ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556
ในช่วงระยะสองปีมานี้ ขบวนการโจมตีรัฐบาลและบริษัท ปตท. จำกัด
(มหาชน) ในประเด็นราคาน้ำมันแพง ได้ขยายตัวขึ้นจนเป็นประเด็นถกเถียงทั่วไป
เกิดเป็นเครือข่ายกลุ่ม “ทวงคืน ปตท.” หรือ “ทวงคืนพลังงานไทย”
มีผู้คนเข้าร่วมบนสื่อออนไลน์หลายพันคน
แม้แต่คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมด้วย
ขบวนการ “ทวงคืน” ดังกล่าว
มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ริเริ่มโดยนักเคลื่อนไหวองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา
เริ่มแรกมุ่งโจมตีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยรักไทยโดยรวม
และเน้นไปที่การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท
ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544
ในเวลานั้น คนพวกนี้กล่าวหาว่า มีการแจกจ่ายหุ้น
ปตท.ในหมู่นักการเมืองพรรคไทยรักไทยและเครือญาติ ชูป้าย “ทวงคืนสมบัติชาติ”
ต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ในกรณีของ ปตท.
ก็ได้ไปฟ้องเป็นคดีในศาลปกครอง ให้ยกเลิกการแปลงสภาพ ปตท.
ซึ่งยืดเยื้อมาถึงปี 2550
เมื่อเกิดกรณีการจดทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารในสมัยรัฐบาลพรรคพลัง
ประชาชน กลุ่มสันติอโศก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนักการเมือง
สว.กลุ่มเผด็จการก็รวมตัวกันเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย”
ฉวยใช้กรณีปราสาทพระวิหาร
ปลุกกระแสคลั่งชาติเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชน
เรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ปี 2543
ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา
การเคลื่อนไหว “ทวงคืนแผ่นดินไทย”
ได้ขยายประเด็นปราสาทพระวิหารไปสู่พื้นที่ทับซ้อนอื่น ๆ
ตลอดแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา แล้วเอามาผูกโยงกับประเด็นผลประโยชน์พลังงาน
โดยลากเส้นพรมแดนของพวกตนลงไปครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
เพื่อแสดงว่า การ “สูญเสียดินแดน” บนบกจะนำไปสู่การ
“สูญเสียพื้นที่ทางทะเล” ให้แก่กัมพูชาด้วย จากนั้นก็กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร รัฐบาลพรรคพลังประชาชน
ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปัจจุบันว่า เป็น “ทุนสามานย์”
ขายแผ่นดินไทย (คือปราสาทพระวิหาร พื้นที่ทับซ้อน และพื้นที่ทะเล)
ให้กัมพูชา
เพื่อแลกกับสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย
กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มพันธมิตรฯ
สูญเสียมวลชนไปเกือบหมดจากความขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และความแตก
แยกกันเองในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่กลุ่ม “ทวงคืน”
ก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป โดยหวนกลับมาที่ประเด็น ปตท.อีกครั้ง
แต่คราวนี้ได้ผนวกเอาประเด็นราคาน้ำมันแพงเข้ามาด้วย กลายเป็น
“กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” หรือ “กลุ่มทวงคืน ปตท.” ในปัจจุบัน
ขบวนการนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็น “ขบวนการสามทวงคืน” คือ
ทวงคืนสมบัติชาติ (ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด) ทวงคืนแผ่นดินไทย
(ปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน) และทวงคืนพลังงานไทย (ต่อต้าน
ปตท.และรัฐบาล กรณีก๊าซและน้ำมัน)
การที่กลุ่มสันติอโศก
กลุ่มพันธมิตรฯและสมาชิกวุฒิสภากลุ่มเผด็จการต้องหันมาเคลื่อนไหวประเด็น
เหล่านี้เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก็เพราะความเสื่อมทรุดในทางการเมืองและความโดดเดี่ยวไร้มวลชน
คนพวกนี้ไม่สามารถดึงดูดมวลชนด้วยการอ้างประชาธิปไตยได้อีกต่อไป
แม้แต่การอ้างว่า ต่อสู้เพื่อสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ได้รับความเชื่อถือ
จึงเหลือแต่ประเด็นราคาน้ำมันแพงอันเป็นความเดือดร้อนร่วมกันของคนส่วนใหญ่
อ้างว่า เป็นประเด็น “ไม่มีสี” เพื่อดึงประชาชน รวมทั้งคนเสื้อแดง
มาเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด
คนพวกนี้ดำเนินการอย่างชาญฉลาด
โดยการปฏิเสธข้อมูลสาธารณะบางส่วนที่ได้จากรัฐบาลและปตท. อ้างว่า เป็น
“ข้อมูลเท็จ” ขณะเดียวกัน ก็ใช้ข้อมูลสาธารณะส่วนที่เป็นประโยชน์
เอาไปผสมปนเปกับข้อมูลตัวเลขที่อ้างว่า ได้มาจากแหล่ง “ที่น่าเชื่อถือ”
เอาชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นนิทานเรื่อง “กลุ่มผลประโยชน์ครอบงำ ปตท.
