้เปลือกของคณะ รสช .

      ซึ่งหากเรามองดูลักษณะการเมืองการปกครองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475เป็นต้นมาถึงสมัยจอมพลสฤษ ธนะรัชต์ เราจะเห็นได้ว่าระบอบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยที่ข้าราชการเป็นใหญ่

      เพราะในช่วงดังกล่าว ระบบการเมืองมีเพียงระบบราชการเท่านั้นที่มีอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง การตัดสินใจต่างๆของรัฐบาลล้วนมาจากการริเริ่มของระบบราชการ และอาศัยความเห็นชอบของระบบราชการเป็นส่วนในการตัดสินนโยบายต่างๆของรัฐ เพราะในช่วงนี้กลุ่มนอกระบบราชการอาทิ นักธุรกิจ กรรมกร ชาวนามีน้อยและไม่เข้มแข็ง นอกจากนี้ระบบการเมืองที่อิงอยู่บนฐานของระบบราชการได้แพร่อิทธิพลเข้าสู่ภาคธุรกิจในรูปของรัฐวิสาหกิจและร่วมมือกับนักธุรกิจในการดำเนินงานธุรกิจเอกชน และผู้นำในช่วงดังกล่าวล้วนมาจากระบบราชการโดยเฉพาะทหาร เช่น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพลป.พิบูลสงคราม พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พลเอกถนอม กิตติขจร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแม้จะมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลือกตั้ง แต่ประชาชนหาได้มีบทบาทที่มีความหมายอย่างแท้จริง 

ดังนั้นรัฐไทยในช่วงดังกล่าวจึงเป็นรัฐอำมาตยาธิปไตยของระบบราชการโดยเฉพาะทหารและหลังจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็เกิดการกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลางและการขยายตัวของชนชั้นกลางในสังคมไทย สาเหตุของการเกิดชนชั้นกลางนั้นเป็นผลจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคเอกชนขยายตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะสถาบันการเงินธนาคารและอุตสาหกรรม จนพ.ศ.2525-2526 ภาคเอกชนได้ขยายตัวและเปิดตำแหน่งหน้าที่การงานมากมาย โดยเฉพาะบริษัทใหญ่เช่นการให้สวัสดิการและความมั่นคงแก่พนักงานและด้วยสภาพการที่สังคมขยายตัวและมีความสลับซ้อนมากขึ้นรัฐบาลจึงต้องขยายตัวเพื่อดูแลให้บริการแก่ประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคคลมีโอกาสทำงานในภาครัฐเพิ่มขึ้น ผนวกกับกระแสการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของวิถีชีวิตของชนชั้นกลางในสังคมอื่น เช่น อเมริกันและญี่ปุ่น ทำให้เกิดการรับรู้และเลียนแบบวิถีชีวิตของชนชั้นกลางโดยไม่รู้ตัวหรืออาจจะรู้ตัวก็ได้ และยิ่งขณะนั้นการศึกษาเป็นความต้องการของบุคคล เพื่อการก้าวหน้าในชีวิตและการงาน ฐานะทางสังคม ด้วยเหตุนี้ชนชั้นกลางในขณะนั้น เช่น พ่อค้า นักธุรกิจ นายทุน ข้าราชการฯลฯ การเติบโตของชนชั้นกลางที่ขยายตัวพร้อมกับภาคเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีกลุ่มนักธุรกิจเริ่มเข้าไปหาประโยชน์ในภาคการเมือง เช่น เชิญชวนข้าราชการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจเพื่ออาศัยความคุ้มครองจากระบบราชการ จนกระทั่งได้ขยายฐานอำนาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการเมือง การเข้าไปมีตำแหน่งนั้นในการทำธุรกิจและหาเงินจากการอนุมัติโครงการ จึงเป็นลักษณะของธุรกิจการเมือง การใช้อำนาจเงินในการเข้าสู่ตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองเช่นนี้ทำให้เกิดสถานการณ์เป็นวาทกรรมที่เรียกว่า ธนาธิปไตย 

ยุคของการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มอณาธิปไตย(ระบบราชการ) กับกลุ่มธนาธิปไตย (ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ นายทุน) ซึ่งอยู่ในฐานะกลุ่มผู้ปกครองถือครองอำนาจของรัฐและได้รับผลประโยชน์จากอำนาจดังกล่าว ก็ได้แข่งขันช่วงชิงกัน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรูปแบบประชาธิปไตยของตน โดยใช้ผู้ใต้ปกครองนั่นคือประชาชน เป็นฐานความชอบธรรมให้กับประชาธิปไตย(ในทางรูปแบบ) ให้กับกลุ่มผู้ปกครอง ผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

