พ.อ.วินธัย สุวารี ชี้แจงฮิวแมนไรท์ วอทช์โดยยอมรับว่าควบคุมตัว "กริชสุดา คุณะเสน" ตั้งแต่ 28 พ.ค. เนื่องจากอยู่ในข่ายต้องสงสัยผิด ม.116 - พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่เปิดเผยสถานที่คุมตัวเพื่อให้ออกไปจากความวุ่นวาย-ไม่มีสิ่งรบกวน-ให้มีสมาธิไตร่ตรองตั้งสติ ทบทวนสิ่งต่างๆ คสช.บริการแพทย์ 24 ชม. ทุกคนได้รับการบริการดุจญาติมิตร ส่วนทนายไม่ต้องเพราะยังไม่ตั้งข้อหา
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช. (แฟ้มภาพ)
21 มิ.ย. 2557 - กรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. แสดงความกังวลต่อ กริชสุดา คุณะเสน หรือ "เปิ้ล สหายสุดซอย" นักกิจกรรมเสื้อแดงวัย 27 ปีที่หายตัวไปราว 3 อาทิตย์ โดยมีหลักฐานว่าเธอถูกจับกุมไปโดยทหารเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรีนั้น
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เวลาประมาณ 23.30น. น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารของบางกอกโพสต์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. ขอชี้แจงว่า เดิม จนท.ทหาร ตำรวจหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ได้ขอควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากพฤติกรรมที่ผ่านมา มีลักษณะข่ายต้องสงสัยความผิดตาม ม.116 (2) กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงต้องขอควบคุมตัวเพื่อสอบสวนตามขั้นตอน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ มาปัจจุบันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2557 คสช.จึงได้มีประกาศเชิญให้มารายงานตัวตามกระบวนการสร้างความเข้าใจปกติ
"ยืนยันอีกครั้งว่าการเชิญรายงานตัว จะไม่ได้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ในลักษณะผู้มีความผิดแต่อย่างใด ขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ กระบวนการนี้ยังยึดในหลักสิทธิมนุษยชนเหมือนเดิม ถ้าได้ติดตามข่าวสารจะพบว่าไม่มีบุคคลใด มีความรู้สึกที่เป็นลบต่อการปฏิบัติดูแลของ จนท.ไม่มีลักษณะที่เป็นทุกข์แต่อย่างใด ทุกคนมีความเข้าใจ และยินดีให้ความร่วมมือตามแนวทาง คสช.เป็นอย่างดี"
ส่วนกรณีนาย แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ ต้องการให้ปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวของ คุณ กริชสุดา นั้น พ.อ.วินธัน ตอบว่า "เพื่อต้องการออกไปจากความวุ่นวายและไม่ถูกรบกวนจากสิ่งรอบตัว เพื่อให้มีสมาธิไตร่ตรองตั้งสติ ทบทวนสิ่งต่างๆ ปรับความเข้าใจกัน หรือบางครั้งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความต้องการของบุคคลนั้นๆ เอง จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่าที่จำเป็น เพียงพอต่อการปรับทัศนคติและทำความเข้าใจกัน บางบุคคลมาแล้วกลับเลย บางคน 1 วัน 3 วัน มากที่สุดไม่เกิน 7 วัน"
สำหรับสิทธิในการเข้าถึงทนายความนั้น ขอเรียนว่าในกระบวนการนี้เป็นแค่การ แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกัน เพื่อหาความร่วมมือกันในอนาคต ยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ที่จำเป็นต้องมีทนายความ ส่วนเรื่องการบริการในเรื่องการแพทย์นั้น ทางคสช.ได้มีการจัดเตรียมไว้เพื่อให้บริการได้ตลอด 24 ชม. อยู่แล้ว ยืนยันทุกคนอยู่ในความดูแลประดุจญาติมิตร ให้เกียรติกันและกันเสมอ
สำหรับข้อกังวล กรณีที่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน ที่ถูกตั้งข้อหาจากการไม่รายงานตัวต่อ คสช. ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนได้แสดงเจตจำนงจะไปรายงานตัวต่อ คสช.ก่อนหน้านั้นแล้วนั้น อาจต้องดูที่เจตนาและเงื่อนไขเวลา เป็นความเห็นของเจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมอย่างแน่นอน และทุกคนสามารถต่อสู้แก้ต่างได้ตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมที่เปิดโอกาสให้ ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ยืนยันจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถึงแม้จะอยู่ในอำนาจศาลทหาร
"กรณีการเชิญพบเพื่อรายงานตัวไม่ใช่การสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวอย่างที่เข้าใจ ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในข้างต้น สำหรับข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอยู่โดยไม่การตั้งข้อกล่าวหาทั้งหมดทันทีนั้น ขอเรียนว่าบุคคลที่อยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่อาจมี 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกคือเชิญมารายงานตัวเพื่อพูดคุยปรับทัศนคติปรับความเข้าใจ ขอความร่วมมือ เสร็จภารกิจก็กลับไป ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ อยู่แล้ว อีกลักษณะหนึ่งคือเจ้าพนักงานตำรวจพบว่ามีคดีความผิดเดิมในช่วงที่ผ่านมา อาจรวมถึงเรื่องการฝ่าฝืนประกาศฯ ของเฉพาะบางบุคคล ก็จำเป็นต้องมีการถูกดำเนินการไปตามขั้นตอนของทางตำรวจต่อไป ซึ่งก็ต้องไปแก้ต่างกันเองตามช่องทางของกระบวนการยุติธรรมปกติ" เฟซบุ๊คของวาสนาระบุคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น