วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555


บาปของสสร. 2540 ให้กำเนิดอำนาจที่ 4
มาใช้อำนาจเหนือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
บาปของสสร. 2540 ให้กำเนิดอำนาจที่ 4 มาใช้อำนาจเหนือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ


14 มิ.ย. 2555 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาเรื่อง “ปรีดี พนมยงค์ กับหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตย: ตุลาการ VS นิติบัญญัติ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, โภคิณ พลกุล, พนัส ทัศนียานนท์, พีระพันธุ์ พาลุสุข ดำเนินรายการโดย มรกต เจวจินดา ไมยเออร์

โภคิณ พลกุล: กฎหมายพัฒนามาไกลมาก แต่กลับย้อนถอยหลังกลับไปได้ โดยไม่มีตรรกะรองรับ
ดร.โภคิณ พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงมรดกของปรีดี พนมยงค์ในเรื่องหลัการแบ่งแยกอำนาจ และปัญหาฝ่ายศาลและนิติบัญญัติว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นได้วางหลักการแบ่งแยกอำนาจไว้

โดยแนวคิดเรื่องหลักแบ่งแยกอำนาจในอดีตนั้นถือว่าเป็นของผู้ปกครองมนุษย์ก็ต่อสู้กันมาตลอดว่าอำนาจนั้นควรเป็นของใคร ในที่สุดปราชญ์ต่างๆ ก็บอกว่าอำนาจถ้าเป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ประชาชนก็ไม่มีวันได้มีสิทธิเสรีภาพ ผู้ปกครองก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจ รุซโซจึงบอกว่าอำนาจต้องเป็นของทุกคนในสังคม มองเตสกิเออร์ ก็บอกว่าควรจะแบ่งเป็นสามอำนาจใหญ่ๆ คือนิติบัญญัติ บริหาร ตลาการ และไดรับการยอมรับค่อนข้างมากบนสมมติฐานว่า ถ้าองค์กรเดียวใช้อำนาจทั้งสามพร้อมๆ กันแล้วจะไม่มีการคานกัน แต่ถ้าจะจะคานอำนาจแล้วจะให้อำนาจอะไรคานกับอะไร ตอนนั้นยังไม่มีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง มองเตสกิเอออร์ อยู่ในอังกฤษและเห็นปัญหาระหว่างขุนนางและกษัตริย์จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญของอังกฤษ มีการคานอำนาจกันทั้งโดยรัฐธรรมนูญและโดยจารีตประเพณี โดยกฎหมายต่างๆ กัน แต่การคานอำนาจจะไม่ขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ส่วนประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรประเทศแรกของโลกคืออเมริกา ยอมรับสิทธิในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกันและวางหลักกฎหมายอาญาด้วยว่าคนจะต้องรับผิดหรือถูกลงโทษได้ต้องมีกฎหมายบัญญติขณะที่เขากระทำ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดยุคโบราณ ที่ลงโทษรุนแรงเจ็ดชั่วโคตร พ่อทำผิด ลูกผิดด้วยเหมือนกรณีบ้านเลขที่ 111 แม้จะไม่ได้กระทำผิดด้วยแต่ก็ถูกลงโทษ ซึ่งน่าสังเกตว่าจริงๆ กฎหมายพัฒนามาไกลมาก แต่กลับย้อนถอยหลังกลับไปได้ โดยไม่มีตรรกะรองรับ

สำหรับฝรั่งเศส นั้นศาลในอดีตขัดขวางอำนาจฝ่ายบริหารมาก และในที่สุดฝ่ายปฏิวัติที่ล้มกษัตริย์ลงไปก็ไม่เห็นด้วยกับอำนาจของศาล จึงมีศาลปกครองขึ้นมา และแบ่งระบบศาลใหม่ คนที่นั่งอยู่ในศาลปกครองไม่ใช่ฝ่ายตุลาการแต่เป็นฝ่ายบริหาร คำพิพากษาที่ออกมา อยู่ที่ว่คนยอมรับ ตัดสินได้ถูกหลักเกณฑ์มีเหตผล ไม่ได้สำคัญว่าคุณจะเป็นตุลการหรือศาลหรือไม่ แต่เมื่อมาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องมีความเป็นกลาง

