วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555


ลัทธิตุลาการนิยม
 (อ้างอิงจาก เวบไซท์ www.voicetv.co.th)

ใบตองแห้ง           ปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ต่อการรับคำร้องให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่ พร้อมทั้งยังสั่งระงับการลงมติรับร่างแก้ไขมาตรา 291 วาระที่ 3 นั้น

           กล่าวได้ว่าเป็นไปอย่างรวดเร็วและร้อนแรงยิ่ง อย่างไม่เคยมีมาก่อน เปรียบเหมือนโดนสวนหมัดเข้าฉับพลัน เช่นเฟซบุคของ อ.พนัส ทัศนียานนท์ ที่ชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้เข้าชื่อกันถอดถอน ขณะที่เฟซบุคของวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายฮาวาร์ด ก็ชี้ว่ารัฐสภาสามารถลงมติวาระ 3 ได้เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งในสิ่งที่ตัวเองไม่มีอำนาจ 

            ขณะที่ฝ่ายการเมือง อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ขานรับด้วยการประกาศล่าชื่อมวลชนเสื้อแดงถอดถอน 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทันที และประธานรัฐสภาก็กำลังปรึกษาหารือฝ่ายกฎหมาย เพื่อจะไม่ทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ (ที่มีไปถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ยักกล้าส่งไปให้ประธานรัฐสภาโดยตรง) 

ศาลทับซ้อน

            แน่นอนความรวดเร็วของเทคโนโลยีเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่คำวินิจฉัยที่ขัดตรรกะของกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดเจน ด้วยสามัญสำนึกของคนธรรมดา ที่ไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย ก็เป็นสาเหตุสำคัญ 

            รัฐสภากำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการมี สสร.จากเลือกตั้ง แก้ไขเสร็จยังจะให้ประชาชนลงมติ มีตรงไหนที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญมาแส่อะไรกับกระบวนการเหล่านี้ 

            ยิ่งถ้ามองที่มาที่ไป รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกำลังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกรัฐประหาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้รับตำแหน่งจากกลไกที่รัฐประหารวางไว้ กระโดดเข้ามาขัดขวาง พวกท่านมีความชอบธรรมหรือไม่ 

            บางคน เช่นจรัญ ภักดีธนากุล เป็นทั้งรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับทับซ้อน 2 เด้ง ท่านย่อมไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยประเพณีปฏิบัติก็ต้องให้ตุลาการเดิมพ้นตำแหน่งแล้วสรรหาใหม่ 

             ฉะนั้น ท่านทำเช่นนี้ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกวิจารณ์ว่า ปกป้องพื้นที่อาหาร อย่างน้อยตำแหน่งนี้ก็เงินเดือนเป็นแสน ตั้งใครก็ได้มาเป็นที่ปรึกษา เลขา คนขับรถ 

             แน่นอน ถ้าการวินิจฉัยของพวกท่านมีหลักทางกฎหมายมั่นคง ชัดเจน ใครก็กล่าวหาไม่ได้ แต่นี่ พอพูดกันแง่กฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้สูงส่ง กลับตีความอย่างที่แม้แต่นักศึกษานิติศาสตร์ปี 1 ยังจับได้ เพราะแม้แต่เด็กปี 1 ก็ยังเข้าใจว่า คำว่า “และ” “หรือ” ในตัวบทกฎหมายนั้นหมายความอย่างไร 

“ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว.....” (มาตรา 68 วรรคสอง) 
พวกท่านกลับตีความได้หน้าตาเฉยว่าให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ 

          1.เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

           และ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว
           นักกฎหมายที่ออกมาอธิบายความให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้เขียนบทความเรื่อง “ปัญหาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งขออภัย ที่ต้องบอกว่าผมแทบทนอ่านไม่จบ รับไม่ได้กับสิ่งที่กิตติศักดิ์อ้าง แม้ส่วนตัวจะมีมิตรภาพที่ดีและชื่นชมกิตติศักดิ์ครั้งออกมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นของนิติราษฎร์

