วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ชัยชนะแห่งเจตจำนง: ภาพยนตร์ของฮิตเลอร์


ผู้เขียนขอนำเสนอบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ของฮิตเลอร์ชิ้นนี้ในโอกาสที่รัฐบาลทหาร "คืนความสุข" ให้กับคนไทย โดยการเปิดให้ดูภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรภาค 5  ฟรี อันสะท้อนให้เห็นว่ากองทัพได้เข้าสู่ระดับปฏิบัติการใหม่นั่นคือ ย้อนรอยการโฆษณาชวนเชื่อของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากรัฐบาลนาซี เป็นที่แน่ชัดว่า วัตถุประสงค์ของการเปิดภาพยนตร์ให้ดูฟรี (แต่น่าจะจำกันได้ว่าภาพยนตร์ใช้ทุนจำนวนมากมาจากภาษีประชาชนผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง) ของ คสช. ก็คือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนผ่านทางสื่อวัฒนธรรมเหมือนรัฐบาลทั้ง 2 ชุดที่กล่าวมา แม้ว่าคุณภาพของตำนานสมเด็จฯ และ “ชัยชนะแห่งเจตจำนง” จะมีชนิดและคุณภาพแตกต่างกันจนไม่น่าจะเอามาพูดถึงในบทความเดียวกันก็ตาม
สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับรัฐ ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ตรงกลาง เอียงขวา หรือเอียงซ้าย เสรีนิยม หรือเผด็จการแบบสุดขั้ว ก็คือ การยอมรับและการเชื่อฟังจากพลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศ แม้รัฐบาลจะใจเปิดกว้างแค่ไหนก็ต้องการการยอมรับจากคนจำนวนมากในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศชาติคงจะถึงสภาวะที่เรียกว่า ไร้ขื่อไร้แป ยิ่งรัฐบาลที่ไม่ได้จากวิถีทางแบบประชาธิปไตยแล้วไซร้ ยิ่งต้องดิ้นรนสร้างความถูกต้องชอบธรรม (Legitimacy) ให้กับตน แน่นอนว่า หนึ่งในบรรดาเครื่องมือที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นก็คือ โฆษณาชวนเชื่อ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Film) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อ 80 ปีที่แล้ว ที่ถูกยกย่องว่าเป็น Masterpiece หรืองานอันล้ำค่าที่สุดของโลกภาพยนตร์ อาจจะไม่เพียงวงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น[1]  ที่สำคัญมันถูกสร้างโดยผู้หญิงในยุคที่นาซีเรืองอำนาจเสียด้วย !!!
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อเยอรมันว่า Triumph des Willens ภาษาอังกฤษคือ Triumph of the Will หรือชื่อภาษาไทยน่าจะเป็น "ชัยชนะของเจตจำนง" ผู้กำกับเป็นหญิงเก่งนามว่า เรนี รีเฟนสตราห์ล  (Reni Riefenstrahl) และที่จะไม่กล่าวถึงเสียคงไม่ได้ก็็คือ ผู้อำนวยการสร้างแบบไม่เป็นทางการของหนัง ซึ่งก็คือ จอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นั่นเอง
