วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ครม. เห็นชอบกรอบนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ



28 พฤษภาคม 2556 go6TV - นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนบูรณาการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในองค์รวม โดยจะมีการออกมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการภายใน 6 เดือน และมาตรการระยะยาว โดยขอให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ติดตามและรายงานครม. รับทราบ

“ในวันนี้ กระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอกรอบนโยบายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน การเงิน การคลัง และ เฉพาะด้าน โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวนแผนงาน และมีการบูรณาการแผนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และยืนยันว่าวันนี้ที่มีการเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มา ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ถือเป็นการทำงานร่วมกัน” นายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ “กรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจปี 2556″ เพื่อการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพระยะสั้น ด้วยการดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกัน สร้างความเชื่อมั่นในต่างประเทศ โดยผ่านการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและการเยือนต่างประเทศของคณะผู้แทนของประเทศ และรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างฐานการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนในประเทศ โดยเพิ่มศักยภาพของรายได้เดิมและสร้างรายได้ใหม่ สนับสนุนการสร้างรายได้จากต่างประเทศด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวและการลงทุนในภาคธุรกิจที่เหมาะสม ดำเนินนโยบายการคลังที่มีวินัย ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างภาษี

สำหรับการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย มาตรการด้านการเงินซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มาตรการด้านการคลัง อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง และมาตรการเฉพาะด้าน อยู่ภายใต้หน่วยงานหลักคือกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ

ทั้งนี้ มาตรการด้านการเงิน ประกอบด้วย การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยน, ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย, มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน, พิจารณาใช้มาตรการจำกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างระมัดระวังเมื่อจำเป็น, บริหารจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ, บริหารจัดการเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ, ช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถลดผลกระทบค่าเงินบาท และ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน มาตรการด้านการคลัง ประกอบด้วย การกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณ, ดำเนินการาโครงการลงทุนขนาดใหญ่, กำหนดให้รัฐวิสาหกิจชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้เงินตราต่างประเทศ, ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษี, สนับสนุนด้านสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนไปลงทุนต่างประเทศในภาคธุรกิจที่เหมาะสม

ส่วนมาตรการเฉพาะด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร ด้าน SMEs เพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 40 ของจีดีพี ด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขยายการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านท่องเที่ยว เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้เป็น 2 เท่า ด้านการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2556 ด้านพลังงาน มีแหล่งพลังงานที่มั่นคงในราคาเหมาะสม ด้าน ICT ยกระดับเทคโนโลยีและการเข้าถึงบริการ ด้านผู้มีรายได้น้อย สร้างรายได้และกำลังซื้อ ลดต้นทุนประกอบอาชีพ

หมายเหตุ - กราฟิกอ้างอิงจาก เฟสบุ๊ก นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ข้าราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี https://www.facebook.com/Sand.Chayika

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น