           ประเด็นนี้กิตติศักดิ์อ้างว่า (ดูบทความกิตติศักดิ์ทั้งหมดใน http://www.thaireform.in.th/multi-dimensional-reform/2011-12-08-05-21-57/item/7655-2012-06-03-12-24-23.html)

           “ปัญหาข้อสองที่ว่า ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุดเพียงช่องทางเดียวหรือไม่นั้น ก็ตอบได้ว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดเจาะจงไว้ขนาดนั้น และตามคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญเองที่ว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบทดังกล่าว นี้เป็นบทที่มีความมุ่งหมายในทางป้องกันภยันตรายอันมีมาต่อระบอบการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นอำนาจดุลพินิจของศาล หากมีเหตุสำคัญที่ศาลเห็นสมควรรับไว้พิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาได้”

             ผิดครับ อาจารย์ ตรวจข้อสอบทันที ประการแรก กฎหมายกำหนดไว้เจาะจง คำว่า “และ” คือเจาะจง เป็นภาษากฎหมายที่ถ้าอาจารย์เห็นว่าไม่เจาะจงก็ต้องไปอธิบายให้เด็กปีหนึ่งฟังเอง


             ประการที่สอง ศาลจะอ้างเหตุใดก็แล้วแต่ มาตีความกฎหมายตามดุลพินิจของตนอย่างกว้างขวางไม่ได้ เพราะถ้าเช่นนั้น ศาลก็จะอยู่เหนือกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญก็จะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

             สมมติเช่น กฎหมายบอกให้ลงโทษทั้งจำและปรับ ท่านบอกว่าไม่ต้องจำ ตีความได้ว่ากฎหมายให้สิทธิ 2 ประการคือ 1.จำ 2.ปรับ ฉะนั้นปรับเฉยๆ ก็พอ อย่างนี้ท่านกำลังทำตัวเหนือกฎหมาย 

             ศาลไม่ใช่องค์กรที่มีอำนาจไม่จำกัด อำนาจของศาลอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมาย ทั้งบทบัญญัติและกระบวนการ

             ประการที่สาม สำคัญที่สุด มาตรา 68 บัญญัติให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีมูลค่อยยื่นต่อศาลอีกครั้งหนึ่ง เจตนารมณ์ของกฎหมายคืออะไร

            การเอาผิดพรรคการเมืองถึงขั้นยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีการกลั่นกรอง 2 ชั้น อัยการสูงสุด แล้วจึงศาล (อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญนี้ให้อัยการสูงสุดเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่ออำนาจบริหาร) ไม่ได้มอบให้องค์กรใดใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวได้

              แต่ศาลกำลังจะยึดอำนาจนั้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเอง และวินิจฉัยเอง รวบรัดตัดความได้เอง

              ลองคิดถึงคดีอาญาทั่วไปนะครับ ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ศาลไต่สวนเอง จะเกิดอะไรขึ้น สมมติ นาย ก.เป็นผู้เสียหาย กล่าวหาว่านาย ข.ข่มขืนภรรยาตน อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่พอ บังเอิญนาย ก.เป็นเพื่อนสนิทนาย ค.อธิบดีผู้พิพากษา ไปยื่นเรื่องต่อศาลเองแล้วศาลรับ ไต่สวนเอง หาพยานหลักฐานเอง แล้วตัดสินให้นาย ข.ผิด ติดคุกหัวโต ไม่ว่านาย ข.ผิดจริงหรือไม่ ก็จะเกิดความข้องใจต่อศาลสถิตยุติธรรม

              นี่คือการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในทางกลับกันก็เป็นเครื่องปกป้องศาล สมมติเช่น อัยการสูงสึดตรวจสอบแล้ว เห็นว่ามีมูล ยื่นเรื่องมาที่ศาล เราก็คงวิจารณ์ไม่ได้เต็มปาก

             แต่นี่ศาลสลัดเครื่องปกป้องตัวเองไปแล้ว รู้ก็รู้กันอยู่ พวกท่านได้ตำแหน่งมาตามกลไกรัฐธรรมนูญ 50 หลายคนก็แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับขั้วทักษิณ-เสื้อแดง มีส่วนร่วมกับรัฐประหารกันโต้ง ๆ ขณะที่ผู้ยื่นเรื่องนำโดยสมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงาน คมช.