ดร. โภคิณกล่าวว่า รัฐธรรมนูญของไทยฉบับแรกเริ่มวางหลักแบ่งแยกอำนาจเช่นกัน แต่หลังจากนั้น ไทยก็มีปัญหาในเรื่องเขตอำนาจศาลที่เข้ามามีบทบาทในการตีความรัฐธรรมนูญตลอดมา

ดร. โภคิณ กล่าวว่าสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ทำคือการยืนยันหลักการแบ่งแยกอำนาจ และสิทธิเสรีภาพ “วันนี้ที่เราทำกันนี้ ท่านคงแปลกใจมากว่ายุคท่านยังไม่เป็นอย่างนี้ แต่ยุคนี้ทำไมย้อนหลังขนาดนี้”
การข่มเหงประชาธปิไตยจะทำยากขึ้น จึงต้องดิ้นสุดลิ่มทิ่มประตู

ดร. โภคิณ กล่าวว่าปัญหาของบ้านเมืองขณะนี้มี 2 เรื่องใหญ่ ๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปรองดอง คือ รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นเครื่องมือของการจัดการกับฝ่ายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีระบุว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธ์ เคยอธิบายไว้แล้วว่า หลักนิติธรรมจะอยู่ใต้บริบทที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้

แต่กรณีตามม. 68 นำไปสู่การสั่งยุบพรรค ก็ต้องถามว่านี่เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ หรือกรณีมาตรา 309 เป็นเรื่องนิรโทษกรรมผู้ที่ยึดอำนาจ ยกโทษให้ตัวเองในสิ่งที่ได้กระทำมาแล้ว ก็น่าสงสัยว่าใครเป็นนักกฎหมายที่ช่วยคิดเรื่องเลวร้ายแบบนี้ได้ เรื่องดีๆ ไม่คิด

“คือคำสั่งคณะรัฐประหารเขียนว่าประกาศคำสั่งคณะรัฐประหารให้มีผล และชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยระฐธรรมนูญ นี่ก็บ้าเต็มทนแล้ว พอมาเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไปยืนยันว่าที่เขียนไว้ในปี 2549 ให้ชอบด้วยรธน. 2550 อีก กฎหมายคำสั่งนี้ไม่ยุติธรรม รังแกคน เขาเขียนให้ชอบด้วยกฎหมาย เขาจึงกลัวมาก ว่าการข่มเหงประชาธปิไตยจะทำยากขึ้น จึงต้องดิ้นสุดลิ่มทิ่มประตู”

ประการที่สองคือปรองดอง ซึ่งประเด็นหลักของการปรองดองคือความชอบธรรม ทำกับเขาผิดหลักนิติธรรมแล้วจะยอมรับกันได้หรือไม่ ประเด็นการปรองดองมีสองเรื่องคือนิรโทษกรรมสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือยกโทษอาญาให้สองฝ่าย แต่แพ่งไม่ยก คนที่ถูกรังแก คนที่ตาย บาดเจ็บ สามารถไปฟ้องได้

ประเด็นต่อมาคือไปทำกับเขาไม่ถูกต้อง มีหลายคนไม่ชอบคุณทักษิณ บอกว่าบ้านเมืองจะสงบคือทักษิณยอมติดคุก ต้องถามว่าทำกับเขาถูกตามหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องแล้วจะดีได้ยังไง บ้านเมืองไปได้ขนาดนี้ ดังนี้นเมื่อทำกับเขาไม่ถูกต้องสิ่งที่ต้องแก้ไขคือคืนความถูกต้องให้เขาไปก่อน ทักษิณไปได้ทั่วโลกยกเว้นประเทศไทย แปลว่าทั้งโลกไม่เข้าใจหลักนิติธรรมของประเทศไทยใช่หรือไม่ ข้อเสนอพระปกเกล้าแม้จะเสนอให้คืนความยุติธรรม แต่ก็คืนความยุติธรรมแปลกๆ คือลงโทษแล้วให้มีผลต่อเนื่องไป ถ้าเริ่มไม่ถูกก็ต้องแกไข ตัดสิทธินักการเมืองไม่ถูกต้อง ก็ต้องคืนสิทธิเขาไป

