วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?

หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?
(อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
             เสวนากลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน มองขบวนการนศ. ยังฟุบแต่ไม่ถึงทางตัน ต้องใช้เวลาค่อยๆ ฟื้นเพื่อร่วมกับยุคสมัยของขบวนการประชาชน ในขณะที่ "สนนท." ถูกมองว่าไม่ได้เป็นองค์กรนำในกลุ่มนศ. อีกต่อไป

              เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 55 กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาอิสระในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “หมดจิตหมดใจจะใฝ่ฝัน ถึงทางตันขบวนการนักศึกษา?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ปี 2518 ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2535 อติเทพ ใชยสิทธิ์ กรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2553 และหนึ่งฤดี นวนสาย สมาชิกกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP)

             ดิน บัวแดง หนึ่งในผู้จัดงานครั้งนี้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการจะเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา และฟังประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้น เพื่อเป็นบทเรียนและประโยชน์ให้กับกลุ่มนักศึกษาในปัจจุบัน ทั้งในแง่มุมวิชาการและประวัติศาสตร์


            เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ มองว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในยุคสมัยนี้ ประชาชนมีความรับรู้และตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าสมัยก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมัย  14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 มาจนถึงพฤษภา 35 โดยเฉพาะขบวนการเสื้อแดงที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเพื่อคัดค้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้า ซึ่งต่างจากคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่งที่เห็นชอบกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จึงสะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีเพิ่มสูงขึ้นจากสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด และเช่นเดียวกับเยาวชนลูกหลานของคนเสื้อแดง ก็ย่อมที่จะได้รับรู้ความเป็นไปทางการเมืองไม่ต่างกับพ่อแม่ของตนเอง 

             เกรียงกมล กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้นำนักศึกษาในรุ่นนี้ที่จะทำให้เยาวชนออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและสภาพสังคมที่บีบรัด ทั้งยังแนะด้วยว่า ควรจะถอดบทเรียนจากขบวนการนักศึกษาจากในอดีตถึงข้อผิดพลาดและประสบการณ์

             ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ตั้งคำถามกับการมองขบวนการนักศึกษาเป็นภาพใหญ่ โดยกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นขบวนการใหญ่ที่สามารถชี้นำสังคมได้ อาจจะเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งนั้น

              เขาได้เล่าถึงการทำกิจกรรมในรุ่นตนเองสมัยทศวรรษ  2520-2530 ว่า เป็นช่วงที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหลังป่าแตก และสังคมนิยม ตอนแรกตนคิดว่าการเข้าไปทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครจัดตั้ง แต่เมื่อได้เริ่มสืบค้นมากขึ้น ก็จะเห็นถึงเบื้องหลังของอิทธิพลทางความคิดในการทำกิจกรรม โดยตอนที่ตนเป็นนักเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตอนม.สี่ ราวปี 2522 ก็มีรุ่นพี่มาพูดคุยเรื่องการเมือง ตั้งคำถามถึงเรื่องความเชื่อเดิมๆ ในสังคม จะมีการทำงานที่เป็นแกนปิดลับ มีการจัดอบรมค่ายเยาวชน ร้อยเครือข่ายเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ราว 30 โรงเรียน จัดเป็นนิทรรศการเรื่องสันติภาพ  ว่าด้วยเรื่องสงครามเย็นและเรื่องการเมืองสังคม กิจกรรมนี้เอง ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายของ “เด็กขบถ” ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสืบสาวไปมากขึ้นก็พบว่าสายธารความคิดนี้ มาจากนศ.สมัยสิบสี่ตุลา ซึ่งยังยึดถือแนวความคิดแบบสังคมนิยมอยู่ และเป็นช่วงที่แนวความคิดเรื่องประชาสังคมยังไม่เกิดขึ้นมา โดยต่อมาเมื่อเยาวชนเหล่านี้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็กระจายเข้าไปทำงานในองค์การสโมสรนิสิตนักศึกษาในที่ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นขบวนการนักศึกษาขึ้นมา สนนท. จึงเริ่มเกิดขึ้นในปี 2527 

