วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไต่สวนการตาย ‘ชายนิรนาม’ เหยื่อกระสุน 19 พ.ค.53

ไต่สวนการตาย ‘ชายนิรนาม’ เหยื่อกระสุน 19 พ.ค.53

          พนักงานสอบสวนเบิกความสรุปผู้ตายเสียชีวิตจากการกระทำของทหารบริเวณถนนราชดำริ วันที่ 19 พ.ย. 53 นัดต่อไป 22 พ.ย.นี้ ขณะที่ไต่สวนการตาย ‘สมชาย’ เยื่อกระสุน 16 พ.ค พระราม 4 พยานเชื่อกระสุนสังหารมาจากทหาร
          เมื่อวันที่ 7 – 8 พ.ย. ที่ศาลอาญา ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพชายไทยไม่ทราบชื่อและนามสกุล ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ ในเหตุการณ์สลายชุมนุมม็อบเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

ภาพ 1 ใบหน้าชายนิรนามที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 19 พ.ค. 53 บริเวณแยกศาลาแดง

ใครรับผิดชอบ ชีวิตของบุคคลทั้งสองนี้
ใครจะรับผิดชอบ หากสอบสวนหาตัวคนกระทำผิดไม่ได้





          นายภัสพล ไชยพงษ์ เบิกความโดยสรุปว่า ระหว่างที่มีการชุมนุมพยานเข้าไปขายขนมบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันเกิดเหตุ เวลา 07.00 น. ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปเพื่อเก็บของออกจากพื้นที่ สักพักได้ยินเสียงประกาศจากบนเวทีว่าให้เก็บข้าวของไปรวมกันที่วัดปทุมวนาราม ต่อมาพยานขับรถ จยย.ไปตามถนนราชดำริ เพื่อไปดูเหตุการณ์ที่แยกศาลาแดง เมื่อไปถึงแยกสารสินเห็นผู้ชุมนุมหลบอยู่ตามเต็นท์ ต้นไม้ และตอม่อ สักพักได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงปืนและระเบิดดังขึ้น เห็นผู้ชุมนุมวิ่งมาจากทางร.พ.จุฬาลงกรณ์ แล้วขอให้ไปช่วยผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตบริเวณบังเกอร์หน้าร.พ.จุฬาฯ ระหว่างนั้นเห็นว่ามีการนำผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตออกมา แล้วขอให้พยานขับรถ จยย.นำไปที่ร.พ.ตำรวจ
เห็น ‘นรินทร์ ศรีชมภู’ เหยื่อกระสุน 19 พ.ค.ถูกยิงเสียชีวิต
         ภัสพล เบิกความต่อว่า จากนั้นพยานได้กลับไปที่แยกสารสินอีกครั้ง สักพักได้ยินเสียงปืนดังมาจากหน้าร.พ.จุฬาฯ ต่อมาเวลา 09.00 น. พยานเข้าไปหลบอยู่หลังต้นไม้บริเวณหน้าอาคารบ้านราชดำริจนสิ้นเสียงปืน พยานจึงชะโงกหน้าออกไปดู แล้วก็ถูกยิงที่ลำคอและล้มลง เพื่อนจึงดึงพยานเข้าไปหลบ สักพักเห็นชายที่ถือโทรโข่งที่อยู่ใกล้พยานก็ถูกยิงเช่นกัน ผ่านไปประมาณ 10 นาที กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำพยานและผู้เสียชีวิตขึ้นรถกระบะไปส่งที่ร.พ.ตำรวจ โดยทราบภายหลังว่าคือนายนรินทร์ ศรีชมภู ส่วนผู้ตายในคดีนี้พยานไม่ทราบว่าถูกยิงที่ใด
พนง.สอบสวน ชี้ ชายนิรนาม ถูกยิงใกล้ ‘ถวิล-นรินทร์-ธนโชติ’
          พ.ต.ท.วัฒนา ศิริสูงเนิน พนักงานสอบสวน ชำนาญการพิเศษ ดีเอสไอ เบิกความสรุปว่า จากการสอบสวนทราบว่า ผู้ตายเสียชีวิตในเวลาประมาณ 07.00 น. บริเวณตรงข้ามตึก สก ร.พ.จุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ศพ เสียชีวิตในเวลาและบริเวณใกล้เคียงกัน คือ นายถวิล คำมูล นายนรินทร์ ศรีชมภู และนายธนโชติ ชุ่มเย็น โดยนายถวิลอยู่บริเวณแนวบังเกอร์ยางรถยนต์หน้าตึก สก. ก่อนหลบไปที่ป้ายจอดรถแท็กซี่อัจฉริยะและถูกยิงล้มลง มีผู้ชุมนุม 2 คน จะเข้าไปช่วย แต่ก็ถูกยิงบาดเจ็บเช่นกัน โดยทหารพบศพชายไทยไม่ทราบชื่อ ขณะเข้ามาเคลียร์พื้นที่ ทหารที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุมาจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ รับผิดชอบบริเวณสวนลุมพินี ถนนพระราม 4 แยกศาลาแดง และถนนราชดำริ

แผนที่ 1: จุดที่นายถวิล คำมูล และชายไม่ทราบชื่อนอนเสียชีวิตอยู่ (ภาพจาก ทีมข้อมูล ศปช.)

