|
การเมืองครึ่งหลังเดือนสิงหาคม 55
ต้องจับตาไปที่คิวการช่วงชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ที่กำลังจะตัดสินชี้ขาดกันในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า
ระหว่างนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทนส.ว.สายเลือกตั้งส่งเข้าประกวด ขณะที่นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นตัวแทนส.ว.สายสรรหาลงชิงชัย
ใครเป็นฝ่ายชนะ จะตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 73 เสียง จากจำนวนส.ว.ที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ 146 เสียง แบ่งเป็นสายเลือกตั้ง 76 คน และสายสรรหา 70 คน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านายนิคม ซึ่งมีภาพลักษณ์โน้มเอียงไปทางฝั่งรัฐบาลจะ"แบเบอร์"
เพราะความจริงคือในหมู่ส.ว. สายเลือกตั้งมีจำนวนหนึ่งที่อิงอยู่กับฐานเสียงการเมืองในซีกพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้นศึกชี้ชะตาวันที่ 14 สิงหาคมนี้ จึงคู่คี่ก้ำกึ่ง สามารถออกได้ทั้งสองหน้า
โดยเฉพาะส.ว.สายเลือกตั้งถ้ายังรักษาอาการ"เสียงแตก"ไม่ได้
โอกาสที่ส.ว.สายสรรหาจะผนึกกำลังโหวตส่งให้นายพิเชต ขึ้นยึดโควตาเก้าอี้ประธานเป็นสมัยที่ 3 ต่อจากนายประสพสุข บุญเดช และพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ก็มีความเป็นไปได้สูง
การที่ใครจะได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้น
นอกจากเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงทิศทางการทำหน้าที่ตรวจสอบ คานอำนาจรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น หรือลดดีกรีลงแล้ว
ยังจะมีผลต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแรงผลักดันของรัฐบาล
และกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่วุฒิสภารับเรื่องต่อมาจากป.ป.ช.อีกด้วย
จบจากเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่
จะเป็นคิวของสภาผู้แทนฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ 3
ที่มีการวางโปรแกรมการอภิปรายไว้ 3 วันต่อเนื่อง 15-17 สิงหาคม
ถัดจากนั้นจะเป็นวาระการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ที่เลื่อนจากเดิม 23 สิงหาคมออกไปเป็นราวๆ ต้นเดือนกันยายน
ทั้ง 2 เวทีถูกมองว่าเป็นสนาม"ซ้อมใหญ่"ของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะประกาศทอดเวลาการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐบาล
จากเดิมที่เคยคาดหมายว่าจะยื่นทันทีที่สภาเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคม เลื่อนไปเป็นช่วงปลายสมัยประชุม หรือในราวๆ เดือนพฤศจิกายน
พรรคประชาธิปัตย์และวิปฝ่ายค้านให้เหตุผลการลากยาวเกมซักฟอกออกไปอีก 2-3 เดือนว่า ต้องการเห็นความล้มเหลวผิดพลาดในโครงการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่านี้ก่อน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มมีกลิ่นตุๆ โชยมาเข้าจมูกฝ่ายจ้องขย้ำรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์จับจ้อง 2 ประเด็นนี้ชนิดตาเป็นมัน
หวังจะใช้เป็นประเด็นขยายผลลบล้างคำสบประมาท ที่ว่าฝ่ายค้านชุดนี้ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก่งแต่คัดค้านในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ
ตรงตามโพลให้คะแนนผลงานพรรคแกนนำฝ่ายค้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สอบตกได้แค่ 3.5 คะแนนกว่าๆ สวนทางกับคะแนนของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ปรับตัวขึ้นจากเมื่อ 6 เดือนก่อน มาอยู่ที่ 5.3 คะแนน
ตรงจุดนี้เองที่หลายคนเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฝ่ายค้านยังรีรอ ไม่กล้ายื่นขอเปิดอภิปรายซักฟอกรัฐบาลในตอนนี้ เพราะรู้ว่ากระแสนิยมยังตกเป็นรอง
การอาศัยวาทกรรมสาดโคลน จ้องจับผิดแต่ในเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งแล้วนำมาปั่นกระแสหวังให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต
ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า ไม่ได้ผล หนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มคะแนนความเห็นใจให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์โดยไม่รู้ตัว
เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมสำหรับการเปิดศึกชี้เป็นชี้ตายกับรัฐบาล
ก็เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเองก็ยังมีแผลฉกรรจ์ติดตัว ทั้งในเรื่องประวัติการติดยศ"ร้อยตรี" รับราชการทหารเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
ที่โดนพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ขุดเอกสารการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโชว์ให้เห็นพิรุธกันแบบจะจะ
แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายกาจเท่ากับข้อมูลฉบับซีรีส์ของ"สิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร" ที่มีการนำมาตั้งข้อสังเกตเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก
เล่นงาน"เจ้าของสุนัข"เสียอ่วม
เถียงไม่ออกทั้งเรื่องการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยจปร.เพียงแค่ 35 วัน หรือการลาราชการ 221 วัน เพื่อไป"ฮันนีมูน"ในต่างประเทศหลังแต่งงาน
หลายคนเฝ้ารอดูอยู่ว่าร้อยตรีอภิสิทธิ์ จะฟ้องร้องกลับพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และสิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร ที่นำเรื่องนี้มากล่าวร้ายให้เสื่อมเสีย
เหมือนอย่างที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แจ้งความฟ้องร้อง 3 เกลอสายล่อฟ้ากรณี"ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" หรือไม่
นอกเหนือจาก 3 คำ"ดีแต่พูด" ที่เหมือนจะเป็นยี่ห้อประจำตัวใครบางคนไปแล้ว
กรณีที่ว่า"ใคร"เป็นคนสั่งการสลายม็อบเสื้อแดง 98 ศพเมื่อปี 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโต้ตอบกันทุกครั้งระหว่างการอภิปรายในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายนโยบาย หรือผลงานของรัฐบาล
เป็นชนักปักหลังอดีตรัฐบาลที่นอกจากจะสลัดไม่หลุดแล้ว นับวันยิ่งบาดลึกมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มีการปรับเปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพชุดใหม่ เพื่อให้คดีเดินหน้ารวดเร็วกว่าเดิม
ที่ต้องจับตาควบคู่กันไปก็คือการปรับทีมสอบสวนครั้งนี้ยังมุ่งไปที่การสอบสวนคดีที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนเกือบ 2,000 คน
เพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายฐานความผิดพยายามฆ่า หรือเจตนาทำให้บาดเจ็บสาหัสได้หรือไม่
โดยขั้นตอนทางดีเอสไอจะเรียกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์มาสอบปากคำถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่
เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับสำนวนสอบสวนของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบสวนพยานแวดล้อมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วเกือบทุกสำนวน
เป็นวิบากกรรมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้ |
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น