วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555


ตายน้ำตื้น ?
ตายน้ำตื้น
โดย สมิงสามผลัด    คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


         ท่าทางจะหนักหนาเอาการ สำหรับกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. สรรหา ร้องทั้งกกต.และดีเอสไอตรวจสอบกรณีเงิน 1 ล้านบาทที่ "อีสท์ วอเตอร์" บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์
แต่กลับไม่มีอยู่ในบัญชีของพรรคประชาธิปัตย์ที่รายงานต่อกกต.

          โดยนายเรืองไกรตั้งข้อสงสัยอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. พรรคการเมือง มาตรา 62, 45, 82 ประกอบมาตรา 42 วรรคสอง และมาตรา 93
มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค

          นอกจากเงินบริจาค 1 ล้านบาท ยังมีข้อมูลเพิ่มว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินจากผู้บริจาคช่วยเหลือน้ำท่วม 191 ราย 36 ล้านบาท โดยไปซื้อแคชเชียร์เช็คที่ธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงการคลัง ก่อนนำแคชเชียร์เช็คไปให้ที่สำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 และวันที่ 2 ธ.ค.54 สำนักนายกฯ ออกใบเสร็จให้
แต่ไม่มีการลงบันทึกบัญชีของพรรคไว้ตามที่พ.ร.บ.พรรคการเมืองอีกเช่นกัน

         นายเรืองไกรเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์หลักฐานและเอกสารทั้งหมด และนำไปชี้แจงต่อกกต.ด้วย
ถ้าไม่พบความผิดก็พร้อมขอขมา
ถ้าชี้แจงไม่ได้ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวน การกฎหมาย เพราะเข้าข่ายความผิดถึงขั้นยุบพรรค

        ในส่วนของดีเอสไอตรวจสอบกรณีนี้ในเบื้องต้นแล้วพบว่าเข้าข่ายความผิด

        นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมกคพ.พิจารณาเป็นคดีพิเศษในเดือนมิ.ย.นี้
เพราะเห็นว่าเข้าข่ายความผิดอาญา พ.ร.บ. พรรคการเมือง 2550 มาตรา 71
ห้ามมิให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาห กิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคแก่พรรคการเมือง

       ที่สำคัญ "อีสท์ วอเตอร์" ก็เป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นเกินครึ่งเสียด้วย

       หากมีการพิสูจน์ออกมาว่า "อีสท์ วอเตอร์" บริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์จริงๆ
ก็เข้าข่ายผิดมาตรา 71 นอกจากมีโทษจำคุก 10 ปีแล้ว ยังต้องยุบพรรคด้วย

ถ้าผลพิสูจน์ออกมาว่าผิดจริง
ก็แทบไม่เชื่อเลยว่าพรรคเก่าแก่จะตายน้ำตื้นแบบนี้
 
ที่มาของ‘แคชเชียร์เช็ค''