เรนี ผู้กำกับหนังเรื่องนี้เกิดเมื่อปี 1902 ที่กรุงเบอร์ลิน เคยเป็นทั้งนักเต้นระบำและดาราหนังเงียบมาก่อน  มาได้ดิบได้ดีกับหนังเรื่อง Das Blaue Licht (ไฟสีน้ำเงิน) ที่เธอกำกับเอง แสดงเป็นนางเอกเอง ถึงแม้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ไปเตะตา สร้างความประทับใจให้กับฮิตเลอร์ผู้ชื่นชอบในงานศิลปะ ทั้งภาพวาด  ดนตรี และภาพยนตร์เข้า และพอเหมาะกับว่า เธอเคยฟังฮิตเลอร์กล่าวคำปราศรัยในงานสวนสนามเมื่อปี 1932 เลยเกิดความรู้สึกเลื่อมใสต่อท่านผู้นำอย่างมาก เมื่อทั้งคู่พบกัน ฮิตเลอร์ผู้ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพศิลปินจึงต้องการให้เรนีใช้ศิลปะในการสร้างตัวเขาและพลพรรคให้ยิ่งใหญ่ น่าเกรงขามสำหรับคนเยอรมัน
ตอนแรกเธอได้สร้างหนังลักษณะเดียวกับ "ชัยชนะแห่งเจตจำนง" นั่นคือ เกี่ยวกับการเดินสวนสนามของพลพรรคนาซีในเมืองนูเรมเบิร์ก ปี 1933 (มีการเดินกันทุกปีในช่วง 1923 - 1938) ชื่อว่า Der Sieg des Glauben (ชัยชนะแห่งศรัทธา) ยิ่งทำให้ฮิตเลอร์ถูกใจเลยขอให้เธอทำหนังแบบเดิมอีก แต่ด้วยความไม่อยากทำหนังแบบน้ำเน่าทางการเมืองเช่นนี้ เรนีจึงปฏิเสธ แต่ทนแรงกดดันจากฮิตเลอร์ไม่ไหว ประจวบเหมาะกับหาคนอื่นที่ทำหนังดีเหมือนเธอไม่ได้ ในที่สุดหนังเรื่อง ชัยชนะแห่งเจตจำนงก็เลยอุบัติขึ้น งานนี้เรนีได้รับการสนับสนุนด้านทุน ลูกทีมและมีสิทธิอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนแบบนี้ ทำให้เกิดข่าวลือที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ว่า ทั้งเรนีและฮิตเลอร์มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
ชัยชนะแห่งเจตจำนง คือภาพยนตร์ขาวดำความยาวเท่าที่คนทั่วไปได้ดูประมาณเกือบสองชั่วโมง เป็นภาพยนตร์สาระคดีกึ่งเร้าอารมณ์ความรักชาติที่บันทึกเหตุการณ์ของการประชุมของพรรคนาซีที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) ในปี 1934[2] ภาพยนตร์ได้บรรยายถึงสี่วันแห่งสีสันที่เต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของพลพรรคนาซีและทหาร (ซึ่งต่อมาบ่นว่าในภาพยนตร์มีบทบาทของพวกตนน้อยเกินไป) รวมไปถึงชาวเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งเหมือนกับชาวเยอรมันตาดำ ๆ ทั้งหลายในห้วงเวลานั้นที่เปี่ยมด้วยความศรัทธาต่อตัวนักการเมืองหนุ่มนามว่า ฮิตเลอร์ อย่างล้นเหลือ ชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของนักปรัชญาชื่อดังคือ ฟริดริช นิชเช  ในเรื่อง Will to Power หรือเจตจำนงแห่งอำนาจ ซึ่งฮิตเลอร์พรรคนาซีให้ความเลื่อมใสอย่างมาก ฮิตเลอร์ถือว่าตัวเองเป็นอภิมนุษย์ หรือ Uebermensch (อภิมนุษย์) และเป็นตัวแทนของเจตจำนงทั้งมวลของชาติเยอรมัน
ภาพยนตร์ เริ่มต้นด้วยตัวหนังสือที่ว่า