ปล้นชิงพลังงาน” เพื่ออธิบายว่า นี่คือสาเหตุที่น้ำมันมีราคาแพง
กลุ่มพันธมิตรพวกนี้ลงทุนลงแรงอย่างมาก เอาคนมาอุปโลกน์ตัวเองเป็น
“นักวิชาการเครือข่ายพลังงาน” เที่ยวเดินสายบรรยายไปทั่วประเทศ
อ้างอิงตัวเลขข้อมูลจริงปนเท็จ ปลุกกระแสเกลียดชัง ปตท.
กระตุ้นให้มีการตั้ง “กลุ่มทวงคืน” ตามที่ต่าง ๆ เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ
คนพวกนี้อาศัยความสลับซับซ้อนของธุรกิจพลังงาน
บวกกับความผิดพลาดในนโยบายพลังงานและภาษีของรัฐบาลไทยที่ตกทอดกันมาตั้งแต่
ยุค 2520 ถึงปัจจุบัน ใช้เป็นจุดอ่อนในการโจมตีและบิดเบือนความจริง
อาศัยความไม่พอใจต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพง
เป็นตัวกระตุ้น
และเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วมมากที่สุด
คนพวกนี้เริ่มต้นจึงยังไม่กล่าวเจาะจงว่า “กลุ่มผลประโยชน์” ดังกล่าวคือใคร
แม้หลายครั้งจะกล่าวลอย ๆ ว่าเป็น “ทุนสามานย์”
(ซึ่งเป็นคำที่พวกพันธมิตรหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคพวก)
จงใจปล่อยให้คนเสื้อแดงที่เข้าร่วมขบวนเข้าใจเอาเองว่า “กลุ่มผลประโยชน์”
ที่ว่าคือกลุ่มทุนจารีตนิยม ทั้งที่เป้าโจมตีที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้ก็คือ
พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดังจะเห็นได้ว่า
แม้แต่กรณีการเริ่มเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัด
ภาคใต้ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้
ก็ยังถูกคนพวกนี้บางคนกล่าวหาว่า
พ.ต.ท.ทักษินทำไปเพื่อต้องการฮุบผลประโยชน์พลังงานในทะเลสามจังหวัดภาคใต้
คนเสื้อแดงที่ไปตามแห่ขบวนการ “ทวงคืนพลังงานไทย”
มักจะเป็นกลุ่มที่มีความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
จากประเด็นการแก้ไข ป.อาญา ม.112
กรณีการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เป็นต้น
คนเสื้อแดงบางส่วนเชื่อไปถึงขั้นที่ว่า
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หักหลังคนเสื้อแดง หันไป “เกี้ยเซี้ย”
สมคบกับพวกจารีตนิยม ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์กันในธุรกิจพลังงานโดยผ่าน
ปตท.อีกด้วย นัยหนึ่ง
เห็นทั้งกลุ่มจารีตนิยมและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูร่วมไปแล้ว
คนพวกนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองเบื้องหลังเป็นพวกพันธมิตรเสื้อเหลือง
การตอบโต้คนพวกนี้ก็คือ
ต้องเปิดเผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดทางการเมืองและจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวก
เขา
รวมทั้งต้องให้ข้อมูลความจริงที่ชัดเจนแก่ประชาชนในประเด็นเกี่ยวข้องทั้ง
หมด ในส่วนหลังนี้ ที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงพลังงานและปตท.