ศาลรัฐธรรมนูญฝ่าไฟแดงแล้วหลายป้าย
ดร. โภคิณกล่าวยกตัวอย่างโดยสรุปว่ากลไกเหล่านี้ถูกวางไว้หมดแล้ว เขาจึงเสียกลไกนี้ไปไม่ได้ จะปรองดองอย่างไร ถ้าคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน คืนความชอบธรรมให้ใครก็ตามที่ไม่ได้รับความชอบธรรม จะทำให้กลไกที่รังแกนั้นอยู่ต่อไปไม่ได้อีกต่อไป

สำหรับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามจะทำอย่างไรต่อไป ดร.โภคิณสรุปว่า งานนี้ศาลรัฐธรรมนูญฝ่าไฟแดงหก-เจ็ดป้าย คือเว็บไซต์ของศาลเองก็ระบุว่า ให้ผ่านอัยการเท่านั้น และเคยมีการวินิจฉัยไว้แล้ว ในมาตรา63 เดิม ซึ่งก็คือ 68 ปัจจุบัน ศาลบอกว่า ยื่นคำร้องโดยตรงไม่ได้ต้องไปยื่นผ่านอัยการสูงสุด

ประเด็นต่อมาคือ ศาล เมื่อมีคนมายื่นคำร้อง ต้องดูว่าเป็นผู้เสียหายหรือเปล่า ประการต่อมา คือขั้นตอน มาตรา 68 บอกว่า ถ้าการใช้สิทธิในหมวดนี้ ถ้าไปกระทบกระเทือนล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและได้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ก็ให้ไปร้องตรวจสอบ เวลานี้อ่านภาษาไทยก็ไม่เข้าใจให้ไปอ่านภาษาอังกฤษ สรุปคือคำมันต่อเนื่องกัน ไปยื่นอัยการแล้วอัยการพิจารณา และไม่มีกฎหมายให้ยื่นคำร้องสองทางพร้อมกัน

ถ้าศาลวินิจฉัยว่าผิด ส.ส. ส.ว. สามร้อยกว่าคนก็ต้องถูกดำเนินคดี แล้วอัยการก็ต้องดำเนินคดี ทั้งๆ ที่อัยการเพิ่งวินิจฉัยไปหยกๆ ว่าไม่ผิด ถามว่าถ้าตนเขียนกฎหมายเป็นอย่างนี้ต้องโทษสสร. หรือเปล่า ก็ไม่ใช่

ดร.โภคิณ กล่าวว่า จากนี้สิ่งที่ไม่ง่ายสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย คือ แม้จะผ่านวาระสามได้ แต่ถามว่าเรื่องไปไหนต่อ สิ่งที่ยุ่งคือ เรื่องไปที่นายก นายกต้องทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยภายใน 20 วัน ที่น่าห่วงคือศาลจะสั่งนายกห้ามทูลเกล้าฯ อีก แล้วถ้านายกไม่ยื่นก็จะมีคนร้องว่านายกไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

“ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเหนื่อยสำหรับฝ่ายบริหารเหมือนกัน ฝ่ายประชาธิปไตยแทนที่จะมีทางเดินอย่างกว้างขวางสบาย แต่กลับมีทางเดินที่ถูกขีดเส้นอยู่แคต่นี้ จะทำอะไรก็ยาก แต่ต้องอดทน และต้องอธิบายด้วยเหตุด้วยผล เมื่อเรายืนบนหลักประชาธิปไตย บนหลักนิติธรรม เราต้องบอกว่าหลักที่ถูกคืออะไร อะไรคือประชาธิปไตยที่แท้จริงและอะไรไม่ใช่ เราต้องสู้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น” อดีตประธานรัฐสภากล่าวทิ้งท้าย

