เลือกตั้งโมฆะ นักวิชาการชี้ “คำวินิจฉัยนี้เป็นการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ”
ไม่ผิดคาดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 6 : 3 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ขัดรัฐธรรมนูญ และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
คดีนี้เริ่มต้นจากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องพร้อมความเห็นกรณีที่นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะการไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามกฎหมายกำหนด (อ่านรายละเอียด)
จากนั้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์รับฟับคำชี้แจงจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตัวแทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย
ล่าสุดวันที่ 21 มี.ค.นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวโดยอ่านคำวินิจฉัยโดยสรุปว่า
เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไปแล้ว ปรากฏยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครการเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้ง วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.2557 ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ. ยุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2
ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่เห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหารายละเอียด หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ยังไม่สามารเปิดเผยได้ ขอให้รอดูคำวินิจฉัยส่วนตนอีกครั้งหนึ่ง
คำวินิจฉัยนี้เป็นที่จับตาอย่างยิ่ง และผลของคำวินิจฉัยก็ได้สร้างบรรทัดฐานรวมถึงผลสะเทือนทางการเมืองอยู่ไม่น้อย และยังไม่แน่ใจว่าปัญหาทางการเมืองจะเดินไปทิศทางที่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายรุ่นใหม่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้ให้ความเห็นเบื้องต้นต่อเรื่องนี้ว่า
1.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดการเลือกตั้งไม่ได้ในบางเขตเนื่องจากมีการขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง ส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในบางเขตเหล่านั้นลุล่วง คือจัดให้มีการรับสมัครในเขตที่ไม่อาจเปิดรับสมัครได้ในรอบแรกเนื่องจากมีม็อบมาขัดขวางการรับสมัคร เป็นเหตุให้ต้องจัดการเลือกตั้งในเขตเหล่านี้ในภายหลังเพื่อให้มีการเลือกตั้งครบทุกเขต เป็นการจัดการเลือกตั้งเกินกว่าหนึ่งวันและไม่พร้อมกันทั่วราชอาณาจักร จะเห็นได้ว่าการตีความเช่นนี้ส่งผลประหลาดในการบังคับใช้กฎหมาย
2. คำวินิจฉัยนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าการขัดขวางการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ทั้งการขัดขวางการรับสมัครก็ดี การขัดขวางการลงคะแนนก็ดี แม้ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเขตใดเขตหนึ่ง ก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศได้ คำวินิจฉัยนี้ส่งผลประหลาดในการบังคับใช้กฎหมาย นัยเดียวกับกรณีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการโหวตกฎหมายในสภา แม้เพียงเสียบบัตรแทนกัน 1 คน ศาลรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็น defect ที่ทำให้การลงมติของทั้งสภาเป็นโมฆะไปด้วย ตรรกะเดียวกัน หากอาศัยบรรทัดฐานการตีความเช่นนี้แล้ว ในภายหน้า ใครก็ตามที่ปรารถนาที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็ทำได้โดยเกณฑ์พวกไปปิดกั้นที่ทำการ กกต. ที่เปิดรับสมัคร "ผู้สมัครรับเลือกตั้ง" เพียง 1 เขต
เช่นนี้ผมสามารถคว่ำการเลือกตั้งทั่วประเทศได้ทันที เพราะ กกต.จะต้องเปิดรับสมัครในเขตที่ไม่อาจเปิดรับสมัครได้ และจัดการเลือกตั้งในเขตนั้นต่างหากอีกวันหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะตีความว่า นี่ไง เลือกตั้งไม่พร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าถือตามบรรทัดฐานวันนี้ คือศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ
นอกจากนี้ ในรายงานสรุปคำวินิจฉัยที่เผยแพร่ขณะนี้ ไม่ได้ระบุประเด็นผู้มีอำนาจนำเสนอคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในการรับคำร้องนี้ไว้อย่างไร ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้นำเสนอคดีสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามฐธรรมนูญฯ 2550 บัญญัติไว้ในมาตรา 245 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเพียงแค่เรื่องกฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเท่านั้น หมายความว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจนำเสนอประเด็นการจัดการเลือกตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นคดีสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และในทางเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยดุจกัน แต่เมื่อศาลวินิจฉัยโดยปราศจากอำนาจรับคดีตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องปฏิเสธความผูกพันผลคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองว่า จะยอมรับสภาพที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปหรือไม่
หากฝ่ายการเมืองยอมรับการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยโดยตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คำวินิจฉัยนี้เป็นการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญและเกิดผลสำเร็จไป แต่หากฝ่ายการเมืองปฏิเสธไม่ยอมรับความผูกพันจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องสู้กันเหนื่อย เพราะองค์กรจัดการเลือกตั้ง (กกต.) คงไม่ร่วมปฏิเสธความผูกพันคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วย เช่นนี้ก็จะเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่เดินตามศาลรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ปฏิเสธคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญขึ้นอีกศึกหนึ่ง ดูจากกระแสของทางรัฐบาลเอง ก็ดูเหมือนจะเลือกไปในทางยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และรอพรรคประชาธิปัตย์มาลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่
ถามว่าคำวินิจฉัยช่วยแก้ปัญหาเพื่อไทยพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งชอบธรรมขึ้นหรือไม่นั้น พุฒิพงศ์ตอบว่า พรรคการเมืองที่ไม่มีความพร้อมที่จะลงแข่งขันในสนามเลือกตั้ง ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองนั้นก็ต้องบีบบังคับกดดันประชาธิปัตย์ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง เมื่อประชาธิปัตย์ไม่มีความพร้อมที่จะลงแข่งขัน ก็ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เขามีความพร้อมที่จะแข่งขันในกรอบกติกาได้มีโอกาสเข้ามาในสนามการเมือง
เราไม่อาจผูกขาดระบบการเมืองทั้งระบบไว้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้ มิเช่นนั้น พรรคการเมืองที่ทำตัวเป็นเด็กนิสัยเสีย เมื่อคาดหมายว่าตนไม่ชนะการเลือกตั้ง ก็จะตีรวนอ้างไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่ร่ำไป และคราวนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ที่บอยคอตการเลือกตั้ง
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า
เหตุผลเท่าที่ฟังนั้นไม่เป็นที่น่าแปลกใจ แต่เป็นที่น่าสลด ผมคิดว่านี่คือส่วนหนึ่งของกระบวนการที่พยายามตีความรัฐธรรมนูญแบบที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยขององค์กรอิสระ หากเราดูคำวินิจฉัยขององค์กรอิระในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นความเข้มข้นของการตีความรัฐธรรมนูญแบบเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิไตยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ายึดเอาคำวินิจฉัยนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไป มันจะเป็นคำวินิจฉัยที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยถูกล้มได้ง่ายมาก โดยผ่านการล้มการเลือกตั้งเพียงเขตใดเขตหนึ่ง ถ้าเราตีความให้การขัดขวางการเลือกตั้งมีผลถึงกับทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไปทั้งหมด ต่อไป คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขัดขวางการเลือกตั้งเพียงหน่วยเดียวก็ทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้ว มันมีผลผูกพันองค์กรแน่ คงต้องมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ถ้าเรายังหวังการเปลี่ยนแปลงตามระบบคือการเลือกตั้งต้องมี ทั้งนี้ เนื่องจากในระบบกฎหมายเราศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ตีความหรืออธิบายความหมายของรัฐธรรมนูญ เมื่อเขาตีความแล้วมันไม่มีกระบวนการหรือเปิดช่องให้โต้แย้ง ผมก็เห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วในแง่นี้ก็มีผลเป็นอันสิ้นสุด เพื่อความเป็นธรรม คิดว่าในคำวินิจฉัยเต็มน่าจะมีประเด็นของอำนาจในการรับคำร้องว่าศาลอธิบายอย่างไร
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและอันตรายมากคือ องค์กรอิสระจำนวนมากกำลังจะทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในระบบเกิดขึ้นได้ยากมาก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อนุญาตให้แก้ การทำให้การเลือกตั้งถูกล้มได้ง่ายๆ แบบนี้ สิ่งที่จะเป็นอันตรายคือ ถ้าองค์กรอิสระทำให้ความพยายามเปลี่ยนแปลงในระบบไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ระวังว่าจะทำให้เปลี่ยนไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือต่อสู้นอกระบบสำหรับคนที่ไม่พอใจกับระบบที่เป็นอยู่
การทำหน้าที่ของอองค์กรอิสระพึงตระหนักว่า ตนเองมีอำนาจแต่ถ้าความชอบธรรมไม่มี มันจะทำให้ความขัดแย้งของสังคมยิ่งขยายและร้าวลึกและอาจนำไปสู่จุดที่อันตรายและสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่ยุ่งยากมากขึ้น