บกพร่องอย่างยิ่งในการชี้แจงให้ทันท่วงที เป็นระบบและชัดเจน
ทั้งหมดนี้ ก็มิใช่เพื่อปกป้อง ปตท.หรือพรรคเพื่อไทย
แต่เพื่อปกป้องขบวนประชาธิปไตย มิให้ไขว้เขวออกไปจากเป้าหมายที่แท้จริงคือ
ต่อสู้กับพวกเผด็จการและบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงให้ได้เร็ววัน
ขบวนการ “ทวงคืนพลังงานไทย”
มีจุดประสงค์ที่แท้จริงทางการเมืองคือ
อาศัยความเดือดร้อนของประชาชนจากราคาน้ำมันแพง มาปลุกระดมความไม่พอใจ
โดยพุ่งเป้าไปที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐบาล โดยอ้างว่า
เบื้องหลัง ปตท.ก็คือ “กลุ่มผลประโยชน์” ที่เข้ามาควบคุม
ปตท.ด้วยการแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน
แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544 คนพวกนี้จึงเรียกร้องให้
“ทวงคืน ปตท.” ซึ่งก็คือ ถอน ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกหุ้น ปตท.
และหวนคืนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปดังเดิม
นิยายพลังงานไทยที่คนพวกนี้ผูกเรื่องขึ้นมาโดยคร่าว ๆ คือ
ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน มีทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบปริมาณมหาศาล
แต่คนไทยกลับต้องใช้น้ำมันราคาแพงเพราะมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาฮุบทรัพยากร
เริ่มตั้งแต่สมคบกับบริษัทขุดเจาะต่างชาติที่ได้สัมปทานแบ่งส่วนผลประโยชน์
ให้รัฐไทยน้อยมาก แอบส่งออกน้ำมันดิบไทยไปขายในตลาดโลก
แล้วนำเข้าน้ำมันดิบราคาแพงจากตะวันออกกลางเข้ามากลั่น
บวกต้นทุนเทียมและตั้งราคาหน้าโรงกลั่นเพื่อกินกำไรส่วนต่าง
จัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยมีราคาขายปลีกแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก!
คนพวกนี้กล่าวหาว่า
มีการปกปิดบิดเบือนข้อมูลโดยหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้อง
และหันไปอ้างแหล่งข้อมูลต่างประเทศที่ดูขลังน่าเชื่อถือแทน เช่น
การสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา หรืออีไอเอ เป็นต้น อ้างไปถึงว่า
เป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐหรือซีไอเอก็มี
ทั้งที่ถ้าลงมือตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ก็จะพบว่า
ข้อมูลพลังงานไทยจากแหล่งข้อมูลต่างประเทศ เช่น อีไอเอ และบีพีโกลบอล
ก็ใกล้เคียงกับข้อมูลที่หน่วยราชการไทยเผยแพร่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า
แหล่งข้อมูลในต่างประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เอาข้อมูลจากหน่วยราชการไทยไป
เผยแพร่อีกทีหนึ่งนั่นเอง
ความจริงคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นเศรษฐีพลังงานแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ แม้จะผลิตได้เองจำนวนหนึ่ง
ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทุกปี
ปริมาณสำรองที่มีอยู่ก็ไม่มากนักและถ้าไม่มีการค้นพบเพิ่มอีก
ก็จะหมดไปในอีกไม่เกินสิบปี
ข้อมูลจากอีไอเอ บีพีโกลบอล
และจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทยให้ตัวเลขใกล้เคียงกัน ในปี 2555
ประเทศไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 10-10.5
ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอันดับที่ 42 ของโลก และเป็นเพียงร้อยละ 0.1
ของปริมาณสำรองทั้งโลก ไทยมีอัตราการผลิตก๊าซจำนวน 1.3
ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ด้วยอัตรานี้
ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่เพิ่มอีก