"วันที่ห้ากันยายนปี 1934... ยี่สิบปีหลังจากการเกิดสงครามโลก... สิบหกปีแห่งการเริ่มต้นของความทุกข์ทนของพวกเรา... สิบเก้าเดือนจากการบูรณะประเทศเยอรมัน... อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้บินมายังนูเรมเบิร์กอีกครั้งเพื่อเยี่ยมชมบรรดาสาวกผู้ซื่อสัตย์ของตน"
(แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้จะมีเพลงประกอบภาพยนตร์คือ เพลงของ ริชาร์ด แวคเนอร์ คีตกวีสุดโปรดของฮิตเลอร์ไปตลอดเรื่อง ถือได้ว่าเพลงของแวคเนอร์ได้ทำให้หนังของเรนีดูยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก)
จากนั้นภาพยนตร์ก็พาเราไปยังส่วนของวันแรกคือ วันที่ 5 กันยายน  เปิดฉากด้วยตอนฮิตเลอร์และผู้ติดตามบนเครื่องบินกำลังบินแหวกเมฆอยู่เหนือน่านฟ้าของเมืองนูเรมเบิร์ก เสียงบรรยายหรือ Voice over ซึ่งถูกใส่แทรกเข้าไปในปี 2000 บอกว่า ฮิตเลอร์เป็นนักการเมืองยุคใหม่คนแรกที่รู้จักเอาเครื่องบินมาเกี่ยวข้องกับการหาคะแนนความนิยม จากนั้นภาพก็เข้าไปใกล้เมืองนูเรมเบิร์กที่อยู่ข้างล่าง พร้อมกับเห็นเงาของฮิตเลอร์อยู่ไหว ๆ น่าเสียดายยิ่งนักที่บ้านเรือน ปราสาทที่มีศิลปะแบบโกธิคของยุคกลางจำนวนมากของเมืองนี้ ต้องมาพังพินาศเพราะระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงท้ายของสงครามโลก เครื่องบินลงจอด ฮิตเลอร์ได้รับการต้อนรับอย่างดีและคับคั่งจากชาวเมืองที่เข้าแถวรอรับขบวนรถของเขาขณะเดินทางไปโรงแรมที่พัก หนังสามารถนำเสนอให้คนดูซึมซับไปกับสีหน้าของคนที่มาต้อนรับว่า เปี่ยมไปด้วยความศรัทธาต่อท่านผู้นำเพียงใด ตกกลางคืนพวกเอสเอ หรือ  SA (Sturmabteilung) หน่วยพลเรือนติดอาวุธที่ช่วยพาฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจก็ทำพิธีต้อนรับท่านผู้นำ และจุดคบเพลิงทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

วันที่สองก็มีการสอดแทรกภาพของบรรดาสมาชิกพรรคตั้งแต่เด็กจนไปถึงคนแก่ ตื่นเช้า อาบน้ำ ล้างตัว แปรงฟัน ทานอาหารเช้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินสวนสนาม บรรยากาศเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและแจ่มใส รวมไปถึงขบวนแห่ของชาวบ้านที่แต่งตัวแบบชุดพื้นเมือง จากนั้นภาพก็ตัดเข้าพิธีการเปิดงาน โดยมี รูดอล์ฟ เฮสส์ ผู้มีอำนาจหมายเลขสองรองจากฮิตเลอร์เป็นผู้กล่าวเปิด และก็มีบรรดาคนสำคัญของพรรคนาซีคนอื่นมากล่าวคำปราศรัยดังต่อไปนี้ โจเซฟ เกบเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ  อัลเฟรด โรเซนเบิร์ก นักคิดเจ้าของแนวคิดทฤษฏีเชื้อชาติ ฮันส์ ฟรังค์ ผู้ปกครองโปแลนด์ในช่วงถูกเยอรมันยึดครอง ฟริตซ์ ทอดต์  นายช่างใหญ่ผู้ตรวจการงานสร้างถนน โรเบิร์ต เลย์ หัวหน้าแรงงานเยอรมัน และจูเลียส สไตรเกอร์  เจ้าของหนังสือพิมพ์ของพรรค[3]และแล้วมีการเดินสวนสนามของพวกช่างที่แต่งตัวและท่าทางเหมือนทหาร แถมยังแบกจอบเหมือนกับปืนไรเฟิล ฮิตเลอร์ออกมากล่าวคำปราศรัยเป็นครั้งแรกเพื่อปลุกระดมให้คนเหล่านั้นช่วยกันสร้างชาติ ตกกลางคืนพวกเอสเอเจ้าเก่าก็มาเดินสวนสนามและมีการจุดพลุเล่นไฟกันสนุกสนาน