ถามว่าคำวินิจฉัยเช่นนี้อาจช่วยให้การเมืองมีทางออกได้ไหม ผมคิดว่าอาจเป็นทางออกสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นอยู่ได้นิดหน่อยคือ ให้พรรคประชาธิปัตย์มาลงเลือกตั้ง แต่ในระยะยาวจะเป็นปัญหาเชิงระบบ ถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจการเลือกตั้งแล้วทำอย่างที่ กปปส.ทำ ก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีผลทันที ดังนั้น ถ้ายึดเอาคำวินิจฉัยนี้เป็นบรรทัดฐานมันจะเป็นปัญหาต่อระบบอย่างรุนแรง
จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟซบุ๊ค ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย โดยระบุว่า ความหมายทางการเมืองของการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ
1.เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งมีผลเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ตรวจฯและศาลรัฐธรรมนูญเองในการล้มการเลือกตั้ง
2.ฝ่ายที่ไม่เชื่อถือการเลือกตั้งมีกลไกมากขึ้นที่จะกำหนดว่าการเลือกตั้งจะไม่มีวันจบตราบเท่าที่ไม่มีหลักประกันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องชนะและได้เป็นรัฐบาลเท่านั้น
3.เมื่อกปปส.ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างที่ผ่านมา การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นตามกำหนดแต่จะต้องเลื่อนไปเรื่อยๆ ด้วยข้ออ้างว่าต้องเลือกตั้งในวันเดียวกันเท่านั้น มิฉะนั้นเลือกไปก็ต้องเป็นโมฆะอีก
4.เพิ่มทางเลือกให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ว่าจะลงสมัครหรือไม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครต่อเมื่อแน่ใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง เช่น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลถูกจัดการจนราบคาบหมดแล้ว แต่แนวโน้มพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ลงสมัครอยู่ดี เพราะเห็นว่าจะไม่ชนะและยังกลัวจะขัดแย้งกับสุเทพและพวก
5.เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัคร การเลือกตั้งนี้ก็จะไม่มีวันจบ องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็จะจัดการกับรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต่อไป เพื่อให้เกิดสภาพสุญญากาศทางการเมืองจะได้นำไปสู่การใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 ตั้งรัฐบาลคนนอกและปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
6.เป็นโอกาสที่พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหลายจะตัดสินใจว่า จะกำหนดท่าทีและนโยบายอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เพื่อให้มีผู้สนับสนุนการเลือกตั้งมากขึ้นและนำไปสู่การปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย
7.หากสังคมไทยไม่สามารถใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ การฉีกรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงซึ่งในที่สุดก็จะเกิดการรัฐประหาร
8.การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทางออกหรือจุดจบของความขัดแย้ง แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ความรุนแรงและความสูญเสียครั้งใหญ่ของสังคมไทย
ชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยผ่านสถานทีโทรทัศน์บลูสกายภายหลังฟังคำวินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมร่วมให้ความเห็นหาก กกต.จะหารือทุกฝ่ายเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นไปด้วยความสุจริตเรียบร้อย
ส่วนกรณีหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครเลือกตั้งติดต่อกัน 2 ครั้งจะต้องยุบพรรคนั้น โฆษก ปชป. กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกันภายในพรรคก่อน เพราะข้อกฎหมายระบุไว้ในกรณีไม่ลงเลือกตั้ง 2 ครั้ง ใน 8 ปี แต่ในกรณีนี้ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะแล้วจะถือว่าไม่ลง 2 ครั้งติดต่อกันหรือไม่
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าศาลตัดสินให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ชอบ ต้นเหตุนอกจากประเด็นกฎหมายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเรื่องของความไม่ปกติของสถานการณ์ทางการเมืองด้วย จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ หาคำตอบทางการเมืองทำให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ถ้าเทียบกับกรณีเลือกตั้งปี 2549 ที่เป็นโมฆะ ศาลฯ ระบุเรื่องการคุยหารือกับทุกฝ่ายก่อนการจัดเลือกตั้งใหม่ หลังจากนั้น กกต. ก็มีการปรึกษากับทุกพรรคก่อนจะมีพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม เลือกตั้งใหม่ในเดือน ต.ค. เชื่อว่าครั้งนี้แนวทางคงไม่หนีกัน ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสจะเปลี่ยนเส้นทางการเมืองจากสภาพปัจจุบัน ด้วยการแก้ไขให้การเมืองเข้าสู่สภาวะปกติได้ ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่านาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เองก็ไม่ปิดทางคุยกับรัฐบาล แต่ต้องคุยอย่างเปิดเผย กับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
กรณีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นจากความอยากไม่อยากของพรรค แต่เพราะประชาชนจำนวนมาก มองว่าการเลือกตั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลายอย่างไม่อาจแก้ปัญหาให้กับประเทศได้ วันนี้การตัดสินใจของพรรคต้องอยู่บนพื้นฐานเดิม จึงเสนอว่า ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะให้คำตอบได้ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ รัฐบาลกับ กปปส. ต้องทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมเอื้อต่อการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น
ส่วนกรณีที่ถ้าพรรคไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้วอาจจะต้องถูกยุบพรรคเพราะไม่ส่งผู้สมัคร2 ครั้งติดต่อกันนั้น หากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบ ก็ไม่ถือเป็นการเลือกตั้ง คงไม่สามารถนับรวมว่า เป็นครั้งที่ 2 ได้
สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.กล่าวใน การสัมมนาวิชาการ เรื่อง "แช่แข็งประชาธิปไตยไทย" ตอบคำถามที่ว่า ศาล รธน.ตัดสินเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 โมฆะใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งว่า ศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรคสอง เนื่องจากไม่มีการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเหตุผลไม่ได้เกิดจากเหตุธรรมชาติ แต่มีผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง ตั้งแต่การจัดรับสมัคร ส.ส.ก็เกิดเหตุรุนแรงขึ้น กกต.มีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดี สามารถเปลี่ยนสถานที่รับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ได้ แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ
ผู้ที่รับผิดชอบต่อความเสียหายในการเลือกตั้งครั้งนี้คือผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย กกต.ในระดับจังหวัด รวมทั้ง กกต.กลางทั้ง 5 ท่าน ต้องรับผิดชอบ ส่วนรัฐบาลเป็นเพียงแค่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ เนื่องจากในวันเลือกตั้งมีกการหันคูหาออกหน้าหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ กกต.ถูกลงโทษ ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 2,000 กว่าล้าน
ผู้ที่รับผิดชอบต่อความเสียหายในการเลือกตั้งครั้งนี้คือผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย กกต.ในระดับจังหวัด รวมทั้ง กกต.กลางทั้ง 5 ท่าน ต้องรับผิดชอบ ส่วนรัฐบาลเป็นเพียงแค่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ เนื่องจากในวันเลือกตั้งมีกการหันคูหาออกหน้าหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ กกต.ถูกลงโทษ ต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 2,000 กว่าล้าน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้วันที่ 18 มี.ค.พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญล่วงหน้าอย่างแข็งกร้าว หากจะวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจเป็นการขยายเขตอำนาจของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดจาการขัดขวางของกลุ่ม กปปส.และคนของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการละเลยต่อหน้าที่ของ กกต. ซึ่งสามารถแก้ไขได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องล้มเลือกตั้ง และมองว่าพฤติกรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) มุ่งล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคมมากขึ้น
คณิน บุญสุวรรณ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อพท. และพวกแถลงข่าว 1 วันก่อนมีผลคำวินิจฉัย ระบุว่า หากศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ก็มีคำถาม 6 ข้อ คือ
1.ใครจะรับผิดชอบเงินงบประมาณการเลือกตั้งจำนวน 3,000 ล้านบาทที่ใช้ไปแล้ว
2. ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 53 พรรค และประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกว่า 20 ล้านคน ทำอะไรผิดหากถูกศาลลงโทษด้วยการล้มการเลือกตั้ง
3.ใครจะเป็นผู้นำร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ
4.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องถูกดำเนินคดีและชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ และการจัดเลือกตั้งที่ไม่สำเร็จจะยังให้กกต.ชุดนี้จัดการเลือกตั้งครั้งใหม่หรือไม่
5.กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ ต้องรับผิดชอบอะไรที่บอยคอตและขัดขวางการเลือกตั้ง จนสามารถล้มการเลือกตั้งได้สำเร็จ ควรถูกดำเนินคดีหรือสมควรจะได้รับรางวัล
6.สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ยื่นร้องให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมถาพันธ์ เป็นโมฆะ มีสิทธิ์อะไรถึงสามารถร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มการเลือกตั้งทั่วไป ที่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น