ก๊าซธรรมชาติของไทยจะหมดไปภายใน 7-8 ปี
แต่ประเทศไทยมีการบริโภคก๊าซธรรมชาติปีละ 1.6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ผลก็คือ
ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านปีละ 3
แสนล้านลูกบาศก์ฟุต
ในส่วนน้ำมันดิบ ข้อมูลแหล่งต่าง ๆ
ก็ยังให้ภาพรวมที่ใกล้เคียงกัน ในปี 2554
ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่พิสูจน์แล้วประมาณ 440 ล้านบาร์เรล
เป็นอันดับที่ 47 ของโลกและเป็นเพียงร้อยละ 0.02 ของปริมาณสำรองทั้งโลก
ในปี 2555 ไทยมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบและคอนเด็นเสท (ก๊าซธรรมชาติเหลว)
รวมกันประมาณ 240,000 บาร์เรลต่อวันหรือราว 86 ล้านบาร์เรลต่อปี
ในอัตราการผลิตนี้ ถ้าไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำดิบเพิ่มอีก
น้ำมันดิบไทยก็จะหมดไปในเวลาเพียง 5 ปี
โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยใช้น้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลางเป็นหลัก
ซึ่งมีคุณสมบัติที่มีสารเจือปนน้อย (เช่น สารปรอท)
และกลั่นได้น้ำมันดีเซลเป็นสัดส่วนมาก
ตรงกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทย
แต่น้ำมันดิบที่พบในประเทศไทยบางส่วนมีสารเจือปนสูง
และที่พบในอ่าวไทยก็มีองค์ประกอบที่กลั่นแล้วได้น้ำมันเบนซินในสัดส่วนสูง
ถ้าโรงกลั่นในไทยรับซื้อและกลั่นออกมา
ก็จะมีน้ำมันเบนซินเหลือเกินความต้องการของตลาด
น้ำมันดิบไทยส่วนนี้จึงถูกส่งออกไปขายต่างประเทศแทน ทั้งนี้ ในปี 2555
ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปต่างประเทศเป็นปริมาณ 41,000 บาร์เรลต่อวัน
เป็นมูลค่าเพียง 51,000 ล้านบาทเท่านั้น
นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกซึ่งส่ง
ออกกันเป็นแสนเป็นล้านบาร์เรลต่อวัน
น้ำมันดิบไทยที่โรงกลั่นในไทยสามารถใช้ได้จึงมีราว 200,000
บาร์เรลต่อวัน แต่ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันดิบราว 1
ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยจึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 8
แสนบาร์เรลต่อวัน ข้อมูลในอดีตแสดงว่า ในแต่ละปี น้ำมันดิบที่ผลิตในไทยสามารถสนองความต้องการใช้ในประเทศได้เพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้น นอกนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะเลิกส่งออกน้ำมันดิบไทยโดยสิ้นเชิงและให้โรง
กลั่นในไทยกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมดเอง แต่ก็มีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่า
ต้องมีการลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นปัจจุบันให้สามารถรับสารเจือปนปริมาณสูงได้
ซึ่งใช้เวลาหลายปี ที่สำคัญคือ น้ำมันดิบส่วนนี้มีปริมาณไม่มาก
และเมื่อกลั่นออกมาก็จะได้น้ำมันเบนซินสัดส่วนสูง
ก็จะต้องมีแผนการส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนเกินนี้ไปต่างประเทศอีกอยู่ดี
ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่
พวก “ทวงคืนพลังงานไทย” อ้างว่า
ประเทศไทยผลิตก๊าซและน้ำมันดิบได้มากกว่าประเทศเศรษฐีพลังงาน เช่น บรูไน
ซึ่งก็เป็นความจริง ในปี 2554 บรูไนผลิตก๊าซธรรมชาติ 440,000
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (เป็นหนึ่งในสามของประเทศไทย)
ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทได้ 126,000 บาร์เรลต่อวัน
(เป็นครึ่งหนึ่งของประเทศไทย) แต่คนพวกนี้ไม่บอกว่า บรูไนมีประชากรเพียง 4