             ท่านจึงห้ามคนเขาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ 

การเมืองไม่ใช่เรื่องของตุลาการ 

              มาตรา 68 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”

              แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สสร.เลือกตั้งและลงประชามติ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตรงไหน 

              ที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือพรรคการเมือง แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ตามมาตรา 291 

              ย้ำ รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาไว้ โดยไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจสอบ วินิจฉัย หรือยับยั้งด้วย 

              จรัญ ภักดีธนากุล ร่างรัฐธรรมนูญมากับมือ มีหรือจะไม่รู้ 

              ตอนที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้ง 2554 ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับวินิจฉัย เพราะรู้ดีว่าไม่มีอำนาจ แต่ตอนนี้กลับไปกินสลิ่ม เอ๊ย ลอดช่องใช้มาตรา 68 ท่านทำได้อย่างไร 

              กิตติศักดิ์แย้งว่าอย่างไรทราบไหมครับ

             “ปัญหาข้อแรกตอบได้ไม่ยาก เพราะตามหลักการแบ่งแยกอำนาจนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตรากฎหมาย ฝ่ายบริหารมีอำนาจบังคับการตามกฎหมาย และฝ่ายตุลาการมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมาย ซึ่งการจะตีความว่า อะไรเป็นกฎหมายหรือไม่ และกฎหมายนั้นกินความเพียงใด ย่อมเป็นอำนาจของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย หรือตรากฎหมายนั้น ๆ ตามแต่กรณี แต่ถึงที่สุดแล้ว หากเกิดข้อพิพาทขึ้น ฝ่ายตุลาการย่อมเป็นผู้ชี้ขาดว่า กฎหมายในเรื่องที่พิพาทกันนั้นมีว่าอย่างไร และคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการซึ่งถือว่าเป็นคนกลางนั้นย่อมเป็นที่สุด” 

              ผิดอีกแล้วครับ ศูนย์คะแนน ตุลาการมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทต่อเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ เรื่องใดที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ตุลาการก็ไม่มีอำนาจ เรื่องใดที่ชัดเจนว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร ตุลาการเกี่ยวข้องไม่ได้ หรือเกี่ยวข้องได้เฉพาะขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น รัฐสภาออกกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปยับยั้งตั้งแต่ต้นไม่ได้ หรือกฎหมายผ่านไปแล้ว ไม่มีใครร้อง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเข้าไปแส่ไม่ได้

             การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ที่ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติตามปกติ แต่เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ภาษากฎหมายเรียกว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ซึ่งยังอยู่เหนืออำนาจตุลาการ เพราะถือเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

             กิตติศักดิ์อธิบายหลักการแบ่งแยกอำนาจจนกลายเป็นหลักการรวบอำนาจ บอกว่า อำนาจนิติบัญญัติเป็นผู้ตรากฎหมาย ให้อำนาจบริหารบังคับใช้ แล้วอำนาจตุลาการชี้ขาดข้อพิพาท ฟังเหมือนจะถูก แต่ไปๆมาๆ กลับกลายเป็นอำนาจตุลาการชี้ขาดได้ทุกอย่าง จนกลายเป็นอยู่เหนืออำนาจอื่น เพราะคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการ “ซึ่งถือว่าเป็นคนกลาง” นั้นย่อมเป็นที่สุด 

             โทษนะครับ ในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่มีใครเป็นคนกลาง ไม่มีหลักที่ไหนบอกว่า 3 อำนาจนี้ใครบริสุทธิ์สะอาดกว่าใคร เพราะเขากำหนดให้ถ่วงดุลอำนาจกัน ตรวจสอบกันและกัน ไม่ใช่ตุลาการเป็นคนกลางที่อยู่เหนืออีก 2 อำนาจ 