               ต่อมาเมื่อองค์กรภาคประชาสังคม ชนชั้นกลางเติบโตมากขึ้น  ในช่วงนี้ สนนท.มีการทำงานกับสโมสรนักศึกษาและกลุ่มนศ.ต่างๆ มากขึ้น แต่สมาชิกก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง เพราะสภาพเศรษฐกิจทางการเมืองที่เปลี่ยนไป สนนท. จึงทำงานแบบโดดเดี่ยวมากขึ้น เมื่อรัฐประหารเมื่อปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ สนนท. ร่วมกับกลุ่มกับองค์กรอื่นๆ ในภาคประชาสังคม ก็ได้ออกมาประท้วงต้านรปห. ในช่วงแรก นักศึกษาที่ออกมามีอยู่ 6-7 คน และมีบางส่วนถูกจับ ตนคิดว่าจะมีนศ. ออกมาเข้าร่วมกับขบวนการมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงสนนท. ก็เริ่มโดดเดี่ยวตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 

               ในช่วงนั้น กลุ่มนศ.สมัย 14 ตุลาได้เริ่มเข้ามาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์และทำกิจกรรมต่างๆ ขบวนการนศ. จึงถูกชูเป็นภาพนำ  เพราะตอนนั้นองค์กรภาคประชาสังคมยังไม่เด่นมากนัก ทั้งนี้ เขามองว่า ในสมัย 2535 ไม่สามารถเคลมได้ว่านศ.เป็นผู้นำ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในสมาพันธ์ประชาธิปไตย  ที่เป็นเครือข่ายการต่อต้านรปห. และไม่ได้คิดว่านักศึกษาเป็นขบวนการตั้งแต่ตอนนั้นอีกแล้ว เพราะภาคประชาสังคมเติบโตมากขึ้น เขาไม่ต้องการนศ.ให้เป็นภาพมากเท่าเดิมแล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมหลังปี 2535 เป็นต้นมา นศ. ไม่มีความจำเป็นต่อขบวนการเคลื่อนไหวมากเท่าเดิมอีกต่อไป เนื่องจากเครือข่ายภาคประชาสังคมสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

                ชูวัสกล่าวว่า ปี 2535 เป็นรอยแยกครั้งสำคัญของสายความคิด โดยช่วงนั้นเกิดแนวความคิดที่หมดศรัทธาในประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง เชื่อว่าคำตอบในหมู่บ้าน ชูประเด็นเรื่องคุณธรรม ทำให้ขบวนการนศ./ ประชาชนแยกออกไปสายหนึ่ง มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่าง “นักเลือกตั้ง” “การเมืองแบบนี้ไม่ใช่คำตอบ” กลายเป็นเรื่องการเมืองแบบคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง การต้านทุนนิยม หรือการต้านโลกาภิวัตน์ ในขณะที่นศ. อีกสายหนึ่งก็รู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากทุนนิยมและยังมีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่า อิทธิพลของนศ.รุ่นใหม่ๆ จึงไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การเมืองแบบคุณธรรมง่ายเท่ากับนศ. สมัย พ.ค. 35 
              “หัวใจของขบวนการนศ. คือ แรงบันดาลใจ และแรงใฝ่ฝัน ถ้าคุณไม่มีตรงนี้ จะไปไหนไม่ได้เลย ถ้าคุณไม่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า” ชูวัสกล่าว


               อติเทพ ไชยสิทธิ์ กรรมการบริหาร สนนท. ปี 2553 ตั้งคำถามว่า ในสมัยนี้ นศ. มีภาระน้อยลง มีเวลาว่างทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ทำไมนศ. จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการทางการเมืองน้อยลง นอกจากนี้ มองว่า ข้อเสนอที่บอกว่า นศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เป็นคำธิบายที่ไร้เดียงสาเกินไป เพราะเป็นคำอธิบายที่มาจากวรรณกรรม โดยส่วนตัวไม่คิดว่านศ. เป็นพลังบริสุทธิ์ เพราะนศ.ก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง เพียงแต่ผลประโยชน์เชิงสาธารณะของตนเองอาจจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ แต่ต้องดูว่า สิ่งที่ผลักดันให้คนออกมาเรียกร้องต่อสู้คืออะไร 