จนท.คุมทั่วพื้นที่ มีชุดระวังป้องกันบนที่สูง
พยาน เบิกความต่อว่า ในการสอบสวนยังทราบว่า มีการจัดชุดระวังป้องกันบนที่สูง เช่น อาคารไทยประกันชีวิต อาคารอื้อจื้อเหลียง โดยขึ้นตรงกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2553 มีการสั่งให้ทหารเคลื่อนกำลังเข้ากระชับพื้นที่ เข้าคุมพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกสวนลุมพินี อีกทั้งยังคุมพื้นที่อยู่ที่สนามมวยลุมพินี และบนสะพานข้ามแยกศาลาแดง พร้อมกับประกาศห้ามเข้าพื้นที่ พยานคิดว่าไม่น่าจะมีใครสามารถเข้าไปภายในสวนลุมพินีได้
พ.ต.ท. วัฒนาเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนนายปรีชา สุกใส ผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ ในวันที่ 14 พ.ค.2553 ให้การว่าได้ยินเสียงปืนมาจากตึก สก แล้วชี้นิ้วให้เพื่อนดู ปรากฏว่าถูกยิงที่นิ้วชี้ และจากการสอบสวนยังทราบว่า มีการสั่งการให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากทหารทั้ง 4 เหล่า มาร่วมปฏิบัติการด้วย โดยในวันที่ 19 พ.ค.2553 ศอฉ.สั่งการให้เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 03.00 น. จากการชันสูตรพลิกศพพบว่า ผู้ตายถูกกระสุนปืนความเร็วสูง หลังสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด จึงสรุปความเห็นว่า ผู้ตายในคดีนี้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร
พันโทจาก ราบ 11 เบิก ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณที่ชายนิรนามเสียชีวิต
ด้าน นายทหารยศพันโท สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เบิกความโดยสรุปว่าช่วงที่มีการชุมนุม พยานเป็นรองผบ. กองพันทหารราบที่ 2 ร.11 รอ. เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2553 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับกองพันให้จัดกำลังพล 150 นาย แบ่งเป็น 5 ชุด ชุดที่ 1-4 มีชุดละ 10 นาย ถือปืนลูกซองบรรจุกระสุนยาง 30 นัด และสะพายปืนเล็กยาวไว้ด้านหลังแต่ไม่มีกระสุน ส่วนกระสุนจริงอยู่ในขบวนสัมภาระด้านหลังที่เคลื่อนที่ตาม สำหรับทหารอีก 110 นาย มีเพียงโล่และกระบองเท่านั้น
พยานเบิกความต่อว่า พยานเป็นผู้ควบคุมกำลังพล 1 ชุด รวมพยานเป็น 10 นาย ส่วนอีก 4 ชุด ขึ้นตรงกับผู้บังคับกองพัน ในวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 05.30 น. ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนไปตามถนนวิทยุ และเข้าควบคุม อาคารเคี่ยนหงวน บริเวณแยกสารสิน เมื่อไปถึงพบว่ามีผู้ชุมนุมอยู่ประมาณ 10 กว่าคน พยานจึงให้ สน.ลุมพินี มารับตัวไป แต่หน่วยของพยานควบคุมพื้นที่บริเวณด้านล่างเท่านั้น เนื่องจากมีกำแพงล้อมไว้ไม่สามารถเข้าไปในตึกได้ จึงไม่ทราบว่าจะมีใครอยู่หรือไม่ พยานประจำอยู่จนถึงวันที่ 20 พ.ค.2553 เวลา 14.00 น. ระหว่างนั้นไม่มีการยิงปืน หรือปะทะกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
จาก นั้นทนายความถามว่า ขณะประจำการได้ยินเสียงปืนในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ พยานเบิกความว่า พยานจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง จึงไม่ทราบว่าจะมีเสียงดังมาจากที่อื่นหรือไม่ ทนายความถามต่อว่าการเข้าควบคุมพื้นที่นั้น ตรวจพบอาวุธหรือไม่ พยานเบิกความว่าเวลา 18.30 น. เห็นว่าชุดที่มี 110 นาย ตรวจยึดอาวุธในพื้นที่ได้หลายรายการ ประกอบด้วย มีด ประทัด ถังดับเพลิงที่ดัดแปลงเป็นระเบิด ปืนเอ็ม 16 จำนวน 1 กระบอก และปืนอาก้า 2 กระบอก แต่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้
ทนายความถามอีกว่า ปืนอาก้า และปืนเอ็ม 16 ใช้ในหน่วยงานใด พยานเบิกความว่า ปืนอาก้า ไม่ได้ใช้ในกองทัพบก แต่ใช้ในหน่วยทหารพราน ส่วนปืนเอ็ม 16 ใช้ในหน่วยราชการทั้งทหารและตำรวจ สำหรับการเสียชีวิตของชายไทยไม่ทราบชื่อ พยานไม่ได้เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนหน่วยอื่นจะใช้อาวุธและกระสุนจริงหรือไม่ พยานไม่ทราบ
ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไป วันที่ 22 พ.ย. เวลา 09.00 น.