      ดังนั้นแล้วเราจะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยในระบบการเมืองไทยไม่ได้เกิดขึ้นจากการต่อสู้ร่วมกันระหว่างผู้นำทางการเมืองประชาชน แต่เป็นเรื่องของผลิตผลการต่อสู้แย่งชิงอำนาจของกลุ่มผู้ปกครอง นั้นคือ กลุ่มข้าราชการประจำที่มีทหารเป็นแกนหลัก และกลุ่มพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งในรูปแบบ อบจ. อบต. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆแต่ก็เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้นหาได้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริงไม่ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นเพียงในบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หากแต่ในความเป็นจริงประชาชนไม่ได้มีสิทธิ เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเลย เห็นได้จาก กรณีการปราบปรามยาเสพติดโดยการฆ่าตัดตอน ที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จนทำให้ประเทศถูกวิจารณ์จากต่างประเทศว่าเป็นประเทศแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจัดการทรัพยากรชุมชนรัฐก็ยังเข้ามาควบคุม บางครั้งก็ถึงกับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เช่น การตั้งเขตชุมชนที่ชาวบ้านอยู่เป็นสิบๆปีเป็นเขตป่าสงวน หรือเขตอนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่า ปัญหาการสร้างเขื่อนโดยไม่มองภาคประชาชนในพื้นที่ มองแต่ผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง พ่อค้า นักธุรกิจ ผลประโยชน์ของรัฐบาล เช่น กรณีการสร้างเขื่อนปากมูลตั้งแต่ปี2532 จนเป็นปัญหากระทั่งทุกวันนี้ อีกทั้งปัญหาความรุนแรงใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางให้กับนักการเมืองและกลุ่มนักธุรกิจที่แอบอิงอยู่กับอำนาจอมาตยาธิปไตย อาศัยเป็นช่องทางในการหาประโยชน์และโกงกิจบ้านเมือง 

ข้อเสนอแนะ
ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม สิทธิและ เสรีภาพ หลักประกันของประชาชนในชีวิตและทรัพย์สินรวมทั้งความสงบสุขและก้าวหน้าของประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีประชาธิปไตย ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

โดยที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพัฒนาทางการเมืองไทยในช่วง 2475 เป็นต้นมาเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างผู้กุมอำนาจทางสังคมการเมืองคือ"อมาตยาธิปไตย" ที่นำโดยข้าราชการโดยเฉพาะทหาร กับ "ธนาธิปไตย" ที่นำโดยกลุ่มนักธุรกิจ นายทุนที่มีเงินเป็นฐานในการสร้างอำนาจและยิ่งปัจจุบัน 

รัฐบาลภายใต้การนำของคณะทหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ (คมช.) ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองและสังคมและได้ยยัดเยียดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง เพื่อความมั่นคง และสงบสุขของประเทศตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ เมื่อครั้งทำการรัฐประหารยิ่งเป็นการบ่งบอกถึงอะไรบางอย่าง เกี่ยวกับสังคมไทยนั่นคือ ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญซึ่งได้มาจากการรัฐประหาร ยิ่งทำให้สถานการณ์บ้านเมือง เลวร้ายหนักกว่าสถานการที่ผู้รัฐประหารอ้างว่าเลวร้าย ก่อนหน้าการรัฐประหารเสียอีก

      ประชาธิปไตยของไทยยังคงจะดำเนินต่อไปในรูปแบบของการแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง " คณาธิปไตย" ต่อไป จึงเป็นที่น่าสนใจว่ารูปแบบของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจากโลกตะวันตก ในแบบเสรีประชาธิปไตยนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในสังคมไทย

      และเราจะเห็นถึงพลังลึกลับ มือที่มองไม่เห็น และบางอย่างที่อิงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ที่คณะรัฐประหารได้ใช้เพื่อรองรับความชอบธรรมและเป็นแรงสนับสนุนในการรัฐประหารครั้งนี้ จนกระทั่งเกิดกระแสที่นักวิชาการไทยต้องแยกแนวคิดกับเหตุการณ์ครั้งนี้ออกเป็น ฝ่าย อย่างที่ไม่เคยปรากฏในการรัฐประหารครั้งไหนๆ นั้นคือ สถาบันกบัตริย์ ที่ถูกกล่าวอ้างถึงหลายต่อหลายครั้ง

      ทำให้เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง " คณาธิปไตย"  "มือที่คนไทยเริ่มมองเห็นกันแล้ว" ในสังคมไทยแล้วยังมีปัญหาหรือเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ที่แอบแฝงอยู่ในการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยในแบบเสรีประชาธิปไตยที่เรารับเข้ามาจากตะวันตกซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในขณะนี้
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น