แสนคน มีอัตราการบริโภคก๊าซธรรมชาติเพียง 107,000
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและบริโภคน้ำมัน 16,000 บาร์เรลต่อวัน
บรูไนจึงสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติได้ 330,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
และส่งออกน้ำมันดิบ 136,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นสามเท่าของประเทศไทย
บรูไนจึงเป็นเศรษฐีส่งออกก๊าซและน้ำมัน
คนพวกนี้ชอบอ้างว่า ในประเทศเศรษฐีน้ำมัน
ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูก เช่น เวเนซูเอลา ซาอุดิอาระเบีย
และที่อ้างบ่อยที่สุดคือ มาเลเซีย แต่ตรรกะที่ว่า ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงาน คนไทยจึงต้องได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาถูก ก็เป็นตรรกะที่ผิดอย่างสิ้นเชิงทรัพยากร
ธรรมชาติทั้งก๊าซและน้ำมันใช้เวลาก่อกำเนิดหลายร้อยล้านปี มีปริมาณจำกัด
ใช้หมดไปแล้วสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้ ถึงมีมากสักเพียงใด ก็มีวันหมด
หนทางที่ถูกต้องจึงต้องประหยัดการใช้ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่สุด
ถ้าตั้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริงแล้วใช้หมดในเร็ววัน
เราและลูกหลานก็ต้องหาพลังงานทดแทนที่มีราคาแพงกว่ามาใช้ นโยบายของรัฐบาลในต่างประเทศที่อุดหนุนราคาให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันในราคาถูกจึงเป็นนโยบายที่ผิด ประเทศไทยไม่ควรเอาอย่าง ต้อง
ให้ประชาชนได้ใช้ก๊าซและน้ำมันในราคาที่สอดคล้องกับความหาได้ยากที่แท้จริง
ของทรัพยากร ส่วนความจริงที่ว่า
ราคาน้ำมันบางชนิดในประเทศไทยมีราคาแพงเพราะนโยบายบิดเบือนราคาของรัฐบาล
นั้น ก็เป็นความจริง ซึ่งก็ต้องวิจารณ์กันบนข้อเท็จจริง
ไม่ใช่บนนิยายที่แต่งขึ้นมาหลอกกันเอง
“กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย” นอกจากจะแต่งนิทานเรื่อง
ประเทศไทยเป็นเศรษฐีพลังงานแล้ว ยังตั้งข้อกล่าวหาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ
“กลุ่มผลประโยชน์” ที่ครอบงำ ปตท.
ไปอยู่เบื้องหลังบริษัทสำรวจและผลิตต่างชาติ
ให้สัมปทานผลิตปิโตรเลียมในเงื่อนไขที่บริษัทต่างชาติได้ผลตอบแทนมหาศาล
แต่แบ่งปันผลประโยชน์ให้กับรัฐไทยเป็นจำนวนน้อยนิด
“กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย”
อ้างถึงค่าภาคหลวงที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ว่า
มีอัตราเพียงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย
กับภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่อัตราร้อยละ 50
ของกำไรสุทธิ ซึ่งคนพวกนี้อ้างว่า “ต่ำที่สุดในอาเซียน”
และต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีทั้งค่าภาคหลวง
ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากกำไรก่อนหักภาษี แล้วยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีก
รวมเป็นประโยชน์ให้รัฐสูงถึงร้อยละ 80-90
ข้อเสนอของคนพวกนี้มีตั้งแต่ให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนผลประโยชน์ให้รัฐได้
สูงขึ้นเป็นร้อยละ 80-90 ไปจนถึงยกเลิกสัมปทานบริษัทต่างชาติทั้งหมด
แล้วให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สำรวจ
ขุดเจาะและผลิตแต่เพียงรายเดียว
ความจริงคือ
ระบบสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยมีพัฒนาการมาสามขั้นตอน
มีการแก้กฎหมายหลายครั้ง
