ตัวอย่างภาพยนตร์
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ชมรมสิงห์ดำรามาได้จัดกิจกรรมเสวนาภาพยนตร์สารคดีเรื่อง S21 ซึ่งเป็นเรื่องราวของโตนสเลง คุกนักโทษการเมืองในยุคเขมรแดง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสังหารคนกัมพูชาไป 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงพยายามสะท้อนให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านการสัมภาษณ์ผู้คุม และคนที่ทำงานภายในคุก S21 ที่ทำหน้าที่ทรมาน และสอบสวนนักโทษ หลังจากการฉายภาพยนตร์ มีความเห็นที่น่าสนใจดังนี้
ผู้ร่วมชมภาพยนตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เราเป็นอย่างเขมรแดง แต่เมื่อเราดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในอีกแง่มุมนึง ผมกลับรู้สึกอิจฉากัมพูชาว่าอย่างน้อย คนที่เคยฆ่าและทรมานคนเป็นผักปลายังกล้าออกมาสารภาพและรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่พวกเขาทำมันหลอกหลอนเขาจนเขาละอายและขยาดกลัวความรุนแรง เขาฆ่าคนจนไม่สามารถรับตัวเขาเองได้ พวกเขารู้ว่าต่อให้พวกเขาชนะ แต่ชัยชนะของพวกเขามันไม่มีความหมายอะไรเลย มีแต่ความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งผมเชื่อว่าคนกัมพูชาส่วนใหญ่เขาได้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สำหรับสังคมไทยผมไม่แน่ใจว่าเราจะเกิดสำนึก หรือมีบทเรียนจากการใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ เรายังไม่เคยประสบกับภาวะที่คนเข่นฆ่ากันจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ สังคมไทยยังคงมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดออกไปให้หมดสิ้น หากเป็นเช่นนั้นสังคมไทยก็ยังคงต้องติดอยู่ในวังวนของความรุนแรงต่อไป”
ผู้ร่วมชมภาพยนตร์อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “กรณีของกัมพูชาน่าสนใจมาก ปกติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เราคุ้นเคยมักเกิดจากเรื่องชาติพันธุ์ หรืออุดมการณ์เช่นกรณีการล้างเผ่าพันธุ์ยิวของนาซีเยอรมัน หรือการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน แต่ในกรณีของกัมพูชาที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราเห็นมิติดังกล่าวน้อยมาก ส่วนใหญ่การฆ่าที่เกิดขึ้นมันเกิดจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จนสุดท้ายการฆ่ามันกลายเป็นชีวิตประจำวันของคนพวกนี้ พวกเขาฆ่าได้แม้จะไม่มีเหตุผลรองรับ คนที่พวกเขาฆ่าไม่ได้เป็นเจ้าที่ดินที่เคยกดขี่พวกเขา หรือเป็นผู้มีอุดมการณ์แตกต่างจากเขา แต่พวกเขาฆ่าเพราะมันเป็นธรรมชาติของพวกเขาไม่ต่างกิจวัตรประจำวัน หรือเทศกาลบางอย่าง และเพื่อที่จะทำให้การฆ่าสามารถดำเนินต่อไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจับคนบริสุทธิ์มา และบังคับให้พวกเขาซักทอดไปยังเครือญาติ และคนรู้จักของพวกเขาซึ่งก็เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถไปจับคนพวกนี้มาฆ่าแล้วฆ่าอีกไม่จบไม่สิ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดประชากรของกัมพูชาจึงหายไปถึง 1 ใน 3 ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปีที่เขมรแดงปกครอง”
ผู้ร่วมชมภาพยนตร์อีกท่านให้ความเห็นว่า “ผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนึกถึงเรื่องแรงงานเขมรที่เพิ่งแห่กันกลับประเทศไป หลังจาก คสช. ประกาศจะจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด มันอาจจะไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์สักเท่าไหร่ ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ ผมคิดว่าวิธีการที่น่าสนใจในการต่อต้านอำนาจคือเดินออกมาจากสิ่งที่เป็นอยู่ เช่นหากคนในกรุงเทพฯ ที่ไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ก็ พร้อมใจกันกลับต่างจังหวัดและทิ้งกรุงเทพฯ ไว้ให้เหลือแต่คนที่สนับสนุนสิ่งที่เป็นอยู่คือเราไม่จำเป็นต้องเข้าไปท้าทายหรือปะทะกับอำนาจ เช่น กินแซนด์วิช ชูสามนิ้ว หรือนั่งอ่านหนังสือ แต่เราแค่เดินหนีออกมาจากเกมของเขา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น