วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

ศาลปค. สั่ง 'ประชา-ทายาทสมัคร' จ่าย 587 ล้าน คดีรถ-เรือดับเพลิง 'อภิรักษ์-วัฒนา' รอด


               ศาลปกครองสั่งประชา มาลีนนท์ และทายาท 'สมัคร' ชดใช้เงิน 587 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ในคดีซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม. ขณะที่ 'อภิรักษ์-วัฒนา' รอด
             30 เม.ย.2557 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานครรวม 4 คดี โดยมีคำพิพากษาให้คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ภรรยานายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ, นางกาญจนากร ไชยลาภ และนางกานดาภา มุ่งถิ่น ทายาทมรดกของนายสมัคร ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีที่นายสมัครกระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าร่วมกันกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ของประเทศออสเตรีย กำหนดราคาซื้อขายให้สูงเกินจริง
               ศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสมัคร และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงการลงนามในสัญญา มีลักษณะเป็นการเร่งรีบเพื่อให้มีการดำเนินการตามสัญญาระหว่างที่นายสมัครยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีการอ้างเหตุจำเป็นในการดำเนินโครงการจากการเติบโตของ กทม. แต่ทั้งสองไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ในการพิจารณารายละเอียด สัญญา ลักษณะ รัฐต่อรัฐตามขั้นตอน ที่ ครม. มีมติ และยังไม่ได้นำกรณีอื่นที่หน่วยทหารพัฒนาของ บก.สส. ได้ทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐกับบริษัทสไตเออร์ฯ มาพิจารณาประกอบในการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมกับกรณีทั้งที่นายสมัครก็เป็นผู้ว่าฯ กทม. ย่อมต้องรับรู้และเข้าใจขั้นตอนปฏิบัติ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าการกระทำของนายสมัครดังกล่าวจงใจประมาทเลินเล่อ ทำให้ กทม. เสียหาย จึงพิพากษาให้ทายาทซึ่งเป็นผู้รับมรดก ชดใช้เงินค่าเสียหายร้อยละ 30 ของความเสียหายทั้งหมดจำนวน 1,958 ล้านบาทเศษ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเสร็จภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา
             ภายหลัง นายสุขสันต์ สุขสวัสดิ์ ทนายความของคุณหญิงสุรัตน์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะไปปรึกษากับคุณหญิงสุรัตน์และทายาททั้งสอง เรื่องการอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะต่อสู้ในประเด็นที่ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิพากษาในคดีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมรดกที่ควรจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง
            นอกจากนี้มีคำพิพากษาในคดีที่นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร และ รมว.มหาดไทย กรณีกรุงเทพมหานครสั่งให้นายประชาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากการที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญากล่าวหาว่าขณะนายประชาดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ มีพฤติการณ์ร่วมกับบริษัทสไตเออร์ฯ กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงฯ โดยศาลปกครองสั่งให้นายประชาต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับกรุงเทพมหานครในจำนวนเดียวกับทายาทของนายสมัคร เนื่องจากขณะเกิดเหตุ นายประชาดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเริ่มโครงการและกระบวนการจัดซื้อ
             โดยมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ประกาศกำหนดให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.  และนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ กทม. ที่เสียหายจากการทำสัญญาซื้อขายรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศาลเห็นว่านายอภิรักษ์มีการแสดงให้เห็นถึงความพยายามการปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการ หลังเห็นว่าการซื้อขายมีข้อบกพร่องของกฎหมาย จึงได้ยื่นขอระงับการเปิดหนังสือค้ำประกัน หรือ  LC กับธนาคารกรุงไทย 2 ครั้ง และทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และหนังสือถึงนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย 2 ครั้ง ให้ทบทวนการสัญญา แต่นายโภคินก็ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้ ขณะที่นายอภิรักษ์ก็ไม่มีอำนาจที่จะบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จึงเห็นว่านายอภิรักษ์ได้ระมัดระวังตามกรอบอำนาจหน้าที่ ไม่มีเจตนาทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหาย
              ในส่วนของนายวัฒนา ศาลเห็นว่าแม้นายวัฒนาจะมีส่วนเกี่ยวข้องในบางขั้นตอนกับการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ฯ โดยเฉพาะในส่วนสัญญาสินค้าต่างตอบแทน ประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง แต่ก็สืบเนื่องจากกรณีที่ ครม. มีมติเมื่อ 24 ส.ค. 47 ให้พิจารณาผลักดันการส่งออกสินค้าประเภทไก่ต้มสุกแช่แข็ง เนื่องจากขณะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ประสบปัญหาไข้หวัดนก อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่านายวัฒนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดประเภทสินค้าตามที่มีการอ้าง อีกทั้งการผลักดันจะให้มีการทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยดังกล่าวก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการทำสัญญาซื้อสินค้าต่างตอบแทนเท่านั้น ส่วนการกำหนดส่งสินค้าต่างตอบแทน ตามขั้นตอนปฏิบัติก็ยังต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศด้วย ไม่ใช่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ รมว.พาณิชย์ เพียงลำพัง หลักฐานในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่านายวัฒนากระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนทำให้ กทม. ต้องซื้ออุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยจากบริษัทสไตเออร์ฯ ในราคาแพง อีกทั้งก่อนหน้านี้ทั้งนายอภิรักษ์และนายวัฒนา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำพิพากษายกฟ้องไปก่อนแล้ว จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ดังกล่าว โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 53 ที่มีการออกคำสั่ง
            อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 คดีดังกล่าว ผู้ร้องและผู้ถูกร้องในคดียังสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น