เปิดประวัติถนนประวัติศาสตร์ "ถนนอุทยาน" สถานที่ชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดง ความยาว 3.98 ก.ม.ใช้เวลาสร้าง 44 ปี
และพื้นที่ล่าสุด ที่จะถูกนำมาใช้เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยกลุ่มนปช. ในวันที่ 5 เมษายน ก็คือ ถนนอุทยาน หรือ ถนนอักษะ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ให้เหตุผลที่เลือกถนนอักษะว่า เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด และมีความสวยงาม ขอให้นึกถึงภาพคนเสื้อแดงมารวมตัวกันเป็นสีแดงเต็มทั้งถนน
ขณะที่นางธิดาโตจิราการ ประธานที่ปรึกษานปช. ให้เหตุผลว่า การนัดชุมนุมที่ถนนอักษะ เป็นสถานที่ที่บ่งบอกถึงความสงบ สันติ เป็นสถานที่กว้างขวาง ไม่ใช่สถานที่ราชการ เป็นพื้นที่มีประโยชน์ ประชาชนทั้งประเทศจะได้เห็นภาพคลื่นมวลชนหลายแสนคนอย่างแน่นอน
ถนนอักษะเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย3 ในเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีระยะทาง 3.98 กิโลเมตร พร้อมด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เสาโคมไฟรูปหงส์ 979 ต้น ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่สองข้างทาง จนบางคนขนานนามให้เป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย
ถนนอักษะมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย ถนนสายดังกล่าวเป็นหนทางที่สร้างมุ่งไปสู่ "พุทธมณฑล" ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. 2498 เพื่อเฉลิมฉลองวาระกึ่งพุทธกาล หรือ 25 พุทธศตวรรษ ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินของราษฎรเพื่อสร้างถนนตั้งแต่ พ.ศ. 2494 แต่การก่อสร้างพุทธมณฑลและถนนอักษะได้หยุดชะงักลง เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจใน พ.ศ. 2500
ต่อมาในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มรื้อฟื้นโครงการพุทธมณฑลขึ้น เนื่องจากใกล้การเฉลิมฉลองวาระสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ใน พ.ศ.2525 ก่อนที่พุทธมณฑลจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ส่วนถนนอักษะนั้นได้รับอนุมัติให้ลงมือก่อสร้างในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โครงการก่อสร้างถนนอักษะเป็นโครงการหนึ่งที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวาระฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสง่างามแก่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และอำนวยความสะดวกในพระราชพิธีที่พุทธมณฑล ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1,068,987,571 บาท และเสร็จสมบูรณ์เปิดให้ประชาชนใช้ได้ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
สำหรับชื่อถนนอักษะซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่า "Axis" แปลว่า "แกนกลาง" นั้น หมายถึงประเทศฝ่ายอักษะ คือ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งทำสงครามกับฝ่ายพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ
เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้ว กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรในเรื่องชื่อถนนอักษะ ซึ่งกรมศิลปากรได้แนะนำให้ใช้ชื่อว่า ถนนอักษะ ซึ่งแปลว่าแกนกลาง เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพุทธมณฑลสาย 3 กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต่อมากรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อขอพระราชทานชื่อถนนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า "ถนนอุทยาน" อันเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับพุทธมณฑล
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ถนนอักษะยังตั้งอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐานอีกด้วย
ขอขอบคุณมติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น