วันที่สาม ภาพยนตร์ตัดมายังใบหน้าของพวกยุวชนฮิตเลอร์ ที่ตีกลองกันอย่างแข็งขันในงานเดินสวนสนามของพวกเขา (คนเหล่านี้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็คงอายุเฉียดเก้าสิบแล้ว) โดยมีแม่งานคือ บาลดูร์ ฟอน ชิรัก หัวหน้ากลุ่มยุวชนฮิตเลอร์ ฮิตเลอร์ออกมากล่าวคำปราศรัย ปลุกระดมให้เด็ก ๆ อุทิศตนเพื่ออาณาจักรไรซ์ที่สาม ซึ่งจะดำรงอยู่ต่อไปอีกกว่าพันปี จากนั้นฮิตเลอร์ก็เดินทางไปดูการสวนสนามของพวกทหารม้าและหน่วยยานเกราะ ตกกลางคืนก็มีการเดินสวนสนามของสมาชิกพรรคอีกครั้งและปิดท้ายด้วยคำปราศรัยอันเร่าร้อนของฮิตเลอร์อีกเช่นเคย
วันที่สี่ซึ่งเป็นวันที่สำคัญที่สุดของงาน ฮิตเลอร์ขนาบข้างด้วย ไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ (หัวหน้าหน่วยเอสเอส และหน่วยตำรวจลับเกสตาโป) และวิคเตอร์ ลูตซ์ (หัวหน้าหน่วยเอสเอ) เดินไปบนลานของอนุสรณ์สถานของผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสมาชิกพรรคนาซีที่สละเลือดเนื้อเพื่อพรรค ท่ามกลางแถวของพวกเอสเอ และเอสเอส จำนวนกว่าแสนห้าหมื่นคนไปวางพวงหรีดในตัวอาคาร เพื่อเป็นการระลึกถึงอดีตประธานาธิบดีและรัฐบุรุษ ปอล ฟอน ฮินเดนเบิร์ก ผู้ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ ทั้งที่ก่อนหน้า ท่านผู้นี้เกลียดฮิตเลอร์เข้าไส้ แต่แล้วฮิตเลอร์กดดันจนท่านต้องมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ ทว่าการจัดฉากอันเสแสร้งนี้นับได้ว่าเป็นภาพอลังการที่สุดเท่าที่พิธีกรรมไหนในโลกจะมี
ท่านผู้นำออกมากล่าวคำปราศรัยอีกครั้งพร้อมกับบอกว่า พวกเอสเอพ้นผิดจากการเคยเข้าไปอยู่ใต้การปกครองของเออร์เนสต์ เริห์ม[4] และเขาจะไม่มีวันยุบกลุ่มเอสเอเป็นอันขาด เพราะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างขึ้นมาได้ ขอให้ร่วมกันพัฒนาชาติเยอรมันให้ยิ่งใหญ่ จากนั้นก็มอบธง "สีเลือด" อันเป็นธงศักดิ์สิทธิ์ของพรรคนาซีให้กลุ่มได้ใช้ต่อไป พิธีปิดก็มาถึงจุดสุดยอดของอารมณ์ด้วยคำปราศรัยของฮิตเลอร์อีกครั้ง ในการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของพรรคสังคมนิยมแห่งชาติและประเทศเยอรมันซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน หลังจากนั้น เฮสก็มาปิดท้ายพร้อมกับพูดประโยคที่เป็นฟาสซิสต์แบบสุดยอดที่ว่า "ฮิตเลอร์คือพรรค แต่ฮิตเลอร์คือเยอรมัน และเยอรมันคือฮิตเลอร์" สร้างความฮือฮาให้กับฝูงชนอย่างมาก พร้อมกับเสียงดังกระหึ่มของเพลงประจำพรรค และเพลงชาติเยอรมันคือ Deutsch Ueber Alles พร้อมด้วยเสียงบรรยาย (ที่เพิ่งมีในปี 2000) ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของฝันร้ายของตัวฮิตเลอร์และพรรคนาซี