             ถามว่าถ้าอย่างนี้เราจะออกกฎหมายปฏิรูปอำนาจศาลได้หรือไม่ ถ้าให้ศาลชี้ขาดทุกอย่าง สมมติอำนาจนิติบัญญัติจะรื้อตัวบทกฎหมายฐานละเมิดอำนาจศาล ดูหมิ่นศาล อำนาจตุลาการก็ย่อมเข้ามาชี้ขาดขัดขวางได้ใช่ไหมครับ 

              ผมขี้เกียจสาธยายข้อเขียนกิตติศักดิ์ทีละประเด็น (แค่นี้ก็อดทนอดกลั้นแทบแย่) เอาเป็นว่าไฮไลท์ของกิตติศักดิ์ก็คือ ลงท้ายว่า “ในระบอบการปกครองที่ประชาชนไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสูงเช่นฝรั่งเศสนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจน้อย............

               แต่ ในระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมืองมากนัก อย่างเช่นในเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของการมีศาลรัฐธรรมนูญนั้น เคยเผชิญชะตากรรมที่ฮิตเล่อร์เคยใช้สภาลงมติเสียงข้างมาก และลงประชามติ สถาปนาอำนาจให้ฮิตเล่อร์ รวบอำนาจอธิปไตยมาเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายนิติบัญญัติและประธานฝ่ายตุลาการมาแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นจึงจัดให้มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมีอำนาจกว้างขวาง................” 

              จากนั้นก็ตั้งคำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเมื่อปี 2540 เกิดขึ้นได้ “เพราะผู้อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางการเมืองเห็นพ้องต้องกัน” 

             “แต่ปัญหาน่าคิดก็คือ พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้ เรามีเจตจำนงทางการเมืองที่เห็นพ้องต้องกันในระหว่างศูนย์อำนาจการเมืองทั้งหลายตามข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่? 

             ทั้งหมดนี้เราจึงควรคำนึงถึงเสมอว่า เรากำลังพิจารณาปัญหาที่อยู่ต่อหน้านี้ในเรื่องกฎหมายหรือเรื่องการเมือง และในระดับการเมืองตามกติกาปกติ หรือการเมืองระดับสถาปนาอำนาจการปกครอง? 

              ทั้งหมดนี้ กิตติศักดิ์จะบอกว่าอะไร จะบอกว่าเมื่ออยู่ในระบอบการปกครองที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ก็ต้องให้อำนาจตุลาการเข้ามาก้าวก่าย อย่างนั้นหรือ จะบอกว่าเมื่อเรายังไม่มีเจตจำนงที่เห็นพ้องต้องกันในระหว่างศูนย์อำนาจทางการเมือง ก็ควรให้อำนาจตุลาการเข้ามายับยั้ง อย่างนั้นหรือ

              การหาเจตจำนงที่เห็นพ้องต้องกันหรือไม่ เป็นเรื่องทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ สังคมอาจจะหาเจตจำนงไปทางหนึ่ง หาได้ ไม่ได้ หรือแตกหัก หักล้าง ต่อสู้เอาชนะกัน ก็เป็นเรื่องทางการเมืองครับ ไม่ใช่เรื่องของตุลาการ 

              จำได้ไหม คุณวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน มีชื่อเสียงเพราะท่านออกมาแฉว่า ตุลาการคนหนึ่งไปในคดีซุกหุ้น ไปปรึกษาท่าน ว่าจะช่วยทักษิณอย่างไรดี เพราะทักษิณเป็นคนที่ประชาชนเลือกมา กลัวบ้านเมืองมีปัญหา ท่านบอกเองว่าตุลาการต้องทำหน้าที่ของตน ต้องวินิจฉัยไปตามหลักกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา 

              ฉันใดก็ฉันนั้น อนาคตทางการเมืองของประเทศจะไปทางไหน เขาจะแก้รัฐธรรมนูญกันอย่างไร หาข้อเห็นพ้องกันได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องคุณวสันต์ในฐานะตุลาการ แต่กิตติศักดิ์กำลังพูดเหมือนกับว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ตุลาการควรจะมีบทบาทสูง และควรจะมีบทบาทยับยั้ง กระนั้นหรือ 