พนัส ทัศนียานนท์: บาปของสสร. 2540 ให้กำเนิดอำนาจที่ 4 มาใช้อำนาจเหนือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ
พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวในฐานะที่เป็น สสร. 2540 ว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจก้าวล่วงมาวินิจฉัยและมีคำสั่งกรณ๊การลงมติแก้ไขรธน. วาระ 3 ของรัฐสภาครั้งนี้ เป็นบาปที่เกิดจากการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้มีอำนาจอื่นเข้ามาใช้อำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

“อาจจะเป็นบาปของผมด้วย เพราะตอนนั้นผมเป็นสสร. 2540 คือสถานการณ์ตอนนั้นมันเลวร้ายมาก จึงจำเป็นต้องหามือปราบ หาเปาบุ้นจิ้นมา ในขณะนั้นเรามีความหวังกันมาก ในรธน. 2540 ก็หวังว่าการเมืองจะใสสะอาด การเลือกตั้งจะไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียงไม่โกงกัน นักการเมืองก็จะทำงานกันอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส เพราะกลไกต่างๆ มันมัดไว้หมดเลย เรามีองค์กรอิสระ กกต. ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้ มีอีกหลายองค์กรล้วนแค่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเบาปุ้นจิ้นปราบนักการเมืองมที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบ นี่เป็นกระแสของความรู้สึกในขณะนั้น เรามีรธน. เขียนออกมา ก็เฮโลเห็นดีเห็นงามกันไป ผมเองก็คัดค้านว่านี่คือการสร้างระบบขุนนางขึ้นมา ไม่ได้ผ่านความเห็นดีเห็นงามของประชาชนเลย ผ่านการสรรหาทั้งสิ้น แล้วกรรมการก็ล้วนแต่อำมาตย์

“การมีองค์กรอิสระก็เพื่อจะควบคุมการบริหารแผ่นดินโดยการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภา ศาล หรือองค์กรอิสระต่างๆ นั้นแนวคิดพื้นฐานเพื่อเอามาควบคุมรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยสรุปคือองค์กรต่างๆ เหล่นี้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในความรู้สึกผมหลังจากที่เหตุการณ์มันพัฒนามาถึงปัจจุบันนี้แล้ว ผมคิดว่าอันที่จริงแล้วตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น หลักการคานอำนาจถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แหม เรารู้สึกภูมิองภูมิใจเหลือเกินว่าเราสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา แต่มันได้ทำลายระบอบรัฐสภาลงโดยสิ้นเชิง เป็นการสร้างระบอบนี้ขึ้นมาเป็นอำนาจที่สี่ ควบคุมอีกสามอำนาจที่เหลือ

“ถ้ามีช่องเมื่อไหร่ท่านก็จะอ้างอำนาจทันที นี่คือตุลาการภิวัตน์ เรามาถึง รธน. 2550 นี่จึงไม่น่าแปลกใจเลย เริ่มจากใครเป็นสสร.-ตุลาการเข้ามาเต็มไปหมดเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาลรธน. สร้างอำนาจตรงนี้ ออกคำสั่งมายังสภา ถือว่าผิดต่อหลักการกระจายอำนาจไหม”

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ม. 68 ว่า ศาลคงตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าตัวเองเป็นผู้แทนของอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

“แต่ผมอยากจะถามว่าถ้าเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นจริง แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนไว้ทำไมในหมวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เวลาฟังท่านฟังให้ดีๆ นะครับเพราเวลาพูดแล้วฟังดูลื่นมาก ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีใครทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ”

สสร. 2540 ผู้นี้ยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ แต่หลายฝ่ายอาจจะรู้สึกแหยงเพราะผลงานที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญนั้นน่าแขยง ทั้งการพจนานุกรมมาตีความ การยุบพรรคการเมืองชนิดที่ทำผิดคนเดียวก็ถือว่าผิดทั้งหมู่