                 เมื่อไปตามงานการเมืองต่างๆ ตนมักจะถูกถามว่า นศ. หายไปไหนหมด ในขณะที่ภาพขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลายังถูกมองว่าต้องเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหว ต่อเรื่องดังกล่าว ตนมองว่า ผลประโยชน์ของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ไม่สามารถตอบเขาได้ว่ามีประโยชน์และเสียประโยชน์ได้อย่างไร คือนักศึกษาทุกคนก็มองว่า ตนเองแสดงพลังอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ออกมาแสดงพลังรวมกันเรียกร้อง เช่น การทำค่ายอาสา การทำแล็บวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมอื่นๆ โจทย์คือว่า ต้องทำให้เขารู้สึกว่านักศึกษาทั่วไปสูญเสียผลประโยชน์ร่วมกับเรา จึงจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันได้อีก 

                นอกจากนี้ ต้องถามว่า สนนท. เป็นตัวแทนของอะไรในปัจจุบัน อาจจะบอกได้ว่า เป็นองค์กรตัวแทนของนศ.ที่สนใจการเมืองเท่านั้น ที่มีการจัดสมัชชาประจำปี มีภาระหน้าที่ที่กำหนดตามธรรมนูญ ไม่ได้เป็นตัวแทนของนศ. ประเทศไทยทั้งหมด ที่อยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยมีมา และคนทำงานก็ต้องเข้าใจตนเองถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และ มีโอกาสน้อยมากที่จะกลับไปเป็นสถานการณ์สมัยประวัติศาสตร์ได้อีกครั้ง เพราะในอดีต การที่นศ. ออกมาแสดงพลัง เป็นเพราะกลุ่มภาคส่วนอื่นๆ มันไม่มีพื้นที่และถูกปิดกั้น ในขณะที่นศ. สามารถออกมาได้ เพราะมีพื้นที่และโอกาสมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

               อติเทพ มองอุปสรรคของสนนท.ในปัจจุบันว่า ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่และเทอะทะคล้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์ และความหลากหลายของกลุ่มสมาชิกที่ลดลง ทำให้การทำงานไม่คล่องตัวมากเท่าที่ควรจะเป็น และการนำก็มักจะอยู่ที่กลุ่มนศ. ของม. รามและสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น 

             อติเทพมีข้อเสนอตอนท้ายว่า สนนท. ไม่ควรคิดว่าตนเองเป็นองค์กรนำได้แล้ว แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อและปรับโครงสร้าง เพื่อให้ร่วมเคลิ่อนไหวกับกลุ่มต่างๆ เป็นประเด็นเฉพาะและให้ทันสถานการณ์ วิธีนี้อาจจะทำให้องค์กรใหม่ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น 

              หนึ่งฤดี นวนสาย กล่าวถึงประสบการณ์ส่วนตัว คือการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 54 พ่อแม่ของตนโทรศัพท์มาให้กลับไปเลือกตั้งที่ต่างจังหวัดด้วยความกระตือรือล้น แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านตื่นตัวมากกว่านศ. ส่วนใหญ่ของประเทศเสียอีก ในขณะที่ในสมัยก่อน นศ. มีบทบาทชี้นำชาวบ้านเรื่องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ ชาวบ้านกลับเป็นฝ่ายที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และตื่นตัวมากกว่านศ. ในปัจจุบัน ในฐานะที่เธอได้เข้าร่วมในสมัชชาสนนท. ปีล่าสุด หนึ่งฤดีระบุว่า สนนท. ควรปรับบทบาท คิดถึงบทบาทของตนเอง เพื่อให้องค์กรและกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆ มาเข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ตั้งคำถามว่า สนนท. อาจจะไม่จำเป็นต่อขบวนการนักศึกษาอีกต่อไปแล้วก็ได้ 