             ที่บอกว่ากลัวฮิตเล่อร์ๆ แล้วมีอะไรเป็นหลักประกันว่าอำนาจตุลาการจะไม่กลายเป็นระบอบฮิตเล่อร์บ้าง ในเมื่อเราปลูกฝังกันแต่ว่าตุลาการคือคนดีคนซื่อ คนกลาง ใช้อำนาจภายใต้พระปรมาภิไธย แล้วก็สนับสนุนให้ใช้อำนาจได้ทุกอย่าง อย่างไม่มีขอบเขต กระทั่งละเมิดรัฐธรรมนูญก็ได้ ยึดอำนาจจากรัฐสภาก็ได้ เช่นนี้
  
อำนาจที่ทำให้แตกหัก

             กิตติศักดิ์อ้างเรื่อยเปื่อย เช่น ถ้ารัฐบาลจะออกพระราชกำหนด หรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อมุ่งยึดอำนาจการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมขี้เกียจพูดเรื่องกฎหมาย เอาเรื่องจริงที่เห็นประจักษ์ดีกว่า การที่รัฐสภาลงมติกันมาจนจะถึงวาระ 3 ให้ สสร.เลือกตั้งมาแก้รัฐธรรมนูญและลงประชามติ มันส่อเค้าอันใดว่าจะมีการล้มล้างระบอบ หรือเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบฮิตเล่อร์ 
             การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นตามมาตรา 291 เป็นเรื่องทางการเมืองโดยแท้ ไม่ใช่เรื่องที่อำนาจตุลาการจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ยับยั้ง พออำนาจตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง ยับยั้ง แทนที่มันจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่คลี่คลายด้วยวิถีทางการเมือง มันก็กลายเป็น “ทางตัน” ที่อาจต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง 

             พูดง่ายๆ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญผลพวงรัฐประหารทั้งฉบับ แต่ศาลรัฐธรรมนูญบล็อกไม่ให้แก้ แถมยังจะยุบพรรค เอาผิดคณะรัฐมนตรี รัฐสภา รัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะ ถ้ารัฐสภาไม่ฟังคำสั่งศาล ก็จะหาว่าไม่เคารพอำนาจตุลาการ ทั้งที่เห็นกันชัดๆ ว่าศาลสั่งในเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจ 

             แล้วท่านจะให้อีกฝ่ายเขาทำอย่างไร ถ้าชนะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ 

             การอ้างอำนาจตุลาการอันศักดิ์สิทธิ์มาสร้างล็อกปิดกั้นการเมือง กำหนดทิศทางการเมือง สืบทอดสอดรับรัฐประหาร คือสาเหตุที่ทำให้วิกฤตไม่สามารถหาทางลงได้ และอาจต้องลงด้วยความรุนแรง แตกหัก หักล้างด้วยกำลังกันอีกครั้ง 

             ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสะใจ สำหรับผม ที่ได้เห็นทักษิณประกาศว่าจะไม่ยอมถูกหลอกอีกแล้ว แบะท่าเลิกปรองดอง ลั่นกลองรบ กลับมาลงเรือพิฆาต เรือประจัญบาน กับมวลชนเสื้อแดง 

             โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษิณยังบอกฝากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าอ่านข้อเขียนหมดแล้ว แปลว่าทักษิณ “ตาสว่าง” คริคริ

              อะไรจะเกิดขึ้นในวิกฤตต่อจากนี้ ตุลาการภิวัตน์อย่าปฏิเสธความรับผิดชอบนะครับ อย่าทำเนียน ลอยหนี เพราะพวกท่านเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องทางการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องของตุลาการ พยายามใช้อำนาจจัดการการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ท่านเชื่อว่าเป็นผลดี แต่มันขัดขวางอำนาจและความต้องการของประชาชน ฉะนั้นถ้ามันเกิดความฉิบหายวายป่วงขึ้นจริง ก็อย่าหลงตนว่าท่านเป็นคนดี ทั้งที่มีบาปเปื้อนมือไปแล้ว

                                                                                    ใบตองแห้ง


                                                                                      4 มิ.ย.55
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น