รอง ผบ.ตร. เผยขณะนี้ใช้ตำรวจนอกเครื่องแบบมาร์คผู้ชุมนุมไว้ก่อนแล้วจับภายหลัง แต่ปฏิเสธกรณีจับสตรีที่แยกอโศกขึ้นรถแท็กซี่ว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่ตำรวจ และอาจเป็นเหตุการณ์สามีพาภรรยากลับบ้าน ขณะที่ช่วงกลางวันนี้แถลงที่ บช.น.ว่า ว่าขณะนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ-ดังนั้นชูมือหรือชู 3 นิ้วก็ผิดกฎอัยการศึก
ภาพจากคลิปเหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์ลักพาตัวสุภาพสตรีรายหนึ่งหลังเหตุชุมนุมต้านรัฐประหารที่แยกอโศก เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2557 (ที่มา: บางกอกโพสต์)2 มิ.ย. 2557 - กรณีที่มีรายงานว่าในการชุมนุมต้านรัฐประหารเมื่อวานนี้ (1 มิ.ย) มีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 6 ราย โดยถูกส่งมาควบคุมตัวที่กองปราบปราม ประกอบด้วย น.ส.วาริน ทินกร อายุ 71 ปี ถูกจับที่แยกราชประสงค์ นอกจากนั้นถูกควบคุมตัวจากแยกอโศก และฟอร์จูนทาวน์ ได้แก่ น.ส.นุชรา สุขแสวงบุญ อายุ 48 ปี น.ส.สุนันทา พ่วงศิริ อายุ 50 ปี นายมงคล แสงสุดา อายุ 43 ปี น.ส.จิราพร วราพิศิษฐ์ อายุ 53 ปี และ นายสุเมศ วิโรจน์ชัยยันต์ อายุ 40 ปี
นอกจากนี้บริเวณริมถนนใกล้โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท เกิดเหตุมีสุภาพสตรีอายุ 40 ปี ถูกชายอย่างน้อย 5 คน รวบตัวหลังเหตุชุมนุมต้านรัฐประหาร โดยสุภาพสตรีคนดังกล่าวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพู ป้ายทะเบียนรถ ทข 422 กรุงเทพมหานคร โดยจากคลิปของบางกอกโพสต์ มีชายสามคนยืนคุมสตรี 1 ราย ชายอีก 2 คนนั่งอยู่ในรถแท็กซี่ ทั้งหมดช่วยกันดึงตัวหญิงคนดังกล่าวเข้าไปในรถแท็กซี่ ระบุว่าจะพาไป สน. แต่หญิงขนดังกล่าวขัดขืน ก่อนที่ชายทั้งหมดจะลักพาหญิงคนดังกล่าวไปส่ง สน. ทั้งนี้มีพลเมืองดีเก็บกระเป๋าของหญิงคนดังกล่าวที่ตกในที่เกิดเหตุไว้ได้ ตรวจสอบภายในพบบัตรประชาชน 2 ใบ ระบุชื่อ น.ส.ไพลิน พ่วงศิริ อยู่เขตสวนหลวง กทม. และ น.ส.สุนันทา พ่วงศิริ อยู่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
รอง ผบ.ตร.เผยมี ตร.นอกเครื่องแบบมาร์คผู้ชุมนุม ส่วนกรณีอุ้มขึ้นแท็กซี่เป็นเหตุสามีตามภรรยากลับบ้าน
โดยเช้าวันนี้ในรายการข่าว
"เจาะลึกทั่วไทย" ทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมว่า "เราจะไม่ทำการจับกุมผู้ชุมนุมในขณะมีฝูงชนจำนวนมากๆ มีทั้งประชาชน ผู้สื่อข่าว แต่จะใช้ตำรวจนอกเครื่องแบบมาร์คท่าน พอท่านออกจากที่ชุมนุมเราจะจับกุมท่าน เมื่อวานนี้จับกุมได้ 6-7 ราย จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า "อ๋อ นอกเครื่องแบบที่จับกุมขึ้นแท็กซี่ใช่ไหมครับ" ทำให้ พล.ต.สมยศ ตอบว่า "อันนั้นผมไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนะครับ อาจจะเป็นสามีเขาก็ได้ ซึ่งไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมมาชุมนุม ก็เลยพาตัวภรรยาเขากลับบ้าน ส่วนที่เราจับ เราจับโดยที่เปิดเผย และไม่มีการกระทำเช่นนั้น บอกแล้วว่าทหารและตำรวจไม่ปฏิบัติโดยใช้วิธีรุนแรง"
บช.น.ประชุมรับมือ รอง ผบ.ตร.เผยต้องปิดการจราจรเพราะหัวหน้า คสช. ต้องการเลี่ยงเผชิญหน้า
นอกจากนี้
หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานวันนี้ว่า ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีการประชุมงานด้านความมั่นคง ประเมินสถานการณ์และกรอบการปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดที่มีการชุมนุมต้านรัฐประหาร โดยผู้ที่มาประชุมเช่น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.น. และ รอง ผบช.น. ต่างๆ รวมทั้ง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการรอง ผบช.น. และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมดังกล่าวเพื่อประเมินผลการชุมนุม และวางแผนการปฏิบัติในวันต่อๆ ไป ทั้งนี้แนวนโยบายคือการประเมินสถานการณ์ ทหารมีฝ่ายข่าว ตำรวจก็มีฝ่ายข่าว นำมาประเมินร่วมกัน ก่อนกำหนดยุทธวิธี โดยผู้กำหนดยุทธวิธีคือ ทหาร เป็น ผบ.เหตุการณ์ ตำรวจเป็นผู้ให้การสนับสนุน ที่ผ่านมาเมื่อมีการชุมนุม จำเป็นต้องปิดการจราจร เพราะหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม หรือทหาร ตำรวจ เราไม่มีความต้องการไปปิดถนน เพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ที่เราต้องปิดถนนหรือบล็อกพื้นที่ก่อนนั้น เพราะไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมได้ใช้พื้นที่ เพราะรู้ดีว่าเมื่อผู้ชุมนุมเข้าไป แล้วเราเข้าไปทีหลังมันสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า อาจทำให้สูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ต้องการให้มีเกิดเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น
ตอนนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ ยืนชูมือหรือชู 3 นิ้วถือว่าผิดกฎอัยการศึก
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายงานด้วยว่า ทั้งนี้มีผู้ถามว่า หากผู้ชุมนุมชูสัญลักษณ์เช่นชู 3 นิ้ว จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกพักใช้ บัญญัติว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นความผิด แต่ขณะนี้ประเทศไทยใช้กฎหมายกฎอัยการศึก การชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงถือว่าเป็นความผิด ไม่ว่าท่านจะมียืนชูมือ ชูนิ้วเฉยๆ ก็ถือว่าเป็นความผิด ผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ มาเพราะอุดมการณ์ หรือถูกชักชวน หรือถูกจ้าง ต้องทำความเข้าใจว่าการชุมนุมด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูกพักไปกับการชุมนุมโดยใช้กฎอัยการศึกมันคละเรื่องกัน จึงถือว่ามีความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประกาศคณะ คสช. ฉบับที่ 49 ออกมาว่า ใครก็ตามที่ให้ใช้สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรือสถานที่ใดๆ กับผู้ชุมนุม จะมีความผิดกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 49 ในฐานะผู้สนับสนุน
(อ่านต่อที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น