วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จะขึ้นศาล หรือจะปฏิรูป?







 จะขึ้นศาล หรือจะปฏิรูป? เส้นทางสู่กองทัพประชาธิปไตย 

โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1680 หน้า 36 

"ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องการลัทธิประชาธิปไตย กองทัพก็ต้องการลัทธิประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตยในกองทัพจะเป็นอาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำลายความเป็นกองทัพรับจ้างแบบศักดินา" ประธานเหมาเจ๋อตุง 25 พฤศจิกายน 1928

             เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวใหญ่ที่ปรากฏออกในสื่อทั่วโลกก็คือ ศาลอาญาของประเทศตุรกีได้พิพากษาให้ทหารที่มีส่วนในการรัฐประหารเป็นจำนวน ถึง 365 คน ถูกตัดสินจำคุก  และส่วนหนึ่งของคำตัดสินนี้ส่งผลให้นายทหารเหล่านี้บางส่วนต้องถูกจำคุกเป็นเวลาสูงถึง 20 ปี  แน่ นอนว่าคำตัดสินของศาลเช่นนี้ส่งผลโดยตรงให้บทบาทของทหารในการเมืองตุรกี เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง หรืออีกนัยหนึ่งคำตัดสินดังกล่าวทำให้อิทธิพลและอำนาจของทหารในการเมือง ตุรกีลดลงโดยปริยาย ดัง จะเห็นได้จากรูปธรรมของคำตัดสินที่อดีตผู้บัญชาการทหาร อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ถูกตัดสินโทษตลอดชีวิต และลดโทษเหลือเพียง 20 ปี พร้อมกับนายทหารระดับนายพลอีก 6 คน ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี

             ซึ่งหากย้อนกลับไปสู่อดีต คำตัดสินเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่จะคิดถึงเพียงเรื่องของการจับผู้นำทหารขึ้นศาลก็เป็นประเด็นที่เป็นไป ไม่ได้แล้ว  แต่ เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นก็เท่ากับการบ่งบอกถึงระยะเปลี่ยนผ่านทางการ เมืองของตุรกีก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของ "การสร้างความเข้มแข็ง" ให้แก่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือก็บ่งบอกถึงความหมายในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบ การเมืองแบบการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงให้ได้

              และในกระบวนการเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพยังคงเป็นประเด็นสำคัญในกรณี นี้  เพราะ การจะทำให้กระบวนการของการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้น ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น รัฐบาลพลเรือนจะต้องมีขีดความสามารถทางการเมืองที่ทฤษฎีในวิชารัฐศาสตร์ เรียกว่า "การควบคุมโดยพลเรือน" ซึ่งตัวแบบที่เกิดขึ้นจากตุรกีก็คือการส่งสัญญาณถึงสมดุลของอำนาจในทางการ เมืองที่เปลี่ยนแปลงไป  สัญญาณ ของปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ อำนาจทางการเมืองที่ถูกผูกขาดรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้นำทหารนั้นได้ถูกส่ง ผ่านมายังผู้นำรัฐบาลพลเรือนแล้ว

              ดังนั้น ปฏิบัติการของคำตัดสินของศาลในการจำคุกผู้นำทหารที่เคยมีบทบาทในการยึดอำนาจ รัฐบาลพลเรือนตุรกี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปในสังคมตุรกีว่า "ปฏิบัติการค้อนเหล็ก" (The Sledgehammer) ก็คือการส่งสัญญาณถึงทิศทางการเมืองใหม่ของประเทศ  และเป็นการเมืองที่อำนาจเคลื่อนไปอยู่ในมือของผู้นำพลเรือนมากขึ้น

              ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลกล่าวกับสำนักข่าว CNN อย่างตรงไปตรงมาในกรณีนี้ว่า "คำตัดสินของศาลคือการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงกองทัพว่า เวลาของกองทัพในการเมืองนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว"  ดัง นั้น การตัดสินของศาลในครั้งนี้ก็คือ การบอกว่า "ใครก็ตามที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะ ต้องคิดแล้วคิดอีก" เพราะอย่างน้อยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ แม้พวกเขาจะประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ก็มิได้หมายความว่า ความสำเร็จดังกล่าวจะทำให้บรรดานายทหารทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะไม่ต้องถูก ฟ้องร้องในศาล  และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พวกเขาอาจถูกพิพากษาให้ต้องจำคุกได้

              กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าแม้จะรัฐประหารสำเร็จในวันนี้ แต่ก็อาจติดคุกได้ในวันหน้า เพราะความสำเร็จในการยึดอำนาจไม่สามารถคุ้มครองให้กลุ่มทหารพ้นจากคำพิพากษา ของศาลได้  กระบวน การ "ค้อนเหล็ก" ในการสอบสวนคดีรัฐประหารของผู้นำทหารนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 และว่าที่จริงการเริ่มการสอบสวนดังกล่าวก็คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการถดถอยของ อำนาจของทหารในการเมืองตุรกี   เพราะ แต่เดิมนั้น อำนาจของกองทัพในการเมืองเป็นประเด็นที่แตะต้องไม่ได้เลย และสำหรับผู้นำทหารแล้ว พวกเขาก็เป็นกลุ่มอำนาจที่แตะต้องไม่ได้เลยเช่นกัน  ดัง นั้น คำตัดสินของศาลในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูสู่การเมืองใหม่ของตุรกี และเป็นการเมืองที่เดินคู่ขนานไปกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของประเทศ  จน หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนอย่างสำคัญของการต่อสู้ระหว่างผู้นำทางโลก 2 กลุ่มของสังคมตุรกีคือ กลุ่มพลเรือนกับกลุ่มทหาร และผลของคำตัดสินครั้งนี้ยังสะท้อนทิศทางใหม่ของการเมืองตุรกีที่ผู้นำ พลเรือนมีอำนาจมากขึ้น  ดัง นั้น คงต้องยอมรับว่าจนถึงวันนี้ การเมืองตุรกีได้เปลี่ยนไปแล้ว และเป็นการเมืองชุดใหม่ที่ยุคทองของทหารในการเมืองที่มาพร้อมกับการรัฐ ประหารกำลังปิดฉากลงจริงๆ แล้วในการเมืองตุรกี

              ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่าน มา ก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันที่มีการนำเอาผู้นำทหารขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม  แต่ไม่ใช่เรื่องของการรัฐประหาร หากเป็นเรื่องของการคอร์รัปชั่น  ซึ่ง ก็คือการส่งสัญญาณถึงการสิ้นสุดอำนาจของทหารในการเมืองเกาหลีใต้เช่นกัน เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองในอดีต ก็จะพบว่าเกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็น ผู้ปกครอง และรัฐบาลทหารในเกาหลีใต้ก็อยู่อย่างยาวนานพอสมควร  แต่จนถึงวันนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่หวนกลับมาอีกแต่อย่างใด

             หากเราเชื่อว่าปัจจัยภายนอกจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นประเด็นสำคัญใน การสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพในการทำรัฐประหารแล้ว  กอง ทัพเกาหลีใต้ปัจจุบันกลับไม่สามารถอ้างความชอบธรรมดังกล่าวได้ แม้กองทัพเกาหลีเหนือจะเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน ซึ่งมีทั้งขีปนาวุธพิสัยกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ก็ยังมีกองทัพบกขนาดใหญ่โดยมีการจัดกำลังพลมากเป็นจำนวนถึง 27 กองพลและ 14 กองพลน้อยทหารราบ ในขณะที่กองทัพเกาหลีใต้มีกำลังพลทหารราบ 17 กองพล เป็นต้น   ดัง นั้น แม้ว่าภัยคุกคามทางทหารจากภายนอกจะมีความชัดเจน แต่ก็มิได้หมายความว่าภัยคุกคามนี้จะกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพเกาหลีใต้ หวนกลับสู่เวทีการเมืองอีกแต่อย่างใด  ประกอบกับก็เห็นได้ชัดเจนถึงความเข้มแข็งของรัฐบาลพลเรือนหลังจากการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น

              และจนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว  ดัง จะเห็นได้ว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง ประชาธิปไตยที่ทำให้บทบาทการแทรกแซงทางการเมืองของทหารสิ้นสุดลงจริงๆ   หรือ อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมเกาหลีใต้ที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามของเกาหลีเหนือก็มิได้ออกมาเรียก ร้องให้กองทัพเกาหลีใต้กลับมาเป็น "ผู้ปกป้อง" ทางการเมืองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลทหารอีกแต่อย่างใด

              ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ผ่านประสบการณ์ของการรัฐประหารมาอย่างโชกโชน เช่น ในกรณีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็เปลี่ยนแปลงไป แต่หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่ากองทัพของทั้งสองประเทศมีบทบาทอย่างมากในทาง การเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอินโดนีเซียนั้นถือได้ว่า รัฐบาลทหารของประธานาธิบดีซูฮาร์โตเป็นหนึ่งในระบอบการปกครองของทหารที่มี อายุยาวนานของโลก  แต่ ด้วยผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย และส่งผลกระทบทั่วทั้งภูมิภาคจนกลายเป็นวิกฤตทางการเมือง และทำให้รัฐบาลทหารของอินโดนีเซียต้องยุติบทบาทไปในปี 2540 แม้จะมีข่าวลือเกี่ยวกับความพยายามของทหารในการหวนกลับสู่การยึดอำนาจใน จาการ์ตา แต่ก็เห็นได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นเพียง "ข่าวลือ"  และ จวบจนปัจจุบันรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็น ปกติ และกล่าวได้ว่า ระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียสิ้นสุดลงจนสามารถสร้างความเข้ม แข็งให้แก่ระบอบการปกครองของพลเรือน จนเรื่องของทหารกับการแทรกแซงทางการเมืองในอินโดนีเซียน่าจะเป็นสิ่งที่สิ้น สุดไปแล้ว

