วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เสรีภาพกับความจริงในสังคม *อปกติ*

 สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีภาพกับความจริงในสังคม *อปกติ*
Posted: 09 Feb 2013 04:45 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สุรพศ ทวีศักดิ์

           บทความ “มนุษยภาพ” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม ยังมีเนื้อหาสาระที่สื่อมวลชน นักวิชาการ หรือชาวพุทธปัจจุบันพึงไตร่ตรอง

ความจริงและความซื่อตรงจะต้องไปด้วยกันเสมอ ความซื่อตรงคือความจริง และความจริงก็คือความซื่อตรง...ถ้าเราไม่สู้หน้ากับความจริงนั่นแปลว่า เราได้หันหน้าเข้าหาความหลอกลวงหรือความโกหกตอแหล...แม้ในทางพุทธศาสนาก็สอนให้มนุษย์สู้หน้ากับความจริง ให้เชื่อด้วยมีใจศรัทธา มิใช่ให้เชื่อด้วยความงมงาย หรือหลอกลวง หรือข่มขี่บังคับ การโกหกตอแหลนั่นเทียวที่เป็นบ่อเกิดของความปั่นป่วนจลาจล และนำความเดือดร้อนมาสู่มนุษยชาติ...

          นี่เป็นข้อเขียนเมื่อร่วม 80 ปีมาแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันเรายังไม่อาจข้ามพ้นยุคสมัยที่สื่อมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง คำสอนของพุทธศาสนาตามนัยอริยสัจที่ว่า “จะแก้ปัญหาใดๆได้ต้องรู้กระจ่างในความจริงของปัญหา และสาเหตุของปัญหานั้นๆก่อน” ก็ไม่อาจนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาสังคมการเมืองตามที่เป็นอยู่จริงได้เลย ตราบที่เราไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริง ตราบที่สังคมยังมองความเห็นต่างเป็นความผิดบาป และยังยอมรับการมี “นักโทษทางความคิด”

           ความคิดที่ก้าวหน้าทั้งปวงในโลกนี้ต่างสรรเสริญเสรีภาพและความจริง การใช้อำนาจเผด็จการใดๆปิดกั้นเสรีภาพเป็นการไม่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ หรือกดความเป็นมนุษย์ให้ต่ำลง ดังที่จอห์น สจ๊วต มิลล์ เขียนไว้ว่า

“ระบบ อำนาจเด็ดขาดที่เลว ยังดีกว่าระบบอำนาจเด็ดขาดที่ดี เพราะระบบอำนาจเด็จขาดย่อมทำให้ (ประชาชน) ต่ำต้อยเสมอ และถ้าหากระบบนี้มีเมตตาธรรมแล้ว ประชาชนก็มักที่จะยอมรับเอาความต่ำต้อยของตนเข้าไว้” (ฮาร์มอน,เอ็ม.เจ.ความคิดทางการเมืองจากเปลโตถึงปัจจุบัน แปลโดยเสน่ห์ จามริก 2555, 537)

           นี่หมายความว่า แม้ระบบเผด็จการจะอ้างเมตตาธรรมหรือคุณธรรมความดีใดๆ แต่เนื้อหาของความเป็นเผด็จการ คือการบีบบังคับหรือครอบงำทางความคิดให้ประชาชนยอมรับความต่ำต้อยของตนเอง ประชาชนไม่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพทางปัญญาของตนเองในการแสวงหาความจริง หรือมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ก้าวหน้าได้ เพราะไม่มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น

          เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสำคัญอย่างไร มิลล์เขียนไว้ใน On Liberty อย่างน่าคิดว่า “ถ้าในบรรดามนุษยชาติทั้งหมด มีเพียงคนเดียวที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับคนทั้งหมด มนุษย์ทั้งหมดก็ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะปิดปากคนเพียงคนเดียวนั้นได้มากไปว่าที่เขาคนเดียวนั้นจะมีเหตุผลอันสมควรที่จะปิดปากคนทั้งหมดได้ หากเขาผู้นั้นมีอำนาจ”