ไต่สวนการตาย ‘สมชาย ช่างซ่อมรองเทา’ เยื่อกระสุน 16 พ.ค พระราม 4
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสมชาย พระสุพรรณ ช่างซ่อมรองเท้า ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเชิงสะพานลอยคนข้าม ใกล้ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ย่านชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553
พยานเชื่อกระสุนสังหารผู้ตายมาจากทหาร
นายวีระชัย ดอกพอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เบิกความโดยสรุปว่าในวันเกิดเหตุ เวลา 09.30 น. เห็นผู้ตายเดินมาจากสะพานลอยตรงข้ามปากซอยงามดูพลี ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่ตรงสะพานไทย-เบลเยียม จึงตะโกนบอกผู้ตายไม่ให้เดินออกมา ผ่านไปไม่นานก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาจากแนวที่เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ เหตุที่เชื่อว่ากระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแต่เจ้าหน้าที่ และตอนที่พยานจะเข้าไปช่วยผู้ตาย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงสกัด และที่เชื่อว่าเป็นกระสุนจริง เนื่องจากพบรอยกระสุนที่กำแพง และบังเกอร์ยางรถยนต์
ต่อมาทนายความญาติผู้ตายถามพยานว่า ผู้ตายแต่งกายอย่างไร พยานเบิกความว่าใส่กางเกงขายาวสีเข้ม และเสื้อสีอ่อน ทนายความญาติผู้ตายถามต่อว่า พยานเห็นชายชุดดำ หรือผู้ชุมนุมมีอาวุธในบริเวณดังกล่าวหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่เห็น และไม่มี พยานเชื่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิงผู้ตาย แต่ไม่ทราบว่าเป็นคำสั่งผู้ใด
แพทย์ผู้วินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิตระบุกระสุนเข้าหัวฝังในเป็นเหตุเสียชีวิต
ต่อมา นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ แพทย์ ผู้วินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต เบิกความโดยสรุปว่า ขณะที่พยานรับราชการอยู่ที่ร.พ. เลิดสิน กทม. มีอาสาสมัครนำคนไข้มาส่งเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 เวลา 09.50 น. พร้อมให้ประวัติว่าถูกยิงที่ศีรษะ แพทย์ศัลยกรรมประจำแผนกฉุกเฉินจึงรักษา แต่คนไข้อาการรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้น ร.พ.จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนปืนเสียชีวิต แต่ไม่มีการผ่าพิสูจน์ เพราะเห็นสาเหตุเสียชีวิตแน่นอน
นพ.สุกิจเบิกความต่อว่า โดยลักษณะบาดแผลเข้าได้กับกระสุนที่ศีรษะด้านหน้า กระสุนฝังใน ทำลายสมอง จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต บาดแผลมีร่องรอยกระสุนเข้า แต่ไม่มีร่องรอยกระสุนออก บาดแผลยาว 2 ซ.ม. เหมือนรูกระสุนทั่วไป โดยมีพยานเป็นผู้ตรวจ และลงความเห็นการเสียชีวิตของผู้ตาย หรือนายสมชาย พระสุพรรณ ที่พยานไม่เคยรู้จักผู้ตายมาก่อน นอกจากนี้ พยานยังได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน และกรมสอบสวน คดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก่อนหน้านี้ด้วยแล้ว
จากนั้นทนายความญาติผู้ตายถามพยานว่า ทราบหรือไม่ว่าผู้ตายถูกยิงที่ไหน พยานเบิกความว่าทราบเพียงว่าผู้ตายถูกยิงจากพื้นที่ชุมนุมก่อนหน้านำส่งร.พ. 20 นาที แต่จากบาดแผลไม่สามารถระบุวิถีกระสุนได้
ภายหลังพยานทั้ง 2 ปากเบิกความเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 13 และ 19 พ.ย.
เรียบเรียงจาก ข่าวสดออนไลน์
หมายเหตุ : อ่านข้อมูลเกี่ยวกับชายไม่ทราบชื่อเพิ่มเติมได้ที่ “เปิดหน้าหาชื่อชายนิรนามเหยื่อสลายการชุมนุม 19 พ.ค.53

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น