“เรากำลังอยู่ในวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญที่สุด และไม่รู้จะหาใครเป็นคนตัดสิน ในเมื่ออำนาจในการตัดสินอยู่ที่ท่าน ในเมื่อรัฐสภาเองก็ยังลงมติไม่ได้ว่าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่มีความเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่ง แต่การโต้แย้งนี้ ไปยื่นต่อศาลซึ่งผลก็เท่ากับเป็นการยอมรับอำนาจโดยปริยาย แล้วถ้าศาลตัดสินว่าใช่ตามที่ผู้ร้องเขาร้องแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอให้คิดกันต่อไป”

เสนอ รัฐสภา สู้ศาลรธน. สองแนวทาง แก้รธน. ไปเอง และยุบศาลรธน. ทิ้ง
อดีตคณบดีคณะนิติศาสต์ มธ. และอดีต สสร. 2540 กล่าวเสนอวิธีการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหากรณีศาลรธน. สั่งชั่วคราวระงับการลงมติวาระ 3 แก้ไขรัฐธรรนูญของรัฐสภา เพื่อรอการพิจารณคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ส.ส. ต้องไม่กลัว เพราะที่ศาลรธน. ทำคือต้องการให้หยุด แต่ส.ส.และส.ว.จะไม่ฟังคำสั่งก็ไม่ได้ เพราะเสี่ยงต่อการจะถูกถอดถอน
อย่างไรก็ตาม ส.ส. ต้องมีความกล้าให้มาก ในเมื่อรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน เสียงข้างมากของสภาต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกับพวกกลับขัดขวาง ดังนั้นมีทางเลือก 2 ทางคือ หนึ่ง ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไป แล้วส.ส. เข้าชื่อกันใหม่ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญเองเลยโดยไม่ต้องมีสสร. และในอันดับแรกที่จะแก้ไขคือ ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญเสีย แต่แนวทางนี้ต้องอาศัยความกล้า ส่วนประธานรัฐสภาที่ไม่มีความกล้าต้องเอาออกไป

ทางเลือกที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เป็นการขัดขวางความต้องการของประชาชน เมื่อขัดขวางประชาชนก็ต้องเอาอาวุธของประชาชนมาใช้คือลงประชามติ โดยวิธีการประชามตินั้นทำได้โดยนายกรัฐมนตรี ปรึกษาประธานสภาผู้แนและประธานวุฒิสภาโดยมีเหตุผลว่าขณะนี้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ ก็ขอใประชาชนให้ลงประชามติเพียงอย่างเดียวว่าต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และในการลงประชามตินั้นก็สามารถให้ประชาชนลงประชามติไปพร้อมกันเลยว่าต้องการให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

“นายกยิ่งลักษณ์ต้องเลิกไปดูน้ำเสียที มาปรึกษาหารือกันว่าจะแก้ลำเขาอย่างไร ดูสิว่าจะสู้กับอำนาจประชาชนได้หรือไม่” อดีตคณบดี นิติศาสตร์ มธ. กล่าวในที่สุด

พีรพันธุ์ พาลุสุข: ถ้าศาลรธน. ตัดสินว่าผิด ส.ส. สามร้อยกว่าคนก็เตรียมตัวเป็นผู้ก่อการร้ายได้เลย
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส. พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า นายปรีดี พนมยงค์ขอเจรจากับต่างประเทศให้ยอมรับเขตอำนาจศาลไทย โดยแสดงให้เห็นว่าไทยมีหลักแบ่งแยกอำนาจและมีรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เกรณีการรัฐประหาร 2549 เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญลงจึงไม่แปลกที่ในปี 2550 จะรณรงค์ให้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปก่อน เพื่อยืนยันกับนานาประเทศว่าบ้านเมืองเรามีรัฐธรรมนูญแล้ว