ชาวเยอรมันและชาวโลกทั้งหมด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บอกกับเราว่า ฮิตเลอร์เป็นเอตทัคคะในการสะกดมวลชน นอกจากการพูดปราศรัยแบบน้ำไหลไฟดับ ยังรวมไปถึงการทำให้สมาชิกพรรคของตนมีสีสันและทรงพลัง ไม่ว่าเครื่องแต่งกายที่หลายหน่วยดูแล้วเหมือนกับทหาร ทั้งที่ไม่ใช่ทหาร เพลงปลุกใจที่ฟังแล้วฮึกเหิม ธงรูปสวัสดิกะที่ดูน่าเกรงขาม การทำความเคารพแบบนาซีที่ฮิตเลอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากจอมเผด็จการฟาสซิสต์อีกคน นั่นคือ เบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคารพของทหารโรมันอีกที สำหรับในเยอรมันต้องมีพร้อมกับคำว่า Heil Hitler ! (ขอให้ฮิตเลอร์จงเจริญ) หรือ Sieg Heil (คล้าย ๆ กับคำว่าขอให้เราจงประสบแต่ชัยชนะ คำนี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการโดย ดร. เกบเบิลส์) การเคารพเช่นนี้จะมีอยู่มากมายจนน่ารำคาญในภาพยนตร์ แต่ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงของสังคมบางอย่าง นั่นคือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจะสามารถกระทำได้โดยผ่านสัญลักษณ์หลายอย่างที่ตรงกัน หากมองในเชิงจิตวิทยา การยกมือขึ้นเคารพหลาย ๆ ครั้ง เป็นสัญลักษณ์ของความบ้าคลั่งแห่งกลุ่มชน (Mass Hysteria) ที่ปัจเจกชนผู้เปี่ยมด้วยเหตุผลจำเป็นต้องหลอมละลายตัวเองเข้ากับกลุ่มชนที่ยึดถือเรื่องอารมณ์เป็นหลัก
ภาพยนตร์ "ชัยชนะแห่งเจตจำนง" สามารถถ่ายทอดมุมมองที่คนดูในโรงหนังเกิดความศรัทธาในตัวฮิตเลอร์อย่างมหาศาล เรนีได้ใช้มุมกล้องแบบใหม่ในการทำให้ภาพดูอลังการ และบุคคลในภาพคือฮิตเลอร์ดูยิ่งใหญ่กว่าภาพปกติ ความยาวจริง ๆ ของฟิล์มคือ 250 ไมล์ เวลาประมาณ 61 ชั่วโมงกว่า!!! เรนีต้องใช้ความพยายามสุดชีวิตในการตัดต่อให้เหลือเพียงสองชั่วโมง ผลก็คือ สร้างความพึงพอใจให้กับฮิตเลอร์อย่างมาก และสามารถทำเงินได้มากมายตามโรงหนังต่าง ๆ ในเยอรมัน แถมยังได้รางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติอีกหลายรางวัล จากนั้นมาก็ส่งอิทธิพลถึงคนจำนวนมากนอกประเทศเยอรมัน ถึงแม้พวกนาซีจะไม่ได้ตั้งใจให้หนังเรื่องนี้ออกไปฉายต่างประเทศก็ตาม แต่ทำให้โลกภายนอกพรั่นพรึงต่อความเป็นปึกแผ่นของพลพรรคนาซี ทั้งที่ความจริงแล้วมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันภายในไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่น