มีการปรับเปลี่ยนอัตราการแบ่งปันผลประโยชน์ไปตามยุคสมัยและประสบการณ์ของ
หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
ระบบ Thailand I เริ่มตั้งแต่พรบ.ปิโตรเลียมฉบับแรก พ.ศ.2514
กำหนดค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย
และพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมอีกร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
โครงการระยะที่หนึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร จนถึงปี 2524
มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจำนวนหนึ่ง
ประกอบกับโลกกำลังประสบภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน
รัฐบาลไทยจึงได้ปรับเปลี่ยนการแบ่งปันผลประโยชน์เสียใหม่
แก้ไขกฎหมายให้ผู้รับสัมปทานแบ่งผลประโยชน์แก่รัฐเพิ่มขึ้น โดยเริ่มต้นปี
2525 กำหนดว่า นอกจากจะจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าจำหน่ายแล้ว
ให้ผู้รับสัมปทานหักค่าใช้จ่ายตามพรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ไม่เกินร้อย
ละ 20 ของรายรับ (จากที่เคยหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง)
และจ่ายโบนัสเพิ่มรายปีเป็นอัตราขั้นบันไดจากร้อยละ 27.5 ถึงร้อยละ 43.5
ของรายได้จากน้ำมันดิบที่ผลิตเฉลี่ยวันละตั้งแต่ 10,000 บาร์เรล
ถึงเฉลี่ยวันละ 30,000 บาร์เรล ระบบใหม่นี้เรียกว่า Thailand II
ปรากฏว่า จนถึงปี 2532 มีผู้รับสัมปทานไปเพียง 6 รายเท่านั้น
แม้จะมีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมบนบกเพิ่มเติม
แต่ไม่มีการลงทุนผลิตเชิงพาณิชย์เลย สาเหตุคือ
แหล่งปิโตรเลียมบนบกมีขนาดเล็ก กระจัดกระจาย
ทำให้มีทั้งความเสี่ยงและต้นทุนในการผลิตต่อบาร์เรลสูง
ผู้รับสัมปทานต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐสูงจนไม่มีความคุ้มค่าทางธุรกิจ
ผลก็คือ รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บผลประโยชน์ปิโตรเลียมตามระบบ Thailand II
ได้เลย
ในปี 2532 จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายอีกครั้งเป็นระบบ Thailand III ระบุผลประโยชน์แก่รัฐสามส่วน ส่วนแรกคือ ค่าภาคหลวงเป็น
อัตราขั้นบันไดตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปถึงร้อยละ 15
ตามปริมาณจำหน่ายปิโตรเลียมต่ำสุดจากไม่เกิน 60,000 บาร์เรลต่อเดือน
ไปจนถึงสูงกว่า 600,000 บาร์เรลต่อเดือน ส่วนที่สองคือภาษีเงินได้ปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ ส่วนที่สามคือ ผลประโยชนตอบแทนพิเศษจากกำไรส่วนเกินโดยจะจัดเก็บเมื่อยอดจำหน่ายปิโตรเลียมเพิ่มเกินกว่าระดับที่กำหนด
ระบบ Thailand III จึงมีความยืดหยุ่นมาก
ผู้รับสัมปทานที่ค้นพบแหล่งขนาดเล็กและมีต้นทุนต่อหน่วยสูง
ผลิตได้น้อยก็สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่ผู้ที่ค้นพบแหล่งขนาดใหญ่
ต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าและผลิตได้มากก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐเพิ่มขึ้นตาม
สัดส่วน จนถึงปี 2555
มีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีกมากและสามารถผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว
48 สัมปทาน นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand II ก็ได้โอนมาเข้าระบบ
Thailand III ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัมปทานปิโตรเลียมทั้งสิ้น 63 สัมปทาน
โดยมีผู้รับสัมปทานที่ยังอยู่ในระบบ Thailand Iเพียง 9
สัมปทานเท่านั้นและจะเริ่มหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