“ทำไมวันนี้ยังเกิดเรื่องแบบนี้ ผมคิดว่าถ้ามีอำนาจได้จะขอแก้ไขเรื่องศาลรธน. หลายคนรูสึกว่า ขณะนี้เลยขอบเขตที่ควรจะเป็นแล้ว และบอกว่าศาลเหล่านี้ไม่ใช่ศาลยุติธรรม เป็นศาลพิเศษ เมื่อเป็นศาลพิเศษ อำนาจหน้าที่ตามหลักแล้ว กฎหมายให้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่มีกฎหมายก้ไม่มีอำนาจ อย่าตีความขยาย แล้วจะมีปัญหา ตอนที่ MOU สมัยรัฐบาลสมัคร ก็ไปตีความว่าสัญญานี้อาจจะทำให้เสียดินแดน การตีความขยาย ก็เหมือนกับการไปแก้รัฐธรรมนูญเสียเอง นี่ยังไม่นับกรณีคุณสมัคร กรณีถูกร้องว่าเป็นลูกจ้างจาการออกรายการทำกับข้าว

“ผมกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้กลายเป็นว่าผมกำลังทำลายล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และถ้าศาลบอกว่าผิดก็เตรียมตัวไว้ ว่าเขาจะยื่นถอดถอน ส่งเรื่องไปประธานวุฒิ แล้วส่งต่อไปยังปปช. และถ้าปปช. ชี้ว่าคดีมีมูลก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สามร้อยกว่าคน ก็เตรียมตัวเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยกัน นี่มองจากมุมที่เลวร้ายที่สุด

“มีคนบอกผมว่าอาจารย์ใจเย็นๆ เขากำลังหาทางลง คือเขาจะยกคำร้องแล้วเดินหน้าต่อ ผมคิดว่าไม่ได้ ถึงยกคำร้อง แต่หนังสือที่มาถึงสภา วันนี้ผมโหวตวาระที่สามไม่ได้ แล้วใครยังอาจมาสั่งสภาให้หยุด ผมอ้างมาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านเขาพูดบ่อยมากว่าจะฉีกรัฐธรรมนูญ ผมก็บอกว่าผมไม่ได้ฉีก แต่แก้ไขแค่มาตราเดียวคือ291 ซึ่งมาตรา 291 ไม่ได้ห้าม ที่ห้ามคือห้ามเปลี่ยนรูปประเทศ เช่น เปลี่ยนจากรัฐเดี่ยวเป็นสาธารณรัฐ เปลี่ยนรูปแบบประมุข หรือห้ามแก้หมวดพระมหากษัตริย์ก็ได้ แล้วผมไปล้มล้างการปกครองตรงไหน ตกลงการใชสิทธิแก้รัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ตาม 291 ไม่ได้ แล้วพอทำไม่ได้ จะทำอย่างไง จะแก้ไขก็ใช้ปืน พอเขาใช้ปืนก็บอกว่า เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์” ผู้แทนจากพรคเพื่อไทยกล่าว ก่อนจะย้ำว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ เป็นการแก้ไขโดย ส.ส. ไม่ใช่โดยพรรคการเมือง

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือบ้านพักคนชราที่น่าผิดหวัง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรอิสระหรือบ้านพักคนชรานี่คือการทำบาป ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรมี ส.ว. แต่งตั้ง องค์กรอิสระนั้น บางอย่างอาจจะดี บางอย่างก็ไม่น่าจะดี แต่โดยรวมแล้วผิดหวังกับบ้านพักคนชรากลุ่มนี้มาก

อดีตอธิการบดี มธ. กล่าวถึงมองเตสกิเออร์นักคิดผู้สถาปนาหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นเกิดปี ค.ศ.1689 คือ 100 ปีก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และ 1 ปีหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับประชาธิปไตยอย่างมั่นคง สถาบันกษัตริย์ที่ไม่สามารถปรองดองตกลงกันได้กับหลักประชาธิปไตย จะอ่อนแอและเป็นปัญหา ถ้าดูประวัติศาสตร์ของโลกทั้งโลก อิทธิพลของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษนั้นน่าจะมีอิทธิพลต่อมองเตสกิเออร์มาก ขณะที่ก็เห็นความเหลวแหลกของระบอบปกครองในฝรั่งเศส เราต้องเข้าใจว่าเขาให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อการปกครองของอังกฤษที่เขาคิดว่าพัฒนาก้าวหน้ามากๆ คืออำนาจไม่ได้อยู่ที่คนๆ เดียวหรือสถาบันเดียว การแบ่งแยกอำนาจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นี่เป็นความคิดที่สำคัญมากสำหรับประเทศประชาธิปไตยทีเป็นอารยะ