แม้ในตอนท้าย เยอรมันนาซีจะพ่ายแพ้ แต่ “ชัยชนะแห่งเจตจำนง” ก็ยังคงความยิ่งใหญ่อยู่มิเสื่อมคลาย แม้แต่นักการเมืองของอเมริกาบางคนในยุคหลังสงครามโลก ก็เลือกใช้กลยุทธ์หลายอย่างของฮิตเลอร์ในการหาเสียงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ของฮอลลีวูดหลายเรื่อง จะเลียนแบบเทคนิคในการนำเสนอภาพจากเรื่องนี้  นอกจากนี้ นักวิจารณ์ทั้งหมดมักให้คำนิยามแก่ “ชัยชนะแห่งเจตจำนง” ที่ขัดแย้งกันเองสองคำ ดังเช่น "ความอลังการ ของความชั่วร้าย" หรือ "ความน่าสะพรึงกลัวอันแสนสวยงาม" เพราะถึงแม้ทุกคนจะตระหนักถึงความชั่วของฮิตเลอร์และพวกนาซี แต่ก็อดปฏิเสธไม่ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของพิธีกรรมที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนังที่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีตและเปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพของเรนี ผู้รอดจากการลงโทษหลังสงครามอย่างหวุดหวิด จนเพิ่งมาเสียชีวิตเมื่อปี 2003 นี้เอง

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ถูกผลิตซ้ำ และดัดแปลงแก้ไขมาจาก Triumph of the Will : หนังของ Adolf Hitler
เชิงอรรถ 

  • [1] หนังโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้แก่ The Birth of a Nation (1915) ซึ่งเป็นหนังของอเมริกาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของชนผิวขาวเหนือพวกผิวดำ นับได้ว่ามีความอื้อฉาวเช่นเดียวกับ ชัยชนะแห่งเจตจำนง นอกจากนี้ยังมี แฟรงค์ คาปรา ผู้กำกับหนังชาวอเมริกันที่สร้างหนังโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ แข่งกับพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น หนังข่าวที่ชื่อ Why We Fight ซึ่งเป็นหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาประชันกับภาพยนตร์เรื่องนี้ของเรนี่โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ไม่น่าจะลืมหนังโฆษณาชวนเชื่อของพรรคบอลเชวิคแห่งโซเวียตนั่นคือ Battleship Potemkin (1925) กำกับโดย เซอร์เก ไอเซนสไตน์
  • [2] เมื่อสิ้นสุดสงคราม ทางฝ่ายสัมพันธมิตรได้เลือกเอาเมืองนี้เป็นที่ตั้งของศาลพิจารณาคดีของอดีตผู้นำของพรรคนาซีทั้งหลาย  อันเป็นที่มาของชื่อ The Nuremberg Trials ในปี 1946 นัยว่าเป็นเชิงตัดไม้ข่มนาม
  • [3] ต่อไปนี้คือโชคชะตาของคนเหล่านั้นในอีกสิบปีถัดมา เกบเบิลส์ฆ่าตัวตายตามฮิตเลอร์ในบังเกอร์ปี 1945  โรเซนเบิร์กและฟรังค์ถูกตัดสินในศาลนูเรมเบิร์กให้แขวนคอ เลย์ชิงแขวนคอตัวเองก่อนขึ้นศาล ส่วนทอดต์เสียชีวิตจากเครื่องบินตกในปี 1942
  • [4] เออร์เนสต์เริห์มเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนาซีและผู้บังคับบัญชาของหน่วยเอสเอต่อมาเกิดขัดผลประโยชน์กับฮิตเลอร์และยังทำให้รัฐบาลนาซีเสื่อมเสียเพราะพฤติกรรมของการเป็นพวกรักร่วมเพศ เริห์มจึงจับถูกประหารชีวิตใน"คืนแห่งมีดยาว "หรือ The Night of the Long Knives ซึ่งเป็นคืนระหว่างวันที่ 30 มิถุนายนและวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1934 ที่พวกนาซีกวาดล้างพวกปรปักษ์ทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น