ช่วงแลกเปลี่ยน

               จรัล ดิษฐาพิชัย อดีตแกนนำนักศึกษาสมัย 14 ตุลา - 6 ตุลา อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแกนนำนปช. เล่าถึงประสบการณ์สมัยที่ตนเองเป็นนักกิจกรรมนศ.ว่า ในช่วงก่อน 14 ตุลา ช่วงพ.ศ.  2507-2511 กว่าขบวนการนักศึกษาจะเกิดขึ้นมาได้ ก็ใช้เวลาสร้างอยู่หลายปี ในเวลานั้นพวกนักศึกษากิจกรรมก็น้อยมาก ธรรมศาสตร์มีประมาณ 90 คน น้อยที่สุดก็เกษตร 7-8 คน จุฬาฯ มีประมาณ 30 กว่าคน ที่พยายามเคลื่อนไหวและพยายามให้เกิดเป็นขบวนการ 14 ตุลา

             ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารปี 34 โดยคณะรสช. ก็มีนศ.ไม่กี่คนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการรปห. มีการจับกลุ่มคุยในร้านกาแฟเพื่อต่อต้านการปฏิวัติ ก็มีการประชุมกันโดยกลุ่มนักศึกษา มีนักศึกษารามเป็นผู้นำ ตอนนั้นก็มีดร.โคทม อารียา ประชุมกันเรื่องการต่อต้านรปห. ตอนนั้นยังมีนักศึกษาน้อยอยู่ และเมื่อ 19 พ.ย. 34 ก็มีการจัดการชุมนุมกันใหญ่มาก ตอนนั้นนศ. มากันไม่ถึงร้อย แต่ประชาชนมากันเป็นหมื่น นศ. เริ่มเข้ามาชุมนุมกันมากจริงๆ ก็มืเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 35 ที่ถนนอู่ทอง หน้ารัฐสภา และต่อมามาราชดำเนิน สนามหลวง ไม่ใช่ว่านศ. จะออกมาร่วมตั้งแต่ต้น 

            ต่อมาเมื่อ 24 ก.ย. 49 ก็มีการชุมนุมอภิปรายกันเรื่องต่อต้านรปห. ที่จุฬาฯ และก็มีการชุมนุมของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารที่บริเวณหน้าห้างสยามพารากอน นำโดยหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) มีการอภิปราย ตนได้รับเชิญให้มาพูดปราศรัย โดยคนที่มาฟังส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชน แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ขบวนการนศ.อยู่ดีๆ จะใหญ่ขึ้นมาเลย แต่แม้ว่าขบวนการนศ.ไทยจะฟุบมานาน ขบวนการนศ.ไม่มีทางตัน มันจะไปเรื่อยๆ ของมัน

                 จรัญกล่าวว่า เมื่อตอนที่ตนอยู่ที่ฝรั่งเศส ประชาชนฝรั่งเศสก็พูดเหมือนตอนนี้ว่าทำไมนศ.ไม่ค่อยออกมา แต่วันดีคืนดีเกิดเรื่องขึ้นมา มีการต่อต้าน นศ.ก็ออกมากันเยอะมาก ที่ประเทศชิลีนศ.ก็ออกมา แต่แน่นอนว่าหากเปรียบกับทั่วโลกขบวนการนักศึกษาก็ฟุบมานานแล้ว เป็น 20 กว่าปีแล้ว เพราะยุคนี้เป็นยุคของประชาชน นศ.เคยมีบทบาทมากตั้งแต่ศตวรรษ 16-20 ตอนกลาง หลังจากนั้นมา ขบวนการนศ. ทั่วโลกก็ยังมีบทบาท แต่ลดลง อย่าไปคาดหวังว่าจะไปเหมือนสมัย 1960-1970  แต่ตนเชื่อว่า ขบวนการนศ.ไทยอีกไม่กี่ปีจะเกิดมากขึ้น เพราะในฐานะตนเองที่เป็นแกนนำขบวนการเสื้อแดง ยังพยายามดึงกลุ่มขบวนอีกสามกลุ่มที่ยังขาดอยู่ คือ นักศึกษา กรรมกร และชาวนา