ความคิดแบบนี้เข้ามาสู่อ.ปรีดี พนมยงค์ อย่างไรนั้นก็ต้องอ่านว่าปรีดีเขียนอะไร พูดอะไร โดยเขากล่าวว่าอาจารย์ปรีดีมีทัศนวิสัยที่กว้างไกลมาก จนน่าตกใจมาก โดยอ.ปรีดีเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. 2500 ว่าการแบ่งอำนาจรัฐเป็นสามส่วนตามทฤษฎีของมองเตสกิเออร์ คือการแบ่งเป็นนิติบัญญัตติ บริหาร ตุลาการนั้น เป็นเรื่องจำแนกกลไกอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คล้ายกับการแบ่งกระทรวง ทบวงกรมนั่นเอง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ลายลักษณ์อักษร และสถาบันอันเป็นนามธรรม แต่อยู่ที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจใช้กลไกนั้น และเป็นวรรณะใด หรือเป็นสมุนหรือซากของวรรณะใด ความเป็นธรรมสำหรับสังคมอาจมีได้ในกรณีที่สมาชิกแห่งสังคมที่พิพาทกันเป็นคนแห่งวรรณอื่นด้วยกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องพิพาทระหว่างคนในวรรณหนึ่ง กับคนในวรรณะเดียวกับผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกแห่งอำนาจรัฐแล้ว ความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นยาก

“เราคงต้องตีความกันว่า ตอนนี้เราถึงตอนไหน พวกที่เกี๊ยเซี๊ยะ ปรองดองหรือไม่ปรองดอง เป็นวรณณะใด”

ดร. ชาญวิทย์กล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักแบ่งแยกอำนาจที่ดีที่สุดของไทยคือรัฐธรรมนูญ 2489 คือถวายรัฐธรรมนุญต่อร. 8 และลงพระปรมาภิไธย วันที่ 9 พ.ค. 2489 และอธิบายต่อมาว่ารัฐธรรมนูญนั้นต้องถวายก่อนแล้วจึงพระราชทานคืน ดังที่ปรากฏเป็นพานแว่นฟ้าบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายหลังลงพระปรมาภิไธยแล้วจากนั้น 9 มิ.ย. ก็เสด็จสวรรคต

โดยหลักแล้วความพยายามของคณะราษฎรจากที่เห็นจากบทบาทของปรีดี พนมยงค์ คือการสถาปนาการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย และอ.ปรีดีแปล Constitutional Monarchy ว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งน่าจะชัดเจนกว่า และไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน “ถ้าเราตีตรงนี้ไม่แตกเราจะถูกวาทกรรม คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย ไทยไม่เหมือนคนอื่นในโลกนี้ เราเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นวาทกรรมของฝ่ายอำมาตย์ที่ช่วงชิงบทบาทในแง่ของการสถาปนาประชาธิปไตยและรอบบรัฐธรรมนูญไปจากคณะราษฎร คือนับจาก พ.ศ.2490 เป็นต้นมานั้นได้เบี่ยงเบนหักเห เกิดปัญหาและไม่ใช่ประชาธิปไตยอีกต่อไปแล้ว”

ดร. ชาญวิทย์กล่าวว่า ไม่ว่าผลของพิจารณากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่นี่จะเป็นกรณีที่ทำให้คนหูตาสว่างมาก เหมือนกรณีการปลุกระดมเรื่อง MOU ปราสาทเขาพระวิหารเพื่อล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และประสบความสำเร็จมาก แต่ก็ทำให้หูตาสว่างมากขึ้น โดยเขาเองก็ถูกกล่าวหาว่าหนักแผ่นดิน ขายชาติ จาการศึกษาเรื่องเขตแดน และได้เข้าใจว่าเรื่องนี้ก็ทำให้เข้าใจว่าวาทกรรมเสียดินแดน ก็เหมือนวาทกรรมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เปนประมุขนั่นเอง


ขอขอบคุณเนื้อข่าวจากประชาไท
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น