          ทำไมมิลล์จึงคิดเช่นนั้น ก็เพราะว่าการปิดปากความคิดเห็นหนึ่งย่อมเท่ากับเป็นการปล้นมนุษยชาติ ถ้าหากความคิดเห็นนั้นถูกต้อง ย่อมสูญเสียโอกาสที่คนทั้งหมดจะได้รู้ แต่หากความคิดเห็นนั้นผิดคนทั่วไปก็ยังสูญเสียโอกาสที่จะได้เห็นความจริงที่เชื่ออยู่เดิมชัดเจนขึ้น มีชีวิตชีวาขึ้น ความเห็นต่างแม้เพียงความเห็นเดียวก็มีค่าต่อการเปลี่ยนความเห็นผิดของคนทั้งหมดให้ถูกต้องได้ และหากความเห็นต่างนั้นผิดก็ยังมีประโยชน์อยู่ดี เพราะเท่ากับความเชื่อหลักของสังคมได้ถูกท้าทายและปกป้องความถูกต้องของตัวมันเองอย่างมีชีวิตชีวา ฉะนั้น จึงไม่ควรปิดปากความเห็นต่างไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ตราบที่ความเห็นต่างนั้นไม่ละเมิดเสรีภาพในชีวิตร่างกายของคนอื่นๆ

          แต่ขณะที่วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐกล่าวถึงกรณีการตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขว่า “แน่นอนว่าไม่มีใครควรถูกจำคุกจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ และเราได้กระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในทางส่วนตัวและสาธารณะให้ทางการไทยรับรองว่าการแสดงออกไม่ใช่อาชญากรรม และพิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธะกรณีของไทยในทางสากล” (ประชาไท) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อมรา พงศาพิชญ์ กลับออกมาพูดอย่างไม่รู้สึกรู้สากับการมีนักโทษทางความคิดในประเทศนี้ว่า "สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุม ประเทศเรามีเหลือเฟือจนทะเลาะกันเอง แต่บางประเทศยังไม่มี” (ประชาไท)

           สังคมไทยที่มักอ้างศีลธรรมของพุทธศาสนาเข้าไปอธิบาย ตัดสินการกระทำ การแสดงออกของปัจเจกบุคคล ตลอดถึงอ้างในทางสังคมการเมืองเพื่อตัดสินว่านักการเมืองเป็นเทวทัต เป็นชูชก เป็นเปรต เดรัจฉาน ฯลฯ แต่เชิดชูเจ้าสูงส่งไร้ที่ตินั้น เป็นสังคมที่ไม่มีศีลธรรมตามหลักพุทธศาสนาเลย เพราะ “ศีล” แปลว่า “ปกติ” การใช้อคติด่านักการเมืองเลวแต่ชูเจ้าดีอย่างเดียวเป็นเรื่อง “อปกติ” การมีนักโทษทางความคิดเป็นเรื่อง “อปกติ”

           ที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ ความไม่รู้สึกรู้สาต่ออคติทางศีลธรรม หรือการใช้ “สองมาตรฐานทางศีลธรรม” ระหว่างนักการเมืองกับเจ้า และการมีนักโทษทางความคิด นี่คือภาวะอปกติซ้อนอปกติ หมายถึงความไร้ศีลธรรมซ้อนความไร้ศีลธรรมเป็นชั้นๆ ในภาวะเช่นนี้คนเล็กคนน้อยคือเหยื่อ แค่นับจากกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาถึงบัดนี้เหยื่อที่ติดคุก หนีออกนอกประเทศ ถูกฆ่าตายมีจำนวนนับไม่ถ้วนแล้วไม่ใช่หรือ

          แล้วเราก็เทศนากันต่อไปทั้งพระ สงฆ์ นักวิชาการพุทธศาสนา ผู้รู้สารพัด ว่า เมืองไทยนี้ดี มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาแห่งการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ ความยุติธรรม ศาสนาที่สอนให้คนไทยมีเมตตาธรรม เสียสละ มองสรรพสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์

          ที่ผมเขียนแบบนี้เหมือนเรียกร้องกับ พระ กับนักวิชาการพุทธมากไป แต่ที่จริงผมคิดว่ามันเป็น “สามัญสำนึก” มากกว่า บ้านเมืองผิดปกติมากขนาดนี้ ชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เขาไม่เคยอวดอ้างคุณค่าสูงส่งของพุทธศาสนาดังพระและนักวิชาการพุทธ เขายัง “ตื่นรู้” มองเห็นความผิดปกติอย่างยิ่งในบ้านเมืองนี้ แต่พระสงฆ์นักวิชาการพุทธใหญ่ๆ กลับเงียบกริบอย่าง “ผิดปกติ” มาก แถมยังแสดงโวหารทำนองว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้มากๆ นั้นคือพวกอยากดัง

ไม่ละอายต่อจิตวิญญาณแบบศรีบูรพาบ้างหรือครับ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น