ปิยบุตร แสงกนกกุล สมาชิกคณะนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (ที่มาข้อความจากเฟซบุ๊ก) 

              ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับอติเทพ 

             ผมเห็นว่า ยุคสมัยนี้ นักศึกษาไม่ได้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยแล้ว และถ้าเป็นไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็น เพราะ ถ้าเราติดกรอบ "นักศึกษา" นั่นหมายความว่า อายุการใช้งานมันสั้นมาก เพียง ๔ ถึง ๕ ปี 

              ในหลายประเทศ ขบวนนักศึกษา เขาเรียกร้องกันแต่เรื่องตัวเอง เช่น ขึ้นค่าเทอม เสรีภาพการแสดงออก มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 

              อันนี้ อาจเป็นลักษณะของ กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม ของต่างประเทศ ที่แตกต่างจากเรา คือ กลายเป็นกลุ่มแบบปัจเจก ตั้งขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่ม และต่อรองเจรจา กลุ่มของนักศึกษา ก็ไม่ต่างอะไร กับสหภาพแรงงานครู สหภาพแรงงานรถไฟ สมาคมกรีนพีซ สหภาพผู้พิพากษา สหภาพตำรวจ คือ ตั้งเพื่อรักษาประโยชน์ตนเอง เข้าร่วมเจรจาต่อรองในการหาฉันทามติต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมืองภาพใหญ่ 

               ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในต่างประเทศ อุดมการณ์ ระบอบเสรีประชาธิปไตยฝังลึกไปแล้ว 

                สภาพการณ์ปัจจุบัน หากมองแบบความเป็นจริง ขออนุญาตพูดตรงไปตรงมา กิจกรรมนักศึกษาเป็นเพียง "ห้องทดลอง" ให้ฝึกทำกิจกรรม พอฝึกทดลองเสร็จ ประมาณปี ๔ ก็เริ่มถอยออก เพราะต้องเตรียมเรียนต่อ ต้องเตรียมหางานทำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบบ แล้วเรียนจบ ก็จะหายไป เว้นเสียแต่ว่าคนที่มุ่งประกอบอาชีพนักกิจกรรม เอนจีโอ 

              ผมเห็นว่า กิจกรรมนักศึกษา น่าจะเปลี่ยนรูปให้รับกับสถานการณ์ใน ๒ รูปแบบ 

              หนึ่ง เน้นเรื่องประโยชน์ของนักศึกษา เช่น ขึ้นค่าเทอม, สวัสดิการนักศึกษา ฯลฯ 

             สอง เน้นการทำงานทางความคิดอย่างจริงจัง จับกลุ่มศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อ่านหนังสือ แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้อวมีแกนใหญ่ จับกลุ่มกันเองเล็กๆตามหัวข้อที่สนใจคล้ายๆกัน (อ่านจริงจังนะครับ ไม่ใช่ตั้งวงเหล้า แล้วคุยๆๆ ตื่นเช้าลืม) เผื่อเตรียมการสำหรับวันหน้าที่ใกล้จะมาถึงแล้ว

             รูปแบบของนักศึกษา ไม่จำเป็นต้องเน้นเรื่องการเมืองใหญ่โตเลย ใครชอบ ใครสนใจก็ทำ แต่ว่าไม่จำเป็นต้อง "ถวิลหา" บทบาทของนักศึกษาในทางการเมือง

             การทำกิจกรรมแบบที่ผมเสนอนั้น ถ้าสถานการณ์การเมืองสุกงอมเต็มที่ ขบวนการนักศึกษาก็จะถูกรวมเข้าไปเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาพใหญ่โดยตัวมันเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น