วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน

 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: มาตรา 112 กฎหมายป่าเถื่อน
Posted: 11 Nov 2012 06:26 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)




           เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาคดีทิ่นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นจำเลยในความผิดตามมาตรา ๑๑๒ (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)และความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่า ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ”ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” คุณสุรภักดิ์จึงได้รับอิสรภาพในวันเย็นนั้นเอง

           คดีนี้ ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ เจ้าพนักงานชุดจับกุมของกรม สอบสวนคดีพิเศษ ในชุดนอกเครื่องแบบประมาณ ๑๐ คน ได้บุกเข้าจับกุมนายสุรภักดิ์  ภูไชยแสง  วัย ๔๐ ปี โปรแกรมเมอร์อิสระ ชาวจังหวัดบึงกาฬ ที่ห้องพักในซอยมหาดไทย ลาดพร้าว โดยกล่าวหาว่า คุณสุรภักดิ์กระทำความผิด เพราะเป็นเจ้าของเฟซบุคชื่อ “เราจะปกครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” ซึ่งมีการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทางการตำรวจได้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ แบบพกพา  คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แอร์การ์ด  รวมทั้งแผ่นซีดีไปด้วย กรณีนี้ เป็นการจับกุมผู้ต้องหากรณี ๑๑๒ เป็นคดีที่สองในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากคดีนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          หลังการจับกุม ได้มีการอ้างจากกลุ่มล่าแม่มดทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ชื่อ “เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ;ว่าเป็นผู้ข้อมูลแจ้งความให้เกิดการจับกุม จากนั้น ได้โพสต์ข้อความในสนทนาการเมืองเสรีไทยว่า “วันนี้สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่เคยส่งผลทำร้ายประชาชนคนไทยที่เป็นปกติชนเลย  แต่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคล กลุ่มคน ที่มีจิตใจ มีพฤติกรรมในการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่เราเคยได้รับแจ้งมา ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อภาพที่ไม่เหมาะสม การเผยแพร่คลิปเสียงที่ เป็นข้อมูลที่ผิดและบิดเบือนมาเผยแพร่ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  กฎหมายมาตรานี้จึงจะมีผลบังคับใช้ ฉะนั้นแล้วก็อย่ามาโอดครวญ จงก้มหน้ายอมรับโทษกับผลกรรมที่ตัวเองได้ทำไว้”

           แต่วันนี้ เมื่อศาลยกฟ้องกรณีคุณสุรภักดิ์แล้ว ไม่รู้ว่ากลุ่มล่าแม่มดทางอินเตอร์เนตจะมีความสำนึกอะไรหรือไม่

           แม้ว่าในวันนี้ศาลจะยกฟ้องและได้รับการปล่อยตัว แต่ปัญหาจากกรณีนี้ยังมีอยู่หลายประการ ตั้งแต่เรื่องการติดคุกฟรี เพราะคุณสุรภักดิ์ถูกคุมขังตั้งแต่หลังการจับกุม เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงเท่ากับว่า คุณสุรภักดิ์ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำโดยปราศจากความผิดมาแล้ว ๑๔ เดือน คุณสุรภักดิ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราในรัฐธรรมนูญกลับกับมีค่าไม่เท่ากัน การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้เขามีความยากลำบากในการต่อสู้คดีอย่างมาก การถูกคุมขังทำให้สูญเสียทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการงาน ครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจเยียวยาได้ ทั้งที่รัฐไทยมีงบประมาณปกป้ององค์กรต่างๆ มากมายแต่กลับไม่มีการปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

            ปัญหาที่มากกว่านั้นก็คือ ในโลกนานาชาติ คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สมัยใหม่แห่งเสรีภาพทางความคิด ไม่มีประเทศที่ก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยประเทศไหน จะมีการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดทางคอมพิวเตอร์เช่นนี้ นอกจากประเทศอย่าง พม่า จีน และ เกาหลีเหนือ ดังนั้น การใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ร่วมกับกฎหมายมาตรา ๑๑๒ มาควบคุมความคิดของประชาชนจึงเป็นเรื่องล้าหลัง และมาจากรากฐานความคิดแบบด้านเดียว