         หากตรวจพบว่า...การรับจ่ายเงินดังกล่าวไม่มีการบันทึกบัญชี ไม่มีการรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องดูต่อไปว่า กฎหมายมีบทกำหนดโทษหรือไม่
        การแถลงข่าวที่รัฐสภาเกี่ยวกับเงินบริจาคช่วยเหลืออุทกภัยที่ได้รับมาจากผู้บริจาค 191 รายเป็นเงินประมาณ 36 ล้านบาทเศษนั้น มีหลายประเด็นน่าติดตาม
        ประเด็นแรก มีการแถลงและโชว์สำเนาใบเสร็จรับเงินของผู้บริจาคที่เป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) ว่าได้รับเงินบริจาคมา 1 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยกระทรวงการคลัง
         จากการแถลงข่าว ทำให้ทราบว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเงินเป็นแคชเชียร์เช็คหนึ่งฉบับเป็นเงิน 36 ล้านบาทเศษ และได้ออกใบเสร็จให้กับผู้บริจาคทั้ง 191 รายไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553
          ต่อมาผู้ร่วมแถลงคนหนึ่ง ได้ออกมาบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่จะต้องตรวจสอบเลย เพราะการรับเงินมาเท่าใด ก็นำเงินออกไปเท่ากัน
          แต่จากการแถลงนั้น ประเด็นที่น่าติดตามคือ เช็คที่นำไปจ่ายนั้น เป็นแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงไทยเพียงฉบับเดียวแต่ออกใบเสร็จให้ทั้งหมด 191 ราย
          แปลว่า ถ้าอยากรู้ว่า เงินที่ซื้อแคชเชียร์เช็คมาจากไหน บัญชีใคร ก็คงตรวจสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการไปสอบถามจากธนาคารกรุงไทยว่า...แคชเชียร์เช็คใบนี้ใครซื้อ และเอาเงินจากบัญชีไหนมาซื้อ ซึ่งการสอบถามอย่างนี้ ก็จะทราบได้ทันทีว่า...เงินที่ซื้อนั้นมาจากเงินในบัญชีที่มีอยู่กับธนาคารกรุงไทย ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ดูได้ทันทีว่า เจ้าของบัญชีเป็นใคร
         ประเด็นต่อมา ถ้าอยากรู้ว่า...ผู้บริจาคทั้ง 191 ราย มีใครบ้าง ก็ดูได้โดยง่ายอีกเช่นกัน เพราะเพียงไปขอดูสำเนาใบเสร็จรับเงินที่สำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะรู้ว่า มีใครบ้างที่บริจาคอยู่ในเงินก้อนนี้
         เมื่อได้รายชื่อผู้บริจาคมาแล้ว ก็ตามต่อได้ว่า ผู้บริจาคแต่ละรายให้เงินมาเป็นเงินสดหรือเช็ค และให้เงินบริจาคมาตั้งแต่เมื่อวันที่เท่าใด
         การตรวจสอบง่าย ๆ ข้างต้น เรียกว่า การตรวจสอบยันยอดรายรับรายจ่ายจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะสามารถตรวจสอบตามมาได้อีกว่า...เงินที่แต่ละรายบริจาคมานั้น ถ้าผู้บริจาคเป็นนิติบุคคลและจ่ายเป็นเช็ค ก็สามารถขอดูสำเนาเช็คกับใบสำคัญจ่ายของแต่ละบริษัทได้ เนื่องจากจะต้องมีการทำเอกสารไว้ลงบัญชีของผู้บริจาค
         ดังนั้น ประเด็นที่จะตรวจสอบได้ตามมาก็คือ เงินบริจาคนั้นมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารใด ใครเป็นเจ้าของบัญชี ตรวจกันง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ก็จะทราบที่มาที่ไปของเงินบริจาคทั้ง 191 ราย รวม 36 ล้านบาทเศษ ได้โดยไม่ยาก
         เพียงแต่ผู้ที่จะตรวจสอบใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ความกระจ่างชัดก็จะปรากฏออกมา และเมื่อทราบถึงบัญชีที่เป็นแหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อแคชเชียร์เช็คแล้ว
         ที่เหลือก็เพียงแค่นำเงินตามที่ตรวจพบว่าอยู่ในบัญชีใครนั้น มาตรวจสอบกับข้อกฎหมายว่า...เจ้าของบัญชีนั้น มีหน้าที่อย่างไรบ้าง ต้องลงบัญชีรายรับ บัญชีแยกประเภท และต้องรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐใดหรือไม่
          หากตรวจพบว่า...การรับจ่ายเงินดังกล่าวไม่มีการบันทึกบัญชี ไม่มีการรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องดูต่อไปว่า กฎหมายมีบทกำหนดโทษหรือไม่
          ถ้ามี โทษนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เป็นโทษทางอาญา หรือโทษปรับ หรือโทษให้ยุบพรรคด้วยหรือไม่
          กรณีข้างต้นกำลังน่าติดตาม ส่วนผลจะออกมาเช่นไร คงต้องลุ้นให้ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำงานอย่างตรงไปตรงมา
          ไม่นานก็คงจะรู้ผลว่า...ออกหัวหรือก้อย สำหรับที่มาของแคชเชียร์เช็คใบที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้

  
ข้อมูลที่มา : http://www.bangkok-today.com/node/12984
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น