นอกนั้นเป็นผู้รับสัมปทานในระบบ Thailand III แต่ “กลุ่มทวงคืนพลังงาน”
ก็บิดเบือนว่า ผู้รับสัมปทานทั้งหมดยังคงแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐตามสูตร
Thailand I คือจ่ายค่าภาคหลวงเป็นอัตราคงที่ร้อยละ 12.5
ของยอดจำหน่ายและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
เป็นความจริงที่ส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐจาก Thailand I
ไม่นับว่าสูงถ้ามองจากธุรกิจปิโตรเลียมในปัจจุบัน แต่ Thailand I
มีกำเนิดในยุคสมัยแรกเริ่มที่แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ในเวลานั้น
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่สองดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อีกทั้งประเทศไทยก็มีการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมที่อำเภอฝางเท่านั้นและมีขนาด
เล็กจิ๋วมาก แค่วันละ 1,000 บาร์เรล
การกำหนดให้แบ่งผลประโยชน์แก่รัฐที่ไม่สูงมากจึงมีเหตุผล
ก็เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติกล้ารับความเสี่ยงเข้ามาสำรวจขุดเจาะในประเทศ
ไทย เพราะถ้าขุดเจาะแล้วไม่พบอะไร ค่าใช้จ่ายก็สูญเปล่าทั้งหมด
ตั้งแต่มีสัมปทานปิโตรเลียมจนถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี
รัฐไทยได้รับผลประโยชน์จากปิโตรเลียมรวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาทแล้ว
คิดเป็นสัดส่วนรายได้รัฐต่อรายได้สุทธิของเอกชน (ก่อนหักภาษี)
เท่ากับร้อยละ 55:45 และถ้าคำนวณเฉพาะระบบ Thailand III ตั้งแต่ปี 2532
สัดส่วนของรัฐก็ยิ่งสูงคือ ร้อยละ 74:26
ซึ่งเป็นอัตราปานกลางค่อนไปทางสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ
“กลุ่มทวงคืนพลังงาน” อ้างว่า
หลายประเทศที่เป็นเศรษฐีพลังงานจัดเก็บผลประโยชน์สูงถึงร้อยละ 80-90
ของรายได้สุทธิของผู้รับสัมปทาน แต่ข้อสังเกตคือ ประเทศเหล่านั้น (เช่น
เยเมน บาห์เรน บรูไน พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย)
ล้วนเป็นประเทศเศรษฐีพลังงานตัวจริงทั้งสิ้น มีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่
ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ ผู้รับสัมปทานสามารถจ่ายผลประโยชน์เข้ารัฐได้มาก
ประเทศที่จัดเก็บผลประโยชน์สูงที่สุดในโลกคือ เวเนซูเอลา
จัดเก็บสูงถึงร้อยละ 95 ผลก็คือ ปัจจุบัน
อุตสาหกรรมปิโตรเลียมของเวเนซูลามีอัตราการสำรวจใหม่ที่ลดลงอย่างมากและถ้า
ไม่มีการแก้ไข อีกไม่นาน อัตราการผลิตก็จะลดลงด้วย
ส่วนข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานต่างชาติทั้งหมด แล้วให้
ปตท.สผ.ผูกขาดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
เมื่อผนวกกับข้อเรียกร้อง “ทวงคืนปตท.”
ที่ให้ปตท.กลับคืนเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้เป็นข้อ
เสนอที่อันตรายอย่างยิ่ง
เพราะเป็นการสร้างการผูกขาดโดยรัฐแบบครบวงจรตั้งแต่การสำรวจผลิตก๊าซและ
น้ำมันดิบ ไปจนถึงการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปและขายปลีกที่สถานีจำหน่าย ทำ
ให้
ปตท.และปตท.สผ.รวมกันเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดมหาศาลในมือรัฐอย่างแท้จริง
แล้วรัฐวิสาหกิจไทยแต่ไหนแต่ไรมา เป็นแหล่งผลประโยชน์ของใครบ้าง?
มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ รู้จักปรับปรุงคุณภาพของบริการ
และเอาใจใส่ประชาชนผู้บริโภคสักแค่ไหนกัน?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น