              ในกรณีของกองทัพฟิลิปปินส์ก็เป็นในทิศทางเดียวกัน ทหารในอดีตจะถูกใช้เป็นฐานอำนาจของรัฐบาลเผด็จการของประธานาธิบดีมาร์คอส แม้รัฐบาลมาร์กอสจะสามารถควบคุมกองทัพได้ และรัฐประหารเป็นเรื่องที่ไม่เกิดในมะนิลา แต่หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการแล้ว ก็เช่นเดียวกับในหลายๆ กรณีที่ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยล้วนเต็มไปด้วยข่าว ลือของการรัฐประหาร แต่จนแล้วจนรอด รัฐประหารก็เป็นเพียงข่าวลือท่ามกลางปัญหาการเมืองในมะนิลา   นอก จากนี้ ทั้งในกรณีของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียนั้น รัฐบาลประชาธิปไตยของประเทศทั้งสองยังได้สร้างหลักประกันเพื่อให้การเมือง พลเรือนไม่ถูกโค่นล้มจากการยึดอำนาจของทหารอีก โดย มีการสร้างกระบวนการ "ปฏิรูปภาคความมั่นคง" (Security Sector Reform หรือ "SSR") เพื่อให้กองทัพอยู่ภายในกรอบการเมืองของระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง

              แนวคิดเรื่องการปฏิรูปภาคความมั่นคงเป็นเรื่องใหม่ เพราะไม่ใช่แต่เพียงข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพเท่านั้น หากแต่การปฏิรูปได้พุ่งเป้าไปสู่องค์กรความมั่นคงทั้งหมด ทั้งกองทัพ ตำรวจ ระบบยุติธรรม ซึ่งรวมถึงงานอัยการและงานราชทัณฑ์ ตลอดรวมทั้งหน่วยข่าวกรองอีกด้วย  แนว คิดเช่นนี้เป็นกระแสหลักประการหนึ่งของยุคหลังสงครามเย็น ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปแก่หน่วยงานความมั่นคงทั้งระบบ และหวังว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะมีส่วนโดยตรงต่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ ระบอบประชาธิปไตย  ตัวอย่างของการปฏิรูปภาคความมั่นคงในฟิลิปปินส์ทำให้เห็นชัดเจนถึงการควบคุมโดยพลเรือนตามทฤษฎีของวิชารัฐศาสตร์

              กล่าวคือ กองทัพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยประธานาธิบดี (ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน) โดยรัฐสภา และโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนอกจากนี้การกำกับยังเกิดขึ้นจากองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในสายงานราชการโดย ตรง ได้แก่ การกำกับโดยองค์กรในภาคประชาสังคม เช่น บทบาทในการตรวจสอบกองทัพโดยสื่อมวลชน หรือการตรวจสอบที่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น  ภาพอย่างสังเขปของการปฏิรูปภาคความมั่นคงในฟิลิปปินส์สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โอกาสของการรัฐประหารน่าจะจบลงแล้ว

             เช่นเดียวกับกรณีของกองทัพอินโดนีเซียซึ่งก็อยู่ภายใต้กระบวนการของการปฏิรูปภาคความมั่นคงไม่แตกต่างกัน ซึ่ง ผลของการปฏิรูปเช่นนี้ไม่แต่เพียงทำให้กองทัพอินโดนีเซียซึ่งเคยมีความแข็ง แกร่งอย่างมากในทางการเมือง แต่วันนี้กลับยอมรับการควบคุมโดยพลเรือน และทั้งยังยอมรับอย่างมีนัยสำคัญว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของการป้องกันประเทศของอินโดนีเซียเป็นเรื่องของการตัดสินใจ ทางการเมืองของประธานาธิบดีพลเรือนและองค์กรด้านนิติบัญญัติของประเทศ โดยการตัดสินใจเช่นนี้วางอยู่บนพื้นฐานของหลักความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตย  

            ผลพวงของการปฏิรูปดังกล่าวผสมกับการขับเคลื่อนของระยะเปลี่ยนผ่านสู่ ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โอกาสของการยึดอำนาจในกรุงจาการ์ตาเป็นเรื่องที่ห่างไกลอย่างมาก ซึ่ง ก็คือการเปิดโอกาสให้กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยเดิน หน้าไปสู่ความสำเร็จไม่แตกต่างจากกรณีของฟิลิปปินส์ และว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างจากกรณีของตุรกีและเกาหลีใต้

             แต่ในกรณีของไทย ปัญหาทหารกับการเมืองยังต่างจากตัวแบบในข้างต้นอย่างมาก  
             โอกาสของการรัฐประหารยังเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในเวทีการเมืองที่กรุงเทพฯ อยู่เสมอๆ  
             จนทำให้ต้องตระหนักว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ตกทอดมาจากบทบาทของทหารกับการเมืองไทยในอดีตที่ถูกผนวก อย่างมีนัยสำคัญกับผลของรัฐประหาร 2549 ก็คือปัญหาทหารกับการเมืองไทย

             ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า แล้วปัญหานี้จะจบลงอย่างไรในอนาคต...!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น