            ปัญหาของมาตรา ๑๑๒ โดยรากฐานแล้วเป็นกฎหมายป่าเถื่อน เพราะมีบทลงโทษที่หนักเกินจริง และกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทั้งที่เป็นกฎหมายผลพวงเผด็จการ เพราะแต่เดิมมา กฎหมายนี้มีบทลงโทษให้จำคุกไม่เกิน ๗ ปี แต่หลังจากการรัฐประหารในกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งเป็นการยึดอำนาจหลังการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน คณะผู้ยึดอำนาจซึ่งใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกคำสั่งฉบับที่ ๔๑ ให้มีการเพิ่มโทษในมาตรา ๑๑๒เป็น”จำคุกตั้งแต่ ๓ ปีถึง ๑๕ ปี”

            ประเด็นสำคัญคือ กฎหมายนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนที่คิดแตกต่าง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นต้นมา ที่มากเป็นกรณีพิเศษคือ ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการกลั่นแกล้ง กล่าวหา และกวาดล้างประชาชนด้วยข้อหาตามมาตรา ๑๑๒ มากที่สุด จนทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจับกุม และศาลก็ได้ร่วมมือในการใช้กฎหมายเผด็จการนี้ ด้วยการห้ามการประกันตัวสำหรับ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้แทบทั้งหมด จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในคุกมาแล้ว เช่น กรณีอากง หรือ นายอำพน ตั้งนพคุณ และจนถึงขณะนี้ ก็ยังมีผู้บริสุทธิ์ติดคุกภายใต้กฎหมายนี้ เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลป์กุล สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น

           เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะต้นปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดยกลุ่มนิติราษฎร์ ได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ เพือรวบรวมรายชื่อประชาชนในเวลา ๑๑๒ วัน เพื่อให้มีการพิจารณาปฏิรูปกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ให้ลดความป่าเถื่อนและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในที่สุด ก็สามารถรวบรวมเสียงประชาชนได้ ๓๙,๑๘๕ รายชื่อ และเสนอต่อประธานรัฐสภาให้พิจารณาในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕

          จากนั้น เรื่องในรัฐสภาก็เงียบหายไป จนกระทั่งมีรายงานข่าวเมื่อปลายเดือนตุลาคม จากเว็บไซต์รัฐสภาว่า ประธานรัฐสภาสั่งจำหน่ายเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายนนี้ เนื่องจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด ๕ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จึงจะไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ ในวาระการประชุมรัฐสภา

            ปรากฏว่า มีปฏิกิริยาไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของประธานสภา จากนักวิชาการคณะครก.๑๑๒ และ สื่อมวลชนบางส่วน บ้างก็ตั้งคำถามต่อการที่ประธานสภาคนเดียวมีข้อวินิจฉัยมากกว่าเสียงประชาชนที่ลงชื่อหลาย หมื่นคน ดังนั้น นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้แถลงเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนนี้ว่า การขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และอธิบายว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจในเรื่องนี้เพียงตัวคนเดียวไม่ได้ ข้อสรุปที่เกิดขึ้นผ่านการพิจารณาจากฝ่ายข้าราชการประจำ อีกทั้งนายนิคม ไวรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา ก็ได้ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน จึงอยากเรียกร้องให้บุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชนหยุดการแสดงความคิดเห็นในลักษณะผิดๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและขาดความศรัทธาในระบบรัฐสภาของไทย

            แต่ปัญหาที่ประธานสภาสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ไม่ได้อธิบายคือ ผลกระทบที่กฎหมายป่าเถื่อนฉบับนี้ กลายเป็นเครื่องมือลงโทษผู้บริสุทธิ์ และยิ่งกว่านั้น ข้อเสนอปฏิรูปกฎหมาย ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ นับว่าเป็นข้อเสนอที่อ่อนและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยมากที่สุด สมควรที่จะพิจารณาที่สุด และตราบเท่าที่กฎหมายป่าเถือนเช่นนี้ ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือยกเลิก สังคมไทยก็คงจะได้ชื่อว่าเป็นสังคมแห่งความมืดในด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น