วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 เสื้อแดง 20 เดือน ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ระเบิดปิงปอง

ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 2 เสื้อแดง 20 เดือน ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ระเบิดปิงปอง

27 มิ.ย.56 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 704   ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.2514/2553 (หมายเลขแดง อ.4100/2554) ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวีระ สายพิมพ์กับพวกรวม 3 คน (นายจักรกริช จอมทอง และนางไกรรุ่ง อ่อนคำ) ในฐานความผิดฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร่วมกันมีวัตถุระเบิด(ระเบิดปิงปอง) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย  ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษ นายวีระ สายพิมพ์ จำเลยที่ 1 และนายจักรกริช จอมทอง จำเลยที่ 2 จำคุกคนละ 20 เดือน  แต่ในส่วนของจำเลยที่ 3 นางไกรรุ่ง อ่อนคำ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาเอาไว้ 1 ปี จึงไม่มีการอุทธรณ์
คดีนี้จำเลยที่ 1 นายวีระ สายพิมพ์ได้อุทธรณ์ว่าอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ซึ่งเป็นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ชัดเจนว่า “ถุงผ้า” นั้นเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือเป็นของใคร และระบุว่าที่รับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย ซึ่งในประเด็นนี้อัยการได้มีการแก้คำอุทธรณ์ในสองประเด็นนี้ว่าแม้ถุงผ้าจะมีเพียงถุงเดียว แต่ข้อเท็จจริงในทางนำสืบของโจทก์ก็ประจักษ์ชัดว่าจำเลยที่ 1 และ 2 มีเจตนาร่วมกันในการครอบครองถุงผ้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำร่วมกันมีวัตถุระเบิด(ระเบิดปิงปอง) ทั้ง 24 ลูกไว้ในครอบครอง และในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพ  ส่วนประเด็นการถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่นั้นก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งผู้ใดก็กล่าวอ้างได้ หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะต้องให้การรับสารภาพ
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า จากการสอบถามกับญาติของนายจักรกริชทราบว่าในวันที่ถูกจับกุม(19 พ.ค.53) ผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 คน(อีก 1 คน เป็นเยาวชน) ได้เรียกแท็กซี่เพื่อที่จะไปขึ้นรถที่หมอชิตเพื่อกลับบ้าน โดยระหว่างทางได้เจอเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ร่วมกันตั้งด่านตรวจอยู่บนทางยกระดับด่านแจ้งวัฒนะ จึงถูกเรียกให้ลงจากรถเพื่อทำการตรวจค้น ในรถคันดังกล่าวมีถุงผ้าอยู่ซึ่งเป็นของเด็กที่นั่งรถมาด้วยกัน  ซึ่งในถุงผ้านั้นมีเพียง ริบหนังสติ๊ก มีดพับ หัวนอต ลูกแก้ว ไฟแช็ก ไม้ขีด แต่ไม่มีระเบิดปิงปองทั้ง 24 ลูก แต่อย่างใด และในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้พวกเขายืนหันหน้าเข้าเสาทางด่วนและใช้อาวุธปืนจ่อบังคับ ข่มขู่ให้รับสารภาพด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.30 น. ทนายของนายจักกริชได้แจ้งความคืบหน้าการประกันตัวของจำเลยทั้งสองคนว่า  ในกรณีของนายวีระนั้นทางศาลอาญาได้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาการประกันตัว  ซึ่งจะทราบผลราววันอังคารหรือวันพุธของสัปดาห์หน้า ส่วนของนายจักกริชนั้นเนื่องจากทางศาลอาญาได้เปลี่ยนเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งทางญาติของนายจักกริชยังไม่มีหลักทรัพย์มาประกันจึงยังไม่สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้  เบื้องต้นทั้งสองถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำ

 ===========
คำพิพากษาศาลชั้นต้น
           จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด  ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน  พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 55, 74, 78 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 4,5,9,11,18 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 4,5,9,11,18 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  การกระทำของจำเลยที่ที่ 1 และ 2 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จึงให้มีลงโทษตามพ.ร.บ.อาวุธฯ ปืน ม.78 วรรคหนึ่งอันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 จำคุกคนละ 2 ปี และลงโทษฐานฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการเข้าร่วมการชุมนุม จำคุกคนละ 6 เดือน รวมคนละ 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม  เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ คนละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 20 เดือน ลงโทษ จำเลยที่ 3 ฐานฝ่าฝืนประกาศหรือข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการเข้าร่วมการชุมนุม จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 3 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาศจำเลยที่ 3 กลับตัว เป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 ริบหนังสติ๊ก มีดพับ หัวนอต ลูกแก้ว ไฟแช็ก ไม้ขีด ของกลางข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกเสีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น